ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา ปุจฉา-วิสัชนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๒. งานผูกสีมา
ตามวัฒนธรรมไทย

การผูกสีมา พัฒนาเป็นงานบุญของคนไทย

ถาม: สุดท้าย อยากจะทราบขั้นตอน และรูปแบบตามประเพณี หรือวัฒนธรรมที่ทำกันมาในเรื่องการผูกสีมานี้ หรือว่าจะทำตามรูปแบบที่เป็นพุทธบัญญัติ ว่าจะต้องทำขั้นตอนอย่างไร ต้องใช้เวลาเท่าไร

พระธรรมปิฎก: อย่างที่กล่าวแล้วว่า การผูกสีมาเป็นเรื่องในส่วนของพุทธบัญญัติ กับในส่วนของวัฒนธรรมประเพณี ส่วนที่เป็นแกนแน่นอนที่จะต้องมี คือส่วนของพุทธบัญญัติ แต่ส่วนของวัฒนธรรมประเพณีนั้นก็แล้วแต่เราจะเอาแค่ไหน และเลือกปรับเปลี่ยนไปตามสมควร

ได้พูดไปแล้วในส่วนของแกนคือตัวพุทธบัญญัติ ทีนี้ก็พูดในแง่วัฒนธรรมประเพณีบ้าง เริ่มต้นก็คือว่า เรื่องของพระพุทธศาสนาเราถือว่าเป็นเรื่องของพุทธบริษัท ๔ ไม่ว่าอะไร แม้จะเป็นเรื่องของพระสงฆ์ เราก็จะให้ญาติโยมคฤหัสถ์ได้มีส่วนร่วม ซึ่งโดยมากก็จะเป็นการร่วมในแง่ที่มาสนับสนุนส่งเสริมอุปถัมภ์ เริ่มตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงอุปถัมภ์ด้วยการถวายวิสุงคามสีมาอย่างนี้ ญาติโยมก็มาร่วม แล้วแต่ว่ามีส่วนไหนที่จะเปิดโอกาสให้ญาติโยมได้ร่วมก็เปิดโอกาสให้เข้ามา โดยวิธีนี้ก็จึงเกิดประเพณีงอกขึ้นมาในงานผูกสีมา แทนที่จะเป็นเพียงสังฆกรรม ก็กลายเป็นงานพิธี มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมา

การร่วมของชาวบ้านในเมืองไทยก็คือเรื่องที่เราเรียกว่าการทำบุญ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นประเพณีการทำบุญที่เนื่องด้วยการผูกสีมาก็เข้ามา นอกจากเลี้ยงพระเป็นต้นแล้ว ตามปรกติ ชาวบ้านจะเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือทุกอย่างที่จะให้พระทำกิจของท่านได้สะดวก นี่เป็นแกนสำคัญ แต่ไม่ใช่แค่นั้น ชาวบ้านยังเห็นว่าการได้มามีส่วนร่วมทำอะไรในเรื่องนี้เป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น และสิ่งที่ทำในงานนี้ก็เป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปหมด

เห็นลูกนิมิตศักดิ์สิทธิ์ เลยปิดทองกันใหญ่

ฉะนั้น ลูกนิมิต ก็กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะงานผูกสีมา ต้องอาศัยนิมิต นิมิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีนิมิตก็ผูกสีมาไม่ได้ นิมิตที่เป็นองค์ประกอบสำคัญก็เลยกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทีนี้อะไรที่เกี่ยวกับลูกนิมิต เช่น หวายสาแหรก ก็ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีก ดึงกัน แย่งกันเลย มีดตัดสาแหรก มีดตัดหวายก็ศักดิ์สิทธิ์อีก อะไรๆ ไม่รู้ ศักดิ์สิทธิ์ไปหมด ใครๆ ก็อยากได้

ความจริงในแง่หนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนุสรณ์สำคัญ ถ้าไม่มองในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ ใครๆ ก็อยากได้ไปเป็นอนุสรณ์ แต่นี่ไม่ใช่แค่อนุสรณ์ธรรมดา อนุสรณ์มีความศักดิ์สิทธิ์ในความหมายทางจิตใจที่ลึกซึ้งเข้าไปอีก พอนิมิตศักดิ์สิทธิ์ ทีนี้ปิดทองก็ตามมาอีก ชาวบ้านเขาอยากร่วมอุปถัมภ์อยู่แล้ว การปิดทองก็ชอบอยู่แล้ว เมื่อทำกันนานๆ ไป เรื่องก็อาจจะชักบานปลาย

