พุทธบริษัทกับพระธรรมวินัย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทสัมภาษณ์
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ภาคผนวก
บทเรียนและท่าทีของชาวพุทธต่อกรณีสันติอโศก

เกี่ยวกับกรณีสันติอโศก มีประเด็นที่อยากจะเรียนถาม ก็คือว่า การแก้ไขดัดแปลงพระธรรมวินัย กับการตีความพระธรรมวินัย ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่ภายหลังสังคายนา ก็มีการขยายความในแต่ละชั้นมา อย่างในอรรถกถาฎีกาต่างๆ เรามีเส้นแบ่งอะไรที่จะมาแบ่งว่า อันนี้คือ การตีความพระธรรมวินัย และ อันนี้เป็นเรื่องของการบิดเบือนความ หรือกระทําพระธรรมวินัยให้วิปริต ขอนมัสการกราบเรียนถามท่านครับ

(พระเทพเวที) อันนี้ที่จริงเป็นเรื่องง่าย ข้อความในคําถามก็ชัดเจนอยู่แล้ว ขอยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น เมื่อเห็นพุทธศาสนสุภาษิตว่า “บุคคลย่อมล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร” (วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ) แล้วเกิดการถกเถียงกันว่า ทุกข์ที่ล่วงพ้นนั้นหมายถึงความทุกข์ธรรมดาสามัญ เช่น ความยากจน เป็นต้น หรือหมายถึงความทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิด หรือหมายถึงความทุกข์ทุกชนิด และที่ว่าล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียรนั้น มีความเพียรพยายามอย่างเดียวก็พ้นทุกข์ได้ หรือว่าต้องเพียรพยายามไปกับการมีธรรมอื่นๆ อย่างนี้เรียกว่าเกิดปัญหาในการตีความ แต่ถ้ารู้อยู่ว่าพุทธศาสนสุภาษิตว่าอย่างนั้นแล้วไปพูดเอาเองใหม่โดยแกล้งทําให้คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไป เช่น บอกว่า “บุคคลถึงจะไม่มีความเพียร แต่อ้อนวอนพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ก็ล่วงพ้นความทุกข์ได้” หรือพูดว่า “บุคคลย่อมล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพลินเพลิด” อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าเป็นการบิดเบือนหรือทําให้วิปริต

การขยายความในอรรถกถาฎีกานั้น นอกจากท่านจะระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้มีการบิดเบือนหรือทําให้วิปริตผิดเพี้ยนแล้ว ท่านยังพยายามหลีกเลี่ยงการตีความอีกด้วย คือท่านพยายามอธิบายโดยเพียงชี้แจงคําแปลของศัพท์บ้าง นําคําอธิบายที่เล่าเรียนถ่ายทอดต่อกันมาลงไว้ให้ดูบ้าง นําพุทธพจน์ซึ่งตรัสไว้ในที่อื่นมายืนยันหรือย้ำเสริมกันให้ชัดเจนบ้าง แม้แต่เมื่อจะต้องตีความ ท่านก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นการตีความตามความเห็นส่วนตัว ท่านพยายามแสดงหลักฐาน และนํามติหรือความเห็นจากที่ต่างๆ มาให้ดูด้วย หรือไม่ก็เขียนเชิงเสนอแนะ หรือบอกให้รู้ว่าเป็นความเห็นส่วนตัว เราจึงเคารพนับถือท่านแม้ว่าในหลายแห่งหลายกรณีเราจะไม่เห็นด้วยกับท่าน อย่างไรก็ตามกรณีของท่านโพธิรักษ์นี้ไม่เข้าขั้นของการตีความ จึงขอตัดตอนผ่านเรื่องการตีความนี้ไป ไม่ต้องอธิบายกันให้ยืดยาว

บางคนมาพูดเรื่องกรณีโพธิรักษ์ โดยไม่ได้ศึกษาเรื่องให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร เลยทำให้คนอื่นพลอยสับสนยิ่งขึ้น อย่าง อาจารย์แสง จันทร์งาม ที่เขียนบทความลง มติชน เมื่อไม่นานมานี้ ก็เหมือนกับไม่ได้ศึกษาเรื่องให้ดี ข้อเขียนของท่านเกี่ยวกับเรื่องการตีความพระธรรมวินัย ถึงแม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อท่านโพธิรักษ์ แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านหลายคนเข้าใจไขว้เขวว่า การกระทำของโพธิรักษ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัย ความจริงนั้นถึงจะให้ชัดเจนว่าเป็นการตีความหรือไม่ จะต้องยกของจริงที่พระโพธิรักษ์ได้กระทำมาให้ผู้อ่านดูตรงๆ ไม่ใช่เพียงเขียนนำความคิดของผู้อ่านโดยวิธีเลียบเคียง (ยิ่งกว่านั้นความเข้าใจของอาจารย์แสง จันทร์งาม เกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัยยังมีปมอีกหลายอย่าง ซึ่งควรจะต้องเอามาคลี่คลายให้ชัดแจ้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแก่พระศาสนาในกาลภายหน้า) การกระทำของท่านโพธิรักษ์ต่อพระธรรมวินัยไม่เข้าขั้นเป็นการตีความพระธรรมวินัยด้วยเหตุผลใหญ่ ๒ ประการ

๑. หลักการและคำอธิบายธรรมต่างๆ ท่านโพธิรักษ์ท่านอ้างว่าท่านรู้เองด้วยญาณ ซึ่งเป็นการชัดอยู่แล้วว่า ท่านเองยืนยันว่าเป็นความรู้ส่วนตัว เฉพาะตัวด้วยตัวของท่าน ไม่ใช่เป็นการตีความ คือ ท่านเองก็ไม่ยอมให้ถือว่า การกระทำของท่านเป็นการตีความ ปัญหาของท่านโพธิรักษ์จึงต้องพูดในแง่ว่าเป็นญาณจริงหรือญาณเท็จ เป็นความหลงผิดหรือว่าเป็นการอ้างเอาเองลอยๆ

๒. โดยข้อเท็จจริงและโดยหลักการของพระธรรมวินัย สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์กระทําไม่ใช่เป็นการตีความ ไม่อยู่ในขั้นเป็นการตีความ

พูดเฉพาะในแง่ที่ ๒ คือโดยข้อเท็จจริงและโดยหลักการของพระธรรมวินัย เรื่องของท่านโพธิรักษ์นี้ จุดที่ว่าทําพระธรรมวินัยให้วิปริตนั้น มี ๒ ตอน ตอนที่หนึ่ง ก็คือตอนที่เรียกว่า ยังไม่ถึงขั้นตีความ ส่วนตอนที่สองเป็นขั้นที่เรียกว่า เลยการตีความไปแล้ว พูดอย่างนี้เหมือนกับเป็นสํานวน

ที่ว่าเป็นเรื่องยังไม่ถึงขั้นตีความนั้น เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในระดับถ้อยคํา ถ้อยคําที่เราใช้พูดกันในภาษาธรรมดาๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทําให้เราสื่อความหมายกันได้ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าหากว่ามีการจับถ้อยคําผิดพลาด คนหนึ่งพูดเรื่องหนึ่ง แต่อีกคนไปพูดอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้เป็นเรื่องของความไขว้เขวในถ้อยคําเอง ยังไม่ใช่เรื่องของการตีความ เช่น เขากําลังพูดถึง “โลกปัจจุบัน” อีกคนหนึ่งได้ยิน นึกว่าพูดถึง “โรคปัจจุบัน” หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นว่า เรากําลังพูดกันถึงเรื่อง “จีนแคะ” อีกคนหนึ่งเข้าใจว่ากําลังพูดถึง “คนแคระ” อย่างนี้เป็นเรื่องของความผิดพลาดเกี่ยวกับถ้อยคําธรรมดา คือสําคัญผิดหรือจับความผิดไป เรื่องของท่านโพธิรักษ์เป็นปัญหาในขั้นนี้ ไม่ใช่เรื่องของการตีความ

การกระทําของท่านโพธิรักษ์ที่ว่าไม่ใช่เรื่องหลักการตีความนั้น ถ้าจะพูดกันให้เข้าใจง่ายๆ ก็เป็นอย่างที่ว่ามานี้ อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นจะขยายความออกไปอีกเล็กน้อย

เป็นธรรมดาของภาษาย่อมมี ไวยากรณ์ ไวยากรณ์ก็คือ ระเบียบของภาษาซึ่งมีมาคู่กับภาษาตั้งแต่ภาษานั้นเกิดขึ้น คนที่ใช้ภาษาจะต้องพูดให้ถูกไวยากรณ์ด้วย มิฉะนั้นถึงแม้จะพูดถ้อยคําต่างๆ ได้ แต่ก็พูดกันไม่รู้เรื่องหรือเข้าใจกันผิด เช่น พูดภาษาไทยแต่โยงลําดับถ้อยคําอย่างภาษาอังกฤษ แทนที่จะพูดว่า “แมวดํานั้นผอมมาก” กลับไปพูดว่า “นั้นดําแมวมากผอม” ก็คงเข้าใจกันผิดพลาดสับสน

ในบางภาษา ไวยากรณ์มีกฎเกณฑ์ซับซ้อนมาก ในภาษาเช่นนั้น การพูดและเขียนให้ถูกไวยากรณ์ยิ่งมีความสําคัญมากขึ้น ภาษาบาลีเป็นภาษาหนึ่งที่มีไวยากรณ์มาก และไวยากรณ์หลายอย่างของภาษาบาลีคล้ายกับภาษาอังกฤษ คนไทยปัจจุบันจํานวนมากพอจะรู้ภาษาอังกฤษ จึงจะยกตัวอย่างภาษาอังกฤษมาเทียบให้ดู

ภาษาอังกฤษนี่เราจะเห็นชัดว่ามีไวยากรณ์ ยกตัวอย่างคํากริยา run แปลว่า วิ่ง ถ้าเป็น past tense กลายเป็น ran ถ้าหากว่าเป็น present participle ก็มีการเติม ing ยังซ้อน n เข้าไปอีกเป็น running

ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมีสิ่งที่เรียกว่า suffix หรือ ปัจจัย ซึ่งเมื่อเติมเข้าไปแล้วจะทําให้คํานั้นเปลี่ยนรูปและทําหน้าที่ต่างกันในประโยค เช่นคําว่า poor แปลว่า ยากจน เป็นคุณศัพท์ พอเป็นคํานามแล้ว รูปคําอาจจะเปลี่ยนเป็น poverty แปลว่า ความยากจน ศัพท์อื่นๆ ในทํานองนี้มีอยู่ทั่วไปหมด ภาษาบาลีก็เช่นเดียวกัน จะเป็นทํานองนี้

ในภาษาอังกฤษเราจะพบตัวอย่างในเรื่องนี้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยที่ทําให้รูปศัพท์เปลี่ยนไปยกตัวอย่างเช่น คําว่า demonstrate แปลว่า สาธิต หรือแสดง นี่เป็นคํากิริยา พอเปลี่ยนเป็นคุณศัพท์ เป็น demonstrable แปลว่า สามารถเอามาแสดง หรือสาธิตได้ demonstrative ก็เป็นคุณศัพท์อีกรูปแบบหนึ่ง แปลว่า ซึ่งเป็นเครื่องแสดงเป็นเครื่องสาธิต พอเป็น demonstration กลายเป็นคํานาม หมายถึง การแสดงหรือการสาธิต

อย่างเช่นคําว่า friend (เพื่อน) พอเติม ship เข้าไป ship ตัวนี้เป็น suffix กลายเป็น friendship แปลว่า มิตรภาพหรือความเป็นมิตร wise แปลว่า ฉลาด พอเปลี่ยนรูปเป็นคํานามลง dom กลายเป็น wisdom, King พระราชาเติม dom เป็น Kingdom แปลว่า ราชอาณาจักร อะไรอย่างนี้ นี่เป็นตัวอย่างของภาษาที่มีไวยากรณ์แบบนี้

ภาษาบาลีก็คล้ายกัน ถ้าคนจะใช้ภาษาประเภทนี้ก็ต้องรู้หลักไวยากรณ์ของเขา ถ้าเกิดไม่เข้าใจ ตัวเองอยู่ในภาษาไทย เคยเห็นแต่ภาษาไทย นึกเป็นคําๆ คํานั้นมีความหมายแต่ละตัว พอไปเห็น friendship ก็นึกว่า friend แปลว่า เพื่อน และ ship ศัพท์ง่ายๆ ก็แปลว่าเรือ พอเห็น friendship ก็เลยแปลว่า เรือของเพื่อน แล้วจะเป็นยังไง friendship แปลว่ามิตรภาพ หรือความเป็นมิตรนี้ พอเราเข้าใจเป็น “เรือของเพื่อน” ก็พูดกันคนละเรื่อง ไปคนละเรื่อง ฉะนั้น การเข้าใจผิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องการตีความ

อีกตัวอย่าง อาตมาขอยกง่ายๆ เช่น capacity แปลว่า ความจุ หรือ ความสามารถในตัวบุคคล รูปนี้เป็นคํานาม ถ้าเป็นคุณศัพท์เป็น capacious จะเห็นว่ามันต่างกันที่ตัว suffix คือ ปัจจัย capacious แปลว่า จุมาก capacity ก็แปลว่า ความจุ คนที่ไม่รู้หลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ พอมาเห็น capacity ก็นึกเป็นภาษาไทย แยกเป็นตัวๆ ก็ cap (หมวก) a (หนึ่ง) city (เมือง) เพราะตัวไม่รู้เรื่องปัจจัย คือ suffix เลยไม่รู้เรื่อง จะแปลยังไงดีหนอ ก็คิดเอาเอง รวมคําแปลว่า “เมืองหนึ่งที่ผลิตหมวก” ก็แล้วกัน ก็สร้างความหมายขึ้นมาใหม่ capacity ก็กลายเป็น cap-a-city และก็กลายเป็นว่า “เมืองที่ผลิตหมวกเมืองหนึ่ง” มันก็ไปคนละเรื่องกับความหมายเดิมที่แปลว่า ความจุ คนละทิศกันเลย

นี่คือปัญหาเดียวกับท่านโพธิรักษ์ ท่านทํากับศัพท์บาลี ศัพท์ธรรมะ อย่างนี้คือ เห็นศัพท์บาลีอะไรมาก็แยกศัพท์ ก็คงไปเปิดพจนานุกรมบาลีโดยแยกศัพท์ออกทีละตัวที่อยู่ในนั้น แยกกันหมด หนังสือชื่อ “ทางเอก” ของท่าน เป็นหนังสือที่อาจจะเรียกว่าเป็นตําราของสันติอโศกก็คงได้ เป็นหนังสือ ๓ เล่มใหญ่ ปกแข็งทั้งชุดหนาเกิน ๑,๕๐๐ หน้าเต็มไปด้วยคําอธิบายแบบเอาศัพท์ธรรมะ พระอรหันต์ อรหัตตผล อุโบสถ สันติ อะไรต่ออะไรมาเที่ยวแยกอย่างนี้ แยกแล้วมันไม่เข้าเรื่องเลย ผิดไวยากรณ์ทั้งหมด

อย่างคําว่า demonstration อาจจะมาในประโยคเดียวกับ demonstrate, demonstrable ก็ได้ เพราะเป็นศัพท์เกี่ยวกับเรื่องที่กําลังพูดเรื่องเดียวกัน เวลาไปทําหน้าที่คุณศัพท์ ก็เป็น demonstrable บ้าง demonstrative บ้าง พอเปลี่ยนเป็นคํานามก็เป็น demonstration อาจมาในประโยคเดียวกันหรือข้อความเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน ทีนี่ถ้าคนไปแยกศัพท์อย่างนั้น ศัพท์เดียวกันมันกลายเป็นคนละเรื่องไป อย่าง demonstration ที่อาตมายกตัวอย่างให้เห็น ถ้าเป็นท่านโพธิรักษ์มาอธิบายก็อาจจะมาแยกศัพท์เป็น demon แปลว่า ผี stration นี่ท่านอาจจะไม่เคยเห็นท่านอาจจะนึกให้ใกล้ที่สุดคือ station ก็แปลว่า สถานี demonstration ก็กลายเป็น demonstation ก็แปลว่า “สถานีผี” “การสาธิต” กลายเป็น “สถานีผี” ไป แล้วจะไปรู้เรื่องกันได้อย่างไร คนละเรื่อง

นอกจากคนละเรื่องแล้ว มันก็ขัดกันในตัว ในประโยคเดียวกัน หรือข้อความเดียวกันที่เขาพูด demonstration บ้าง demonstrate บ้าง demonstrable บ้าง คนฟังเข้าใจเป็นคนละอันไป แล้วเข้ากันไม่ได้เลย กลายเป็นว่าเรื่องเดียวกัน แต่พูดกันคนละเรื่องไปเสียหมด

