ทางออกของสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภาคผนวก

ปัญหาการแปลและตีความคำบาลีของพระโพธิรักษ์

ในข้อความข้างต้นของหนังสือเล่มนี้ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ดู เพื่อให้เห็นว่าการแปลและตีความคำบาลี และถ้อยคำทางธรรมของพระโพธิรักษ์ผิดพลาดและทำให้เกิดปัญหาอย่างไร แต่ตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น การแปล ฮ็อตดอก (hot dog) เป็นเนื้อสุนัขร้อนๆ เป็นต้นนั้น แม้จะเข้าใจง่าย แต่บางทีก็ทำให้ผู้อ่านมองในแง่ตลกขบขันไปเสีย ไม่มองเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างไร จึงเห็นว่าควรจะอธิบายให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

การแปลหรือเข้าใจความหมายของถ้อยคำผิดพลาดนั้น บางทีก็เป็นเพียงทำให้ตลกขบขัน ไม่มีผลเสียหายร้ายแรง แต่บางครั้งก็มีโทษมาก อาจทำให้ทำอะไรผิดพลาดเป็นอันตรายแก่ตนเองหรือแก่สังคม อาจทำให้คนเข้าใจผิดถึงกับทะเลาะวิวาท ฆ่าฟันกัน อาจทำให้เกิดสงครามระหว่างเผ่า ตลอดจนระหว่างประเทศก็ได้ แล้วแต่ถ้อยคำ ความหมายที่เข้าใจผิด และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนจากภาคกลางกลุ่มหนึ่ง เดินทางไกลไปในภาคอีสาน ถึงถิ่นหนึ่ง ทางที่จะไปข้างหน้าแห้งแล้งและห่างไกลมาก คณะเดินทางได้แวะถามชาวบ้านว่า "ข้างหน้ามีน้ำไหม?" ชาวบ้านตอบว่า "น้ำหน้าบ่มี" คำตอบของชาวบ้านนี้มุ่งให้เข้าใจว่า ทางข้างหน้าไม่มีน้ำ แต่คำว่า "บ่" ของชาวบ้าน ซึ่งแปลว่า ไม่ นั้น มีเสียงพูดตรงกับคำว่า "บ่อ" ที่คนภาคกลางเข้าใจว่าเป็นแหล่งน้ำ คณะเดินทางนั้นจึงเข้าใจผิดไปอย่างตรงข้ามว่า บนหนทางข้างหน้ามีบ่อน้ำ ไม่มีปัญหา พวกเขาจึงไม่เตรียมน้ำไปเลย ความเข้าใจผิดนี้จึงทำให้เขาอดน้ำ ได้รับความทุกข์เป็นอันมาก หรือถ้าสถานการณ์ร้ายแรงก็อาจจะถึงตาย อีกตัวอย่างหนึ่ง คือเรื่องผู้ใหญ่ลีที่คุ้นกันดี ผู้ ใหญ่ลีตีกลองประชุมชาวบ้าน แล้วแจ้งข่าวว่า ทางการสั่งให้ชาวนาเลี้ยงไก่และสุกร ตาสีไม่เคยได้ยินคำว่าสุกรและไม่รู้จักว่าเป็นอะไร จึงถามว่า สุกรนั้นคืออะไร ซึ่งผู้ใหญ่ลีก็ไม่รู้จักเหมือนกัน แต่ก็ได้เดาตอบไปว่า สุกรคือหมาน้อยธรรมดา การที่ผู้ใหญ่ลีให้ความหมายที่ผิดนี้แก่ชาวบ้าน ก็ทำให้ชาวบ้านหลงผิด แล้วก็ปฏิบัติผิด ชาวบ้านก็เหน็ดเหนื่อย ผลสำเร็จก็ไม่เกิดขึ้นตามความประสงค์ของทางราชการ

ความผิดพลาดในตัวอย่าง ๒ เรื่องนี้ เกิดจากความไม่รู้ แล้วหลงผิดไป หรือไม่รู้แล้วอวดรู้ โดยไม่มีความตั้งใจที่จะบิดเบือนความจริง แต่ในกรณีอื่นหลายครั้ง ผู้ให้ความหมายที่ผิดมีเจตนาที่จะทำให้คนเข้าใจผิด หรือน่าสงสัยว่าจะมีเจตนาเช่นนั้น โดยมุ่งแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองบ้าง เลี่ยงหลบความผิดบ้าง ต้องการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคมหรือวงการใดวงการหนึ่งบ้าง ตลอดจนอาจจะต้องการทำลายอะไรบางอย่าง กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องที่มีอันตรายน่ากลัวมาก เพราะอาจจะทำอย่างฉลาดแนบเนียน มีการวางแผน ไม่ทำโดยบังเอิญ ชนิดที่ว่าเกิดเรื่องขึ้นแล้ว พลาดไปเฉพาะเรื่องนั้น ยอมรับความจริงเสร็จแล้วก็จบเรื่องไป แต่จะหาทางทำอย่างซับซ้อนต่อเนื่อง ถ้ามีเรื่องอย่างนี้ หรือน่าสงสัยว่าจะเป็นอย่างนี้ ก็ควรจะต้องช่วยกันหาความจริงให้กระจ่างชัดว่า คนที่ทำเช่นนั้นทำด้วยความหลงผิดพลาดไป หรือมีเจตนาซ่อนเร้นอย่างไร โดยที่เราก็จะไม่ตัดสินเขา แต่ให้เขาแสดงตัวเองออกมาให้ชัด และในระหว่างนั้นก็ต้องเอาใจใส่ระมัดระวัง เพื่อไม่ให้การแปลความผิดๆ นั้น สร้างความสับสน ก่อผลเสียหายต่อพระศาสนาและประชาชนกว้างขวางออกไป

