เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์ (รวมทั้งบทความพิเศษและบทพิสูจน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เรื่องล่าสุด: เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์

เนื้อแท้ของปัญหาโพธิรักษ์ หรือ บทพิสูจน์ขบวนการสันติอโศก

ท่านโพธิรักษ์และสันติอโศก ได้พิมพ์หนังสือและเอกสารต่างๆ ออกมาเผยแพร่อย่างมากมาย

ท่ามกลางเรื่องราวต่างๆ ที่นอกประเด็นและปัญหาปลีกย่อยเป็นอันมาก ที่ตีพิมพ์ในหนังสือและเอกสารเหล่านั้น พร้อมทั้งวิธีพูดวิธีแสดง ซึ่งกลบเกลื่อนการกระทำ และเป้าหมายที่แท้จริง ทำให้ผู้อ่านสับสนไขว้เขวจับประเด็นปัญหาและเจตนาที่แท้จริงของพวกตนไม่ได้ และเบื้องหลังการแสดงออกต่างๆ หลายๆ ด้านนั้น สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์และคณะของท่านได้ยืนหยัดกระทำอย่างต่อเนื่องตลอดมา เป็นงานหลักงานแกน ก็คือการดัดแปลงและทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ แม้ในหนังสือเล่มล่าสุดของสันติอโศก คือ "วิเคราะห์พระเทพเวที กรณีโพธิรักษ์" ซึ่งเมื่อแหวกเรื่องปรุงแต่งเสริมรสออกไปแล้ว ก็จะมองเห็นสาระสำคัญของหนังสือ คือ การทำลายหลักการของพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการที่ไม่ซื่อตรง เช่นเดียวกับที่ได้ปฏิบัติมาก่อนหน้านั้น

เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และความรู้เท่าทันต่อปัญหาโพธิรักษ์ จะขอนำข้อความสำคัญตอนหนึ่งจากหนังสือของพระเทพเวที เรื่อง "วิเคราะห์พระเทพเวที" บทพิสูจน์ขบวนการโพธิรักษ์ มาแสดงไว้ให้มองเห็นตัวปัญหาโดยชัดเจน

ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างการกระทำของท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก ที่เป็นการทำลายและแสดงถึงความไม่ซื่อตรงต่อหลักการของพระพุทธศาสนา

ในการกระทำตามตัวอย่างเหล่านี้ สิ่งที่น่ารังเกียจและส่อถึงเจตนาที่ไม่ซื่อตรงยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ การที่ท่านโพธิรักษ์และศิษย์ชาวสันติอโศกพยายามใช้กลวิธีต่างๆ อธิบายหลบเลี่ยงชักจูง เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า การกระทำของตนเป็นเรื่องของการตีความคำสอนในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ตามที่เป็นจริง การกระทำที่เป็นปัญหาของท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก ว่าโดยประเด็นหลัก ไม่ใช่เป็นเรื่องของการตีความ แต่เป็นการอ้างหรือสร้างหลักฐานเท็จบ้าง การปิดบังหรืออำพรางหลักฐานที่แท้จริง และบัญญัติหลักการของตนเองขึ้นมาแทนบ้าง ซึ่งถ้ามองในแง่ทั่วๆ ไป ก็เป็นเพียงการพูดเท็จหรือมุสาวาทธรรมดา ถ้ามองในแง่วิชาการก็เป็นความทุจริตทางวิชาการ แต่ถ้ามองในแง่ของพระธรรมวินัย ก็เป็นการทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา ก่อปรัปวาทให้เกิดขึ้นอันจะทำลายคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

นอกจากนั้น การกระทำความผิดเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของความผิดพลาดพลั้งเผลอ แต่มีลักษณะเป็นการจงใจทำเพื่อนำเอาหลักฐานเท็จ หรือข้อบัญญัติของตนเองนั้น มาเป็นเครื่องรับรองหรือยืนยันหลักการของตนที่ผิดหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้คนเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องบอกเล่าชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงความจริงและรู้เท่าทัน