ทีนี้ถ้าพระถือโอกาสหาเงินก็ไปกันใหญ่ จนเมืองไทยปัจจุบันนี้ชักจะกลายเป็นว่า เวลาจัดงานฝังลูกนิมิตผูกสีมา ก็พากันเน้นที่การหาเงินไปหมด คิดว่าทำอย่างไรจึงจะหาเงินได้มากๆ ก็ต้องจัดงานให้ใหญ่ที่สุด แล้วก็มีหลายๆ วัน มีดนตรี มีมหรสพต่างๆ และโฆษณากันใหญ่ ทำป้ายติดไปตามสี่แยก หรือข้างถนนใหญ่ บางทีทั่วประเทศ บางทีติดกันเป็นปีๆ แล้วก็ชอบมาจัดงานเอาตอนตรุษจีน อันนี้เป็นเรื่องประเพณีขยายมา คือประเพณีทำบุญนั่นเอง

การที่ชาวบ้านอยากได้บุญ เลยกลายเป็นจุดที่มาบรรจบกับพระในเรื่องที่ว่า ถ้าไม่ระวังแล้วจะเป็นจุดเสื่อม ก็คือกลายเป็นเรื่องหาเงินทองไป ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นไปมาก จึงเป็นจุดที่เราคงจะต้องระวังว่า จะทำอย่างไรให้ได้สาระ ไม่ใช่มาติดแค่ว่าจะหาเงิน

ตอนนี้ก็ถึงจุดแยกแล้วว่า ทำอย่างไรจะให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ที่แท้จริง ในส่วนสังฆกรรมก็แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของพระสงฆ์ แต่ชาวบ้านควรจะได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นอีก ไม่ให้เป็นเพียงเรื่องหาเงิน ก็ต้องมาช่วยกันคิด

การหาเงินก็มาจากเรื่องเดียวกัน คืออย่างที่บอกแล้วว่าชาวบ้านเห็นอะไรที่เกี่ยวกับสีมาเป็นศักดิ์สิทธิ์ไปหมด จุดนี้จะใช้หาเงินก็ได้ แต่ถ้าไม่หาเงินแล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดความหมายที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่บอกว่าได้บุญๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร ก็จึงเป็นจุดสำคัญว่าพวกเราต้องช่วยกันคิด

ปิดทองลูกนิมิตอย่างไร ให้ได้บุญจริงๆ

อย่างปิดทองลูกนิมิตนี่ จะเอาไหม ในเมื่อมันไม่ใช่ตัววินัย หรือพุทธบัญญัติ ซึ่งมีแค่ว่ามีลูกนิมิตที่ทางพระใช้กำหนดเอา ก็จบเรื่อง แต่จะปิดทองไหม นี่เป็นประเพณี ถ้าเราตกลงให้มีการปิดทองก็เป็นการอนุรักษ์ประเพณี แต่จะปิดทองเพื่อหาเงิน หรือจะเพียงให้ชาวบ้านได้บุญ แค่นั้นพอไหม สมมุติว่าเราไม่มุ่งหาเงิน แต่แค่ชาวบ้านบอกว่าได้บุญจากปิดทอง พอไหม? หรือว่าเราควรจะให้อะไรที่เป็นความหมายเป็นสาระยิ่งกว่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิด นี่อาตมาว่าเป็นจุดบรรจบ หรือจุดแยกที่สำคัญ

ถ้าพูดสั้นๆ ก็คือ ถ้าเรายอมให้มีการปิดทองลูกนิมิต ก็คือเราไม่หักหาญตัวประเพณี แต่เราร่วมอนุรักษ์ประเพณีด้วย แต่พร้อมกันนั้น เราก็ควรใช้ประเพณีเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ประชาชนได้ประโยชน์ที่เป็นแก่นสารจากพระพุทธศาสนาด้วย รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เราจะจัดอะไรให้ได้สาระในงานบุญ

ส่วนร่วมของคฤหัสถ์จะมีอีกตอนหนึ่ง คือตัวพิธี หรือตอนสังฆกรรมในการผูก

จะขอเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่วัดทั้งหลายนิยมทำกัน นอกจากโฆษณากันเต็มที่ และมีมหรสพใหญ่ๆ แล้ว ก็มุ่งหาเงินด้วยวิธีต่างๆ เช่นบางวัดก็ตั้งลูกนิมิตไว้รอบโบสถ์เป็นจุดๆ เสร็จแล้วก็จัดที่นั่งให้พระประจำอยู่ที่ลูกนิมิตแต่ละลูก พร้อมทั้งมีขันน้ำมนต์ไว้ประจำ พอมีใครมาปิดทอง ก็พรมน้ำมนต์ให้ ทำอยู่อย่างนี้ ชาวบ้านก็อยากจะได้บุญปิดทองด้วย พรมน้ำมนต์ด้วย การปฏิบัติในรูปนี้ ทำกันมาก ทีนี้เราจะเอาอย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องรีบคิด

