พระพุทธศาสนาในอาเซีย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๙.
พระพุทธศาสนาในลาว

 

ชนชาติลาวมีความเป็นมาแต่เดิมเกี่ยวด้วยชาติวงศ์และการอพยพถิ่นฐานเป็นต้น จนถึงตั้งหลักแหล่งในดินแดนปัจจุบันเนื่องเป็นอันเดียวกันกับชนชาติไทย มีเรื่องราวที่ควรทราบโดยย่อว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๑๙๔ ชนชาติใหญ่พวกหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า ไท พวกพม่าเรียกว่า ฉาน พวกจีนเรียกว่า อ้ายลาว หรือ งายลาว ได้อพยพจากอาณาจักรอ้ายลาวลงมาทางใต้ ตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นเรียกว่า น่านเจ้า ต่อมาเจ้าไทยน่านเจ้าชื่อ ขุนบรม (ขุนลุง หรือขุนหลวง ก็ว่า) ได้ยกลงมาครอบครองแผ่นดินใต้ลงมาอีก และขยายอาณาเขตกว้างขวางออกไป ขุนบรมมีโอรส ๗ องค์ และได้ให้โอรสเหล่านั้นไปสร้างบ้านแปลงเมืองต่างๆ มีเมืองโยนก เมืองละโว้ เมืองพวน เป็นต้น โอรสองค์ที่หนึ่งชื่อ ขุนลอ ไปรบได้ เมืองชวา (ได้แก่ เมืองเช่า ต่อมาเรียกเชียงทอง หรือล้านช้าง และในที่สุดเป็นเมืองหลวงพระบาง) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๐ เจ้าเมืองชวาได้สืบเชื้อสายสืบต่อกันมาโดยลําดับ เมื่ออาณาจักรเขมรเรืองอํานาจขึ้น เมืองชวาก็ตกอยู่ใต้อํานาจเขมรด้วยเช่นเดียวกับชนชาติไทยพวกอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ครั้นถึง พ.ศ. ๑๗๙๖ อาณาจักรน่านเจ้าเสียแก่กุบไลข่าน คนไทยก็แผ่ซ่านกระจายลงมาทางใต้เพิ่มจํานวนมากขึ้น

ก. ยุคก่อตั้งและเจริญมั่นคง

เจ้าเมืองชวาองค์ที่ ๒๒ (บางแห่งว่าที่ ๓๕) นามว่า พญาสุวรรณคําผง ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๙ ทรงมีโอรสพระนามว่า เจ้าผีฟ้า และเจ้าผีฟ้ามีโอรส ๖ องค์ องค์ที่หนึ่งชื่อ เจ้าฟ้างุ้ม ครั้งนั้นได้มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งทําให้เจ้าฟ้างุ้มพลัดพรากจากชาติภูมิ ไปพํานักอยู่ในอาณาจักรเขมรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เวลานั้นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรเขมรแล้ว เจ้าฟ้างุ้มทรงอาศัยอยู่กับพระภิกษุชื่อพระมหาปาสมันตเถระ เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง เมื่อเจริญวัยขึ้น พระเถระได้นําไปฝากเป็นมหาดเล็กในราชสํานักของกษัตริย์เขมร (ปราชญ์สันนิษฐานว่าได้แก่พระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร) เจ้าฟ้างุ้มรับราชการเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดิน ถึงกับทรงยกพระราชธิดานามว่า พระนางแก้วเกงยา หรือแก้วยอดฟ้า (เรียกว่า เจ้าหญิงคําหยาดบ้าง เรียกอย่างอื่นบ้างก็มี) ให้เป็นชายา

