มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ค่านิยมที่ลึกซึ้งถูกเมิน ที่ตื้นเขินแผ่เข้ามา

เพื่อให้ชัดเจน อาตมภาพจะขอยกตัวอย่าง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ ไทยได้ประกาศสงครามกับพันธมิตร เข้ากับญี่ปุ่น ผลที่สุดญี่ปุ่นแพ้สงคราม แล้วก็มีปัญหาว่าไทยจะต้องแพ้สงครามด้วยหรือไม่ ในที่สุดด้วยผลงานของเสรีไทย ก็ได้ปกป้องประเทศชาติไว้ ไทยก็รอดจากการวินิจฉัยว่าเป็นผู้แพ้สงคราม ไม่เป็นผู้แพ้สงคราม เราก็ระลึกถึงบุญคุณของเสรีไทยอยู่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักไว้ อย่างไรก็ตามหลายคนอาจจะมองข้ามอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ ด้านคุณธรรม ขอยกเหตุการณ์ในระหว่างสงคราม ที่เมืองกาญจนบุรี ญี่ปุ่นจับทหารฝรั่งได้เป็นอันมาก แล้วก็เอาทหารเหล่านั้นไปสร้างทางรถไฟสายมรณะเชื่อมต่อกับชายแดนพม่า ดังที่เราเห็นสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่การสร้างทางครั้งนั้น ทหารเชลยฝรั่งได้รับความลำบากมาก ทั้งความอดอยาก และทารุณกรรมต่างๆ อย่างมากมาย ล้มตายมากเหลือเกิน กล่าวกันว่าทหารฝรั่งที่ตายนั้น นับได้ตามจำนวนไม้หมอนของทางรถไฟ ทีนี้ในระหว่างเวลายาวนานที่ได้รับความลำบากความทรมานทรกรรมนั้น ก็ปรากฏว่าชาวบ้านคนไทยจำนวนมากได้เกิดความสงสารทหารฝรั่งเหล่านั้น ก็พยายามลักลอบเสี่ยงภัย เอาอาหารเอาผลไม้ต่างๆ ไปหลบให้วางให้ทิ้งให้แก่เชลยเหล่านั้น ทำให้เชลยจำนวนมากรอดชีวิต เมื่อสงครามโลกเสร็จสิ้น เชลยเหล่านี้ก็ได้รับอิสรภาพ (ถึงตอนนี้มันกลับกัน คือฝ่ายญี่ปุ่นกลายเป็นเชลย และทหารญี่ปุ่นก็ได้รับความลำบากทรมานทรกรรม คนไทยก็เอาอีกนั่นแหละ ช่วยกันเอาอาหารไปส่งให้ แต่ระยะเวลาสั้นหน่อย ไม่ยาวนานเป็นปีๆ เหมือนตอนช่วยเชลยฝรั่ง นี่ก็เป็นอานุภาพของทาน เมตตา กรุณา)

เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว ทหารฝรั่งกลับไปเมืองของตน ก็คงจะได้ช่วยอย่างมากในการร้องเรียนยืนยันเป็นประจักษ์พยานแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรว่า คนไทยมิได้มีจิตใจเป็นปฏิปักษ์ต่อฝรั่ง ช่วยให้ไทยไม่ถูกตัดสินเป็นผู้แพ้สงคราม ทหารฝรั่งที่เคยเป็นเชลยเหล่านั้น หลังสงครามเขาก็กลับมาเมืองไทยอีก มาตามค้นหาคนไทยผู้มีอุปการคุณแก่เขา และปรากฏว่าได้พบรักแต่งงานกับผู้หญิงไทยไปอยู่ด้วยกันในประเทศของเขา อย่างในประเทศฮอลันดา เป็นจำนวนหลายร้อยครอบครัว นี้ก็ด้วยอานุภาพของเมตตากรุณา และอาศัยคุณธรรม จึงทำให้เกิดความรักต่อคู่ชีวิตคู่ครองขึ้น เราอาจจะเลือกกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ แล้วตกลงกันเป็นวันที่ระลึก เรียกชื่อขึ้นมาสักอย่างให้รู้ว่าอย่างนี้นี่แหละ สยามวาเลนไทน์ (The Siamese Valentine) วันวาเลนไทน์ไทย หรือจะเรียกว่า ธารน้ำใจไทยเดย์ หรืออะไรๆ ทำนองนี้ก็ได้ ปัจจุบันนี้ก็ได้มีพยานรักของคนไทย-ฝรั่งเกิดขึ้นในประเทศฮอลันดา ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ด้วย ก็คือมีวัดไทยเกิดขึ้น ๑ วัด ในประเทศฮอลันดา โดยคนไทยที่ไปประเทศนี้ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