อาตมาเคยคิดไว้บ้าง เช่นว่า เมื่อเราไม่มุ่งหาเงินแล้ว ถ้าเราอนุวัตรยอมตามประเพณีว่าให้มีการปิดทอง ก็เป็นการให้โอกาสชาวบ้านได้มีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโอกาสที่เขาจะได้ทำอะไรบ้าง ไม่ใช่มาเฉยๆ และไม่ได้ทำประโยชน์อะไร อย่างน้อยก็ได้มีส่วนร่วมคือปิดทอง

ถ้ามองในความหมายนี้ก็คือการที่ชาวบ้านได้รู้สึกตัวว่าได้มีส่วนร่วมในพระพุทธศาสนาของเขา ในการที่ได้มาปิดทองลูกนิมิตที่ทำให้เป็นสีมาของวัดนี้ ทำให้วัดนี้มีพัทธสีมาได้ และมีส่วนร่วมทำให้เกิดโบสถ์หลังนี้ ที่พระสงฆ์จะได้ทำสังฆกรรมกัน

อะไรที่จะให้เกิดจิตสำนึก หรือเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็พุ่งเป้าหมายไปที่นั่น คือให้เกิดความรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นบุญอย่างแท้ที่สำคัญ แทนที่จะไปเน้นอยู่แค่ว่าฉันปิดทองแล้วได้บุญแบบเลื่อนลอย แล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ และไปติดความงมงายอยากจะให้พรมน้ำมนต์โดยไม่ได้ความรู้อะไร มาแล้วก็ได้แต่ความหลงกลับไป

นอกจากความรู้สึกมีส่วนร่วมแล้ว ก็อาจจะให้เขาได้คติธรรม ยกตัวอย่างวัดเจ้าคุณพยอม ท่านไม่สร้างโรงอุโบสถ เมื่อท่านผูกสีมา ฝังลูกนิมิต ท่านก็จัดรายการอภิปรายธรรมทุกวันๆ นี่เป็นการยกตัวอย่าง

จะได้บุญจริงๆ ต้องให้ครบทั้งทาน ศีล และภาวนา

อีกวิธีหนึ่ง ในเวลาแต่ละคนมาปิดทอง ปกติเขาก็จะมาเอาทองที่วัด บางทีเขาอาจจะเอามาเองแต่ก็น้อยคน เขามักคิดมาเอาที่วัด และทางวัดก็จัดเตรียมให้ วัดอาจจะจัดให้เปล่าเลย และโยมหลายคนคงยินดีจัดทองมาให้

แต่ก็มีปัญหาว่าชาวบ้านเขาก็ไม่อยากเอาทองไปเฉยๆ คล้ายๆ กับเขารู้สึกว่า ถ้าเขาจะทำบุญ เขาก็ต้องบริจาค เรื่องอะไรเขาจะรับทองไปปิดเฉยๆ นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ว่า เราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไร

ถ้าเราไม่ได้มุ่งเอาเงินเขา แต่เราจะไม่รับก็ไม่ได้ เพราะเขารู้สึกว่าเขาต้องบริจาค ไม่ใช่มีส่วนร่วมแค่ปิดทอง แต่ต้องมีส่วนร่วมบริจาคทรัพย์ด้วย เพราะเขารู้สึกว่าการบริจาคเป็นการที่เขาได้ทำบุญ (คือบุญขั้นทาน) มิฉะนั้นเขาจะเรียกว่าทำบุญได้อย่างไร เขาก็นึกไม่ออก ทีนี้เราจะทำอย่างไร นี้เป็นเรื่องของทองที่เขาจะรับ

เนื่องจากเราจะเปิดโอกาสให้ปิดทองตามประเพณีโดยไม่ได้ประสงค์จะหาเงิน แต่ก็เป็นธรรมดาว่าญาติโยมที่ปิดทองโดยทั่วไปก็ต้องการบริจาค เพราะถือว่าต้องบริจาคจึงจะชื่อว่าทำบุญ เขาก็จะไม่ยอมรับทองไปเปล่าๆ แต่จะให้เขานำทองมาเอง ก็คงยาก น้อยคนจะนำมาเอง ส่วนมากก็คงหวังจะมาเอาทองที่วัด เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในเรื่องนี้ก็อาจจะต้องยุติว่า