สมัยนั้น อาณาจักรเขมรกําลังเสื่อมอํานาจลง และใน พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้ารามาธิบดีที่ ๑ แห่งราชวงศ์อู่ทอง ได้ตั้งอาณาจักรไทยขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา แล้วเริ่มแผ่ขยายอํานาจออกไป กษัตริย์เขมรทรงเกรงการรุกรานของไทยอยุธยา จึงโปรดให้เจ้าฟ้างุ้มไปครองกรุงล้านช้าง เพื่อเป็นกําลังป้องกันไทยอยุธยาต่อไป เจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๘๙๖ (หลังจากอาณาจักรไทยศรีอยุธยาตั้งขึ้นได้ ๓ ปี) ทรงเป็นวีรกษัตริย์สามารถรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนเข้าเป็นอันเดียว มีอาณาเขตทางเหนือจดสิบสองปันนา ทางใต้จดอาณาจักรเขมร ตะวันตกจดอาณาจักรเชียงใหม่ สุโขทัย และอยุธยา ตะวันออกจดอันนัม และจัมปา เรียกได้ว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในประวัติศาสตร์แห่งอาณาจักรล้านช้าง (ก่อนหน้านี้มีแต่ตํานาน) และต่อมาตัวเมืองล้านช้างหรือเมืองหลวงของ อาณาจักรล้านช้าง ก็มีชื่อเป็นทางราชการว่า “กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว"

ในด้านศาสนา แม้ว่าชาวล้านช้างจะได้รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานผ่านทางจีนมาแต่ครั้งยังอยู่ในอาณาจักรอ้ายลาวเช่นเดียวกับชาวไทยพวกอื่น ในสมัยของขุนหลวงเม้า (ลีเมา หรือลิวเมา ก็ว่า) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๒๐ แล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงสมัยอาณาจักรล้านช้างนี้ ความเชื่อถือนั้นคงจะได้เลือนลางจางหายไปแล้ว จึงปรากฏว่า ราษฎรทั่วไปนับถือผีสางเทวดาอันเป็นของพื้นเดิมแต่สมัยโบราณ ทําให้ต้องมีการประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ และในคราวนี้เป็นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่นําเข้ามาจากอาณาจักรเขมร

เรื่องนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่อาณาจักรล้านช้าง มีหลักฐานต่างกันเป็น ๒ อย่าง ฝ่ายหนึ่งว่า พระนางแก้วเกงยา มเหสีของพระเจ้าฟ้างุ้มทรงเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เคร่งครัด ครั้นได้ทรงเห็นเจ้านายและราษฎรชาวล้านช้างนับถือผี พากันล้มช้างม้าวัวควายทําพลีกรรม ก็ทรงสังเวชพระทัย จึงทูลพระสวามีให้นําพระพุทธศาสนาจากกัมพูชาเข้าไปประดิษฐาน พระเจ้าฟ้างุ้มก็ทรงส่งทูตไปแจ้งความประสงค์แก่กัมพูชา พระเจ้าแผ่นดินเขมรจึงได้ทรงส่งคณะพระภิกษุสงฆ์ มีพระมหาปาสมันตเถระ ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระเจ้าฟ้างุ้ม และพระมหาเทพลังกา เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยนักปราชญ์ ช่าง และคนผู้แวดล้อมเป็นบริวารจํานวนมาก นําพระพุทธรูปปางห้ามญาติชื่อ “พระบาง" และพระไตรปิฎกกับทั้งศาสนวัตถุอื่นๆ ไปพระราชทานแก่พระเจ้าฟ้างุ้ม

ส่วนหลักฐานอีกฝ่ายหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มครองราชย์แล้วไม่นาน ก็ปรากฏว่าทรงมีพระทัยโหดร้ายทารุณ ความทราบถึงกษัตริย์กัมพูชาผู้เป็นพระสสุระ (พ่อตา) จึงมีรับสั่งให้พระเจ้าฟ้างุ้มไปเฝ้า แล้วพระราชทานโอวาทให้ปกครองพสกนิกรตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้สมาทานศีล ๕ และส่งกลับล้านช้างพร้อมด้วยคณะพระภิกษุสงฆ์ที่กล่าวข้างต้น

