การสร้างสรรค์ปัญญา เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัญญา พัฒนาจากฐานแห่งการรู้จักใช้ปัญญา

สิ่งที่ไม่มีโอกาสพูด แต่ขอเริ่มไว้นิดหน่อย คือ วิธีสร้างสรรค์ปัญญา เราต้องการปัญญาที่รู้แจ้งเข้าใจความเป็นจริงจนถึงโพธิญาณ แต่ในตอนที่ยังไม่ถึงโพธิญาณ ก็ให้มีแค่สัมมาทิฏฐิก่อน คือให้ถือหลักการที่จะช่วยให้วางใจวางท่าทีปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง อย่างน้อยก็ให้เป็นปัญญาชนิดที่เป็นเชื้อเป็นฐานให้เกิดช่องทางที่จะพัฒนาชีวิตต่อไป

ทิฏฐิมี ๒ แบบ ถ้าเป็นทิฏฐิถูกต้องก็เป็นฐานของการพัฒนาต่อไป แต่ถ้าเป็นทิฏฐิที่ผิดก็ติดตันกั้นตัวเราอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ทิฏฐิประเภทที่ช่วยให้เรามีการพัฒนาได้คือสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐินี้เป็นความเชื่อ หรือการยึดถือในหลักการ ทิฏฐิที่เป็นสัมมา และเป็นฐานของการพัฒนาได้ เช่น การเชื่อในหลักการว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย การเชื่อในหลักการว่าสิ่งทั้งหลายเป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยทั้งหลาย

การเชื่ออย่างนี้ เป็นทางแห่งการพัฒนาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อท่านเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอท่านเจออะไรแล้วนึกถึงหลักขึ้นมาว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ท่านก็ต้องสืบสาวหาเหตุ ก็เกิดการใช้ปัญญาทันที ฉะนั้น ความเชื่อหรือทิฏฐิแบบนี้จึงเป็นสัมมา เพราะเป็นฐานของการพัฒนาต่อไป แต่ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามการดลบันดาลของเทพเจ้า พอเราไปเจออะไรเข้า ก็นึกไปตามหลักนั้นว่าท่านดลบันดาลมาอย่างนั้น การพิจารณาก็จบแค่นั้น เราก็ไม่ใช้ปัญญา ฉะนั้น ทิฏฐิแบบนั้นจึงไม่เป็นฐานของการพัฒนามนุษย์

เมื่อยังไม่มีปัญญาเต็มที่สมบูรณ์ ก็ขอให้มีสัมมาทิฏฐิ คือ ทิฏฐิที่เป็นหลักการที่จะเป็นฐานของการพัฒนาปัญญาต่อไป ถ้าท่านเชื่อในหลักการอย่างที่ว่ามาเมื้อกี้ ท่านก็จะได้พัฒนาต่อไปเรื่อย จึงขอให้มีสัมมาทิฏฐิ

ทีนี้ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง แยกเป็นปัจจัยภายใน กับปัจจัยภายนอก

๑. ปัจจัยภายในคือ โยนิโสมนสิการ การรู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง

๒. ปัจจัยภายนอก คือ ปรโตโฆสะ เสียงจากผู้อื่นในทางที่ดี หรือกัลยาณมิตร

เราต้องพัฒนามนุษย์ทั้งสองด้าน คือ ด้านภายใน ให้เขามีปัจจัยภายในที่จะใช้ปัญญา จนสามารถพึ่งตนเองได้ แต่คนส่วนมากนั้น ไม่ค่อยมีโยนิโสมนสิการ เราจะต้องช่วย โดยเฉพาะในสังคมวงใหญ่ ก็จึงต้องทำปรโตโฆสะให้เป็นกัลยาณมิตร ก็เกิดเป็นกัลยาณมิตรจัดตั้งขึ้นมา ดังที่ได้มีการสร้างระบบการศึกษาและจัดสรรกิจการต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นระบบกัลยาณมิตร ที่จะมาช่วยเป็นปัจจัยในการทำให้เกิดโยนิโสมนสิการ ถ้าเขายังไม่มีโยนิโสมนสิการ ก็พึ่งตนเองยังไม่ได้