อนึ่ง การกระทำผิดต่อหลักการของพระพุทธศาสนาดังตัวอย่างต่อไปนี้ อย่าว่าแต่จะทำหลายข้อเลย แม้จะทำเพียงข้อเดียว ถ้าจงใจทำ ก็เป็นเรื่องที่ร้ายแรง เพราะเป็นการนำเอาความเท็จมาใส่ให้แก่พระพุทธศาสนา และเมื่อกระทำในลักษณะที่เป็นการถือมั่น เชิดชูเป็นหลักการของตน หรือเพื่อเป็นเครื่องรองรับยืนยันหลักการของตน ก็กลายเป็นการนำเอาหลักการเท็จ ที่ปลอมแปลงเป็นพระพุทธศาสนานั้นมาคัดค้าน หรือลบล้างหลักการที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา เมื่อคนถือตามหลักการหรือบัญญัติที่ตนวางขึ้น หรือเผยแพร่ใหม่นั้น หลักการเดิมของพระพุทธศาสนาก็จะถูกแทนที่ และเลือนรางหายไป ตามปกติ ถ้าความผิดพลาดนั้นเป็นไปโดยพลั้งเผลอหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อมีผู้ทักท้วงชี้แจง ก็จะต้องรีบศึกษาให้เข้าใจชัดและรีบทำการแก้ไข แต่ในกรณีของท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศกนี้ เท่าที่เป็นมา แม้จะมีผู้ทักท้วง และชี้หลักฐานที่ถูกต้อง ก็จะไม่ยอมรับ แต่จะหาทางหลบประเด็นหลีกไปพูดในเรื่องอื่น ตลอดจนหาหลักฐานที่ไม่เป็นความจริงมายืนยันตนเองซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก

ตัวปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับพระธรรมวินัยในกรณีโพธิรักษ์นี้ คือ การที่ท่านโพธิรักษ์พร้อมทั้งคณะของท่าน ได้ใช้รูปแบบของพระพุทธศาสนา และอ้างชื่อของพระพุทธศาสนา ทำการต่างๆ ตามตัวอย่างต่อไปนี้ ซึ่งเป็นการคัดค้านและลบล้างหลักการของพระพุทธศาสนา ด้วยวิธีบิดเบือนดัดแปลงและอ้างเท็จ ซึ่งหลักฐานจากพระไตรปิฎก ตลอดจนตั้งบัญญัติใหม่ขึ้นให้เกิดความสับสนไขว้เขวจากพระบัญญัติเดิมของพระพุทธศาสนา ปัญหาที่จะต้องตอบหรือข้อที่จะต้องพิจารณาในกรณีนี้ ไม่ใช่คำถามว่าใครกำลังทำดิรัจฉานวิชาอยู่บ้าง พระเทพเวทีเป็นอย่างไร หรือเรื่องราวอะไรอื่นใดเลย แต่จะต้องตอบว่า ท่านโพธิรักษ์และคณะ ได้ทำการเหล่านี้ในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว และยังพยายามกระทำอยู่ หรือทำยิ่งๆ ขึ้นไป ใช่หรือไม่ ดังเช่น

๑. ในการยืนยันหลักการเรื่องมังสวิรัติ ท่านโพธิรักษ์และคณะอ้างพระบาลีในชีวกสูตรมาอธิบาย อุททิสสมังสะ ที่พระภิกษุฉันไม่ได้ ว่า "เพราะพระบาลีที่มีมาในพระไตรปิฎกแท้ๆ นั้น เนื้อความก็มีอยู่เพียงสั้นๆ แค่ว่า อุททิสสะ ปาณัง อารภติ . . . ซึ่งไม่มีคำความอะไรที่ขยายหรือไม่มีคำความอะไรให้จำกัดจำเขี่ยความหมายไว้ว่า สัตว์นั้นจะต้องเป็นการฆ่าโดยผู้ฆ่าต้องระบุให้แก่คนนั้นคนนี้เฉพาะ แล้วคนนั้นหรือผู้ที่ถูกระบุนั้น จึงจะกินเนื้อสัตว์ที่ฆ่านั้นไม่ได้ (ไขข้อข้องใจ มังสวิรัติกับเทวทัต, หน้า ๑๑)

แต่แท้ที่จริง ในพระบาลีแห่งชีวกสูตรนั้น มีคำความที่ขยายหรือจำกัดความหมายไว้ โดยเป็นกรรมรับคำกิริยา "อุททิสสะ" อย่างชัดเจนว่าเป็นการฆ่าโดยผู้ฆ่าระบุเจาะจงพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ดังบาลีในที่นั้นว่า "โย โข ชีวก ตถาคตํ วา ตถาคตสาวกํ วา อุทฺทิสฺส ปาณํ อารภติ" (ม.ม. ๑๓/๖๐/๕๒) ดังนั้น คำอ้างของท่านโพธิ รักษ์และคณะจึงตรงข้ามกับความจริง