สําหรับพระบางนั้นเป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์ลังกาได้ส่งมาถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินเขมร เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเขมรพระราชทานแก่พระเจ้าฟ้างุ้มแล้ว ได้นําไปรักษาไว้ที่เมืองเวียงคําก่อน จนถึง พ.ศ. ๒๐๔๕ จึงอัญเชิญขึ้นไปไว้ที่เมืองเชียงทอง คือ เมืองชวาหรือล้านช้าง และต่อมาเมืองเชียงทองหรือล้านช้างก็เปลี่ยนเรียกชื่อตามพระบางนั้นว่า เมืองหลวงพระบาง บางทีเรียกอาณาจักรทั้งหมดว่า อาณาจักรหลวงพระบาง โดยนัยนี้จึงเห็นได้ว่า การสถาปนาอาณาจักรลาวดําเนินไปพร้อมกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยมีพระบางเป็นศูนย์กลางที่รวมจิตใจของชาติ เป็นทั้งสัญลักษณ์ของพระศาสนาและเป็นสมบัติคู่เมือง

รัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้มมากด้วยการศึกสงคราม ทําให้ราษฎรลาวซึ่งเป็นคนรักสงบมีนิสัยเรื่อยๆ สบายๆ พากันเบื่อหน่ายฝืนใจ จนในที่สุดถึง พ.ศ. ๑๙๑๖ อํามาตย์ทั้งหลายก็พร้อมใจกันขับพระองค์จากราชบัลลังก์แล้วอภิเษกพระราชโอรสชนมายุ ๑๗ พรรษาขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามตามจํานวนชายฉกรรจ์ที่สํารวจได้ใน พ.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งมีอยู่ ๓๐๐,๐๐๐ คนว่า “พญาสามแสนไท ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงไทยแห่งศรีอยุธยา และทรงจัดระเบียบบ้านเมืองตามแบบแผนวิธีการที่ทรงได้รับจากประเทศไทยเป็นอันมาก

ในด้านพระศาสนา ทรงสร้างวัดและโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในด้านการค้าขาย ล้านช้างก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมสําคัญแห่งหนึ่ง ทรงรักษาไมตรีกับไทยและเวียดนามเป็นอย่างดี รัชกาลนี้ได้ชื่อว่าเป็นสมัยแห่งการจัดสรรระเบียบบ้านเมืองและการสร้างความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมั่นคง หลังจากรัชกาลนี้แล้ว อาณาจักรล้านช้างได้มีความสงบสุขตลอดมาเป็นเวลายาวนาน มีความเดือดร้อนจากการรุกรานของเวียดนามที่เป็นเพื่อนบ้านเป็นเหตุการณ์แทรกบ้างแต่เพียงเล็กน้อย และผ่านไปในชั่วระยะเวลาอันสั้น

กาลล่วงมาจนถึงรัชกาล พระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ. ๒๐๖๓ - ๒๐๙๐) กษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เคร่งครัด ได้ทรงพยายามชักจูงให้ประชาชนเลิกนับถือผีสางเทวดา ไสยศาสตร์ การทรงเจ้าเข้าผีต่างๆ เพื่อสถาปนาพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ ถึงกับทรงให้รื้อศาลเจ้าหลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมืองทรงเมืองเสีย แต่ประเพณีการนับถือผีได้ฝังแน่นในชีวิตจิตใจของประชาชนมาแต่โบราณแล้ว ยากที่จะถอนได้ ความเพียรพยายามของพระองค์จึงไม่ประสบผลสําเร็จ นอกจากนี้พระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ที่นครเวียงจันทน์ ทําให้การค้าขายกับไทยและเวียดนามสะดวกและได้ผลดียิ่งขึ้น นับว่าทรงเป็นกษัตริย์ลาวองค์แรกที่เสด็จไปประทับที่เมืองนี้

ต่อมาตอนปลายรัชกาล กษัตริย์แห่งล้านนา ณ นครเชียงใหม่สวรรคต ขาดรัชทายาทสายตรงที่จะสืบราชสมบัติ จึงมีผู้อ้างสิทธิในราชสมบัติหลายพวก พระเจ้าโพธิสารราชก็ทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ด้วย ในฐานที่พระราชมารดาของพระองค์เป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่ ทรงยกกองทัพไปปราบผู้อ้างสิทธิอื่นๆ ได้หมดสิ้น เสร็จแล้วทางอาณาจักรล้านนาก็ได้ส่งคณะทูตมาทูลเชิญพระองค์ ให้ไปเสวยราชย์ ณ นครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารราชจึงโปรดให้โอรสชื่อ เจ้าเชษฐวังโส ไปครองอาณาจักรล้านนา แต่หลักฐานบางแห่งว่า พระเจ้าโพธิสารราชมีมเหสีเป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่ ทางฝ่ายล้านนาจึงส่งทูตมาทูลขอโอรสของพระองค์คือ เจ้าเชษฐวังโส ชนมายุ ๑๒ พรรษา ไปครองราชย์ ณ นครเชียงใหม่

