เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์ (รวมทั้งบทความพิเศษและบทพิสูจน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คําปรารภ

หนังสือ "เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์" นี้ เดิมมีเฉพาะส่วนที่เป็นคำให้สัมภาษณ์และคำตอบชี้แจง ซึ่งได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปีเศษมาแล้ว ต่อมาในช่วงใกล้ปีใหม่ ๒๕๓๓ นี้ ได้มีพุทธศาสนิกชนบางท่าน เห็นว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังอยู่ในวงแคบ จึงได้ขอพิมพ์แจกให้กว้างขวางออกไป และเนื่องจากในช่วงเวลานั้น ทางสันติอโศกได้พิมพ์หนังสือประเภทที่สร้างความเข้าใจผิด ต่อพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงได้นำเอาบทความพิเศษเรื่องโพธิรักษ์ทำผิดอะไร รวมเข้าในการพิมพ์ครั้งใหม่นั้นด้วย

ในระยะเวลาเดียวกันนั้น มูลนิธิพุทธธรรม ได้แจ้งความประสงค์จะขอพิมพ์หนังสือ "เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์" ขึ้นเผยแพร่ด้วย ครั้งนั้นผู้เขียนได้ผัดไว้ว่าจะขอปรับข้อความเล็กน้อยแห่งหนึ่ง ประมาณ ๔-๕ บรรทัด ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก่อน แต่เนื่องจากงานด้านอื่นที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ ยังคั่งค้างต้องเร่งรัดจัดทำเป็นอันมาก ผู้เขียนจึงไม่อาจให้ความเอาใจใส่แก่งานด้านแก้ปัญหาอย่างนี้ได้ จนบัดนี้ เวลาได้ผ่านล่วงไปถึงประมาณ ๗ เดือนแล้ว ทางมูลนิธิพุทธธรรมก็ได้ทวงและเร่งเร้ามากขึ้น ผู้เขียนจึงได้ปลีกเวลามาปรับปรุงต้นฉบับหนังสือนี้ ให้แก่มูลนิธิพุทธธรรม

อย่างไรก็ตาม กว่ามูลนิธิพุทธธรรมจะได้ต้นฉบับหนังสือนี้ไปพิมพ์ ทางสันติอโศกก็ได้พิมพ์หนังสือที่สร้างความเข้าใจสับสนไขว้เขว ต่อหลักการของพระพุทธศาสนา อย่างที่เรียกว่าทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ขึ้นเผยแพร่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย รวมทั้งหนังสือชื่อ "วิเคราะห์พระเทพเวที กรณีโพธิรักษ์" โดย ว. ชัยภัค ซึ่งยกเอาการโจมตีบุคคลขึ้นเป็นจุดเด่น แต่ที่จริงเรื่องบุคคลที่ยกขึ้นมาพูดมากมายนั้นเป็นเพียงฉาก ซึ่งยกขึ้นมาตั้งเป็นเครื่องกำบังการกระทำ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้ของพวกตน คือ การมุ่งหน้าเดินงานบิดเบือนหลักการของพระพุทธศาสนาต่อไป และพยายามกระทำอย่างนั้นให้ได้ผลในทางที่ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่น่ารังเกียจไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือการยืนหยัดในการสร้างหลักฐานเท็จเพิ่มขึ้น ด้วยการนำข้อความในพระไตรปิฎกไปอ้างให้ผิดเพี้ยน คลาดเคลื่อนหรือด้วยวิธีอำพราง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งต่อหลักการของพระพุทธศาสนา และต่อคัมภีร์พระพุทธศาสนา

ท่านที่หวังดีบางท่านอ่านหนังสือนั้นแล้ว ได้มาแสดงความเป็นห่วงต่อผู้เขียน และกระตือรือร้นที่จะทำการตอบโต้อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้เขียนจึงได้ชี้แจงให้มองเห็นเป้าหมายที่แท้จริงของหนังสือนั้น เพื่อไม่ให้หลงประเด็น และให้เห็นว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตัวพระเทพเวที แต่คือเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ หลักการที่เรียกว่าพระธรรมวินัย สิ่งที่จะต้องช่วยกัน ไม่ใช่การปกป้องพระเทพเวที แต่จะต้องศึกษาให้รู้เท่าทันว่า ท่านโพธิรักษ์และคณะของท่านดำเนินวิธีการปลอมแปลง และปลอมปนคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่เรียกว่า ก่อปรัปวาทอย่างไร และเมื่อรู้เท่าทันแล้ว ชาวพุทธจะช่วยกันปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาในด้านเนื้อหา หรือหลักการไว้ได้อย่างไร สำหรับกรณีโพธิรักษ์นี้ การสร้างความรู้ความเข้าใจยังคงเป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อผู้เขียนชี้แจงสร้างความเข้าใจไป ก็กลายเป็นว่าได้มีข้อเขียนขึ้นอีกชิ้นหนึ่งชื่อว่า "วิเคราะห์พระเทพเวที" บทพิสูจน์ขบวนการโพธิรักษ์

