ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มองเทคโนโลยีให้พอดีกับความจริง

เวลาล่วงไปมากแล้ว ขอพูดอีกเรื่องหนึ่งคือ สภาพความใฝ่ฝันเกี่ยวกับเทคโนโลยี ในสมัยปัจจุบันนี้ เราอาจแยกคนได้เป็นสุดโต่ง ๒ พวก พวกหนึ่งคือคนที่เพ้อฝันในเรื่องเทคโนโลยีอย่างที่พูดมาแล้ว คือเห็นว่าเทคโนโลยีจะตอบปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง จะสร้างความสมบูรณ์พูนสุขทุกอย่าง และอีกพวกหนึ่งคือคนที่ต่อต้านเทคโนโลยี การต่อต้านเทคโนโลยีเป็นปฏิกิริยาที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะไม่นานนี้ ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในอเมริกา มีคนต่อต้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาก

อย่างที่ได้บอกเมื่อกี้แล้วว่า มนุษย์เคยใฝ่ฝันว่า เทคโนโลยีที่เจริญขึ้นในยุคอุตสาหกรรมนี้จะทำให้มนุษย์มีทุกอย่างพรั่งพร้อมบริบูรณ์ และมนุษย์จะมีความสุขเต็มที่ แต่ต่อมาเมื่อไม่นานนี้ ได้ปรากฏปัญหาขึ้นมาทีละอย่าง ปํญหาผุดขึ้นมาๆ เช่น เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษ เกิดปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บแปลกๆ ใหม่ๆ มีโรคหลายอย่างซึ่งเกิดจากความเป็นอยู่ที่ไม่พอดี ไม่สมดุล ฯลฯ ในช่วง ๒๐ ปีที่ปัญหาเหล่านี้ปรากฏขึ้น ได้ทำให้คนในประเทศพัฒนาตื่นเต้นหวาดกลัวกันมาก จนบางพวกหันไปเป็นปฏิปักษ์ต่อเทคโนโลยี ดังได้มีขบวนการต่างๆ ที่ต่อต้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และพร้อมกันนั้นก็มีกลุ่มที่เพ้อฝันเรื่องเทคโนโลยี กลุ่มเพ้อฝันนี้อาจเป็นพวกที่หลงเหลือมาจากสภาพความคิดเก่าๆ บ้าง เป็นปฏิกิริยาต่อพวกที่ต่อต้านเทคโนโลยีบ้าง

สำหรับคนที่มีความรู้ความเข้าใจเท่าทันในเรื่องเทคโนโลยีอยู่ในวงการที่ตามความเจริญได้ดี และมองสภาพสิ่งต่างๆ มองสังคม มองอะไรต่างๆ รอบด้านกว่านั้น ก็จะมีทัศนคติที่กว้างขวางออกไป และจะมีทัศนะที่ต่างจากทั้งพวกต่อต้านเทคโนโลยี และต่างจากพวกที่เพ้อฝันเรื่องเทคโนโลยี

ในเมื่อเทคโนโลยีเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราก็ควรมองดูว่า ในประเทศพัฒนานั้นเขามีความรู้สึก ความเข้าใจ และมองปัญหาเทคโนโลยีกันอย่างไร เพราะฉะนั้น อาตมาจึงขอนำเอาตัวอย่างความคิดเห็นของคนในสังคมที่มีเทคโนโลยีพัฒนาสูงแล้วมาพูดให้ฟังว่า เขามีความรู้สึกอย่างไร อย่างไรก็ตาม เมื่อจะยกเอาคนในประเทศเหล่านั้นมาอ้าง ก็ต้องเลือกเอาคนที่น่าเชื่อถือได้ ที่คนเขารับฟังกันมาก หรือถือได้ว่าเป็นตัวแทนความคิดใหม่ๆ ซึ่งจะยกตัวอย่างมาสัก ๒-๓ คน

