รัฐกับพระพุทธศาสนา ถึงเวลาชำระล้างหรือยัง

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถาม อย่างที่มีฝรั่งบางคนเขาศึกษาเรื่องเมืองไทย เรื่องพระพุทธศาสนาในเมืองไทยนี่ แล้วก็ว่ากันว่า รัฐได้พยายามให้สถาบันพระพุทธศาสนา หรือสถาบันสงฆ์เข้ามาอยู่ในอำนาจรัฐ หรือขึ้นต่อรัฐ ซึ่งเป็นมากขึ้นในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ขึ้นต่อรัฐอย่างเต็มที่สิ้นเชิง จริงหรือไม่

ตอบ ขึ้นต้นก็ตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า นี่เป็นคำที่ฝรั่งว่า ทำไมต้องรอให้ฝรั่งว่า กลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้มีปัญหาว่า เรื่องเหล่านี้ ในเมืองไทยเราเองไม่ค่อยได้ศึกษา กลายเป็นว่า พวกที่ศึกษาเอาจริงเอาจังในเรื่องของเราก็เป็นพวกฝรั่ง ฝรั่งศึกษากันว่างั้น ว่างี้ เราก็ต้องกลับไปเอาความรู้ความเข้าใจมาจากฝรั่ง เราไม่ค่อยสนับสนุนให้คนของเราศึกษา เพราะกลัวอย่างนั้นเพราะกลัวอย่างนี้ กลัวจะทำให้เกิดปัญหาแห่งการปกครองเป็นต้นบ้าง เลยทำให้ขาดการค้นคว้ากัน หย่อนในทางการศึกษา ในเรื่องการศึกษานี้ควรจะส่งเสริม และชี้จุดชี้ช่องที่ควรจะศึกษา จะได้ศึกษากันอย่างถูกต้อง

เรื่องที่ว่ามีการรวบอำนาจนี้ก็มีความถูกอยู่ แต่เราต้องศึกษาทั้งในแง่ดีแง่เสีย ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเรื่องศาสนานี้เป็นเรื่องที่มีผลเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เป็นเรื่องสำคัญมาก ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ปกครองจะต้องเอาใจใส่

สำหรับในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น อำนาจได้เข้ามาอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมากมาย เรียกได้ว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจหรือดึงอำนาจเข้ามาสู่ศูนย์กลาง ทั้งอำนาจทางฝ่ายอาณาจักรเอง และทางฝ่ายคณะสงฆ์ แต่ก็มีเหตุผลอยู่ว่า สมัยนั้นเป็นระยะที่เรากำลังเผชิญกับอารยธรรมตะวันตก เผชิญกับลัทธิอาณานิคม เราต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการที่จะต่อสู้กับภัยจากภายนอก ในการที่จะเร่งรัดสร้างความเจริญให้ทัดเทียมตะวันตก หรือฝ่ายที่มาจากภายนอกนั้น

ในเมื่อต้องการความเร่งรัดและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้ นโยบายสำคัญอันหนึ่งที่จะให้สมหมายก็คือ การดึงอำนาจมาสู่ศูนย์กลางเพื่อความเข้มแข็งพร้อมเพรียง และทำอะไรได้รวดเร็ว ทางฝ่ายคณะสงฆ์นั้น จะเห็นได้ว่ามีการออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ซึ่งเปิดทางให้แก่การศึกษาที่พระสงฆ์จะได้จัดทำ จะได้ดำเนินการออกไปจากศูนย์กลางและจัดได้ทั่วประเทศ และในด้านการปกครองคณะสงฆ์ ก็ตั้งมหาเถรสมาคมขึ้นเป็นที่ปรึกษาของในหลวง โดยเฉพาะก็มุ่งเพื่อประโยชน์ในทางการศึกษาเป็นสำคัญ

ทีนี้ ในสมัยต่อมา พ.ร.บ. ที่ออกมาภายหลังก็มีลักษณะรวบอำนาจอีก แต่เหตุผลของสมัยนี้กับในสมัยก่อนจะเหมือนกันหรือไม่ สภาพแวดล้อมต่างกันหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาวิเคราะห์ออกไปและก็ดูผลเสียผลดีให้ละเอียด เช่นว่า สมัย ร. ๕ รวบอำนาจโดยมีเป้าหมายที่ว่า จะเปิดช่องทางให้แก่การดำเนินนโยบายการศึกษา แต่สมัยหลังอาจเป็นการรวบอำนาจทางการปกครองนิ่งๆ หรืออย่างไร อย่าง พ.ร.บ. ๒๕๐๕ ที่ว่านี้ ฝรั่งเขาก็วิเคราะห์ในรูปอย่างที่ถามเมื่อกี้ คือ เขาว่าเป็นการดึงอำนาจมารวมไว้ โดยให้คณะสงฆ์ขึ้นกับทางฝ่ายรัฐเต็มที่โดยสิ้นเชิง เราเองก็ควรจะได้ศึกษาเรื่องนี้กันอย่างมีใจเป็นกลาง ตั้งอุเบกขา อย่าเอาอารมณ์เข้าว่า แล้วก็ดูผลดีผลเสีย

