พระพุทธศาสนาในอาเซีย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๑.
พระพุทธศาสนาในกัมพูชา

 

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา หรือที่เรียกกันสามัญว่าประเทศเขมรในบัดนี้ เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ได้เป็นส่วนหนึ่งแห่งถิ่นฐานที่ชนชาติมอญ-เขมรอาศัยอยู่ ชนชาติมอญ-เขมรนั้น นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า อพยพมาจากอินเดีย ผ่านเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอินโดจีน หรือมาจากทิศตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีนอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วได้กระจายกันอยู่ทั่วๆ ไป ผสมพันธุ์กับชนเจ้าถิ่นในที่นั้น และต่อมาได้มีอํานาจครอบครองดินแดนในคาบสมุทรอินโดจีนทั้งหมด เมื่อมีชนพวกอื่นอพยพเข้ามาในดินแดนนี้อีก ชนชาติมอญ-เขมรก็ผสมผสานกับชนเหล่านั้น ทั้งในทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอารยธรรม มีความเจริญเพิ่มขึ้นโดยลําดับ ต่อมาเมื่อประมาณสองพันปีล่วงแล้ว ได้มีนักแสวงโชคและพ่อค้าชาวชมพูทวีปเดินทางมาหาโชคลาภและค้าขายในดินแดนแถบนี้ ชาวอินเดียเหล่านี้ได้นําเอาวัฒนธรรมของตนมาเผยแผ่ พร้อมทั้งได้แต่งงานกับชนเจ้าถิ่นด้วย ทําให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางประวัติศาสตร์ซึ่งนับว่าเป็นความเจริญขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

ในช่วงเวลาใกล้กันนี้ พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงส่งศาสนทูตมี พระโสณะ และ พระอุตตระ เป็นหัวหน้า มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ เมื่อกาลเวลาผ่านไปพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ก็คงแพร่หลายไปในหมู่ประชาชนโดยลําดับ คู่ขนานไปกับความเจริญของฝ่ายบ้านเมืองที่เกิดจากการผสมผสานในทางการติดต่อค้าขาย และวัฒนธรรมอารยธรรมความเจริญทางฝ่ายบ้านเมืองที่ว่านั้นก็คือ การเกิดเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ ขึ้น ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สําหรับดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชา ในบัดนี้ ก็ได้มีประวัติสืบเนื่องมาตามลําดับสมัย ซึ่งจัดได้เป็น ๔ ยุค คือ ยุคฟูนัน ยุคเจนละ ยุคมหานคร และยุคหลังมหานคร จะบรรยายเฉพาะเหตุการณ์สําคัญและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาดังต่อไปนี้

๑. ยุคฟูนัน (Funan หรือ Founan)
หรือยุคอาณาจักรพนม หรือยุคก่อนเขมร
(ค.ศต. ๑ - ๖ ตรงกับประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ ถึง ๑๑๐๐)

“ฟูนัน” หรือ “ฟูนาน” เป็นคําจีน เรียกกันอย่างนี้เพราะทราบเรื่องราวจากหลักฐานฝ่ายจีน ปราชญ์สันนิษฐานว่า ฟูนัน เพี้ยนไปจากคําเขมรว่า “พนม” ซึ่งแปลว่า ภูเขา ตํานานเล่าว่า พราหมณ์ชาวชมพูทวีปชื่อ เกาณฑินยะ (รูปสันสกฤต; ตรงกับบาลีว่า โกณฑัญญะ) ได้มาสมรสกับราชินีหรือสตรีหัวหน้าเผ่าชนแห่งท้องถิ่นนี้ (ศิลาจารึกว่าสมสู่กับนางนาค ชื่อ โสมา ผู้เป็นธิดาของพญานาค) และได้เป็นต้นวงศ์กษัตริย์แห่งฟูนัน อาณาจักรฟูนันตั้งราชธานีที่เมืองวยาธปุระ และแผ่อํานาจออกไปอย่างกว้างขวาง มีอาณาเขตครอบคลุมภาคใต้ของประเทศกัมพูชาปัจจุบันและแคว้นโคชินจีน (ได้แก่ ดินแดนส่วนล่างสุด ประมาณ ๑ ใน ๔ ของเวียดนามใต้ มีเมืองไซ่ง่อนเป็นศูนย์กลาง) ทั้งหมด และปกครองเมืองขึ้นชื่ออาณาจักรเจนละ ซึ่งมีอาณาเขตต่อฟูนันขึ้นไปทางเหนือ ตรงกับกัมพูชาภาคเหนือและลาวภาคใต้ในปัจจุบัน อาณาจักรที่เจริญร่วมสมัยกับฟูนัน คือ อาณาจักรจัมปาของพวกจาม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกและทางเหนือของ ฟูนัน (ตรงกับภาคเหนือของเวียดนามใต้ในปัจจุบัน)

เดิมชนพื้นเมืองของฟูนันเป็นชนชาติมลายู นับถือโลกธาตุและผีสางเทวดา เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่สุวรรณภูมิแล้ว ก็คงเผยแผ่ไปในหมู่ประชาชนชาวฟูนันกว้างออกไปตามลําดับ แต่ในราชสํานักและชนชั้นสูงปรากฏว่านับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ (นับถือพระอิศวร) เป็นหลัก และอาจจะนับถือพุทธศาสนาปะปนอยู่ด้วย ชาวอินเดียได้นําแบบแผนการปกครอง ศิลปะ การช่าง และวิทยาการต่างๆ เข้ามาสร้างความเจริญแก่ฟูนัน ทําให้ฟูนันมีอารยธรรมคล้ายคลึงกับอินเดียในสมัยนั้น

ในตอนปลายยุค ดูเหมือนว่าพระมหากษัตริย์จะหันมานับถือพุทธศาสนามากขึ้น ดังเอกสารฝ่ายจีนในราชวงศ์ชี้ทางภาคใต้ (พ.ศต. ๑๑) ว่า กษัตริย์ฟูนัน พระนามเกาณฑินยะชัยวรมัน (เกาจินจูเชเยปาโม สวรรคต พ.ศ. ๑๐๕๗) เมื่อก่อนนี้ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ ต่อมาทรงนับถือพุทธศาสนา และในรัชกาลนี้มีพระภิกษุอินเดียรูปหนึ่งชื่อ นาคเสน (นาคาเสียง) เดินทางไปยังประเทศจีน ได้แวะที่ฟูนันก่อน และได้ทูลพระเจ้ากรุงจีนว่า ประเทศฟูนันนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ (เคารพพระอิศวร) แต่พุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง มีภิกษุสามเณรมาก ที่สําคัญกว่านั้นก็คือในรัชกาลเดียวกันนี้ได้มีพระภิกษุชาวฟูนันรูปหนึ่ง สร้างเกียรติให้แก่ฟูนันไว้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ กล่าวคือพระภิกษุชาวฟูนันชื่อ สังฆปาละ (เรียกในตํานานว่า พระติปิฏกะ สังฆปาละ แห่งฟูนัน, เรียกตามสําเนียงจีนว่า เสงโปโล, เรียกเป็นภาษาจีนสําเนียงญี่ปุ่นว่า โซโย หรือโซกุย) (เกิดราว พ.ศ. ๑๐๐๒ มรณภาพ พ.ศ. ๑๐๖๗) เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระอภิธรรม ได้เดินทางไปยังกวางตุ้ง และได้ศึกษาเพิ่มเติมจากพระภิกษุอินเดียชื่อคุณภัทร มีความรู้แตกฉานในธรรมวินัยและภาษาต่างๆ พร้อมทั้งมีจริยาวัตรอันงาม เป็นที่เลื่อมใสของพระเจ้าจักรพรรดิบู่ตี่ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๐๔๖ - ๑๐๙๒) ทรงถวายสถานที่ ๕ แห่งให้เป็นที่พํานัก และทรงอาราธนาให้ท่านแปลคัมภีร์พุทธศาสนาจํานวนมากเป็นภาษาจีน ผลงานแปลของท่านสละสลวยและถูกต้องดี ในบรรดางานแปลเหล่านี้ มีคัมภีร์สําคัญที่ได้รับความสนใจจากนักปราชญ์ภาษาบาลีเป็นอันมาก คือ คัมภีร์ “วิมุตติมรรค” (รจนาโดยพระอุปติสสเถระ มีเนื้อความคล้ายกันมากกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่เป็นคัมภีร์ที่แต่งก่อนและย่อกว่า บัดนี้มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว) ตํานานเล่าต่อไปว่า ท่านได้รับเกียรติจากพระเจ้าจักรพรรดิบู่ตี่ให้เป็นผู้อนุศาสน์ธรรมในราชสํานัก ท่านได้เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมประเพณีของประชาชนหลายอย่าง ท่านเป็นอยู่ง่ายๆ ไม่สะสม และได้นําปัจจัยที่ผู้ศรัทธาถวายไปสร้างวัดชื่อ “อารัทธวิริยาราม” ท่านถึงมรณภาพเมื่ออายุได้ ๖๕ ปี นอกจากท่านสังฆปาละแล้วยังมีพระเถระชาวฟูนันอีกท่านหนึ่งเดินทางไปเมืองจีนในระยะเวลาใกล้ๆ กัน คือ ท่านมัณฑาระ ซึ่งได้รับอาราธนาให้แปลคัมภีร์บางเล่มร่วมกับท่านสังฆปาละด้วย แต่ท่านผู้นี้ไม่ชํานาญภาษาจีนเพียงพอ ผลงานจึงไม่ดีเด่นและไม่ได้รับยกย่อง