๑. ถ้าผู้ปิดทองนำทองมาเอง ก็แล้วไป

๒. ถ้าญาติโยมต้องการปิดทอง แต่ไม่ได้นำทองมาเอง ทางวัดก็จัดวางไว้ให้เขาหยิบเอาเอง แบบให้เปล่า แต่ถ้าเขาต้องการบริจาค ก็ไม่ว่า คือเราวางภาชนะใส่ทองไว้ให้ โดยเขียนกำกับไว้บอกให้รู้ว่า

ทองนี้ให้เปล่า
แต่ถ้าต้องการบริจาค ก็สุดแต่ประสงค์

การปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เคยคิดก็คือ เวลาเขาปิดทอง ปกติเขาอาจจะนึกว่าเวลาปิดทองเขาจะพูดว่าอย่างไร เขาอาจจะนึกถึงคำบาลีเป็นคาถา แต่เขาอาจจะเน้นที่ความศักดิ์สิทธิ์ และว่าเรื่อยเปื่อยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เป็นไปได้ไหมที่ว่า เราจะให้คติธรรม เช่น เราจัดพุทธภาษิตที่เลือกสรรแล้ว ๑๐๐, ๒๐๐, ๓๐๐ คาถา หรือกี่คาถาก็ได้ สั้นๆ เช่น อัตตา หิ อัตตโน นาโถ พร้อมทั้งคำแปล

เราบอกว่า ให้จำคาถาของตัว จะไปปิดทองต้องท่องให้ได้ก่อน อย่าเอาไปอ่าน ได้แล้วก็ท่องให้แม่น และแปลได้ด้วย แล้วก็ไปปิดทองโดยว่าคาถาพุทธภาษิตนั้นไปด้วย หรือจะเอายากกว่านั้นก็ได้ คือมีพระประจำนั่งอยู่เลย ทุกคนที่จะปิดทองต้องว่าให้พระฟังก่อน

นอกเหนือจากนี้ จะจัดให้มีเทศนา ปาฐกถา สนทนา บรรยายธรรม นิทรรศการต่างๆ และเจริญจิตตภาวนา เป็นต้นอย่างไร ก็เตรียมการกันไป

นี้เป็นเพียงวิธีการบางอย่าง เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นว่าเราจะทำอย่างไรให้มีสาระขึ้นมา นอกจากทานแล้ว ก็ให้เขาได้คุณธรรม ได้คติสำหรับชีวิตจิตใจ และได้ปัญญา

รวมความก็คือให้มาช่วยกันคิดว่า เมื่อประชาชนต้องการมีส่วนร่วม เราก็พยายามตัดเรื่องของความลุ่มหลง และเรื่องของการหาเงินหาทองออกไปเสีย ทำให้ได้สาระ ได้ประโยชน์ ได้คุณค่า ได้ปัญญา ได้ธรรม ได้ความดีงาม ได้คติ ให้ประชาชนได้บุญมากยิ่งขึ้นไป ทั้งทาน ศีล และภาวนา อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปิดทองลูกนิมิต

สีมานิมิตไปฝังอยู่ในใจ กลายเป็นกรรมนิมิตอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำคัญในทางบุญกุศล ที่มีผลต่อจิตใจมาก คือในแง่ที่เรียกว่า “บุญญาภิสังขาร” แปลว่า บุญเครื่องปรุงแต่งจิตให้เกิดกรรมดี

คนเรานี้ เวลาอยู่ว่างๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็จะคิดโน่นคิดนี่ จับเอาอารมณ์ที่ผ่านไปแล้วมาปรุงแต่งหรือคิดต่อ โดยเฉพาะอะไรที่เด่นๆ หรือเรื่องกระทบกระทั่งคั่งค้างอยู่ ใจก็จะแวบไปหา แล้วก็คิดวกวน ครุ่นกังวล หรือเครียดอยู่กับอารมณ์นั้น หรือไม่ก็ฟุ้งซ่านไป ทั้งหมดนี้ไม่ดีเลย

แต่ถ้าอารมณ์เด่นที่โผล่เข้ามาในจิตหรือจิตไปจับเอามานั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องบุญกุศล ก็จะปรุงแต่งไปในทางตรงข้าม กลายเป็นว่าจะทำให้เกิดความเอิบอิ่ม ผ่องใส ใจร่าเริงยินดี มีปีติปราโมทย์

ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน เพราะปุถุชนนั้นอยู่ในขั้นของการปรุงแต่ง ถ้าเป็นปุถุชนที่ดีและเก่ง ก็สามารถปรุงแต่งในทางดี ถ้าเป็นปุถุชนที่อ่อนแอยังไม่พัฒนา ก็ปรุงแต่งเรื่องร้ายๆ ที่เป็นบาปอกุศล ทำจิตใจให้เครียดขุ่นมัวเศร้าหมอง หาทุกข์ใส่ตัว เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ถ้ายังไปเหนือการปรุงแต่งไม่ได้ ก็ต้องฝึกตัวให้เก่งปรุงแต่งในทางดี