๒. ในการยืนยันหลักการที่ส่งเสริมให้พระภิกษุ อวดอุตริมนุสธรรม อย่างเปิดกว้างแม้แก่คฤหัสถ์ ซึ่งเป็นการละเมิดพระพุทธบัญญัติในพระวินัยที่ห้ามพระภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน (ผู้มิได้อุปสมบท ได้แก่คฤหัสถ์ และสามเณร เป็นต้น) และเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวท่านเองที่ได้อวดอุตริมนุสธรรม แม้ในที่พร้อมหน้าคฤหัสถ์หลายครั้ง ท่านโพธิรักษ์ได้บัญญัติความหมายของคำว่า อุปสัมบัน และ อนุปสัมบัน ขึ้นใหม่ว่า "อุปสัมปันน์" (คือ ผู้มีจิตสูง หรือมีฐานะอันเหมาะสมกับคำสอนนั้นแล้ว)" และว่า "อนุปสัมปันน์" (คือผู้มีภูมิจิตยังมากไปด้วยกิเลสอยู่ หรือมีฐานะยังไม่เหมาะสมกับคำกล่าวคำสอนนั้น)" (ทางเอก ภาค ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๓๔) และบางครั้งถึงกับอ้างในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่า บัญญัติของตนนั้นเป็นพุทธพจน์ หรือเป็นข้อความจากพระไตรปิฎก ดังคำของท่านโพธิรักษ์เองว่า "บาลีเรียกผู้ยังเริ่ม ยังไม่บรรลุขั้นง่ายๆ ขั้นแรกๆ นี้ว่า "อนุปสัมปันน์" เรียกผู้สมควรจะได้รับธรรมที่เพิ่มขั้นเพิ่มตอนสูงขึ้นว่า "อุปสัมปันน์" (ทางเอก ภาค ๓, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๔๗๙; คำว่า "บาลี" เมื่อใช้ในการอ้างหลักฐาน หมายถึงพุทธพจน์ หรือข้อความจากพระไตรปิฎก) และต่อมาทางสันติอโศกก็ได้พยายามใช้บัญญัติใหม่ของตนในการสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำผิดพระวินัยของท่านโพธิรักษ์มากยิ่งขึ้น ดังข้อความว่า "การอวดอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงนั้น ย่อมไม่เป็นความผิดอะไร ถ้าได้แสดงต่อ "อุปสัมบัน" (โดยพยัญชนะหมายเอาภิกษุ, ภิกษุณี) แต่อุปสัมบันโดยอรรถนั้นหมายเอา "ผู้เข้าถึง" ซึ่งพระโพธิรักษ์เห็นว่า โดยสาระของผู้เข้าถึงนั้น ไม่น่าจะอยู่ที่การโกนหัวห่มจีวร . . . แม้จะเป็นฆราวาส ถ้าเขาได้ศึกษาปฏิบัติกันมาอย่างมีมรรคมีผล เป็นส่วนใหญ่ ย่อมจะน่าได้ชื่อว่า "อุปสัมบัน" นั้นมากกว่า" (แฉสันติอโศกผิดธรรมวินัยจริงหรือ?. พ.ศ. ๒๕๓๑, หน้า ๘-๙)

ตามที่เป็นจริงนั้น "อุปสัมบัน" มาจาก "อุปสมบท" อุปสัมบัน ก็คือผู้ที่อุปสมบทแล้ว และอนุปสัมบัน ก็คือผู้มิได้อุปสมบท หรือผู้มิใช่อุปสัมบัน