ใน พ.ศ. ๑๐๕๗ พระเจ้ารุทรวรมัน ขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และได้ทรงประกาศถวายพระองค์เป็นอุบาสก ทรงมีพระเกศธาตุเส้นหนึ่งไว้เป็นที่สักการะบูชา พระเจ้ารุทรวรมันเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ปรากฏนามของฟูนัน ในระยะเวลานี้อาณาจักรเจนละซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฟูนัน ได้มีอํานาจมากขึ้น ตั้งตัวเป็นอิสระ และต่อมาใน พ.ศ. ๑๑๗๐ ก็ได้ยกทัพมาโจมตีรวมฟูนันเข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งอาณาจักรเจนละ

ปราชญ์บางท่านให้ความเห็นว่า หลักฐานต่างๆ เท่าที่มี แสดงว่าพระพุทธศาสนาที่นับถือในยุคฟูนันเป็นแบบเถรวาท เช่น ศิลาจารึกต่างๆ มีข้อความเป็นแบบเถรวาท คัมภีร์วิมุตติมรรคที่พระสังฆปาละแปลก็เป็นของฝ่ายเถรวาท และเวลานั้นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานยังไม่มาสู่ฟูนัน หากความเห็นนี้ถูกต้อง ก็คงจะต้องสรุปความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในฟูนันว่า เบื้องแรก พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเจริญแพร่หลายอยู่ก่อน ต่อมา ศาสนาฮินดูนิกายไศวะได้แผ่เข้ามาทางชนชั้นปกครองที่เป็นเชื้อสายอินเดียและชาวอินเดียที่มาติดต่อเกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครอง ทําให้ศาสนาฮินดูเฟื่องฟูมากในราชสํานักตลอดระยะแรกๆ ต่อมาเมื่อความตื่นตัวจางลงแล้ว จึงได้หันมาสนใจกับพระพุทธศาสนาที่เป็นของมีอยู่แต่เดิม ศาสนาฮินดูกับพระพุทธศาสนาก็ได้เจริญรุ่งเรืองอยู่คู่เคียงกันตลอดมาจนสิ้นยุค

๒. ยุคเจนละ (Chenla)
(ครึ่งหลังของ ค.ศต. ๖ - ค.ศ. ๘๐๒ หรือ พ.ศต. ๑๑ - พ.ศ. ๑๓๔๕)

อาณาจักรเจนละ ตั้งอยู่ถัดอาณาจักรฟูนันขึ้นไปทางเหนือ และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอาณาจักรจัมปา ตรงกับภาคใต้ของลาวและภาคเหนือของกัมพูชาในปัจจุบัน มีศิลาจารึกบอกความไว้ว่า วงศ์กษัตริย์ของเจนละสืบเชื้อสายมาจากฤาษีกัมพูสวยัมภูวะ สมสู่กับเทพธิดาเมรา จึงได้ชื่อว่า “กัมพูชา” (กัมพู + ช = ผู้เกิดจากกัมพู) และจึงถือว่ายุคของกัมพูชาหรือเขมรเริ่มต้น แท้จริงในสมัยของเจนละ เจนละเป็นเมืองขึ้นของฟูนันมาก่อน จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จึงมีกําลังเข้มแข็งขึ้น เริ่มตั้งตัวเป็นอิสระด้วยการเลิกถวายเครื่องราชบรรณาการแก่กษัตริย์ฟูนัน และในที่สุดได้รบชนะพวกฟูนันที่ยกทัพมาปราบ ณ นครจัมปาศักดิ์ จึงถือเป็นการเริ่มต้นยุคอาณาจักรเจนละ

พระเจ้าภววรมันขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ในราว พ.ศ. ๑๐๙๓ กษัตริย์เจนละในระยะต้นนี้คงจะนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะเป็นหลัก เพราะปรากฏว่าพระเจ้าภววรมันได้ทรงสร้างเทวาลัยอุทิศพระศิวภัทเรศวร และประดิษฐานศิวลึงค์องค์หนึ่งในตอนปลายรัชกาล และกษัตริย์พระองค์ที่ ๒ (พระเจ้ามเหนทรวรมัน นามเดิมว่าเจ้าชายจิตรเสน) เมื่อพิชิตศึกฟูนันสําเร็จอีก ก็ได้ทรงประดิษฐานศิวลึงค์ถวายแด่พระอิศวรเป็นการฉลองชัยชนะ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของเจนละพระนามว่า อีศานวรมันที่ ๑ ทรงมีอํานาจเข้มแข็งมาก ได้ทรงปราบอาณาจักรฟูนันรวมเข้าเป็นดินแดนในอาณาจักรเจนละโดยสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๑๑๗๐ และขยายอาณาเขตออกไปแทบทุกทิศ โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกแผ่มาถึงจังหวัดจันทบุรีปัจจุบัน บางตํารากล่าวว่า ศาสนาฮินดู ลัทธิหริหระเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ และได้มีการเบียดเบียนพระพุทธศาสนาอย่างมากมายจนแทบจะสูญสิ้น

ต่อมาในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีกษัตริย์ผู้เข้มแข็งอีกพระองค์หนึ่งพระนามว่า ชัยวรมันที่ ๑ (ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๑๙๓ - ๑๒๕๖) ทรงขยายอาณาเขตไปจนจดอาณาจักรน่านเจ้า ในรัชกาลนี้มีหลักฐานแสดงว่าพระพุทธศาสนายังเจริญรุ่งเรืองอยู่ (หรืออาจกลับเจริญขึ้นมาอีก) คือ มีศิลาจารึกที่วัดไพรเวียร ใกล้เมืองวยาธปุระ เมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๗ กล่าวถึงกษัตริย์สององค์พี่น้องนามว่า รัตนภานุ และ รัตนสิงหะ ได้ทรงผนวช พระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ ได้ทรงมีพระบัญชาให้สร้างวัดถวายและให้รักษาวัดนั้นให้ยั่งยืน เรื่องนี้ชาวบ้านยังเล่าสืบๆ กันมา และถือเป็นประเพณีที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญชาให้รักษาวัดนั้น

อนึ่ง หลวงจีนอี้จิง ซึ่งได้จาริกไปอินเดียและเดินทางผ่านทะเลใต้ (ออกจาริกจนกลับถึงจีน พ.ศ. ๑๒๑๔ - ๑๒๓๘) ได้เขียนบันทึกไว้ว่า ในประเทศฟูนัน (ตอนนี้เท่ากับพูดว่าเจนละนั่นเอง) พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีวัดทั่วไปทุกแห่ง มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์อยู่ใกล้กันกับวัดพุทธศาสนา ทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ประชาชนทั่วไปนิยมบวชในพุทธศาสนา แม้พวกเจ้านายก็บวชเช่นเดียวกัน

ต่อมาหลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันไม่นาน อาณาจักรเจนละก็แตกแยกออกเป็น ๒ ส่วน กลายเป็นเจนละบกหรือเจนละเหนือฝ่ายหนึ่ง กับเจนละน้ำหรือเจนละใต้อีกฝ่ายหนึ่ง ในตอนปลายยุค เจนละน้ำจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของชวา หลังจากแยกกันออกมาประมาณ ๑ ศตวรรษ ยุคเจนละก็สิ้นสุดลงด้วยสาเหตุขัดแย้งกับอาณาจักรชวา กล่าวคือในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรแห่งชวา ได้ยกทัพเรือมาตีเจนละ จับพระเจ้ามหิปติวรมัน แห่งเจนละน้ำตัดพระเศียร ส่วนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ซึ่งขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ก็ได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งอาณาจักรใหม่ที่อื่น ยุคเจนละจึงสิ้นสุดลง

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามหลักฐานในทางโบราณคดี มีรูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ เป็นต้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานคงจะเผยแผ่เข้ามาในแถบอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะใกล้ พ.ศต. ๑๔ นี้เอง โดยอิทธิพลจากอาณาจักรศรีวิชัย และเมื่อเข้ามาแล้วก็ได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีลักษณะคล้ายกับศาสนาพราหมณ์ และเพราะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้ในยุคต่อไป นอกจากนั้น แม้พุทธศาสนาลัทธิตันตระก็ได้ติดตามเข้ามาอีกในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน และได้เป็นที่มาแหล่งหนึ่งแห่งประเพณีของประเทศ แต่ไม่สู้มีอิทธิพลกว้างขวางมากนัก

๓. ยุคพระนคร หรือยุคมหานคร (Angkor)
(พ.ศ. ๑๓๔๕ - ๑๙๗๕)