โดยเฉพาะที่สำคัญมาก คือ เวลาจะตายนี่นะ จิตจะเคว้งคว้างมากที่สุด มันหวาดกลัวบ้าง หรือถ้าไม่หวาดกลัวก็อาจจะฟุ้งซ่าน เพราะตอนนี้อยู่กับความไม่รู้ว่าเราจะไปอย่างไร โลกนี้ก็อยู่ไม่ได้ โลกหน้าจะไปอย่างไรก็ไม่รู้ ก็เคว้งคว้างฟุ้งซ่าน ในขณะนี้จิตก็จะไปยึดอารมณ์ต่างๆ ซึ่งไม่แน่ว่าจะดีหรือร้าย ตอนนี้ อันไหนเด่นขึ้นมามันก็ยึดอันนั้น ธรรมดาเรื่องของคนนั้นมากมายเหลือเกิน ทั้งที่อยู่ในความจำและคิดนึกไป ทีนี้ บางทีไปจับเอาอารมณ์ไม่ดีเข้า ก็จะเสียตอนนั้นแหละ เขาถึงได้เอาญาติพี่น้องมาให้สติ อย่างที่เรียกว่า “บอกอรหัง” เพื่อให้จิตมีที่ยึดที่ดี อยู่กับคุณพระรัตนตรัยและบุญกุศล

เวลาทำบุญอะไรใหญ่ๆ อย่างคนทั่วไปที่นิยมทางด้านวัตถุ ก็อาจทำให้มีจุดกำหนดที่เด่น เช่นไปสร้างโบสถ์ไว้ สร้างพระพุทธรูปไว้ ไปปิดทองลูกนิมิตแล้วมีความประทับใจไว้ ภาพพวกนี้จะปรากฏเด่นขึ้นมา เวลาอยู่ว่างๆ หรือจิตกำลังฟุ้งซ่าน เคว้งคว้าง จิตจะเกาะ เมื่อภาพการทำบุญพวกนี้เด่นขึ้นมา จิตก็จับอยู่กับบุญ สบายไป ถ้าเป็นเวลาใกล้ตายก็เลยได้ลูกนิมิตมาเป็นกรรมนิมิต

กรรมนิมิตนี่แหละ เป็นตัวสำคัญที่บอกถึงกรรมที่จะนำจิตไปสู่คติข้างหน้า

บุญจะใหญ่ เมื่อได้ปัญญามาหนุน

การปิดทองลูกนิมิตนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่งอกขึ้นมาในประเพณีก็ตาม แต่ก็งอกขึ้นมาจากเรื่องที่เป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา คือปรารภหรืออิงอยู่กับเรื่องเดิมที่เป็นสาระในพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็จะได้ประโยชน์ เป็นการทำบุญที่จะเป็นอารมณ์เด่นของจิตใจต่อไป (ในทางตรงข้าม ถ้าปฏิบัติผิดก็อาจจะประสบผลในทางบาปได้เช่นกัน)

การปิดทองลูกนิมิต ที่ว่าเป็นอารมณ์บุญที่เด่นนั้น เด่นทั้งในทางวัตถุหรือรูปธรรมที่เห็นชัดใหญ่โต เพราะโยงไปถึงสีมา โยงไปถึงโบสถ์ทั้งหมดที่จะสำเร็จผลใช้งานได้ก็เพราะลูกนิมิตนั้น ตลอดจนวัดทั้งวัดที่จะมีฐานะสมบูรณ์ตามพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง เรามาปิดทองลูกนิมิตมีส่วนร่วมในงานผูกสีมานี้ ก็เท่ากับได้ร่วมสร้างโบสถ์และสร้างวัดนี้ด้วย

ต่อไปก็เด่นในแง่เป็นเหตุการณ์สำคัญ เป็นเรื่องพิเศษ ที่วัดนั้นๆ และชุมชนหมู่นั้นถิ่นนั้นตามปกติจะมีได้ครั้งเดียว เราได้มาร่วมในเหตุการณ์ใหญ่ที่เป็นการเริ่มต้น ซึ่งหาได้ยาก