บัญญัติความหมายของ "อุปสัมบัน" และ "อนุปสัมบัน" ที่ท่านโพธิรักษ์และคณะสันติโศกได้ตั้งขึ้นนั้น นอกจากไม่มีในพระบาลีอย่างที่อ้างขึ้นเองลอยๆ คือไม่มีหลักฐานในพระพุทธพจน์หรือข้อความในพระไตรปิฎก ณ ที่ใดๆ แล้ว ยังขัดแย้งค้านต่อพระบาลี หรือกลายเป็นการล้มล้างพุทธบัญญัติในพระวินัยอีกด้วย เพราะพระบาลีในเรื่องนี้มีขึ้น เพื่อกำหนดการปฏิบัติตามพระวินัย และได้บัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎกอย่างเดียวชัดเจนแน่นอนว่า "อนุปสัมบัน (ผู้มิได้อุปสมบท) ได้แก่บุคคลอื่น นอกจากภิกษุและภิกษุณี" (วินย. ๒/๓๐๖/๒๑๑) ส่วน อุปสัมบัน (ผู้อุปสมบทแล้ว) ก็ได้แก่ ภิกษุหรือภิกษุณี บัญญัติของท่านโพธิรักษ์นี้ เป็นทั้งการบัญญัติใหม่ทับแทนหักล้มพระบัญญัติเดิมในพระวินัย และเป็นการอ้างหลักฐานเท็จ ต่อสิ่งที่ไม่มีในพระบาลีว่าเป็นพระบาลี เมื่อมีผู้ถือตาม ก็จะทำให้เกิดความสับสนไขว้เขวในการปฏิบัติทางพระวินัย ส่งเสริมให้เกิดการทำความผิด ละเมิดพุทธบัญญัติมากขึ้น และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดต่อหลักการของพระพุทธศาสนา

๓. ในการยืนยันหลักการของโพธิรักษ์ ที่ว่าตนเป็นหรือจะ เป็นทั้งพระโพธิสัตว์ และพระอรหันต์ ในเวลาเดียวกัน สันติอโศกกล่าวว่า พระพุทธศาสนาระบุว่าพระโพธิสัตว์บรรลุอริยมรรคแล้ว โดยยกข้อความจากพระไตรปิฎกมาอ้างว่า ในพระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุปกรณ์ ระบุไว้ว่า "พระโพธิสัตว์ ได้หยั่งลงสู่ทางอันแน่นอน (อริยมรรค) มีพรหมจรรย์อันประพฤติแล้ว" (อภิ.ก.๓๗/๙๖๙/๓๑๒; อ้างใน บทความของคุณ ว. ชัยภัค ตีพิมพ์ใน นิตยสารสมาธิ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๓ หน้า ๑๗ และ วิเคราะห์พระเทพเวทีฯ หน้า ๖๗)

แต่ตามที่เป็นจริงนั้น คัมภีร์กถาวัตถุยกข้อความที่อ้างนั้นขึ้นมากล่าวโดยระบุว่าเป็นความเห็นผิด และท่านยกขึ้นมากล่าวถึงเพื่อชี้แจงแก้ไข โดยมีคำตอบโต้ชี้แจงแก้ไขของท่านต่อจากข้อความที่อ้างนั้นไปอีก แต่ทางสันติอโศกกลับเอาทัศนะที่พระไตรปิฎกย้ำเตือนไว้ว่าเป็นความเห็นผิด มาอ้างว่าเป็นคำสอนของพระไตรปิฎก และไม่ได้ยกคำตอบโต้ชี้แจงของท่านมาพิมพ์ไว้ด้วย การกระทำของคุณ ว. ชัยภัคในนามของท่านโพธิรักษ์และสันติอโศกนี้ จึงเป็นการยกเอาความเห็นผิดนอกพระพุทธศาสนา มาใส่ให้เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริง ด้วยการอ้างหลักฐานในลักษณะที่ทำให้คนหลงเข้าใจผิด

๔. ในการยืนยันหลักการของตนที่ว่าพระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ได้ นั้น สันติอโศกได้ยกหลักฐานจากพระไตรปิฎกมาอ้างอีกแห่งหนึ่ง คือเรื่องสุเมธดาบส ในทีปังกรพุทธวงศ์ โดยกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นสุเมธดาบสได้เป็นผู้ "ถึงที่สุดแห่งอภิญญา" แล้ว และตีความว่า ข้อความนั้นแสดงว่า สุเมธดาบสได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะ "พระโพธิสัตว์ผู้เข้าถึงที่สุดแห่งอภิญญานั้น . . . ย่อมเป็นผู้บรรลุธรรมถึงขั้นพระอรหันต์นั่นเอง" (วิเคราะห์พระเทพเวทีฯ หน้า ๗๙)

