พ.ร.บ.คณะสงฆ์ : เรื่องเก่าที่เถียงกันใหม่ ข้อคิดเก่าๆ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คำปรารภ

ในระยะเวลาประมาณ ๑ ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับที่มหาเถรสมาคมเห็นชอบแล้วเข้าสู่สภาฯ เพื่อให้เป็นกฎหมายรองรับการจัดตั้งสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้น ต่อมาภายหลังมีผู้คัดค้านเนื้อหาสาระใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับดังกล่าว จึงเป็นชนวนก่อให้เกิดข้อถกเถียง และก่อให้เกิดความขัดแย้งสร้างความแตกแยกขึ้นในหมู่ชาวพุทธอย่างกว้างขวาง

ตามความเป็นจริง เรื่อง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และการที่จะแก้ไขปรับปรุงนั้น เป็นเรื่องเก่ามาก ไม่ควรจะมีการกล่าวโทษใครๆ ท่านใดในปัจจุบัน ท่านที่รักพระพุทธศาสนา และต้องการจะรักษาพระธรรมวินัยจริงๆ ควรจะศึกษาความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนๆ แล้วมีความสามัคคีช่วยกันทำปัจจุบันให้สมบูรณ์

เนื่องจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์เป็นเรื่องเก่า ความคิดเห็นในเรื่อง พ.ร.บ.คณะสงฆ์นั้นจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่เคยมีข้อถกเถียงกันมาก่อนแล้ว เมื่อกลับไปศึกษาและค้นดูก็ได้พบข้อเขียนเก่าๆ ของ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) เรื่อง “ข้อคิดเห็นเบื้องต้น เกี่ยวกับการปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์” ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ซึ่งได้ให้ข้อคิดและวิจารณ์ไว้ว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์นั้นควรมีแนวทาง ตลอดจนหลักการอย่างไร และล่าสุดได้สรุปข้อคิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เอาไว้สั้นๆ ในหนังสือเรื่อง “ภัยแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” หน้า ๖๗-๗๑ พิมพ์ครั้งแรกในเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่ฉบับมหาเถรสมาคมเห็นชอบ ได้เดินหน้าไปแล้ว ถึงขั้นออกจากกฤษฎีกา และผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วในรอบแรก เพื่อให้สิ่งที่เดินหน้าไปแล้ว เดินต่อไปดียิ่งขึ้น เพิ่มส่วนดีมากขึ้น และทำให้เกิดการปรับเนื้อหาของตัวบทกฎหมายให้เข้ากับสภาวะความเป็นไปของคณะสงฆ์ในปัจจุบัน โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่คณะสงฆ์ทั่วประเทศ อันจะมีผลทำให้ชุมชนชาวพุทธเข้มแข็ง และเป็นกำลังให้แก่ประเทศชาติ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อคิดของ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มกำลังสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามในเรื่อง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ นี้ต่อไป

มูลนิธิพุทธธรรม

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.