ดุลยภาพ: สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ในที่สุด ธรรมคือดุลยภาพ และดุลยภาพก็คือธรรม

ต่อไปนี้ จะขอพูดถึงเรื่องดุลยภาพของธรรมเป็นแง่สุดท้าย แต่เป็นแง่ที่คุมทั้งหมด ว่าไปแล้วมันก็คือ การปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายนั่นเอง ตัวธรรมอยู่ที่นี่ และเมื่อพูดในแง่นี้ ตัวธรรมนั่นเองคือดุลยภาพ หรือดุลยภาพ ก็คือตัวธรรมนั่นเอง

เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติถูกต้องต่อร่างกายให้ร่างกายเกิดดุลยภาพก็ตาม ปฏิบัติถูกต้องต่อเศรษฐกิจ ดำเนินการหาเลี้ยงชีพ จัดการเงินให้พอเหมาะพอดีก็ตาม หรือการปฏิบัติในทางสังคมให้พอเหมาะพอดีก็ตาม หรือการปฏิบัติในเรื่องของจิตใจของเราให้พอดีก็ตาม นั่นคือ ดุลยภาพของธรรมหรือตัวธรรมเป็นดุลยภาพ เป็นข้อสุดท้ายซึ่งเป็นตัวที่คุมและคลุมทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ในการที่จะปฏิบัติดุลยภาพทั้งหลาย ในที่สุดแล้วก็อาศัยดุลยภาพของธรรมนั่นเอง มาช่วยปรับทำให้เกิดความพอเหมาะพอดี

เราอยู่ในโลกนี้ก็ต้องรู้หลักดุลยภาพ ที่เราต้องรู้หลักดุลยภาพเพราะอะไร? เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในโลกนี้ มีความสัมพันธ์อิงอาศัยกันทั้งนั้น มันไม่ได้อยู่ลำพังตัวของมันเองเท่านั้น และตัวมันเองก็เกิดขึ้นจากส่วนประกอบมากมาย ซึ่งส่วนประกอบเหล่านั้นจะต้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำอย่างไรจะให้มีความสัมพันธ์ที่พอเหมาะพอดี ซึ่งความพอเหมาะพอดีนี้ถ้ารักษาไว้ได้ มันก็จะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะฉะนั้น หลักในเรื่องดุลยภาพนี้ก็เกิดจากการที่สิ่งทั้งหลายนั้นสัมพันธ์ซึ่งกันและกันนั่นเอง

ดุลยภาพว่าไปแล้วก็คือ ความสัมพันธ์อย่างพอเหมาะพอดี ถ้าความสัมพันธ์ไม่พอเหมาะพอดี เมื่อไรก็จะเสียดุลยภาพเมื่อนั้น ทีนี้ถ้าหากว่าจะปล่อยให้มันมีดุลยภาพของมันเอง ก็ไม่แน่นอน เพราะว่าชีวิตของมนุษย์เรานี้ก็ประสบสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่งมากมายที่จะทำให้ดุลยภาพนั้นสูญเสียไป เพราะฉะนั้น เราจึงต้องรู้หลักในการปฏิบัติเพื่อรักษาดุลยภาพอันนี้

ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนวิธีปฏิบัติในการที่จะรักษาดุลยภาพอยู่เสมอ แม้แต่หลักธรรมที่สำคัญสุดยอดที่สุด ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็คือ หลักแห่งดุลยภาพนี้นั่นเอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.