อันนี้ก็เช่นเดียวกัน อย่างศัพท์บาลี นุรุทฺธา นิรุทฺธะ (ดับแล้ว) พอเป็นคํานามก็เป็น นิโรธะ (ความดับ ดับทุกข์) พอเป็นคํากิริยา เป็น นิรชฺฌติ ถ้าเป็น past tense เป็น นิรุชฺฌิ ถ้าเป็นบุรุษที่ ๑ บุรุษที่ ๒ บุรุษที่ ๓ ก็จะแยกกันหมด รูปคําก็แตกต่างกันไป คําศัพท์เหล่านี้เมื่อมาอยู่ในประโยคเดียวกัน ก็เปลี่ยนรูปไปตามหน้าที่ในประโยค แต่โพธิรักษ์ เพราะความไม่รู้ภาษาบาลี เห็นแต่ศัพท์ที่ออกมาใช้ซึ่งเปลี่ยนรูปไปต่างๆ แล้ว พอเห็นศัพท์ธรรมะที่มาจากบาลีท่านก็แยกเอาเองเช่น นิรุทฺธะ ท่านคงอาศัยเคยเห็นเล็กๆ น้อยๆ ในการแยกศัพท์ก็คิดว่า นิรุทฺธะ มาจาก นิร+อุทธ พอแยกกันได้อย่างนี้ก็ไปเปิดพจนานุกรม นิร = ไม่มี อุทธ แปลว่า ข้างบน ในบาลีมี อุทธ แปลว่า ข้างบน ซึ่งใช้ในรูปนี้ไม่ได้ต้องเป็น นิรุทธัง แต่ในบาลีที่ท่านยกมาเป็น นิรุทธา ท่านก็แยก นิร ไม่มี อุทธ ข้างบน นิรุทธะ ก็แปลว่า ไม่มีใครอยู่เหนือ แต่ที่จริง นิรุทธะ เป็นศัพท์เดียวกันมาจาก รากเดียวกับ นิโรธะ และนิรุชฺฌติ ซึ่งแปลว่า ดับหรือไม่เกิดขึ้น ความหมายก็เลยขัดกันไปหมด แบบเดียวกับ demonstration เมื่อแปลว่าสถานีผี ก็ไปขัดกับ demonstrate, demonstrable, demonstration อะไรแบบนี้

อีกตัวอย่างหนึ่ง พหูสูต กับ พาหุสัจจะ พหูสูตเป็นศัพท์ธรรมะที่ท่านโพธิรักษ์พบเห็นในหนังสือธรรมะทั่วไป แม้แต่ในนวโกวาทก็มีพหูสูต คือผู้ที่ได้เล่าเรียนสดับมาก ทีนี้ที่ท่านโพธิรักษ์ก็ไปเห็นอีกแห่งหนึ่งมีคําว่า พาหุสัจจะ ซึ่งคํานี้ก็แปลว่า ความเป็นผู้ได้สดับมาก พอพระโพธิรักษ์ไปเห็น พหูสูต มีรูปร่างต่างจาก พาหุสัจจะ ท่านก็พูดเอาเองโดยไม่รู้ศัพท์ คือพหูสูตนี่เป็นคุณศัพท์ คนที่เป็นพหูสูตก็หมายความว่า คนผู้ได้สดับมากหรือผู้ที่มีสุตะมาก พอเปลี่ยนเป็นคํานาม เขาจะเติม suffix คือปัจจัยในภาษาบาลี ลง ณฺย ปัจจัย พหุสฺสุต ในบาลี หรือ พหูสูต ในภาษาไทยพอเติม suffix เข้าไป กลายเป็น พาหุสัจจะ แปลว่า ความเป็นพหูสูต นั่นเอง ความเป็นพหูสูตก็คือ ความเป็นผู้ได้ศึกษาสดับมาก ซึ่งคําทั้งสองนี้มันอาจจะมาในประโยคเดียวกัน หรืออาจจะมาในข้อความที่ต่อเนื่องกัน เช่น พูดถึงคนนี้ว่าเป็นพหูสูต และต่อมา ด้วยความเป็นพหูสูต คือ พาหุสัจจะของเขา คนก็นับถือเขา อะไรอย่างนี้ก็ไปเรื่อยๆ

ความที่พระโพธิรักษ์ไม่รู้เรื่องหลักภาษาอะไรเหล่านี้ ศัพท์นี้มายังไงท่านก็นึกเอาเอง เห็น พหูสูต อ้อ! พหูในภาษาไทยก็มีใช้อยู่ เช่น ในคําว่า พหูพจน์ แปลว่า มาก แล้ว สูต แปลว่า สุตะ รวมกันก็แปลว่า มีสุตะมาก เอออันนี้ก็พอได้ แปลว่า ร่ำเรียนมาก มีความรู้มาก ทีนี้พอไปเห็น พาหุสัจจะ ท่านก็นึกว่า พาหุสัจจะ จะเขียน พหุสัจจะก็ได้ ท่านก็เขียนบอกไว้ในหนังสือ แล้วเดาตามแบบของท่าน พหุ แปลว่า มาก สัจจะแปลว่า ความจริง โอ้! ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องแปลว่ามีสัจจะมาก ท่านก็บอกว่า โอ้ย! พหูสูต กับ พาหุสัจจะ นี่ไม่เหมือนกัน คือ ท่านไม่รู้ว่ามันต่างกันโดยหน้าที่ในประโยค แต่ท่านนึกว่าต่างกันในความหมาย ท่านก็นึกว่า พหูสูต มีสุตะมาก ได้ร่ำเรียนสดับฟังมาก พาหุสัจจะมีสัจจะมาก ก็อธิบายเลย พหูสูต คือได้เรียนรู้มากแต่ยังไม่เข้าถึงความจริง ไม่ถึงสัจจะ แต่ถ้าพาหุสัจจะแล้ว ก็รู้มากจนกระทั่งเข้าถึงความจริงแจ้งในสัจจะ อะไรทํานองนี้ แล้วก็ยกตัวอย่างว่า พหูสูตร ก็อย่าง พระอานนท์ นี่เป็นพหูสูตได้ แต่ถ้าพาหุสัจจะก็ต้องอย่างพระสารีบุตร ว่าอย่างนั้น เอาละซิ มันก็ยุ่งเพราะที่จริง พหูสูต กับพาหุสัจจะ มันต่างกันในแง่ไวยากรณ์เป็นคําคุณศัพท์กับคํานามเท่านั้น

อย่างในมงคลสูตรที่ว่าด้วยมงคล ๓๘ ประการ มีข้อหนึ่งว่า พาหุสจฺจญฺจ สิปฺปญฺจ....เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลว่า พาหุสัจจะ และศิลปะเป็นอุดมมงคล ในข้อความนี้ พาหุสัจจะคือความเป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก และสิปปะคือมีศิลปวิทยาการ ก็เป็นเรื่องของชาวบ้าน ชาวบ้านก็มีพาหุสัจจะ คือ ได้เล่าเรียนวิชาการต่างๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ถึงสัจจะเป็นพระอรหันต์อะไร อย่างที่ท่านโพธิรักษ์เข้าใจเลย เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการที่ หนึ่ง ถ้อยคําที่เข้าใจผิดก็ทําให้เรื่องราวสับสน กลายเป็นพูดกันคนละเรื่องละราว สอง ความหมายของธรรมะก็แปรไปหมด กลายเป็นว่าธรรมะนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน พาหุสัจจะกลายเป็นเรื่องของพระอรหันต์ไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องของคนธรรมดา พระอรหันต์ไม่เป็นพหูสูต พหูสูตก็ต้องอย่างพระอานนท์หรือต่ำกว่านั้น อะไรอย่างนี้ซึ่งไม่ถูกต้องเลย นี้เป็นความคลาดเคลื่อน อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องการตีความเป็นอันขาด ไม่มีทางเป็นเรื่องการตีความพระธรรมวินัย แต่เป็นเรื่องถ้อยคําในภาษาธรรมดา แล้วท่านทําอย่างนี้กับศัพท์ธรรมะมากมาย เที่ยวแปลแยกศัพท์เอาตามสบาย พอแยกแล้วเอามาจับแปลผิด มันก็กลายเป็นว่าถ้อยคํานั้นสื่อความหมายไปคนละเรื่อง ยิ่งเป็นเรื่องนามธรรมก็ยิ่งห่างไกลออกไปในแง่ของสัจจะ และคนอ่านเพราะเหตุที่เป็นนามธรรม ถ้าไม่เคยศึกษามา ก็ไม่รู้ ก็หลงไปตามง่ายๆ นึกว่ามันเป็นอย่างนั้น ตามที่ท่านอธิบาย คือนึกว่าแปลอย่างนั้นจริงๆ เหมือนพาหุสัจจะ นึกว่า สัจจะ อ้อ! แปลว่าสัจธรรมเห็นชัดๆ อะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องการตีความ แต่คนที่พูดไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ไม่ได้รู้เรื่องว่าท่านทําอะไร ไม่เคยมาดูว่างานของท่านที่เราพูดถึงมันเป็นยังไงก็นึกเอาจากภาพที่มองเห็นได้ยินคร่าวๆ เผินๆ ว่าเป็นการตีความ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาของเรื่องนี้ นี่ประเด็นที่หนึ่ง ไม่ถึงขั้นการตีความ คือ เป็นเพียงเรื่องถ้อยคําและเรื่องของภาษาที่เข้าใจผิดคําผิดความ

เรื่องนี้อาตมาได้เขียนส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันแล้ว ต่อมา คุณสุนัย เศรษฐบุญสร้าง ได้เขียนไปตอบโต้ชี้แจงลงในมติชนเช่นเดียวกัน แต่ที่คุณสุนัยเขียนทั้งหมดยืดยาว ปรากฏว่าไม่ได้ตอบเรื่องที่อาตมายกขึ้นมาพูดเลย อาตมาพูดเรื่องหนึ่ง คุณสุนัยไปอธิบายอีกเรื่องหนึ่ง เช่น แทนที่จะชี้แจงให้เห็นว่า ท่านโพธิรักษ์เข้าใจความหมายของพหูสูตกับพาหุสัจจะถูกต้องอย่างไรก็ไม่ชี้แจง (ที่จริงไม่มีใครจะสามารถชี้แจงให้คําอธิบายของท่านโพธิรักษ์ในเรื่องนี้ให้กลายเป็นถูกต้องขึ้นมาได้) ก็ไปยกเอาสิ่งที่คล้ายๆ เป็นหลักวิชาสูงๆ ลึกซึ้งมาพูด จนคนอ่านอาจจะหลงประเด็นไปเลย ไม่รู้ว่าอาตมาพูดเรื่องอะไร เช่น คุณสุนัยกล่าวว่าไวยากรณ์บาลีเป็นของแต่งขึ้นภายหลัง เป็นทํานองจะให้เห็นว่าไวยากรณ์ไม่สําคัญ ไม่ต้องเชื่อถือไวยากรณ์ แต่ที่จริงก็คือ คุณสุนัยเข้าใจผิดระหว่าง ไวยากรณ์ กับ ตําราไวยากรณ์ ไวยากรณ์ซึ่งเป็นระเบียบของภาษานั้นมีมาแต่เดิมคู่กับภาษา ทําให้ภาษาเป็นภาษาที่คนพูดกันได้รู้เรื่อง ไวยากรณ์ที่ว่าแต่งขึ้นภายหลังนั้นหมายถึง ตําราไวยากรณ์ต่างหาก คือ นักภาษาประมวลไวยากรณ์ในภาษาบาลีออกมา จัดเรียบเรียงเป็นตําราไวยากรณ์ขึ้นภายหลัง เป็นคนละเรื่องกัน

ประเด็นที่สอง เลยการตีความไปแล้ว ก็คือ พุทธพจน์ หรือพุทธบัญญัติ ที่มีอยู่ชัดเจน แต่ท่านไม่ยอมรับและก็กลายเป็นว่า ท่านเหมือนกับบัญญัติธรรมวินัยขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เรื่องที่เกิดเป็นปัญหากับท่านเอง คําว่า “อนุปสัมบัน” วินัยบัญญัติว่า ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้ามีจริงต้องอาบัติปาจิตตีย์ คือ มันเป็นเรื่องของวินัยบัญญัติ วินัยนี่จะมีลักษณะเป็นรูปธรรมและจะต้องมีความชัดเจนตายตัวเหมือนกฎหมาย ในวินัยท่านไม่ได้พูดไว้ลอยๆ พอท่านบอกว่า ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้ามีจริงเป็นปาจิตตีย์ พอตัวบทออกมาอย่างนี้ ข้อความต่อมาก็จะให้คำจำกัดความว่า “ภิกษุ” คือผู้ที่อย่างนั้นๆ “บอก” คือ อย่างนั้นๆ แม้แต่กิริยาบอก ท่านก็ให้คําจํากัดความ “อุตริมนุสธรรม” คืออย่างนั้นๆ และ “อนุปสัมบัน” คืออย่างนั้นๆ ทีนี้คําว่า อนุปสัมบัน ในพระวินัยปิฎกก็ให้คําจํากัดความไว้เสร็จว่า บุคคลอื่นเว้นภิกษุและภิกษุณีเสีย ชื่อว่าอนุปสัมบัน ซึ่งไม่ต้องดิ้น เพราะว่าวินัยจะต้องบัญญัติให้ชัดเจนเหมือนกฎหมายไม่ให้ดิ้นได้

ทีนี้ทั้งที่วินัยปิฎกว่าอย่างนี้ แต่ท่านโพธิรักษ์กลับพูดว่า อนุปสัมบันไม่ใช่มีความหมายอย่างนี้ อนุปสัมบันหมายถึงผู้ที่ยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น อุปสัมบันคือผู้มีภูมิธรรมถึงขั้น เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ถ้ามีภูมิธรรมถึงขั้นแล้ว ก็ไม่เป็นอนุปสัมบัน กลายเป็นอุปสัมบันไป นี่คือการไม่ยอมรับพุทธบัญญัติ ไม่ใช่เรื่องการตีความ กรณีอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องสําหรับตีความ แต่เป็นเรื่องที่ว่าวินัยปิฎกกําหนดไว้ชัดเจนแล้วเพราะเป็นเรื่องวินัย ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องสําหรับตีความได้ เราก็ไม่ต้องทําอะไรแล้ว ดิ้นไปได้ทุกอย่าง เช่นวินัยบัญญัติว่า ภิกษุลักทรัพย์ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้เป็นอาบัติปาราชิก ถ้าเกิดจะตีความให้เป็นว่าถือเอาด้วยใจ หรือไม่ได้ให้ด้วยใจ ก็เป็นอาบัติปาราชิก ก็จบกัน อย่างนั้นก็หมายความว่า ไปเห็นของเขาชอบใจ จินตนาการไปว่าได้เอาของนั้นมาก็เป็นปาราชิก หรือ เขามอบถวายทําการยกให้ เขาให้ด้วยกายแล้ว แต่ใจเขายังไม่ได้ให้ก็เป็นปาราชิก อย่างนี้คงพิสูจน์กันยากเต็มที ยุ่งวุ่นวายไปหมด

เรื่องที่เป็นรูปธรรม เป็นวินัย ถ้าเอาไปตีความ และยิ่งตัวบทก็กําหนดไว้แล้ว วินัยเองก็บอกเอาไว้แล้ว ยังจะไปตีความ อย่างนี้ก็ตีความกันไปหมด วินัยบัญญัติว่าภิกษุฆ่ามนุษย์ต้องอาบัติปาราชิก สมมติว่าภิกษุองค์หนึ่งไปฆ่ามนุษย์เข้าจริงๆ บอกว่าโอ้ย! มนุษย์ในทางธรรมไม่ใช่หมายถึงเพียงแต่รูปกาย ต้องมีคุณธรรมสูง นายคนนี้มีคุณธรรมไม่ถึงระดับมนุษย์หรอก ฉันฆ่าได้ เพราะฉะนั้นไม่เป็นอาบัติปาราชิก มนุษย์แปลว่า บุคคลที่มีคุณธรรมสูง เพราะฉะนั้น คนนี้ฉันถือว่าไม่ใช่คน ฉันฆ่าได้ ไปลักทรัพย์ใครก็บอกว่า ทรัพย์มี ๒ อย่าง คือ ทรัพย์สามัญ กับ อริยทรัพย์ ทรัพย์ก็ตีความเป็นอริยทรัพย์อีก ฉันลักทรัพย์ธรรมดา ไม่ได้ลักอริยทรัพย์ เพราะฉะนั้นฉันไม่เป็นปาราชิก ทีนี้ก็ยุ่งไปใหญ่ ไม่ต้องพูดกันแล้วใช่ไหม หลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นอันไม่มี วินัยต้องเป็นวินัย วินัยเป็นบทบัญญัติที่เป็นรูปธรรมเป็นกฎเกณฑ์เหมือนตัวบทกฎหมาย