ยุคพระนคร หมายถึงยุคที่นครวัด นครธม (ตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบและอยู่ทางเหนือของเมืองเสียมราฐหรือเสียมราบ) เป็นเมืองหลวงของกัมพูชา เป็นยุคที่อารยธรรมขอมเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เป็นมหาอาณาจักรยิ่งใหญ่ มีศิลปะโดยเฉพาะสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบฉบับ

ในยุคนี้ พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเจริญรุ่งเรืองคู่เคียงกับศาสนาฮินดูและผสมผสานเข้าด้วยกัน ปราสาทราชฐานต่างๆ ล้วนสร้างอุทิศถวายในพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู ข้อความในศิลาจารึกที่พบก็แสดงถึงอิทธิพลคําสอนของมหายานอย่างชัดเจน และมีคติฝ่ายฮินดูแฝงอยู่ด้วย ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทคงเป็นที่นับถืออยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป แต่ไม่ได้รับความเชิดชูจากราชสํานัก อาจพูดสั้นๆ ว่า พุทธศาสนาเถรวาทอยู่กับประชาชน พุทธศาสนามหายานและฮินดูอยู่กับราชสํานัก แต่ทั้งสามลัทธิศาสนาอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข

ยุคพระนครเริ่มต้นเมื่อหลังจากที่กษัตริย์ชวายกทัพมาโจมตีเจนละ จับพระเจ้ามหิปติวรมันตัดเศียรแล้ว เจ้าชายเขมรซึ่งได้เสด็จไปประทับอยู่ในชวา จะด้วยถูกนําตัวไปอ่อนน้อมหรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม ต่อมาก็ได้เสด็จกลับมาขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๓๔๕ เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงย้ายเมืองหลวงไปตั้งใกล้กับบริเวณที่ต่อมาเป็นนครวัด ประกาศเป็นอิสระจากชวา ปราบปรามรวมเจนละ ๒ ภาคเข้าด้วยกัน ทรงนับถือศาสนาฮินดูลัทธิหริหระ คือ นับถือพระนารายณ์กับพระอิศวรรวมกัน และทรงเริ่มตั้งลัทธิ “เทวราช" (คงจะปรุงแต่งจากแนวความคิดที่ได้มาจากชวา) ประกอบพิธีบูชาอันประกาศถึงการที่ทรงได้รับมอบพระราชอํานาจจากองค์พระผู้เป็นเจ้า โดยมีศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์ที่เคารพบูชา ทําให้เกิดเป็นธรรมเนียมของกษัตริย์เขมรโบราณปฏิบัติสืบต่อกันมา

นอกจากนั้น ปราชญ์บางท่านกล่าวว่า ในยุคนี้มีสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทําให้พุทธศาสนาฝ่ายมหายานกับศาสนาฮินดูผสมผสานกันแน่นแฟ้น คือ การที่ได้เกิดมีธรรมเนียมถือศาสนาคนละอย่างเป็นคู่สลับกันระหว่างพระราชากับปุโรหิต กล่าวคือ ถ้าราชาถือพราหมณ์ ปุโรหิตถือพุทธ ถ้าราชาถือพุทธ ปุโรหิตถือพราหมณ์ เป็นประเพณีสืบต่อกันมาหลายร้อยปี

อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมข้อนี้ยังไม่พบหลักฐานยืนยันเพียงพอ แต่ที่น่าจะมีหลักฐานชัดเจนมากกว่าก็คือลัทธิเทวราชได้เกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งต้นตําแหน่งพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าพิธีประจําราชสํานัก (ทํานองพระราชครู) ซึ่งสืบทอดฐานะตามสายตระกูล อันได้แก่ตระกูล “ศิวไกวัลย์” ศิวไกวัลย์ คือ พราหมณ์ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงตั้งให้เป็นเจ้าพิธีประจําลัทธิเทวราชคนแรก พราหมณ์ตําแหน่งนี้มีหน้าที่ประกอบพิธีบูชาเทวราช และประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก เป็นต้น

ในสมัยต่อมาปรากฏว่าพวกตระกูลศิวไกวัลย์นี้มีทรัพย์สมบัติอํานาจเกียรติยศ และอิทธิพลอย่างมากมาย สามารถสร้างเมือง หรือนัยหนึ่งนิคมศาสนาของตนเอง และสามารถเกณฑ์แรงงานประชาชนได้ด้วย นับว่ามีความยิ่งใหญ่มาก จะเป็นรองก็แต่องค์มหากษัตริย์เองเท่านั้น ความรุ่งเรืองของศาสนาฮินดูในรูปนี้มองได้ว่าเป็นการผูกขาดแบบหนึ่ง และในเวลาเดียวกันก็มีผลเสียเป็นเครื่องแบ่งแยกศาสนาฮินดูจากประชาชนและจํากัดตัวเองให้แคบ

ศิวลึงค์ที่เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเทวราชนั้น ประดิษฐานอยู่ในเทวาลัยซึ่งสร้างขึ้นบนยอดภูเขากลางพระนคร เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์พระเป็นเจ้า ซึ่งสถิตอยู่บนภูเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมหากษัตริย์ก็คือพระเป็นเจ้าที่ทรงสําแดงพระองค์ในโลกนี้ มหากษัตริย์จึงเป็นทั้งราชาและเทพเจ้าในคราวเดียวกัน เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ประทับในปราสาทไม้ แต่เมื่อสวรรคตแล้วพระสรีรศพจะถูกนําไปประดิษฐานในปราสาทที่เป็นเทวาลัย เท่ากับว่าได้ทรงบรรลุสภาวะเดิมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์พระเป็นเจ้า

ต่อมาเมื่อมีการสร้างนครวัดและนครธมขึ้น แผนผังเมืองก็ยิ่งมีรูปร่างเป็นแบบจําลองภาพศูนย์กลางจักรวาลโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือมีเทวาลัยที่ประดิษฐานศิวลึงค์เป็นศูนย์กลาง สร้างขึ้นบนฐานสูงใหญ่ที่ก่อลดหลั่นเป็นชั้นเชิงเรียวสอบขึ้นไปอย่างรูปปิระมิด (ให้มีความหมายเท่ากับตั้งอยู่บนภูเขา) ส่วนด้านนอกก็มีคูเมืองกว้างใหญ่ล้อมรอบเสมือนทะเลรอบเขาพระสุเมรุ และมีกําแพงใหญ่รอบเมืองเสมือนเป็นเทือกเขาใหญ่รายล้อมขุนเขานั้น ถ้ากษัตริย์ผู้สร้างนับถือพระวิษณุ ก็ประดิษฐานรูปพระวิษณุแทนศิวลึงค์ ถ้านับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวร (ได้แก่ พระอวโลกิเตศวร นั่นเอง) แทน และรูปพระพักตร์ของพระเป็นเจ้าก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ย่อมเหมือนกับพระพักตร์ของกษัตริย์ผู้สร้างนั้นด้วย เพราะพระเป็นเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ ก็คือกษัตริย์องค์นั้นนั่นเอง

ในระยะสองศตวรรษแรกแห่งยุคพระนคร กษัตริย์เขมรแม้จะทรงคุ้มครองส่งเสริมลัทธิศาสนาทั้งสาม คือ ศาสนาฮินดูนิกายไศวะ นิกายไวษณพ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ก็ทรงยึดมั่นหนักแน่นในลัทธิไศวะ หลักฐานที่แสดงถึงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในระหว่างนั้นก็มีอยู่หลายอย่าง เช่น พระเจ้ายโศวรมัน ที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๓๒ - ๑๔๕๑) ทรงสร้าง “เสาคตาศรม” ไว้ในพระพุทธศาสนา เป็นคู่กับพราหมณาศรมสําหรับฝ่ายพราหมณ์ พระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนาก็ได้รับความยกย่อง แม้ว่าจะได้เกียรติเป็นรองอาจารย์ในศาสนาพราหมณ์อยู่บ้าง

ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (พ.ศ. ๑๕๑๑ - ๑๕๔๔) ปุโรหิตชื่อกีรติบัณฑิตซึ่งเคยนับถือไศวะมาก่อน ได้หันมานับถือพุทธศาสนา และได้พยายามส่งเสริมสนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน ท่านได้นําเอาคัมภีร์พุทธศาสนาเข้ามาจากต่างประเทศเป็นอันมาก ในวันสําคัญๆ ท่านจะนําพระพุทธรูปมาสรงน้ำเป็นพิธีใหญ่โต ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๕ - ๑๕๙๓) กระแสศรัทธาก็เปลี่ยนมาเดินข้างพระพุทธศาสนา พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เป็นโอรสของพระเจ้าศรีธรรมราช กษัตริย์แห่งตามพรลิงคะ ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ ณ บริเวณเมืองนครศรีธรรมราชหรือไชยา และเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระองค์มีเชื้อสายราชวงศ์กัมพูชาโดยทางพระราชมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงเขมร ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จึงทรงหันมาสนับสนุนพระพุทธศาสนานิกายนี้มากขึ้น