ต่อมา พ.ศ. ๒๐๙๐ พระเจ้าโพธิสารราชทรงประสบอุบัติเหตุในการล่าสัตว์เสด็จสวรรคต เกิดเหตุวุ่นวายเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติ เจ้าเชษฐวังโสจึงเสด็จกลับไปจัดเรื่องเมืองล้านช้างให้สงบ และได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ณ อาณาจักรนั้นใน พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ไม่ยอมเสด็จกลับเชียงใหม่ปล่อยให้เจ้าไทยใหญ่ชื่อ เมกุฏิ ขึ้นครองล้านนาสืบต่อมา

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงเป็นมหาราชองค์ที่ ๒ ของลาว (องค์แรกคือพระเจ้าฟ้างุ้ม) ทรงเป็นวีรกษัตริย์ผู้ปรีชาสามารถในการศึกสงคราม และเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่มีศรัทธาแรงกล้า ได้ทรงสร้างวัดสําคัญหลายวัด และพระพุทธรูปสําคัญหลายองค์ ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทําให้มีนักปราชญ์แต่งคัมภีร์ต่าง ๆ และมีวรรณคดีลาวเกิดขึ้นมากมายหลายเรื่อง

ในรัชกาลนี้ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกษัตริย์พม่ากําลังแผ่อํานาจมาทางตะวันออก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงทรงผูกสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นแฟ้น ถึงกับได้มีพระราชสาส์นไปขอพระเทพกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย แต่พระเทพกษัตรีถูกกองทัพพม่าซุ่มแย่งตัวในระหว่างทาง และนําไปถวายแก่พระเจ้าหงสาวดี นอกจากนั้น กษัตริย์สองอาณาจักรได้ทรงสร้างเจดีย์ร่วมกัน เรียกว่า “พระธาตุศรีสองรัก อยู่ในเขตอําเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีพิธีทําบุญร่วมกันทุกปีในวันเพ็ญเดือนหก คําว่า “ศรี ในชื่อเจดีย์นั้นหมายถึง ศรีอยุธยา กับ ศรีสัตนาคนหุต

อนึ่ง ในคราวที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จจากเชียงใหม่ มาครองราชย์ที่เมืองเชียงทองล้านช้างนั้น ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดบุบผาราม เมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยพระพุทธรูปสําคัญอื่นๆ และสิ่งมีค่าต่างๆ มาไว้ที่เมืองหลวงพระบางด้วย ต่อมาพระองค์ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ เพื่อร่วมกับกรุงศรีอยุธยาต่อสู้ศึกพม่า จึงได้ทรงนําพระแก้วมรกตลงมาสร้างวัดประดิษฐานไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ด้วย และได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง อันเป็นสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมของลาวไว้เป็นเกียรติประวัติสืบมา