อย่างในกฎหมายไทย เช่น กฎหมายแพ่ง เมื่อพูดถึงนิติบุคคลเขาก็ต้องบัญญัติไว้ว่า นิติบุคคลคืออะไร มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถเอาไปดําเนินคดีหรือดําเนินการอะไรได้ สมมติว่ามีคนหนึ่งเอาเรื่องทางกฎหมายนี้ไปตีความเอาเองโดยไม่ฟังที่เขาบัญญัติไว้ พอพูดถึงนิติบุคคล ก็เปิดพจนานุกรมเอาเลย อาตมาเคยยกตัวอย่างในหนังสือที่เขียนไปแล้ว นิติบุคคล พอเปิดพจนานุกรม บุคคล คือ คนที่เกิดมาแล้วคนหนึ่ง แล้วก็ นิติ แปลว่าแบบแผน นิติบุคคล ก็คือ คนที่มีแบบแผน เป็นอันว่าตีความเอาตามที่ต้องการได้ล่ะ ทีนี้ต้องการจะให้ทรัพย์สินแก่ใครสักคนหนึ่ง กฎหมายเขาบอกว่าจะต้องให้แก่นิติบุคคล เอ้อ! เราให้กับลูกของเราดีกว่า แล้วก็พูดเองซิทีนี้ ลูกของฉันก็เป็นคนมีแบบแผน อย่างที่อาตมายกตัวอย่าง ลูกของฉันตื่นนอนตามเวลา ไปโรงเรียนตามเวลา ไปเรียนหนังสือตามระเบียบของโรงเรียน กลับจากโรงเรียนตามเวลา กลับมาถึงบ้านกินข้าวเย็น เข้านอนตามเวลา เป็นคนมีแบบแผน เพราะฉะนั้นลูกของฉันเป็นนิติบุคคล ฉันก็ให้ทรัพย์กับลูกฉันได้จบกันก็ไม่ต้องพูดกันอีกแล้ว

กรณีโพธิรักษ์ไม่ใช่เรื่องการตีความ แต่ไปเอาเรื่องที่เขากําหนดชัดเจนอยู่แล้วในพระไตรปิฎก แล้วก็มาเที่ยวพูดเอาใหม่บัญญัติเอาใหม่ให้เข้ากับความมุ่งหมายของตัว ในกรณีนี้มันไม่ใช่เรื่องการตีความ แต่เป็นเรื่องของการไม่ยอมรับพุทธบัญญัติที่มีไว้ชัดเจนอยู่แล้ว และก็กลายเป็นการคัดค้านพุทธบัญญัติ ในกรณีของวินัย มันเป็นเรื่องของการบัญญัติใหม่กลายเป็นว่า ท่านโพธิรักษ์บัญญัติความหมายใหม่เข้าไปว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สรุปแล้ว สองเรื่องที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องของการตีความเลย พอจะชัดไหมสําหรับเส้นแบ่งของการตีความ

อาจเป็นไปได้ว่า คนที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่รู้ภาษาบาลี พออ่านผ่านๆ อย่างที่ท่านพูดว่า ดูๆ มันน่าจะเป็นไปได้ เพราะความไม่รู้หลักไวยากรณ์ของภาษา

(พระเทพเวที) ก็เหมือน demonstration กลายเป็น สถานีผี มองดูก็เป็นไปได้ เข้าทีใช่ไหม capacity เมืองหนึ่งที่ผลิตหมวก เอ้อ! คนนี้พูดเข้าที

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น อาตมาไม่ได้มองแค่นั้น อาตมามองถึงความไม่ซื่อตรง นี่สําคัญที่สุด การที่อาตมาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องโพธิรักษ์ เริ่มจากการที่มีความรู้สึกเกิดขึ้นจากการอ่านข้อเขียนของท่าน แล้วเกิดความรู้สึกว่า ไม่ซื่อตรง ความรู้สึกที่เป็นจุดเริ่มสําคัญคือ เรามีความรู้สึกว่าถ้าไม่ซื่อตรงอย่างนี้แล้ว มาใช้ความไม่ซื่อตรงกับธรรมวินัยนี้จะเป็นความเสียหายอย่างยิ่ง และการที่ท่านทํากับพระธรรมวินัย แปลแยกศัพท์เอาเอง อาตมายิ่งมีความรู้สึกในเรื่องความไม่ซื่อตรงนี้มากขึ้น เช่นว่ามันเป็นไปได้ยังไงที่ท่านจะไม่รู้ว่าท่านไม่รู้ เมื่อท่านแยกศัพท์บาลีออกไปนั้น การกระทําอย่างนี้มันเป็นเรื่องรู้อยู่กับตัวเองเลยว่า เราไม่รู้หลักภาษาที่จะแยกได้เมื่อทําทั้งๆ ที่รู้ตัวอยู่ว่าไม่รู้แล้วทําไปได้อย่างสบายใจอย่างไม่รู้สึกละอายเลย มันเป็นความไม่ซื่อตรงอย่างยิ่ง สําหรับอาตมาถือว่าเป็นข้อที่น่ารังเกียจมาก ร้ายยิ่งกว่าตัวการกระทํานั้นอีก

เวลาท่านอธิบาย ท่านแสดงเหมือนกับว่า ทําได้คล่องเต็มที่เลย ศัพท์อะไรมาฉันแยกได้หมด โดยที่ว่าผิดถูกไม่ต้องคํานึง แล้วก็หันเหความหมายไปได้ มันก็พาไปจนได้แหละ ลงคนจะอธิบาย มันก็พูดไปให้เข้าในจุดที่ตัวเองต้องการ จะถูกไม่ถูกไม่รู้ คือถ้าคนมีวิธีพูด มันมีเป้าอยู่แล้ว มันทําให้คนฟังที่ไม่รู้เรื่อง เห็นเป็น เอ้อ! เข้าทีๆ ได้หมด เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องความไม่ซื่อตรง จึงถือเป็นเรื่องสําคัญมาก

มีการมองว่าในการทํางานครั้งนี้ของท่าน จับจุดพระธรรมวินัยเป็นสําคัญ โดยลืมมองทางด้านสังคม เศรษฐกิจ บางคนวิจารณ์เลยไปอีกว่า พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้น กําหนดในปริบทสังคมในช่วงสองพันกว่าปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นในปัจจุบันถ้ามีอะไรที่จะต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องก็ควรปรับ ขอกราบนมัสการถามท่านว่ามีความคิดเห็นต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไร

(พระเทพเวที) เรื่องมองในแง่สังคมที่จริงก็พูดอยู่เสมอ เพราะว่าเรื่องนี้อาตมาพูดอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะเรื่องความเสื่อมโทรมของการพระศาสนาโดยสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราพูดมานานแล้ว แต่จะต้องชัดเจนว่าขณะนี้เรากําลังพูดเรื่องอะไร ไม่ใช่มองอย่างพร่ามัวสับสน เมื่อพูดเรื่องใด เราก็ต้องเจาะเรื่องนั้นให้ชัด จุดไหนคนยังไม่เข้าใจ เราเน้นที่จุดนั้น โดยเฉพาะจุดที่เป็นแกนกลางของเรื่อง เฉพาะในกรณีนี้เรื่องอะไรที่ใหญ่ที่สุด เป็นแกนของเรื่อง ก็คือเรื่องหลักการของพระพุทธศาสนาก็ต้องเน้นจุดหลักการของพระศาสนา ถ้าหลักการหมดไปแล้วพระศาสนาก็ไม่มี ส่วนเรื่องปริบทสังคมอะไรต่ออะไร เป็นเรื่องเก่าที่เราพูดอยู่เสมอในกรณีต่างๆ ทั่วไป แม้แต่ในกรณีนี้อาตมาก็พูดอยู่ แต่ยังไม่ถึงเวลาแจกแจง เพราะแม้แต่จุดแกนคนก็ยังพร่าสับสน ที่จริงนั้นเพราะว่ามีความเสื่อมโทรมของกิจการพระศาสนา ความย่อหย่อนอ่อนแอในวงการคณะสงฆ์ มีสภาพขาดการศึกษา จึงทําให้มีปัญหาอย่างนี้ขึ้น ทําให้แก้ไขได้ยากก็พูดอยู่ แต่ถือว่าเป็นเรื่องปริบท เราจะต้องจี้ให้ถูกว่าตัวประเด็นอยู่ที่ไหน เพราะเรามองในแง่ว่า คนจับประเด็นของเรื่องไม่ถูก จึงต้องย้ำตัวประเด็นไม่ใช่ไม่มองแง่อื่น พูดสั้นๆ ว่า จุดกลางของเรื่องก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรแล้วทําเป็นว่าจะพูดเรื่องปริบท เพราะอย่างนี้แหละเรื่องมันถึงได้วุ่น

ถ้าจะพูดถึงในแง่อื่น ก็ต้องเน้นในตอนที่จะแก้ปัญหา ตอนแรกต้องทําความเข้าใจแกนของเรื่องก่อน ตอนแก้ปัญหาจะมองเหตุปัจจัยให้ทั่วเราจึงมาพูดเรื่องปริบท ส่วนเรื่องหลักพระธรรมวินัยที่ว่าจะปรับไม่ปรับ อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นแหละคือเรื่องการตีความ คนที่พูดอย่างนี้ ก็เพราะไปเข้าใจผิดในเรื่องการตีความ สําหรับขั้นการตีความที่จะให้เข้ากับปริบทของสังคมปัจจุบันนั้นจะต้องเข้าใจว่า เราจะทําอย่างนั้นได้ ก็ต้องมีตัวหลักการที่แน่นอนไว้ก่อน ถ้าเราไม่สามารถรักษาหลักการ (พระธรรมวินัย) นี้ไว้ได้แล้ว ทุกอย่างก็เคลื่อนคลาด จะไปพูดว่า ไม่เห็นความสําคัญของตัวหลักการนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องยึดตัวพระธรรมวินัยนี้ไว้ก่อน คือการรักษาตัวพระศาสนาไว้ อันนี้เป็นสิ่งสําคัญอันดับแรก นี่กลับไม่เห็นความสําคัญ และนี่ก็คือความสับสนกันและแยกไม่ออกระหว่างตัวหลักการที่แท้ ซึ่งจะต้องดํารงรักษาไว้ กับการนําเอาหลักการนั้นมาให้ความหมายแก่สังคมหรือปัญหาปัจจุบัน เขาจะเอาสองอันเป็นอันเดียว ก็กลายไปเป็นการแก้หลักการของพระศาสนา แก้ธรรมวินัยให้เข้ากับสังคมปัจจุบันอย่างนี้พระพุทธศาสนาก็หมดสิ้นโดยวิธีการอย่างนี้ไม่มีเหลือ นี่เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่รู้จักแยกเอง

เพราะฉะนั้น ต้องแยกเป็น ๒ ประเด็น ขณะนี้ในกรณีโพธิรักษ์ต้องจับให้ได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาอยู่ที่ต้องการรักษาหลักการของพระธรรมวินัย หรือรักษาตัวพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้ ส่วนการปรับใช้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าเรารักษาตัวจริงไม่ได้ การที่จะนํามาใช้ประโยชน์ก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าพระพุทธศาสนามีประโยชน์มีความหมายจริง ก็จะปรับใช้ได้เรื่อย หากพระพุทธศาสนาไม่มีประโยชน์จริงหรือไม่เป็นสัจธรรม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นจะเปลี่ยนไปเป็นว่าจะยังเอาไว้หรือจะทิ้งไปเสียเลย

อีกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่ซื่อตรง เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเท็จหรือความจริง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมขั้นพื้นฐานทีเดียว ถ้าเขารู้อยู่กับตัวว่าหลักการของพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นอย่างนั้น แต่เขาก็จะพูดให้เป็นอย่างนั้นเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวของเขา หรือเพื่อสนองอุดมการณ์ของกลุ่มของเขาก็ตาม อย่างนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องการตีความ และไม่ใช่เรื่องการปรับใช้ให้เหมาะกับปริบทของสังคม แต่เป็นเรื่องของความไม่ซื่อตรงและเป็นการบิดเบือนหรือหลอกลวง ถ้าเขาเห็นว่าหลักการของพระพุทธศาสนาไม่จริงไม่ถูกต้อง เขาก็ควรพูดแสดงความเห็นออกตรงๆ อย่างนั้น

เรื่องนี้จะพูดชี้แจงไปก็จะยืดยาวมาก ขอพูดสั้น ๆ ว่า

๑. จะต้องว่ากันตรงไปตรงมา และว่ากันให้ชัดในแต่ละเรื่องแต่ละแง่ โดยเฉพาะจะต้องทําจุดแกนกลางของเรื่องให้ชัดเจนก่อน แล้วโยงไปหาเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจึงจะไม่พร่ามัวสับสน และไม่สร้างความผิดพลาดซ้อนขึ้นมาอีก

๒. อาตมามองปัญหาโพธิรักษ์เป็นเพียงบทแทรกและเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาในสังคมของยุคสมัย ถ้ามองในแง่ภาพรวมของปัญหาสังคม และเศรษฐกิจ อาตมาจะไม่ให้ความสําคัญมากนัก เราจะเอาไปพูดแทรกบ้าง ในเรื่องปัญหาสังคมวงกว้างนี่ เราพูดอยู่แล้วอีกทีหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่เป็นเรื่องเด่นใหญ่โตที่เราจะเอาปัญหาวงกว้างลงมาพ่วงตาม ความสําคัญเฉพาะของปัญหานี้อยู่ที่เรื่อง พระธรรมวินัย เป้าของเราอยู่ที่นั่น จึงมุ่งทําความเข้าใจกันในเรื่องนี้ให้ชัดเจน

๓. อาตมากลับมองว่า ความสําคัญของปัญหาโพธิรักษ์ในแง่สังคม อยู่ที่ท่าทีและการปฏิบัติของสังคมต่อปัญหานี้เอง โดยเฉพาะความสําเร็จหรือความล้มเหลวของการศึกษาในการเตรียมคนให้พร้อมที่จะแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม เราประสบปัญหากับคนในระดับที่เรียกว่า ปัญญาชน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นกลับเป็นพวกที่พร่ามัวสับสนเสียเอง ซึ่งนอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังพาคนอื่นให้สับสนยิ่งขึ้น สภาพที่ปรากฏชัดคือ ความไม่ตรงไปตรงมาต่อการพิจารณาปัญหา การไม่มุ่งสู่จุดประเด็น และการไม่ทําความชัดเจนในแต่ละเรื่องแต่ละแง่ ให้กระจ่างแจ้งเป็นเรื่องๆ เป็นแง่ๆ ไป เมื่อแต่ละเรื่องแต่ละแง่ไม่ชัดเจนแล้วเอามาโยงกันก็กลายเป็นความสับสนคลุมเครือ ทําให้แก้ปัญหาของชีวิตและสังคมไม่ได้ ในการที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมกันต่อไป จะต้องฝึกคนให้คิดให้ชัดพูดให้ชัดตรงเรื่องและชัดเจนในแต่ละเรื่องแต่ละแง่ เมื่อแต่ละเรื่องแต่ละแง่ชัดเจนแล้วจับมาโยงกัน ก็ไม่สับสนคลุมเครือ การแก้ปัญหาจึงจะสําเร็จด้วยดี

ก่อนหน้าที่จะมีการเคลื่อนไหวกรณีสันติอโศก กลุ่มสันติอโศกเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มพุทธใหม่ อย่างเช่นสํานักสวนโมกข์ของอาจารย์พุทธทาส สํานักวัดพระธรรมกาย อะไรต่างๆ วันดีคืนดี ก็มีหนังสือ มีอะไรต่างๆ ออกมาวิพากษ์สันติอโศก แยกออกมาว่านี่ไม่ใช่พุทธใหม่ นี่กลายเป็นกลุ่มที่กําลังทําผิดพระธรรมวินัย แล้วก็ดําเนินการอย่างเป็นขั้นตอน พอเราหันกลับมามองด้านพุทธศาสนิก ซึ่งแน่นอนการรับรู้ไม่มากนัก ปัญหาประการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือความสับสน ปัจจุบันก็ต้องมาแก้ไขกันเรื่องความสับสน คําถามก็คือ มีทางใดไหมที่ว่า ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก จะมีทางป้องกันไม่ให้เกิดความแปรปรวนอย่างนี้ หรือให้น้อยลง หรือไม่ปล่อยให้ปัญหาลุกลาม

(พระเทพเวที) อย่างนี้เราต้องมองปัญหาหลายชั้น แน่นอนล่ะในแง่ของการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ก็คือต้องแก้ไขแต่ต้นมือ ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องลุกลามมา ซึ่งการที่เป็นอย่างนี้ เราก็ย่อมโทษคณะสงฆ์ด้วย ในแง่ความย่อหย่อนอ่อนแอในด้านการปกครอง การพยายามหลีกหลบปัญหาโดยคิดไปว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เดี๋ยวมันจะเงียบหายไปเอง อะไรเหล่านี้ จนกระทั่งเรื่องบานปลายลุกลาม อันนั้นก็เป็นด้านหนึ่งในแง่ของการแก้ปัญหาตามหลักธรรมดา เป็นเรื่องพื้นฐาน

