เจอวิกฤต จะเลือกวิวัฒน์ หรือจะเอาวิบัติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ตอบนักศึกษา

ถาม - ที่พระคุณเจ้าบอกว่าคนไทยยังไม่มีคุณภาพ สภาพคุณภาพของคนไทยคืออย่างไร

ตอบ - ที่เด่น คือความอ่อนแอ

ถาม - อยากจะทราบว่า ตอนนี้คนไทยได้ตระหนักรู้ถึงภาวะวิกฤตตรงนี้หรือยัง ทั้งในระดับครัวเรือน ในระดับประเทศชาติ และระดับสังคม คนไทยได้ตระหนักหรือยัง

ตอบ - ความรู้ตระหนักนี่น้อยอย่างยิ่ง ทั้ง ๒ ชั้น คือ

๑. ตัวภาวะวิกฤตเองที่เป็นทุกข์อยู่นี่ ก็รู้กันแบบผิวๆ เผินๆ รู้แบบพร่าๆ มัวๆ ไม่ชัด สังคมของเราวิกฤตอย่างไร สภาพปัญหาของเราเป็นอย่างไร คนไทยเห็นไม่ชัดเลย

๒. ตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤต ก็ยิ่งไม่ชัดใหญ่

เพราะฉะนั้นจึงต้องเริ่มด้วยการชี้ให้ชัด อย่างคุณภาพที่ว่าอ่อนแอและไม่เป็นนักสร้างสรรค์ไม่เป็นนักผลิตนี่ เราก็ไม่ตระหนักรู้ตัวเลย ฉะนั้นจึงต้องชี้ปัญหากันด้วย โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศชาตินั้น อยากจะให้กระตุ้นประชาชนให้ไม่ประมาท

เท่าที่ผ่านมารู้สึกว่าคอยจะเอาไรมาปลอบใจกันไว้ การปลอบใจนั้นจะต้องมุ่งในแง่ที่จะทำให้เกิดกำลังใจเท่านั้น ถ้าปลอบใจแล้วทำให้เกิดความนอนใจ เพลิดเพลิน กระหยิ่มใจ แล้วนิ่งเฉย หรือรอคอย ก็ใช้ไม่ได้

คนเราบางครั้ง เมื่อเสียขวัญก็อาจจะต้องมีการปลอบใจบ้าง เพื่อให้ใจผ่อนคลายลงได้ หยุด ได้พักแล้วตั้งสติได้ แต่ถ้าปลอบใจไม่เป็น จะกลายเป็นทำให้เพลิดเพลิน หวังพึ่งพา แล้วก็หยุด หรือมัวนิ่งนอนใจ เพราะฉะนั้นจะต้องปลอบใจแบบทำให้เกิดกำลังใจ ปลอบให้เกิดกำลังสู้ ที่จะเข้มแข็ง ทำการสร้างสรรค์ต่อไป

แต่อย่างที่มีผู้ถามเมื่อกี้ว่า แม้แต่ความรู้ตระหนักในตัวปัญหาก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเราจะต้องจี้สิ่งเหล่านี้ให้ชัดเด่นขึ้นมา เหมือนอย่างเรื่องการเป็นนักบริโภค การเป็นนักรอผลดลบันดาล ก็ให้เห็นว่า มีโทษมีความเสียหายอย่างไร มันจะนำความเสื่อมมาสู่สังคมของเราอย่างไร

สังคมของเรากำลังอยู่ในวิกฤต วิกฤตนี้เป็นจุดเป็นจุดตาย หรือจุดหักเลี้ยวระหว่างวิบัติกับวิวัฒน์ คือมันไม่ถึงกับวิบัติ แต่มันพร้อมที่จะวิบัติ พร้อมกันนั้นถ้าเราแก้ได้มันจะกลับเป็นวิวัฒน์ เพราะฉะนั้น วิกฤตจึงอยู่ระหว่างวิวัฒน์กับวิบัติ ถ้าเราแก้ได้ มันก็เปลี่ยนจากวิกฤตเป็นวิวัฒน์ ถ้าเราไม่สามารถแก้ วิกฤตนั้นก็กลายเป็นวิบัติ

อย่างที่พูดแล้วแต่ต้น เหมือนกับว่าเราอยู่ในกระแสน้ำที่กำลังหลงเล่นน้ำเพลินอยู่ จนกระทั่งน้ำไหลมาใกล้ปากเหว น้ำจึงตื้นลง ในลำน้ำใหญ่ไกลปากเหวนั้นจะลึก จะเล่นกันเพลิดเพลินไม่รู้ตัว แต่พอมาใกล้ปากเหวน้ำจะตื้นมากและจะมีโขดหินเกาะแก่งเยอะ ตอนนี้แหละกระแสน้ำจะพาเราชนเข้ากับโขดหิน นี่คือจุดวิกฤต ซึ่งใกล้ปากเหวแล้ว