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง อาจช่วยให้เข้าใจปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นาย ก. กับพวก ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิหนึ่งขึ้น กฎหมายบัญญัติไว้ว่า เมื่อมูลนิธิสิ้นสุดลง ทรัพย์สินของมูลนิธินั้นให้โอนไปยังนิติบุคคล ตามที่จะพึงระบุไว้ในตราสารตั้งมูลนิธินั้น นาย ก. ยื่นเรื่องราวต่อทางราชการขออนุญาตตั้งมูลนิธิ โดยในตราสารได้ระบุว่า เมื่อมูลนิธินั้นสิ้นสุดลง ให้ทรัพย์สินของมูลนิธิตกเป็นของนางสาว ข. ซึ่งเป็นบุตรหญิงของนาย ก. เจ้าหน้าที่ของราชการบอกว่าจะโอนทรัพย์สินให้แก่นางสาว ข. ไม่ได้ เพราะนางสาว ข. ไม่เป็นนิติบุคคล นาย ก. ก็ยืนยันว่าเขาทำตราสารถูกต้องแล้ว ทางการจะต้องอนุญาตแก่เขา เพราะนางสาว ข. เป็นนิติบุคคล แล้วเขาก็แปลความหมายของนิติบุคคลโดยอ้างกฎหมายเสียด้วย แต่เป็นการอ้างตามแบบของเขาว่า บุคคล คือ คนที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วมีชีวิตรอดอยู่และยังไม่ตาย นิติ แปลตามพจนานุกรมว่า แบบแผน นิติบุคคล คือ คนที่มีแบบแผน นางสาว ข. บุตรหญิงของเขานั้น เช้าขึ้นก็ตื่นนอน ล้างหน้า รับประทานอาหารแล้วก็ไปเรียนหนังสือ เย็นก็กลับมาบ้าน กลางคืนก็เข้านอน ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน จึงเป็นคนมีแบบแผน เพราะฉะนั้น จึงเป็นนิติบุคคล เขาจึงขอยืนยันให้ทางราชการอนุญาตให้เขาตั้งมูลนิธิโดยเป็นไปตามตราสารนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องเล่าต่อว่า ทางราชการจะอนุญาตหรือไม่ แต่เล่าให้เห็นว่า บางครั้งคนอย่างนี้ก็มีเหมือนกัน สำหรับเรื่องในระดับอย่างนี้ ผู้ที่อ่านก็มองเห็นได้ไม่ยากว่า เป็นการตีความเอาประโยชน์เข้าตัว ไม่ซื่อตรง และบางทีก็จะเห็นเป็นเรื่องน่าขบขันไปด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องทางพระศาสนาที่คนทั่วไปไม่คุ้น ทั้งที่เรื่องก็เป็นไปในทำนองเดียวกันอย่างนี้ ไม่สมเหตุผล และน่าขบขันอย่างเดียวกัน แต่คนทั่วไปก็อาจจะตามเรื่องไม่ทัน และมองไม่เห็นความเหลวไหล เพราะไม่มีพื้นความเข้าใจในภาษาและหลักพระศาสนาที่จะดูเรื่องออกได้ในทันที

การแปลและตีความคำบาลี และคำศัพท์ทางธรรมของพระโพธิรักษ์ มีลักษณะที่ทำให้เห็นว่าเป็นไปในทำนองนี้ จะขอยกตัวอย่างคำว่า "อุปสัมบัน" และ "อนุปสัมบัน" เหตุที่ยกคำนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ก็เพราะเป็นคำที่พระโพธิรักษ์เอง ยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้ง และยังไม่ยอมลดละการถือผิดในความหมาย อีกทั้งเป็นคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาของพระโพธิรักษ์เองด้วย นอกจากนั้น ก็เป็นคำที่มีความหมายเชิงรูปธรรมที่เข้าใจไม่ยากนัก พอจะพูดให้เข้าใจกันง่ายสักหน่อย

"อุปสัมบัน" และ "อนุปสัมบัน" เป็นคำศัพท์ในพระวินัย ซึ่งเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่าเป็นกฎหมายหลักของพระสงฆ์ คำว่า อุปสัมบัน แปลว่า ผู้อุปสมบทแล้ว ท่านให้คำจำกัดความไว้ในพระไตรปิฎกว่า ได้แก่ ภิกษุ และ ภิกษุณี คำว่า อนุปสัมบัน แปลว่า ผู้ไม่ได้อุปสมบท หรือ ผู้มิใช่อุปสัมบัน ท่านจำกัดความว่า ได้แก่ บุคคลอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี ในพระวินัยมีเรื่องราวและกฎเกณฑ์มากมายหลายอย่างเกี่ยวกับอุปสัมบัน และอนุปสัมบัน ซึ่งเมื่อเข้าใจความหมายตามที่ท่านจำกัดความไว้ (ซึ่งก็ตรงตามคำแปลของศัพท์นั่นเอง) การพิจารณาเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็เป็นไปด้วยดี

มีพุทธบัญญัติบทหนึ่งใจความว่า ภิกษุอวดคุณวิเศษ(อุตริมนุสสธรรม)ที่ไม่มีในตน มีความผิดเป็นปาราชิก (คือ ขาดจากความเป็นพระภิกษุ) เช่น ไม่ได้เป็นโสดาบัน อวดว่าตนเป็นโสดาบัน ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ อวดว่าตนเป็นพระอรหันต์ เป็นต้น และมีพุทธบัญญัติอีกบทหนึ่งใจความว่า ภิกษุบอกคุณวิเศษที่ตนมีจริงแก่อนุปสัมบัน เป็นความผิดปาจิตตีย์ (ความผิดที่เบาลงมา แก้ไขได้ด้วยวิธีที่เรียกกันว่า ปลงอาบัติ) หมายความว่า ถึงแม้ตนจะมีคุณวิเศษจริง เช่น เป็นอริยะ เป็นโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าอวดตัวแก่บุคคลอื่น ที่มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณี เช่นแก่สามเณร หรือแก่ชาวบ้านคนใดคนหนึ่ง ก็เป็นความผิดแต่เบาลงมา ถ้าบอกแก่อุปสัมบัน คือ ภิกษุหรือภิกษุณีเท่านั้น จึงจะไม่เป็นความผิด เรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกับปัญหาของพระโพธิรักษ์ คือ มีหลักฐานเป็นอันมากที่แสดงชัดว่า พระโพธิรักษ์พูดว่าตนเป็นพระอริยะ เป็นพระโสดาบัน หรือเป็นผู้สูงกว่านั้น และได้พูดประกาศเช่นนี้ทั้งแก่คฤหัสถ์คือชาวบ้านชาวเรือนด้วย จึงได้เกิดข้อพิจารณาขึ้นว่า พระโพธิรักษ์ได้ละเมิดพระวินัยหรือไม่ ถ้าละเมิด เป็นความผิดสถานใด ถ้าพระโพธิรักษ์ไม่ได้มีคุณวิเศษที่ตนอ้าง และเจตนาพูดเท็จ ก็จะเป็นปาราชิก หรือถ้ามีจริง แต่เมื่ออวดเช่นนั้นแก่คฤหัสถ์ ก็จะเป็นปาจิตตีย์ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็เป็นข้อที่จะต้องวินิจฉัยกันต่อไป

