ดุลยภาพ: สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความสมบูรณ์มีไม่ได้ ถ้าไร้ดุลยภาพ

ทีนี้ว่าถึงดุลยภาพนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสำหรับตัวมนุษย์ และสำหรับสิ่งแวดล้อมทั้งปวง ดุลยภาพนี้เป็นภาวะที่ทำให้สิ่งทั้งหลายดำรงคงอยู่และดำเนินไปได้ด้วยดี

จะเห็นได้ง่ายๆ อย่างนกนี้มีสองปีก ถ้านกมีปีกเดียวก็บินไม่ได้ นี้เรียกว่า ไม่มีดุลยภาพโดยสิ้นเชิง ถึงแม้มีสองปีกแต่ปีกหนึ่งมีขน อีกปีกหนึ่งไม่มีขนก็คงบินยังไม่ได้ แม้แต่ว่าสองปีกมีขน แต่ว่าข้างหนึ่งขนไม่บริบูรณ์ ข้างหนึ่งบริบูรณ์ ขนสมบูรณ์ไม่เท่ากัน ปีกทั้งสองนั้นก็ไม่สามารถจะพานกให้บินไปได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วเท่าที่ควรจะเป็น นับว่าเป็นความไม่สมบูรณ์ของนกนั้น

หันมามองดูสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นก็เช่นเดียวกัน อย่างเราประดิษฐ์เครื่องบินขึ้นมา ก็คล้ายๆ กับนกนั่นแหละ เครื่องบินก็มีปีกสองปีก หรือจะเพิ่มปีกข้างหลังอีกสองปีกเป็นสี่ปีกก็ได้ แต่ปีกทั้งสองด้านนั้นก็จะต้องทำให้เท่ากันหรือให้ได้ดุลย์กันเรียกว่า มีดุลยภาพอย่างบริบูรณ์ทีเดียว ถ้าขาดดุลยภาพก็เสียหลัก เครื่องบินก็บินไม่ขึ้น ถ้ามีเหตุอะไรทำให้ปีกข้างใดข้างหนึ่งเสียขึ้นมาหรือว่าบกพร่องขึ้นมา ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้

เพราะฉะนั้นเรื่องของดุลยภาพนี้เราจะเห็นได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม ที่พูดมานี้เป็นสิ่งที่ไม่สลับซับซ้อน เรามองดุลยภาพแค่ส่วนที่มาเสริมกันสองอย่าง แต่ทีนี้ถ้าดูชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์กว้างขวางออกไป ก็มีอะไรต่ออะไรที่ซับซ้อนมากกว่านั้นอีก

พอถึงตอนนี้ดุลยภาพนั้นไม่ใช่มีเพียงสองส่วนและมาทำให้ได้สมดุลกัน แต่บางทีมันมีมากมาย เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่เราเรียกว่าเป็นองค์รวมหรือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิด ที่มองเห็นกันในโลกนี้ เมื่อมองดูตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งก็เป็นหลักความจริงโดยทั่วไป เราจะเห็นว่าเป็นการประชุมกันเข้าของส่วนประกอบต่างๆ มากมาย เรียกว่ามีองค์ประกอบเยอะแยะมารวมกันเข้า มาชุมนุมกันเข้า มาประกอบกันเข้า เป็นสิ่งนั้นๆ ส่วนประกอบนั้น อาจจะมีมากมายเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพันอย่างก็ได้ เมื่อมีหลายอย่างมากเข้าก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ทีนี้ส่วนประกอบต่างๆ ที่มาอยู่ร่วมกันนั้นก็ต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นหลักธรรมดา มันสัมพันธ์กันเช่นโดยการทำหน้าที่ มาประกอบมาเสริมกันซึ่งแต่ละอย่างจะต้องทำหน้าที่ของตนๆ โดยสัมพันธ์กันอย่างพอเหมาะพอดีได้สัดได้ส่วน ถ้าทำหน้าที่ไม่พอเหมาะพอดีขึ้นมาเมื่อไรก็เกิดเรื่องเกิดปัญหาเมื่อนั้น นี่ก็คือเรื่องที่เราเรียกว่าหลักแห่งดุลยภาพ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.