ในรัชกาลนี้ อาณาจักรเขมรแผ่ขยายอาณาเขตจากจันทบุรีออกไปทางตะวันตกตลอดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจดประเทศพม่า ทําให้อาณาจักรทวาราวดี ศูนย์กลางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งได้เคยอยู่ในอํานาจของอาณาจักรฟูนัน และได้รับเอกราชเมื่ออาณาจักรฟูนันสลาย (กลาง พ.ศต. ๑๑) ต้องกลับสิ้นอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง (มีศิลาจารึกที่นักประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเชื่อถือกล่าวว่า ทวาราวดีตกเป็นของอาณาจักรเขมรตั้งแต่รัชกาลพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ เมื่อกลาง พ.ศต. ๑๕) และใต้ลงไปก็ได้อาณาจักรตามพรลิงคะ ส่วนทางเหนือ ด้านลุ่มแม่น้ำโขง หลักฐานบางแห่งว่า แผ่ไปถึงเมืองเชียงแสน แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าคงถึงเพียงเมืองหลวงพระบาง ศิลาจารึกใน พ.ศ. ๑๕๖๕ ซึ่งเป็นของในรัชกาลนี้ พบที่เมืองลพบุรีบอกความว่า มีภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายมหายานและฝ่ายเถรวาทอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ครั้นสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แล้ว กษัตริย์องค์ต่อมาซึ่งเป็นโอรสของพระองค์ กลับเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา กระแสศรัทธาและความอุปถัมภ์บํารุงจึงเบนไปทางศาสนาฮินดูอีก แต่ช่วงต่อมานี้ เขมรวุ่นวายกับความไม่สงบภายในเป็นอันมาก

ทางด้านประเทศพม่า ใน พ.ศ. ๑๕๘๗ พระเจ้าอนุรุทธมหาราชหรืออโนรธามังช่อ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พุกาม ทรงเรืองอํานาจ ยกทัพลงมาตีเมืองสะเทิมแห่งอาณาจักรมอญได้ใน พ.ศ. ๑๖๐๐ รวมแผ่นดินพม่าเข้าเป็นอันเดียว ทรงรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบของมอญแห่งสะเทิม และได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาทางตะวันออก เข้าครอบครองประเทศล้านนา ตลอดลงมาถึงเมืองลพบุรีและทวาราวดี (ความที่ว่านี้เป็นมติของปราชญ์ไทย แต่นักประวัติศาสตร์ฝ่ายตะวันตกกล่าวว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ปราบปรามได้ลพบุรีแล้ว แผ่อํานาจตามชนมอญที่อพยพร่นถอยมาจนถึงเขตอาณาจักรมอญเมืองสะเทิมในพม่าจะรุกรานเข้าไปอีก แต่ถูกทัพของพระเจ้าอนุรุทธมหาราชตีแตกล่าทัพกลับมา เขตแดนระหว่างเขมรกับพุกามจึงหยุดอยู่เพียงนั้น คือ ลพบุรีและทวาราวดียังคงเป็นของเขมร หาเป็นของพุกามไม่) อํานาจของพระเจ้าอนุรุทธแผ่ไปถึงที่ใด พุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามก็แผ่ไปถึงที่นั้น

ในระหว่างนี้ ชนเผ่าไทยได้อพยพลงมาจากจีนภาคใต้เข้ามาอยู่ในล้านนาและล้านช้างมากขึ้น แล้วเลื่อนต่อลงมาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เข้าแทรกกลางแยกระหว่างมอญพม่ากับเขมร และตกอยู่ใต้อํานาจของอาณาจักรทั้งสองนั้นตามแต่ถิ่นแดนที่ตนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน ส่วนทางด้านตะวันออก ชนเผ่าอันนัมซึ่งรับพระพุทธศาสนาแบบมหายานและวัฒนธรรมต่างๆ จากจีน และได้ตั้งตัวเป็นอิสระจากจีนสําเร็จ สถาปนาอาณาจักรนามเวียด (ต่อมาเป็นเวียดนาม) ขึ้นทางเหนือของอาณาจักรจัมปา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๘๒ ก็กําลังมีอํานาจเข้มแข็งมากขึ้น กําลังเป็นคู่สงครามกับจัมปา อํานาจใหม่ทั้งสองที่กําลังก่อขึ้นทางตะวันตก (ไทย) และทางตะวันออก (เวียดนาม) จะมาเป็นเครื่องบั่นรอนอาณาจักรเขมรลงในกาลต่อไป

ต่อมาลุ พ.ศ. ๑๖๕๖ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ขึ้นครองราชย์ ทรงได้นามว่าเป็นกษัตริย์ผู้มีอํานาจเข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์เขมร ที่เป็นเช่นนี้เพราะเวลานั้น ทางด้านการปกครองก็เข้มแข็งด้วยอาศัยระบบเทวราชเป็นเครื่องรวบรวมและควบคุมกําลังไพร่พลได้เต็มที่ ทางด้านเศรษฐกิจบ้านเมืองก็อุดมสมบูรณ์ด้วยระบบชลประทานที่จัดไว้อย่างดี ประกอบกับองค์กษัตริย์เองก็เป็นนักรบที่เกรียงไกรจึงทรงแผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางถึงไทยภาคเหนือ ภาคกลางจดพม่า ภาคใต้ถึงอ่าวบ้านดอน (สุราษฎร์ธานี) ทางตะวันออกจดขอบปากแม่น้ำแดงในแคว้นตังเกี๋ย ทรงปราบอาณาจักรจัมปาลงและยึดครองไว้ได้ประมาณ ๔ ปี กษัตริย์องค์นี้ทรงนับถือศาสนาฮินดูหนักไปทางด้านลัทธิไวษณพ และได้ทรงผสมผสานลัทธิไศวะกับไวษณวะเข้าด้วยกันจนกลมกลืนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า เกิดเป็นลัทธิวิษณุราชขึ้นแทนลัทธิเทวราช ทรงสร้างนครวัดอันได้ชื่อว่าเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก (สิ่งก่อสร้างอื่นที่มีขนาดทัดเทียมคือ ปราสาทบันไทชมาร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ณ เชิงเขาดงเร็กในเขมรเอง และมหาเจดีย์ปรมพุทธะ-Borobudur ในชวา) มีวิษณุเทวาลัยที่ประดิษฐานเทวรูปทองคําแห่งพระวิษณุเทพทรงครุฑตั้งอยู่ศูนย์กลาง บริเวณทั้งหมดมีเนื้อที่ถึง ๘๕๐x๑,๐๐๐ เมตร คูล้อมรอบกว้างถึง ๒๐๐ เมตร อย่างไรก็ดี ตอนปลายรัชกาล ทัพที่พระองค์ส่งไปรบตังเกี๋ยประสบความพินาศย่อยยับ งานก่อสร้างอันมโหฬารและนโยบายรบอันบ้าบิ่นของพระองค์ ทําให้อาณาจักรเขมรเมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้ว ต้องจมสู่ห้วงแห่งความทุกข์ยากไปเป็นเวลานาน ส่วนพระองค์เองเมื่อสวรรคตแล้วก็ได้รับเฉลิมพระนามาภิไธยว่าพระบรมวิษณุโลก

อาณาจักรเขมรรุ่งเรืองขึ้นอีกเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนในนิกายมหายานที่มีศรัทธาแรงกล้า ทรงมีสิทธิขึ้นครองราชย์สืบแทนพระราชบิดาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๐๓ แต่อนุชาองค์หนึ่งของพระองค์ขึ้นครองราชบัลลังก์เสียก่อน ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงไม่ทรงประสงค์ให้เกิดสงครามกลางเมืองอันจะให้เกิดความเดือดร้อน จึงทรงหลีกทางให้ และเสด็จลี้ภัยไปอยู่ในอาณาจักรจัมปา ต่อมาใน พ.ศ. ๑๗๒๐ กษัตริย์จามแห่งนครจัมปายกกองทัพเรือเข้าจู่โจมเขมรโดยไม่ทันรู้ตัว ยึดเมืองหลวงได้ ทําลายนครวัดลง กษัตริย์เขมรสวรรคตในระหว่างเกิดเหตุร้าย บ้านเมืองเกิดจลาจลวุ่นวาย เจ้าชัยวรมันจึงเสด็จกลับมา ทรงตีทัพจามแตกพ่ายกลับไป จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยแล้ว ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๗๒๔ เมื่อปราบศึกภายในแล้ว ก็ทรงยกทัพไปปราบอาณาจักรจัมปายึดเอาเป็นเมืองประเทศราช นอกจากนั้น ยังทรงแผ่อาณาเขตออกไปอีกทั้งทางทิศเหนือและทิศอื่นๆ จนอาณาจักรเขมรสมัยนั้นมีเนื้อที่กว้างใหญ่กว่าในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒

ในด้านศาสนาทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจนเจริญแพร่หลาย ทําให้การบูชาพระศิวะและพระวิษณุเสื่อมลงไป ทรงตั้งลัทธิพุทธราชขึ้นมาแทนลัทธิเทวราช และได้ทรงสร้างนครธม (แปลว่ามหานคร) ขึ้นเป็นราชธานี โดยมีพุทธวิหารบายนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ (พุทธราช) ตั้งอยู่เป็นศูนย์กลาง ยอดวิหารหรือปราสาทบายนเป็นปรางค์ทอง มีเศียรพระโลเกศวร (ได้แก่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) ๔ พักตร์ กําลังอมยิ้ม หันมองทั้งสี่ทิศเหมือนดังพระพรหม รูปและพักตร์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ก็คือรูปและพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันนั่นเอง เพราะพุทธราชก็คือราชาผู้เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระเจ้าชัยวรมันเป็นทั้งพระราชาและพระพุทธเจ้า ทั้งนี้คงเป็นด้วยพระเจ้าชัยวรมันทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จนรู้สึกพระองค์ว่าทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ทอดพระเนตรตรวจตราประชาสัตว์ แผ่พระเมตตากรุณาออกไปคุ้มครองตลอดทั่วทุกทิศแห่งผืนแผ่นดิน รอบวิหารบายนนั้นมีเศียรสี่พักตร์เช่นนี้แต่ขนาดเล็กลงมา อยู่บนยอดซุ้มประตูและปรางค์ทั้งหลายที่รายรอบทั้งชั้นในและชั้นนอก รวมประมาณ ๕๐ เศียร คูล้อมเมืองวัดโดยรอบยาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร

นอกจากนครธมและปราสาทบายนนี้แล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ยังทรงสร้างวิหารปราสาทอีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทตาพรหม (อุทิศราชมารดา จัดให้เป็นวิหารสําหรับอยู่อาศัยและเป็นสถานศึกษาของภิกษุสงฆ์) ปราสาทชัยศรี หรือปราสาทพระขรรค์ (อุทิศเป็นที่ประดิษฐานรูปราชบิดา) เป็นต้น ทรงสร้างพระพุทธรูปเป็นศิริมงคลแก่ราชอาณาจักรเรียกชื่อว่า “พระชัยพุทธมหานาถ” ประดิษฐานไว้ในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ (ในเขตไทยมีที่ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สิงห์บุรี เป็นต้น) และให้แห่อัญเชิญมาทําพิธีสนานพร้อมกันที่ปราสาทพระขรรค์ชัยศรีในเดือน ๙ ทุกปี นอกจากนี้ ทรงสร้างถนนสายใหญ่มากมาย มีถนนไปสู่กรุงจามและสู่เมืองพิมาย เป็นต้น ระหว่างทางก็ทรงสร้างอัคคิศาลาเป็นที่พักคนเดินทาง ๑๒๑ แห่ง โรงพยาบาล ๑๐๒ แห่ง พร้อมด้วยยา พยาบาล ผู้แจกอาหาร สวนบ่อ และสระน้ำ ทรงขยายระบบชลประทานให้กว้างขวางออกไปอีก งานสร้างวัด (วิหาร) และสิ่งสาธารณูปโภคเหล่านี้ สันนิษฐานว่าคงทรงดําเนินตามพระจริยาวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราช

มีเหตุการณ์สําคัญอย่างหนึ่งในรัชกาลนี้ที่ช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในกัมพูชาสมัยต่อๆ มา คือ ตอนต้นของรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นี้ ตรงกับตอนปลายของรัชกาลพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชแห่งประเทศลังกา เวลานั้นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในลังกาได้รับการฟื้นฟูและอุปถัมภ์บํารุง เจริญรุ่งเรืองขึ้นทั้งการศึกษาและการปฏิบัติ เป็นที่เลื่องลือทั่วไป มีภิกษุสามเณรจากประเทศต่างๆ ไปศึกษาเล่าเรียนจนกลายเป็นศูนย์กลางใหญ่แห่งพุทธศาสนศึกษา

อยู่มาใน พ.ศ. ๑๗๓๓ พระภิกษุมอญรูปหนึ่งชื่อ ฉปตะ ซึ่งเดินทางจากพม่าติดตามพระมหาเถระมอญท่านหนึ่งไปยังลังกาตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ ๑๐ ปี และอุปสมบท แล้วเดินทางกลับมายังประเทศพม่า ดําเนินงานอบรมสั่งสอนและให้การอุปสมบทตามแบบที่รับมาจากลังกา ทําให้ชาวพุทธพม่าตื่นตัวในการศึกษาปฏิบัติขึ้นอีกพร้อมกับทําให้พระสงฆ์พม่าแตกแยกนิกายออกไป ในการเดินทางกลับมานั้น พระฉปตะได้นําพระภิกษุชาวต่างชาติร่วมเดินทางมาด้วย ๔ รูป ในจํานวนนี้รูปหนึ่งชื่อ ตามลินทะ เป็นผู้ที่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระตามลินทะจะเดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในกัมพูชาหรือไม่ก็ตามที แต่พุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาที่เข้ามาใหม่นี้ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว ทั่วคาบสมุทรอินโดจีนตอนกลาง และรวมถึงอาณาจักรเขมรทั้งหมดด้วยในที่สุด

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตประมาณ พ.ศ. ๑๗๖๑ และได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “มหาปรมเสาคต” (เท่ากับ มหาบรมสุคต ซึ่งมาจากพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า คือ พระสุคต) แต่นั้นมาอาณาจักรเขมรก็อ่อนแอทรุดโทรมลงโดยลําดับ แม้กระเตื้องขึ้นบางคราวก็ไม่กลับคืนสู่ฐานะอันยิ่งใหญ่อีกต่อไปเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะสาเหตุสําคัญ ๒ อย่าง คือ สงครามแผ่อํานาจและการก่อสร้างที่เกินขนาดอันควร ปราชญ์มักกล่าวหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ว่า ความกระหายอํานาจและความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทําให้ทรงก่อสงครามรุกรานอันใหญ่โต และทําการก่อสร้างที่ฟุ่มเฟือยเกินประมาณ ทั้งสองอย่างนี้ทําให้ต้องเก็บภาษีแพง เกณฑ์แรงงานคนมาก ต้องระดมคนมาไว้ดูแลรักษาและบํารุงบําเรอในปราสาทราชฐาน สิ้นเปลืองทั้งกําลังคน กําลังทรัพย์ ประชาชนก็กะปลกกะเปลี้ยลงและค่อยๆ พอกพูนความไม่พอใจในสภาพบ้านเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอาการเครียด ก็พอดีทางเมืองไทยเข้มแข็งขึ้นมา คอยเข้ามากระหน่ำอยู่เรื่อยๆ จนอับปางแก้ไขไม่ฟื้น

อย่างไรก็ดี นักปราชญ์ก็อัศจรรย์ใจในงานก่อสร้างนครวัดนครธมเป็นต้นของเขมรว่า ผลงานยิ่งใหญ่ล้ำเลิศเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร จากการค้นคว้าทําให้ลงความเห็นว่า เป็นด้วยมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นรากฐาน กล่าวคือระบบการชลประทานที่ดีเลิศ ซึ่งสืบกันมาตั้งแต่ยุคฟูนันอันนับเป็นของในถิ่นเอง มิใช่รับจากอารยธรรมอินเดีย

ด้วยระบบชลประทานนี้ชาวเขมรสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้เต็มที่ มิให้มีทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำมากเกินไป มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น แห่งหนึ่งจุน้ำถึง ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีลําคลอง คูระบายน้ำออกไปตามไร่นา หมู่บ้าน ให้ใช้ได้ทุกเวลาตามปรารถนา ทํานาได้ปีหนึ่งถึง ๓-๔ ครั้ง ภาพถ่ายทางอากาศทําให้เห็นระบบชลประทานเช่นนี้กว้างขวางเป็นเนื้อที่ถึง ๓๒.๒๙ ล้านไร่

กษัตริย์เขมรมีพระราชภารกิจสําคัญประการแรกคือจะต้องทรงบําเพ็ญพระราชกรณีย์เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์ โดยเฉพาะคืองานชลประทานนี้ให้สัมฤทธิ์ผลด้วยดีก่อน จึงจะทรงเริ่มงานสร้างปราสาทศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ได้ อาศัยเศรษฐกิจที่มั่นคงนี้เป็นฐาน ลัทธิเทวราช (หรือจะเป็นวิษณุราชหรือพุทธราชก็ตาม ก็มีสาระอย่างเดียวกัน) จึงมีประสิทธิภาพโดยทําหน้าที่เป็นเครื่องมือสําหรับจัดสรรและเกณฑ์แรงงานราษฎรให้ได้ผลเต็มที่ ช่วยให้เกิดกําลังเข้มแข็งบริบูรณ์

โดยนัยนี้ กษัตริย์จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์แทนอํานาจของพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล และเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสรรค์บันดาลความรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ลัทธิเทวราช (รวมทั้งวิษณุราช และพุทธราช) อิงอยู่กับศาสนาฮินดูและพุทธศาสนามหายาน ซึ่งไม่มีฐานทางด้านประชาชน เมื่อพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามา ลัทธินั้นจึงเสื่อมไปโดยเร็ว

