พุทธบริษัทกับพระธรรมวินัย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

(อาจารย์ระวี) ในเรื่องนี้ก็คงจะเป็นที่ชัดเจนสำหรับที่ประชุมนี้ว่า ปัญหาส่วนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากการที่สาธารณชนหรือชาวพุทธโดยทั่วไปไม่เข้าใจภาษาของพระพุทธศาสนา แล้วพระโพธิรักษ์ก็ได้อาศัยสิ่งที่สาธารณชนไม่เข้าใจนั้นใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงความหมายโดยใช้ถ้อยคำให้ความหมายใหม่เสียแก่ศัพท์ในพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่ท่านเจ้าคุณได้ให้คำเรียกไว้และก็ได้มีการนำเอาไปใช้กันมากในปัจจุบันว่า ทำให้พระธรรมวินัยวิปริต จะใช่หรือไม่ใช่ครับ

(พระเทพเวที) เจริญพร เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วพุทธศาสนิกชนก็ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวปัญหาอีกนิดหน่อย อาตมาอยากจะให้ความหมายเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาว่า ปัญหาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เพื่อโยงมาสู่ปัญหาที่กำลังประสบกันอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาในพระพุทธศาสนานั้นขอกล่าวแยกว่าโดยสรุปแล้วมี ๒ ประเภทด้วยกัน ปัญหาประเภทที่หนึ่งคือ ปัญหาเกี่ยวกับตัวพระศาสนาเอง ปัญหาประเภทที่สองคือ ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา อันนี้ขอให้แยกให้ถูก ปัญหาเกี่ยวกับตัวพระศาสนาเองนั้นก็คือตัวหลักของพระธรรมวินัย ตัวหลักการตลอดจนระเบียบกฎเกณฑ์ระบบต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาซึ่งวางไว้เป็นแบบแผนแล้ว ปัญหาต่อตัวพระศาสนาก็คือปัญหาต่อตัวพระธรรมวินัย หมายความว่าพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วแก่พระสาวก พระสาวกก็ประมวลไว้ในพระไตรปิฎกนำสืบๆ กันมา ก็พยายามรักษากันไว้ ถือเป็นมาตรฐาน ถ้าหากว่ามีการไปลบล้างพุทธบัญญัติ เช่นไปคัดค้านไม่ยอมเชื่อถือตามพุทธบัญญัตินั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นพุทธพจน์ว่าอย่างนี้ก็ว่าไปเสียอีกอย่างหนึ่ง หรือพระวินัยบัญญัติไว้อย่างนี้ก็ไปบัญญัติขึ้นมาใหม่เสียอีกอย่างหนึ่ง หรือลบล้างหักล้างคัดค้านบัญญัติของพระพุทธเจ้า การกระทำอย่างนี้เรียกว่าเป็นปัญหาต่อตัวพระศาสนาเป็นปัญหาต่อตัวพุทธพจน์และตัวบัญญัติเอง นี้เป็นปัญหาขั้นที่หนึ่ง ทีนี้ในขั้นที่สองเป็นปัญหาต่อตัวพระศาสนาเหมือนกันแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความ อาจจะมีคนบางคนมีเจตนาไม่สุจริตต้องการเอาคำสอนภายนอกหรือคำสอนความคิดเห็นของตัวเองมาเป็นหลักตั้ง แล้วก็ตีความพุทธพจน์พุทธบัญญัติให้เข้ากับความคิดเห็นของตนเอง อันนี้เป็นปัญหาขั้นที่สองในระดับการตีความ แต่ปัญหาในพุทธศาสนานั้นที่เป็นปัญหาต่อตัวพระศาสนาโดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาระดับที่หนึ่งคือเป็นปัญหาต่อตัวบัญญัติเอง ต่อตัวพุทธพจน์เอง ที่มีการลบล้างดัดแปลงแก้ไขคัดค้านอะไรต่างๆ ขึ้นมาไม่ตรงตามพุทธพจน์หรือพุทธบัญญัติ ส่วนเรื่องการตีความอาตมาได้บอกแล้วว่าในพุทธศาสนาเราให้อิสระเสรีภาพมาก แต่อย่างไรก็ตามรวมความก็คือมันเป็นปัญหาต่อตัวพระศาสนา เป็นปัญหาต่อตัวหลักการต่อตัวบัญญัติที่เป็นพระธรรมวินัยเองอันนี้อันที่หนึ่ง

ทีนี้สอง ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา คือว่าพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือบริษัท ๔ และโดยเฉพาะพระภิกษุนี้แหละเป็นตัวสำคัญ ถ้าพระภิกษุไม่ประพฤติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ประพฤติตามพระวินัยล่วงละเมิดพระวินัย พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างนี้ ไม่ให้ทำอย่างนี้ก็ไปละเมิดไม่ปฏิบัติตาม เมื่อทำอย่างนี้ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา ถ้ามีการประพฤติล่วงละเมิดพระวินัยกันมากๆ ก็เป็นความเสื่อมโทรมอย่างหนึ่งในพระศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเหมือนกันที่จะต้องแก้ไข แต่ว่าตอนแรกเราต้องทำความเข้าใจว่ามีปัญหา ๒ ระดับอย่างนี้

ทีนี้ขอให้มองดูว่าปัญหาสองระดับนี้ต่างกันอย่างไร ปัญหาระดับหนึ่ง ปัญหาต่อตัวพระศาสนาเองที่มีการลบล้างดัดแปลงพุทธพจน์พุทธบัญญัติเป็นต้น เป็นเรื่องที่ถือว่าสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะอะไร เพราะว่าตัวธรรมวินัยนั้นเป็นมาตรฐานของคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เราจะใช้เป็นเครื่องวัดเครื่องตรวจสอบตลอดกาล ว่าพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ ถ้าตราบใดตัวบัญญัติยังอยู่ พุทธพจน์ยังอยู่ เราก็ยังมีแม่บทมีมาตรฐานไว้วัดไว้ตรวจสอบต่อไป อันนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากว่าตัวบัญญัติตัวพุทธพจน์ถูกดัดแปลงแก้ไขไปแล้ว ต่อไปเราจะไม่มีมาตรฐานที่ถูกต้องมาเป็นเครื่องตรวจสอบวัดได้เลย แล้วถ้าหากว่าเครื่องตรวจสอบหรือมาตรฐานนั้นผิด สิ่งที่เราใช้เป็นมาตรฐานอาจจะไม่ใช่พุทธศาสนาต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

