ทางออกของสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ในความดีงาม ก็ต้องระวังความรุนแรง

ความเป็นคนดีในแง่ของความประพฤติทั่วไป ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เมื่อความเป็นคนดีนั้นไปสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจ ซึ่งยิ่งมาเกี่ยวกับเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเรื่องธรรมวินัยด้วยแล้ว ก็จะต้องมีปัญหาขึ้นมาว่า ความเข้าใจทางศาสนานั้นถูกต้องไหม ความดีที่จะตลอดก็คือ มีความประพฤติดีที่เป็นขั้นศีลรองรับ และความเข้าใจเบื้องสูงขึ้นไปก็จะต้องถูกต้องด้วย จึงจะรับต่อกันเป็นทอดๆ ถ้าหากว่าความดีงามในระดับต้นหรือในระดับศีล ตัวเองมีความพยายามเพียรทำ แต่มีความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่ ก็จะไปเสียผลในบั้นปลาย เพราะเกี่ยวกับทิศทางที่จะเดิน ถึงจะเดินได้ดี แต่ถ้าเดินผิดทิศทางก็เท่ากับสูญเสียหมดในบั้นปลาย เราอาจจะพูดถึงตัวอย่างบุคคลที่สามารถทำอะไรได้สำเร็จ แล้วก็ทำความดีจนกระทั่งประชาชนนิยม ในประวัติศาสตร์ก็มีหลายคนที่ทำความดี ทำอะไรได้ดีและสำเร็จ พอมีอำนาจขึ้นมาเขาก็ถือว่าเขามีเจตนาดีนั่นแหละ แต่ก็ออกไปในทางที่ดิ่งไปตามทิฐิของตน และในที่สุดก็ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า เขาทนไม่ได้กับคนที่คิดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือทำโดยวิธีอื่น แต่ต้องทำอย่างวิธีของเขาเท่านั้นจึงจะถูกต้อง ตอนแรกก็อาจจะเหมือนกับว่าเขาไม่มีความรุนแรง แต่ความรุนแรงมันแฝงอยู่ในตัว คือความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้อย่างนั้น ด้วยวิธีอย่างนั้น เมื่อมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้อย่างนั้นแล้ว ในที่สุดก็ทนคนอื่นไม่ได้ เมื่อปล่อยไม่ได้ก็ต้องบังคับเอา ในกรณีที่มีคนจำนวนมากๆ ย่อมจะให้เป็นอย่างใจไม่ได้ เมื่อทนกันไม่ได้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นความรุนแรงขึ้นมา ความรุนแรงนี้อาจจะเกิดขึ้นได้หลายแบบ เช่น เมื่อเขาถือว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เท่านั้นที่ถือว่าถูกต้อง เขาก็ต้องพยายามทำให้คนอื่นทำอย่างเขาให้ได้ ไม่ว่าคนนั้นจะทำได้หรือไม่ได้ ปัญหาระยะยาวพอมีตัวอย่าง เช่น จีนแดง เราจะเห็นว่า เมื่อ เหมาเจ๋อตุง ยังอยู่ คนแต่งตัวต้องเป็นแบบเดียวกัน เรียบๆ ง่ายๆ แล้วต่อมาปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร เปลี่ยนไปมาก เป็นแฟชั่นตะวันตก ทำไมเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าที่คนจีนอยู่กันในยุคนั้น อยู่ด้วยการบังคับ จิตใจไม่ได้เป็นไปตาม มีช่องเมื่อไรก็ออกมาทันที แสดงว่าเป็นความไม่พร้อมของจิตใจ

การประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นความดีงามของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องสร้างด้วยการพัฒนาคนให้มีความพร้อมของจิตใจและความสมัครใจ การสั่งสอนและฝึกคนในพระพุทธศาสนาจึงใช้วิธีการที่ยอมรับความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ต่างจากวิธีการทางการเมือง ซึ่งมุ่งแต่จะทำให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของตน โดยใช้ระบบควบคุมจากภายนอกฉับพลันทันที หรือใช้ระบบบีบเอา ถ้าการเมืองเพียงแต่ช่วยหนุนวิธีปฏิบัติของพระศาสนา ก็ไม่สู้มีปัญหา แต่ถ้าเอาความมุ่งหมายทางพระศาสนาไปจัดทำด้วยวิธีการเมือง ก็จะต้องมีปัญหาขึ้นแน่นอน ทางพระพุทธศาสนาจึงระวังความสัมพันธ์กับการเมือง ให้เพียงแต่อิงกันหรือประสานกัน แต่ไม่ไปลงสนามเดียวกัน ถ้าหากคนที่ถือข้อปฏิบัติทางศาสนามาทำงานการเมืองแล้วมีความมุ่งมั่นในวิถีทางของตัวเองอย่างเดียว และอดทนต่อคนอื่นไม่ได้ ก็พยายามที่จะให้คนอื่นต้องเป็นอย่างที่ตัวเองเป็นและถืออย่างที่ตัวเองถือ ก็จะออกมาในลักษณะที่เป็นไปโดยสมัครใจไม่ได้ ต้องมีการบังคับหรือบีบคั้นกัน ก็จะเกิดปัญหาในระยะยาว ถ้าเคร่งเครียดเกินไป คนที่ทำด้วยสมัครใจจะมีจำนวนน้อย คนที่ทำโดยไม่สมัครใจจะมีจำนวนมาก ถ้าไม่ออกในลักษณะของจีนแดงนี้ คือไม่เปิดทางให้เอง ต่อไปมันอาจจะออกในทางระเบิด ก็กลายเป็นความรุนแรงไป ในกรณีของจีนนั้น เกิดมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเรายอมรับวิธีใหม่นี้ว่าถูก แต่หมายความว่ามันเป็นเครื่องแสดงว่าที่ผ่านมานั้น จิตใจคนไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นด้วย อีกตัวอย่างหนึ่ง ตอนนี้พม่าก็เกิดเหตุขึ้นมา ในสมัยเนวินที่ผ่านมานี้ พม่าคิดระบบสังคมขึ้นมาใช้เรียกว่า พุทธสังคมนิยม (Buddhist Socialism) บอกว่าอิงหลักพระพุทธศาสนา จะใช่พุทธแท้จริงหรือไม่ ก็คงต้องสอบสวนกันดู ว่าอิงพุทธหรืออ้างพุทธกันแน่ คนที่เคยไปพม่าช่วงที่แล้ว และได้ไปเห็นสภาพ พวกหนึ่งที่ชอบความเจริญแบบเมืองไทยแบบเปิดฟรี ก็บอกว่าพม่าไม่ได้เรื่อง ไม่เจริญ อีกพวกหนึ่งบอกว่าดีจังพม่านี่ ชีวิตเรียบง่าย ประหยัด แต่ผลที่ออกมาตอนนี้คืออะไร คือความระส่ำระสาย แสดงว่าจิตใจคนไม่ได้รับความพึงพอใจอย่างแท้จริง อาจจะสุดโต่งเกินไป ไม่พอดี หรือคงจะมีการบีบบังคับบางอย่างจนทนกันไม่ได้ เรื่องละเอียดเป็นอย่างไรคงจะต้องวิเคราะห์กันต่อไป แต่ก็เป็นบทเรียนซึ่งไม่ควรประมาท อันนี้ก็เป็นตัวอย่างปัญหาในแบบต่างๆ