ในด้านศาสนาโดยตรง เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตแล้ว พวกไศวะก็แสดงปฏิกิริยาต่อพระพุทธศาสนา โดยเอาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในพุทธวิหารบายนทิ้งลงหลุมเสีย แล้วนําศิวลึงค์ขึ้นประดิษฐานแทน แม้ในที่อื่นๆ ก็ได้ทําลายวัดและพระพุทธรูปหลายแห่ง เอาศิวลึงค์ตั้งแทนพระโลเกศวรทั้งหมด ส่วนรูปพระโลเกศวรจตุรพักตร์บนปรางค์และซุ้มประตูในนครธม พวกไศวะก็เปลี่ยนความนับถือเสียว่าเป็นรูปพระศิวะ ล้างลัทธิพุทธราชลงทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศาสนาเดิมเหล่านี้ (ไศวะ ไวษณพ และมหายาน) จะแย่งความเคารพกันในรูปใดแบบใด อวสานของทั้งสามลัทธิก็กําลังใกล้เข้ามา เพราะพุทธศาสนาแบบเถรวาทแพร่หลายมีกําลังมากขึ้นทุกที ศาสนาเดิมทั้งสามลัทธินั้น แม้จะเจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรเขมรมานานหลายศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงศาสนาของราชสํานัก ขุนนาง และคนชั้นสูง พัวพันอยู่กับเรื่องฐานันดรศักดิ์และพิธีกรรมอันโอ่อ่าสิ้นเปลือง มีหน้าที่หลัก คือ การยกย่องรับรองเทวฐานะของกษัตริย์และเจ้านายด้วยการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น รวมไปถึงการรับประกอบพิธีกรรมโดยเรียกค่าตอบแทนราคาแพง นับว่าเป็นการจํากัดตัวอยู่ในวงแคบ แม้จะเกี่ยวข้องกับประชาชนก็เป็นแบบที่เรียกว่ายื่นลงมาจากเบื้องบน ไม่เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง ไม่กลมกลืนแทรกเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดและการดําเนินชีวิตประจําวันของประชาชน และยังแยกเจ้านายกับประชาชนออกจากกันเสียอีกด้วย

สําหรับชาวบ้านโดยทั่วไป ศาสนาของเขาก็คือความเกี่ยวข้องกับผีสางเทวดาและการบูชาบรรพบุรุษ และคงจะมีพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่สืบมาแต่โบราณเจือปนอยู่จางๆ นับว่าเป็นช่องว่างอย่างใหญ่หลวง ครั้นพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากลังกาซึ่งได้ขัดเกลาใหม่ให้ชัดเจน และกําลังมีเรี่ยวแรงแห่งความสดชื่นกระตือรือร้นเผยแผ่เข้ามา ประชาชนชาวเขมรก็ยอมรับนับถือทั่วไปอย่างรวดเร็ว

ลักษณะสําคัญของเถรวาทที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างดีในเวลานั้น มีผู้เขียนสรุปไว้ว่า เป็นศาสนาแบบง่ายๆ พื้นๆ ไม่ต้องมีคณะนักบวชไว้คอยดูแลรักษาศาสนสถานที่สูงค่าใหญ่โตหรือไว้ประกอบพิธีกรรมที่โอ่อ่าหรูหรา ผู้เผยแผ่ศาสนาก็เป็นพระที่เคร่งครัด เป็นอยู่ง่ายๆ หลีกเร้นอยู่สงบ บําเพ็ญสมาธิภาวนา เสียสละไม่มีทรัพย์สมบัติ ติดต่อเกี่ยวข้องอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน อบรมสั่งสอนประชาชนด้วยตนเองโดยตรงด้วยเมตตากรุณา ไม่มีการเกณฑ์แรงงานมาก่อสร้างศาสนสถานอันใหญ่โต นอกจากนั้น พวกเด็กหนุ่มต้องการศึกษาเล่าเรียนก็มาอยู่กับพระในวัดชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งต่างจากราชการหรือศาสนาเดิมที่ไม่มีโรงเรียนสอนให้เลย ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาเถรวาทจึงแพร่หลายกว้างขวางรวดเร็ว และเมื่อประชาชนจํานวนมากนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทนี้แล้ว การเชื่อถือเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ตามแบบศาสนาฮินดูนิกายไศวะก็ดี ไวษณพก็ดี พุทธศาสนามหายานก็ดี ก็เสื่อมไปเอง ความเป็นเทวราชที่กษัตริย์เป็นเทพเจ้าหรือพระพุทธเจ้าลงมาเกิดก็สิ้นสุดลง แรงชักจูงที่จะบันดาลใจให้ประชาชนมาลงแรงทําการใหญ่ อย่างการสร้างปราสาทหินก็ไม่มีฐานที่ตั้ง พวกพราหมณ์ก็เสื่อมอํานาจไปจากราชสํานัก และมีจํานวนลดน้อยลง ราชพิธีที่พราหมณ์ประกอบก็กลายเป็นของสักว่าทําๆ กันไป ไม่สู้มีความหมายเท่าใด

ส่วนพราหมณ์เมื่อออกจากวังหรือเทวาลัยของตนแล้ว ก็ไม่มีฐานอยู่ในหมู่ประชาชน อีกทั้งระบบวรรณะที่จะช่วยรองรับในสังคมอย่างในอินเดียก็ไม่มี ศาสนาเดิมจึงหมดไปรวดเร็วเหลือเกิน ถึงขั้นที่เรียกว่าสูญสิ้นทีเดียว แม้จะมามีอิทธิพลต่อประเพณีการปกครองและราชพิธีต่างๆ ในราชสํานักไทยสมัยอยุธยาไม่น้อย แต่ประชาชนทั่วไปก็ไม่รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับตน

นอกจากนั้น สภาวะนี้อาจมีผลต่อการสงครามกับประเทศไทยด้วย กล่าวคือ ชาวกัมพูชาสมัยนั้นอาจจะไม่สู้กระตือรือร้นที่จะต่อต้านข้าศึก เพราะชัยชนะของไทยซึ่งเป็นชาวพุทธฝ่ายเถรวาทย่อมจะอํานวยประโยชน์แก่ประชาชน ทําให้ไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน เป็นอิสระ และมีโอกาสได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น มีหลักฐานว่ากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ใน พ.ศ. ๑๘๓๙ พระราชทานที่ดินสร้างวัดพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ศิลาจารึกในสมัยนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นภาษาบาลี และต่อมาเทวสถานต่างๆ ของฮินดู ก็กลายมาเป็นวัดพุทธศาสนา

เมื่อเจาตากวนเดินทางมาในคณะทูตจีนถึงเมืองพระนครใน พ.ศ. ๑๘๓๙ เขาเขียนเล่าว่า ทุกคนบูชาพระพุทธเจ้า และพูดถึง จูกู (คือ เจ้ากู ซึ่งหมายถึงพระภิกษุสงฆ์เถรวาท) พร้อมทั้งบรรยายลักษณะการครองผ้า การดําเนินชีวิตและสภาพวัด เขาบอกว่า พวกเจ้านายชอบมาปรึกษาหารือกับพวกจูกูในเรื่องต่างๆ หลักฐานนี้แสดงว่าเวลานั้นพุทธศาสนาแบบเถรวาทจะต้องได้กลายเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรเขมรไปแล้ว และเมื่อถึง พ.ศ. ๑๘๘๐ กษัตริย์กัมพูชาพร้อมทั้งราชสํานักทั้งหมดคงจะได้กลายเป็นพุทธศาสนิกชนฝ่ายเถรวาทแล้วทั้งหมด เพราะมีหลักฐานปรากฏถึงขั้นที่ว่า ทรงเจ้ากี้เจ้าการเป็นธุระที่จะให้กษัตริย์ลาวที่เคยลี้ภัยอยู่ในเขมร (เจ้าฟ้างุ้ม) เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

ย้อนกล่าวทางด้านการเมือง หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตแล้ว พอถึง พ.ศ. ๑๗๖๓ กองทัพเขมรต้องยกกลับจากจัมปา พวกจามก็เป็นอิสระขึ้น หลักฐานบางแห่งว่า แคว้นตามพรลิงคะก็ตั้งตัวเป็นเป็นอิสระขึ้นด้วย พร้อมกันนี้คนไทยก็มีอํานาจเข้มแข็งขึ้น พ.ศ. ๑๘๐๐ ก็ตั้งอาณาจักรสุโขทัยสําเร็จเป็นอิสระจากขอม เหนือขึ้นไปก็มีอาณาจักรลานนาไทย ตั้งขึ้นเป็นอิสระเช่นเดียวกัน ส่วนทางด้านพม่า อาณาจักรพุกามก็พอดีประสบปัญหาจากพวกมงโกลที่กําลังแผ่อํานาจลงมา จนถึงต้องสูญเสียอิสรภาพแก่กุบไลข่านใน พ.ศ. ๑๘๓๐ ระหว่างนี้อาณาจักรไทยก็รุ่งเรืองขึ้นโดยลําดับ ส่วนทางด้านอาณาจักรจัมปาคู่สงครามเดิมของเขมร ก็กําลังตั้งตัวขึ้นใหม่ และต้องหันความสนใจไปทางเวียดนามคู่ศึกอีกด้านหนึ่ง ซึ่งกําลังแผ่อํานาจลงมาจากทางเหนือ จึงเป็นการเปิดโอกาสช่วยให้กัมพูชาอยู่สงบในขณะที่มีกําลังลดน้อยลง เมื่อต้องอยู่สงบและมีพลังอํานาจจํากัดลงเช่นนี้ กัมพูชาก็ไม่สามารถระดมกําลังไปในด้านการก่อสร้างปราสาทหินใหญ่โตและการทําสงครามล่าดินแดน จึงหันมาสนใจส่งเสริมในด้านวิชาการ ทําให้การศึกษาเฟื่องฟูขึ้นระยะหนึ่ง ผู้คงแก่เรียนได้รับการยกย่องมีเกียรติยศสูง นักปราชญ์ราชบัณฑิตมีจํานวนเพิ่มมากขึ้นมากมาย และเป็นผู้มีอํานาจควบคุมบริหารกิจการของประเทศ