อันที่สอง คือพฤติกรรมของคนในศาสนาที่มีพระประพฤติผิดล่วงละเมิดธรรมวินัยกันต่างๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน อาตมภาพถือว่าเป็นยุคที่มีความเสื่อมโทรมมากจะต้องแก้ไขปรับปรุง อย่างที่เรียกว่ามีพระประพฤติเดรัจฉานวิชาอะไรต่างๆ นี่ เราบ่นกันเรื่องนี้มานาน เราก็ติเตียนว่าองค์การปกครองคณะสงฆ์นี้อ่อนแอย่อหย่อนอะไรต่างๆ เราต้องการให้มีการแก้ไขปรับปรุง แต่ในเวลาเดียวกันเราต้องตระหนักรู้เข้าใจว่าระดับของปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนาแม้จะประพฤติผิดพลาดอย่างไร แต่ตราบใดที่ยังไม่ไปลบล้างตัวบทบัญญัติตัวธรรมวินัยที่เป็นมาตรฐานแล้ว เราก็ยังมีตัวมาตรฐานไว้วัดไว้ตรวจสอบอยู่ เมื่อไรการปกครองสงฆ์เข้มแข็งขึ้นมา เมื่อไรชาวพุทธมีความเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว เราก็สามารถปรับพฤติกรรมของบุคคลในศาสนาให้เข้าสู่มาตรฐานนั้นได้อีก เพราะมาตรฐานยังอยู่ เพราะฉะนั้นจะต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องว่าเรื่องปัญหาในพระศาสนาเป็นอย่างไร ทีนี้ในปัจจุบันเรื่องที่เรามีกันมากในพระพุทธศาสนาก็คือปัญหาข้อที่สองเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา เราวิตกห่วงใยกันมานักหนา และเราก็ติเตียนองค์กรปกครองสงฆ์อย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ในขณะนี้มันก็เกิดมีปัญหาระดับที่หนึ่งซ้อนขึ้นมาอีก คือมีปัญหาระดับสองอยู่แล้วผู้ที่สร้างปัญหาระดับหนึ่งก็สร้างปัญหาระดับสองด้วย คือไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัยบางอย่างบางประการหรือหลายอย่างหลายประการ และยังก้าวเข้ามาสู่การคัดค้านพุทธบัญญัติตั้งบัญญัติใหม่เองที่ไม่ตรงกับพุทธบัญญัติ เหมือนกับมาดัดแปลงพุทธบัญญัติด้วย จึงถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษเป็นทั้งสองระดับในเวลาเดียวกัน นี่ก็เป็นเรื่องของปัญหาที่ควรจะทำความเข้าใจ

การสอนและการแสดงหลักการของท่านโพธิรักษ์ในเรื่องต่างๆ เช่น พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในพระวินัยว่า ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้าตนมีจริง ก็เป็นความผิดที่เรียกว่า ปาจิตตีย์ แต่ท่านโพธิรักษ์บอกว่า ภิกษุถ้ามีอุตริมนุสธรรมควรจะต้องอวด ในพระวินัยปิฎกบัญญัติความหมายให้คำจำกัดความของคำว่าอนุปสัมบันไว้อย่างหนึ่ง ท่านโพธิรักษ์กลับแสดงความหมายของอนุปสัมบันไปเสียอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ แต่ท่านโพธิรักษ์ว่าท่านจะเป็นทั้งพระโพธิสัตว์และเป็นอรหันต์ คือ เป็นทั้งพระโพธิสัตว์และเป็นผู้ตรัสรู้แล้วด้วยในเวลาเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระอรหันต์ไม่เกิดอีกเป็นผู้ไม่มีภพใหม่อีก แต่ท่านโพธิรักษ์สอนว่าพระอรหันต์เกิดใหม่อีกก็ได้ ดังนี้เป็นต้น การสอนและแสดงหลักการอย่างนี้เป็นการบัญญัติขึ้นใหม่ของท่านโพธิรักษ์เอง ซึ่งไม่เป็นไปตามพุทธพจน์และพุทธบัญญัติ เห็นได้ว่าเป็นการไม่ยอมรับ คัดค้าน และล้มล้างหลักการหรือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ตัวพระธรรมวินัย เป็นปัญหาในระดับที่หนึ่ง ส่วนตัวการกระทำผิดหรือละเมิดพระวินัย จะเป็นการอวดอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบันหรืออะไรก็ตาม โดยเฉพาะที่ทำบ่อยๆ เนืองๆ โดยไม่เห็นโทษหรือกลับเห็นเป็นดีไป เป็นปัญหาในระดับที่สอง

อีกอันหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา ในแง่ที่ว่าพุทธบริษัททุกคนนอกจากเป็นชาวพุทธแล้ว ก็เป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งด้วย ไม่ว่าชาวบ้านหรือชาววัด แม้พระภิกษุก็ไม่หนีความเป็นพลเมืองของประเทศไปได้ เมื่อเป็นพลเมืองของประเทศก็ต้องอยู่ในความปกครองของประเทศ ประเทศชาตินั้นปกครองโดยมีระเบียบแบบแผนเรียกว่า กฎหมาย เพราะฉะนั้นพระภิกษุก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน ทีนี้ทางบ้านเมืองก็ตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อปกครองสงฆ์ให้เรียบร้อย ตลอดจนกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่การปกครองสงฆ์โดยตรง แต่พระภิกษุในฐานะพลเมืองก็ต้องขึ้นต่อกฎหมายเหล่านี้ด้วย หากส่วนใดมาบัญญัติไว้ในกฎหมายสงฆ์เขาก็อาจจะยกเว้นส่วนนั้นจากกฎหมายอื่นเอามาบัญญัติไว้เฉพาะในกฎหมายสงฆ์ เพราะฉะนั้นก็เลยมีข้อผูกมัดขึ้นมาอีกประการหนึ่งว่า พระภิกษุในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งก็ต้องเคารพเชื่อฟังกฎหมายของประเทศนั้นด้วย เมื่อมีการละเมิดกฎหมาย ภิกษุไปละเมิดกฎหมายของบ้านเมืองเข้าก็มีความผิด กฎหมายทางบ้านเมืองก็จัดการ ตกลงว่าพระภิกษุนี่สามารถจะมีปัญหาได้สามระดับ คือปัญหาระดับหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวพุทธศาสนาโดยตรง ได้แก่ปัญหาการละเมิดกฎหมายของบ้านเมือง ต่อมาก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับพระศาสนาก็คือปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา แล้วขั้นแรกสูงสุดคือปัญหาต่อตัวพระศาสนาเอง พระภิกษุนี่สามารถทำความผิดได้ทั้งสามระดับ

สำหรับกรณีท่านโพธิรักษ์นี่ก็ต้องพูดกันตรงๆ ไม่ใช่จะมาว่ามาติเตียน คือท่านเป็นปัญหาทั้งสามระดับทีเดียวพร้อมกันหมด การเป็นปัญหาของท่านก็เป็นปัญหาอย่างที่เรียกว่าเบ็ดเสร็จ เช่นว่ากฎหมายปกครองสงฆ์ที่รัฐวางไว้ ฉันไม่ยอมรับโดยประการทั้งปวง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะละเมิดมาตราไหนข้อไหนล่ะ ฉันไม่ยอมรับทั้งฉบับอะไรอย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชาวพุทธจะต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าปัญหาเป็นอย่างนี้

