คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มนุษย์กับธรรมชาติ
ในแนวคิดเดิมของตะวันตก

ทีนี้เราก็มาดูว่า รากฐานทางความคิดของอารยธรรมตะวันตกที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินี้เป็นอย่างไร

ตอนนี้ฝรั่งเองก็มาถึงจุดที่ต้องหันมาสนใจในเรื่องนี้ คือ ฝรั่งเขาก็ขบคิดกัน แล้วเขาก็สืบค้นว่าอารยธรรมที่เขาได้พัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งมีปัญหา เกิดสภาพแวดล้อมเสียนั้น มันเกิดจากอะไร พฤติกรรมในการสร้างความเจริญแบบนี้ มีเหตุปัจจัยมาจากรากฐานทางความคิดอย่างไร ก็สืบกันไป

เวลานี้ก็พูดกันแทบจะเป็นเสียงเดียวในทางตะวันตกว่า สาเหตุสำคัญอันเป็นต้นตอของปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย ก็คือการที่มนุษย์มองตัวเองแยกต่างหากจากธรรมชาติ

ตอนนี้ฝรั่งจับจุดอันนี้ไว้ แล้วก็ย้ำกันอยู่เสมอ ในหนังสือที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมจะมีการย้ำเตือนกันอยู่เสมอว่า ให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

เดี๋ยวนี้หนังสือฝรั่งพูดอย่างนี้เรื่อย ทำไมฝรั่งเขาพูดอย่างนี้ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาฝรั่งไม่เคยมองอย่างนั้น ไม่เคยมองตัวเองเป็นส่วนร่วมอย่างหนึ่งอยู่ในธรรมชาติ

ฝรั่งยอมรับเต็มที่เลยว่า อารยธรรมตะวันตกมาจากรากฐานทางความคิด ที่มองมนุษย์แยกต่างจากธรรมชาติ แล้วไม่ใช่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติเท่านั้น ยังมองในลักษณะที่มนุษย์จะต้องเข้าไปครอบงำ ครอบครอง เป็นนายเหนือธรรมชาติ เป็นผู้พิชิตธรรมชาติ

พิชิตเพื่ออะไร ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะได้ไปจัดสรรธรรมชาติ จัดการปั้นแต่งมาเป็นสิ่งบริโภค เพื่อรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์

เมื่อว่าโดยสรุป ความคิดของตะวันตกในเรื่องนี้มี ๓ ขั้นตอน คือ

๑. มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ

๒. มนุษย์ที่แยกต่างหากจากธรรมชาตินั้น จะต้องครอบครอง เป็นนาย เป็นผู้พิชิต เป็นผู้จัดการธรรมชาติ

๓. ที่จัดการธรรมชาตินั้น ก็เพื่อเอาธรรมชาติมาปั้นแต่งเป็นรูปต่างๆ ให้เป็นเครื่องรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์

อันนี้เป็นความคิดของตะวันตก ซึ่งตอนนี้ฝรั่งเองได้หันไปสืบค้นออกมาบอกกัน ถึงกับเขียนเป็นบทตอนสำคัญในหนังสือเล่มใหญ่ๆ 1

เขาพูดไว้ชัดเจน เพราะเขาสืบค้นมาโดยตลอด ย้อนหลังไป ตั้งแต่โสเครติส ว่ามีความคิดอย่างนี้ พลาโต อริสโตเติล ก็มีความคิดอย่างนี้ ฟรานซิส เบคอน เดคาร์ตส์ แม้กระทั่ง ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาคนสำคัญ อิมมานูเอล คานท์ นักปรัชญาใหญ่ จนกระทั่ง คัมภีร์ไบเบิลก็คิดก็สอนมาอย่างนี้ รายละเอียดขอให้โปรดอ่านเอง

ลองดูวาทะของเดคาร์ตซ์ (Descartes) เพียงท่านเดียวเป็นตัวอย่างไว้ก่อน ท่านผู้นี้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของวิทยาศาสตร์ว่า เพื่อช่วยให้มนุษย์ต่อสู้จน “ผันตัวเองขึ้นเป็นเจ้านายผู้ครอบครองธรรมชาติ”

รวมความว่า ศาสนา ปรัชญา และวิทยาการต่างๆ ของตะวันตก รวมทั้งพวกนักเศรษฐศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ ไม่ว่าทางฝ่ายทุนนิยม หรือสังคมนิยม แทบจะหมดสิ้นในตะวันตก มีความคิดความเชื่ออย่างนี้ทั้งนั้น จนกระทั่งเขาบอกว่า ในที่สุดแล้ว ความคิดของตะวันตก ไม่ว่าฝ่ายทุนนิยมก็ดี ฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ดี ที่มาแยกกันเป็น ๒ ฝ่ายนั้น ที่แท้จริงแล้วก็มีรากฐานทางความคิดอันนี้อย่างเดียวกัน

อารยธรรมตะวันตกตั้งอยู่บนรากฐานทางความคิดอันนี้ทั้งหมด คือ ความคิดที่มนุษย์แยกตัวจากธรรมชาติออกมาตั้งตนเป็นผู้ครอบครองจัดการ

1หนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนเรื่องนี้ไว้มาก คือ
Clive Ponting, A Green History of the World (New York: St. Martin's Press, 1991), pp. 141-160
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.