ต่อมาอาณาจักรไทยที่อยุธยาเรืองอํานาจขึ้น โดยยกทัพมาตีกัมพูชา ยึดนครธมได้หลายครั้ง คือใน พ.ศ. ๑๘๙๖ (ปราชญ์ตะวันตกลงความเห็นว่า พ.ศ. ๑๙๑๒) ยึดครองอยู่ ๖ ปี พ.ศ. ๑๙๓๒ ยึดครองอยู่เพียงชั่วคราว และใน พ.ศ. ๑๙๗๕ เป็นที่สุด การพ่ายแพ้ครั้งหลังนี้ทําให้กัมพูชาอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก เพราะเกิดเรื่องวุ่นวายภายใน แย่งราชสมบัติกัน เป็นสงครามกลางเมือง ผู้คนล้มตายมาก กษัตริย์องค์ใหม่ได้ทิ้งเมืองนครธมไปตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองศรีสันธอร์ แล้วย้ายต่อไปยังกรุงพนมเปญเป็นอันสิ้นสุดยุคพระนคร จากนั้นนครวัดนครธมก็ถูกปล่อยรกร้าง หมู่ไม้งอกงามรุกล้นเข้ามากลายเป็นเมืองลับหายอยู่กลางป่าดง จนถึง พ.ศ. ๒๔๐๔ จึงมีชาวฝรั่งเศสไปพบ และเริ่มมีการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนการขุดแต่งบํารุงรักษาตามทางแห่งศิลปโบราณคดีสืบต่อมา

๔. ยุคหลังพระนคร (พ.ศ. ๑๙๗๕ ถึงปัจจุบัน)

ยุคหลังนี้กัมพูชามีกําลังเข้มแข็งมาบ้างในระยะแรกๆ แต่เพราะการสงครามกับอาณาจักรไทยก็ต้องกลับสิ้นอํานาจลงอีก กลายเป็นเมืองขึ้นของไทย ในแผ่นดินพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๓๗ ถึง ๒๑๖๑ ครั้นได้เอกราชกลับคืนแล้ว ก็พอดีถึงระยะที่เวียดนามมีอํานาจมากขึ้น เพราะเวียดนามคู่สงครามกับจัมปาได้ปราบปรามจัมปาสําเร็จเด็ดขาด รวมจัมปาเข้าเป็นดินแดนของเวียดนามแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๑๔ พอถึงกลาง พ.ศต. ๒๒ ก็ได้ช่องที่กัมพูชาเปิดให้ จึงเข้ามาร่วมวงสงครามในภาคตะวันตกนับแต่นั้นมา กัมพูชาก็มีแต่อ่อนแอเสื่อมโทรมลง เพราะสงครามกับไทยบ้าง สงครามกับเวียดนามบ้าง แย่งชิงราชสมบัติทําสงครามภายในกันเองบ้าง ดึงไทยและเวียดนามเข้าไปกลายเป็นเวทีสงครามของสองประเทศนั้นบ้าง เป็นกันชนระหว่างสองประเทศนั้นบ้าง ตกเป็นเมืองขึ้นของไทยบ้าง ของเวียดนามบ้าง ของทั้งสองประเทศในเวลาเดียวกันบ้าง มีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง จนกระทั่งถึงใกล้สิ้น พ.ศต. ๒๔ ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีบทบาทในอินโดจีน ต่อมาไม่นานกัมพูชาก็กลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๐๖ และกลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ตราบถึง พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงได้เอกราชกลับคืนและเรียกชื่อประเทศว่า พระราชอาณาจักรกัมพูชา มีเมืองหลวงชื่อ พนมเปญ มีกษัตริย์ครองราชย์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ พระนามว่า “พระเจ้านโรดมสีหนุ”

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๘ พระเจ้านโรดมสีหนุสละราชสมบัติให้พระเจ้านโรดมสุรามฤตราชบิดาขึ้นครองราชย์สืบแทน แล้วพระองค์เองตั้งพรรคการเมืองชื่อ สังคมราษฎร์นิยม และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือนโยบายตั้งตนเป็นกลาง เมื่อพระเจ้านโรดมสุรามฤตสวรรคตแล้วใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เจ้านโรดมสีหนุทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่มิได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในด้านศาสนาถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจําชาติอย่างเป็นทางการ เจ้านโรดมสีหนุผนวชเป็นพระภิกษุ ๒ ครั้ง ใน พ.ศ ๒๔๙๐ และ พ.ศ. ๒๕๐๖ ทรงคิดตั้งทฤษฎีพุทธสังคมนิยมของเขมรขึ้น เพื่อให้เป็นลัทธิการเมืองหรือระบอบการปกครองอย่างใหม่ซึ่งยึดพุทธธรรมเป็นหลักในการบริหารประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งสร้างลัทธิสังคมนิยมแบบใหม่ที่มีคําสอนในพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน

อย่างไรก็ดี อาณาจักรกัมพูชาในสมัยใหม่นี้อยู่ในยุคที่อาเซียอาคเนย์เป็นเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นที่แข่งขันแย่งอํานาจกันระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสม์ จึงประสบปัญหามากมายทั้งในด้านกิจการระหว่างประเทศ และความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องอาณาเขต เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเวียดนามคู่ศึกในอดีต ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๑๓ เจ้านโรดมสีหนุถูกปฏิวัติสิ้นอํานาจ ลัทธิพุทธสังคมนิยมก็เป็นหมันลง คณะผู้ยึดอํานาจประกาศเปลี่ยนราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นสาธารณรัฐเขมร มีประธานาธิบดีคนแรกชื่อ นายพลลอนนอล รัฐบาลใหม่ประกาศย้ำว่ายังถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจําชาติ และถือเป็นหน้าที่ที่จะปกป้องคุ้มครองทะนุบํารุงพระพุทธศาสนา แต่จะมุ่งส่งเสริมให้เข้มแข็งในระดับที่เป็นสถาบันสากลระหว่างประเทศ ส่วนคณะสงฆ์ก็ได้ประกาศท่าทีมิให้พระภิกษุเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชาหลังยุคพระนครแล้ว คล้ายกันมากกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ทั้งในด้านสังฆมณฑลและวัฒนธรรมประเพณี เช่น มีวัดและพระภิกษุสามเณรจํานวนมากมาย พระสงฆ์ได้รับความเคารพอย่างสูงจากประชาชน ทําหน้าที่เป็นครูอาจารย์ มีประเพณีให้เด็กและคนหนุ่มอยู่วัด เป็นศิษย์วัดหรือบวชเป็นภิกษุสามเณร เป็นต้น ทั้งนี้เพราะส่วนมากเป็นคติที่เผยแพร่หรือนําเอาไปจากประเทศไทย เหมือนกับเป็นการตอบแทนการที่ไทยเคยได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมของขอมในกาลก่อน ดังตัวอย่างราชสํานักไทยปัจจุบันใช้ราชาศัพท์ภาษาเขมรและราชสํานักเขมรใช้ราชาศัพท์ภาษาไทย พระสงฆ์ก็มี ๒ นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติ เหมือนในประเทศไทย ทั้งนี้เกิดจากการที่สมด็จพระสุคันธาธิบดี (ปาน) ไปศึกษาปริยัติธรรมที่กรุงเทพมหานครในประเทศไทย ได้เล่าเรียนแบบแผนของคณะธรรมยุต แล้วนําระบอบธรรมยุติกนิกายไปตั้งในพระราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ และทรงเป็นประมุขสงฆ์องค์แรกแห่งคณะธรรมยุติกนิกายในเขมร