ในด้านพระโพธิรักษ์ ก็ได้ยืนยันว่าตนมีคุณวิเศษเช่นนั้นจริง ซึ่งถ้าเป็นจริง ก็ยังมีปัญหาอีกว่า เมื่อพระโพธิรักษ์ประกาศบอกเช่นนั้นแก่คฤหัสถ์ ก็จะไม่พ้นเป็นปาจิตตีย์ แต่เรื่องไม่จำกัดขอบเขตอยู่แค่นั้น พระโพธิรักษ์หาได้ยอมรับบทบัญญัติในพระวินัยที่จะนำมาใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยนั้นไม่ ทั้งที่ตามพระวินัย ในพระไตรปิฎกบ่งไว้ชัดว่า อุปสัมบัน ได้แก่ ภิกษุและภิกษุณี แต่พระโพธิรักษ์ได้ให้ความหมายขึ้นมาใหม่ว่า อุปสัมบัน หมายถึงผู้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นคฤหัสถ์แต่ถ้าได้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น ก็เป็นอุปสัมบันเหมือนกัน ความหมายเช่นนี้ไม่ได้มีบอกไว้ในหลักการแห่งใดในพระพุทธศาสนา แต่เป็นความหมายที่พระโพธิรักษ์กล่าวขึ้นเอง โดยอ้างว่าท่านรู้ด้วยญาณ การที่พระโพธิรักษ์พูดให้ความหมายอย่างนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นการหาเหตุผลมาแสดงว่าการกระทำของท่านไม่เป็นความผิด เป็นทำนองว่า ถึงแม้ว่าท่านจะพูดบอกแก่คฤหัสถ์ แต่คฤหัสถ์เหล่านั้นก็เป็นผู้มีภูมิธรรมถึงขั้น จึงเป็นอุปสัมบันแล้ว (ในความหมายของท่านเอง) ซึ่งถ้ายอมรับความหมายของท่าน ก็ยังมีข้อพิจารณาต่อไปว่า คฤหัสถ์ที่ท่านบอกนั้นเป็นผู้มีภูมิธรรมถึงขั้นบ้างหรือถึงขั้นทุกคนหรือไม่ ตามเรื่องที่เป็นมา ท่านพูดประกาศตัวอย่างสาธารณะทั่วไป จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนผู้ฟังทุกคนจะเป็นผู้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นไปหมด ดังนั้น แม้จะตีความตามความหมายของท่านเอง ท่านก็ยังไม่สามารถเปลื้องตัวจากข้อพิจารณาความผิด และต่อมาก็ปรากฏอีกว่า ท่านพระโพธิรักษ์ได้ยกพุทธพจน์ที่ว่าพระอริยะ ตั้งแต่พระโสดาบันไปจนถึงพระอรหันต์ ก็ยังต้องอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ได้ ขึ้นมาอ้าง และว่าถึงท่านจะต้องอาบัติคือความผิดเป็นปาจิตตีย์ ท่านก็ปลงอาบัติแล้ว

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ว่าคฤหัสถ์ที่พระโพธิรักษ์ประกาศคุณวิเศษให้ฟัง จะเป็นผู้มีภูมิธรรมถึงขั้นหรือไม่นั้น ว่าที่จริงแล้ว ไม่เป็นข้อที่จะต้องพิจารณาเลย เพราะถือเอาเป็นหลักไม่ได้ แต่ได้มีข้อพิจารณาสำคัญเกิดขึ้นอีกประเด็นหนึ่งคือ การแปลและตีความคำบาลีและศัพท์ธรรมของพระโพธิรักษ์ตามความคิดของท่านโดยอ้างว่ารู้ด้วยญาณ ซึ่งการแปล คำว่าอุปสัมบัน (และอนุปสัมบัน) ของท่านในที่นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการกระทำเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ท่านและคณะได้ทราบคำชี้แจงอธิบายแล้วว่า วินัยเป็นเรื่องของระเบียบแบบแผนที่เป็นรูปธรรม เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์หรือกติกาทางสังคม อันผู้ปฏิบัติจะรู้ร่วมกันและปฏิบัติตามได้โดยมีเครื่องชี้บ่งที่ชัดเจนแน่นอนทางรูปธรรม ไม่ต้องตามพิสูจน์สืบค้นถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาในใจ ซึ่งสภาวะในจิตใจเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่อาจตัดสินได้ และเมื่อมีการกล่าวอ้างก็ยากต่อการพิสูจน์ พระวินัยจึงไม่เอาสภาพนามธรรมมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน และจึงกำหนดความหมายเป็นคำจำกัดความกำกับลงไปในกรณีนั้นๆ ดังที่ในกรณีนี้ท่านก็ระบุชัดลงไปแล้วพร้อมกับพุทธบัญญัติในเรื่องนี้ว่า อนุปสัมบัน ได้แก่ บุคคลอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี และอุปสัมบัน ได้แก่ ภิกษุและภิกษุณี เมื่อมีกรณีเกิดขึ้นให้พิจารณา ก็จะได้ใช้ความหมายนี้เป็นเครื่องประกอบการวินิจฉัย แต่ทั้งๆ ที่ได้ทราบคำชี้แจงอย่างนี้ พระโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก ก็ยังไม่ยอมละการถือความหมายอย่างที่ท่านพูดว่ารู้ด้วยญาณนั้น ดังปรากฏว่า ในระยะใกล้ๆ นี้เอง ทางสันติอโศกก็ได้ออกหนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "แฉสันติอโศก ผิดธรรมวินัยจริงหรือ?" (พิมพ์ครั้งที่ ๑ ก.ย. ๒๕๓๑) ในหนังสือนี้ก็ยังแสดงการยึดถือในความหมายของคำว่า "อุปสัมบัน" อย่างที่เคยถือมาก่อน โดยได้พิมพ์ไว้ตอนหนึ่งว่า

"การอวดอุตริมนุสสธรรมที่มีจริงนั้น ย่อมไม่เป็นความผิดอะไร ถ้าได้แสดงต่อ "อุปสัมบัน" (โดยพยัญชนะหมายเอาภิกษุ, ภิกษุณี)

"แต่อุปสัมบันโดยอรรถนั้นหมายเอา "ผู้เข้าถึง" ... แม้จะเป็นฆราวาส ถ้าเขาได้ศึกษาปฏิบัติธรรมกันมาอย่างมีมรรคมีผลเป็นส่วนใหญ่ ย่อมจะน่าได้ชื่อว่า "อุปสัมบัน" นั้นมากกว่า…"

(แฉสันติอโศกฯ. หน้า ๘-๙)

เริ่มแรกผู้เขียนหนังสือของสันติอโศกนี้ ก็ไม่รู้จักแล้วว่าอะไรเป็นความหมายโดยอรรถ อะไรเป็นความหมายโดยพยัญชนะ แต่กลับเอาความหมายโดยพยัญชนะเป็นโดยอรรถ เอาความหมายโดยอรรถเป็นโดยพยัญชนะ เมื่อเอาความหมายโดยพยัญชนะเป็นโดยอรรถแล้ว ก็เลยตีความออกนอกเรื่องไป อันที่จริงความหมายของ อุปสัมบัน โดยพยัญชนะหรือตามตัวหนังสือ ก็คือ ผู้อุปสมบทแล้ว หรือผู้เข้าถึง คือ เข้าถึงความเป็นภิกษุหรือความเป็นภิกษุณีนั่นเอง ไม่ใช่เป็นการเข้าถึงธรรมอะไร ส่วนความหมายของอุปสัมบันโดยอรรถ หรือตามเนื้อหาที่ต้องการก็คือ เป็นภิกษุหรือภิกษุณี นอกจากนั้น เมื่อพยายามอธิบายให้ฆราวาสเป็นอุปสัมบันได้ ชาวสันติอโศกก็ไปลงมติอย่างไม่แน่ชัดว่า "...ย่อมจะน่าได้ชื่อว่า "อุปสัมบัน" มากกว่า" ความหมายเช่นนี้ในทางวินัยหรือกฎหมายย่อมใช้ไม่ได้ เพราะแม้แต่คำที่เป็นแกนของเรื่องก็ยังมีความหมายไม่แน่นอน แล้วจะวินิจฉัยอะไรลงไปให้ยุติได้อย่างไร

