ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความสำคัญและความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจ ในระบบของพุทธธรรม

มีข้อพิจารณาสืบเนื่องต่อไปว่า พฤติกรรมหรือกิจกรรมและผลได้ทางเศรษฐกิจมีความหมายสำคัญในแง่ของพุทธธรรมอย่างไรบ้าง ตอบโดยสรุปคือ

๑. เป็นปัจจัย หรือเป็นฐานที่จะช่วยให้มีความสุขในระดับหนึ่ง เราต้องยอมรับความจริงว่า ความพรั่งพร้อมทางวัตถุนี้ ทำให้เราเกิดความสุขได้เหมือนกัน ทางพุทธศาสนาก็ยอมรับความจริงนี้ว่า ความอยู่ดีมีพอทางเศรษฐกิจนี้ก็เป็นฐานอันหนึ่ง ที่จะทำให้เราพร้อมที่จะมีความสุข

๒. เป็นปัจจัย หรือเป็นฐาน ซึ่งทำให้เกิดความพร้อมในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้ยิ่งขึ้นไป

๓. เป็นข้อสังเกตพิเศษว่า เราไม่ได้มองเฉพาะว่าผลได้จากเศรษฐกิจ คือ ทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น จะเป็นฐานที่ทำให้เรามีความพร้อมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพของเราเท่านั้น แต่มองว่า ตัวกิจกรรมหรือพฤติกรรมในทางเศรษฐกิจนั่นเอง แต่ละครั้ง สามารถเป็นกิจกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพของตนได้ทุกครั้งเลยทีเดียว เราสามารถที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกครั้ง กลายเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพของตนเองไปด้วย อันนี้ลึกเข้าไปอีก

พุทธศาสตร์มองชีวิตอย่างที่บอกเมื่อกี้ คือ ถือว่าเศรษฐศาสตร์เป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง หรือเป็นกิจกรรมเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ชีวิตเป็นองค์รวมของปัจจัยและกิจกรรมหลายด้าน เพราะฉะนั้น เราจึงมีความมุ่งหมายรวมของชีวิตและสังคม พุทธศาสตร์มองชีวิตโดยสัมพันธ์กับจุดหมายรวมนี้ว่า เป็นการก้าวไปสู่ความหลุดพ้นเป็นอิสระ การดำเนินชีวิตในทุกเวลาทุกขณะนี้ เมื่อดำเนินอย่างถูกต้องก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เราจึงควรทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกครั้ง เป็นส่วนร่วมในแผนการหรือกระบวนการพัฒนาศักยภาพ เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตนี้ด้วย การปฏิบัติดังนี้ก็เหมือนอย่างที่ท่านพุทธทาสใช้คำว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม การทำอย่างนี้ก็คือ การนำเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้ามาอยู่ในแผนรวมหรือโครงการใหญ่ของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เพราะฉะนั้น การทำกิจกรรมเศรษฐกิจก็มีความหมายเป็นการปฏิบัติธรรมได้โดยนัยฉะนี้ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทุกด้านของชีวิตหรือกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ มีความสัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน

กิจกรรมที่ทำอย่างถูกต้อง ในการดำเนินชีวิตหรือการมีพฤติกรรมที่ถูกต้องทางเศรษฐกิจ ก็เรียกชื่อว่าเป็นสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะก็คือการเลี้ยงชีพชอบ หรือเป็นอยู่โดยชอบ การเป็นอยู่โดยชอบ หรือปฏิบัติการในทางเศรษฐกิจโดยถูกต้องนี้ ก็ไปเป็นองค์หนึ่งหรือเป็นส่วนประกอบอันหนึ่งในวิถีชีวิต หรือระบบการดำเนินชีวิตที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการ ถึงตอนนี้ เราก็จะมองเห็นฐานะของเศรษฐกิจว่าอยู่ที่ไหน ในคำสอนที่เรียกว่าพุทธศาสตร์ เรามองหาจุดบรรจบนี้ได้แล้ว กล่าวคือ การปฏิบัติที่ถูกต้องในทางเศรษฐกิจ เป็นสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของระบบการดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิตแบบพุทธศาสนาที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นทางที่นำไปสู่จุดหมายรวมของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ฉะนั้น ในตอนนี้ เราก็มองเห็นฐานะและความสำคัญของเศรษฐกิจชัดขึ้นมา จากฐานะของสัมมาอาชีวะนั่นเอง และเราจะเห็นความหมายนี้ในสองแง่ด้วยกัน คือ

ประการที่หนึ่ง กิจกรรมในทางเศรษฐกิจที่เรียกว่าสัมมาอาชีวะนี้ เป็นส่วนหนึ่งในระบบการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ หรือการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตไปสู่ความเป็นอิสระและสันติสุข เพราะว่ามรรคมีความมุ่งหมายนี้ เมื่อมรรคมีความมุ่งหมายอย่างไร สัมมาอาชีวะในฐานะที่เป็นองค์ประกอบอันหนึ่ง ก็ย่อมมีความมุ่งหมายอย่างนั้นด้วย

ประการที่สอง มรรคนั้นเป็นระบบปฏิบัติที่มีองค์ประกอบแปดประการ องค์ประกอบแปดประการนี้จะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ร่วมประสานบรรจบกันในการที่จะเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา คือชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น เป็นองค์ประกอบที่อิงอาศัยกันกับองค์ประกอบอย่างอื่นในระบบชีวิตที่ดีงามด้วย ต้องอิงอาศัยกัน ไม่สามารถแยกโดดเดี่ยว

นี้เป็นข้อสังเกตสองประการที่เกี่ยวเนื่องกับสัมมาอาชีวะ และขอทวนอีกครั้งหนึ่งว่า นัยความหมายที่ว่าเศรษฐกิจที่ถูกต้องเป็นสัมมาอาชีวะ เป็นองค์ประกอบอันหนึ่งของมรรค ก็คือมันเป็นองค์ประกอบในระบบการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ไปสู่จุดหมายแห่งความเป็นอิสระและสันติสุข และประการที่สอง ก็จะต้องตระหนักถึงการที่มันเป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันกับองค์ประกอบอย่างอื่นของระบบชีวิตที่ดีงาม

เท่าที่กล่าวมาในตอนนี้ก็เป็นการพูดถึงคำสอนทั่วๆ ไปของพระพุทธศาสนา จากการที่ได้มองดูคร่าวๆ ในพระไตรปิฎกแล้ว ก็สรุปเป็นหลักทั่วไปพร้อมทั้งข้อสังเกตกว้างๆ ต่อนี้ไป ก็จะเอาพุทธศาสตร์นั้นกับเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่นี้มาบรรจบประสานกัน โดยจะเอาเรื่องที่กล่าวแล้วนั้นมาวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวิเคราะห์ไปโดยใช้กรอบความคิดและถ้อยคำของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ มันก็จะกลายเป็นเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ขึ้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.