การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัญญา จะพัฒนาสมบูรณ์ ต้องไม่ติดตันใต้ทิฏฐิ

ต่อไป เรื่องปัญญากับทิฏฐิ ปัญญาคือความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง คนเราพัฒนาปัญญาเพื่อให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แต่ในขณะที่เราแสวงหาปัญญาอยู่นั้น ก็มักจะตกหลุมอีกแห่งหนึ่งขึ้นมา คือพอเราได้รู้อะไรนิดๆ หน่อยๆ เราจะเริ่มลงความเห็น สิ่งที่กลายเป็นความเห็นของเรานี้ ท่านเรียกว่า ทิฏฐิ

คนบางพวกมีความโน้มเอียงที่จะลงความเห็นง่าย พอลงความเห็นปุ๊บไปแล้ว ตัวเองยังไม่ทันเข้าถึงความจริงก็เลยติดอยู่ในความเห็นอันนั้นเอง ทั้งที่เพิ่งได้ความจริงเพียงแง่หนึ่งด้านเดียว อันนั้นก็กลายเป็นทิฏฐิไปเสียแล้ว พอลงเป็นทิฏฐิแล้ว เจ้าทิฏฐินั้นก็

๑. กลายเป็นตัวอุปสรรค มาขัดขวางตัวเขาเอง ไม่ให้แสวงหาปัญญาต่อ ก็เลยเข้าไม่ถึงความจริง

๒. เป็นอันตรายต่อเพื่อนมนุษย์ เพราะตัวเองก็จะดื้อรั้นให้เป็นไปตามทิฏฐิของตน จนบางทีถึงกับไปบังคับคนอื่นให้เห็นตาม

ฉะนั้น ทิฏฐิจึงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนาปัญญา มันเกิดขึ้นในระหว่างที่เรากำลังแสวงหาปัญญา แต่พอมันเกิดขึ้นแล้วกลับเป็นอันตราย ทั้งกั้นตัวเองด้วย และทำร้ายผู้อื่นด้วย ฉะนั้นจึงมีปัญหาว่าทำอย่างไรจะไม่ให้คนตกลงไปอยู่ใต้ทิฏฐิ เราจะได้ก้าวหน้าในปัญญาอยู่เสมอ

คนที่เป็นนักแสวงปัญญานั้น จะไม่ลงทิฏฐิง่ายๆ แล้วก็ไม่ยึดติดถือมั่นอยู่ใต้ครอบงำของทิฏฐิ เรื่องนี้ยังไม่มีเวลาอธิบายก็ขอผ่านไปก่อน

เวลานี้ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องปัญญากับทิฏฐิก็คือว่า โลกแคบเข้ามารวมกันเป็นหนึ่งเดียวโดยเทคโนโลยี แต่คนยิ่งแตกยิ่งแยกกันโดยทิฏฐิ นี่คือจุดติดตันของอารยธรรมมนุษย์ยุคปัจจุบัน

เวลานี้เทคโนโลยีได้ช่วยให้โลกมีสภาพทางกายภาพรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มนุษย์ติดต่อถึงกันหมด ฝรั่งเรียกว่าเป็น global village แต่เสร็จแล้วมนุษย์กลับแบ่งแยกกันอย่างหนัก มีการทะเลาะ ตลอดจนทำสงครามกันเนื่องจากเชื้อชาติ ผิว เผ่าพันธุ์ ลัทธิ ศาสนา เป็นต้น เพราะอะไร ก็เพราะทิฏฐินี่แหละ คือมีความยึดมั่นในความเห็นโดยถือว่าอันนี้เท่านั้นดี พวกฉันเท่านั้นดี เป็นต้น

ปัจจุบัน ปัญหาที่มนุษย์ติดตันมี ๒ เรื่อง

๑. สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม

๒. การขัดแย้งทำลายกันเอง เนื่องจากการแบ่งแยกผิว พวก เผ่าพันธุ์

มนุษย์ติดตันสองเรื่องนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นปัญหาร้ายแรงถึงขั้นทำให้อารยธรรมสูญสิ้น และมวลมนุษย์พินาศได้

ปัญหาแรกเกิดจากทิฏฐิที่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และเห็นว่าความสำเร็จและความสุขสมบูรณ์ของมนุษย์อยู่ที่การพิชิตธรรมชาติ แล้วสามารถจัดการกับธรรมชาติได้ตามที่ตนปรารถนา อันประสานเข้ากับทิฏฐิที่เชื่อว่ามนุษย์จะมีความสุขมากที่สุด เมื่อมีสิ่งเสพบริโภคพรั่งพร้อมที่สุด

ปัญหาที่สองเกิดจากทิฏฐิที่ยึดติดในการถือตัวถือตน สิ่งที่เป็นของตน ใจคับแคบ เอาแต่พวกของตน ตลอดจนลัทธิศาสนาของตน

มนุษยชาติจะพ้นไปจากภัยพิบัติ มีสันติสุขแท้จริง จะต้องสร้างสรรค์ปัญญาที่ทำให้ตัวมนุษย์เองข้ามพ้นไปได้จากทิฏฐิสำคัญที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องบรรยายไว้ต่างหากจากที่นี้

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.