ตอนนี้ก็เลยขอโอกาสชี้แจงเกี่ยวกับตัวอาตมภาพเอง อาตมภาพนี้ไม่ได้สนใจมากกับปัญหาเรื่องกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องของทางการบ้านเมือง เขามีเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอ่อนแอไม่จัดการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง อาตมาก็คงไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ทีนี้สอง ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา ท่านจะไปละเมิดพระวินัยข้อนั้นข้อนี้ อันนี้มันก็ยังเป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ปกครองสงฆ์หรืออุปัชฌาย์อาจารย์ก็ควรจะต้องแก้ไขจัดการ อาตมาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากไปรู้เห็นการต้องอาบัติหนักเข้าด้วยตนเอง ถ้าเราจะทำก็คือกระตุ้นบอกว่าท่านควรจะแก้ไขเสียให้ถูกต้องอะไรต่างๆ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของเรา อาตมภาพจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเรื่องสองเรื่องนี้ ทีนี้ส่วนที่เราจะต้องเกี่ยวข้องก็คือ ปัญหาระดับที่หนึ่ง คือปัญหาต่อตัวพระศาสนาเองที่ว่ามีการคัดค้านดัดแปลงตั้งบัญญัติเอาใหม่เกี่ยวกับหลักธรรมวินัยต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องที่อาตมาถือว่าสำคัญ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องของการลงโทษเหมือนอย่างการละเมิดกฎหมายและการทำผิดธรรมวินัยก็ตาม ที่อาตมาเข้ามาขีดเขียนเรื่องนี้ขึ้น ทำความเข้าใจเรื่องนี้ คือการที่เข้ามาสู่เรื่องนี้นั้นก็เพื่อความมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อสร้างความเข้าใจ จุดมุ่งหมายอยู่ที่นี่ ซึ่งก็ตรงกับจุดมุ่งหมายของการสนทนาธรรมครั้งนี้ด้วย คืออยู่ที่การทำความเข้าใจกันให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตัวปัญหาอยู่ที่ไหน ประเด็นของเรื่องคืออะไร จุดหมายอยู่ที่นี่ อาตมาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเรื่องนี้

เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วก็ปรากฏว่า เวลานานไปเรื่องมันยืดยาวมาก็มีความเข้าใจผิด แม้แต่ต่อตัวอาตมาเองว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ตลอดจนกระทั่งเข้าใจไปว่าเป็นอะไรกับใคร บางท่านแสดงออกคล้ายๆ จะเรียกอาตมาว่าเป็นพระของมหาเถรสมาคมก็มีอะไรทำนองนี้ มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงบอกว่า อาตมาพูดเป็นตัวแทนของมหาเถรสมาคม อันนี้ก็เป็นการให้ข่าวที่ผิดพลาด บางฉบับไปลงบอกว่าอาตมาชี้ทางให้คณะสงฆ์ และก็ยังมีบางฉบับบอกว่าหนังสือ แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก เป็นหนังสือที่ช่วยแจกแจงให้เข้าใจมติของการกสงฆ์ได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ก็เป็นเรื่องผิดอีก เพราะว่าหนังสือแรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศกเป็นบทสัมภาษณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ แล้วการกสงฆ์เพิ่งตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม แล้วเพิ่งมีมติเมื่อเร็วๆ นี้เอง หนังสือแรงจูงใจจะมาชี้แจงมติการกสงฆ์ได้อย่างไรนี้เป็นต้น การให้ข่าวเหล่านี้ชวนให้ประชาชนสับสนไขว้เขว นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์บางฉบับลงบ่อยๆ ว่าอาตมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ อย่างนี้ก็มี อาตมาก็ชี้แจงไปกับผู้สื่อข่าวบอกขอให้ไปช่วยแก้ข่าวให้ด้วย เขาก็เงียบไป แต่ก็ยังดีที่ว่าต่อมาไม่ลงว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ก็คงช่วยโดยที่ไม่ได้แก้ข่าวเก่าเป็นแต่ว่าทำข่าวใหม่ก็ไม่ใส่เจ้าอาวาสเข้าไป เพราะอาตมาไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์

ฐานะของอาตมาที่ทำงานครั้งนี้ก็ทำงานเป็นอิสระ คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมเคยตั้งให้อาตมาเข้าเป็นคณะทำงานของการกสงฆ์ด้วยและให้อยู่ร่วมในการกสงฆ์ด้วย ท่านคงเห็นว่าอาตมาคงจะมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาพระโพธิรักษ์นี้มากพอสมควร เพราะได้ขีดได้เขียนเรื่องนี้มาก็เลยตั้งให้อาตมาเข้าเป็น แต่อาตมาก็ได้ทำหนังสือกลับไป แจ้งต่อเลขาธิการมหาเถรสมาคม คืออธิบดีกรมศาสนาซึ่งมีหน้าที่โดยตำแหน่งว่า ให้นำความเข้ากราบเรียนต่อมหาเถรสมาคมว่าอาตมาทำงานเรื่องนี้เป็นอิสระโดยความริเริ่มของตนเอง และก็ทำมาก่อนอยู่แล้ว ก่อนที่คณะสงฆ์จะมาเอาจริงเอาจังในตอนขั้นสุดท้าย คือคณะสงฆ์ท่านก็บอกว่าท่านดำเนินเรื่องนี้มาไม่ได้หยุดเป็นสิบๆ ปี แต่อาตมามองเห็นในทรรศนะอาตมา ซึ่งอาตมาก็ว่าเรื่อยว่าท่านย่อหย่อนอ่อนแอ อันนี้ทรรศนะก็ไม่ตรงกัน ท่านก็บอกว่าท่านดำเนินงานเรื่อย และในที่สุดท่านก็ตั้งการกสงฆ์ขึ้นมาและตั้งอาตมาเข้าไปร่วมด้วย

อาตมาไม่ยอมรับ อาตมาก็ทำหนังสือกลับไปแจ้งว่า อาตมาขอตัวไม่รับเป็นไม่รับร่วมเป็นคณะทำงานของการกสงฆ์ เพราะว่า หนึ่งอาตมาได้ทำงานเป็นอิสระของตัวเอง มาโดยความริเริ่มของตนเอง ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบต่อพระศาสนาในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่งอยู่แล้ว ก็ขอทำงานเป็นอิสระต่อไป แล้วประการที่สองก็คือ ในเมื่อเรื่องมันเกิดอย่างนี้แล้วอาตมาได้เกิดความรู้สึกว่า ทางท่านพระโพธิรักษ์นี่ยังมีความเข้าใจต่ออาตมาไม่ค่อยถูกเท่าไร คือมามองเห็นอาตมาคล้ายๆ เป็นปรปักษ์ไป เมื่อท่านมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็เป็นความรู้สึกที่ไม่ดี ซึ่งถ้าหากว่าเราเข้าไปเป็นผู้ทำงานในส่วนของคณะสงฆ์คล้ายๆ มีอำนาจหน้าที่แล้ว ก็เป็นการคล้ายๆ กับว่ามีกำลังมีอะไรหนุนอยู่ข้างหลังตัวเอง อาตมาทำงานอิสระลำพังตัวเองต่อไปดีกว่า เพราะฉะนั้นโดยเหตุผล ๒ ประการนี้ก็ขอตัว ไม่รับและก็ทำงานเป็นอิสระต่อไป เป็นแต่ว่าขอขอบคุณท่านที่ได้ให้เกียรติและก็พร้อมกันนั้นก็บอกว่าก็ยินดีให้ความร่วมมือถ้าท่านต้องการให้แสดงความคิดเห็นอะไร อาตมาได้บอกไปอย่างนั้น ซึ่งท่านก็ขอความร่วมมือขอให้ให้ความคิดเห็นเป็นบางครั้งบางคราว ก็เลยขอโอกาสชี้แจงให้ทราบด้วย อาตมาทำหนังสือชี้แจงไปถึงหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวผิดพลาดอะไรเหล่านี้บ้าง แต่ก็ไม่ทราบว่าทางหนังสือพิมพ์จะให้ความร่วมมือแค่ไหนเพียงไร อันนี้ก็เลยขอโอกาสพูดให้ทราบด้วย เจริญพร