คนหนึ่งชื่อนายจอห์น เนสบิทท์ (John Naisbitt) เป็นนักทำนายสังคมและเป็นผู้ให้คำปรึกษา แก่บรรษัทชั้นนำของอเมริกาหลายบรรษัท แม้แต่บรรษัทที่เจริญมากในด้านเทคโนโลยีอย่าง เอทีแอนด์ที บริษัทยูไนเต็ดเทคโนโลยี ไอบีเอ็ม ยีอีหรือเยเนอราลอีเลคตริค เป็นที่ยอมรับกันว่า เขาเป็นแหล่งความรู้ชั้นยอดของอเมริกาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้มาก นายคนนี้ได้เขียนไว้ในหนังสือ Megatrends ซึ่งเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง อยู่ในบัญชีหนังสือขายดีที่สุดของหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ถึง ๖๐ สัปดาห์ ตอนหนึ่งในหนังสือนั้นเขายกเอาบทความของนายจอห์น เฮสส์ (John Hess) เรื่อง "ความบ้าคอมพิวเตอร์" ("Computer madness") มาลงไว้ว่า

"ความผิดพลาดอยู่ที่เราคิดว่า เครื่องอุปกรณ์ใหม่ๆ จะแก้ปัญหาได้ อันนี้เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง"

แล้วเขาก็เขียนต่อไปว่า

"เมื่อเราตกลงไปอยู่ในกับดักของความเชื่อ หรือพูดให้ถูกแท้คือความหวังที่ว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาของเราได้ทุกอย่างนั้น แท้จริงก็คือเรากำลังสลัดความรับผิดชอบของคนทิ้งไป ความฝันเพ้อในเรื่องเทคโนโลยีเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ เราเฝ้าคอยยาวิเศษขนานใหม่ ที่จะทำให้เราสามารถกินอาหารไขมันได้ทุกอย่างตามความต้องการ โดยน้ำหนักไม่เพิ่ม เราจะเผาน้ำมันเท่าไรก็ได้ตามต้องการ โดยไม่ทำให้อากาศเสีย เราจะเป็นอยู่แบบไม่รู้จักประมาณตามชอบใจอย่างไรก็ได้ โดยไม่เป็นมะเร็งหรือโรคหัวใจ"

"อย่างน้อยในใจของเราก็รู้สึกเหมือนว่า เทคโนโลยีจะปลดเปลื้องเราให้พ้นไปได้ จากความมีวินัยและความรับผิดชอบ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นดอก และจะไม่มีวันเป็นอย่างนั้นเลย"

"ยิ่งเทคโนโลยีระดับสูงมาอยู่รอบตัวเรามากเท่าไร ก็ยิ่งจำเป็นต้องให้คนเข้าไปเอาธุระมากขึ้นเท่านั้น... เรามาพัฒนาความรู้ด้านใน คือ ปัญญาที่จำเป็นจะต้องใช้เป็นเครื่องนำทาง ในการที่จะบุกเบิกเข้าไปในแดนแห่งเทคโนโลยี... เทคโนโลยีระดับสูงควบคู่กับการเข้าไปรับผิดชอบอย่างจริงจังของคน หลักการนี้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีดุลยภาพระหว่างของนอกกายกับภาวะทางจิตปัญญา"1

ทัศนะนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า คนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีดี กลับมีทัศนะที่เห็นความสำคัญของจิตใจมาก

อีกคนหนึ่งชื่อนายแอลวิน ทอฟเฟลอร์ (Alvin Toffler) เป็นผู้แต่งหนังสือ Future Shock ที่โด่งดังมาก เป็นนักวิพากษ์สังคมที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เขาได้เขียนหนังสือเล่มหลังชื่อ The Third Wave ซึ่งเป็นหนังสือ besteseller คือขายดีที่สุดเหมือนกัน เขาเขียนว่า

"ปัจจุบันนี้ มีการยอมรับที่แพร่ไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกว่า ความเจริญก้าวหน้าจะวัดด้วยเทคโนโลยีหรือมาตรฐานการครองชีพทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่เรายอมรับกันว่า สังคมที่เสื่อมทรามทางด้านศีลธรรม ทางด้านสุนทรียภาพ ด้านการเมือง หรือด้านสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่มั่งคั่ง หรือชาญฉลาดทางด้านเทคนิคเพียงใดก็ตาม ก็หาใช่เป็นสังคมที่เจริญก้าวหน้าไม่ กล่าวโดยย่อก็คือว่า เรากำลังก้าวย่างไปสู่ความเข้าใจความหมายของความเจริญก้าวหน้า โดยนัยที่กว้างขวางครอบคลุมยิ่งกว่าเก่ามากมาย"2

