หลักการศึกษาในพระพุทธศาสนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาดำเนินไปอย่างไร

หลักการทางพุทธศาสนามีลักษณะอย่างหนึ่ง คือจะต้องโยงกันได้หมด ถ้าโยงไม่ได้แสดงว่ายังไม่เข้าใจ หลักสรณะสามหรือไตรรัตน์คือ พุทธะ ธัมมะ สังฆะ จะโยงไปหาหลักอะไรได้อีก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วได้มาสั่งสอนประชาชนเพื่อให้เป็นสมาชิกของสังฆะ พระองค์ได้เสด็จไปสั่งสอนในที่ต่างๆ ทั่วไป และก็ได้เกิดมีคนที่พัฒนาตน จนได้เป็นพุทธอย่างพระองค์มากมาย จึงเป็นสังฆะขึ้น แต่วิธีการที่เดินทางสอนเรื่อยไปนั้น เป็นการทำงานที่ได้ผลช้า พระองค์จึงดำเนินวิธีการที่ปัจจุบันเรียกว่า การจัดตั้ง หรือ organization ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้สังฆะเกิดขึ้นอย่างได้ผลจริง และจะเป็นหลักประกันในระยะยาว ที่จะให้มีการทำงานพัฒนามนุษย์เพื่อประกอบกันขึ้นเป็นสังคมที่เป็นสังฆะตลอดไปนานเท่านาน พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งสังฆะขึ้นมาใหม่อีกแบบหนึ่ง เราจึงมีสังฆะ ๒ แบบ แบบที่หนึ่งคือ ใครก็ตามที่ได้พัฒนาตนมีการศึกษาดีแล้ว ก็ประกอบกันเข้าเป็นสังคมที่เรียกว่า สังฆะเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งสมาชิกจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องบวชมีรูปแบบ ห่มผ้าเหลือง ปลงผม เป็นชุมชนทางนามธรรม นี้เป็นสังฆะประเภทที่หนึ่ง ซึ่งบัญญัติศัพท์เรียกว่าเป็น สาวกสังฆะ อย่างในคำสวดว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ แปลว่า หมู่สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว หมายถึงบุคคลแปดประเภท รวมเป็น ๔ ชุด ได้แก่ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ จะเป็นใครอยู่ที่ไหนก็ตามก็อยู่ในกลุ่มสังฆะนี้ ต่อมาเราบัญญัติเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอริยสังฆะ แปลว่าชุมชนแห่งอารยบุคคล ต่อไปแบบที่สองคือ พระพุทธองค์ได้ทรงจัดตั้งกลุ่มคนหรือชุมชน ที่จะทำงานเพื่อให้มีสังฆะประเภทที่หนึ่งนั้นสืบเนื่องต่อๆ ไป โดยจัดตั้งเป็นองค์กร เป็นขบวนการ เป็นสถาบัน เรียกว่าสังฆะเหมือนกัน ภายในสังฆะนี้มีการจัดระบบการดำเนินชีวิตให้เกื้อกูล ให้เอื้ออำนวยต่อการที่จะพัฒนาตนของสมาชิกแต่ละคน และให้เอื้ออำนวยต่อการที่จะทำงาน แนะนำสั่งสอนชักจูงคนให้พัฒนาตนเข้าสู่ระบบสังคมที่เป็นสังฆะอย่างแรกนั้น สังฆะประเภทที่สองจึงเกิดขึ้น เป็นชุมชนทางรูปธรรม เรียกว่าภิกขุสังฆะ หรือ สมมติสังฆะ เป็นหน่วยจัดตั้งเพื่อทำหน้าที่นำคนให้มาประกอบกันเป็นสังฆะประเภทที่หนึ่งต่อไป

