พุทธศาสนากับชีวิตและสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พุทธศาสนากับชีวิตและสังคม

ชาวพุทธที่เป็นนิสิตนักศึกษาทั้งหลาย

อาตมาขออนุโมทนา คือ แสดงความชื่นชมยินดีต่อท่านทั้งหลาย ในการที่นิสิตนักศึกษาชาวพุทธ หลายถิ่นหลายสถาบัน ได้มาพบปะพร้อมกันในครั้งนี้ การมาพบปะพร้อมเพรียงกันของคนดี ตามหลักพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิริมงคล คือ เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความดีงามและความเจริญก้าวหน้า และวันนี้ก็เป็นวันหยุด วันเฉลิมพระชนมพรรษา การที่ได้ใช้วันหยุดในทางที่ดีงามก็เป็นการเพิ่มพูนสิริมงคลนั้น เป็นการย้ำถึงการกระทำความดีมากยิ่งขึ้น

หัวข้อที่ตั้งกันไว้สำหรับอาตมาจะพูดในวันนี้ เป็นหัวข้อที่มีความหมายกว้างขวางมาก บอกว่า ศาสนากับชีวิตและสังคม

ธรรมดาแล้วศาสนาก็เป็นเรื่องของชีวิตและสังคม ศาสนาเกิดขึ้นก็ด้วยชีวิตและสังคมนี่เองต้องการ เช่น อย่างน้อยชีวิตก็ต้องการศาสนาไว้ปลอบใจ หรือพูดอย่างรวบยอด ก็คือ แก้ไขทุกข์ทั้งหลาย และสังคมก็ต้องการศาสนา อย่างน้อยเพื่อให้มีหลักสำหรับให้คนทั้งหลายอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคม ซึ่ง จากสาระสำคัญนี้ เราสามารถพูดขยายความออกไปได้หลายแง่หลายอย่าง

อย่างไรก็ดี ศัพท์ว่าศาสนาก็ดี สังคมก็ดี ที่เราใช้กันอยู่และเข้าใจกันอยู่นั้น เป็นความหมายหรือศัพท์แบบสมัยใหม่ แม้แต่คำว่า "ศาสนา" ก็ใช้ไม่เหมือนกันทีเดียวกับคำเดิมที่พระพุทธเจ้าใช้ แม้จะมีแง่ความหมายส่วนหนึ่งที่เหมือนกันอยู่เป็นแกน หรือเป็นหลักแล้ว ขยายความจากนั้นกว้างออกไป แต่คำว่า ‘ศาสนา’ ก็ยังไม่ห่างไกลนัก

ส่วนคำว่า ชีวิตและสังคม รู้สึกว่าเป็นคำสมัยใหม่มากสักหน่อย โดยเฉพาะสังคมนี้ก็เป็นศัพท์ที่ใช้กันในสมัยปัจจุบัน ถ้าเราหันไปมองคำสอนของพระพุทธศาสนา ลองค้นดูคำว่า สังคม อยู่ที่ไหนกัน ก็มีบ้าง เช่น อย่างที่บอกว่า ทุกฺโข พาเลหิ สงฺคโม1

สงฺคโม ก็คือ สังคม แต่คำสังคมในภาษาบาลี ท่านแปลว่า การไปอยู่ร่วม หรือการไปคบกัน

ข้อความนี้แปลว่า การเกี่ยวข้องกับคนพาลทั้งหลายเป็นทุกข์ อย่างในพุทธภาษิตนี้ ความหมายของสังคมก็เป็นศัพท์ธรรมดาไป ในสมัยพุทธกาล สงฺคโม ไม่ได้มีความหมายกว้างอย่างปัจจุบัน

1ขุททกนิกาย ชาดก ๒๗/๑๒๙๑/๒๖๕
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.