ประชากรเขมรใน พ.ศ. ๒๕๑๓ มีจํานวนทั้งสิ้นประมาณ ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน เป็นพุทธศาสนิกชนร้อยละ ๙๐ มีวัดรวม ๓,๓๖๙ วัด (แบ่งเป็นวัดมหานิกาย ๓,๒๓๐ วัด วัดธรรมยุติ ๑๓๙ วัด) มีภิกษุสามเณรทั้งหมด ๖๕,๐๖๓ รูป (แบ่งเป็นมหานิกาย ๖๒,๖๗๘ รูป ธรรมยุต ๒,๓๘๕ รูป) การปกครองคณะสงฆ์ ๒ คณะนี้ แยกจากกันเด็ดขาด แต่ละคณะมีประมุขของตนเองไม่ขึ้นต่อกัน ถ้ามีกิจอันเนื่องด้วยประโยชน์สุขร่วมกัน ประมุขสองฝ่ายอาจทําประกาศเป็นแถลงการณ์ร่วมได้ ประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เรียกว่า “สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดีสังฆนายก คณะมหานิกาย” ประมุขสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เรียกว่า “สมเด็จพระสุธัมมาธิบดีสังฆนายก คณะธรรมยุตติกนิกาย”

ต่อมาเมื่อพระราชอาณาจักรกัมพูชาเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐเขมรแล้ว ประธานาธิบดีลอนนอลได้ประกาศถวายเกียรติยกย่องพระสังฆนายกทั้งสององค์นั้นขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๕

ในด้านศาสนศึกษา นับว่าได้รับแบบแผนและอิทธิพลไปจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่เบื้องต้น กล่าวคือ สมเด็จพระมหาสังฆราชเที่ยง เมื่อครั้งยังเยาว์ได้ทรงรับการศึกษาพระพุทธศาสนาที่กรุงเทพฯ จนจบประโยคสูงสุด ต่อมาพระมหาวิมลธรรม (ทอง) ศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราชเที่ยง ก็ได้เดินทางไปศึกษาที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน และได้กลับมาจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในกัมพูชา โรงเรียนบาลีแห่งแรกตั้งที่นครวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ย้ายมาตั้งที่กรุงพนมเปญ เรียกชื่อว่า “ศาลาบาลีชั้นสูง” ระยะหลังได้เจริญขึ้นมาและเปลี่ยนชื่อใหม่อีกว่า “พุทธิกวิทยาลัย” และมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่เจ้านโรดมสีหนุทรงตั้งขึ้น เรียกว่า “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาพระสีหนุราช” เริ่มดําเนินการสอนในชั้นปริญญาตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ปริญญาโท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ และจะให้ปริญญาเอกต่อไปด้วย ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีพระภิกษุเรียนปริญญาตรี ๑๕๐ รูป กําลังเรียนปริญญาโท ๕๔ รูป

ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๔ มีพระภิกษุเขมรจํานวนมากเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย พํานักอยู่ตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ แต่หลังจากเขมรตัดสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๕๐๔ แล้ว ความนิยมนี้ก็จําต้องหยุดชะงักไป อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ กัมพูชาได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกสําเร็จเสร็จสิ้น และได้ประกอบพิธีสมโภชเป็นทางราชการในปีต่อมา พระไตรปิฎกชุดนี้มีทั้งภาษาบาลีและคําแปลภาษาเขมรรวมอยู่ด้วยกัน เริ่มจัดทําตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ มีจํานวนชุดละ ๑๐๐ เล่ม แบ่งเป็นพระวินัย ๑๓ เล่ม พระสูตร ๖๓ เล่ม พระอภิธรรม ๓๔ เล่ม

ท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้มีสภาพการณ์ทางพระศาสนาที่น่าเป็นห่วงหลายอย่าง โดยเฉพาะในถิ่นที่เจริญขึ้นเป็นสังคมเมือง เด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แม้รัฐจะจัดให้มีการสอนพุทธศาสนาในทุกระดับ เด็กก็เติบโตขึ้นแบบตะวันตก มีความสัมพันธ์กับวัดและพระสงฆ์น้อยเหลือเกิน การบวชเรียนยังมีแต่ในหมู่เด็กชนบท ส่วนในเมืองเด็กไปบวชเรียนหาได้ยาก แม้แต่ที่บวชระยะสั้นก็มีน้อยคน ยิ่งกว่านั้น ในตัวเมืองพระสงฆ์เลิกบิณฑบาตแล้ว พระเณรที่เรียนหนังสือต้องอาศัยนิตยภัตเป็นอยู่ กิจการทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปมุ่งในด้านสังคมมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ การปฏิบัติในทางสมาธิภาวนาเสื่อมจากความสนใจ ศาสนศึกษาเน้นด้านเหตุผล เลิกละความเชื่องมงายต่างๆ ก็จริง แต่ผู้เรียนมักมุ่งได้ปริญญา ประกาศนียบัตร และความก้าวหน้าในสังคม มากกว่างานค้นคว้าวิจัยและการยกระดับภูมิธรรมทางจิตใจ ประชาชนทั่วไปเกิดความหวั่นไหว มีศรัทธาสั่นคลอน เริ่มไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของพระพุทธศาสนา เพราะหลักที่ยึดถือกันมาว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องอยู่ด้วยกันไม่อาจแยกได้ ก็ได้เกิดการแยกขึ้นแล้ว ทฤษฎีพุทธสังคมนิยมที่ว่าจะนําไปสู่สันติสุขที่แท้จริง ยังไม่ทันเผล็ดผลออกมา ก็มีอันเหี่ยวเฉาไปเสียก่อน ทําให้คนต้องตั้งความหวังจากหลักการ ทฤษฎี หรือระบบอื่นต่อไป

นับแต่กัมพูชาเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐเขมรใน พ.ศ. ๒๕๑๓ แล้ว บ้านเมืองก็ประสบปัญหาปั่นป่วนวุ่นวายด้วยการศึกสงครามโดยตลอด ทั้งกับเวียดมินห์ เวียดกง และเขมรแดง จนถึงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๘ ก็พ่ายแพ้ถูกเขมรแดงเข้ายึดครองทั้งหมด กองทัพคอมมิวนิสต์พร้อมด้วยวัยรุ่นปฏิวัติได้ดําเนินการจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ด้วยวิธีการอันพลันแล่นและรุนแรง สังหารผู้ไม่เห็นพ้องและทหารฝ่ายรัฐบาลอย่างไม่ปรานีปราศรัย สั่งให้ประชาชนอพยพออกจากเมืองทั้งหมด และให้ไปตั้งถิ่นฐานในป่า หักร้างถางพงบุกเบิกที่ทําไร่ไถนาหากินกันใหม่ สาธารณรัฐเขมรเปลี่ยนเป็น “ประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย” ใช้ระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสม์ ส่วนผลที่เกิดแก่พระพุทธศาสนาอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ ปรากฏแก่สายตาของชาวพุทธนอกกัมพูชา เสมือนจุดอวสานที่ปิดคลุมด้วยม่านสีดํา หรืออย่างน้อยเหมือนการเลื่อนฉากสีดํามาบังไว้

พระเถระผู้นําชาวพุทธเขมรที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เล่าแก่ที่ประชุม ณ ศาลาว่าการเมืองบอสตัน เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ตอนหนึ่งว่า

“ดังที่ท่านก็ทราบอยู่แล้ว ประชาชนกัมพูชาเกินกว่า ๑ ใน ๓ ได้ถูกสังหารไปแล้ว ภายในเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านนี้ รวมทั้งพระภิกษุเกือบทั้งหมด ๘๐,๐๐๐ รูป”

ในเดือนมกราคม ๒๕๒๒ กองทัพของสภาปฏิวัติของประชาชนแห่งกัมพูชา ซึ่งเวียดนามหนุนหลังได้เข้ายึดครองกรุงพนมเปญ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” โดยมี เฮงสัมริน เป็นประธานาธิบดี กองทัพของรัฐบาลประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ได้ถอยร่นเข้าไปอยู่ในป่า และทําสงครามเพื่อชิงอํานาจคืน การต่อสู้ยังคงดําเนินอยู่ หาความสุขสงบมิได้จนบัดนี้

หนังสือประกอบ

วิริยปณฑิโต ภิกฺขุ (ปาง-ขัต). ปาฐกถาเรื่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในสาธารณรัฐเขมร. กรุงเทพฯ: หจก. ศิวพร, พ.ศ. ๒๕๑๔.

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๒๑), “กัมพูชา”, “เขมร”, “จัมปา", “เจนละ”.

Encyclopedia Americana. 1969 ed., s.v. “Angkor”, “Cambodia”, “Indochina”, “Southeast Asia”.

Encyclopaedia Britannica. 1968 ed., s.v. “Buddhism”, “Cambodia”, “Indian Art”.

Hall. D.G.E. A History of South-East Asia. New York: St. Martin's Press, 1970.

Harrison, Brian. South-East Asia, A Short History. London: Macmillan & Co., Ltd., 1963.

Mahasumedhadhipati, Somdech Phra (สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี). "The Governing of the Buddhist Order in Cambodia”. Visakha Puja 2519, Bangkok 1976, pp. 40-47.

Zago, Marcello. “Contemporary Khmer Buddhism”. In Buddhism in the Modern World. Edited by Heinrich Dumoulin and John C. Maraldo. New York: Macmillan Publishing Co., Inc., 1976.

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.