(อาจารย์ระวี) กระผมคิดว่าข้อความที่พระคุณเจ้าได้กล่าวเพิ่มมามีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะให้สาธารณชนในบ้านเมืองนี้ได้เข้าใจว่าเรื่องราวที่ได้เป็นมานั้นเป็นอย่างไร กระผมเองนั้นรับอ่านหนังสือเล่มแรกที่พระคุณเจ้าได้แสดงความคิดเห็น คือเรื่อง กรณีสันติอโศก นี้เมื่อร่วมประมาณหนึ่งปีมาคือวันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันไปถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้แก่พระคุณเจ้า และเข้าใจว่าในวันนั้นเองเป็นวันที่สองของการที่หนังสือเล่มนั้นได้ออกมา วันแรกนั้นเข้าใจว่าเป็นวันที่ได้มีการเลือกตั้งเสร็จไปแล้ว กำลังนับคะแนนกันอยู่ นั่นคือเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วมา เมื่อกระผมได้อ่านหนังสือเล่มนั้นแล้วนี่ก็มีความคิดเกิดขึ้นในใจทันทีจากที่ได้อ่านว่า นี่เป็นหนังสือซึ่งได้วินิจฉัยเหตุการณ์พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลางที่สุดและถูกต้องที่สุด แต่กระผมในฐานะที่เป็นปุถุชนมีกิเลสอยู่ กระผมก็พูดในใจกับตัวเองว่านี่คือหมัดเด็ด ก็ขอกล่าวในที่ประชุมนี้ แต่ว่าไม่ได้บอกแก่ใคร นอกจากบอกแก่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดแถวนี้เท่านั้นเอง เพราะว่าถ้าหากว่าได้มีการบิดเบือนพระธรรมวินัยขึ้นแล้ว องค์กรที่มีหน้าที่ได้พยายามแล้วพยายามอีกที่จะแก้ไข แต่ก็ไม่สำเร็จ จะด้วยความยังไม่มีประสิทธิภาพพอเพียงก็ตาม หรือประสบปัญหาที่ท่านว่าเป็นปัญหาซับซ้อน เกี่ยวกับเส้นสายอิทธิพลอะไรก็ตาม ท่านทำไม่ได้มาปีแล้วปีเล่า กระผมก็คิดว่าตอนนี้ล่ะจะต้องมีผลล่ะ เพราะผมเชื่อว่าความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้น คือปัญญานั้นอย่างที่ผมได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ว่าปัญญาเป็นประดุจดังอาวุธ ผมได้ไปจำเอาคำคติอะไรเป็นคำโคลงอะไรบางอย่างแล้วก็จำมาตลอดมาว่า สิ่งซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาได้นี้คือปัญญา

ถัดจากนั้นมาจนถึงบัดนี้ เนื่องจากการสืบเนื่องต่อมานั้น ท่านเจ้าคุณได้บอกเรื่องราวกล่าวถึงเรื่องนี้อีกหลายครั้งหลายหนในระหว่างปีที่ผ่านมานี้ เช่นในตอนท้ายของหนังสือเรื่อง “ทางออกของสังคมไทย” และ “แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก” ซึ่งเป็นคำให้สัมภาษณ์แก่ท่านอาจารย์ผู้หนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในตอนสุดท้ายที่ได้ออกมา เข้าใจว่าในวันที่มีการประชุมสงฆ์ที่พุทธมณฑลเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง กระผมได้ติดตามอ่านและรวมทั้งเอกสารอีกฉบับหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ปรากฏในที่ไหน เป็นฉบับที่ได้เรียงพิมพ์แล้ว แต่ว่าพระคุณเจ้าได้เมตตาส่งมาให้กระผมอ่าน “เรื่องแนววิธีของพระโพธิรักษ์ ในการทำพระวินัยให้วิปริต” จากคำบรรยาย กระผมไม่ทราบว่าคำบรรยายที่ไหนแต่อันนี้ยังไม่ได้ตีพิมพ์ นี่ก็มีเอกสาร ๕ ชิ้นด้วยกัน ๕ ชิ้นนี้ถ้าผู้ใดได้อ่านแล้วจะไม่มีปัญหาที่จะมาต้องถามกันอีกว่าท่านทำอะไรอยู่ จะไม่มีปัญหามาถามว่าท่านเป็นพวกใคร ท่านร่วมกระทำการอันชาวบ้านกล่าวกันว่าขาดเมตตากับเขาด้วยหรืออะไรต่ออะไรเหล่านั้น ซึ่งอันนี้เป็นวิสัยคนไทย ถ้าผู้ใดเพลี่ยงพล้ำไปเริ่มแสดงให้เห็นว่าอยู่เป็นเบี้ยล่างแล้วก็มีความเมตตากรุณาเกิดขึ้นมา คล้ายๆ ว่าแหมไม่น่าจะทำอะไรอย่างนั้นเลย

เมื่อได้มีการคุยกันในวันนี้หรือสนทนากันในวันนี้ ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบแล้วว่าเรื่องนั้นมีความสำคัญเพียงไร เรื่องนั้นร้ายแรงเพียงใดเป็นภัยแก่พระธรรมวินัยหรือพระพุทธศาสนาเพียงไร เพราะเหตุว่าผู้ใดก็ตามที่ได้วิปริต ผมไปเปิดปทานุกรมราชบัณฑิต แปลว่า ผิดจากทางที่ถูกต้อง เป็นการพยายามจะบอกให้ผู้ที่ได้เดินไปในทางที่ไม่ถูกต้องให้ท่านรู้และกลับมาเดินในทางที่ถูกต้องเสีย ท่านจะฟังหรือไม่อย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วผู้ที่มีส่วนที่จะกระทำในหน้าที่ต่างๆ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งอย่างที่พระคุณเจ้าได้กล่าวมาแล้ว กระผมเห็นด้วยกับท่านอย่างเต็มที่ แล้วก็ได้ภาวนาว่ากระผมขออยู่เป็นฝ่ายท่าน แม้ท่านอาจไม่ชอบให้ใครมาเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านได้กระทำทุกประการแล้วก็หวังว่าผู้คนในวงการชาวพุทธเราได้เข้าใจด้วย