อนึ่ง ชาวสันติอโศกพยายามอธิบายในทำนองว่า ฆราวาสที่ได้ปฏิบัติธรรมเข้าถึงภูมิธรรมสูงกว่าภิกษุก็มี ภิกษุจำนวนมากบวชเข้ามาไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรก็มี ฆราวาสที่ได้บรรลุธรรมนั้นจึงควรเป็นอุปสัมบันมากกว่า เรื่องที่ว่าฆราวาส(คฤหัสถ์) ที่บรรลุภูมิธรรมสูงกว่าภิกษุก็มีนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่รู้กันอยู่ ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาล แต่การที่ว่าฆราวาสที่บรรลุภูมิธรรมแล้ว จะเป็นอุปสัมบันขึ้นมานั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน เป็นเรื่องสามัญที่ไม่ควรนำมาทำให้สับสน เหมือนกับว่า ที่เรือรบลำหนึ่งห้ามคนอื่นนอกจากทหารเรือขึ้นไปบนเรือ ต่อมาพลเรือนคนหนึ่งมาที่เรือนั้น จะขึ้นไปบนเรือให้ได้ เขาบอกว่าเขาว่ายน้ำเก่งยิ่งกว่าทหารเรือตั้งหลายคน เพราะฉะนั้น เขาก็เป็นทหารเรือเหมือนกัน จะต้องให้เขาขึ้นไปบนเรือ พลเรือนคนนั้นอาจจะว่ายน้ำเก่งอย่างที่ว่านั้นจริง แต่ก็ไม่เป็นเหตุผลที่จะทำให้เขาเป็นทหารเรือ และที่จะขึ้นไปบนเรือได้ หรือเหมือนกับเรื่องบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล ที่เคยกล่าวถึงแล้ว ในกรณีที่มีข้อกำหนดอย่างหนึ่งว่า ให้มอบทรัพย์สินจำนวนหนึ่งแก่นิติบุคคล นาย ก. มาถึงบอกว่า ต้องมอบทรัพย์สินจำนวนนั้นแก่เขา เพราะว่า ถึงแม้เขาจะเป็นบุคคลธรรมดาก็จริง แต่เขาก็มีฐานะมั่นคงยิ่งกว่านิติบุคคลตั้งหลายแห่ง นิติบุคคลหลายแห่งมีฐานะมั่นคงแพ้เขาอย่างมากมาย ถึงแม้จะเป็นความจริงที่ว่านาย ก. มีฐานะมั่นคงกว่านิติบุคคลหลายแห่ง แต่ก็ไม่เป็นเหตุผลที่จะทำให้เขามีสิทธิในฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นมาได้

ครั้งหนึ่ง มีผู้เล่าให้ฟังว่า ที่วัดหนึ่ง มีภิกษุอายุมากรูปหนึ่งมีหญิงสาวปรนนิบัติต่างๆ แม้แต่บีบนวด โดยที่ภิกษุรูปนั้นและกลุ่มของท่านถือว่าไม่เสียหายอะไร ไม่เป็นการผิดวินัย เพราะท่านไม่มีกิเลส ไม่มีความรู้สึกอะไร แต่แท้จริงนั้น ท่านที่ไม่มีกิเลส ย่อมไม่ประพฤติเช่นนั้น เพราะเมื่อท่านไม่มีกิเลส ท่านก็หมดเหตุที่จะทำอะไรเพื่อเห็นแก่ตน ย่อมมีแต่จะรักษาพระวินัยได้ถูกต้องเคร่งครัด เพื่อเห็นแก่พระวินัยนั่นเอง และเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์แก่ชุมชนส่วนรวมและอนุชน ในเรื่องเช่นนี้ ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์เป็นหลักไว้ชัดเจน คนก็จะแปลความหมายตีความวินัยกันไป โดยมีข้ออ้างที่จะทำให้ผิดเพี้ยนไปอย่างไรก็ได้

ถ้าสันติอโศกจะตีความให้ฆราวาสเป็นอุปสัมบัน ซึ่งตนจะอวดอุตริมนุสสธรรมได้ พระสูงอายุรูปนั้นก็มีสิทธิที่จะตีความให้หญิงสาวบีบนวดตนได้ และนาย ก. ก็มีสิทธิตีความให้นางสาว ข. ซึ่งมีชีวิตที่เป็นแบบแผน เช้าตื่นนอน แล้วไปโรงเรียน เย็นกลับบ้าน กลางคืนเข้านอนเป็นประจำนั้น เป็นนิติบุคคลได้ เช่นเดียวกัน หากทำกันได้เช่นนี้ ต่อไปก็ตั้งความหมายที่ตนต้องการขึ้นไว้ก่อน แล้วก็ตีความไปตีความมาจนมาเข้ากับความหมายที่ตนจะเอานั้นจนได้

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การแปลและตีความเฉไฉเช่นนั้น จะสร้างความสับสนและความเข้าใจผิดพลาดต่อพระธรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าทำกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ ความปั่นป่วนวุ่นวายและความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นในการศึกษาปฏิบัติธรรม จนหาอะไรเป็นหลักไม่ได้ ขอยกตัวอย่างที่เกี่ยวกับคำว่า "อุปสัมบัน" และ "อนุปสัมบัน" นี้แหละ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า กฎเกณฑ์และข้อบัญญัติเกี่ยวกับอุปสัมบันและอนุปสัมบันนั้น มีอยู่เป็นอันมาก เมื่อถือความหมายตามที่ท่านกำหนดไว้ ความเข้าใจและการปฏิบัติตามข้อบัญญัติเหล่านั้น ก็จะเป็นไปโดยเรียบร้อยด้วยดี แต่ถ้ามีการแปลและตีความอย่างพระโพธิรักษ์เกิดขึ้น ปัญหาก็จะเกิดตามมาทันที เช่น มีพุทธบัญญัติอีกแห่งหนึ่งว่า

มาตุฆาตโก ภิกฺขเว อนุปสมฺปนฺโน น อุปสมฺปาเทตพฺโพ, อุปสมฺปนฺโน นาเสตพฺโพติ.

