ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เทคโนโลยี เครื่องมือพิชิตธรรมชาติ

ต่อไป ขอพูดเลยไปถึงเรื่องท่าทีของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเหมือนกัน เรื่องนี้สัมพันธ์กับข้อก่อนที่ว่ามาแล้ว ได้กล่าวแล้วว่า ประวัติการคิดสร้างสรรค์เทคโนโลยีของมนุษย์ ดำเนินมาด้วยกันกับประวัติอารยธรรมของมนุษย์ โดยเทคโนโลยีก็เป็นส่วนสำคัญของอารยธรรมของมนุษย์ด้วย มนุษย์เจริญผ่านยุคต่างๆ โดยมีลักษณะการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน จะขอแยกแยะสิ่งที่พูดไว้ในข้อก่อนให้ขัดเจนขึ้น กล่าวคือ เขาแบ่งประวัติอารยธรรมของมนุษย์เป็นระยะ หรือยุคต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตและเทคโนโลยีด้วย

ยุคแรกทีเดียวอาจจะเรียกว่า ยุคบุพกาล คือก่อนที่จะมีอารยธรรม เป็นยุคที่มนุษย์เที่ยวเก็บหาอาหารซึ่งเป็นพืชพรรณที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจับสัตว์กิน ในยุคนี้ชีวิตของมนุษย์ขึ้นกับธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เพราะอาหารที่เป็นพืชพรรณนั้นขึ้นอยู่เองตามพื้นดิน มนุษย์ไปเก็บเอาตามที่มันเกิดอยู่แล้ว สัตว์ก็เกิดอยู่บนท้องทุ่งป่าเขาตามธรรมชาติ มนุษย์ก็ไปจับเอามันมา ยุคนี้แทบจะไม่มีเทคโนโลยีเลย นอกจากเครื่องมือขั้นต้นเพียงเล็กน้อย

ต่อมา มนุษย์มีความเป็นอยู่เจริญขึ้น ไม่อยากไปหาอาหารไกลๆ ต้องการให้อาหารอยู่ใกล้ในที่อยู่ของตัว หรือใกล้ที่อยู่ของตัว และให้ตัวเองสามารถกำหนดปริมาณของมันได้ ตลอดจนมีพร้อมที่จะบริโภคได้ในเวลาที่ต้องการ มนุษย์ก็ดำเนินชีวิตก้าวหน้าขึ้นมา มีการเพาะปลูกพืช และมีการเลี้ยงสัตว์ แทนที่จะวิ่งไล่ตามสัตว์ไป ก็เอาสัตว์มาเลี้ยงในที่ของตัวเอง ยุคนี้เรียกว่า ยุคเกษตรกรรม

ในยุคเกษตรกรรมนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นต้นขึ้นมาแล้ว เช่น ในการเพาะปลูก ก็มีการคิดทำจอบ ทำเสียมขึ้นมา ในการเลี้ยงสัตว์ก็รู้จักสร้างที่ให้มันอยู่ มนุษย์รู้จักทำอะไรที่เป็นของตนเองขึ้นมาบ้าง แต่การทำอะไรของมนุษย์ในยุคนี้ ก็เป็นการทำโดยกลมกลืนกับธรรมชาติ คือ มนุษย์จะต้องเรียนรู้วิถีของธรรมชาติว่าเป็นอย่างไร แล้วทำให้สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาตินั้น เช่น จะเพาะปลูกพืชก็ต้องเลือกชนิดหรือพันธุ์ ที่ถูกกับสภาพดินฟ้าอากาศของท้องถิ่น และต้องทำให้เป็นไปตามฤดูกาล ต้องรู้ว่าหน้าฝนจะมาในเดือนนี้ ฝนมา น้ำมีแล้ว จะต้องไถ ต้องหว่าน ต้องเก็บเกี่ยวไปตามเวลาที่สอดคล้องเป็นไปตามธรรมชาติ แม้จะรู้จักทำสิ่งที่เป็นของตนเอง แต่ก็ต้องทำให้กลมกลืนกับธรรมชาติ แต่ก็เรียกว่ารู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากขึ้น และมีเทคโนโลยีขึ้นแล้ว แม้กระนั้นก็ยังมีชีวิตที่ขึ้นกับธรรมชาติมาก ความเป็นไปในธรรมชาติที่ไม่เกื้อกูลมีผลกระทบกระเทือนต่อมนุษย์มาก

