คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ตอน ๒: ไทยปัจจุบันกับป่า

สภาพความสัมพันธ์
ระหว่างคนไทยปัจจุบันกับป่า

ที่ว่ามานี้ เป็นการมองดูความสัมพันธ์โดยทั่วไปของมนุษย์กับธรรมชาติ แต่เป็นการเน้นในด้านที่จะให้เห็นภูมิหลังของคนไทย ตอนนี้ลองมาทบทวนดูท่าทีของคนไทยปัจจุบัน ตามที่ปรากฏอยู่ในการสัมพันธ์กับธรรมชาติ และสืบสาวหาตัวอิทธิพลที่ส่งผลให้เกิดลักษณะท่าทีอย่างนั้น

ว่ากันโดยทั่วๆ ไป ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า หรือมนุษย์กับธรรมชาตินั้น นอกจากมีท่าทีความรู้สึกแบบเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นมิตร ซึ่งเป็นลักษณะความสัมพันธ์กว้างๆ แบบหนึ่งแล้ว ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่สำคัญและส่งผลกว้างไกลมากก็คือ บางทีมนุษย์มีความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครองธรรมชาติ เป็นเจ้าของมัน มันเป็นสมบัติของเรา ซึ่งเราจะจัดการอย่างไรก็ได้

อันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น แต่ในอารยธรรมตะวันตก มันเป็นทิฏฐิ คือความยึดถือ ความเชื่อ เป็นทฤษฎี เป็นหลักคำสอน หรือเป็นบทบัญญัติเลยทีเดียว ดังจะได้พูดต่อไป

อย่างไรก็ดี การยึดถือว่า ธรรมชาติเป็นสมบัติของเรา หรือว่าเราเป็นผู้ครอบครองธรรมชาตินั้น ในแง่ของธรรมแล้ว มันเป็นจริงไม่ได้ เพราะมนุษย์ไม่สามารถไปยึดครองเป็นเจ้าของอะไรได้จริง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราได้แต่สมมติกันเท่านั้นว่าเป็นเจ้าของ แต่โดยสัจจธรรมแล้วเป็นไปไม่ได้

สิ่งทั้งหลายเป็นของธรรมชาติ มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ มันไม่ได้เป็นไปตามความอยากของคน เราจะไปบังคับมันไม่ได้ บงการมันไม่ได้ นอกจากทำตามเหตุปัจจัยของมัน แล้วมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น แต่มนุษย์ไม่มองความจริง ก็ไปตั้งความรู้สึกและยึดถือว่าเป็นผู้ครอบครอง เป็นเจ้าของมัน อย่างที่เล่ามาแล้ว

นอกจากนี้ ในด้านความรู้สึกที่ดี ก็มีความรู้สึกชื่นชมความงาม และความรู้สึกสดชื่นรื่นรมย์ที่ทำให้เกิดความสุข ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เอื้อต่อการอนุรักษ์

ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งคือ ความรู้สึกเคารพยำเกรง อย่างที่คนโบราณยึดถือว่า มีเจ้าป่า หรือมีรุกขเทวดาอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ๆ ความเชื่อหรือยึดถือนี้ ทำให้เกิดความเคารพยำเกรงแล้วก็กลัว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ช่วยเอื้อในการรักษาป่า

แต่ในยุคที่บ้านเมืองเจริญพัฒนาในการศึกษาแบบสมัยใหม่มากขึ้น ความรู้สึกนี้ก็ค่อยๆ หมดไป ต้องเปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกที่ประกอบด้วยเหตุผล

แต่ก็จะต้องมีการเปลี่ยนอย่างดี อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างมีกระบวนการ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่า ของเก่าก็ทิ้งไป ของใหม่ก็ไม่ได้ คือ ความรู้สึกแบบเคารพยำเกรงเทวดาก็หมดไป ส่วนความรู้สึกเข้าใจในเหตุผลที่จะต้องอนุรักษ์ก็ไม่มี เป็นความผิดพลาดของการพัฒนา เรียกว่าเสียหลัก พอเสียหลักแล้วก็ไม่ได้เลยทั้ง ๒ อย่าง มีแต่เสียอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น ถ้าจะทิ้งอันเก่า ก็จะต้องรู้จักชะลอให้มีการเชื่อมต่อให้ดี ให้รับกันให้ได้ ถ้าอันใหม่ยังไม่ได้ อาจจะต้องใช้อันเก่าให้เป็นประโยชน์ก่อน

ในเมื่อชาวบ้านยังไม่มีจิตสำนึกที่ประกอบด้วยเหตุผลในการที่จะรักษาป่าด้วยความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เราก็อาจต้องเอาความรู้สึกแบบยำเกรงพวกเทพเจ้าต่างๆ นี้มาช่วย

จนกว่าเมื่อใดชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติมากขึ้น ก็จะโอนมาสู่ความรู้สึกแบบมีเหตุผลมากขึ้น และมีความคิดแบบพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อนั้นแหละเขาจึงจะรักษาธรรมชาติ อนุรักษ์ป่าได้เอง

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีการพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา คือ พัฒนาคนให้มีความซาบซึ้ง มีความเข้าใจ ให้เกิดเป็นจิตสำนึกที่จะเอาใจใส่รับผิดชอบด้วย

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะส่งผลมาเป็นความรู้สึกนึกคิดต่อธรรมชาติของคนไทยสมัยนี้ ก็คือเรื่องที่จะพูดต่อไป ในตอนที่ว่าด้วย รากฐานทางความคิดของอารยธรรมตะวันตก

นอกจากนั้น ยุคหนึ่งที่ผ่านมาใกล้ๆ นี้ ซึ่งยังสืบมาจนถึงปัจจุบัน เป็นยุคที่คนไทยของเรามีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อป่าและต้นไม้ ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลมาถึงยุคนี้ด้วย และก็อาจจะเกี่ยวพันกับรากฐานความคิดจากตะวันตกนั้นด้วย ก็คือยุคที่ประเทศไทยเราเข้าสู่การพัฒนา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.