(วินย.๔/๑๒๘/๑๗๗)

แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่ามารดา เป็นอนุปสัมบัน (ยังไม่ได้อุปสมบท คือยังไม่ได้บวชเป็นภิกษุ) ไม่พึงให้อุปสมบท, เป็นอุปสัมบัน (อุปสมบทแล้ว คือบวชเป็นภิกษุแล้ว) ก็พึงให้ฉิบหายเสีย (ให้ฉิบหายจากความเป็นภิกษุ คือให้สึกเสีย)

แต่ถ้าถือตามความหมายของพระโพธิรักษ์ ที่ว่า อุปสัมบัน คือผู้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น ก็จะต้องแปลว่า "คนฆ่ามารดา ยังไม่บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น ไม่พึงให้อุปสมบท, บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นแล้ว ก็พึงให้ฉิบหายเสีย" ในคำแปลนี้จะเห็นความไม่กลมกลืนทันทีว่า ในเรื่องคนฆ่ามารดา จะมาพูดอะไรกันว่า บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นหรือไม่บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น คนฆ่ามารดาจะบรรลุภูมิธรรมถึงขั้นอย่างไร และถ้าเขาบรรลุจริง ทำไมจะต้องไปทำให้เขาฉิบหายเสียเล่า ถ้าแปลกันอย่างนี้ ความสับสนวุ่นวายก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งว่า "สมัยนั้นแล ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ทันทีที่เป็นอุปสัมบัน (คือ พอได้อุปสมบทเสร็จ) ก็ประพฤติอนาจาร" (วินย.๔/๘๖/๑๐๔) เมื่อถูกว่ากล่าว ก็ย้อนว่าตนไม่ได้ขอให้บวชให้ ภิกษุทั้งหลายมาบวชให้ตนเองทำไม เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ไม่ให้อุปสมบทโดยไม่ได้รับการขอร้อง ข้อความนี้ ถ้าแปลตามความหมายของพระโพธิรักษ์ก็กลายเป็นว่า ภิกษุรูปนั้น พอได้บรรลุธรรมถึงขั้น ก็ประพฤติอนาจาร ความหมายอย่างนี้ย่อมขัดหลักธรรมวินัยไปหมด จึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น จะเห็นได้ชัดว่า คำว่าอุปสัมบันเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ทางวินัยที่เกี่ยวกับรูปแบบเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวกับภูมิธรรมในจิตใจแต่อย่างใด ถ้าอุปสัมบัน หมายถึงผู้บรรลุธรรมถึงขั้นแล้ว จะมาประพฤติอนาจารและทำความผิดอะไรต่างๆ มากมายได้อย่างไร

จริงอยู่ คำพูดบางคำมีความหมายได้หลายอย่าง เช่นคำว่า "ฉัน" ในภาษาไทย มีความหมายต่างกันในการใช้ที่ไม่เหมือนกัน ดังในประโยคว่า "นิมนต์พระสามรูปมาฉันอาหาร" "ฉันจะไม่ไปกับเธอ" และ "ขอให้พูดจากันฉันพี่น้อง" แม้จะมีความหมายต่างกันในบริบทคือข้อความแวดล้อมที่ต่างกัน แต่ก็มีเครื่องกำหนดซึ่งผู้ที่เข้าใจภาษาดีแล้วก็แยกได้ สามารถทำความเข้าใจได้ถูกต้อง และนี่ก็ยิ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องศึกษาภาษานั้นๆ ให้เข้าใจดีพอสมควรก่อนที่จะแปลและตีความเอาเอง (เฉพาะคำว่าอุปสัมบันนี้ พอดีว่าเป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันหมดในพระไตรปิฎกทั่วทุกแห่ง) โดยเฉพาะภาษาบาลี เป็นภาษาที่มีไวยากรณ์เป็นแบบแผน จะมีเครื่องมือแยกความหมายได้อย่างรัดกุม ช่วยให้เจ้าของคำสอนและผู้จารึกความในคัมภีร์ กับผู้อ่านคัมภีร์ เข้าใจความหมายตรงกัน ไม่ใช่ว่าผู้อ่านคัมภีร์จะแปลและตีความเอาเองตามที่ตนนึกคิดเห็นไปตามอำเภอใจ

เวลานี้ ปัญหาเรื่องพระประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย มีมาก เราก็ประสบกันอย่างหนักอยู่แล้ว และเราก็ร้องทุกข์กันอยู่ว่า ทำไมผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจึงไม่เอาใจใส่แก้ไข พระศาสนาก็เสื่อมโทรมลงไปทุกทีๆ ท่านที่อ้างว่าจะมาแก้ไขปรับปรุงทั้งหลายนั้น ถ้าประสงค์ดีต่อพระศาสนาและส่วนรวมจริงๆ ก็ขออย่าได้มาทำการด้วยวิธีทำพระธรรมวินัยให้วิปริตไปเลย เพราะแทนที่จะเป็นการแก้ไขปรับปรุง จะกลับเป็นการเพิ่มปัญหาขึ้นอีกด้านหนึ่ง ซ้ำเติมพระศาสนาและประชาชนให้หนักลงไปอีก ถ้าท่านแสดงให้เห็นได้ชัดว่าประสงค์ดีจริง และทำให้ถูกต้องอย่างบริสุทธิ์ใจ เราก็พร้อมที่จะร่วมมือส่งเสริมสนับสนุน

คนที่ทำความผิดแล้วยอมรับตามตรงว่าตนทำความผิด และจำกัดขอบเขตการทำผิดของตนไว้แค่นั้น พวกหนึ่ง คนที่ทำความผิดไปเรื่อยๆ โดยไม่เอาใจใส่เลยว่า จะเป็นความผิดอย่างใดหรือไม่ พวกหนึ่ง และคนที่ทำความผิดแล้วดึงเอาธรรมวินัยมาเข้ากับความผิดของตน พวกหนึ่ง ทั้งสามพวกนี้ล้วนเป็นผู้ผิดด้วยกันทั้งสิ้น แต่พวกไหนจะก่อโทษทำลายพระศาสนาและจิตปัญญาของประชาชนมากที่สุด

การที่เขียนและพูดมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ มิใช่จะมุ่งจับผิด แต่ในเมื่อเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อพระศาสนาและชุมชนวงกว้าง และยังเป็นปมค้างอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องการความชัดเจน มิใช่ชัดเจนเฉพาะตัวปัญหา ว่าเป็นอย่างไรจะแก้อย่างไรเท่านั้น แต่ควรหาความชัดเจนในเจตนาว่ามุ่งหมายอะไรอย่างไรด้วย