ทีนี้ในแง่ระยะยาว มันส่อถึงเรื่องระดับความเข้าใจของประชาชน แม้ในหมู่ชาวพุทธ ในแง่ของความรู้ความเข้าใจ ในแง่ของทัศนคติอะไรต่างๆ แล้วก็พื้นฐานกว่านั้น แม้แต่ในหมู่พระสงฆ์เอง ในเรื่องการศึกษา สิ่งเหล่านี้มันพันไปหมด ว่าเฉพาะในแง่ของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เราจะเห็นได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจน้อย เมื่อเรื่องเกิดขึ้นมาแล้ว ก็สับสนไม่สามารถแยกประเด็นได้ ไม่สามารถจับจุดของปัญหาได้ ทําให้สับสนไขว้เขวมาก แล้วในแง่ของทัศนคติก็คือว่า ชาวพุทธเรามีปัญหาอันหนึ่งที่อาตมาย้ำอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับเรื่องสังคมนี้มาก ก็คือท่าทีของการที่เห็นการวางเฉยเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง คือเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าหากว่าเฉยไม่เอาเรื่องเอาราวก็ถือว่า มีกิเลสน้อย ซึ่งเป็นการผิดหลักการของพระพุทธศาสนามาก

เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของการมีท่าทีที่ว่า ให้เอาใจใส่ในความสําคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งจะต้องแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์และส่วนรวม ต้องพยายามคิดแก้ไข ตื่นตัวลุกขึ้นมาแก้ไขอย่างหลักอปริหานิยกรรม ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่า มีเรื่องแล้วต้องมาประชุมกันช่วยกันคิดแก้ปัญหา หรือว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย เวลามีเรื่องมีปัญหาแก่พระธรรมวินัย กระทบกระเทือนพระธรรมวินัย ท่านจะไม่อยู่นิ่งเฉย จะเป็นผู้เริ่มต้น พระอรหันต์จะเป็นผู้เริ่มต้นในการที่จะยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาในการแก้ปัญหา ในการสังคายนา พระอรหันต์ก็ทําเป็นตัวอย่างมาแล้ว

แต่ในยุคนี้มองได้ว่า ชาวพุทธไทยเราน่าจะมีทัศนคติที่คลาดเคลื่อนจากหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาคือ ไปมองเห็นการเฉยเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งการเฉยนี้อาจจะเป็นการเฉยด้วยความไม่รู้ที่ทางพระเรียกว่า อัญญานุเบกขา ไม่ใช่เฉยพร้อมที่จะปฏิบัติซึ่งเป็นอุเบกขาที่แท้จริง เฉยโดยธรรมด้วยปัญญา เฉยด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความเป็นจริงและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาในจังหวะของมัน อันนี้เป็นเรื่องของทัศนคติ

พื้นฐานไปกว่านั้นก็คือ พระสงฆ์เอง อาตมาได้พูดอยู่เสมอว่า สภาพการพระศาสนาที่ผ่านมาเสื่อมโทรม จะต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงรากฐานของปัญหาก็คือ สภาพที่ขาดการศึกษา พระเณรจํานวนมากบวชเข้ามาแล้วไม่ได้เล่าเรียนธรรมวินัย การจัดการศึกษาไม่ค่อยได้มีการเร่งรัดเอาใจใส่กันอย่างจริงจัง

พระเณรบวชเข้ามาแล้ว หนึ่ง ความรู้สึกมีส่วนร่วมในพระศาสนา เป็นเจ้าของศาสนา มีความรักต่อพระศาสนาก็ไม่ค่อยมี มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในวงการพระศาสนา เช่น อย่างกรณีโพธิรักษ์นี้ ก็ไม่รู้ไม่สนใจ สอง ความตระหนักในหน้าที่ของตนต่อชีวิตของตน ต่อวัดของตน ต่อพระศาสนา ต่อประชาชนไม่ค่อยมี ความรู้ตระหนักในหน้าที่ หน้าที่ของเราต่อประชาชนคืออะไร การให้ความรู้ความเข้าใจให้ธรรมะไม่ค่อยมี และอาจเข้าใจผิด ถึงกับว่า ตนนี้พอบวชมาเป็นผู้รับทานที่ชาวบ้านถวาย และเมื่อเขาถวาย เขาก็ได้บุญไป มองแค่นี้ไม่คิดว่าตนมีหน้าที่ในการให้ธรรม เป็นผู้นําทางจิตใจ และเป็นผู้นําทางปัญญาของประชาชน ถ้าอย่างนี้แล้วก็เป็นความเสื่อมในความตระหนักในหน้าที่ เราได้เห็นว่ามีการขาดอันนี้มาก แล้วก็สามการไม่มีจิตสํานึกในความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ต่อหน้าที่เหล่านี้ ปัจจุบันนี้ก็ค่อนข้างชัดอยู่แล้วว่า สภาพนี้เกิดขึ้นทั่วๆ ไป ฉะนั้นมันจึงเป็นปัจจัยพื้นฐาน เป็นโอกาสที่จะให้ช่องแก่การขยายตัวของปัญหา

ทีนี้สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากการให้การศึกษาที่ผิดพลาดหรือย่อหย่อนอ่อนแอ ตลอดจนการไร้การศึกษา บวชเข้ามาแล้วไม่ได้เล่าเรียน ในแง่การให้การศึกษาที่ผิดพลาด ปัญหาอยู่ที่หลักสูตรน่าจะบกพร่องที่ไม่สามารถสร้างจิตสํานึกอะไรต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาได้ นอกจากนั้นสภาพความย่อหย่อนในทางการศึกษานี้ ยังส่งผลสะท้อนตามมาอีก คือ

หนึ่ง เมื่อตัวเองไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย บวชเข้ามาแล้วก็ไม่รู้ว่า ตัวเองจะต้องปฏิบัติอะไรยังไง ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เมื่อไม่มีความรู้ที่จะเป็นตัวนําในการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็ปฏิบัติไม่ถูก ไปปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดพลาดไป ก็เกิดความเสื่อมเสียแก่ส่วนรวม ตนเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากธรรมวินัยจากพระศาสนา

สอง นอกจากตัวเองไม่ได้รับประโยชน์จากพระศาสนาและไม่สามารถเอาพระศาสนามาทําประโยชน์แก่สังคมได้แล้ว นอกจากนั้น เมื่อตัวเองประพฤติผิดพลาดเสื่อมเสียแล้ว ต่อมาคนที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนาหรือบุคคลภายนอกมาเห็นความเสื่อมนี้ก็ยกขึ้นโจมตี ในการยกขึ้นมาโจมตีนั้น ก็จะมีผู้โจมตีด้วยหวังดีบ้าง ผู้โจมตีโดยไม่หวังดีบ้าง ผู้โจมตีโดยไม่หวังดี ก็มองในแง่ว่า เอามาเป็นเครื่องมือในการที่จะสนองประโยชน์ของเขา สนองความมุ่งหมาย ไม่ว่าจะเป็นการทําตัวของเขาให้เด่นขึ้น เชิดชูหมู่ของเขาเองขึ้นก็ตาม หรือว่าจะทําลายประการใดประการหนึ่งก็ตาม ก็ทําได้ และสิ่งที่เขาหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องโจมตีนั้น ก็เป็นสภาพที่เป็นจริงเสียด้วย เมื่อเขาโจมตี คนก็เห็นตามว่าเป็นอย่างนั้น ก็กลายเป็นเหยื่อของการโจมตี

สาม พอเขาโจมตีแล้ว ตัวไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้ทางธรรมวินัย ตัวเองก็ไม่สามารถไปตอบชี้แจงเขาได้ เพราะไม่มีความรู้ที่จะชี้แจง ก็เป็นผลเสียซับซ้อน

สี่ ต่อมาบุคคลกลุ่มนั้นนอกจากจะโจมตีแล้ว เขายังแสดงหลักคําสอนอะไรของเขาที่ผิดพลาดขึ้นมาด้วย เมื่อพระเณรไม่มีการศึกษา ก็ไม่รู้อีกที่จะไปวินิจฉัยว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดก็กลายเป็นผลเสียประการต่อมา คือไม่สามารถไปแก้ไขสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นในพระศาสนา เป็นความเสียหายสืบต่อกันเป็นทอดๆ เต็มไปหมด อันนี้ก็คือสภาพที่เป็นอยู่ ถ้าเราจะมองในแง่การแก้ปัญหา เราจะต้องมองในวงกว้างขึ้น

นอกจากปัญหาภายในคณะสงฆ์อย่างที่ท่านให้ความเห็นมาแล้ว พุทธบริษัทอื่นๆ นอกจากพระสงฆ์ โดยเฉพาะพุทธศาสนิกไทยเรา มีปัญหาอะไร หรือว่ามีส่วนที่ทําให้เกิดปัญหาเหล่านี้ด้วยใช่หรือไม่

(พระเทพเวที) ในแง่มองมุมกว้างเกี่ยวกับสังคมไทยทั่วไป อาตมามองดูว่า ประชาชนตลอดจนกระทั่งผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ทั้งที่เป็นผู้นําทางสติปัญญา และผู้นําในทางการเมือง ได้เกี่ยวข้องและมีความรู้ความเข้าใจกับเรื่องนี้อย่างไร และก็ได้มองเห็นว่า คนไม่ค่อยเข้าใจเรื่องดี ทําให้มองภาพสะท้อนไปได้หลายอย่าง คือ เรามองว่าประชาชนทั่วไปในระดับหนึ่ง ก็ไม่มีแนววิธีปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล กลายเป็นตัวตื่นเต้นตัวกระโดดโลดเต้นไปตามข่าวสารข้อมูลที่มากระทบเข้าถึงตัว โดยไม่เป็นเจ้านายของข่าวสารข้อมูล ที่จะเป็นผู้สามารถที่จะไปพินิจพิจารณาสืบสาวและสืบค้นหาความจริงในสิ่งที่เป็นข่าวสารข้อมูลนั้น ลักษณะอย่างนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะว่าในเวลานี้เรากําลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าข่าวสารข้อมูล ถึงแม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้มีความเจริญอะไรมากในด้านนี้ แต่ก็กําลังตามเขาในเรื่องเหล่านี้

ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วกําลังก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล เรากําลังรับยุคนี้ด้วยท่าทีและความไม่พร้อม ท่าทีที่ไม่ถูกต้องและสภาพจิตใจและปัญญาที่ไม่พร้อม คือมีลักษณะของการตื่นเต้นตามข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะที่ว่าเป็นผู้สามารถที่จะไตร่ตรองรับข้อมูลอย่างเป็นเจ้าเป็นนายของข้อมูล ที่จะรู้เข้าใจเท่านั้น และนําไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง ทั่วๆ ไปก็เป็นอย่างนี้

คราวนี้เองในแง่ของคนที่รับผิดชอบในทางสังคม แม้แต่ในระดับของปัญญาชน คนระดับนี้ก็รับรู้ข่าวสารข้อมูล โดยมีลักษณะคล้ายประชาชนเข้าไปอีก คือ ไม่ได้มีการสืบสวนค้นคว้าหาความจริงในเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อจะแสดงออกว่า ตนมีความรับผิดชอบต่อสังคม การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานที่สําคัญกว่านั้นก็คือ การแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบและอย่างได้ผล การที่จะได้ผลอย่างที่ว่าและมีความรับผิดชอบก็คือ การที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องนั้นเป็นอย่างดี ในขั้นที่หนึ่ง เราอาจจะรับข่าวสารข้อมูลจากสื่อมวลชนเป็นต้น แต่แค่นี้พอหรือ สําหรับจะรับผิดชอบต่อสังคมและจะแสดงออก เมื่อถึงขั้นจะแสดงออก เราจะต้องศึกษาเรื่องนั้นให้ชัดเจน ใครว่ายังไง อันนี้ มีเหตุ มีผล มีเรื่องราวเป็นมายังไง ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับธรรมวินัย ธรรมวินัยคืออะไร เป็นอย่างไร ปัญหาที่เกิดแก่ธรรมวินัย คือปัญหาอย่างไร ที่ท่านโพธิรักษ์ทําอย่างนี้เป็นยังไงจึงเรียกว่าเป็นปัญหาธรรมวินัย คนเหล่านี้โดยมาก แม้แต่ผู้ที่เรียกตนเองว่าปัญญาชน เท่าที่เห็นยังไม่ได้ศึกษาเรื่องราวก็พูดออกไป เป็นการทําให้ประชาชนยิ่งสับสนไขว้เขวมากขึ้น แล้วกลายเป็นตัวนําประชาชนไปในทางที่ผิดพลาด

อันนี้ คือสภาพสังคมในวงกว้าง ทําให้เห็นว่า เราเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลกันอย่างไร ถ้าก้าวหน้าไปในลักษณะนี้แล้วจะไปรอดหรือ จะนําสังคมไปได้ด้วยดีอย่างไร อันนี้ก็เป็นเครื่องโยงไปถึงการศึกษาของคนและประชาชนตลอดจนกระทั่งการสร้างปัญญาชนต่อไปด้วยว่า เราควรจะให้การศึกษาแก่ปัญญาชนอย่างไร เพื่อสร้างคนให้พร้อมที่จะมาดําเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และสามารถนําสังคมของตนเองในยุคของข่าวสารข้อมูล นี้ก็เป็นข้อพิจารณาต่างๆ ที่เราต้องมอง เพราะว่านักศึกษาและปัญญาชนต่างๆ เวลาพูดถึงเรื่องของวิชาการสมัยใหม่ อาจจะต้องพยายามศึกษาเรื่องให้ชัดเจนหน่อย แต่เวลามองเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา อาจจะเห็นเป็นเรื่องเก่าๆ บางคนอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องล้าหลัง เป็นเรื่องไม่สลักสําคัญนัก จะพูดอะไรก็ได้ โดยนึกเอาว่า อาจจะเป็นอย่างนั้น โดยไม่ต้องไปศึกษาให้เข้าใจ

สมัยหนึ่ง ในขณะที่เรากําลังก้าวเข้าสู่ยุคของความเจริญและเราตามฝรั่งมาก เราเห็นวัฒนธรรมอะไรต่ออะไรของเราเป็นเรื่องล้าหลัง เป็นเรื่องเก่าๆ จะเห็นชัดว่า คนที่ถือว่าเป็นผู้ที่สมัยใหม่ มีสติปัญญาเป็นผู้นํา เป็นปัญญาชนในสมัยนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องศาสนาในลักษณะที่งกๆ เงิ่นๆ ผิดๆ พลาดๆ ให้มันวิปริตผิดเพี้ยนแล้วรู้สึกโก้ มันเคยมีอย่างนี้น่ะ คือถ้าพูดเรื่องศาสนา เรื่องเก่าๆ ของตัวเองแล้ว เพราะฉันเป็นคนมีความรู้แบบสมัยใหม่ทันต่อโลกตะวันตกอะไรนี่ เพราะเอาความหมายของความเจริญไปผนวกเข้ากับความเป็นสิ่งที่มาจากตะวันตก ถ้าเป็นเรื่องเหล่านั้น พูดออกมาด้วยความรู้สึกโก้ว่าฉันรู้ แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็นเรื่องของตัวเอง เรื่องในประเทศ เรื่องศาสนา ถ้าแสดงว่าไม่รู้นี่โก้ พูดออกมาโดยผิดๆ พลาดๆ งกๆ เงิ่นๆ ทําให้มันเพี้ยนไปบ้างนี้โก้ดี

แต่ถ้าเป็นฝ่ายคนในวัฒนธรรมเดิมของไทย ถ้าไปพูดเรื่องสมัยใหม่แล้วจะต้องระวังตัว พูดผิดๆ พลาดๆ นิดหน่อย แล้วถูกดูถูกดูหมิ่นใช่ไหม แล้วจะเอาเรื่องของตัวเองที่รู้ดีไปพูดเขาก็ไม่ให้เกียรติ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ทันสมัยใช่ไหม อย่างนี้เป็นต้น สภาพอย่างนี้อาจจะหลงเหลืออยู่บ้างเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันต่อไป รวมแล้วก็เป็นเรื่องของการที่ว่าจะเตรียมคนให้พร้อมสําหรับการก้าวไปสู่สังคมในยุคของข่าวสารข้อมูลอย่างไร ให้เป็นการก้าวไปด้วยดี นําสังคมไปในทางที่จะแก้ปัญหาได้หรือสร้างสรรค์ให้ก้าวหน้าไปในทางที่ถูกต้องต่อไป

กรณีสื่อมวลชน เพราะว่าบทบาทของสื่อมวลชนช่วงเหตุการณ์เรื่องสันติอโศกนี้ สื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูงและเป็นบทบาทที่กระทบต่อสังคมในวงกว้าง ตามทรรศนะของท่านแล้ว มองว่า บทบาทของสื่อมวลชนต่อการพระศาสนา ควรจะมีบทบาทอย่างไร แล้วถ้าสรุปจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีอะไรไหมที่คิดว่าสื่อมวลชนจะต้องปรับปรุงบทบาทของตนเอง