อย่างไรก็ตาม ขอให้คำนึงถึงหลักการที่ว่ามาข้างต้น คำนึงความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างรัฐกับสถาบันพระพุทธศาสนา ตราบใดที่ขอบเขตความสัมพันธ์ยังเป็นไปโดยชอบ คือทางรัฐให้อุปถัมภ์ค้ำจุน ให้พระสงฆ์มีกำลังในการทำหน้าที่ของท่านในการเผยแพร่ธรรมะ สั่งสอนประชาชนในสิ่งที่ถูกต้อง ตลอดจนสั่งสอนแนะนำธรรมะแก่ผู้ปกครองเองด้วย และถ้ามีพลเมืองของตนเข้าไปเบียดเบียนทำลายพระพุทธศาสนาให้เสียความบริสุทธิ์ ก็ไปนำเอาคนเหล่านั้นออกมาเสีย หรือช่วยในด้านกำลังที่จะแก้ไขสิ่งเสียหายเหล่านั้น ส่วนการที่พระสงฆ์จะทำหน้าที่ของท่านนั้น ก็ให้ท่านเป็นอิสระในการเผยแพร่สั่งสอนธรรม ส่งเสริมให้ท่านศึกษาค้นคว้า ให้ท่านทำได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทำใจตั้งมั่นไว้ว่า เราจะเชิดชูธรรมและบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน อย่างนี้มันก็เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง

แต่ถ้าหากว่าไปทำโดยมุ่งจะเอาสถาบันพระสงฆ์มาเป็นเครื่องส่งเสริมอำนาจของตนเอง เป็นเครื่องช่วยให้ตนสามารถเสวยหรือแสวงหาผลประโยชน์ได้มากขึ้นในเรื่องประโยชน์ส่วนตนอย่างนี้ ก็มีแต่ความผิดพลาด ถ้าทำอย่างนี้ รัฐอาจจะอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์อย่างมากมาย แต่จะเป็นไปในลักษณะที่ทำให้พระสงฆ์เกิดความรู้สึกว่าต้องพึ่งรัฐ ต้องขึ้นต่อรัฐ หรือมีความสุขสบายด้วยการแอบอิงผู้ปกครอง แต่ว่าจะห่างเหินจากประชาชน ในตอนแรกก็อาจจะเป็นผลดีแก่ผู้ปกครอง แต่นานๆ เข้าก็จะเป็นผลเสียแก่รัฐเอง ในเมื่อพระสงฆ์ขึ้นต่อรัฐ ต่อผู้ปกครองฝ่ายเดียว ฝากความหวังไว้กับผู้ปกครอง รอฟังผู้ปกครอง อิทธิพลหรืออำนาจในทางประชาชนที่เป็นบุญเก่าก็ค่อยๆ จืดจางเสื่อมหายหมดไป แล้วต่อแต่นั้นคณะสงฆ์ก็กลายเป็นสถาบันที่ลอยโหวงเหวง ไม่มีประโยชน์ จะช่วยอะไรแก่รัฐไม่ได้

แต่ถ้าพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างอิสระ คอยสั่งสอนแนะนำประชาชนไปตามหน้าที่ของท่าน ให้ประชาชนรู้จักธรรมะ รู้สิ่งที่ชอบที่ควร ประพฤติปฏิบัติชอบธรรม พัฒนาทั้งกาย ศีล จิต ปัญญา เสร็จแล้วผลประโยชน์ก็มาตกแก่รัฐนั่นเอง ไม่หายไปไหน และอำนาจที่เป็นไปโดยชอบ ธรรมของพระสงฆ์ที่มีต่อประชาชนนี่แหละ ก็กลับมาเป็นเครื่องเอื้ออำนวยแก่การปกครองที่เป็นไปโดยชอบธรรม เช่นเดียวกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.