นี้ก็เป็นทัศนะหนึ่ง

ขอข้ามเลยไปถึงอีกคนหนึ่งชื่อ นายฟริตจ๊อฟ คาปร้า (Fritjof Capra) เป็นนักฟิสิกส์และเป็นผู้แต่งหนังสือ Tao of Physics ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดว่าเป็น international bestseller คือขายดีที่สุดระดับนานาชาติ เขาเขียนไว้ในหนังสือเล่มหลังต่อจากนั้น ชื่อ The Turning Point ตอนหนึ่งว่า

"ความหลงใหลในเทคโนโลยีระดับสูง ที่แสดงออกมาอย่างถึงที่สุด ก็คือความเพ้อฝันที่เคลิ้มกันไปอย่างกว้างขวางว่า ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันของเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างถิ่นฐานดินแดนเทียมขึ้นในอวกาศนอกโลก ข้าพเจ้ามิได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ ที่ว่าคนจะสร้างอาณาจักรในอวกาศเช่นนั้นขึ้นมาได้สักวันหนึ่ง แต่จากแผนการที่มีอยู่ และความคิดที่อยู่ภายใต้แผนการนั้น เท่าที่ข้าพเจ้ามองเห็น ข้าพเจ้าคงจะไม่ต้องการไปอยู่ที่นั่นด้วยอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดพื้นฐานของความคิดทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเทคโนโลยี แต่ความผิดพลาดนั้นได้แก่ความเชื่ออย่างไร้เดียงสาว่า เทคโนโลยีอวกาศสามารถแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมบนโลกใบนี้ได้"3

ที่ยกมากล่าวอ้างนี้ เป็นทัศนะของคนที่รู้ความเคลื่อนไหวของโลกและสังคมรอบด้าน ที่คนยอมรับและอ่านกันมาก สาระสำคัญของความคิดของทั้งสามคนนี้ก็ตรงกัน คือว่า อย่าให้เราหลงใหลเพ้อฝันไปกับเทคโนโลยี ว่าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง ว่าจะทำให้มนุษย์อยู่สุขสมบูรณ์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาบางอย่าง แต่เทคโนโลยีนั้น ก็จะต้องมีสติปัญญาของมนุษย์คอยควบคุม เพราะฉะนั้น การพัฒนามนุษย์จึงเป็นงานที่ต้องทำกันต่อไป แม้ว่ามนุษย์จะพัฒนาเทคโนโลยีเจริญไปมากเท่าไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องเจริญคู่กันไปก็คือ การที่จะต้องพัฒนามนุษย์ ต้องพัฒนาคน

การพัฒนาคนนั้นไม่ใช่พัฒนาเฉพาะในด้านความรู้ และความชำนาญทางด้านเทคนิคอย่างที่ว่ามาแล้ว หรือในเรื่องวิทยาการต่างๆ เท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาคุณภาพในด้านชีวิตจิตใจ พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะในการที่จะใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้น ก็ยิ่งต้องการความมีสติรอบคอบ ความละเอียดถี่ถ้วน ความไม่ประมาทมากขึ้น อย่างที่อาตมาได้ยกตัวอย่างมาให้ฟังแล้ว และนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมยุคเทคโนโลยี ที่ทำให้พุทธธรรมจะต้องมีความหมายอยู่ต่อไป

เท่าที่ได้พูดมาจนเกินเวลาแล้วนี้ ก็พูดไปได้เฉพาะเรื่องเทคโนโลยีในระดับทั่วไป ส่วนที่จะต้องพูดซึ่งยังเหลืออยู่ ก็คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสังคมไทยโดยเฉพาะ แต่เพราะเวลาหมดไปนานแล้ว เรื่องเทคโนโลยีกับสังคมไทยโดยเฉพาะนี้ก็จะต้องยกตัดตอนไป

1 John Naisbitt, Megatrends (New York: Warner Books, Inc., 1984), p51
2Alvin Toffler, The Third Wave (New York: Bantam Book,Inc., 1981), p294
3 Fritjof Capra, The Turning Point (London: Fontana Paperbacks,1985), p.230
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.