วิกฤตก็คือตอนที่อยู่ตรงปากเหว จุดระหว่างว่าจะลงเหวหรือจะก้าวกลับไป ถ้าลงเหวก็เป็นวิบัติ แต่ถ้าตะเกียกตะกายแก้ไขกลับมาได้ ก็นำตัวขึ้นฝั่งหรือย้อนกลับไปในทางที่ปลอดภัย ก็จะกลายเป็นวิวัฒน์ แต่ตอนวิกฤตนี้ต้องเจ็บปวดหน่อยเพราะเจอโขดหินเข้าแล้ว จึงเป็นตอนที่สำคัญ แต่เราอย่าไปเอาวิบัติก็แล้วกัน ต้องบอกคนไทยว่า อย่าเอาเลยวิบัติ เอาวิวัฒน์ดีกว่า แล้ววิกฤตนี่จะเป็นจุดต่อวิวัฒน์ที่สำคัญมาก

ก็อย่างที่ว่าแล้ว ประเทศชาติ หรือสังคมต่างๆ ที่เขาเจริญพัฒนามา เขาก็มาจากทุกข์ มาจากปัญหาทั้งนั้น เราเข้าใจว่าอิสราเอลนี่คนแข็งเก่งเหลือเกินใช่ไหม นั่นเพราะอะไร เห็นชัดๆ ว่าภัยมันล้อมอยู่ จะตายได้ทุกวินาที แทบจะนอนหลับไม่ได้ ต้องตื่นตัวพร้อมตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเขาจึงพูดกันว่า คนอิสราเอลทุกคน ลงเรือต้องขับเรือได้ ขึ้นรถต้องขับรถได้ ขึ้นเครื่องบินต้องขับเครื่องบินได้ ต้องมีคติอย่างนี้เลยนะ หมายความว่าภัยคุกคามบีบเร่งตัวจนกระทั่งว่า ทุกคนต้องพร้อมที่จะทำการทุกอย่างได้ แต่คนที่อยู่ท่ามกลางความสุขมักจะมัวเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมาผัดเพี้ยนอย่างที่ชอบพูดว่า เมื่อไรก็ได้ ไม่เป็นไร

คำว่า “ไม่เป็นไร” ของคนไทยนี่ ฝรั่งเอาไปวิเคราะห์เหมือนกัน เพราะมันมีความหมายหลายอย่าง “ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ก็ได้” ถ้าไม่เป็นไรแบบนี้ก็ประมาทละ คือเท่ากับผัดเพี้ยน

แต่บางที “ไม่เป็นไร” ก็หมายความว่ามีเมตตากรุณา คุณทำร้ายฉัน หรือคุณทำให้ฉันเจ็บ ฉันก็ไม่ว่าอะไร ไม่จองเวร ไม่เป็นไรนี่ความหมายกว้างจนฝรั่งไม่รู้จะหาศัพท์อะไรมาแทน

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระวังอย่างที่ว่าแล้ว คือเราจะต้องวิเคราะห์สภาพชีวิตและสังคมของเราให้ชัดเจนมากขึ้น อย่างที่ท่านผู้ถามเมื่อกี้ว่าอยู่ในความไม่รู้ตระหนัก ก็คือไม่ชัดเจนนั่นเอง ตัวปัญหาก็ต้องชี้ให้ชัดว่า สภาพคุณภาพของคนไทยขณะนี้เป็นอย่างไร และเหตุปัจจัยต่างๆ ก็ต้องพยายามสืบค้นเอามาว่ากันให้ชัด แล้วก็ปลุกใจคนไทยให้ไม่ประมาท

โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศชาติ จะต้องนำเสนออะไรต่างๆ ที่ปลุกเร้าความไม่ประมาทอยู่เสมอ เงินช่วยเหลือของเขาไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำให้เรามัวมาเพลิดเพลินนอนใจ ที่จริงมันก็มาพร้อมกับภัยอันตรายนั่นแหละ ถึงแม้ไม่มีภัยอันตรายอื่น ความหลงระเริงเพลิดเพลินก็จะเป็นนิสัยเสียของเราต่อไป

ฉะนั้น ต้องให้มีความรู้สึกต่อเงินที่เขาให้ยืมมากู้มาด้วยความรู้สึกจำใจอย่างยิ่ง เมื่อมีความจำใจก็ทำให้เราคิดว่าจะต้องรีบแก้ไขตัวเอง จะต้องสร้างสรรค์เพื่อให้พ้นจากการที่ต้องจำใจอยู่กับเงินกู้เงินยืมนี้ ไม่ใช่ได้เงินกู้เงินยืมมาก็เพลินสบาย เออ มีเงินใช้แล้ว หายทุกข์แล้ว ก็เพลินต่อไป

อ้าว เดี๋ยวจะพูดมากไป จะตอบปัญหานิดเดียวพูดเสียยืดยาว มีอะไรอีกไหม เจริญพร

นักศึกษา - พระเดชพระคุณเจ้าก็ได้เมตตาให้ข้อคิดกับพวกเรา ในเรื่องแนวทางปฏิบัติในยุควิกฤตทางเศรษฐกิจ ว่าเราจะวิวัฒน์อย่างไร ซึ่งเป็นข้อคิดที่เราจะนำไปเป็นหัวข้อของการอภิปรายร่วมกันในช่วงต่อไปค่ะ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.