ชีวิตในยุคเกษตรกรรมอย่างที่กล่าวมานั้น มนุษย์ยังไม่พอใจ ก็จึงคิดหาทางที่จะมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ชีวิตที่ดียิ่งกว่านี้ก็คือ ชีวิตที่ตนเองสามารถกำหนดความเป็นอยู่ มีอำนาจจัดสรรความสุขสมบูรณ์ของตัวเองได้มากขึ้น เมื่อพยายามดิ้นรนสร้างสรรค์ต่อมา มนุษย์ก็เจริญขึ้นมาสู่ยุคใหม่อีกยุคหนึ่ง คือได้พัฒนาเทคโนโลยีระดับก้าวหน้าขึ้นมา มีเครื่องจักรเครื่องกล ถึงตอนนี้มนุษย์ก็สามารถผลิตอาหาร ผลิตปัจจัยสี่ได้ทีละมากๆ ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น เขาเรียกว่า เป็น ยุคอุตสาหกรรม

ในยุคอุตสาหกรรมนี้มนุษย์มีเวลาเหลือว่างมากขึ้น ก็จึงมีการศึกษาวิทยาการอะไรต่างๆ มีความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านๆ มากขึ้นไปตามลำดับ เป็นยุคที่เทคโนโลยีเจริญอย่างแท้จริง และมีความก้าวหน้ามาก เมื่อความเจริญแบบนี้เริ่มต้นขึ้นใหม่ๆ มนุษย์พากันใฝ่ฝัน มีความหวังว่า ต่อไปในไม่ช้า โลกนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์ มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมตามที่มนุษย์ต้องการ มนุษย์จะสามารถจัดสรรและจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามปรารถนา เมื่อเริ่มยุคอุตสาหกรรม มนุษย์มีความฝันอย่างนี้ เหมือนกับที่มนุษย์ในยุคเทคโนโลยีแบบปัจจุบันนี้ฝันนั้นเอง

หลักการสำคัญในการสร้างความเจริญของมนุษย์ยุคนี้ก็คือความใฝ่ฝันว่าจะต้องเอาชนะธรรมชาติ หรือ พิชิตธรรมชาติ การที่รู้กฎธรรมชาติ แล้วนำความรู้นั้นมาใช้จัดสรรสิ่งต่างๆ เอาชนะธรรมชาติได้ นั่นแหละคือการที่มนุษย์ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความก้าวหน้าในการพิชิตธรรมชาติ ก็คือ ความก้าวหน้าของวิทยาการที่มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน แตกแขนงซอยถี่ออกไปมากยิ่งขึ้น และเครื่องมือพิชิตธรรมชาติที่ได้ผล ก็คือเทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อกล่าวโดยรวม การพยายามเอาชนะธรรมชาติ ความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นับว่าเป็นลักษณะพิเศษของยุคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะความพยายามของมนุษย์ในการเอาชนะธรรมชาตินั้นได้แสดงออกในพฤติกรรมต่างๆ มากมาย จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า เป็นการเบียดเบียนธรรมชาติทีเดียว

มนุษย์ได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างนี้มาเป็นเวลานาน เวลาล่วงมาๆ เทคโนโลยีก็เจริญมากขึ้นๆ จนถึงตอนหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้เอง มนุษย์ก็เริ่มรู้ตัวขึ้นมา มองเห็นว่าปัญหาใหม่ที่ไม่เคยคิดฝัน ได้เกิดขึ้นแล้วในโลกที่มนุษย์เป็นอยู่นี้ ซึ่งที่จริงเป็นปัญหาที่สะสมมานานแต่เพิ่งโผล่ให้เห็น เราไม่รู้ตัวมาก่อน พอมันปรากฏตัวขึ้นมามนุษย์เราก็ลำบากแทบแย่เลย เพราะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมากถึงขั้นที่ว่า โลกมนุษย์นี้อาจจะสูญสิ้นพังพินาศไปก็ได้