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่บังคับศรัทธา ให้โอกาสเป็นอย่างมากแก่ผู้ศึกษาปฏิบัติ ที่จะใช้ปัญญาคิดพินิจพิจารณาอย่างเป็นอิสระ เจตนาที่ซื่อตรงมุ่งต่อความจริงความถูกต้องดีงาม และความก้าวหน้าในการปฏิบัติสู่จุดหมาย จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะดำรงรักษาเนื้อแท้ของพระศาสนาไว้ และในทางกลับกัน จึงถือเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะดำรงรักษาธรรมวินัยไว้ในสภาพที่บริสุทธิ์ ตรงตามหลักการเดิม โดยช่วยกันป้องกันการปลอมแปลงพระสัทธรรม และการเสแสร้งตีความต่างๆ ให้ผิดเพี้ยน สำหรับหลักธรรมหลายอย่างที่ลึกซึ้ง ถ้ามีผู้ตีความและสั่งสอนให้คลาดเคลื่อนวิปริตไป การที่จะชี้แจงให้คนทั่วไปเข้าใจมองเห็นความวิปริตนั้นมักจะทำได้ยาก เพราะเป็นเรื่องนามธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะคนทั่วไปนั้น ไม่มีพื้นความรู้ที่จะตามจับสาระได้ ถ้าเป็นไปได้ เมื่อมีกรณีที่น่าสงสัยเกิดขึ้น ก็ควรจะพิจารณาตรวจสอบกันที่เรื่องพื้นๆ ง่ายๆ โดยเฉพาะที่มีลักษณะเป็นรูปธรรม ถ้าแม้ในระดับนี้ มีพฤติกรรมและอาการที่ส่อถึงเจตนาที่จะบิดเบือนหรือความหลงผิดแล้ว ก็จะได้เห็นง่ายแต่ต้น และจะได้วางท่าทีให้เหมาะต่อธรรมลึกซึ้งขึ้นไป ที่ผู้นั้นๆ นำมาสั่งสอนอธิบาย

การแปลและตีความคำว่า อุปสัมบัน ของพระโพธิรักษ์เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งพฤติกรรมเท่าที่ผ่านมาในการถือความหมายที่ผิดจากธรรมวินัยอย่างไม่ลดละ เป็นเครื่องแสดงถึงความไม่น่าไว้วางใจที่ทำให้ต้องตั้งเป็นข้อสงสัยว่า ท่านจะมิได้แปลและตีความหมายหลักธรรมวินัยด้วยเจตนาที่มุ่งต่อตัวแท้ตัวจริงของพระธรรมวินัยนั้น แต่จะได้กระทำด้วยเจตนาแฝงเร้นที่จะนำพระธรรมวินัยไปสนองวัตถุประสงค์นอกหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นลักษณะเฉพาะตัวของท่านที่มองสิ่งต่างๆ อย่างเฉเพี้ยนเลี่ยงแฉลบไปมา อันง่ายต่อการเกิดความหลงผิด เมื่อท่านถือคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไป และมีผู้ถือตามจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่แล้วในบัดนี้ ความสับสนฟั่นเฟือนก็จะเกิดขึ้นในการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย ทำให้เสียหลักแล้วก็จะนำไปสู่ความเสื่อมสูญของพระศาสนา จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกันและแก้ไขโดยไม่ประมาท

ในระยะหลังๆ นี้ พระโพธิรักษ์ยกเอาแม้แต่เรื่องราวในโลหิจจสูตร มาสนับสนุนการอวดอุตริมนุสสธรรมของตน ความในโลหิจจสูตรนั้น กล่าวถึงพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ ซึ่งมีความเห็นผิดว่า สมณพราหมณ์บรรลุกุศลธรรมแล้วไม่ควรบอกแก่คนอื่น เพราะคนจะทำอะไรให้แก่กันไม่ได้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนเปลื้องความเห็นผิดของพราหมณ์นั้น โดยทรงแสดงให้เห็นว่า การทำเช่นนั้น เป็นเหมือนเก็บผลประโยชน์ไว้กินคนเดียว ไม่มีความคิดเกื้อกูล ปราศจากเมตตาธรรมแก่ผู้อื่น ความเห็นเช่นนี้จะเป็นการปิดกั้น ทำให้ผู้เข้ามาบวชในธรรมวินัยนี้เสียโอกาสในการที่จะบรรลุคุณวิเศษ เช่น โสดาปัตติผลเป็นต้น จึงเป็นความเห็นที่ผิด มีโทษร้ายแรง ผู้บรรลุกุศลธรรมจึงควรบอกแก่ผู้อื่น ใจความก็คือ ไม่ควรหวงวิชา ไม่ควรหวงความรู้และคุณความดีที่ตนมี แต่ควรสั่งสอนแนะนำเพื่อแผ่แก่คนอื่น คนที่อ่านพระสูตรนี้แล้วตามปกติ ก็ย่อมเข้าใจความอย่างนี้ คือตนมีความรู้ความสามารถ ทำอะไรได้ทำอะไรเป็น มีคุณความดีอะไร ก็ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ช่วยให้เขารู้เข้าใจ ทำได้ และมีคุณความดีอย่างนั้นด้วย เขาไม่คิดกันถึงว่าจะต้องไปอวดอ้างว่า ฉันนี่นะขั้นนั้นขั้นนี้ได้นั่นได้นี่ มีปริญญานั่น ปริญญานี่มา ซึ่งการที่จะบอกแนะนำสั่งสอนเผื่อแผ่ความรู้ความเข้าใจและคุณความดีของตนแก่ผู้อื่น กับการอวดอ้างบอกว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่มีความดีอย่างนั้นอย่างนี้ ย่อมไม่เหมือนกัน แต่พระโพธิรักษ์อ่านพระสูตรนี้ แล้วกลับมาพูดในทำนองที่แสดงว่า ท่านมองเห็นไปว่าพระพุทธเจ้าสอนให้อวดอ้าง และจะต้องอวดอ้างตัวเองเช่นนั้นจึงจะเป็นการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น แล้วนำพระสูตรนี้มาอ้างยืนยันการอวดอุตริมนุสสธรรมของตน

พระโพธิรักษ์ชอบพูดว่าท่านไม่ได้ดื้อรั้น แต่ยืนหยัด ถึงกับอ้างวาทะของมหาตมคานธีมายืนยัน แต่การที่พระโพธิรักษ์จะเป็นผู้ดื้อรั้นหรือไม่ดื้อรั้น จะเป็นผู้ยืนหยัดหรือไม่ยืนหยัด หาได้เป็นไปตามคำที่พระโพธิรักษ์จะพูดให้เป็นไม่ แต่อยู่ที่การกระทำของพระโพธิรักษ์เองต่างหาก ที่จะเป็นเครื่องตัดสิน