แต่จะทำอย่างไรครับ เราได้ถูกละเลยในการที่จะมีการให้การศึกษาที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนาในทุกแง่มุม ไม่ใช่เฉพาะกับคฤหัสถ์ แม้แต่บรรพชิตด้วย ความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนี่กลายเป็นของหายาก แล้วถ้าหากว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงพระชนม์อยู่ท่านปรินิพพานไม่ลงหรอกครับ สถานการณ์ในบ้านเมืองนี้เป็นอย่างนี้ ท่านคงไม่ปรินิพพานหรอกครับ ผมขอกล่าวความคิดในใจแล้วก็ผสมผเสกับภาษิตหรือคำพังเพยที่ได้ยินได้ฟังมา มันผุดขึ้นมาในใจเองเมื่อสองสามวันนี้ ที่เขาว่า “วานรได้แก้ว” กระผมขอตีความหมายว่า วานรนั้นน่ะคงจะเห็นอะไรมันแวววาวๆ ก็คว้าเอามาว่าเป็นของน่าดูน่าชมก็เอามาเชยชม แล้วก็ไม่ยอมให้ใคร ถือว่าเป็นสมบัติของตน แต่ว่าจะรู้ความมุ่งหมายลึกซึ้งของคำว่าแก้วหรือไม่ คือถ้าหากกล่าวว่าแก้วมีหลายชนิด ชนิดที่มีค่าสูงมีคุณค่ามากมายเช่นเพชรก็มี หรือว่าแก้วสารพัดนึกอย่างที่กล่าวถึงในปรัมปราว่าเป็นสิ่งที่สามารถจะทำให้เกิดความสำเร็จอะไรก็ได้ทั้งนั้น และอันนี้พระพุทธศาสนาก็คือแก้วสารพัดนึกนั่น เราเชื่อว่าเรามีของดีตกทอดมาจากบรรพบุรุษ บรรพบุรุษของเราได้ยึดเอาแก้วนั้นมาไว้ถือว่าเป็นสมบัติของชาติ แล้วก็ถ่ายทอดต่อมาและก็เชิดชูกันต่อมา แต่เราเพียงแต่เชิดชูเท่านั้นกระมัง แล้วไม่ได้ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจถึงการที่จะใช้แก้วนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตแก่สังคมของเรา

ถ้ากระผมจะพูดเลยไปว่า ดูตัวอย่างงบประมาณที่บ้านเมืองนี้ได้ให้แก่การศึกษาพระพุทธศาสนากี่ล้านบาทเป็นเรือนสิบล้านบาทหรืออะไรอย่างนั้น ท่านไปดูเถอะ แต่ว่างบประมาณที่ให้แก่การศึกษาเพื่อหากิน เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตามเป็นหมื่นล้านใช่ไหม การเปรียบเทียบตัวเลขเพียงเท่านี้จะเห็นว่า เราเป็นอุปถัมภกยอยกพระพุทธศาสนาสืบทอดจากพระประสงค์ของรัชกาลที่หนึ่งท่านหรือเปล่า แล้วเราควรจะทำยังไงในเมื่อมันเกิดเหตุผู้ที่ควรจะตัดสินได้ ผู้ที่จะควรดำเนินการที่ถูกต้องได้ กลับได้ดำเนินการที่พลาดพลั้งซึ่งมีข้อได้ปรากฏ ผู้คนก็ถือเอามติต่างๆ ตามที่ได้ยินได้ฟังพูดสืบเนื่องกันมาบ้างแม้ว่าโดยปาก สมัยนี้นักวิชาการก็อ้างกาลามสูตรว่าอย่าเชื่ออย่างนั้น อย่าเชื่ออย่างนี้ แต่กระผมคิดว่าอันนั้นเป็นแต่เพียงด้วยปากเท่านั้น แต่ด้วยพฤติกรรมแล้วไม่ใช่หรอกครับ ก็ใครโน้มน้าวได้เก่งก็โน้มน้าวกันไป ก็เชื่อตามๆ กันไป แล้วก็เกิดเป็นปัญหา แต่ข้อสำคัญคือผู้ที่มีอำนาจที่จะตัดสินใจต่างๆ นานาตลอดมานั้นไม่กล้าตัดสินใจ จะเป็นเพราะอะไรก็ตาม ในขณะเดียวกันได้มีการไม่ให้รู้เห็นข่าวคราวกันในสังคมนี้ยิ่งขึ้น เมื่อไม่รู้อยู่แล้วยิ่งไม่รู้หนักขึ้นไปอีกๆ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ปัญหานั้นแก้ไม่ได้ด้วยความไม่รู้ เราต้องแก้ปัญหาด้วยความรู้ แต่น่าเสียดายว่าความรู้ของเรานั้นน้อย กระผมมีความปรารถนาจะได้ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นแผ่กระจายออกไป ในขั้นนี้กระผมจะขอกล่าวเพียงแค่นี้ก่อน เรายังพอมีเวลาที่จะขยายความอีก

ทีนี้ผมอยากจะย้อนกลับมาในเรื่องที่ท่านเจ้าคุณได้กล่าวถึงปัญหา ๒ ระดับกับพระศาสนา ปัญหาระดับหนึ่ง ก็คือที่ได้มีการแก้ไขหรือว่าทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในเนื้อหาของพระธรรมวินัยซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนา ปัญหาระดับสอง ก็คือความย่อหย่อนในการประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัท ประกอบกับองค์กรของพุทธบริษัทไม่สามารถจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ สิ่งที่ผมคิดก็คือว่าปัญหาระดับที่หนึ่งนั้นน่ะเกิดขึ้นเพราะปัญหาระดับที่สองหรือเปล่า เพราะเหตุว่าในสังคมใดๆ นั้นน่ะเมื่อเกิดความบกพร่องขึ้นเป็นเวลานาน เกิดความประพฤติแตกต่างไปจากคำสอนก็ดี อันนี้ก็ไม่ใช่แต่สังคมศาสนานะ สังคมที่มีการปกครองต่างๆ ก็ดี ถ้าการปกครองนั้นย่อหย่อนเกิดโจรภัย เกิดทุพภิกขภัยแล้วแก้ไม่ได้ เกิดภัยต่างๆ ของคนเบียดเบียนกันและกันอะไรเหล่านี้แล้วองค์กรที่ปกครองแก้ไม่ได้ มันก็จะต้องเกิดผู้ที่คิดว่าตนเป็นอัศวินม้าขาวเสนอตัวมาแก้ เรื่องแบบนี้ต้องเกิดขึ้นเสมอถ้าหากสังคมมันรู้สึกทุพพลภาพลงไปๆ ในกรณีของพุทธศาสนาอย่างที่ได้มีการย่อหย่อนการปฏิบัติในปัจจุบันนี้ กระผมก็มองเห็นว่าการย่อหย่อนเหล่านี้มันเป็นเหตุให้วิจารณ์ได้ มันเป็นเหตุให้เกิดมีผู้คิดขึ้นมาว่าข้าพเจ้าจะต้องมาปฏิรูปปฏิวัติศาสนาอันนี้ระบบอันนี้ แล้วไม่ต้องกล่าวว่าเฉพาะพระโพธิรักษ์ ไม่มีพระโพธิรักษ์ก็จะมีท่านผู้อื่นอีกนั่นแหละมา ถ้าหากสภาพการณ์ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง เราไม่ได้แก้ไขที่เหตุสำคัญ คือความย่อหย่อนความบกพร่อง จึงจะต้องรีบแก้ไขและแก้ไขอย่างไร ก็คงจะมีหลายทาง อย่างน้อยทางหนึ่งก็คือการให้การศึกษาที่ถูกต้องและการเข้มงวดในธรรมวินัย การเข้มงวดในวินัยของผู้ที่ควรจะแสดงเป็นผู้ที่มีวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ว่า ต้องเป็นผู้นำของสังคมนี้ ไม่ทราบว่าในเรื่องนี้พระคุณเจ้าจะมีข้อคิดเห็นอย่างไร