ในการสร้างปัญญานี้ จะต้องยอมรับความจริงว่าคนส่วนใหญ่ต้องอาศัยปัจจัยทางสังคมมากอย่างที่ว่าแล้ว และมีคนเพียงจำนวนน้อยที่จะสามารถเข้าถึงภาวะพัฒนาด้วยโยนิโสมนสิการของตนเอง อันนี้เป็นข้อสังเกตสำคัญในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะจุดเน้นข้อแรกของการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ก็คือ จะต้องเป็นสังคมที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ ซึ่งก็ได้แก่สังคมแห่งกัลยาณมิตรนั่นเอง สังคมกัลยาณมิตรนั้นเป็นระบบแห่งปัจจัยภายนอก ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้เกิดสัมมาทิฏฐิ

ในฐานะที่เป็นปัจจัยภายนอก คนที่เป็นกัลยาณมิตร เมื่อจะช่วยเหลือในการพัฒนาคน จะต้องมองสองอย่าง

ยกตัวอย่าง ถ้าเราเป็นครู เราจะพัฒนาเด็ก ในแง่หนึ่งมองจากด้านปัจจัยภายนอก เราเป็นสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้จัดสรรสิ่งแวดล้อม บทบาทในแง่นี้บอกเราว่า เราจะต้องจัดสรรสิ่งแวดล้อมเช่นข่าวสารข้อมูลที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก แต่เมื่อมองในแง่ปัจจัยภายใน ในฐานะผู้สอนที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพภายในตัวเด็ก เราจะต้องสอนเด็กให้เกิดโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีความหมายว่า เราจะต้องช่วยให้เด็กพัฒนาตัวเขาเองจนสามารถถือเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด การทำหน้าที่ ๒ อย่างนี้เป็นสิ่งที่ย้อนกลับกัน แต่เสริมกัน

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในการทำหน้าที่ทางการศึกษา เมื่อมองจากภายนอก ในฐานะเป็นกัลยาณมิตร ผู้รับผิดชอบสังคม ผู้บริหาร ตลอดจนพ่อแม่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นครูเป็นอาจารย์ จะต้องทำสิ่งที่คล้ายกับตรงข้ามกันสองอย่างเข้ามาประสานกัน คือ

๑. ด้านภายนอก จัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก ให้เด็กได้สิ่งแวดล้อมที่ดีที่เกื้อกูล และพร้อมกันนั้น

๒. ภายในเด็ก พัฒนาให้เด็กสามารถเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด

ถ้าเมื่อใด เด็กมีความสามารถอย่างที่สองภายในตัวเขาเอง เขาจะพึ่งตนเองได้ และเป็นความสำเร็จในการศึกษา หมายความว่า เด็กที่พัฒนาดีแล้วนี้ ไม่ว่าเขาจะเจอกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์อะไร จะต้องเก่งจนสามารถจับเอาประโยชน์ได้จากสิ่งเหล่านั้นทุกอย่าง ไม่ว่าจะดีหรือร้าย อย่างที่ท่านเล่าไว้ว่า พระบางองค์ไปเจอคนบ้า พอเดินสวนทางกัน ได้ยินคนบ้าพูด ท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ คนที่มีปัญญารู้จักใช้โยนิโสมนสิการ จะได้ประโยชน์แม้แต่จากคำด่า

คนที่จะด่าเรานั้นเขาต้องคิดนาน และตามปกติเรามองตัวเองยากมาก และเราก็ไม่มีเวลาคิด เมื่อเราฟังคำด่า เราสามารถสำรวจพิจารณาตัวเองได้มาก โดยไม่ต้องไปเสียเวลาคิด ส่วนคำชมนั้น คนมักพูดไปตามที่ได้เห็นได้ยิน ซึ่งปรากฏอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้เวลาคิด และเราทำได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงได้ประโยชน์จากคำด่ามากกว่าคำชม คนที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะไปพบประสบการณ์ใดหรือตกอยู่ในสถานการณ์ใด ก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น การพัฒนาคนขึ้นมา จึงมีแต่ดี

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.