ข้อความว่า "ถึงที่สุดแห่งอภิญญา" ที่สันติอโศกยกมาอ้างนั้น เป็นข้อความที่ไม่ระบุชัดเจนว่าอภิญญาที่ว่าถึงที่สุดนั้นเป็นอภิญญาประเภทไหนข้อไหน ทำให้เป็นโอกาสที่จะตีความได้ และสันติอโศกก็ได้ตีความว่าถึงอาสวักขยญาณ จึงเป็นพระอรหันต์ แต่ตามที่เป็นจริงนั้น เรื่องสุเมธดาบสที่สันติอโศกยกมาอ้างนั้นเอง ยังมีข้อความกล่าวต่อไปอีก และข้อความที่เลยจากนั้นไปได้ระบุชัดเจน อย่างไม่เปิดโอกาสให้มีการตีความได้ ข้อความนั้นชี้ชัดว่า สุเมธดาบสได้กล่าวถึงตัวท่านเองว่า เป็นผู้ "ถึงฝั่ง(จบ)ในอภิญญา ๕" (ปญฺจาภิญฺาสุ ปารคู - ขุ.พุทธ.๓๓/๒/๔๓๖) ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนว่า สุเมธดาบสผู้เป็นพระโพธิสัตว์นั้นได้แค่เพียงอภิญญา ๕ ที่เป็นเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ไม่ได้อาสวักขยญาณ ซึ่งเป็นอภิญญาที่ ๖ จึงไม่ได้เป็นพระอรหันต์ การอ้างหลักฐานของสันติอโศกในกรณีนี้ ถ้าทำด้วยเจตนาทั้งที่รู้ ก็ย่อมเป็นการกระทำในลักษณะที่ชักจูงให้คนเกิดความเข้าใจผิด เป็นการพยายามทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา ด้วยวิธีอำพรางหลักฐาน และบิดเบือนความจริง

นอกจากนี้ ท่านโพธิรักษ์ยังได้เผยแพร่คำสอนอื่นๆ อีก ในลักษณะที่เป็นการลบล้างหลักการของพระพุทธศาสนา โดยอ้างเอาสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักการของพระพุทธศาสนา ว่าเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา เช่น กล่าวว่าพระอรหันต์เกิดอีกได้ เพราะไม่เกิดยากกว่าเกิด และว่าพระอรหันต์ถอยกลับลงมาเป็นคนสามัญได้ (เมื่อถือหลักการว่า พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ได้ ก็เกิดความจำเป็นตามมาเองโดยอัตโนมัติ ที่จะต้องถือหลักการสองอย่างนี้ เข้าทำนองว่า เมื่อถือผิดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ต้องถือผิดอย่างอื่นต่อโยงตามกันไป; ดู วิเคราะห์พระเทพเวทีฯ หน้า ๖๘ และ ๗๙ เป็นต้น) แต่ไม่ได้อ้างหลักฐานจากพระไตรปิฎก มาลงพิมพ์ยืนยันไว้อย่างโจ่งแจ้งโดยตรง ดังนั้น แม้จะเป็นการคัดค้านล้มล้างหลักการของพระพุทธศาสนา ก็จะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะในที่นี้ต้องการให้เห็นเฉพาะแต่วิธีการของสันติอโศก ในการอ้างหลักฐานที่ไม่เป็นความจริง

เมื่อใครคนหนึ่งพูดอะไรไว้ หรือหนังสือหรือตำรับตำราเขียนข้อความไว้อย่างไร ถ้าเราจะอ้างคำพูดของเขา หรืออ้างข้อความจากหนังสือหรือตำรับตำรานั้น ก็ต้องอ้างให้ถูกต้องตรงตามที่เขาได้พูดหรือเขียนไว้ ถ้าพลั้งเผลอผิดพลาดไป ก็ควรขอโทษ และแก้ไขให้ถูกต้องตรงตามของเดิม การแกล้งอ้างให้ผิดพลาด ย่อมถูกถือว่าเป็นความเสียหายหรือเป็นการมีเจตนาร้ายที่ควรถูกติเตียนอย่างมาก การอ้างหลักฐานเท็จในกรณีสามัญก็ยังถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างนี้ หันมามองในทางพระศาสนา พระพุทธกิจหรืองานของพระพุทธเจ้า โดยเนื้อหาสาระก็คือ การเผยแพร่สั่งสอนธรรมที่ได้ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตาม เรานับถือพระพุทธเจ้าก็คือนับถือธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้ และได้ทรงสั่งสอนไว้ จึงเป็นธรรมดาว่า ทุกคนต้องการรู้ให้ตรงตามที่ได้ทรงสั่งสอนไว้ เพราะฉะนั้นหลักฐานเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่ตกมาถึงเรา มีอยู่หรือเหลืออยู่เท่าไร พุทธศาสนิกชนย่อมถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น และนำไปอ้างให้ถูกต้องตรงตามนั้น การอ้างให้ผิดพลาดไปจากที่เป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหลงผิดต่อพระพุทธเจ้า และต่อคำสอนของพระองค์ ท่านเรียกว่าเป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า ย่อมเป็นทั้งการประทุษร้ายต่อองค์พระพุทธเจ้า และเป็นการประทุษร้ายต่อพุทธศาสนิกชนทั้งหมด ตลอดจนต่อทุกคนที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคำสอนของพระองค์ เห็นได้ชัดว่าเป็นบาปที่ร้ายแรง เพราะเป็นการทำลายเนื้อตัวแท้ๆ ของพระพุทธศาสนา