(พระเทพเวที) ปัญหาระดับที่สองนั้นเป็นช่องหรือเป็นโอกาสเป็นช่องทางที่ให้เกิดปัญหาระดับที่หนึ่งได้ง่ายๆ เพราะเมื่อความประพฤติของคนในศาสนานี้ผิดพลาดเบี่ยงเบนไปจากหลักการที่แท้จริงแล้ว คนที่จะมาแสดงหลักการอื่นก็ได้ช่องที่จะเข้ามาแสดงหรือประกาศหลักการใหม่นั้นได้ง่าย อันนี้อาตมาถือว่าเป็นช่องทางหรือเป็นโอกาสมากกว่า ทีนี้ในแง่ของการแก้ไข ประการที่หนึ่งก็เป็นเรื่องขององค์กรที่ทำหน้าที่ปกครองที่จะต้องมีความเข้มแข็งในการปรับปรุง เร่งเร้าให้มีการปฏิบัติหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ อาตมภาพก็เป็นผู้หนึ่งที่เห็นว่าควรจะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะว่ากฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้ในทรรศนะของอาตมานี้ โดยส่วนตัว ถือว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความอ่อนแอในการปกครองคณะสงฆ์ กฎหมายฉบับนี้ใช้มาเป็นเวลานานถึงเกือบ ๔๐ ปี เป็นเวลายาวนานมาก กฎหมายฉบับนี้ไม่มีประสิทธิภาพก็หมายความว่ามีเวลามากมายที่จะสร้างความไม่มีประสิทธิภาพหรือทำให้ความไร้ประสิทธิภาพนี้ก่อผลเสียแก่สังคม และเกิดผลเสียกับองค์การพระศาสนา ฉะนั้น อันที่หนึ่งก็คือการปรับปรุงการคณะสงฆ์โดยทั่วไปรวมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายคณะสงฆ์

ประการที่สอง ก็คือสิ่งที่เป็นรากฐานยิ่งกว่านั้นซึ่งโยงไปถึงประการที่หนึ่งด้วย ก็คือการศึกษาปฏิบัติของภิกษุสามเณรเอง ในการศึกษาปฏิบัตินี้เราเริ่มต้นด้วยการศึกษา การเล่าเรียนรู้หลักธรรมวินัยนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก แม้แต่การปกครองคณะสงฆ์ที่เราจะปรับปรุงแก้ไขก็ต้องให้มาเน้นที่ว่า ผู้ปกครองคณะสงฆ์จะต้องให้ความสำคัญแก่การศึกษาด้วย หมายความว่าในขั้นสุดท้ายเราจะต้องลงมาที่รากฐาน คือการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ปัจจุบันนี้เรามีปัญหามากว่าพระภิกษุสามเณรนี้บวชเข้ามาแล้วไม่ได้เล่าเรียนธรรมวินัย ไม่มีความรู้ด้านปริยัติก็มี ผู้ที่เข้ามาอาศัยเพศภิกษุเป็นช่องทางทำมาหาเลี้ยงชีพก็มีเป็นจำนวนมาก อาตมาว่าญาติโยมนี่ทราบกันดี มีทั้งเข้ามาโดยการบวชที่ถูกต้องและโดยการปลอมบวช ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้คนที่ปลอมบวชไม่ทราบมีเท่าไร คือไม่ได้บวชจริงอย่างถูกต้อง และยังมีคนที่บวชถูกต้องโดยที่ว่าไม่ได้รับการศึกษาเล่าเรียน บวชเข้ามาเป็นเพียงช่องทางแสวงหาการเลี้ยงชีพก็มีอีกมาก สิ่งเหล่านี้จะต้องแก้ไข

ที่ว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญก็หมายความว่า พระเณรเมื่อบวชเข้ามาแล้วจะต้องให้การศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะในชนบทปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าการศึกษานี้อ่อนแอย่อหย่อนเสื่อมโทรมมาก แม้แต่ผู้ที่บวชเข้ามาตามประเพณีโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย บวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้รับการศึกษาเล่าเรียน ไม่มีผู้ดูแลที่จะให้ได้รับการศึกษา ก็อยู่กันไปอย่างนั้นเองพอสักแต่ได้ชื่อว่าบวชแล้ว คำเดิมของเรามีคำว่า บวชเรียน แต่เดี๋ยวนี้คำว่า “เรียน” เหมือนกับหายไปเหลือแต่คำว่า บวช โบราณเขาเรียกว่า บวชเรียน หมายความว่าบวชแล้วก็ต้องเรียน แต่ปัจจุบันเหลือแค่บวช เอาแค่เป็นคนที่ได้บวชเสร็จไป แล้วก็กลับไปสู่ชีวิตในทางโลกต่อไปโดยไม่รับการศึกษาอบรม อันนี้เป็นปัญหาเป็นอย่างมาก เมื่อบวชเข้ามาแล้วไม่ได้รับการศึกษาอบรม ไม่รู้พระธรรมวินัย มันก็เป็นช่องทางของความเสื่อมเสียอเนกประการ ตัวเองก็ไม่สามารถประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องไม่เกิดผลประโยชน์แก่ชีวิตของตนเอง และไม่สามารถทำผลดีให้เกิดขึ้นแก่สังคม การบวชไม่เกิดคุณค่าแก่ชีวิตไม่เกิดคุณค่าแก่สังคมเท่าที่ควร

ประการที่สอง การที่ตนประพฤติเสื่อมเสียไม่ถูกต้อง ก็กลายเป็นเหตุเป็นปัจจัยเป็นส่วนร่วมที่ทำให้พระศาสนาและสังคมเสื่อมโทรมลงไป หรือซ้ำเติมให้เสื่อมโทรมหนักลงไปอีก

