ไอที: ภายใต้วัฒธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เมื่อพัฒนาคนถูกต้อง ชีวิตก็เป็นอิสระ และยิ่งมีความสุข

เมื่อความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจพื้นฐานเอียงไปข้างเดียวแล้ว ทัศนคติและปฏิบัติการทุกอย่างที่ตามมาก็เคลื่อนคลาดพลาดผิด นำไปสู่ปัญหาต่างๆ และการแก้ปัญหาอย่างผิดพลาดที่ยิ่งเพิ่มปัญหาใหม่ เช่น ทัศนคติที่มองวัตถุเสพบริโภคหรือความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย แทนที่จะมองมันในฐานะเป็นปัจจัยหรือสิ่งเกื้อหนุนในการที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้เข้าถึงความดีงามยิ่งขึ้นไป และมองเห็นความสุขจบอยู่ที่การเสพบริโภควัตถุ แทนที่จะมองเห็นศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาสู่ความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป และดำเนินการพัฒนาไปสู่วิถีชีวิตที่พึ่งพาวัตถุเสพบริโภคมากขึ้น แทนที่จะพัฒนาสู่ความเป็นอิสระยิ่งขึ้นไป ซึ่งในที่สุดก็เกิดผลคือการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน ชนิดที่ยิ่งแก้ไขก็ยิ่งวกวนอยู่ในวงจรของปัญหา

มนุษย์ที่พัฒนาตนตามหลักการของพุทธศาสนา จะทำให้ตนเองมีความสุขด้วยตนเองได้มากขึ้น และพึ่งพาขึ้นต่อวัตถุน้อยลง ตรงข้ามกับกระแสการพัฒนาแบบอุตสาหกรรมที่ว่ายิ่งมีวัตถุบริโภคมาก ก็ยิ่งมีความสุขมาก แล้วก็เอาความสุขของตนไปขึ้นอยู่กับวัตถุมากขึ้นตามลำดับ ความสามารถมีความสุขในตนเองน้อยลง จนกระทั่งกลายเป็นลักษณะของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่ขอใช้คำว่า เป็นมนุษย์ที่ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งสุขยากขึ้น เมื่อกี้บอกว่าทุกข์ง่าย พร้อมกับทุกข์ง่ายก็สุขยาก ให้สังเกตว่าคนในยุคนี้เป็นคนสุขยาก เกิดมาแล้วมีชีวิตอยู่นานไป แทนที่จะเป็นคนสุขง่ายขึ้น เพราะเมื่อพัฒนาก็ต้องสุขง่ายขึ้น แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น มนุษย์ปัจจุบันยิ่งโตขึ้นยิ่งสุขยากขึ้นทุกที่ ตอนเป็นเด็กยังสุขง่ายกว่า แต่พอโตขึ้นยิ่งสุขได้ยาก มีเท่านี้แต่ก่อนก็เป็นสุข ต่อมามีเท่านี้กลับเป็นทุกข์ ต้องมีเท่าโน้นจึงจะเป็นสุข พัฒนาศักยภาพที่จะเป็นทุกข์ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

มนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นคนสุขยาก เมื่อสุขยากก็สูญเสียอิสรภาพ เพราะต้องเอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุมาก ส่วนในกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง จะต้องสอนให้มนุษย์มีการพัฒนาเกี่ยวกับความสุขครบทั้งสองด้าน คือ

๑. พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข ข้อนี้มนุษย์ปัจจุบันพัฒนาเต็มที่ การศึกษาปัจจุบันเน้นด้านนี้ อันนี้เก่งนัก แต่อีกด้านหนึ่งคือ

๒. พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ด้านนี้ถูกละเลยมองข้ามไป ไม่ทำ จนกลายเป็นตรงข้ามคือสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข

เมื่อมนุษย์พัฒนาด้านเดียว เขาก็หาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้เก่ง หาได้มาก แต่เขาสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นวัตถุที่ต้องการก็ยิ่งต้องเพิ่มต้องหามาเสพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสุขเท่าเดิม กลายเป็นคนที่สุขยาก กระทั่งในที่สุดก็หมดความสามารถที่จะมีความสุข มีวัตถุมากเท่าไรก็ไม่มีความสุข เพราะหมดความสามารถที่จะมีความสุข ถึงจะมีวัตถุเสพมากเท่าไรก็ไม่มีความสุข