ใครก็ตาม ที่ไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วยกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะไม่เชื่อและไม่เห็นด้วย แต่จะต้องมีความซื่อตรง ที่จะพูดหรือแสดงออกมาว่าตนไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วยอย่างนั้นๆ ไม่ควรมาใช้วิธีลอบดัดแปลงคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เป็นไปตามความเชื่อหรือความคิดเห็นของตน ด้วยการบิดเบือนความโดยอ้างหรือสร้างหลักฐานเท็จ ซึ่งเป็นกรรมที่น่าละอายอย่างยิ่ง

ในการกระทำดังที่กล่าวมานี้ ถ้าท่านโพธิรักษ์และคณะสันติอโศกมีความจงใจทำลงไป ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริง หรือรู้ตัวแล้วว่าได้ทำผิดพลาดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ยังขืนยืนหยัดอยู่ในการอ้างหลักฐานที่ไม่เป็นความจริง หรือในการยึดถือหลักการที่ผิดจากพระธรรมวินัย จะให้เชื่อได้อย่างไรว่าท่านโพธิรักษ์และคณะสันติอโศก มีความประสงค์ดีต่อพระพุทธศาสนา หรือแม้แต่เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา โดยที่แท้แล้วย่อมจะต้องเรียกว่า เป็นผู้ประสงค์ร้ายมุ่งทำลายพระพุทธศาสนา การยกเอาเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเป็นข้ออ้าง สำหรับสร้างความชอบธรรมให้แก่การอ้างหรือสร้างหลักฐานเท็จก็ดี การใช้กลอุบายต่างๆ ในการทำลายหรือทำให้ประชาชนสับสนไขว้เขวเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนาก็ดี เป็นการกระทำที่วิญญูชนไม่อาจยอมรับว่าเป็นความชอบธรรม แต่จะต้องถือว่าเป็นความทุจริตในการใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางศาสนา

สำหรับความผิดพลาดที่ชัดเจนอย่างนี้ หากท่านโพธิรักษ์มีความจริงใจ ซื่อตรง และสุจริต ย่อมจะต้องยอมรับและแก้ไข ทั้งยอมรับการที่ได้อ้างหลักฐานที่ไม่เป็นความจริง และปรับทิฏฐิหรือหลักการของตนให้ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนาในทุกเรื่องที่ได้ทำผิดพลาดไปแล้วนั้น หรือถ้าหากจะยืนหยัดในหลักการของตนอยู่อย่างเดิม ก็ควรจะแสดงความซื่อตรงและความสุจริต เช่นเดียวกัน ด้วยการประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่า หลักการของตนกับหลักการของพระพุทธศาสนาไม่ตรงกัน และว่าตนไม่ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา ไม่พึงทำให้ประชาชนเข้าใจผิดสับสนไขว้เขวระหว่างหลักการสองฝ่ายนี้ ด้วยวิธีอ้างหลักฐานที่ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป และถ้ายืนยันว่าหลักการของตนแตกต่างเป็นคนละอย่างกับหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็น่าจะมีความสุจริตและแสดงความซื่อตรง ที่จะไม่ใช้ชื่อและรูปแบบของพระพุทธศาสนาด้วย นี้เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมที่พึงทราบได้ด้วยตนเอง มิใช่จะต้องมีผู้ใดพิพากษาตัดสิน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.