อีกอย่างหนึ่ง ก็เด่นในแง่ของสาระประโยชน์ในงานพระศาสนา ที่จะมีสืบต่อไปข้างหน้ามากมายตลอดกาลยาวนาน ซึ่งเป็นไปตามพระธรรมวินัย หมายความว่า คนที่รู้จักทำบุญ จะมองเห็นว่า จากลูกนิมิตที่ทำให้สีมาเสร็จ ให้โบสถ์ใช้ทำสังฆกรรมได้ และทำให้วัดมีฐานะสมบูรณ์นี้ ต่อไปงานพระศาสนาต่างๆ เช่นการบวชพระ การทอดกฐิน สังฆกรรมต่างๆ และการบำเพ็ญศาสนกิจของพระสงฆ์มากมาย จะดำเนินสืบต่อไป ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคง และบังเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ลูกนิมิตที่เราปิดทอง ช่วยโยงจิตของเราให้มองไปถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนได้ทั้งหมด

ถ้าชาวบ้านรู้สึกว่าเราได้ร่วมบุญครั้งใหญ่นะ เป็นการทำเพื่อพระศาสนา การปิดทองลูกนิมิตในวัดนี้ก็มีครั้งเดียวนี่แหละ ฯลฯ อย่างที่ว่าไปแล้วนี้ ก็จับไว้ในจิต เป็นอารมณ์ที่เด่น พอปรากฏขึ้นในจิตเมื่อใด จิตก็ผ่องใส เอิบอิ่ม มีปีติทุกทีไป

จิตเราไปผูกกับบุญที่เนื่องด้วยการปิดทองลูกนิมิตนั้น แล้วจิตก็จะปรุงต่อไปอีก ปรุงแต่งจากบุญส่วนที่มาเป็นอารมณ์ ให้ แล้วก็พิจารณาไป

ถ้าเป็นคนที่รู้เข้าใจมีปัญญาด้วย คือมีศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะยิ่งสามารถปรุงแต่งบุญได้มาก คือ เวลาระลึกนึกถึงวันนั้นเมื่อนั้นที่เราได้ไปทำบุญปิดทองลูกนิมิตร่วมงานผูกสีมา พอนึกขึ้นมาแล้วก็พิจารณาต่อไปว่า พัทธสีมาที่เราได้ไปร่วมแสดงออกสนับสนุนให้ผูกขึ้นมา พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้อาศัยโบสถ์และวัดที่นั่นบำเพ็ญศาสนกิจและทำบุญกุศลต่างๆ การเล่าเรียนปริยัติ การศึกษาปฏิบัติ การเผยแผ่สั่งสอนพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเจริญงอกงามขยายกว้างขวางออกไป ช่วยให้บ้านเมืองอยู่ดีมีสุข อย่างน้อยก็ช่วยยับยั้งความเสื่อมเสียหายของสังคม และช่วยให้ธรรมดำรงคงปรากฏอยู่ในโลก

ยิ่งมีปัญญามาก ก็จะยิ่งขยายเขตแดนของจิตใจให้กว้างขวางออกไปได้มาก และทำจิตใจให้มีปีติเอิบอิ่มเบิกบานได้มาก เพิ่มกำลังของกุศลให้เข้มแข็งแรงกล้ามากขึ้น เข้าหลักที่ว่า ปัญญามาหนุนปุญญัง ส่งเสริมเพิ่มพูนอานิสงส์ของบุญ

ข้อสำคัญ คืออย่างน้อยให้ใจเอิบอิ่มผ่องใส เข้าหลักพุทธพจน์ที่ว่า “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเ สุคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว ก็เป็นอันหวังสุคติได้

สวดถอนสีมาเก่า

เรื่องลูกนิมิต เมื่อเราให้โอกาสคนปิดทองเสร็จแล้ว ก็มาถึงการผูกสีมาแท้ๆ วัดนั้น เมื่อกำหนดงานปิดทองแล้ว สุดท้ายก็จะต้องทำพิธีฝังลูกนิมิตผูกสีมา ลูกนิมิตที่เปิดทิ้งไว้ให้ปิดทองก็จะต้องเอาลงหลุม ตอนนี้ก็ถือเป็นวันสำคัญ มาถึงเรื่องของสังฆกรรม ซึ่งจะมาบรรจบกับเรื่องของพุทธบัญญัติ ซึ่งพระจะกำหนดลูกนิมิตเป็นเขต แล้วก็ผูกสีมา ซึ่งจะต้องประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ต้องมาสวดสมมติ คือมีมติร่วมกัน