ภัยอันตรายที่มนุษย์รู้ตระหนักขึ้นมาใหม่ๆ ไม่นานนี้ คืออะไรบ้าง ที่เด่นก็คือ ปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอไป การเกิดมลภาวะต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตในธรรมชาติมาก เมื่อธรรมชาติสูญเสียหรือวิปริตผิดเพี้ยนไป ผลร้ายก็สะท้อนกลับมากระทบกระเทือนแก่มนุษย์ในรูปต่างๆ เช่น โรคภัยไข้เจ็บแปลกๆ อากาศเสีย ซึ่งทำให้สุขภาพของมนุษย์เสียไป โรคภัยไข้เจ็บที่รักษายากบางอย่างเช่น มะเร็ง ก็มีส่วนที่เกิดจากการทำลายสภาพแวดล้อมนี้ด้วย อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่มนุษย์ต้องให้ความสนใจ และต้องใช้พลังความคิดในการแก้ไขมาก

ปัญหาต่อไป แม้จะเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่ก็คอยก่อกวนระบบอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลาก็คือ เทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรมที่ผลิตอะไรได้มากมายและรวดเร็วนี้ ได้ทำให้เกิดการว่างงาน เป็นปัญหาของสังคมปัจจุบันที่ต้องแก้ไขกันอยู่เรื่อยไป

ปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือ ความเจริญในยุคอุตสาหกรรมทำให้มีวัตถุบริโภคมาก มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายตลอดจนปรนเปรอบำรุงบำเรอมาก ในเมื่อไม่มีการพัฒนาคุณภาพของคนควบคู่ไปด้วยอย่างเพียงพอ ก็ทำให้มนุษย์ในยุคนี้มีการแข่งขัน ในลักษณะของการเอารัดเอาเปรียบแก่งแย่งเบียดเบียนกันมาก เช่น แก่งแย่งเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากกว่าเพื่อจะได้ครองอำนาจเหนือกว่า

อีกด้านหนึ่งปัญหาสำคัญที่เด่นชัดมากขึ้นๆ ก็คือภาวะจิตใจ ซึ่งปรากฏว่า มนุษย์ในยุคนี้ โดยเฉพาะในสังคมอุตสาหกรรมที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีสูง มีความเครียดมาก มีจิตใจที่กลัดกลุ้มกังวล มีความกระวนกระวายสูง มีสภาพจิตที่เรียกว่าความรู้สึกแปลกแยกรุนแรง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกิดจากลักษณะการทำงาน และความเป็นอยู่ในยุคอุตสาหกรรมที่เจริญด้วยเทคโนโลยีนี้เอง

ยิ่งกว่านั้นภาวะทางจิตใจที่มีความเครียดความกระวนกระวายมาก มีความรู้สึกแปลกแยกมากนั้น ก็ส่งผลสะท้อนกลับไปเป็นปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ในประเทศที่เจริญด้วยอุตสาหกรรมนั้นพากันเป็นโรคหัวใจมาก เป็นโรคความดันโลหิตสูงกันมาก อย่างนี้เป็นต้น ดังเป็นที่รู้กันว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศอเมริกา โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการตายอันดับหนึ่ง จนเรียกว่าเป็นโรคของอารยธรรม

เมื่อมาเจอปัญหาเหล่านี้เข้า มนุษย์ก็เริ่มรู้สึกผิดหวังต่อความเจริญทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ผิดหวังต่อความเจริญซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการพัฒนาของมนุษย์ หรือการสร้างความเจริญโดยมุ่งเอาชนะธรรมชาติ สาเหตุสำคัญของปัญหาก็อยู่ที่ว่า การสร้างความเจริญทางเทคโนโลยีด้วยการแข่งกัน พัฒนาความรู้ความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านของตนพุ่งตรงออกไป แตกแขนงแยกกันออกไปๆ ก็ดี การมุ่งเอาชนะธรรมชาติก็ดี ล้วนนำไปสู่การสูญเสียความสมดุลและการทำลายระบบความอิงอาศัยสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดความระส่ำระสาย ในเวลาที่ทำไปอย่างนี้ มนุษย์ไม่รู้ตัวว่าได้ค่อยๆ ทำลายระบบการดำรงอยู่ร่วมกันขององค์ประกอบต่างๆ ที่จะทำให้ชีวิตมนุษย์เป็นอยู่ได้ ทำให้ระบบนั้นเสียสมดุลและแตกสลายลงไปเรื่อยๆ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.