ต่อไปประการที่สาม เมื่อตัวเองประพฤติไม่ถูกต้องมีความย่อหย่อนประพฤติผิดพลาดจากพระธรรมวินัยอย่างที่ใช้คำว่า ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ก็กลายเป็นช่องทางเป็นโอกาสเป็นเหยื่อให้คนที่ไม่ประสงค์ดีหยิบยกเอาไปเป็นข้อโจมตีพระศาสนาได้ อันนี้ก็เป็นข้อเสียประการที่สองที่เกิดขึ้น ขณะนี้ในเมื่อการพระศาสนาเสื่อมโทรม มีพระประพฤติไม่ดีไม่มีการศึกษาเล่าเรียนมาก พระเหล่านี้ก็ตกเป็นเหยื่อคือว่าเพราะตัวเองประพฤติไม่ดี ก็ตกเป็นเหยื่อเขาก็เอาไปโจมตีพูดว่าพระพุทธศาสนาต่างๆ นานา ทำให้เห็นว่าพระศาสนานี้เสื่อมโทรมอย่างไร ซึ่งอาจจะทำการโจมตีโดยไม่มีความปรารถนาดีก็ได้ อย่างไรก็ตามถ้าโจมตีโดยปรารถนาดีต้องการให้มีการปรับปรุง อันนี้ก็ควรจะรับฟังเป็นอย่างมาก ในเวลาเดียวกันมีผู้ที่ยกขึ้นมาติเตียนด่าว่าโจมตีทั้งด้วยความปรารถนาดีและไม่ปรารถนาดี แต่รวมแล้วก็คือเป็นเหยื่อของการที่จะยกขึ้นมาติเตียน

ต่อไปประการที่สี่ ในเมื่อตนเองไม่มีความรู้ เมื่อเขาเอาตัวเป็นเหยื่อไปติเตียนพระศาสนา แล้วแสดงหลักคำสอนอื่นที่มิใช่พุทธศาสนา ตัวเองก็ไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถที่จะไปกล่าวแก้ชี้แจงได้เป็นประการที่สี่

นี่โทษเกิดพอกพูนขึ้นมาถึงสี่ชั้น ตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ประโยชน์แก่สังคม ทำให้พระศาสนาและสังคมเสื่อมลงไป และตัวเองกลายเป็นเหยื่อในการที่คนภายนอกจะมากล่าวร้าย และประการที่สี่ตัวเองก็ไม่มีแรงไม่มีสติปัญญาที่จะไปกล่าวแก้ชี้แจงได้ มีแต่ความเสียหาย เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงว่าจุดสำคัญมากก็คือการที่จะต้องให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ผู้ที่เข้ามาบวชแล้วจะต้องเป็นการบวชเรียนที่แท้จริง ในหมู่ชาวพุทธปัจจุบันนี้ เป็นที่น่าเสียดายแม้แต่ญาติโยมทั้งหลายให้ลูกของตนบวชก็สักแต่ว่าบวชตามประเพณี ไม่ได้คำนึงว่าบวชเข้าไปแล้วจะได้ร่ำเรียนพระธรรมวินัยหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วสำหรับพระศาสนาก็เท่ากับว่าเราช่วยกันสร้างความเสื่อมหรือเรานั่นเอง ช่วยกันทำให้เสื่อม ทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อพระศาสนาร่วมกัน ถ้าลูกของฉันจะบวชฉันต้องหาทางให้เขาได้รับการศึกษาอบรมด้วย อันนี้จะต้องเป็นข้อที่กำหนดไว้ในใจประการแรก ในการที่จะให้ลูกบวชไม่ใช่สักแต่ว่าบวชเสร็จก็ได้บุญได้เข้าไปสู่ผ้าเหลือง บางทีดีไม่ดีก็ไปประพฤติเสียหายกลับเป็นบาปเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น เราอย่านึกว่าบวชลูกแล้วจะได้บุญเสมอไป เดี๋ยวนี้จะต้องบอกว่าเราบวชลูกอาจจะได้บาปมากก็ได้ เพราะฉะนั้น ทำไงจะให้บวชลูกแล้วได้บุญมาก ก็ต้องให้ลูกของเรานี้บวชเรียน ไม่ใช่บวชเฉยๆ ให้มีการศึกษาอบรมให้มีการฝึกฝนปฏิบัติ อันนี้ก็เป็นข้อที่ฝากไว้ ตกลงว่าในขั้นพื้นฐานแล้วจะต้องลงไปสู่การให้การศึกษาที่แท้จริง

อันนี้อาตมาอยากจะขอย้อนกลับไปถึงเรื่องที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อกี้นี้หน่อยเกี่ยวกับความเมตตากรุณา ตามที่มีคำกล่าวคล้ายๆ ว่ามีการลงโทษท่านโพธิรักษ์โดยที่ว่าไม่มีความประนีประนอมไม่เมตตากรุณา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนควรจะทำความเข้าใจ ถ้าเรารู้เข้าใจเกี่ยวกับพระศาสนาแล้ว เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ค่อยมีปัญหา เรื่องมีเมตตากรุณาหรือไม่บางทีก็เป็นปัญหาในจิตใจของคน แต่มีหลักอันหนึ่งที่เราจะวัดได้ก็คือว่า มหาเถรสมาคมหรือคณะสงฆ์นั้นไม่ได้เป็นเจ้าของพระศาสนา ไม่ได้เป็นเจ้าของพระธรรมวินัย พุทธบัญญัตินั้นเป็นของพระพุทธเจ้า พุทธบัญญัติว่ายังไงเมื่อทรงบัญญัติไว้อย่างไรอันนั้นก็เป็นหลักเป็นมาตรฐาน คณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมมีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพุทธบัญญัติ ถ้าหากว่าตัวมหาเถรสมาคมจะประนีประนอมโดยจะแสดงความเมตตากรุณา ไม่ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ ก็กลายเป็นว่า มหาเถรสมาคมนั้นก็เป็นผู้คัดค้านพุทธบัญญัตินั่นเอง ทำตัวเป็นเจ้าของศาสนา หรือเจ้าของธรรมวินัย เพราะฉะนั้นต้องดูขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ขอบเขตของความเมตตากรุณาก็คือว่าปฏิบัติไปให้ถูกต้องตามหลักธรรมวินัยตามพุทธบัญญัตินั้น แต่ว่าปฏิบัติโดยที่มีความโอนอ่อน มีวิธีการที่ว่าไม่ได้ทำรุนแรง

ถ้าพิจารณาตามดูเรื่องให้ชัดเจนจะเห็นว่า การปฏิบัติต่อท่านโพธิรักษ์ในเรื่องนี้ แยกได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องของการทำความผิดละเมิดวินัยและกฎหมาย ซึ่งมหาเถรสมาคมและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้องจะพึงปฏิบัติไปตามพุทธบัญญัติในพระวินัย และพระราชบัญญัติของบ้านเมือง ความเมตตากรุณามีขอบเขตตามพระพุทธบัญญัติเป็นต้นดังได้กล่าวแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการขอร้อง คือ ขอร้องว่าในเมื่อท่านไม่ยอมรับหลักการที่พระพุทธเจ้าวางไว้ และท่านจะวางหลักการของท่านเองใหม่ที่ต่างออกไปจากของพระพุทธเจ้า ท่านก็ควรจะแสดงความซื่อตรง ด้วยการสละรูปแบบที่เป็นของพระพุทธเจ้าเสีย แล้วออกไปใช้รูปแบบอย่างอื่นของท่านเอง ซึ่งการปฏิบัติอย่างนี้เป็นเรื่องของการให้ความเป็นธรรมแก่พระพุทธศาสนา และเป็นเรื่องของความเป็นธรรมตามที่ควรจะเป็นโดยทั่วไป ไม่ใช่เป็นการขาดความเมตตากรุณาแต่ประการใด อีกทั้งจะเป็นการใช้เสรีภาพกันอย่างถูกต้องและซื่อตรงโดยไม่มีเงื่อนงำแอบแฝง และไม่รุกรานตัดรอนผู้อื่น การที่ท่านโพธิรักษ์ยังปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนาในลักษณะนี้เสียอีก คือ การอยู่ในรูปแบบของพระพุทธศาสนา แล้วใช้โอกาสนี้ดัดแปลงแก้ไขหลักการของพระพุทธศาสนา บัญญัติหลักการอะไรขึ้นใหม่แทนพุทธบัญญัติ อันนี้จะเป็นการเบียดเบียนต่อพระพุทธศาสนา เป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมแก่พระพุทธศาสนาและคนที่นับถือพระพุทธศาสนา กลายเป็นเรื่องที่ท่านโพธิรักษ์นั่นแหละจะเป็นผู้ขาดเมตตากรุณา