ตอนนี้ก็มีเรื่องแทรกเข้ามาว่า เมื่อพระจะผูกสีมากำหนดเขตใหม่ ท่านก็กลัวว่าดินแดนแถวนี้อาจจะเคยมีวัดมาก่อนก็ได้ แต่ร้างไป เราก็ไม่รู้ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่าห้ามผูกสีมาซ้อนสีมา แม้แต่คาบเกี่ยวกันก็ไม่ได้ สีมาที่ผูกใหม่จะเป็นโมฆะ ไม่เกิดผล ทีนี้พระก็กลัวว่าถ้าเราผูกและเกิดไปซ้อนสีมาเก่าเข้าก็จะเสีย การที่จะไม่ให้ซ้อนก็คือ ถ้าที่นั่นเคยมีสีมาก็ต้องถอนของเก่าก่อน ทีนี้เราไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี จึงต้องป้องกันไว้ก่อน ไม่ว่าจะเคยมีสีมาเก่าหรือไม่ ก็ต้องถอนไว้ก่อน

เพราะฉะนั้นตามประเพณีของเราจึงถือว่า ก่อนจะผูกสีมาก็ประชุมสงฆ์สวดถอนก่อน แต่ถ้าสวดถอนแล้วผูกต่อเลยในคราวเดียวก็จะยุ่งกันใหญ่ เรื่องเยอะ และยิ่งมีประชาชนมาร่วมด้วยก็จะทำให้เหนื่อยไปตามๆ กัน และยาวนานเกินไป จึงนิยมว่าระหว่างที่มีงาน สมมุติว่า ๗ วัน พระท่านอาจจะทำโดยไม่ต้องให้โยมรู้ คือจัดทำสังฆกรรมส่วนที่เรียกว่าถอนสีมาให้เสร็จไปก่อนระหว่างนั้น พระอาจทำกันเอง โยมจะรู้หรือไม่รู้ก็ได้ เพราะที่จริงเรื่องทั้งหมดก็เป็นกิจของสงฆ์อยู่แล้ว

ในขณะที่ญาติโยมทำบุญกันไป พระสงฆ์ก็อาจจะไปนิมนต์กันมาจากหลายๆ วัด บางงานอาจจะใช้เวลาตอนกลางคืนนิมนต์พระมาประชุมกันแล้วทำสังฆกรรมที่เรียกว่าถอนสีมา ถอนไว้ให้เรียบร้อยก่อนในบริเวณทั้งหมดที่เรากำหนดไว้แล้วว่าจะฝังลูกนิมิตผูกสีมานั้น

ถาม: ที่ประชุมสงฆ์ ต้องกำหนดจำนวนพระด้วยหรือเปล่า?

พระธรรมปิฎก: ก็มีกำหนด ท่านถอนทั้งบริเวณ บางแห่งท่านประชุมให้พระนั่งเต็มเขตที่ต้องการทีเดียวเลย เพราะฉะนั้น บางแห่งอาจจะนิมนต์พระถึงพันจนเกิดความโกลาหล แต่ทั้งนี้มีวิธีต่างๆ เช่น บริเวณเขตสีมาที่จะฝังลูกนิมิต เราแบ่งบริเวณออกเป็นส่วนๆ โดยกะว่าเอาสักกี่ครั้งดีให้ครบ อาจจะให้ได้ส่วนละ ๑๐๐ รูป เต็มบริเวณเท่านั้น เราก็นิมนต์พระมาให้พอกับเนื้อที่ส่วนเท่านั้น แล้วท่านก็สวดถอนไปทีละส่วน คือ พอถอนส่วนนั้นเสร็จแล้วก็ถอนต่อไปอีกทีละส่วนจนเต็มบริเวณทั้งหมด ถ้าพระน้อยองค์ก็ใช้เวลามาก ถ้าพระมากองค์ก็เสร็จเร็ว และยังมีวิธีอื่นอีก อันนั้นเป็นรายละเอียด อย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ รวมแล้วก็คือทำสังฆกรรมถอนสีมาเก่าก็แล้วกัน

เป็นอันว่าถอนให้เสร็จไว้ก่อน แล้วแต่ว่าจะถอนวันไหนก็ได้ เวลาถึงงานใหญ่จริงๆ จะได้สะดวก เพราะว่าตัวงานผูกสีมา พระท่านมักทำพิธีใหญ่โต ชาวบ้านก็อยากให้เป็นพิธีใหญ่ จึงมักจะเชิญบุคคลสำคัญ เช่น บางทีก็อัญเชิญเสด็จในหลวง หรือเจ้านายไป งานใหญ่นี่สงวนไว้สำหรับตัวพิธีใหญ่ คือฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาจริงๆ และนิยมให้ผู้ที่มาเป็นประธานได้มีกิจกรรม โดยเฉพาะการตัดสาแหรกลูกนิมิต

นี่เป็นเรื่องของประเพณี ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องคิดว่าเราจะทำหรือไม่? จะมีการเชิญบุคคลสำคัญมาเป็นประธานในพิธีบุญนี้ไหม?