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงประคับประคองนําราชอาณาจักรของพระองค์ให้พ้นภัยพิบัติไปได้จนตลอดรัชกาล แม้ลานนาไทยจะเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๑๐๑ และศรีอยุธยาเสียเมืองตามไปใน พ.ศ. ๒๑๐๗ แต่อาณาจักรลาวยังเป็นอิสระอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากพระองค์สวรรคตใน พ.ศ. ๒๑๑๔ แล้ว พอถึง พ.ศ. ๒๑๑๗-๘ พระเจ้าหงสาวดีก็ยกทัพมาตีเอาลาวเป็นประเทศราชได้ และได้ทรงนําเอาโอรสองค์เดียวของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งประสูติในปีที่สวรรคตไปไว้เป็นประกันที่หงสาวดีด้วย ต่อจากนี้ แผ่นดินลาวมีเหตุวุ่นวายด้วยเรื่องราชสมบัติอีกหลายปี จนถึง พ.ศ. ๒๑๓๔ พระเถระเจ้าอาวาสวัดต่างๆ จึงได้ประชุมกันลงมติให้ส่งทูตไปอัญเชิญเจ้าชายหน่อแก้วโกเมน ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ในราชสํานักพม่ากลับมาครองราชย์ พอดีเวลานั้น พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว และพม่ากําลังอ่อนแอลง จึงได้รับความยินยอมด้วยดี เจ้าหน่อแก้วโกเมนขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๑๓๕ และประกาศอิสรภาพ ไม่ขึ้นแก่พม่าต่อไป

ต่อมาไม่นาน แผ่นดินลาวก็มีเหตุเดือดร้อนวุ่นวายภายในเกี่ยวด้วยเรื่องราชสมบัติ จน พระเจ้าสุริยวงศา ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๑๘๐ จึงกลับสงบสุขอีก พระเจ้าสุริยวงศาเป็นกษัตริย์ปรีชาสามารถและเข้มแข็ง นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของลาว ตลอดรัชกาลอันยาวนานถึง ๕๕ ปี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอก วัฒนธรรมรุ่งเรือง มีดนตรี สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม การช่างต่างๆ เจริญแพร่หลาย และมีสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี เว้นแต่สงครามพิชิตเชียงขวางใน พ.ศ. ๒๑๙๔ ซึ่งแม้เชียงขวางจะยอมแพ้ แต่ก็เป็นศัตรูกันต่อมาภายหลังเป็นเวลานาน จนตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปด้วยกัน

ข. ยุคแตกแยกทรุดโทรมและตั้งต้นใหม่

หลังจากสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาใน พ.ศ. ๒๒๓๕ แล้ว อาณาจักรลาวก็เดือดร้อนวุ่นวายด้วยปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติ จนแตกแยกออกไปเป็น ๒ อาณาจักรคือ เมืองหลวงพระบาง กับ เมืองเวียงจันทน์ นอกจากนี้ แคว้นจําปาศักดิ์ซึ่งยังมิได้เป็นดินแดนในอาณาจักรลาวโดยตรง เป็นแต่ตกอยู่ในอํานาจครอบครองเป็นครั้งคราว ก็ได้ตั้งตัวเป็นอิสระด้วย

นักประวัติศาสตร์บางพวกนับแคว้นจําปาศักดิ์อิสระนี้เข้าอีก กล่าวว่า ลาวแตกแยกเป็น ๓ อาณาจักร ยิ่งกว่านั้น ถ้าถือเอาแผ่นดินลาวปัจจุบันเป็นหลักก็ยังมีราชอาณาจักรเล็กๆ อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นยังไม่เป็นดินแดนของลาว คือ แคว้นตรันนินห์ ของพวกพวน มีเมืองเชียงขวางเป็นราชธานี บางทีเรียกแคว้นเชียงขวางบ้าง เมืองพวนบ้าง เมืองพวนนี้บางคราวขึ้นกับเวียงจันทน์ บางคราวขึ้นกับหลวงพระบาง บางคราวขึ้นกับญวน บางคราวขึ้นกับไทย ญวน และหลวงพระบางพร้อมกัน จนในที่สุดตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เมื่อลาวเป็นเอกราชแล้วจึงรวมอยู่ในราชอาณาจักรลาว