ทีนี้ในการพัฒนามนุษย์ที่มีดุลยภาพ จะต้องพัฒนาความสามารถที่จะแสวงหาสิ่งมาบำเรอความสุข พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เราก็เป็นคนที่สุขง่ายขึ้น และเรากลับต้องการวัตถุน้อยลง พอต้องการวัตถุน้อยลง วัตถุที่จำเป็นต่อการมีความสุขของเราน้อยลง เราก็สุขง่าย จนกระทั่งในที่สุดเรามีความสุขเต็มอิ่มในตัวเราตลอดเวลา วัตถุภายนอกเป็นส่วนเสริม เราก็มีความสุขสองชั้นเป็นทวีคูณ พร้อมกับที่ชีวิตก็มีอิสรภาพมากขึ้น นอกจากนั้นเมื่อวัตถุนั้นไม่จำเป็นต่อการให้เกิดความสุขแก่ตัวเราแล้ว เราก็เอาวัตถุที่เกินจำเป็นไปเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น สามารถเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น การพัฒนามนุษย์นี้ทำให้มนุษย์แทนที่จะมีความสุขจากการได้หรือการเอาอย่างเดียว กลับสามารถมีความสุขจากการให้อีกด้วย เมื่อความสามารถในการมีความสุขก็มาก ความสามารถในการหาวัตถุก็มาก มนุษย์ก็ยิ่งเกื้อกูลกันยิ่งขึ้น การพัฒนาแบบนี้จะแก้ไขปัญหาทั้งทางวัตถุ และทางจิตใจ ทั้งปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมไปพร้อมกัน กับทั้งแก้ไขปัญหาธรรมชาติแวดล้อมด้วยเพราะไม่ต้องบริโภคเกินความจำเป็น ด้วยเหตุผลอย่างนี้แหละจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องให้มีอิสรภาพทั้งทางอินทรีย์และอิสรภาพทางความสุข

อีกประการหนึ่ง อย่างที่พูดเมื่อกี้แล้วว่า เมื่อมนุษย์ยิ่งมีความมักง่าย ยิ่งอ่อนแอ มนุษย์ก็จะยิ่งเจอทุกข์หนักขึ้นเพราะภูมิต้านทานความทุกข์น้อยลง เจออะไรยากหรือต้องทำนิดหน่อยก็เป็นทุกข์ไปหมด ที่นี้เรื่องไม่จบเท่านั้น ในขณะที่เทคโนโลยีทำให้คนอ่อนแอลงนั้น สังคมปัจจุบันนี้โลกมนุษย์ยิ่งมีความซับซ้อน วิถีชีวิตมีปัญหาที่ต้องเผชิญเพิ่มขึ้น ฉะนั้นคนที่อ่อนแอก็จะเป็นคนที่มีความทุกข์มากมายเหลือเกิน ตรงข้ามกับการพัฒนาที่ถูกต้อง เมื่อพัฒนาให้คนมีความเข้มแข็ง สู้งาน สู้สิ่งยาก เขาจะได้ความสุขจากความยากด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่เราอาจไม่คาดคิด สิ่งง่ายนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะสบายอยู่แล้ว แต่สิ่งยากทำให้คนเกิดความสุขได้อย่างไร

เมื่อคนมีจิตสำนึกในการศึกษาและพัฒนาตน เจอสิ่งยากก็จะเข้าหาก่อนเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งใดยากสิ่งนั้นก็ทำให้เขาได้ฝึกตนมาก ยิ่งยากยิ่งได้ฝึกตนมาก พูดสั้นๆ ว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก งานอะไรยากปัญหาอะไรที่ยากก็ยิ่งเป็นเครื่องพัฒนาความสามารถของเราได้มากยิ่งขึ้น คนเราที่จะพัฒนาจนเก่งกล้าสามารถได้นั้น เพราะพบอุปสรรคหรือเจอปัญหา และได้พยายามใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นเมื่อได้เจอสิ่งยาก คนที่พัฒนาตนจะชอบที่สุด สิ่งที่ง่ายๆ เขาไม่เอา เขาจะเข้าหาอันที่ยากเลยเพราะว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก แล้วก็ดีใจที่ได้ ฝึกตนจากสิ่งที่ยากนั้น ส่วนคนที่ไม่ได้สร้างจิตสำนึกในการพัฒนาตน พอเจอสิ่งยาก หนึ่ง ทุกข์ สุขภาพจิตเสีย สอง ฝืนใจ ไม่เต็มใจทำ ผลงานก็เลยไม่ได้ไม่ดี แต่คนที่มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน พอเจอสิ่งที่ยาก ก็ชอบใจดีใจ สุขภาพจิตก็ดีมีความสุขแล้วก็เต็มใจทำก็จึงทำได้ผลดีด้วย

คนที่ขาดจิตสำนึกในการศึกษา อยู่ไปๆ ก็จะมีความสุขจากการเสพอย่างเดียว ความสุขอยู่ที่การได้รับการบำรุงบำเรอและไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำอะไรก็เป็นความทุกข์ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกในการศึกษา จะพึ่งพาสุขจากการเสพน้อยลง และมีความสุขจากการกระทำ หรือสุขจากการสร้างสรรค์ สำหรับคนพวกแรก การกระทำคือความทุกข์ แต่สำหรับพวกหลังการกระทำคือการสร้างสรรค์และความสุข ฉะนั้นต้องพัฒนาจิตสำนึกในการฝึกตน พอมีจิตสำนึกนี้แล้วเขามาอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยีที่ช่วยให้ง่ายด้วย ก็สบายเลยคราวนี้ คนจะมีความสุขสองชั้น นี่เป็นการพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยี ถ้าเราพัฒนาคนให้มีคุณภาพแบบนี้ เรามั่นใจได้เลยว่าสังคมไทยจะต้องเจริญแน่นอน ไม่มีปัญหาเลย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.