(พระเทพเวที) สื่อมวลชนก็มีอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง การทําหน้าที่ให้ถูกต้องให้ได้ผลดีแก่สังคม ความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ความรับผิดชอบต่อประชาชน ถ้ามีจิตสํานึกนี้อยู่เสมอ หนักแน่นในจิตสํานึกนี้เด่นขึ้นมา ก็จะทําหน้าที่ได้ดีขึ้น มีเรื่องที่พึงระวังในแง่หนึ่งก็คือ เรื่องผลประโยชน์จากการขายข่าว อย่าเป็นเพียงแต่ให้ได้ข่าวตื่นเต้นมาล่อใจคนซื้อ ในแง่หนึ่งเราก็เห็นใจ แต่ก็เป็นลักษณะที่มีอยู่เรื่อย เราควรจะทําอย่างไรให้ตัวจิตสํานึกในการทําหน้าที่มันเด่นขึ้นมาเป็นตัวคุมการหาผลประโยชน์ ถ้าทําได้อย่างนั้น มันก็จะดีขึ้น อย่างน้อยก็จะเป็นตัวยั้งให้การหาผลประโยชน์จากข่าวนั้นไม่ถึงกับเกิดผลเสียหาย คือว่า เอาล่ะ ในแง่ของการขายข่าวตื่นเต้น ถ้าความตื่นเต้นนั้นไม่เสียหายก็ขายได้ดีขึ้น และไม่กระทบผลประโยชน์ของส่วนรวม อันนี้เป็นเรื่องสําคัญ คือถ้ามีความรู้สึกตระหนักในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และต่อสังคม ต่อประชาชน ก็ทําให้มีความระมัดระวังในการเสนอข่าวให้เป็นไปด้วยความเข้าใจถ่องแท้ถูกต้อง และก็เป็นทางของการใช้ปัญญาพินิจพิจารณาเรื่องให้รอบคอบขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อไปสัมภาษณ์ก็มักจะไปสอบถามเพียงหาถ้อยคําที่จะจี้ความสนใจเท่านั้น เพื่อให้คนตื่นเต้น แต่ไม่เข้าถึงความจริงเลย หมายความว่า เมื่อเข้าไปหาบุคคลหรือแหล่งข่าวก็ต้องซักต้องล้วงเอาความจริงให้ได้ข้อมูล ให้ได้เหตุได้ผลเพื่อเป็นทางเจริญปัญญาของประชาชนด้วย เพราะว่าสื่อมวลชนมีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างสําคัญยิ่งในปัจจุบัน การให้การศึกษา ก็หมายถึง การที่จะช่วยเป็นทางพัฒนาปัญญาของประชาชน ให้ประชาชนได้ช่องได้โอกาสที่จะได้ใช้ปัญญาพิจารณา โดยมีข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ตรงประเด็น เข้าถึงแก่นของปัญหา

ในแง่ของพุทธศาสนิกเอง เมื่อจําเป็นต้องรับข่าวสารทุกวัน เมื่อกี้ท่านได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับการเป็นเจ้านายของข่าวสารข้อมูลแล้วส่วนหนึ่ง อยากให้ท่านแจงให้เป็นรูปธรรมเพิ่มเติมสักนิดว่า ท่าทีต่อการรับข่าวสารข้อมูลควรจะเป็นอย่างไร

(พระเทพเวที) หนึ่งก็คือ รู้เท่าทันต่อการนําเสนอข่าว ถ้าเป็นเรื่องตื่นเต้น ก็ไม่โวยวายไป ตามรู้ทันว่านี่เป็นการเขียนข่าวให้ตื่นเต้น คนมักมีลักษณะตื่นตูม พอเขาเสนอข่าวตื่นเต้นมาตัวก็ตื่นตูมไปเลย แล้วก็เอาข่าวนี้ไปพูดไปขยายอีก คือ มีลักษณะของการรับข่าว ๒ อย่าง คือ หนึ่งรับแล้วตื่นตูมไปตาม สองรับเอามาเป็นข้อมูลในการพินิจพิจารณาใช้ปัญญา โดยระงับการแพร่กระจายความตื่นเต้นออก แต่หันกลับมาคุมความตื่นเต้นแล้วก็พิจารณาหาข้อเท็จจริงและสืบสาวราวเรื่อง

ขั้นต่อไปคือ การที่ว่าไม่หยุดอยู่แค่ข่าวสารข้อมูลที่มาจากสื่อมวลชน แต่จะหาความรู้ความเข้าใจอะไรที่นอกเหนือจากนั้นต่อไป นอกจากนั้นก็คือ ถ้าหากว่าเราจะต้องมีการแสดงออก ก็ต้องมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นในการที่จะหาความจริงให้ได้ชัดเจนมากกว่านั้น เราจะหาได้อย่างไร ถึงตอนนี้เราไม่โทษแต่ประชาชน หรือแม้แต่ปัญญาชน เราต้องโทษแหล่งที่ควรจะเป็นผู้ให้ข่าวสารข้อมูลด้วย

อาตมามองว่า ทางสถาบันสงฆ์เอง ไม่ได้มีความพร้อมที่จะให้ข่าวสารข้อมูล เมื่อเขาต้องการความรู้ความเข้าใจ เราก็ต้องพร้อมที่จะให้ข้อมูล เมื่อเรื่องเกิดขึ้น รู้อยู่แล้วว่าคนสนใจ ก็ต้องมีข้อมูลที่พร้อม รีบออกข่าวสารให้ นี้ก็เป็นอีกด้านหนึ่งคือมองกลับมาทางสถาบันสงฆ์ ก็มีความไม่พร้อมในการแก้ปัญหา ความไม่พร้อมในเรื่องของการให้ความรู้ความเข้าใจ การให้ข่าวสารข้อมูล ทําให้เห็นว่า คณะสงฆ์ยิ่งมีความไม่พร้อมในการที่จะดําเนินไปด้วยดีในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ เป็นความบกพร่องมาก รวมแล้วก็ซึ่งกันและกัน คือฝ่ายสนองให้ก็ควรที่จะมีให้ แต่ถ้าฝ่ายสนองไม่มีให้ ฝ่ายผู้ที่รับนี่ก็ควรจะต้องเพียรพยายามหาข้อมูลและใช้สติปัญญาให้มาก

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะพูดก็คือเรื่อง การปฏิบัติต่อปัญหา ซึ่งแสดงถึงความพร้อมที่เกิดจากการศึกษาด้วย ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือความพร่าและจับเรื่องปะปนมัวๆ ไม่แยกให้ชัดเป็นอันๆ ว่า เรากําลังพูดถึงจุดไหนก็ต้องให้ชัดในจุดนั้น อย่างที่อาตมามองผู้วิจารณ์ที่ว่าทําไมอาตมามองแต่เรื่องธรรมวินัย ไม่มองเรื่องอื่น เรากําลังพูดเรื่องอะไร เราก็ต้องให้ชัดในเรื่องนั้น แล้วเราจะก้าวไปสู่แง่ไหน เราก็พูดในแง่นั้น ให้ชัดเป็นเรื่องๆ ไป แล้วจึงโยงกันอีกทีหนึ่ง และโยงกันให้รอบไปเลย ไม่ใช่พูดเรื่องนี้ออกไปเรื่องโน้น ทําให้พร่าทําให้สับสนซึ่งเป็นกันมาก ไม่ใช่เฉพาะปัญหาในเรื่องนี้เท่านั้น

อาตมากําลังมองว่า ปัญญาชนของเราผู้มีการศึกษาขณะนี้ กําลังมีปัญหามากในเรื่องนี้ คือพูดจับประเด็นไม่อยู่ในเรื่อง พูดไม่ตรงเรื่อง ไม่พูดในแง่นั้นๆ ให้ชัดเป็นอย่างๆ ไป พอจี้เรื่องนี้ ออกไปเรื่องโน้นที ออกไปเรื่องนั้นที แล้วก็สับสน เป็นความสับสนที่เริ่มต้นจากความสับสนในทางความคิดของตนเอง อันนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่แสดงถึงความไม่พร้อมในการที่จะก้าวไปในยุคข่าวสารข้อมูล ไม่พร้อมที่จะนําสังคมไปได้ด้วยดี อาตมาอาจจะมองในแง่ร้ายเกินไปก็ได้ แต่เป็นข้อสังเกตอันหนึ่ง

อาจคาดได้ว่า การดําเนินกิจกรรมของโพธิรักษ์ในอนาคต ก็คงจะทําในลักษณะของการอ้างอิงพระพุทธศาสนา โดยอาจตั้งกลุ่มของตนต่างหาก แต่ยังอิงพระพุทธศาสนาเหมือนเดิม ผมมีความรู้สึกว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาอีกชั้นหนึ่งขึ้นมา

(พระเทพเวที) ก็อาจจะเป็นปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง แต่เรายังไม่ชัดเจนว่า เรื่องจะดําเนินไปอย่างไร แม้แต่การสึกของท่านโพธิรักษ์ ก็ยังเป็นปัญหาในแง่กฎหมาย การพิจารณาคดีของทางบ้านเมืองก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะจบสิ้นลงในรูปไหน อย่างไรก็ตามสําหรับตัวท่านโพธิรักษ์นั้น อาตมามีความเชื่อน้อยกว่าลูกศิษย์ในสันติอโศก คืออาตมามีความเชื่อในศิษย์ของสันติอโศกหลายคนว่า เป็นคนมีความตั้งใจจริงในการทําความดี แต่สําหรับท่านโพธิรักษ์ มีเหตุให้สงสัยในความไม่ซื่อตรงหลายอย่าง คนที่ตั้งใจทําดีนั้น ถ้าไม่มีความรู้เข้าใจหลักที่จะเท่าทันเขา และถ้ามีลักษณะจิตใจแบบที่ต้องพึ่งพา ก็จะถูกชักจูงหรือแม้กระทั่งกลายเป็นเครื่องมือของคนฉลาดที่ไม่ซื่อตรงไปได้ง่ายๆ

ทีนี้ ทําอย่างไรจึงจะให้คนเหล่านี้เป็นอิสระขึ้นมา เมื่อมองว่าท่านโพธิรักษ์สอนพระธรรมวินัยผิด ไม่ใช่หลักการของพระพุทธศาสนา ก็มีปัญหาว่า ทำอย่างไรจะให้คนเหล่านี้ ซึ่งมีความปรารถนาดี ตั้งใจดี หันมาดําเนินในแนวทางที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ในแง่นี้คําตอบก็คือ จะต้องให้การศึกษา ปัญหาก็คือ หนึ่ง ตัวเขาเองจะยอมรับฟังผู้อื่นหรือศึกษาอย่างเป็นกลางๆ หรือไม่ ถ้าหากเขาเปิดใจศึกษาให้เห็นตามที่พระพุทธเจ้าสอนแท้ๆ โดยไม่ใช่เพียงจะเอามาประกอบบัญญัติของท่านโพธิรักษ์ ก็เป็นสิ่งที่ดี สอง ใครจะให้การศึกษาอีก อันนี้ก็เป็นปัญหา อาตมาก็พูดมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ขณะนี้เรากําลังอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมของการพระศาสนา ภาวะเสื่อมโทรมมันเป็นทั้งเหตุต้นตอ และมันก็เป็นตัวการในปัจจุบันที่จะทําให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยาก ถ้าไม่มีความเสื่อมโทรม ปัญหาอย่างโพธิรักษ์ก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งอันนี้อาตมาก็ย้ำอยู่เสมอ

เมื่ออยู่ในภาวะเสื่อมโทรม การที่จะให้การศึกษาอะไรต่ออะไรก็เป็นไปได้ยาก เราก็เลยมีปัญหาต้องคิดกันต่อไปมาก แต่ด้านหนึ่งที่เราจะต้องแก้ปัญหา ก็คือ การเร่งรัดปรับปรุงการพระศาสนาทั่วไป โดยเฉพาะปัญหาการให้การศึกษาแก่ภิกษุ สามเณร อันนี้อาตมาถือว่าเป็นรากฐานที่สําคัญ ส่วนที่เน้นต่อมา ถึงแม้จะไม่เกิดปัญหาสันติอโศกก็พูดอยู่เสมอ นั่นคือ การศึกษาของประชาชน อย่างไรก็ตามที่สําคัญอย่างยิ่งก็คือ เรื่องการศึกษาของภิกษุสามเณร ซึ่งทําอย่างไรจะให้ได้ผล ในแง่ที่ว่า ทําอย่างไรจะให้ภิกษุสามเณรมีความรู้สึกเป็นส่วนร่วมในพระศาสนา เป็นเจ้าของศาสนา รักพระศาสนา รู้ตระหนักในหน้าที่ของตนต่อประชาชน ต่อวัด ต่อพระศาสนา มีความรู้สึกที่จะรับผิดชอบ แล้วก็มีความรู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง สามารถเอาพระศาสนามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน แก่สังคม และสามารถที่จะแสดงตัวให้มีคุณค่าเป็นผู้นําในสังคมได้ ตลอดจนกระทั่งว่า มีอะไรเสียหายเกิดขึ้น ก็พร้อมที่จะร่วมในการแก้ปัญหา ในการชี้แจงแก้ไข ทําความเข้าใจ เป็นต้น อันนี้เป็นปัญหาที่ต้องเร่งรัดจัดทําต่อไป

ทราบว่า ท่านเป็นประธานร่างนโยบายและแผนการศึกษาของสงฆ์ กระผมขอกราบเรียนถามถึงหลักการสําคัญที่จะเป็นแนวทางในการปรับปรุงการศึกษาของพระสงฆ์และสามเณร

(พระเทพเวที) ก็พูดได้หลายแง่ แต่ข้อแรกที่สุดก็คือ เราจะแก้ไขปัญหาโดยยอมรับความจริงของสภาพที่เป็นอยู่ด้วย ในความหมายนี้ก็คือเราต้องดูว่า สภาพการศึกษาของพระสงฆ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร เกิดจากเงื่อนไขทางสังคมของไทยอย่างไร

การศึกษาของพระสงฆ์นี้ โดยหลักการของพระศาสนาก็เพื่อให้พระสงฆ์มีความรู้ที่จะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นศาสนทายาทที่ดีสืบต่อพระศาสนาได้ มีความรู้และนําไปปฏิบัติถูกต้อง แล้วก็สามารถเอาไปเผยแผ่สั่งสอนประชาชน เป็นพระเณรที่ดีมีความสามารถนั่นเอง อันนี้เป็นหลักการ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมืองไทยเรามีลักษณะเฉพาะของสังคมไทยที่ได้เอาพระพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ เอาสถาบันสงฆ์มาใช้ประโยชน์ เป็นช่องทางให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมของตน เราจึงได้มีประเพณีบวชเรียนขึ้นมา แม้จะเป็นการบวชชั่วคราวเพียงว่าให้เป็น “คนสุก” จะได้พร้อมที่จะไปมีครอบครัวได้ พร้อมที่จะไปรับราชการได้ ในประวัติศาสตร์บางยุคถึงกับกําหนดว่า ถ้าไม่ได้บวชเรียนมาก่อน จะไม่รับเข้าราชการ อย่างเช่นในสมัยพระเจ้าบรมโกศ อันนี้ก็คือว่าประเทศไทยเราได้เอาพระพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ ในด้านการให้การศึกษาแก่ประชาชน ซึ่งมองในแง่ดีก็เป็นการดีที่ได้ทําประโยชน์เพื่อสังคม พระพุทธศาสนาก็มีความมุ่งหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่สังคม แต่ในระยะยาวมันทําให้เกิดประเพณีการบวชและการสึกตามสมัครใจ แล้วก็เป็นการบวชระยะสั้น การบวชกลายเป็นการเตรียมคนเข้าสู่สังคม ผู้บวชไม่มีความมุ่งหมายที่จะอุทิศตัวให้กับพระศาสนาโดยเฉพาะการบวชที่เป็นไปโดยไม่ได้รู้ เพราะบวชแต่เด็กบวชแต่เล็ก บวชตั้งแต่เป็นเณร เณรเล็กๆ ก็ไม่รู้ว่าบวชนี่เพื่อความมุ่งหมายอะไร เพียงแต่รู้ว่าจะได้เรียนหนังสือ หรือจะได้ไปอยู่วัดก็เพียงเท่านี้

ทีนี้ปัญหาสังคมมันซับซ้อนกว่านั้นอีก เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไป วัดที่เคยเป็นสถาบันศูนย์กลางการศึกษาของทวยราษฎร์ หรือของประชาชน ถูกปฏิเสธหรือถูกบอกเลิกให้ทําหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชน ตอนแรกรัฐก็อาศัยวัดมาช่วยให้การศึกษาแก่ประชาชน ต่อมาก็แยกอย่างชัดเจน ถือว่ารัฐรับผิดชอบต่อการศึกษาของประชาชนอย่างเด็ดขาด ทางรัฐถือว่าการศึกษาของพระก็เป็นเรื่องของพระไม่เกี่ยวกับรัฐ พระจะให้การศึกษาอะไร ก็ถือคล้ายๆ ว่า พระต้องให้การศึกษาสําหรับพระภิกษุสามเณรที่จะอยู่สืบพระศาสนาเท่านั้น ก็มองแค่นั้น