อาณาจักรทั้งสองคือหลวงพระบางกับเวียงจันทน์ ต่างก็ระแวงกันและคอยจ้องหาโอกาสแย่งชิงอํานาจกัน เป็นเหตุให้ยืมมือต่างประเทศมากําจัดกัน เป็นการชักศึกเข้าบ้าน เช่น ฝ่ายหนึ่งเข้ากับพม่า อีกฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย หรือฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย อีกฝ่ายหนึ่งเข้ากับญวน เป็นต้น จนในที่สุดเมื่อไทยสมัยพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับหลวงพระบาง กู้เอกราชจากพม่าได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีเวียงจันทน์ซึ่งเป็นพันธมิตรของพม่า เข้ายึดครองได้ใน พ.ศ. ๒๓๒๑ และได้นําเอาพระแก้วมรกตไปยังอาณาจักรไทยด้วย อาณาจักรเวียงจันทน์สลายตัวลงเป็นดินแดนของไทยใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ส่วนอาณาจักรหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองออกของไทยได้ส่งทูตไปอ่อนน้อมและมอบบรรณาการแก่เวียดนามใน พ.ศ. ๒๓๗๔ กลายเป็นข้ออ้างของฝรั่งเศสผู้เข้ายึดครองเวียดนามในสมัยต่อมา ที่จะเข้าครอบครองลาวต่อไปด้วย อาณาจักรลาวได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยลําดับ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ จนหมดสิ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ลาวถูกฝรั่งเศสครอบครองอยู่ ๔๕ ปี จึงได้เอกราชกลับคืนโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ มีชื่อเป็นทางการว่า "พระราชอาณาจักรลาว”

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์นี้ ได้มีเหตุต่างๆ ซึ่งทําให้ชนชาวลาวแตกแยกกันอีก เริ่มแต่เมื่อญี่ปุ่นบุกรุกเข้ามาครอบครองคาบสมุทรอินโดจีน แล้วถอนตัวออกไปใน พ.ศ. ๒๔๘๘ ชาวลาวได้แตกแยกกันในหลักการที่ว่า จะกลับมาอยู่กับฝรั่งเศส หรือว่าจะเรียกร้องเอกราชสมบูรณ์ เป็นเหตุให้เกิดลาวอิสระขึ้น ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๒ ฝรั่งเศสให้เอกราชบางส่วนแก่ลาว ทําให้ลาวอิสระแตกแยกกันออกไป พวกหนึ่งพอใจเท่านั้น อีกพวกหนึ่งยังไม่พอใจ พวกไม่พอใจได้ตั้งพรรคประเทดลาวขึ้น ซึ่งต่อมากลายเป็นขบวนการประเทดลาว และได้รับความสนับสนุนจากเวียดมินห์ ดําเนินการทําสงครามกองโจรต่อต้านฝรั่งเศส ครั้นฝรั่งเศสถอนตัวออกไปแล้ว เหตุการณ์วุ่นวายภายในก็เป็นเหตุชักนําชาติมหาอํานาจคือสหรัฐอเมริกากับโซเวียตรัสเซียเข้ามายุ่งเกี่ยว ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ชาวลาวแตกแยกกันเป็น ๓ ฝ่าย มีฝ่ายขวา ฝ่ายกลาง และประเทดลาวซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย ต่างรบราฆ่าฟันกันอย่างรุนแรง แม้จะได้มีความพยายามที่จะช่วยให้ฝ่ายต่างๆ สมัครสมานกันด้วยการตั้งรัฐบาลผสมเป็นต้น แต่ก็เป็นไปได้เพียงชั่วคราว แล้วสงครามก็ดําเนินต่อไปอีก จนในที่สุดแผ่นดินลาวกลายเป็นเวทีสงครามทั้งระหว่างคนลาวด้วยกัน และระหว่างชนต่างชาติที่เข้ามาสนับสนุนแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นต้นมา สภาพเช่นนี้คงไม่แตกต่างอะไรนักกับความเป็นไปในอดีต อาณาจักรลาวแม้ภายหลังได้รับเอกราชแล้ว จึงยังมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ไม่มีความสงบสุขเพียงพอที่จะเป็นฐานสําหรับสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรลาวมีลักษณะคล้ายกันมากกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เพราะประเทศทั้งสองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตลอดประวัติศาสตร์ แม้ในตอนเริ่มแรก ลาวจะได้รับพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากเขมร ก็ชื่อว่ามีส่วนได้รับจากไทยอยู่ด้วย เพราะพระพุทธศาสนาเถรวาทเผยแพร่เข้าสู่เขมรโดยผ่านทางแผ่นดินไทย แบบถ่ายทอดไปเองอย่างไม่เป็นทางการ และหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเขมรเสื่อมอํานาจลงโดยลําดับ ทั้งลาวและเขมรต่างก็รับพระพุทธศาสนาจากไทยโดยตรง โดยเฉพาะลาวนั้นเป็นชนเชื้อชาติเดียวกับไทย มีสายเลือดสืบจากบรรพบุรุษเดียวกัน มีภาษาพูดคล้ายกัน ติดต่อกันง่าย เข้าใจกันทันที ยิ่งมามีเขตแดนติดต่อกัน และเหตุการณ์บ้านเมืองบังคับให้คลุกคลีไปมาหาสู่ถึงกันอยู่เสมอ พร้อมด้วยความรู้สึกว่าไทยเป็นประเทศใหญ่กว่า ได้รับความเจริญต่างๆ ก่อนกว่า เป็นเอกราชและมีความสงบเรียบร้อยมั่นคงมากกว่า ก็ยิ่งทําให้ลาวพร้อมที่จะเป็นฝ่ายรับจากไทย และทําให้การรับนั้นแทบจะเป็นการถ่ายทอดแบบอย่างเอาไปทีเดียว