ต้องขอโอกาสที่จะพูดถึงอาตมภาพเองด้วย เท่าที่อาตมภาพได้พูดเรื่องนี้มา เข้าใจว่าตัวเองนี่ไม่เคยได้กล่าวร้ายไม่ได้ใช้คำรุนแรง และก็ยอมรับความดี และพยายามพูดถึงความดีของสันติอโศกตามที่เขามี อาตมภาพนี้ในแง่หนึ่งนั้นก็พอใจในวัตรปฏิบัติบางประการของสันติอโศกมาหลายปีแล้ว แต่บางอย่างที่ว่าพอใจนั้นก็มีความห่วงกังวลไปด้วยในตัวเอง เป็นการกระทำที่จะมีปัญหาว่าตรงกับหลักการของพระพุทธศาสนาหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องยืดยาวที่ต้องพูดอีกประเด็นหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องการขออย่างเดียวก็คือ ขอให้ซื่อตรงจริงใจ อย่ามาทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา อย่างที่ว่าทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ขออย่างเดียวเท่านั้น

พอเราพูดถึงแต่ความดียอมรับความดีก็กลายเป็นว่าท่านโพธิรักษ์เอาไปอ้างอีก โอ้ฉันทำดีแล้วทำไมต้องมาลงโทษด้วย อันนี้ก็เป็นข้อน่าสังเกต ท้ายสุดถึงกับพูดว่าเมื่อฉันทำดีฉันก็ต้องถูกต้อง ถ้าธรรมวินัยใดไม่สอนให้คนทำดีธรรมวินัยนั้นก็ต้องผิด เพราะฉะนั้นธรรมวินัยนั้นก็ต้องแก้ไขอะไรทำนองนี้ อาตมภาพว่าเป็นวิธีการพูดโดยใช้ตรรกวิทยาซึ่งน่าเป็นห่วง บางทีพูดไปนี่ทำให้ประชาชนนึกไปว่าแม้แต่ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าท่าจะไม่ได้เรื่องเสียแล้ว จะต้องแก้ไขเพราะว่าไม่สามารถทำให้คนทำดีได้

อันที่จริงเราต้องแยกประเด็นให้ถูก เกี่ยวกับการทำดีกับการทำชั่ว บางคนทำความดีอย่างหนึ่งแต่ทำความชั่วอีกอย่างหนึ่ง จะอ้างความดีอันนั้นมาลบล้างความชั่วอีกอันหนึ่งไม่ได้ อันนี้เป็นหลักการทั่วไปอยู่แล้ว บางคนทำความดีอย่างธรรมดาสามัญแต่เอามายกขึ้นเน้นย้ำปูให้เห็นให้เด่น พร้อมกันนั้นก็ทำความชั่วที่ร้ายแรงกว่าอย่างชนิดแฝงเร้น หรือบางทีก็อ้างว่าคนโน้นคนนี้เขาประพฤติผิดอย่างนั้นทำไมไม่จัดการ มาจัดการกับฉัน หลักการทั่วไปก็มีอยู่ว่า บุคคลจะอ้างความดีบางอย่างของตนหรืออ้างความผิดของคนอื่นมาเป็นเหตุสำหรับให้ตนพ้นจากความผิดที่ตนกระทำมิได้ อันนี้เป็นหลักอันหนึ่ง ข้อสำคัญก็คือตนได้กระทำความผิดหรือไม่ อันนี้เป็นปัญหา ถ้าพิจารณากันไปแล้วแม้แต่ความดีที่อ้างว่าทำนั้นเองก็เป็นเรื่องที่เป็นปัญหา เมื่อท่านโพธิรักษ์ท่านพูดถึงเรื่องว่า ท่านทำความดีแล้ว ทำไมต้องผิดด้วย ทำความดีผิดด้วยหรือ มันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน อาตมาก็เลยต้องเขียนเพิ่มเติมแทรกเข้าไปในหนังสือเล่มสุดท้าย “เพื่อความเข้าใจปัญหาพระโพธิรักษ์” ด้วย

ในเรื่องการทำความดี อาตมภาพก็อยากจะพูดกับพุทธศาสนิกชนด้วย ว่าเราทั้งหลายได้ใช้ โยนิโสมนสิการ กันเพียงพอไหม เราได้ใช้ความรู้ความเข้าใจพินิจพิจารณาใช้วิจารณญาณกับสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏไหม เมื่อเราเห็นสิ่งต่างๆ เกิดปรากฏขึ้นในสังคมนี้ จะเป็นการทำดีทำชั่วก็ตาม เราได้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหรือเปล่าว่าการทำความดีนั้นเป็นความดีที่แท้จริงไหม มีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมอย่างแท้จริงไหม ถ้าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นความดีที่ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนาหรือเปล่าอย่างนี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาไม่ใช่ว่าตื่นไปตามรูปแบบผิวเผินที่ปรากฏออกมาแล้วก็ว่ากันไป

อันนี้อาตมภาพมองว่าปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เกิดจากเหตุปัจจัยนี้มากคือขาดโยนิโสมนสิการ ไม่ใช้วิจารณญาณในสิ่งที่ตนประสบพบเห็น ไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ไม่สืบสวนค้นคว้า แต่พูดตามๆ กันไปหรือพูดหลงไปตามถ้อยคำที่เอาเขามาอ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็ว่าไปอะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้นั้น ต้องพูดว่ามันเป็นเครื่องฟ้องหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือฟ้องสภาพสังคมของเรา ซึ่งขณะนี้เราก้าวเข้าสู่สังคมในยุคสมัยแห่งข่าวสารข้อมูล แต่มนุษย์ในยุคนี้มีสติปัญญาที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีในยุคแห่งข่าวสารข้อมูลหรือไม่ สามารถปฏิบัติตนอย่างถูกต้องต่อข่าวสารข้อมูลหรือเปล่า การปฏิบัติต่อปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นตัวพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า เราพร้อมที่จะพัฒนาสังคมของเราไปด้วยดีในยุคของข่าวสารข้อมูลนี้หรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและถ้าเห็นว่าเป็นปัญหาก็จะต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุงด้วย ขอเจริญพร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.