เมื่อเป็นเรื่องของพระ รัฐไม่เกี่ยวแล้ว ต่อจากนั้นก็ไม่มองอีกเลยว่า พระจะดําเนินการศึกษาอย่างไร ทีนี้ปัญหามันก็เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าปัจจัยเก่ามันยังอยู่ และเพราะรัฐทํางานของตัวเองไม่สําเร็จ เมื่อรัฐหันมาเป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาด้วยตนเอง ก็มีหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนให้ทั่วถึง ให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาทั่วประเทศ มีการประกาศการศึกษาภาคบังคับ แต่ในความเป็นจริงก็คือว่า ในช่วงระยะเวลาที่กว่าจะทําให้การศึกษาภาคบังคับสําเร็จผลมันนานเหลือเกิน ในระหว่างนั้น ก็มีปัญหามากเกี่ยวกับประชาชนที่ด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาของรัฐได้ เรามีปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสทางการศึกษานี้เป็นอย่างแรงมาก ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน กลายเป็นว่าคนที่ด้อยโอกาสในทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะชาวชนบทที่อยู่ห่างไกลตลาด ห่างไกลตัวเมือง และคนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจคือ ยากจน คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาของรัฐได้ การศึกษาโดยมากจะอยู่ในเมือง ทีนี้ความด้อยโอกาสในทางภูมิศาสตร์และทางเศรษฐกิจ มักจะไปรวมอยู่ที่คนกลุ่มเดียว คือ ชาวนา เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศประมาณ ๗๕ เปอร์เซนต์ ฉะนั้นพวกชาวนา ลูกชาวนาก็ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาของรัฐ

ขณะเดียวกัน การศึกษาสมัยใหม่ได้ไปกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้สึกตลอดจนเกิดค่านิยมว่า เราจะก้าวหน้าในสังคมได้ เลื่อนฐานะในสังคมได้ จะต้องได้เล่าเรียนหนังสือ การศึกษากลายความหมายเป็นเครื่องมือเลื่อนฐานะในสังคม เมื่อชาวเมืองหรือคนที่เข้าถึงการศึกษาของรัฐมีค่านิยมนี้ ใช้การศึกษาเพื่อเลื่อนฐานะทางสังคม ชาวบ้านเขาก็เกิดความกระหายบ้าง ชาวนาก็ต้องการเลื่อนสถานะเหมือนกันแต่ทําอย่างไรจะให้ลูกของตนเลื่อนฐานะในสังคมได้ ก็ไม่สามารถ เพราะว่าตัวอยู่ห่างไกลและก็ไม่มีทุนทรัพย์ เมื่อเข้าถึงการศึกษาของรัฐไม่ได้ ในที่สุดก็นึกถึงการศึกษาระบบประเพณี นักถึงวัด นึกถึงพระ วัดแม้จะถูกรัฐทอดทิ้ง ไม่ถือว่ามีบทบาททางการศึกษามวลชนต่อไปแล้ว แต่วัดก็ยังคงดําเนินการศึกษาตามแบบประเพณี มีการให้การศึกษาอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นชาวนาก็เอาลูกของตัวเองไปฝากวัด ให้อยู่วัด ไปเรียนหนังสือกับหลวงพ่อ หลวงพี่ เช่น ให้เรียนนักธรรม จึงยังพอมีทางให้ได้รับการศึกษาบ้าง

เมื่อเวลาผ่านไป สภาพที่ว่ามานี้ก็ทําให้วัดกลายเป็นแหล่งการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม เปลี่ยนฐานะจากเดิมที่เป็นผู้ให้การศึกษาแก่มวลชนมาเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม สภาพอย่างนี้ได้เป็นไปอย่างมาก โดยที่รัฐไม่รู้ตัวเลยว่า เด็กที่ออกจากโรงเรียน ไม่ได้เข้าโรงเรียนของรัฐแล้วไปอยู่ที่ไหน ก็นึกว่าไปอยู่ในท้องนา ที่จริงส่วนหนึ่งที่เขาจะเล่าเรียนนี่ เขาเข้ามาอยู่วัด จนกระทั่งผ่านมาระยะหนึ่งวัดในกรุงเทพฯ ทั้งหมดกลายเป็นชุมชนชนบทไปแล้ว ปัจจุบันนี้ถ้าไม่นับคนกรุงเทพฯ ที่เข้าไปบวชชั่วคราวสามเดือน หนึ่งเดือน พระที่อยู่ประจําวัดในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดจะเป็นชาวชนบทเสีย ๙๐ กว่าเปอร์เซนต์ เป็นชาวชนบทเข้ามาบวชตามวิถีของการศึกษา นี่ก็เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เข้ามากระทบต่อพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญหาของพระศาสนาเอง

ขณะที่วัดไปเอื้อประโยชน์แก่สังคม ในแง่ที่ไปผ่อนคลายปัญหาความไม่เสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา โดยไปให้การศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมนี้ ก็ปรากฏว่ากลายเป็นการสร้างความอ่อนแอแก่คณะสงฆ์เอง วัดก็อ่อนแอลง เพราะคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาไปแล้ว ก็ออกไปอยู่ในรัฐ อยู่ในสังคม นี่คือสาเหตุหนึ่งของความอ่อนแอของพระศาสนา ในขณะเดียวกัน รัฐก็ไม่นึกว่า คณะสงฆ์ก็มีการจัดการศึกษาสําหรับประชาชนเหมือนกัน ก็เลยทอดทิ้งไม่เหลียวแล ไม่ดูว่าพระจัดการศึกษากันอย่างไร ลูกชาวนายากจนห่างไกลเข้าไปอยู่ในวัดแล้วได้รับการศึกษากันอย่างไร ปัญหาก็เลยยิ่งสะสมหมักหมมมาเรื่อย เด็กชาวนาชนบทเข้าไปวัดแล้วก็ไม่ได้รับการศึกษาที่ดี วัดและพระศาสนาเองก็อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ และชนบทก็ยิ่งล้าหลังเสื่อมโทรมลงไปทุกที นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า เราจะต้องยอมรับความจริง

ยิ่งกว่านั้น คนจํานวนมากที่มีโอกาสเหนือกว่าในสังคม โดยเฉพาะคนในเมืองซึ่งเข้าถึงการศึกษาของรัฐ และได้รับประโยชน์จากการศึกษาในระบบนั้น ในการสนองค่านิยมที่ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะในสังคม คนเหล่านี้ด้วยความไม่รู้ก็พากันกล่าวหาติเตียนพระเณรชาวชนบทเหล่านั้น ตลอดจนคนที่สึกมาทํามาหาเลี้ยงชีพ หาความก้าวหน้าในสังคมตามค่านิยมสมัยใหม่นั้น โดยกล่าวหาติเตียนว่าพระเณรและผู้ที่สึกออกมาเหล่านั้นอาศัยวัดเป็นที่เล่าเรียนหนังสือ แอบอิงศาสนา เอาเปรียบชาวบ้าน แต่ว่าที่จริงเมื่อวิเคราะห์สังคมไทยกันให้ชัดเจนก็จะเห็นได้ว่า คนในเมืองและคนที่มีโอกาสเหนือกว่าซึ่งเป็นผู้ติเตียนนั่นแหละเป็นผู้ที่เอาเปรียบ ถ้าพูดด้วยสํานวนของฝ่ายซ้ายก็คงจะต้องเรียกว่าเป็นพวกที่มีทรรศนะแบบกดขี่ แต่ถ้าว่าโดยสาระก็คือ คนในเมืองและคนที่ได้เปรียบเหล่านี้ไม่รู้จักสังคมไทยของตนเอง (เห็นได้ชัดว่า ท่านโพธิรักษ์และลูกศิษย์ของท่านในสันติอโศกก็มีทรรศนะแบบนี้ ดังที่ท่านพูดโจมตีพระเณรเหล่านี้บ่อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะการขาดความรู้ความเข้าใจในสังคมของตน) การพูดด่าว่าติเตียนสาดไปเช่นนี้ เป็นการกระทําที่เกิดจากความไม่รู้และขาดกรุณา ซึ่งไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา มีแต่จะทําให้ปัญหาสับสนซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะจะทําให้แก้ปัญหาผิดที่ไม่ถูกจุดและเลี่ยงหลบสาเหตุ เป็นการซ้ำเติมชาวชนบท โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยากไร้ ให้ย่ำแย่ลงไปอีก

ถ้าจะปฏิบัติกันให้ถูกต้องและแก้ปัญหาให้สําเร็จ ทุกคนในสังคมนี้โดยเฉพาะคนในเมืองและคนฐานะดีกว่าที่ได้เปรียบ ควรมองเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกที่มีส่วนรับผิดชอบว่าเป็นปัญหาของสังคมไทยของเราร่วมกัน พร้อมทั้งมองชาวชนบทเหล่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะที่เป็นพระเณรหรือที่สึกออกมา ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน ตั้งใจและร่วมมือร่วมใจที่จะแก้ปัญหาให้ตรงตามเหตุปัจจัย และถูกต้องเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่และส่วนร่วมของตน จริงอยู่ในสภาพเช่นนี้ย่อมมีคนส่วนหนึ่งฉวยโอกาสเข้าไปใช้เพศภิกษุเป็นช่องทางเล่าเรียนวิชาชีพเพื่อเอาไปทํามาหากินโดยตรงด้วยความจงใจจริงๆ แต่เราต้องแยกให้ถูกไม่ใช่ตีขลุมกราดไป

ขณะนี้สิ่งที่เราต้องการเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ เราจะให้การศึกษาตามอุดมคติของพระศาสนา ตามหลักการที่จะสร้างพระภิกษุที่ดี และมีความสามารถที่จะสืบต่อพระศาสนาได้ แต่ในเวลาเดียวกัน เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงของสังคม ขณะที่เราให้การศึกษาไป สมมติว่าเราไม่ยอมรับว่า เรากําลังให้การศึกษาแก่ภิกษุสามเณรในฐานะเป็นพลเมืองชาวชนบท สมมติว่าเราตัดข้อคํานึงอันนี้ออกไป แต่ชาวบ้านในชนบทก็ยังให้ลูกหลานมาบวชอยู่ แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร การไม่ยอมรับความจริงก็เท่ากับเป็นการสร้างปัญหาให้มากยิ่งขึ้นอีก ฉะนั้น แนวทางใหม่ของเราก็คือ การยอมรับความจริงเอาทั้งหลักการของพระศาสนา และยอมรับสภาพความเป็นจริง ถ้ามันเป็นสภาพความจริงที่เราไม่ชอบ ก็ต้องค่อยๆ หาทางหันเหทิศทางไป พร้อมกับการแก้ไขเหตุปัจจัยในสังคม แต่จะต้องยอมรับความจริงก่อน

ดังนั้น บทบาทการศึกษาของวัดต่อไปในระยะนี้ ก็คือ การที่จะต้องให้ได้ทั้ง หนึ่ง สนองความต้องการของพระศาสนาให้มีคนดี พระดีมีความสามารถเผยแผ่พระศาสนา สอง เพื่อประโยชน์ต่อสังคม สนองความต้องการของสังคม ทั้งในแง่หลักการที่ว่า จะให้พระเณรมีความสามารถที่จะไปสั่งสอนประชาชนเพื่อให้เกิดศีลธรรมอันดีมีจริยธรรม แล้วพร้อมกันนั้นก็ได้ประโยชน์อีกด้านหนึ่งต่อสังคมในแง่ที่ว่า เป็นการช่วยแบ่งเบาปัญหาการศึกษาของรัฐในด้านโอกาสทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือชาวชนบท สาม สนองความต้องการของบุคคล คือมองในแง่ตัวของภิกษุสามเณรเอง ไม่ใช่เอาแต่พระศาสนาและสังคมเท่านั้น เราต้องยอมรับความต้องการของเขาด้วย แต่ข้อที่ต้องระลึกและคํานึงอยู่เสมอก็คือ ทําอย่างไรจะหันเหให้มาสู่เป้าหมายในทางที่เป็นไปตามหลักการให้มากที่สุด นี่คือหลักการในการวางนโยบายและแผนการศึกษา

จุดที่เราเน้นก็คือ ขณะนี้พระเณรจํานวนมากบวชเข้ามา แต่ไม่ได้เรียน มีแต่บวช แต่ไม่ได้เรียน กลายเป็นไม่มีการบวชเรียนเหมือนอย่างประเพณีไทย ซึ่งถือว่าต้องบวชเรียน ฉะนั้น การศึกษาของพระส่วนใหญ่ในชนบท เราจะเน้นการศึกษาพื้นฐานจะเรียกว่าภาคบังคับก็ได้ ผู้ที่บวชเข้ามาแล้วจะต้องมีการศึกษาเล่าเรียนระดับหนึ่งที่พอสมควร อย่างน้อยรับผิดชอบตนเองได้ในพระศาสนา มีความรู้ที่จะปฏิบัติตนให้ถูกต้อง การศึกษาในระดับพื้นฐานนี้จะต้องแผ่ไปทั่วประเทศทั้งสังฆมณฑล นั่นเป็นการจัดการศึกษาในแนวราบ

อีกด้านหนึ่ง ก็คือการศึกษาในระดับแนวดิ่ง หรือแนวตั้ง คือการเชิดชูยกฐานะการศึกษาของพระสงฆ์ให้สูงขึ้น เพราะในขณะที่การศึกษาทั่วไปเสื่อมโทรมนั้น ฐานะของพระภิกษุในทางการศึกษา ซึ่งหมายรวมถึงฐานะทางสังคมก็ทรุดลงไปเหมือนกัน การศึกษาของพระสงฆ์ไม่ได้รับการปรับปรุงหลักสูตร การศึกษาจัดไปตามระบบประเพณี มีนักธรรมตรี โท เอก มีเปรียญ ๓ ถึง ๙ ประโยค ผู้ที่ได้เปรียญ ๙ ประโยค แม้จะสูงสุดแล้ว ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นผู้มีการศึกษาสูง แต่เดี๋ยวนี้มีความหมายน้อย แล้วระดับก็ต่ำลงมาเยอะ จนกระทั่งไม่ค่อยมีฐานะทางสังคมที่จะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้นําในทางสติปัญญาได้ พระจะทํางานของตัวเองให้สําเร็จได้ จะต้องมีความเป็นผู้นําทางปัญญาด้วย ฉะนั้นเราจะต้องยกย่องเชิดชูฐานะนี้ขึ้นไป ก็เป็นภาระอีกประการหนึ่ง

นโยบายด้านนี้ก็คือ ยกฐานะทางการศึกษาของพระให้ดีขึ้น ให้สามารถเป็นผู้นําทางสังคม แต่ในเรื่องฐานะนี้ สําหรับทางสังคมจะต้องมองในแง่รูปธรรมด้วยว่า เป็นที่ยอมรับในทางตัวบทกฎหมายแค่ไหน ฉะนั้นในปัจจุบัน ระดับการศึกษาสูงสุดของพระคือเปรียญ ๙ ประโยคนั้น แต่ก่อนถือว่าสูงสุดแล้ว เดี๋ยวนี้เหลือแค่ปริญญาตรี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ยอมรับถึงขั้นนี้ด้วยซ้ำ และเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น ก็ไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ และก็สามารถให้การศึกษาแค่ปริญญาตรีเท่านั้น ปัจจุบันจึงได้มีการออก พ.ร.บ. รับรองให้เปรียญ ๙ และผู้ที่สําเร็จจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้เป็นปริญญาตรี แต่เพียงเท่านี้ย่อมไม่พอในการเป็นผู้นําทางปัญญา

ยิ่งขณะนี้ในต่างประเทศ วงการศึกษาของเขากว้างขวางขึ้น โดยมีการจัดการศึกษาถึงปริญญาโท ปริญญาเอกทางบาลี ทางภาษาตะวันออก และทางพระพุทธศาสนา แม้แต่มหาวิทยาลัยในประเทศ อย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา ก็เปิดสาขาพุทธปรัชญาถึงปริญญาเอก ภาควิชาภาษาตะวันออกก็มีสาขาวิชาบาลีถึงปริญญาโท แล้วก็มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาศาสนาเปรียบเทียบ ก็มีถึงปริญญาโท ทราบว่าพยายามเปิดปริญญาเอกอยู่ สรุปว่าแม้แต่การศึกษาที่ยอมรับกันในสังคมเป็นรูปธรรม การศึกษาของพระสงฆ์ก็ด้อย เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่งจึงจะต้องเชิดชูยกฐานะในด้านรูปธรรมให้มีฐานะสูงขึ้น สนับสนุนมหาวิทยาลัยสงฆ์ให้ดําเนินการศึกษาขั้นสูง ถึงขั้นปริญญาเอก ยกฐานะเปรียญ ๙ รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรด้วย ซึ่งทั้งหมดก็อยู่ในแผนนโยบายแล้ว

