ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สองนัยของธรรม ที่สัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์

ทีนี้ก็อย่างที่อาตมภาพได้กล่าวแล้วแต่เบื้องต้นว่า เมื่อได้ยินหัวข้อว่าเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ หลายท่านก็จะมองไปว่า คงจะเป็นการพูดเรื่องจริยธรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือเรื่องเศรษฐกิจที่มาสัมพันธ์กับจริยธรรม ว่าจริยธรรมมีความหมายมีความสำคัญต่อเศรษฐศาสตร์ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร ว่าเรื่องคุณธรรม ความดีความชั่ว คุณค่าทางจิตใจอะไรต่างๆ มีอิทธิพลในการดำเนินการทางเศรษฐกิจตั้งแต่การตัดสินใจทางเศรษฐกิจ เป็นต้น อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ก็นับว่าเป็นความเข้าใจที่คับแคบ เพราะว่า เมื่อพูดถึงพุทธศาสตร์เราก็ต้องพูดถึงคำว่าธรรม จะเห็นว่าธรรมนี่แหละเป็นตัวหลักตัวแกนของพุทธศาสตร์ แต่คำว่าธรรมนั้น คงจะมีความหมายกว้างกว่าที่เราเข้าใจกันทั่วไป อย่างน้อยในที่นี้ก็ขอพูดว่า ถ้าเข้าใจเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมแล้ว ก็นับว่าผู้ที่พูดนั้นยังมีความเข้าใจผิดอยู่สองอย่าง ประการที่หนึ่งคือ ไปคิดถึงธรรมในความหมายแคบๆ ว่าเป็นจริยธรรม เป็นความประพฤติดีประพฤติชั่วและคุณค่าทางจิตใจอย่างเดียว นี้เป็นความเข้าใจผิดพลาดสถานที่หนึ่ง ประการที่สองคือ ความเข้าใจผิดคิดว่าธรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่แยกออกได้ต่างหากจากเศรษฐศาสตร์ แยกออกได้จากเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งความจริงมันเป็นสิ่งที่แยกออกไปไม่ได้ อันนี้ก็เป็นแนวความคิดของยุคปัจจุบันที่ชอบแยกแยะอะไรต่ออะไรออกไปเป็นด้านๆ เป็นอย่างๆ ให้มีความชำนาญในด้านนั้นๆ ก็เลยมีความโน้มเอียงที่จะแยกเอาเรื่องธรรมนี้ออกไปจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ด้วย โดยถือว่าผู้ที่ศึกษาธรรมก็เป็นผู้รู้ธรรมโดยเฉพาะ ธรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง เศรษฐกิจก็เป็นเรื่องหนึ่ง อะไรทำนองนี้ นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกสถานหนึ่ง แต่จะเข้าใจผิดอย่างไรก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป

ในการทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้ ขอพูดถึงความหมายของคำว่าธรรมก่อน ในที่นี้จะพูดเพียงสั้นๆ ว่า ในความเข้าใจแบบปัจจุบันที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ธรรมนั้นอาจจะแยกได้เป็นสองอย่าง คือ ธรรมที่เรียกว่า จริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักความประพฤติปฏิบัติ การดำรงตนในสังคม การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับความดีความชั่ว เรียกว่า ประพฤติดีประพฤติไม่ดี อะไรต่างๆ นี้ด้านหนึ่ง และธรรมในความหมายที่สอง คือ สัจจธรรม ได้แก่ ตัวสัจจะ ความจริงตามสภาวะ ความจริงที่เป็นความเป็นไปตามธรรมดา เป็นกฎเป็นเกณฑ์ของสิ่งทั้งหลาย หรือกฎธรรมชาติ การที่สิ่งทั้งหลายดำเนินไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่เป็นเรื่องของสัจจธรรม นี้เป็นวิธีแยกง่าย ๆ เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น เมื่อมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมอย่างนี้แล้ว เราก็จะมาศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์กันต่อไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.