ไอที: ภายใต้วัฒธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ขอเจริญพร ท่านสาธุชนผู้ใฝ่รู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพรู้สึกว่าเราจะมีเวลาน้อย เพราะฉะนั้นจะขอเข้าเรื่องกันเลย สำหรับเรื่องที่ตั้งให้พูดนี้ ขอทำความเข้าใจก่อนสักนิดหน่อย

ประการแรก หัวข้อเรื่องที่ตั้งว่า “ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์” เดิมใช้ “ศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์” ซึ่งถ้าตั้งเช่นนั้น เป้าจะอยู่ที่ตัวศาสนา หมายความว่าในขอบเขตเวลาที่เราเรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์นั้น ศาสนาถูกเหตุการณ์หรือความเป็นไปต่างๆ ในโลกนี้กระทบกระทั่งอย่างไร หรือว่าถูกผลกระทบอะไรบ้าง ศาสนาเป็นอย่างไร ศาสนาจะปรับตัวอย่างไร จุดเน้นไปอยู่ที่ศาสนา แต่ในที่นี้ เห็นว่าเราไม่ควรเน้นเฉพาะที่ตัวศาสนา จึงเปลี่ยนหัวข้อเป็น “ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์” ให้ศาสนาเป็นฝ่ายหนึ่ง และยุคโลกาภิวัตน์เป็นอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และกระทำต่อกัน คือ มองได้ทั้งในแง่ที่ว่าศาสนาได้รับผลกระทบอย่างไรจากยุคโลกาภิวัตน์ และศาสนาจะส่งผลต่อยุคโลกาภิวัตน์อย่างไรตลอดจนศาสนาจะช่วยมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร

อนึ่ง ขอทำความเข้าใจต่อไปด้วยว่า ศาสนาในที่นี้เป็นนามธรรม หมายถึงตัวหลักธรรม ตัวหลักการ คือความจริงความถูกต้องดีงาม คือมุ่งไปที่ตัวธรรม หมายความว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้โลกาภิวัตน์มีผลในทางที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องของศาสนาทั้งสิ้น ฉะนั้นขอบเขตของเรื่องที่จะพูดนี้กว้างมาก และจะพูดเน้นในแง่ที่ว่าสภาพในยุคโลกาภิวัตน์เป็นอย่างไร และศาสนาจะช่วยอย่างไร มากกว่าที่จะพูดในแง่ที่ว่าศาสนาจะเป็นอย่างไร และจะรับผลกระทบอย่างไร

ประการที่สอง คำว่า โลกาภิวัตน์ เป็นคำที่เข้าใจกันมากพอสมควรแล้วในปัจจุบัน อาจจะย้ำอีกทีว่า โลกาภิวัตน์ คือสภาพที่เกิดมีเป็นไปหรือแผ่ขยายกระจายไปทั่วโลก อย่างที่เรียกว่าไร้พรมแดน มีอะไรเกิดขึ้นในที่หนึ่งก็รู้ หรือส่งผลกระทบไปทั่วโลก อาจจะมีนัยแฝงอยู่ ด้วยตามที่แฝงในภาษาไทยคือ มีอิทธิพลครอบงำโลกด้วย ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย โลกาภิวัตน์หลายอย่างเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีอิทธิพลครอบงำ ทำให้คนตกอยู่ใต้อำนาจของมัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.