เหล่านี้เป็นเรื่องฐานะทางสังคมซึ่งแม้จะเป็นเรื่องสมมติ แต่ในแง่ของส่วนรวมก็มีความสําคัญในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สาระที่แท้จริงต้องอยู่ที่เนื้อตัวของการศึกษาเองที่ว่า ทําอย่างไรจะให้พระมีคุณค่าภายในและเป็นผู้นําทางปัญญาที่แท้จริง โดยเฉพาะในเรื่องการพระศาสนา โดยให้เรียนวิชาทางพระธรรมวินัยเป็นหลักเป็นแกน แล้วก็เสริมด้วยวิชาความรู้อื่น พระภิกษุสามเณรเหล่านี้ เรายอมรับความจริงว่า โดยมากมาจากชนบท ไม่มีพื้นการศึกษามาก่อน ก็จะต้องมีการให้ความรู้ประกอบหรือความรู้สําหรับเป็นเครื่องมือในการที่จะถ่ายทอด หรือสื่อความรู้ทางพระศาสนาแก่ประชาชนด้วย

ทีนี้ในการจัดหลักสูตรเหล่านี้ก็มีความหมายเป็นสองนัย ถ้าผู้เข้าใจนโยบายนี้ยึดมั่นในหลักการ ก็จะโน้มไปในทางที่จะเอาวิชาการสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือ หรือเป็นอุปกรณ์แก่วิชาการทางพระศาสนา แต่ถ้าไม่ระวังให้ดี วิชาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเพียงการให้ความรู้แก่พระเณรที่มาด้วยความต้องการสถานะทางสังคม มาใช้วัดเป็นช่องทางการศึกษา มุ่งมาเรียนเพื่อนําไปใช้ประกอบอาชีพเท่านั้น มันก็ได้ทั้ง ๒ แง่ ซึ่งก็อยู่ที่การเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องตามนโยบาย และผู้ที่เข้าใจหลักการจะต้องพยายามให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ในยุคอย่างนี้ถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราต้องยอมรับความจริง เราจะต้องดําเนินการต่างๆ ด้วยความรู้ความเข้าใจ

อีกด้านหนึ่งก็คือว่า ในยุคนี้สังคมได้เปลี่ยนแปลงใหม่อีก คือคนสมัยใหม่ได้เริ่มหันกลับมาสนใจคุณค่าทางจิตใจ หันมาสนใจพระศาสนามากขึ้น ผิดกับเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้วมา ตอนนั้นสังคมไทยกําลังก้าวไปสู่การตามตะวันตกอย่างเต็มที่ มีความหวังกับความสุขตามความเจริญแบบตะวันตก เมื่อมองดูสังคมขณะนั้นคนมีความแปลกแยกสูง คือ สังคมไทยส่วนหนึ่งถูกแบ่งเป็นสังคมแบบเดิม แบบประเพณี โดยมีสังคมสงฆ์เป็นตัวแทน ตอนนั้น เรื่องราวทางด้านพระศาสนาจะถูกละเลยโดยคนรุ่นใหม่ เขาจะไม่มองเห็นความหมาย แต่เห็นเป็นเรื่องคร่ำครึล้าสมัย คําว่า “สมาธิ” นี่พูดขึ้นมาแล้วคนไม่มีความรู้สึกที่ดี มีความรู้สึกดูถูก หรืออย่างคําว่า “วิปัสสนา” ก็หมายถึงการนั่งทางในเห็นหวยเบอร์ คนสมัยใหม่พูดถึงคําเหล่านี้ด้วยความดูถูกเห็นว่าคร่ำครึ คนไม่ค่อยกล้าพูดถึงคําเหล่านี้ นั่นเป็นภาพเมื่อ ๓๐-๔๐ ปี มาแล้ว เพราะฉะนั้นคนจะแบ่งเป็น ๒ ภาค พวกคนสมัยใหม่ตามตะวันตก แล้วก็คนที่นิยมแบบเก่า คณะสงฆ์นี่ก็คล้ายๆ เป็นตัวแทนที่พยายามจะรักษาระบบเดิมไว้ กลัวมันจะสาบสูญไป คนสองพวกนี้แปลกแยกจากกันจนกระทั่งคณะสงฆ์พูดกับคนสมัยใหม่ไม่รู้เรื่อง ใช้คนละภาษา สื่อกันไม่ได้

ต่อมาในปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอีก สังคมในระดับโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความผิดหวังกับความเจริญทางวัตถุมาก คนส่วนหนึ่งก็หันมาค้นคว้าทางจิตใจ หันมาสนใจศาสนา โดยเฉพาะศาสนาทางตะวันออก คําว่า “สมาธิ วิปัสสนา” เลยกลายเป็นคํานิยมขึ้น มีความหมายในทางเป็นที่น่าภูมิใจ ใครนั่งสมาธิ โอ้โฮ! คนนั้นเก่ง น่าสนใจ อยากจะถามว่า ทําอย่างไร อะไรทํานองนี้ กระแสมันพลิกกลับ

ทีนี้ประเทศไทยที่ตามตะวันตกอยู่แล้ว พอตะวันตกหันมาสนใจสมาธิ สนใจศาสนา ก็เอาบ้าง กอปรกับตนเองก็ประสบกับความผิดหวังด้านวัตถุบ้างเหมือนกัน ก็ได้เหตุปัจจัย ๒ เหตุ ทั้งทางตะวันตกด้วย ทั้งตัวเองก็ประสบปัญหาความผิดหวังทางวัตถุด้วย ก็เลยหันมาสนใจพระพุทธศาสนาและธรรมะกัน ทีนี้ก็มีคนหนุ่มเข้ามาบวชมากขึ้น และจํานวนหนึ่งไม่น้อยจะบวชแบบสละโลกจริงๆ ซึ่งเป็นนิมิตดี แต่คณะสงฆ์ไม่เคยเหลียวแลและไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงไม่ได้ตระเตรียมการศึกษาไว้ต้อนรับคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้น นโยบายใหม่ก็ต้องเตรียมการศึกษาสําหรับคนที่เข้ามาบวชในแบบใหม่นี้ด้วย ซึ่งไม่ใช่แบบประเพณีเดิม คือบวชมาตั้งแต่เป็นเณรอย่างลูกชาวนา เพื่อเป็นช่องทางการศึกษา คนสมัยใหม่พวกนี้เข้ามาเพราะเบื่อหน่ายต่อสภาพชีวิตสังคมปัจจุบัน มีการศึกษาพอสมควร แล้วจึงมาบวช เราอาจจะเตรียมระบบเพื่อสนองความต้องการของคนเหล่านี้อีกส่วนหนึ่ง เหล่านี้เป็นนโยบายใหม่ทางการศึกษาที่จะปรับปรุง ก็ว่ามาเสียยึดยาวพอสมควร

ในฐานะของพวกกระผม ซึ่งเป็นฝ่ายคฤหัสถ์ จะมีบทบาทเข้าไปช่วยสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านการศึกษาแก่พระเณรได้อย่างไรครับ ขอนมัสการกราบเรียนถาม

(พระเทพเวที) หนึ่ง ก็คือ ความรู้ ความเข้าใจ ปัญหาของยุคปัจจุบันเป็นปัญหาที่เริ่มมาจากความรู้ความเข้าใจ คือคนไทยรวมทั้งปัญญาชนไม่เข้าใจสังคมของตนเอง อันนี้เป็นปัญหามากอย่างเรื่องศาสนา มักเข้าใจเป็นเรื่องศาสนาแยกขาดไป ไม่มองว่าที่จริงมันเป็นปัญหาของสังคมโดยส่วนรวม เหมือนเรื่องพระเณร ลูกชาวนาที่เข้ามาบวชเพื่ออาศัยเป็นช่องทางการศึกษา มันเป็นปัญหาของสังคมไทยมากกว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนาด้วยซ้ำ มันไม่ใช่ปัญหาในแง่ศาสนาแท้ๆ เลย ถ้ามองในแง่ศาสนา มันกลับเป็นตัวที่ทําให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อพระศาสนา เป็นตัวเอื้อประโยชน์แก่สังคม แต่สังคมกลับไม่ยอมรับแล้วก็ผลักดันให้มันกลายเป็นปัญหา แล้วคนในระดับที่รับผิดชอบสังคม ไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ และการไม่รู้เรื่องศาสนาโดยทั่วไป ก็ทําให้เกิดปัญหานี้ด้วย เพราะฉะนั้นก็ได้พยายามพูดมานาน เพื่อจะให้คนระดับที่มีการศึกษาเป็นปัญญาชน โดยเฉพาะในวงการศึกษาได้รู้เข้าใจเรื่องนี้ ในระยะ ๒-๓ ปีนี้ ก็มีผู้เข้าใจขึ้นบ้าง ในวงการผู้ที่รับผิดชอบทางการศึกษา ก็มีแนวโน้มบางอย่างที่เข้าใจและอาจมีแนวโน้มที่จะจัดให้การศึกษาแก่พระเณรได้ถูกต้อง

ทีนี้ในแง่สื่อมวลชนก็คือ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ว่าสถาบันสงฆ์คืออะไร ทําหน้าที่อะไรอยู่ในปัจจุบัน มีบทบาทอย่างไรต่อสังคม เพราะประชาชนสมัยใหม่มุ่งหวังแต่บทบาททางศาสนาว่า ศาสนาจะทําอย่างไร แต่ศาสนาขณะนี้ไม่ได้ทําหน้าที่เฉพาะในแง่ศาสนา มันทําหน้าที่ในด้านการศึกษา ในด้านปัญหาสังคมทั่วไปด้วย แม้แต่มองในแง่สังคมสงเคราะห์ มันก็มีบทบาทเป็นสถาบันที่กําลังทํางานสังคมสงเคราะห์อยู่อย่างกว้างขวางที่สุด ชนิดที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่ากําลังทํา

กระผมยังมองไม่เห็นชัดนักว่า เราจะแก้ปัญหาการศึกษาของพระเณรชนบทได้อย่างไร เพราะมีความรู้สึกว่าวัดก็มีจํานวนมาก พระเณรก็มีนับแสนรูป อยากนมัสการกราบเรียนถาม ขอให้ท่านช่วยแจงให้เป็นรูปธรรมสักนิดว่า เราจะแก้ปัญหาการศึกษาของพระเณรในชนบทได้อย่างไร

(พระเทพเวที) ก็เพียงแต่คณะสงฆ์เอาใจใส่ในแง่การศึกษาขึ้นมา ก็จะได้ผลเลยทันที คือขณะนี้เราเน้นกันในแง่การก่อสร้าง ถือเป็นเครื่องวัดความเจริญของวัด วัดในชนบทเสนอผลงานแต่ละครั้ง ก็มีแต่การสร้างโบสถ์ วิหาร สร้างศาลา เห็นว่าสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เป็นการพัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้า โดยไม่มองด้านการศึกษา ทีนี้ถ้าเราเปลี่ยนแนวโน้มให้มาเน้นด้านการศึกษา มันก็จะได้ผลทันที เพราะระบบการปกครองสงฆ์อันที่จริงยังมีอยู่ ไม่ถึงกับสลายตัว แม้ว่ามันจะมีปัญหามากแล้วก็ตาม พระ เจ้าอาวาส ในชนบทไม่ค่อยมีการศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงทําให้มีตัวถ่วงการศึกษาอยู่ แต่อย่างน้อยการที่ให้ความเอาใจใส่สนใจมากขึ้น ก็เป็นแนวโน้มที่จะทําให้ดําเนินไปสู่การแก้ปัญหาได้ อย่างน้อย พระ เจ้าอาวาส ในชนบทจะต้องหันมาเน้นเรื่องการศึกษาขึ้นมา พระเมื่อบวชเข้ามาจะต้องให้มีการศึกษา พระผู้ใหญ่จะต้องถามว่าที่วัดมีการศึกษาอย่างไร มีพระเณรเท่าไหร่ กําลังเรียนอะไรกัน แค่นี้ มันก็เริ่มแล้ว

ด้านประชาชนที่ทําบุญกันในเมืองไทยนี้ทําบุญโดยมองว่า อยากได้บุญมากก็ไปสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างพระพุทธรูป เอาแต่การก่อสร้าง นี่เป็นความเบี่ยงเบนและความผิดเพี้ยนมาก เดี๋ยวนี้มองการทําบุญแต่รูปแบบนี้กันทั้งนั้น ถ้าเราถอยหลังไปตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง การทําบุญตอนนั้นเน้นเรื่องการศึกษามาก จนกระทั่งในหลวงนําเอาราชบัณฑิตมาสอนพระในวังให้มีการศึกษาเล่าเรียน การถวายปัจจัยเกี่ยวกับการศึกษาถือว่าได้บุญมาก ประเพณีนี้สืบเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็ยังคงมีอยู่ ยังมีเรื่องเล่าสนุกๆ กันว่า พระเณรมาเรียนในวัง พระองค์ต้องเสด็จไปเสด็จมาผ่าน บางทีเสด็จไปพบพระที่เรียนหนังสือหยุดพักมาเตะตะกร้อกัน มีผู้กราบทูลในหลวง ในหลวงก็ตรัสว่า เจ้ากูจะเล่นบ้างก็ช่างเจ้ากูเถอะ เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงถึงการเอาใจใส่ต่อการศึกษา ซึ่งประเพณีเหล่านี้ไม่รู้หันเหเลือนรางไปได้อย่างไร ดังนั้นยุคนี้จึงต้องฟื้นฟู

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คือ การปรับปรุงระบบการปกครองคณะสงฆ์ การปกครองระบบที่เป็นอยู่นี้ย่อหย่อนอ่อนแอมาก สิ่งที่สําคัญก็คือตัวกฎหมายคณะสงฆ์ หรือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ถ้าขืนปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้การแก้ไขปรับปรุงพระศาสนาก็เป็นไปได้ยาก

ตามความเห็นของท่าน เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น ท่านคิดว่า ควรปรับปรุงในส่วนไหน หรือว่ายกร่างกันใหม่ทั้งฉบับเลย

(พระเทพเวที) จุดสําคัญก็คือว่า ให้มันได้งานได้การ อาตมาไม่ได้ถือสำคัญว่าจะต้องให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้มันได้งานได้การแล้วกัน คือเราอย่าไปสนใจว่า จะไปเอาพระราชบัญญัติ ๒๔๘๔ มาหรือฉบับไหนมา บางคนก็ไปแง้มๆ เอาบางมาตรา เราต้องคํานึงว่า จุดหมายของเราคืออะไร คือต้องการให้ได้งานได้การแล้วก็เน้นการศึกษา เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จุดมุ่งหมายนี้แล้ว เราก็ร่างหรือแก้ไขให้เป็นไปตามเป้าหมาย คือเราเอาเป้าสิ่งที่ต้องการก่อน ไม่ใช่ไปติดระบบรูปแบบว่ามันควรจะเป็นยังไง ทีนี้ระบบรูปแบบก็มาตามความต้องการ ทําอย่างไรจะให้ได้การศึกษา ได้งานได้การ

ปัญหาปัจจุบันอยู่ที่ มีแต่มหาเถรสมาคมเป็นศูนย์รวมอํานาจที่เดียว ไม่มีมือเท้า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์กําหนดให้มีแต่มหาเถรสมาคมเป็นศูนย์รวมอํานาจทั้ง อํานาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไม่กระจายอํานาจ นอกจากไม่กระจายอํานาจแล้ว ผู้ที่เป็นกรรมการของมหาเถรสมาคมก็ยังอยู่ในวัยที่ไม่เอื้อต่อการทํางาน และที่สําคัญก็คือว่า ไม่มีแขนขา ไม่มีองค์กรที่จะมารับช่วง ก็เท่ากับทําให้เหมือนเป็นอัมพาต เพราะฉะนั้น ถ้ายังให้มหาเถรสมาคมอยู่ในลักษณะนี้ ก็จะต้องให้มีองค์กรที่ทํางานรับช่วงชัดเจน กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้ กําหนดให้มหาเถรสมาคมเป็นศูนย์รวมอํานาจทั้ง ๓ และบอกว่ามหาเถรสมาคมจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาทํางานอะไรก็ได้ แต่ไม่บังคับ มหาเถรสมาคมก็เลยเพลินๆ ไปหรือเห็นว่าไม่จําเป็นต้องตั้ง ก็เลยปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

เท่ากับว่าจริงๆ แล้ว อาจจะไม่แก้กฎหมายก็ได้ใช่ไหมครับ เพียงแต่ใช้วิธีการอีกวิธีหนึ่ง นั่นคือ การตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทํางานรับช่วงต่างๆ