ยิ่งกว่านั้น การถ่ายทอดยังเป็นไปชนิดตลอดเวลาอีกด้วย เพราะเท่าที่ผ่านมาคนในราชอาณาจักรลาวนิยมอ่านหนังสือไทย ฟังวิทยุไทย ชอบเพลงไทย ไปเที่ยวเมืองไทย และไปศึกษาต่อที่เมืองไทย โดยเฉพาะการติดต่อทางด้านของพระสงฆ์นั้น เป็นไปอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง และสนิทสนมแน่นแฟ้นจนแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่างเหลืออยู่เลย ด้วยเหตุนี้กิจการพระศาสนาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ ศาสนศึกษา ระเบียบแบบแผนต่างๆ ตลอดจนแนวความคิด และวัตรปฏิบัติทั่วไปของพระสงฆ์ในราชอาณาจักรลาว จึงเหมือนหรือคล้ายคลึงกับในประเทศไทย

ในสมัยที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส พระพุทธศาสนาของลาวเสื่อมโทรมลงไปบ้าง เพราะไม่ได้รับการเอาใจใส่บํารุงส่งเสริมเท่าที่ควร แต่ประชาชนซึ่งมีศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ได้ช่วยกันรักษาพระศาสนาให้คงอยู่ได้ตลอดมา เมื่อลาวได้รับเอกราชแล้ว แม้ว่าบ้านเมืองจะยังไม่สงบเรียบร้อยมั่นคง แต่ทางราชการก็ได้ร่วมกับประชาชนดําเนินการฟื้นฟูทํานุบํารุงพระศาสนาอย่างเต็มที่

รัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรลาว มาตรา ๗ บัญญัติว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจําชาติ และพระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก”

อีกแห่งหนึ่งบัญญัติว่า “คณะสงฆ์ลาว มีนิกายเดิมนิกายเดียว (หินยานแบบลังกาวงศ์)”

ในด้านการปกครองคณะสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประมุข ในระยะ พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมามีผู้บริหารประกอบด้วยพระสังฆนายกและสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การปฏิสังขรณ์ แต่ต่อมาภายหลัง ได้ยุบองค์การสงฆ์เหล่านั้น แล้วตั้งที่ปรึกษาสงฆ์ ๔ องค์ สําหรับสมเด็จพระสังฆราช ทําให้มีลักษณะคล้ายกับมหาเถรสมาคมในประเทศไทย

กฎหมายคณะสงฆ์ เรียกว่า “พระราชโองการแต่งตั้งระเบียบสงฆ์แห่งพระราชอาณาจักรลาว ฉบับเลขที่ ๑๖๐ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ (ค.ศ. ๑๙๕๙)” ได้ระบุไว้ในมาตรา ๓ ว่า “บรรพชิตฝ่ายพระพุทธศาสนาคือภิกษุและสามเณรทั้งหลายในพระราชอาณาจักรลาวต้องอยู่ใต้พระบัญชา (มโนธรรมประมุข) ของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งพํานักอยู่ในนครหลวงของประเทศ”