ในหนังสือ "แฉสันติอโศกผิดธรรมวินัยจริงหรือ?" ได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า "คณะสงฆ์ในมหาเถรสมาคม ไม่ถือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล" การใช้ถ้อยคำที่กำกวมชวนให้ผู้อื่นเข้าใจผิดพลาดทำนองนี้ ดูจะเป็นลักษณะสำนวนพูดของพระโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก คำว่า "คณะสงฆ์ในมหาเถรสมาคม" นั้น ย่อมไม่มี การใช้ถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนอย่างนี้ ทำให้ผู้อ่านหลงเข้าใจผิดได้ง่าย โดยเฉพาะอาจทำให้นึกเห็นไปตามภาพที่ทางสันติอโศกเคยพูดให้คนเข้าใจมาก่อน คือเข้าใจไปว่า มีคณะสงฆ์ฝ่ายมหาเถรสมาคม หรือคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคมพวกหนึ่ง กับคณะสงฆ์สันติอโศกฝ่ายตนอีกพวกหนึ่ง การพูดหรือเขียนเช่นนี้ ถ้ามิใช่เกิดจากเจตนาเฉไฉ พูดให้คนเข้าใจผิดสร้างภาพผิด ก็เกิดจากความหลงผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควรจะช่วยกันสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ในประเทศไทยนี้ พระสงฆ์ไทยทั้งหมดมีชื่อเรียกรวมว่า คณะสงฆ์ไทย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้มีมหาเถรสมาคมขึ้นเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทยนี้ แต่มหาเถรสมาคมนั้น ก็เป็นแต่เพียงองค์กรปกครอง ที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติในกฎหมายเท่านั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย วางระบบบริหารใหม่ให้มีองค์กรชื่ออื่นแบบอื่นเข้ามาปกครองคณะสงฆ์ไทย มหาเถรสมาคมก็หมดไป แต่คณะสงฆ์ไทยก็ยังคงเป็นตัวยืนอยู่อย่างเดิม เหมือนกับเมื่อก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็ไม่มีมหาเถรสมาคม แต่มีองค์กรแบบอื่นที่เรียกว่า คณะสังฆมนตรี เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ไทยอยู่ เป็นเวลายาวนาน ๒๒ ปี คณะสงฆ์ไทยนี้ประกอบด้วยพระสงฆ์มากมายหลากหลาย มีความรู้ความประพฤติและแนวปฏิบัติต่างกันไปมากมายหลายแบบ การมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และองค์กรปกครองคณะสงฆ์ที่เรียกชื่อว่ามหาเถรสมาคมบ้าง คณะสังฆมนตรีบ้างนี้ ก็เป็นการพยายามที่จะให้พระสงฆ์ทั้งหมดในคณะสงฆ์ไทยคุมกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และดึงกันขึ้นสู่มาตรฐานความประพฤติปฏิบัติที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ากฎหมายและองค์กรปกครองที่มีอยู่ ทำหน้าที่ไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ ก็อาจเปลี่ยนแปลงให้มีกฎหมายใหม่และองค์กรปกครองใหม่ขึ้นแทน การกล่าวว่า "คณะสงฆ์ในมหาเถรสมาคม ไม่ถือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล" นั้น ก็จะต้องหมายถึงคณะสงฆ์ไทยนี้เอง และเมื่อกล่าวเช่นนั้น ก็ย่อมเป็นการกล่าวตู่คณะสงฆ์ไทยด้วยถ้อยคำไม่เป็นจริง จริงอยู่ในคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันนี้ มีพระภิกษุจำนวนมากมายประพฤติบกพร่องเสียหายวิปริตจากพระธรรมวินัย แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นความจริงเช่นเดียวกันว่า ในคณะสงฆ์ไทยนั้นนั่นแหละ ก็มีพระภิกษุอีกจำนวนมากที่ประพฤติปฏิบัติดีถูกตรงยิ่งกว่าพระในสันติอโศก การที่พระสันติอโศกกล่าวประณามพระภิกษุไทยอื่นๆ ทั้งหมดนอกจากพวกตนว่าเป็นผู้ไม่ประกอบด้วยจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีลนั้น ย่อมกลายเป็นความบกพร่องในศีลของตนเอง

การที่ในหนังสือ "แฉสันติอโศกฯ" มีข้อความที่ผิดพลาดหรือไม่ชัดเจนชวนให้เข้าใจผิด เช่นที่กล่าวมานี้ ถ้าไม่ใช่เป็นไปด้วยเจตนาที่จะสร้างภาพผิดๆ ก็ย่อมเกิดจากความเข้าใจสับสน และการมีพื้นความรู้ในทางพระพุทธศาสนาไม่เพียงพอ ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่หน้าแรกในเล่ม คือ หน้า "เกริ่น" เป็นต้นไปทีเดียว

นอกจากหนังสือ "แฉสันติอโศกฯ" นั้นแล้ว ในระยะใกล้ๆ นี้ ทางสันติอโศกยังได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ อื่นๆ ออกมาอีกหลายเล่ม เช่น "พระธรรมนูญของพุทธ" "ไขข้อข้องใจ มังสวิรัติกับเทวทัต" "นักกฎหมายชี้ สันติอโศกไม่ผิดกฎหมาย" เป็นต้น หนังสือเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเพียรพยายามและตั้งใจจริงจังในการทำงาน และสำนวนความที่กล่าวไว้ ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เขียนเป็นคนฉลาด โดยเฉพาะหลายท่านได้เล่าเรียนวิชาการต่างๆ ทางโลกมามาก อันเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้ทำงานด้านการเล่าเรียนและเผยแพร่ได้ผลดี จึงนับว่าเป็นที่น่าชื่นชมยินดีที่มีผู้ทรงความรู้และตั้งใจจริง เข้ามาสนใจและช่วยงานในวงการพระศาสนา ถ้าข้อเขียนเหล่านี้นำเสนอความรู้และคำสอนตรงและพอดีกับความจริงตามหลักพระธรรมวินัย ก็จะเป็นความเกื้อกูลแก่กิจการพระศาสนามิใช่น้อย โดยเฉพาะในระยะนี้ ที่การพระศาสนาอ่อนแอขาดแคลนกำลังคนที่มีคุณภาพ ควรจะต้องปรับปรุง ก็จะได้เป็นการช่วยกันเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เป็นการทำงานปรับปรุงกันขึ้นในด้านต่างๆ จากหลายๆ จุดหลายๆ แห่งมาประสานกัน ผลดีก็จะเกิดขึ้นแก่พระศาสนาเป็นส่วนรวม แต่เมื่ออ่านเนื้อความแล้วก็เห็นว่า หนังสือเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขปรับเนื้อหาให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะยังมีความเข้าใจผิดและนำหลักพระธรรมวินัยมาแสดงอย่างผิดพลาดไม่ตรงไม่พอดีกับที่เป็นจริง จะกลายเป็นสื่อนำความรู้ที่ผิด อีกทั้งในหนังสือเหล่านั้น มักมีข้อความติเตียนตัดสินผู้อื่นในทางร้ายด้วย เมื่อคำและความที่อ้างเป็นเครื่องวินิจฉัยนั้นไม่ตรงตามหลักที่เป็นจริง ก็จะเป็นการทำร้ายผู้อื่นโดยไม่เป็นธรรม ถ้าผู้เขียนและผู้ที่เชื่อตามเป็นผู้มีจิตใจเป็นธรรม กว่าจะรู้ตัวว่าได้ทำร้ายผู้อื่นด้วยความหลงผิด ก็ได้ถลำพลาดไปอย่างหนักและนานเสียแล้ว จึงควรจะได้มีความรอบคอบในการค้นคว้าและทำความเข้าใจให้แม่นยำถูกต้องเสียก่อน จากการที่ได้อ่านหนังสือเหล่านี้ ถ้าไม่พิจารณาในแง่ที่ว่าผู้เขียนเหล่านั้น อาจจะมีเจตนาซ่อนเร้นแอบแฝงบางอย่าง สมมติว่าเขามีเจตนาดีเขียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็จะเห็นได้ชัดว่า เนื้อความ คำอธิบาย และการอ้างอิงที่แสดงไว้ในแต่ละเล่ม แสดงถึงพื้นฐานที่มีความเข้าใจสับสน และความรู้ความเข้าใจทางพระศาสนาที่ไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับหนังสือ "แฉสันติอโศกฯ" ที่กล่าวถึงข้างต้น ด้วยเหตุนี้ ถ้าผู้เขียนไม่ถูกผูกมัดด้วยงานเร่งด่วนต่างๆ ต่อเนื่องไปอีกนานนัก ถ้าพ้นจากงานที่ผูกรัดเหล่านั้น ก็คิดว่าจะเขียนชี้แจงอธิบายเกี่ยวกับหนังสือต่างๆ จากสันติอโศกเหล่านี้ พอให้เห็นว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนอย่างไร เพราะหนังสือที่เขียนขึ้นจากความเข้าใจสับสนคลาดเคลื่อน และพื้นความรู้ที่ไม่เพียงพอนั้น เมื่อเผยแพร่ออกไปมากก็จะสร้างความเข้าใจผิดและหลงผิด ให้กระจายกว้างขวางออกไป แล้วอันตรายก็จะเกิดแก่พระศาสนาและส่วนรวมดังได้กล่าวแล้วข้างต้น มองในแง่หนึ่ง ก็เป็นการดีที่สันติอโศกได้พิมพ์หนังสือเหล่านี้ออกมา ทำให้ได้รู้ชัดขึ้นว่า ชาวคณะนั้นมีความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ควรถือหลักว่า ไหนๆ จะทำการปรับปรุงกันแล้ว ก็ควรต้องปรับปรุงเริ่มตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องไปทีเดียว