(พระเทพเวที) เราหวังไม่ได้ ถ้ากฎหมายไม่ช่วย เพราะท่านไม่ตั้ง และในทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ มันก็เป็นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่กฎหมายให้ตั้งได้ ท่านก็ไม่ตั้ง หรือตั้งก็ตั้งในเรื่องที่มันไม่ใช่ตัวงานตัวการ และวิธีตั้งก็ไม่ได้ผล เพราะท่านไปเอาตัวบุคคลในมหาเถรสมาคมเป็นอนุกรรมการกันเอง เพราะฉะนั้นกฎหมายจะต้องช่วยในเรื่องเหล่านี้ คือ ถ้ายังจะยึดเอากฎหมายเก่า ก็ต้องแก้ไขปรับปรุงกําหนดลงไปเลยว่า ต้องมีคณะอนุกรรมการหรือคณะกรรมการต่อไปนี้ เช่น คณะกรรมการการศึกษา คณะกรรมการเผยแพร่ คณะกรรมการวัฒนธรรมและเยาวชน หรืออะไรก็แล้วแต่ เอาว่าให้กฎหมายกําหนดเข้ามาว่า “ต้องมี” และกําหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นกรรมการเหล่านั้นว่าจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้...อะไรแบบนี้ คือให้เป็นเรื่อง “ต้อง” และการงานก็จะเกิดมีขึ้น ให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้กําหนดนโยบายหรืออนุมัติเรื่องต่างๆ ก็ยังดี นี่ก็เป็นแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งกฎหมายนี้เมื่อจะแก้ไข ก็ต้องไปแก้กันที่รัฐสภา กฎหมายคณะสงฆ์เป็นกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ เป็นกฎหมายของบ้านเมือง ไม่ใช่กฎหมายของคณะสงฆ์เอง

อย่างไรก็ตาม มหาเถรสมาคมริเริ่มได้ แต่ก็ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการไปดําเนินการ คือ เวลาดําเนินการจริง เป็นเรื่องของรัฐ รัฐถ้าจะเอื้อเฟื้อก็ต้องมาถามคณะสงฆ์ว่าต้องการอย่างไร เราจะเห็นว่า การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ที่ผ่านมา ก็มีกระแสที่ทําท่าจะแรงเหมือนกัน มีรัฐมนตรีหลายท่านที่ทําท่าเอาจริงเอาจังแล้วก็เงียบๆ กันไป เพราะว่าทางรัฐจะทําอะไรก็ต้องคํานึงถึงทางคณะสงฆ์ด้วย ซึ่งตามปกติก็คงต้องไปขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ปัญหาก็เลยอยู่ที่มหาเถรสมาคมเอง คล้ายๆ ว่า ทางฝ่ายอื่นๆ ก็อยากให้แก้ แต่มหาเถรสมาคมนั่นเองแหละที่ไม่อยากแก้ เรื่องก็เลยยาก ทีนี้ก็อยู่ที่รัฐเองด้วย ถ้าทางผู้ปกครองบริหารบ้านเมืองมีความเข้าใจเรื่องพระศาสนา ก็จะแก้ไขง่ายขึ้น ปัญหาขณะนี้ก็คือ ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ฝ่ายบริหารบ้านเมืองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องพระศาสนา ดังนั้น เขาก็ไม่รู้ว่าจะทําอย่างไรจึงจะดี เลยสรุปเอาว่า เรื่องของพระ .....พระก็ทํากันไป แทนที่จะมองเห็นจุดที่ควรจะแก้ไข ผิดกับยุคก่อนนี้ ที่พระเจ้าแผ่นดินท่านเป็นผู้ที่รู้เข้าใจเรื่องของพระศาสนาเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นก็รู้จุดว่าจะแก้ไขอย่างไร บางทีก็เอื้อมมือมาแก้ไขเสียเอง เกี่ยวกับ พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับปัจจุบัน เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์เป็นเผด็จการ แกก็จัดการเองเสียเลย แต่เข้าใจว่า จะต้องมีพระที่เข้าไปร่วมคิดกับจอมพลสฤษดิ์

สมมุติว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์แก้ไม่ได้ จะก่อผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาภายในคณะสงฆ์มากน้อยขนาดไหน

(พระเทพเวที) มันก็มีตัวเอื้อน้อยลง การทํางานก็ยากขึ้น จะต้องทํากันด้วยความยากลําบาก และทําอย่างอ้อมไปอ้อมมาได้ผลไม่เต็มที่ อย่างเดี๋ยวนี้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ยังไม่ได้แก้ไข ก็ต้องมี พ.ร.บ. เฉพาะเรื่องอย่างอื่นขึ้นมา เช่น พ.ร.บ. รับรองวิทยฐานะ ซึ่งก็มาช่วยเป็นตัวเอื้อต่อการปรับปรุงทางการศึกษาขึ้นบ้าง แต่พร้อมกันนั้นมันก็ทําให้ความเป็นเอกภาพในคณะสงฆ์อาจจะกระทบกระเทือนไปบ้าง

สมมุติว่า เราจะนําปัญหาต่างๆ ภายในคณะสงฆ์ ในลักษณะมาจัดลําดับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการปกครอง ปัญหาการศึกษา ปัญหาพระประพฤตินอกพระธรรมวินัย หรือปัญหาการเกิดสํานักต่างๆ ขึ้นมา หากมาจัดลําดับก่อนหน้าหลังแล้ว ท่านคิดว่าปัญหาอะไรเป็นอันดับหนึ่ง สอง สาม

(พระเทพเวที) ก็ต้องมองเป็นปัญหาระยะสั้น ปัญหาระยะยาว และทําคู่กันไป ปัญหาระยะยาวก็คือ การศึกษาของพระภิกษุสามเณร ซึ่งต้องตั้งใจดําเนินการแก้ไขปรับปรุง และพร้อมกันนั้น ก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเป็นเรื่องๆ ไป อย่างเช่น ปัญหาทางการปกครอง ในเมื่อเรามีองค์กรปกครอง เราก็ควรกระตุ้นให้ทําหน้าที่ให้แข็งขัน พระที่ทําเด่นในปัญหานอกรีตนอกรอย พอการปกครองแข็งขึ้น ก็จะเริ่มแก้ปัญหาอย่างได้ผลทันที เราคงไม่ต้องถึงกับมาเรียงปัญหาระยะสั้น ระยะยาว ขอให้ทําให้ถูกแง่เท่านั้นเอง โดยเฉพาะการศึกษาจะเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาทั้งหมด คือถ้าเราไม่แก้ปัญหาด้านการศึกษาแล้ว การแก้ปัญหาช่วงสั้นๆ ก็จะไม่ได้ผลจริง คือต้องแก้กันอยู่นั่นแหละ การปกครองก็ต้องจับต้องลงโทษกันอยู่เรื่อยไป เพราะเป็นการใช้อํานาจและไม่ได้แก้ที่ตัวคน

ทีนี้สําหรับคณะสงฆ์ที่ผ่านมาในแง่หนึ่งคือ ไม่มีนโยบาย แต่ไปมุ่งในแง่ปกครอง เน้นในแง่ที่ว่าจะลงโทษอะไรต่ออะไร ซึ่งก็ไม่ได้ผล เพราะว่าการพระศาสนานั้นอยู่ได้ด้วยพระคุณ การแก้ปัญหาระยะยาวต้องแก้ด้วยพระคุณ เพราะไม่มีอํานาจที่จะไปจัดการอะไร ต้องอาศัยบ้านเมือง ถ้ารัฐไม่ร่วมเสียอย่างก็ลําบาก ทีนี้ตัวเองไปมุ่งในแง่การปกครอง จะลงโทษอย่างเดียวก็ไม่ได้ผล มีแต่ความขัดแย้ง จิตใจก็ไม่กลมกลืน ไม่สมานกัน การแก้ปัญหาของพระต้องแก้ที่ตัวคน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างปัญหาการปกครองที่สัมพันธ์กับการศึกษา แม้แต่ในวัด อย่างการศึกษาระบบประเพณีนักธรรมบาลี คณะสงฆ์ต้องการให้พระเณรเรียนในระบบนี้ แต่พระเณรเบื่อระบบนี้ ต้องการเรียนอย่างอื่นที่สนองความต้องการของตัวเอง ซึ่งระบบเหล่านั้น คณะสงฆ์ไม่ต้องการ บางวัดก็ขัดขืนเอาโทษกับพระเณรที่ลักลอบหนีไปเรียน ก็เกิดความขัดแย้งกันขึ้น สิ่งที่พระเณรต้องการ คณะสงฆ์ไม่เอา ส่วนที่คณะสงฆ์จะให้รับเอา พระเณรไม่ต้องการ เกิดความขัดแย้งกันขนานใหญ่ พอเจ้าอาวาสจะให้พระเณรเรียนในระบบของคณะสงฆ์ ก็ต้องบังคับ ก็ฝืนใจแล้วความเป็นปฏิปักษ์ก็เกิดขึ้น พระเณรต้องการเรียนสิ่งที่คณะสงฆ์ห้ามเมื่อขืนไปเรียนก็อาจจะถูกไล่ออกจากวัด ก็ฝืนใจกันขัดใจกัน พระเณรไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อเจ้าอาวาส เห็นเจ้าอาวาสเป็นศัตรู ไม่ได้เห็นเป็นผู้ที่มีพระคุณ แค่นี้การปกครองก็เสีย

การศึกษาในระบบของวัดแต่โบราณนั้น เราเรียกเจ้าอาวาสเป็นอาจารย์ เดี๋ยวนี้ก็ยังเรียกอยู่ มันเป็นหลักฐานที่แสดงว่า เจ้าอาวาสนั้นเป็นอาจารย์ เป็นผู้สอนให้ความรู้และการศึกษาอบรม อุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้มีพระคุณแก่ศิษย์ ให้การศึกษาให้ชีวิต เมื่อเขาออกไปจากวัดแล้ว ไปทํามาหาเลี้ยงชีพ เขาก็สํานึกพระคุณว่า เราได้ชีวิตดีงามเจริญก้าวหน้า เพราะวัด เพราะหลวงพ่อ แล้วก็มีความผูกพันกันทางจิตใจ อยู่ในวัดก็เป็นอาจารย์เป็นครู ออกจากวัดไปแล้วก็มีความผูกพันกับวัด กับพระเจ้าอาวาส อุปัชฌาย์ อันนี้ก็เป็นนโยบายอันหนึ่งในแผนการศึกษา คือจะต้องให้เจ้าอาวาส หรือพระที่เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้มีพระคุณแก่ภิกษุสามเณรในแง่ของการศึกษา ไม่ใช่มาเป็นปฏิปักษ์ทางการศึกษา ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาแก่การปกครองอีกชั้นหนึ่ง

ท่านมีอะไรจะเสนอแนะเป็นพิเศษที่จะฝากไว้แก่พุทธศาสนิก หลังจากที่ต้องเผชิญกับความสับสนกรณีสันติอโศก

(พระเทพเวที) ตอนนี้ไม่ได้นึกเฉพาะว่าฝากอะไร แต่มันก็รวมอยู่ในเรื่องที่พูดมาแล้ว คือว่าตามหลักพุทธศาสนาจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เข้ามา โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาต่างๆ โดย โยนิโสมนสิการ การใช้สติปัญญาใคร่ครวญพิจารณาสืบสาวหาเหตุผลแยกแยะเรื่องราวนั้นๆ ให้เห็นเหตุปัจจัยชัดเจน มีความรู้จริงในเรื่องนั้นๆ อันนี้เป็นหลักการสําคัญในการที่เราจะดําเนินไปสู่การแก้ปัญหาได้ สมัยนี้มักเน้นคําว่า “การคิดเป็น” การศึกษาก็พยายามเน้นเรื่อง “การคิดเป็น” ในทางพุทธศาสนาก็เน้นอยู่แล้ว คือให้มีโยนิโสมนสิการ การไม่ตื่นตูมไป การพยายามศึกษาค้นคว้าเรื่องราวให้ชัดเจน การมีความตื่นตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและร่วมกันในการแก้ปัญหา การมองพระศาสนาว่าเรามีส่วนร่วมด้วย เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยเฉพาะก็คือ ต้องมองเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเป็นปัญหาของพระศาสนา ไม่ใช่มองไปเป็นเรื่องตัวบุคคลหรือว่าเรื่องของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่ต้องมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกระทบกระเทือนพระศาสนาอย่างไร จะทํายังไงให้หมดปัญหา การมองต้องมองแบบการแก้ปัญหาของพระศาสนา ไม่ใช่คอยดูว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร กลุ่มนั้นเป็นอย่างไร คนนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่มองอย่างนั้น

การมองอย่างนั้น เป็นท่าทีที่ไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เราจะต้องมองว่านี่เป็นปัญหาของพระศาสนา เราจะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อให้พระศาสนาหมดปัญหา ไม่มีความกระทบกระเทือน คือมองว่า เรื่องยุติ ปัญหาจบหรือเปล่า ปัญหาที่เรียกว่าเสร็จสิ้นก็คือว่า ปัญหาของพระศาสนาหมดไป ไม่มีสิ่งที่จะกระทบกระเทือนพระศาสนา ถ้าอย่างนั้นเราเรียกว่า แก้ปัญหาพระศาสนา เพราะฉะนั้นให้มองไปที่ตัวพระศาสนา ไม่ใช่มองไปที่คนกลุ่มนั้น ว่าจบลงในเงื่อนไขแบบไหน ถ้ามองอย่างนั้นแล้วก็เป็นท่าทีที่ไม่ถูกต้อง ตอนนี้คนมักมองในแง่นี้ มองไปที่ตัวบุคคลนั้นจะเป็นยังไง กลุ่มนั้นจะเป็นยังไง แม้แต่มองว่าใครจะชนะใครจะแพ้ก็ยังมี อย่างนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาของสังคม ถ้าเรามีจิตใจอย่างนี้ สังคมก็ลําบาก ต้องมองว่าตัวปัญหานี้เป็นปัญหาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นเรื่องที่เราจะให้ความสําคัญที่แท้จริง คือตัวพระศาสนาว่าเป็นอย่างไร ดูว่าพระศาสนาเป็นอย่างไร และปัญหาของพระศาสนาหมดไปหรือไม่ ถ้ามองได้อย่างนี้แล้วมันจะเป็นจิตใจที่ถูกต้อง มีจิตใจที่กว้างขวางพอที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ต่อพระศาสนา

อีกประการหนึ่ง นึกขึ้นมาได้ คือว่า การที่คนไม่ได้ศึกษาเรื่องราวอย่างจริงจัง เช่น เรื่องของการประพฤติปฏิบัติ เราก็มองว่า สันติอโศกนี่ก็ดี ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัด ถืออย่างนั้นถืออย่างนี้ แต่ว่าในแง่ของชาวพุทธจะต้องวิเคราะห์เลยว่า สันติอโศกประพฤติอย่างไรที่ว่าเคร่งครัด ทําอะไรบ้าง แล้วการเคร่งครัดอย่างนั้นมันเข้าหลักการของพระพุทธศาสนาแค่ไหน พระพุทธศาสนายอมรับไหม เอามาวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง ว่าการปฏิบัติถือเคร่งครัดอย่างนี้ ในแง่หลักการพระพุทธศาสนาเห็นเป็นยังไง ถูกต้องแค่ไหน อันนี้รู้สึกว่าไม่ค่อยจะมองกันอย่างจริงจัง หรือวิเคราะห์อะไรกันเลย มีแต่เอ้อ เขาปฏิบัติดีนี่ จบแค่นั้นเอง ไม่เคยวิเคราะห์ว่า เป็นความดีจริงตามหลักการของพระพุทธศาสนาแค่ไหนเพียงไร แล้วก็ในแง่ของผลดีต่อชีวิตและสังคมเป็นยังไง เคยวิเคราะห์หรือเปล่า อันนี้ก็คือความที่ว่าสัมผัสเรื่องอย่างผิวเผินแล้วก็ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างแท้จริงในการขบคิดเพื่อแก้ปัญหา อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่เป็นลักษณะของปัญหาในสังคมปัจจุบัน

แม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีการศึกษาก็มีลักษณะอย่างนี้ด้วย เมื่อได้สดับฟังข่าวสารจากสื่อมวลชนแล้วก็ไม่ได้วิเคราะห์ลึกซึ้งลงไป ไม่ตามหาความจริงก็พูดแสดงความเห็นออกมา อันที่จริงยังต้องมีการวิเคราะห์อีกหลายอย่าง ขบวนการสันติอโศกนั้น เมื่อเป็นเรื่องที่เด่นขึ้นมาในการพิจารณาแล้วก็สามารถวิเคราะห์โยงต่อไปได้หลายเรื่อง วิเคราะห์ในแง่จิตวิทยา ในแง่ของการจัดกลุ่มอะไรต่างๆ จะวิเคราะห์โยงจากเรื่องสันติอโศกไปหาสังคมก็ได้ อย่างที่พูดตอนต้นแล้วว่า ปัญหาสันติอโศกเกิดขึ้นเพราะมีสภาพความเสื่อมโทรมอยู่แล้ว ทั้งความเสื่อมโทรมทางด้านพระศาสนา และความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมทั่วไป สภาพอะไรบ้างที่เอื้อต่อการเกิดกรณีสันติอโศก หรือแม้แต่การเกิดขบวนการอะไรต่างๆ เป็นเรื่องที่หยิบมาวิเคราะห์ได้เยอะ

ก็ขอฝากไว้ให้พิจารณา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.