เมื่อการพิมพ์หนังสือ "เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์" ของมูลนิธิพุทธธรรม ได้ล่าช้ามาจนถึงช่วงเวลานี้แล้ว ก็เห็นว่าควรจะทำให้หนังสือนี้มีเนื้อหาที่ทันต่อเหตุการณ์ และช่วยให้ผู้อ่านรู้เท่าทันการกระทำของท่านโพธิรักษ์พร้อมทั้งคณะของท่าน ที่ดำเนินต่อมาในก้าวใหม่ๆ ด้วย จึงได้นำเนื้อหาสั้นๆ มาเพิ่มไว้ด้วย ๒ แห่ง คือ

- หน้า ๕๖-๕๙ หมายเหตุ: ข่าวคืบหน้า - หลักฐานเท็จ "พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์" (ต่อท้าย บทความพิเศษ: โพธิรักษ์ทำผิดอะไร)

- หน้า ๙๕-๑๐๖ เรื่องล่าสุด: เนื้อแท้ของปัญหาโพธิรักษ์ หรือบทพิสูจน์ขบวนการสันติอโศก (ตัดตอนจากหนังสือเล่มใหม่ "วิเคราะห์พระเทพเวที" บทพิสูจน์ขบวนการโพธิรักษ์)

อนึ่ง ในระยะนี้ มีข่าวร้ายในวงการพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นบ่อยมาก เป็นเหมือนดังคลื่นใหญ่ที่โถมเข้ามาซัดกระแทกฝั่งตลิ่งแห่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะข่าวที่ปรากฏที่โน่นที่นี่เป็นระยะๆ ไม่ขาดสาย เกี่ยวกับคนซึ่งครองเพศพระภิกษุ ทำการชั่วร้ายเลวทรามลวงโลก อย่างที่เรียกรวมๆ ว่า ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย

พฤติการณ์ของภิกษุชั่วทราม ที่ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยเหล่านี้ก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ทำพระธรรมวินัยให้วิปริตอย่างกลุ่มของท่านโพธิรักษ์นี้ก็ตาม ล้วนเป็นภัยร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น โดยเฉพาะ มาประดังเกิดขึ้นทั้งสองอย่างในช่วงเวลาร่วมสมัยกันนี้ เหมือนดังว่าคนทั้งสองพวกนั้นสมคบกันมุ่งเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนา แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ ก็เป็นเครื่องฟ้องหรือส่อแสดงถึงความเสื่อมโทรมที่ได้เป็นมา และความย่อหย่อนอ่อนแอที่เป็นไปอยู่ ในวงการและในการดำเนินกิจการพระพุทธศาสนา

พวกที่ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งทำร้ายต่อหลักการของพระพุทธศาสนาโดยตรง มักลอบทำการอย่างล้ำลึก หลอกให้คนตายใจได้ง่าย ถ้าไม่สังเกตหรือไม่รู้เท่าทัน ก็มองไม่เห็น จึงจำเป็นต้องเน้นในด้านการชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจกันมาก ว่าเขาทำอะไรอยู่ และสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความชั่วร้ายเสียหายอย่างไร ส่วนพวกประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย พฤติกรรมชั่วร้ายปรากฏออกมาภายนอก คนทั่วไปมองเห็นได้อยู่แล้วว่าเสียหายชั่วร้ายอย่างไร จึงไม่ต้องมาเสียเวลาชี้แจงอธิบายสร้างความรู้ความเข้าใจกันอีก แต่ก็ต้องเอาใจใส่ในแง่ที่ว่า จะช่วยกันกระตุ้นเร่งเร้าให้มีการจัดการแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา ก็คือจิตสำนึกและท่าทีแห่งความรู้สึกของชาวพุทธต่อพระพุทธศาสนา ชาวพุทธทุกคนจะต้องมีความรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติร่วมกัน ของพุทธบริษัททุกคน จะต้องไม่มองเห็นตนเองเป็นคนนอก แล้วเข้าใจผิดว่า พระภิกษุเป็นตัวพระพุทธศาสนาหรือเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ยิ่งภิกษุที่ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย หรือทำพระธรรมวินัยให้วิปริตด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาได้เลย เพราะถ้าเขามองเห็นพระพุทธศาสนา เป็นสมบัติที่มีค่าของเขาแล้ว เขาจะต้องไม่ทำกับพระพุทธศาสนาอย่างนั้น เขาเป็นคนร้าย ที่ลักลอบทำลายทรัพย์สมบัติของชาวพุทธต่างหาก ชาวพุทธจะต้องมองว่าคนทั้งสองพวกนั้น เป็นคนร้ายที่แอบแฝงเข้ามาทำลายสมบัติส่วนรวมของชาวพุทธทุกคน ชาวพุทธจะต้องไม่ยกสมบัติคือ พระพุทธศาสนาให้แก่คนร้ายเหล่านั้นไปเสีย แต่จะต้องช่วยกันป้องกันแก้ไขขับไล่คนร้ายเหล่านั้นออกไป

ขออนุโมทนากุศลเจตนา ของมูลนิธิพุทธธรรม ในการบำเพ็ญประโยชน์ ทางด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และรักษาหลักการของพระพุทธศาสนาครั้งนี้ ขอกุศลกิจที่ได้บำเพ็ญแล้วนั้น จงสัมฤทธิ์ผลในการเสริมสร้างสัมมาทัศนะ ให้แผ่ขยายออกไปในหมู่ประชาชน และเป็นส่วนช่วยเกื้อหนุนให้ธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ ดำรงมั่น ตลอดกาลนาน

พระเทพเวที
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๓

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.