ความรุนแรงนี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตใจ คนที่มุ่งจะทำให้ได้ตามที่ตัวปรารถนาหรือคิดเห็น โดยที่ถือว่าต้องทำตามแบบของตัวเท่านั้น ถ้าอย่างนี้แล้วมีโอกาสที่จะต้องเกิดความรุนแรงขึ้นมา เพราะต้องทำแบบของฉันเท่านั้นจึงจะถูก ก็ย่อมเกิดความเครียดหรือกดดันขึ้นมาระหว่างสองฝ่าย วิธีอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นว่าจะมีหรือจะกลายเป็นความรุนแรงได้หรือไม่ ก็คือดูว่า ที่เขาถือข้อปฏิบัติอย่างนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น เขาถือด้วยความรู้สึกสุขสบายใจ หรือถือได้ ทำได้ด้วยความรุนแรง ที่ว่าถือด้วยความรุนแรง ก็คือ ทำโดยมีแรงอัดแรงดัน เช่น ถือหรือทำด้วยแรงของความรู้สึกรังเกียจหรือไม่พอใจต่อคนพวกอื่นที่ไม่เป็นอย่างนั้น ถือด้วยกำลังของความรู้สึกว่าที่ตนทำอย่างนั้น เป็นการมีความดีเหนือผู้อื่น หล่อเลี้ยงกำลังใจของตนให้ดำรงอยู่ในข้อปฏิบัติหรือความเป็นอยู่นั้นได้ ด้วยแรงความภูมิใจของมานะ ที่เกิดจากการเปรียบเทียบตนกับคนอื่น หรือมีอุดมการณ์ว่าจะต้องเป็นจะต้องทำอย่างนั้น แล้วจัดข้อปฏิบัติทางพระศาสนาให้เข้าหรือให้สนองอุดมการณ์ของตน นี่เป็นการดูด้านภายในจิตใจ ส่วนในทางภายนอก ก็ดูที่การแสดงออก โดยเฉพาะในการบอกกล่าวสั่งสอนหลักการหรือข้อปฏิบัติของตนว่า เป็นการนำเสนอให้คนพิจารณาด้วยสติปัญญาของเขา ตามแนวทางของเหตุผลและข้อเท็จจริง ตลอดจนอาจจะชักชวนด้วยการเสนอทางเลือก หรือเป็นการบีบรัดว่าจะต้องถือต้องทำอย่างฉันนี้จึงจะถูกต้อง ทำอย่างอื่นผิดทั้งนั้น เป็นธรรมดาว่า ในยุคที่มีความย่อหย่อนเสื่อมโทรม คนที่อยากแก้ไขปรับปรุง ก็มักเกิดความรู้สึกเร่งเร้าที่จะให้มีการปฏิบัติให้เคร่งครัดที่สุด ในยุคที่มีความฟุ้งเฟ้อกันมาก ก็ชวนให้คนที่อยากแก้ไขปรับปรุง เกิดความรู้สึกเร่งเร้าที่จะทำให้มีความมักน้อยเรียบง่ายอย่างที่สุด ความรู้สึกนี้จะโน้มไปในทางที่จะสุดโต่งจากสภาพที่เป็นอยู่ และอาจทำให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ตามปกติย่อมเป็นคนดีและมีเจตนาดี แต่การที่จะให้เป็นความดีแท้จริงก็ต้องให้ระงับความคิดและการกระทำที่เกิดจากอารมณ์รุนเร้า เอาความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์เข้ามาใส่ไว้แทน แล้วตั้งสติใช้ปัญญาพิจารณาความจริงด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ให้เห็นแนวทางความคิดและการปฏิบัติที่พอเหมาะพอดี ซึ่งจะเป็นผลดีแก่สังคมมนุษย์ โดยสอดคล้องกับความเป็นจริง

สำหรับสำนักที่ถามมา อย่างสำนักสันติอโศก มีลักษณะนี้หรือเปล่า ถ้ามีลักษณะการถือด้วยแรงอัดกันที่ว่าข้างต้น และมีลักษณะแสดงออกสั่งสอนที่ว่าต้องทำอย่างฉันเท่านั้นจึงจะถูก ทำอย่างอื่นผิดหมด อย่างนี้ก็ย่อมมีความรุนแรงอยู่ในตัว เป็นความรู้สึกที่ฝังแฝงอยู่ แม้ว่าพฤติกรรมภายนอกจะดูว่าไม่รุนแรง แต่มีความรุนแรงซ่อนอยู่ข้างใน เป็นความร้อนไม่ใช่ความชุ่มเย็น ซึ่งในระยะยาวจะมีปัญหาขึ้นได้ เพราะจะทนต่อพวกอื่นไม่ได้ และพวกอื่นก็ทนเขาไม่ได้ ทีนี้เมื่อมีกำลังมีอำนาจขึ้นมาแล้วจะเป็นอย่างไร ปัญหาก็เกิด อย่างน้อยคนก็จะต้องแยกชัดออกเป็นสองพวก พวกที่ถือว่าแนวทางอย่างนี้เท่านั้นจึงจะถูก พวกอื่นก็เห็นว่าไม่ได้ ฉันจะยอมทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โตจนแก้ไขไม่ได้ ก็ควรจะมาทำความเข้าใจให้ชัดกันเสียก่อน โดยพูดกันด้วยเหตุด้วยผลโดยดี และในระหว่างที่พูดกันนี้ ก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในขนาดนี้ ก็ได้มีความร้อนแรงและความเครียดอัดซ่อนอยู่แล้วหรือไม่เพียงใด

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.