คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จะแก้ปัญหาให้สัมฤทธิ์
ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดกันใหม่

ตามนัยคำสอนของพระพุทธศาสนา มนุษย์จะมีอิสรภาพเมื่อเป็นใหญ่ในชีวิตของตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้จริง คือพัฒนาตนเอง พัฒนาจิตใจของตนเอง พัฒนาปัญญา จนกระทั่งทำให้ตัวเองเป็นได้ในสิ่งที่ดีที่สุด สามารถเข้าถึงหรืออยู่ในภาวะที่ดีที่สุดได้ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งจัดการภายนอก

หลักนี้ต่างจากวิถีของความคิดแบบตะวันตกที่เข้าใจว่า ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ คือ การไปเอาชนะธรรมชาติภายนอก และเอาธรรมชาติมาจัดสรรปรุงแต่งเพื่อรับใช้มนุษย์ แต่เสร็จแล้วกลายเป็นว่าตัวเองต้องไปขึ้นกับสิ่งเหล่านั้น ไม่เป็นตัวของตัวเอง อยู่เป็นสุขโดยลำพังตัวเองไม่ได้ อยู่ไม่ได้ถ้าขาดสิ่งเหล่านั้น ซึ่งก็คือได้สูญเสียอิสรภาพไปแล้ว

ทีนี้ พอมนุษย์เข้าถึงธรรมชาติแล้ว มนุษย์ก็มีความสุขด้วยตัวเองได้ ส่วนวัตถุบำรุงบำเรอภายนอก ก็เป็นเครื่องเสริมความสุขระดับรอง เมื่อเรามีความสุขภายในของตัวเองเป็นทุนอยู่ชั้นหนึ่งหรือเป็นหลักประกันอยู่แล้ว ความสุขที่อาศัยวัตถุภายนอกของเราก็อยู่ในขอบเขต เราไม่ถึงกับต้องขึ้นต่อมัน แต่มันจะเป็นเครื่องประกอบที่เสริมเพิ่มพูนความสุข

เมื่อเรามีความสุขส่วนหนึ่งเป็นทุนอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปดิ้นรนอย่างรุนแรงในการหาวัตถุบำเรอจากภายนอกเหล่านั้น จึงทำให้เกิดดุลยภาพในเรื่องของความสุข ซึ่งโยงไปหาความหมายของอิสรภาพด้วย คือ อิสรภาพของมนุษย์ที่แท้จริง ที่เป็นไทแก่ตัวเอง ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกในการที่จะมีความสุข

เมื่อมีดุลยภาพอย่างนี้ ก็จะมีผลออกมาทางสังคมด้วย คือ จากจุดเริ่มของดุลยภาพที่เกิดขึ้นในชีวิตจิตใจของตัวเอง เมื่อชีวิตจิตใจของตัวเองเป็นอิสระ มีความสุขได้เองโดยลำพัง ไม่ต้องขึ้นต่อการแสวงหาวัตถุบำรุงบำเรอแล้ว มนุษย์ก็จะไม่ต้องเบียดเบียนกันทางสังคม และไม่ต้องไปสมคบกันทำลายธรรมชาติแวดล้อมด้วย

มนุษย์จะมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติในแง่ที่อยู่ร่วมกันได้ เพราะมนุษย์สามารถมีความสุขจากการสัมพันธ์กับธรรมชาติเองโดยตรง ไม่ใช่ต้องรอไปเอาธรรมชาติเป็นทรัพยากรมาผลิตเป็นวัตถุบริโภคก่อน แล้วจึงเอามาบำรุงความสุข แต่มนุษย์มีความสุขกับธรรมชาติโดยตรงได้เลยทันที

พร้อมกันนี้ มนุษย์ก็มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมอย่างเป็นมิตรและเสมอภาค ไม่ใช่สัมพันธ์แบบข่มเหง เอาเปรียบ

มนุษย์ที่พัฒนาแบบที่กล่าวในตอนก่อนนั้น เป็นการทำตัวให้ห่างเหินจากธรรมชาติ แยกตัวจากธรรมชาติ และเป็นการหาความสุข โดยการไปเอาธรรมชาติมาจัดการปั้นแต่งเป็นผลิตผลอีกทีหนึ่ง เป็นวิถีชีวิตที่เอียงหรือพุ่งสุดไปข้างเดียว เรียกว่าเสียดุล ดุลยภาพที่สำคัญมาก ได้แก่ ดุลยภาพของความสุข และดุลยภาพที่เกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์

เพราะฉะนั้น มนุษย์จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีดุลยภาพในความหมายที่ถูกต้องนี้ด้วย แล้วก็จะแก้ไขปัญหานี้ได้ เขาจะสามารถเข้าถึงธรรมชาติ และมีความสุขจากธรรมชาติโดยตรง แล้วเขาก็จะอยู่กับเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนธรรมชาติ

นี่คือ ถ้าไม่แก้ใขที่คนให้เขาพัฒนาจนถึงจุดนี้แล้ว จะแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรและธรรมชาติแวดล้อมได้ยาก หรือแก้ไม่สำเร็จเลย เพราะเมื่อฐานความคิดมีอยู่อย่างนั้นแล้ว พฤติกรรมในการแก้ปัญหาก็เป็นไปแบบฝืนใจ

ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ประสานไปด้วยกันกับการพัฒนาตัวคน จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งในตัวมนุษย์เอง คือ การที่มนุษย์จะต้องฝืนใจในการแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อม ตามหลักจริยธรมที่เรียกร้องหรือบีบคั้นให้เขาต้องทำโน่นงดนี่ ซึ่งขอเรียกว่าเป็น จริยธรรมแห่งความฝืนใจ หรือ จริยธรรมแห่งความกลัว

นั่นก็คือ เป็น จริยธรรมแห่งความทุกข์ นั่นเอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.