เราจะเห็นว่าความรักอย่างนี้ มีความหมายทางคุณธรรมก่อตัวขึ้นมาจากความเมตตากรุณา แล้วจึงเกิดเป็นความรักอย่างคู่ครองคู่ชีวิต ยิ่งกว่านั้น ยังมีความหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติเราด้วย ในการที่เราได้พ้นจากภาวะที่เกือบจะแพ้สงคราม ซึ่งคล้ายว่าเกือบจะสูญเสียอิสรภาพไป สำหรับคนไทย เรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก เรากลับมองไม่เห็น ความจริงแล้ว เราน่าจะเลือกค้นคว้าศึกษาประวัติของคนเหล่านี้ด้วยซ้ำไป เอามาเขียนกระจายให้เป็นที่รู้กันเป็นนิยายรักก็ได้ แต่เรากลับมารับเอาวันวาเลนไทน์ ซึ่งมีประวัติไม่แน่นอนคลุมเครือเหลือเกิน คือไม่มีใครสามารถสืบทราบได้ชัดเจนว่าวันวาเลนไทน์นี้มาจากไหน เขาบอกว่าเป็นที่ระลึกถึงวันประหารชีวิต เซนต์วาเลนไทน์ (Saint Valentine) แต่เซนต์วาเลนไทน์มี ๒ คน ไม่รู้ว่าคนไหนแน่ ฝรั่งก็วินิจฉัยไม่ถูก และแต่ละคนก็ไม่มีประวัติแน่นอน เป็นแต่เล่ากันมาเป็นปรัมปรา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วนักปราชญ์บอกว่าเป็นเรื่องสวมรับจับขึ้นมาใส่ คือว่าพวกโรมันเขามีประเพณีเก่าอยู่แล้ว เป็นเทศกาลฉลอง เรียกว่า Lupercalia เป็นการระลึกถึงเทพเจ้าลูเปอร์คุส ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความเจริญพันธุ์ ชาวโรมันเขามีการฉลองกันมาก่อนแล้ว ทางคริสต์ศาสนาก็มาสวมรับเอาไป แต่นักวิชาการสันนิษฐานไปเรื่องนี้ก็ไม่ชัดเจน ว่าไปว่ามา ปราชญ์หนึ่งก็ให้มติว่าวันวาเลนไทน์นี้มันเกิดมาจากความเชื่อของชาวยุโรปสมัยกลาง ซึ่งเขาเชื่อกันว่า พวกปักษิณชาติ คือนกทั้งหลายในแดนฝรั่งเริ่มผสมพันธุ์กันในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ อันนี้เองเป็นเหตุผลที่เชื่อได้มากที่สุด และเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด ในการสืบสาวถึงความหมายและที่มาของวันวาเลนไทน์

จากเรื่องนี้ทำให้เราต้องถามว่า คุณค่าในการที่รับสิ่งเหล่านี้มานั้นมันเกิดจากอะไร เพียงแต่เห็นว่าเป็นของฝรั่งแล้วก็รับหรือรับด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่พฤติการณ์ที่เป็นกันอยู่ มันเป็นไปในทำนองว่า ไม่ต้องรับรู้อะไรหรือไม่ได้ศึกษาอะไรเลย พอเห็นว่าเป็นของฝรั่งก็รับเข้ามา แล้วเราได้อะไรบ้าง นอกจากความฟุ้งเฟ้อ ความผิวเผินฉาบฉวย ทำไมไม่ใช้ปัญญาพิจารณารับเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระ รู้ให้เท่าทัน อะไรไม่เป็นสาระก็ไม่เอา ทำไมไม่เอาสิ่งที่เป็นสาระของเราไว้ อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าขืนเป็นอย่างนี้ การคลั่งหรือการนิยมวัฒนธรรมตะวันตกก็จะเป็นไปมากจนกระทั่งว่า วัฒนธรรมก็จะค่อยๆ หมดความหมาย และคุณธรรมของเราเองก็จะค่อยๆ สูญไปด้วย แล้วฝรั่งเองเขาก็จะว่าคนไทยที่ตามเขาอย่างนี้ได้ว่าเป็นคนตื้นเขินเหลือเกิน รับอะไรๆ เอามาโดยไร้สติปัญญา

ขอกล่าวย้อนไปถึงการที่คนไทยมีค่านิยมเมตตากรุณา ซึ่งแสดงออกในตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เราอาจจะถือว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เป็นตอนกำเนิดค่านิยมที่ไม่ดีอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งอาตมภาพได้พูดไปแล้วคือ ค่านิยมที่ว่า อวดเก่งอวดโก้ที่โกงหรือแกล้งเขาได้ ค่านิยมนี้น่าจะเป็นค่านิยมที่เกิดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เหมือนกัน ตอนนั้นคนไทย เพราะเหตุที่ว่าจะต้องพยายามเอาตัวรอดในสงคราม ซึ่งโดยทางการเป็นข้างญี่ปุ่น แต่โดยพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์กัน ก็ได้พยายามหลบล่อชาวญี่ปุ่นบ้าง พยายามแกล้งทหารญี่ปุ่นบ้าง ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะเอาปัจจัยครองชีพ เอาเงินเอาทองจากทหารญี่ปุ่น และแก้แค้นผู้ที่ตนถือเป็นศัตรู ได้ใช้วิธีการที่เป็นกลอุบายทั้งหลายให้สำเร็จผล แล้วก็สนุกสนานเกิดความรู้สึกว่า เราเก่งในการที่หลอกญี่ปุ่นได้ อันนี้มีเรื่องมากมายทีเดียว แล้วค่านิยมนี้อาจจะได้เริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น เราอาจจะบอกว่าระยะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เป็นช่วงเวลาที่ค่านิยมทาน และเมตตากรุณาเริ่มจะสูญหายไป พร้อมกับเกิดค่านิยมใหม่แห่งความเก่งโก้ที่โกงหรือแกล้งเขาได้

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ในการฉลองรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปีนี้ น่าจะเป็นเวลาเหมาะที่เราควรมาฟื้นฟูค่านิยมกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยหันกลับไปสู่ค่านิยมที่ถูกต้อง ได้แก่การฟื้นฟูค่านิยมทานและเมตตากรุณาขึ้นมา และละทิ้งเลิกล้างค่านิยมแห่งการอวดเก่งอวดโก้ แล้วการแก้ปัญหาสังคมไทยก็จะมีทางเป็นไปได้ดีขึ้น ในแง่ที่สำคัญส่วนหนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.