รัฐกับพระพุทธศาสนา ถึงเวลาชำระล้างหรือยัง

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถาม เท่าที่ได้ถามมานั้นมีขอบเขตกว้างขวาง เป็นการสนทนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์โดยทั่วๆ ไป อยากจะจำกัดเฉพาะในรอบ ๒ ศตวรรษแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร

ตอบ ความสัมพันธ์โดยทั่วๆ ไป ก็คล้ายกับหลักการที่ได้กล่าวมาแล้วและเป็นไปตามแนวของวัฒนธรรมไทย เนื่องด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่สืบมาจากยุคก่อนๆ แต่ก็มีลักษณะพิเศษอยู่บ้าง ซึ่งจะตั้งข้อสังเกต โดยแบ่งเป็น ๒ ช่วงกว้างๆ คือ

ระยะแรก ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาถึงครบศตวรรษที่ ๑ คือถึงในราวรัชกาลที่ ๕ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนานั้นแน่นแฟ้นมาก เป็นไปตามแบบแผนประเพณี และบางทีก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รัฐกับพระพุทธศาสนาเรียกได้ว่ามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากทีเดียว วัดยังเป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นแหล่งการศึกษาและวัฒนธรรม รัฐก็ช่วยอุปถัมภ์ในด้านวัตถุปัจจัย ๔ การก่อสร้างปูชนียสถานวัดวาอารามเป็นไปอย่างมากมาย และเน้นมากเป็นพิเศษในบางยุคบางสมัย

นอกจากนั้น ทางรัฐก็ได้ช่วยคุ้มครองให้คณะสงฆ์มีความบริสุทธิ์หมดจด เช่นการที่ได้ออกกฎหมาย กฎพระสงฆ์ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ รัฐได้ช่วยอุปถัมภ์บำรุงกิจการพระศาสนาโดยเฉพาะการศึกษามาก เช่นว่าองค์พระประมุข ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ ทรงเอาพระทัยใส่ ในการศึกษาทางพระพุทธศาสนา โดยพระองค์ก็ได้ศึกษาเอง หลายพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา และอุปถัมภ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนา เช่นการสอบเป็นต้น โดยถือเป็นพระราชภารกิจ และโปรดเสด็จไปในการสอบด้วยพระองค์เอง เช่นในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีเรื่องปรากฏอยู่ในบันทึกต่างๆ ว่า เสด็จไปฟังการสอบความรู้พระสงฆ์และอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ที่สอบได้ โดยที่ในปัจจุบันก็มีร่องรอยของประเพณีต่างๆ เหลือไว้ให้เห็น เช่น การพระราชทานพัดเปรียญ เป็นต้น ในรัชกาลที่ ๑ ก็มีการสังคายนาด้วย และแม้ในตอนที่รับความเจริญจากตะวันตกใหม่ๆ องค์พระประมุขก็พยายามให้พระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญในการดำเนินการศึกษา หรือปรับปรุงการศึกษาของบ้านเมือง

ระยะที่ ๒ เมื่อสิ้นศตวรรษที่ ๑ ขึ้นสู่ศตวรรษที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีการรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะในยุคประชาธิปไตยนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับรัฐเป็นไปในด้านรูปแบบ โดยเฉพาะพิธีกรรมเป็นส่วนมาก ในด้านตัวท่านผู้ปกครองเองก็ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จากตะวันตก ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่มีความรักและอยากอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาอยู่ จึงเป็นไปในทำนองที่ว่า มักจะจับจุดในการอุปถัมภ์ ไม่ถูก หรือว่าสัมพันธ์ไม่ถูกจุดอะไรดังนี้ เป็นต้น และถึงกับได้เกิดมีความรู้สึกในทำนองที่ว่า เรื่องของรัฐกับเรื่องของศาสนาแยกกัน ไม่ก้าวก่ายกัน เช่นว่า การศึกษาทางฝ่ายพระสงฆ์กับของรัฐ ควรเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวก้าวก่ายดังนี้เป็นต้น

การที่พูดอย่างนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เราเห็นหรือจับได้ว่าผู้บริหารในยุคปัจจุบันนี้ ไม่มีความเข้าใจพื้นเพเดิมในทางประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในประเทศไทย คือไม่รู้จุดที่ว่า แค่ไหนควรสัมพันธ์ แค่ไหนควรแยกกัน แค่ไหนก้าวก่าย แค่ไหนเกื้อกูล ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจทั้งหลักศาสนา ทั้งพื้นฐานประเพณี ก็อาจจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และสัมพันธ์กันในทางที่ไม่ถูกต้อง ส่วนที่ควรจะเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลร่วมงานกันก็ไม่ทำ ส่วนที่ไม่ควรเข้ามาก้าวก่าย กลับเข้าไปก้าวก่ายกัน ก็เลยเกิดปัญหาขึ้น ที่ว่านี้รวมไปถึงว่า สิ่งที่ควรอุปถัมภ์ก็ไม่อุปถัมภ์ สิ่งที่ไม่ควรอุปถัมภ์ก็ไปอุปถัมภ์ ดังนี้ด้วย เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจเสียแล้ว จะทำอะไรมันก็มีทางผิดพลาดได้มาก อย่างน้อยก็ไม่ตรงจุด

อีกอย่างหนึ่งก็มีข้อสังเกตว่า ในสมัยปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐบาลมาก รัฐบาลต่างๆ มักประสบปัญหา ไม่สู้จะมีความมั่นคง เมื่อห่วงใยความมั่นคงของตัวเองก็ทำให้ไม่มีเวลา หรือว่าไม่ค่อยกล้าที่จะมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางด้านศาสนา ยิ่งตนเองไม่ค่อยจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องศาสนา และเนื้อหาของวัฒนธรรมประเพณีอยู่ด้วย ก็มีทางผิดพลาดได้มาก จึงยิ่งทำให้ไม่ค่อยกล้า เลยไปกันใหญ่

อีกอย่างหนึ่ง ขอให้สังเกตดู เห็นได้ไม่ยาก สมัยก่อนพระสงฆ์ยุ่งกับศาสนกิจ สั่งสอนให้การศึกษาเผยแพร่ธรรม ทางฝ่ายรัฐและประชาชนจัดการสร้างวัดและเสนาสนะถวาย แต่สมัยนี้พระสงฆ์มักต้องเป็นเจ้าการจัดแจงขวนขวายชักนำในเรื่องนี้เอง จนการก่อสร้างจะกลายเป็นงานหลักของพระสงฆ์สมัยปัจจุบัน สร้างกันไปสร้างกันมาสร้างจนไม่รู้ว่าจะได้ใช้ทำอะไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.