ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

ข้อที่จะพึงพูดในเบื้องต้นก็คือ เศรษฐกิจนี้เป็นกิจกรรมของมนุษย์ เป็นเรื่องของมนุษย์แท้ๆ เลยทีเดียว และวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นก็เป็นความพยายามด้านหนึ่ง ที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ อันนี้เป็นข้อสังเกตที่สำคัญ จะต้องย้ำว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นกิจกรรมของมนุษย์ การที่เราจะแก้ปัญหาของมนุษย์ ซึ่งเป็นการเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างหนึ่งนั้น เราจะต้องมีความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ตลอดจนจุดหมายของชีวิตมนุษย์ด้วย คนที่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องของมนุษย์ จะต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ในเมื่อเศรษฐศาสตร์นี้มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เป็นกิจกรรมของมนุษย์ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ และในทางปฏิบัติเท่าที่เป็นอยู่ เศรษฐศาสตร์เองก็จับเอาบางชิ้นบางส่วนบางประเด็นของธรรมชาติของมนุษย์มาใช้อย่างที่ว่ามาแล้ว เช่น จับเอาความต้องการของมนุษย์ ความพอใจของมนุษย์ การตัดสินใจของมนุษย์ มาเป็นฐานความคิดและการพิจารณาปัญหาทางเศรษฐกิจ

ความต้องการ ความพึงพอใจ และการคิดตัดสินใจ เป็นต้น ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อเราเกี่ยวข้องกับมัน เราย่อมมีความเข้าใจต่อมันอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามและนั่นละคือความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ทีนี้นักเศรษฐศาสตร์ที่จับเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ มีความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร คนในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อาจจะถือตามสืบกันมาจากพื้นฐานความเข้าใจของคนบางคนที่วางวิชาเศรษฐศาสตร์นี้ขึ้นมา หมายความว่า คนที่วางหลักการเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น ย่อมมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในแบบของเขา แต่เขาไม่พูดให้ชัด ไม่ได้อธิบายทรรศนะของเขา หรือเขาอาจจะถือว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่รู้ตัวตระหนักด้วยซ้ำ แล้วเขาก็หยิบยกเอาประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ในความเข้าใจแบบของเขานั้น ขึ้นมาวางเป็นปัจจัยร่วมในการพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ทางเศรษฐกิจ แล้วนักเศรษฐศาสตร์ที่สืบต่อมาก็ยอมรับเอาความเข้าใจต่อธรรมชาติเหล่านี้ ในลักษณะที่เหมือนเป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ โดยไม่ได้ทบทวนตรวจสอบ เราไม่เคยทบทวนตรวจสอบเลยว่า คนที่วางแนวความคิดนี้ หรือคนที่หยิบยกเอาประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ขึ้นมากำหนดวางในการพิจารณาปัญหาเศรษฐกิจนั้น เขามีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในเรื่องเหล่านี้อย่างไร ไม่ได้ทบทวน ไม่ได้ตรวจสอบ หรืออาจจะถึงกับไม่ได้สนใจ ไม่ได้ศึกษาเลยด้วยซ้ำในเรื่องธรรมชาติเหล่านี้ว่าเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ต้องยกขึ้นพิจารณาเป็นเบื้องต้น ซึ่งลึกเข้าไปถึงฐานเลยทีเดียว

ในการที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ก็จะต้องเกิดความสับสน เพราะว่า ตัวนักเศรษฐศาสตร์เองคนหนึ่งหรือพวกหนึ่ง ก็จะมีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในแบบของตนเองอยู่อย่างหนึ่ง แล้วอีกคนหรืออีกพวกหนึ่งก็อาจจะมีความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง เมื่อไม่ได้หยิบยกขึ้นมาตรวจสอบตกลงกัน มันก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว แล้วอันนี้ก็จะโยงมาถึงความเป็นวิทยาศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์ด้วย ในเมื่อเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์ เศรษฐกิจเป็นกิจกรรมของมนุษย์ แต่วิทยาศาสตร์ในสภาพปัจจุบันเท่าที่เป็นมานี้ เป็นศาสตร์ที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับมนุษย์ แม้จะศึกษามนุษย์ก็ศึกษาเฉพาะในด้านชีววิทยา เรื่องของมนุษย์ที่นักวิทยาศาสตร์เอาใจใส่ คือ ชีววิทยา ซึ่งไม่ใช่ตัวมนุษย์โดยตรง แต่เป็นร่างกาย ที่เป็นวัตถุเป็นรูปธรรม ส่วนตัวมนุษย์โดยตรงนั้น เป็นเรื่องของวิชาการอื่น ทีนี้เมื่อเศรษฐศาสตร์มาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ แต่จะพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ ก็มีทางที่จะผิดพลาดได้มาก จึงควรจะต้องยอมรับความจริงดีกว่า อย่าไปมัวยุ่งอยู่กับการที่จะพยายามเป็นวิทยาศาสตร์ หรือมิฉะนั้นก็ต้องให้วิทยาศาสตร์ขยายความหมายออกมา วิทยาศาสตร์ที่แท้ต่อไปก็คงจะต้องเป็นอย่างนั้น คือ จะต้องขยายขอบเขตความสนใจออกมา โดยพิจารณาเรื่องต่างๆ ไม่เฉพาะทางด้านวัตถุเท่านั้น เป็นอันว่า เศรษฐศาสตร์จะจำกัดตัวอยู่แต่ในแง่ที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้นไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์นั้นไปสนใจศึกษาวิเคราะห์ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีความหมายสำคัญต่อเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐศาสตร์โดยตรง เศรษฐศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องเศรษฐกิจซึ่งเป็นกิจกรรมของมนุษย์ เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์จะต้องเอาใจใส่สนใจปัญหาของมนุษย์ หรือเรื่องตัวของมนุษย์เอง จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ และธรรมชาติของมนุษย์พอสมควร จึงจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

ความจริง เศรษฐกิจนี่ไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติเลย แต่เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เป็นฝีมือของมนุษย์โดยแท้ จึงเป็นไปตามวิทยาศาสตร์แบบปัจจุบันได้ยากมาก ทีนี้อย่างที่ว่ามาแล้ว ในเมื่อจะแก้ปัญหาของมนุษย์ แล้วยังแถมเอาประเด็นในธรรมชาติของมนุษย์มาใช้ในการพิจารณาปัญหาอีกด้วย ก็จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อย่างที่ว่ามาแล้ว เป็นอันว่า ขณะนี้เศรษฐศาสตร์ได้ละเลยการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ และก็ไม่รู้ตัวว่าในการที่ตนได้ใช้ประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์มาคิดพิจารณานั้น ที่แท้แล้วมันมีความเป็นจริงอย่างไร กล่าวคือในขณะที่พิจารณาปัญหาเศรษฐกิจนั้น เรามีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในแบบของเรา ที่เราเองก็ไม่รู้ตัวตระหนัก และไม่สามารถบรรยายออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องใหญ่ ในที่นี้พูดเข้ามาเป็นเรื่องแทรกเท่านั้น การที่จะพูดมากนักจึงไม่สมควร แต่ที่ต้องพูดถึงบ้างก็เพราะว่า เมื่อจะพูดถึงเศรษฐศาสตร์ตามแนวของพุทธศาสตร์ ก็จะต้องพิจารณาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ของพุทธศาสตร์ว่าเป็นอย่างไร จึงลองมามองดูกันว่า พุทธศาสตร์เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.