ผู้เขียนมีความเชื่อมานานแล้วว่า ชาวสันติอโศกหลายคนหรือมากคนทีเดียว เป็นผู้มีความตั้งใจดี ต้องการพัฒนาตนเอง ต้องการแก้ไขปรับปรุงสิ่งผิดพลาดในวงการพระศาสนาและในสังคมทั้งหมด อีกทั้งเป็นผู้มีพื้นฐานการศึกษาทางโลกมาอย่างดี ซึ่งควรจะช่วยงานพระศาสนาได้อย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะในยามที่การพระศาสนากำลังต้องการการปรับปรุงเช่นนี้ แต่ความตั้งใจดีและพื้นฐานความรู้ทางโลกเท่านั้น ย่อมไม่เพียงพอ ถ้ามีความเข้าใจผิดพลาดและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทางด้านพระศาสนา บางทีเจตนาดีนั้น แทนที่จะเป็นการสร้างสรรค์ ก็กลับจะเป็นการทำลาย นำไปสู่ความสูญเสียและความพินาศ ไหนๆ ก็ได้ทุ่มตัวเข้ามาเพื่อมุ่งสู่ความจริงและความดีงามอย่างแน่วแน่แล้ว ก็ควรจะให้ดำเนินก้าวหน้าไปอย่างถูกต้อง อย่าให้ถูกความเข้าใจสับสนและความหลงผิดชักพาให้เขวผิดทางไป อย่างน้อยก็ไม่ควรจะด่วนตัดสินตนเองและตัดสินผู้อื่นเร็วเกินไปนัก ควรจะยอมอดทนให้เวลากับการเรียนรู้ให้มากสักหน่อย เท่าที่ผู้เขียนได้เกี่ยวข้องกับชาวสันติอโศกมา มีสิ่งที่ใคร่เสนอไว้ ประกอบการคิดพิจารณาในที่นี้ ๓ อย่าง คือ

การมอง พูด และแสดงออกต่างๆ ให้ตรงพอดีกับความจริง เพราะว่า ไม่เฉพาะความหย่อนความขาดและความเท็จอย่างแจ้งๆ เท่านั้น ที่ไม่ตรงกับความจริง การมอง การพูด การเขียนต่างๆ ที่เกินเลยความจริง ก็กลายเป็นไม่ใช่ความจริงเช่นเดียวกัน ความพอดีกับความจริงนั่นแหละ จึงจะเป็นความจริงที่แท้จริง

ประการที่สอง คนที่มีความตั้งใจจริง อยากทำความดี เช่น การแก้ไขปรับปรุงต่างๆ ด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า มักจะมีความรู้สึกที่รุนแรงและร้อนแรงในการที่จะกระทำ แม้ว่าความรู้สึกนี้จะเป็นพลังที่ดี แต่ถ้าทำการลงไปในขณะที่มีความรู้สึกรุนแรงนี้ และด้วยความรู้สึกนี้ ก็มักจะทำให้เกินเลยความดี ไม่พอดีกับความดี แล้วก็กลายเป็นความไม่ดีไปได้ ดังนั้น เมื่อเกิดความตั้งใจจริง ที่จะทำความดีด้วยความรู้สึกที่แรงกล้าแล้ว ก็นับว่าเป็นความดีขั้นที่หนึ่ง แต่ก่อนที่จะทำ ถ้าระงับอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงไว้แล้ว ปรับใจให้สงบราบเรียบพอดี ตั้งความเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นและความมีใจเป็นกลางซื่อตรงต่อธรรมเข้ามาเป็นพื้นจิต แล้วทำการด้วยจิตใจที่สงบราบเรียบเป็นกลางพร้อมด้วยเมตตานั้น ก็จะเป็นความดีขั้นที่สอง ซึ่งจะทำให้ได้การทำดีที่พอดีกับความดี เป็นความดีที่แท้จริงโดยสมบูรณ์

อีกประการหนึ่ง ในการปฏิบัติ ความระมัดระวัง คอยสำรวจตรวจตราตนเองและแนวทางที่ตนยึดถือ ให้เป็นการปฏิบัติที่ตรงพอดีกับหลักการที่แท้ของธรรม ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข ทั้งของตนเองและผู้อื่น บางที ถ้าเผลอเพลินไป มัวคอยระวัง ตั้งใจทำตัวและแสดงตัวให้เคร่งครัดเข้มงวดเต็มที่ไปด้านหนึ่ง เลยกลายเป็นการดำดิ่งไปในด้านเดียว ปล่อยให้ความพลั้งพลาดเกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งโดยไม่รู้ตัว เข้าทำนองที่ว่า มัวแต่จะเมตตาเต่าปลา เลยลืมไปว่า กำลังวิหิงสาเพื่อนมนุษย์ จิตเมตตาที่แท้จริงนั้น ย่อมเกิดจากความเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง มองเห็นเข้าไปในเหตุปัจจัยทั้งหลาย ที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้น ซึมซาบในความเป็นจริงแห่งชีวิตของเขา จนไม่มีตัวเราที่จะเอาไปเทียบ ต่อเมื่อไม่มีการกระทำด้วยแรงความปรารถนาของตัวเราแล้วนั่นแหละ การแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงจะเกิดมีขึ้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.