สังฆะประเภทที่หนึ่งที่เรียกว่าสาวกสังฆะหรืออริยสังฆะนั้น เกิดจากการพัฒนาตนของแต่ละคนให้เข้าถึงธรรมะคือตัวความจริง สังฆะประเภทนี้อยู่คู่กับธรรม ธรรมเป็นตัวสาระที่จะเอามาพัฒนาคนเพื่อให้เข้าถึงธรรมเป็นพุทธแล้วก็เข้าร่วมอยู่ในสังฆะ แต่สังฆะประเภทที่สองที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นมาเป็นสถาบันเป็นองค์กรนั้น มีระเบียบบทบัญญัติที่เราเรียกว่าวินัยเป็นตัวกำหนด วินัย ก็คือระบบการจัดตั้ง ระเบียบของสังคม แบบแผนประเพณีของสถาบันหรือขององค์กรที่จะทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มนั้นมีชีวิตที่เหมาะสม เหมาะแก่การทำงานที่จะสร้างสังฆะให้สำเร็จ คนในสังฆะอาจเป็นปุถุชน มีความดีงามในจิตใจยังไม่มาก แต่สมัครใจและมีคุณสมบัติพอ ก็รับเข้ามาอบรมเพื่อจะสร้างสังฆะ โดยทำหน้าที่ทั้งในทางพัฒนาตนเองให้เป็นสมาชิกของสังฆะประเภทที่หนึ่ง และช่วยเผยแผ่ สืบต่อคำสอนสืบทอดเจตนารมณ์ของพุทธไว้ โดยสั่งสอนธรรม ให้คนมาร่วมเป็นสมาชิกของสังฆะกันมากขึ้น สังฆะประเภทที่สองนี้คู่กับวินัย ด้วยเหตุนี้ จึงมี วินัยคู่กับธรรม

ถึงตอนนี้ก็ขึ้นสู่หลักที่สาม ที่เรียกว่าหลักธรรมวินัย พระพุทธศาสนาประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธรรม กับ วินัย รวมเป็น ปาพจน์ ดังนั้น จากหลักรัตนตรัยก็ก้าวมาสู่หลักที่เรียกว่า ปาพจน์ ๒ คือหลักแม่บทด้านปฏิบัติการ หลักนี้ทำให้เราต้องคำนึงว่า มิใช่เฉพาะธรรมเท่านั้นที่สำคัญ วินัยก็สำคัญเหมือนกัน และวินัยนั้นก็ไม่ใช่มีความหมายแคบๆ อย่างในภาษาไทย ในภาษาไทยคำว่าวินัย เราใช้กันในความหมายเพียงแง่หนึ่ง หรือส่วนหนึ่งของความหมายเดิมเท่านั้น แต่ในความหมายที่แท้จริง วินัย หมายถึงระบบแบบแผนการจัดตั้งทั้งหมด ถ้าเทียบกับสังคมปัจจุบัน การจัดวางระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมือง การปกครอง วัฒนธรรมประเพณีนั้นอยู่ในเรื่องวินัยทั้งสิ้น ธรรม เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นกฎเกณฑ์ที่มีในธรรมชาติ ส่วนวินัย เป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นระบบแบบแผนที่มนุษย์จัดตั้งขึ้น พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของผู้ที่จัดตั้งระบบแบบแผนของมนุษย์ วินัยก็คือการจัดวางระบบสังคมเพื่อช่วยมนุษย์ให้เข้าถึงธรรมนั้นเอง ดังนั้น วินัยจึงต้องอาศัยธรรมเป็นฐานอิง โดยมีจุดหมายเพื่อจะนำไปถึงบั้นปลาย คือเพื่อดำเนินไปให้เข้าถึงธรรม วินัยเป็นวิธีการของมนุษย์เพื่อทำให้ธรรม ออกผลในสังคม ดังนั้น ในการฝึกอบรมมนุษย์จึงต้องมีทั้งสองอย่าง คือธรรมและวินัย จะมีด้านเดียวไม่พอ โดยเฉพาะในการเกี่ยวข้องกับสังคมทั้งหมดเป็นส่วนรวม

สรุปว่า เราจะต้องมีความเชื่อพื้นฐาน คือเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพัฒนาตนได้ และการที่จะพัฒนาตนให้เป็นพุทธได้ ก็โดยเข้าถึงความจริงที่เป็นแก่นแท้ของธรรมชาติ และปฏิบัติให้สอดคล้อง โดยนำเอาความจริงในธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ ช่วยกันพัฒนามนุษย์ให้เป็นสมาชิกของสังคมที่เรียกว่าสังฆะ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.