สุดท้ายก็สำเร็จ คือ ฝังลูกนิมิต - ผูกสีมา

ถาม: ตกลงถอนนี้ ๑ วันใช่ไหม?

พระธรรมปิฎก: อย่างที่บอกแล้วว่าถอนวันไหนก็ได้ ให้เสร็จไปเสียก่อนในวันใดวันหนึ่ง เป็นเรื่องของพระ หรือโยมจะมาร่วมจัดเตรียมการก็ได้ ส่วนการผูกสีมาจะเป็นเรื่องสำคัญในวันสุดท้าย คือ ฝังลูกนิมิตแล้วก็ผูกสีมา ถ้าเชิญบุคคลสำคัญมาก็ต้องคิดว่าเราจะให้ท่านมีบทบาทอะไรบ้าง

วันนั้นก็อาจจะมีการทำบุญ เลี้ยงพระ และเพื่อจะให้การฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาต่อเนื่องไป ก็เลี้ยงพระตอนเพลก่อน แล้วฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาในตอนบ่าย ประธานก็จะตัดสาแหรกให้ลูกนิมิตลงไปในหลุม จะให้ประธานตัดเฉพาะหลุมกลาง หรือทุกหลุมก็แล้วแต่ อาจจะเตรียมผู้ใหญ่ไว้ ๙ คน โดยเอาประธานใหญ่ไว้หลุมกลาง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาตกลงกันทั้งสิ้น กลายเป็นเรื่องมีรายละเอียดเยอะแยะ ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี ไม่ใช่ส่วนสำคัญของสังฆกรรม

การฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาอาจจะมีพระจำนวนไม่มากนัก เพียง ๑๐ ถึง ๒๐ องค์ หรือเราอาจต้องการมาก ๔๐ - ๕๐ องค์ หรือ ๑๐๐ องค์ก็แล้วแต่ ก็นิมนต์มาประชุมกันในเขตนั้น แล้วก็มีพระเถระผู้รับมอบหมายจากสงฆ์ออกไปทักนิมิต

ตอนทักนิมิตนี้จะให้ญาติโยมมีส่วนร่วมด้วย โดยยืนอยู่ข้างนอกลูกนิมิต แล้วด้านในของลูกนิมิตพระที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมก็จะไปยืนทักลูกนิมิตว่า ทิศนี้ใช้อะไรเป็นนิมิต โยมก็จะเป็นผู้ตอบว่า ทิศนี้ใช้ศิลาเป็นนิมิต นี่เป็นเรื่องของการให้ญาติโยมมีส่วนร่วม

เมื่อทักนิมิตเสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็สวดเป็นการตกลงว่าได้กำหนดเอาเขตตามแนวนิมิตเหล่านี้เป็นสีมา คือเขตของสงฆ์ เมื่อที่ประชุมยอมรับตามนี้ก็สวดประกาศมติ แล้วก็จบ

ถาม: มีความจำเป็นอย่างไรที่วัดต่างๆ ต้องใช้เวลาในการปิดทองลูกนิมิต เป็นเวลานานๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัด โดยมาทำบุญ

พระธรรมปิฎก: ถ้ามองในแง่ดี การมีงานหลายวันก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ถ้ามองในแง่ไม่ดีก็เป็นเรื่องของการหาเงินหาทอง ที่ต้องวางแผนว่าทำอย่างไรจะให้ได้เงินมากที่สุด เช่น คิดว่าฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาทั้งที ต้อง ๑๐ ล้าน แล้วก็ต้องวางแผนอีกว่า จะจัดอะไรอีกที่จะให้เป็นงานใหญ่ จะมีมหรสพกี่ชนิด แต่ละอย่างจะหาเงินได้อย่างไร แล้วแต่จะคิดไป นี่เป็นเรื่องของจุดมุ่งหมายว่าจะตั้งอย่างไร

ถาม: การคิดในเรื่องนี้จะเป็นของญาติโยมใช่หรือไม่

พระธรรมปิฎก: ไม่ว่าในแง่ไหน ก็ร่วมกันคิดทั้งนั้น แม้แต่เรื่องหาเงินเดี๋ยวนี้พระก็คิดกันเยอะ ถ้าจะคิดให้เป็นบุญเป็นกุศลกันจริงๆ แท้ๆ ก็ต้องช่วยกันร่วมกันคิด ให้เป็นความสามัคคีของพุทธบริษัททั้ง ๔

ขอฝากช่วยกันคิด ว่าจะทำอย่างไรกันบ้าง เพื่อให้งานผูกสีมามีความหมายและสาระเพิ่มขึ้น อย่างถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.