มาตรา ๑๙ ว่า “สมเด็จพระสังฆราชเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงทั้งหลายในพระราชอาณาจักร เป็นผู้เลือกจากจํานวนพระภิกษุซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้เสนอ การเลือกตั้งจะทําเป็นหนังสือใส่ซองปิด และประทับตราครั่ง โดยให้เจ้าแขวงทั้งหลายเป็นผู้นําส่งเสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้งนั้นก็ได้”

และมาตรา ๒๐ ว่า “การตั้งสมเด็จพระสังฆราชจะออกเป็นพระราชโองการตามคําเสนอของคณะรัฐบาล การมอบหน้าที่และการทูลถวายสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชภาระของพระเจ้าแผ่นดิน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการเป็นผู้จัดการสนอง”

พระราชโองการฉบับเดียวกันนั้น กําหนดขั้นยศ (สมณศักดิ์) ของพระภิกษุเป็น ๖ ชั้น คือ ๑. พระยอดแก้ว (เทียบสมเด็จพระสังฆราช) ๒. พระลูกแก้ว (สมเด็จพระราชาคณะ) ๓. พระหลักคํา (พระราชาคณะ) ๔. พระครู ๕. พระซา ๖. พระสมเด็จ และกําหนดตําแหน่งสงฆ์เป็นชั้นๆ คือ ๑. สมเด็จพระสังฆราช ๒. เจ้าคณะแขวง (เทียบจังหวัดของไทย) ๓. เจ้าคณะเมือง (เทียบอําเภอ) ๔. เจ้าคณะตาแสง (เทียบตําบล) ๕. เจ้าอธิการวัด (เทียบเจ้าอาวาส)

ในด้านศาสนศึกษา พระเถระลาวส่วนมากได้รับการศึกษาจากประเทศไทย การจัดการศึกษาคณะสงฆ์ลาวจึงมักจัดตามแบบไทย คือมีการเรียนภาษาบาลี แบ่งชั้นเป็นประโยค ๓ ถึงประโยค ๙ เหมือนในประเทศไทย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีการวางระบบตามดํารัสรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ (คือกฎกระทรวงธรรมการ) จัดการเรียนเป็นขั้นๆ คือ

๑. ชั้นประถมบาลี (แบ่งเป็นเตรียมประถม ประถมตรี ประถมโท ประถมเอก จบประถมเอกเท่ากับประโยค ๓)

๒. ชั้นมัธยมบาลี (แบ่งเป็นมัธยมตรี-โท-เอก เท่ากับประโยค ๔-๕-๖ ตามลําดับ)

๓. ชั้นอุดมบาลีบริบรูณ์ (มีชั้นเตรียมมหาวิทยาลัย แล้วเข้าโรงเรียนบาลีชั้นสูง แบ่งเป็น อุดมตรี-โท-เอก เท่ากับประโยค ๗-๘-๙ ตามลําดับ)

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาใหม่อีกตามดํารัสรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศิลปากร และ กีฬายุวชน ซึ่งจัดการเรียนเป็น ๓ ขั้น ให้ประสานกับการศึกษาของชาติสําหรับคฤหัสถ์ คือ

๑. ประถมศึกษา ๖ ปี (ตอนต้น ๓ ปี = การศึกษาภาคบังคับ และตอนปลาย ๓ ปี)

๒. มัธยมศึกษา ๔ ปี

๓. สถาบันการศึกษาพุทธศาสนา ๓ ปี การศึกษาขั้นประถมและมัธยมของพระสงฆ์อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงธรรมการ ส่วนขั้นสูงคือ สถาบันการศึกษาพุทธศาสนา อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนัยนี้การศึกษาของพระสงฆ์จึงเป็นการศึกษาส่วนหนึ่งของชาติ อยู่ในความรับผิดชอบและความอุปถัมภ์ของรัฐโดยสมบูรณ์

สําหรับสถาบันการศึกษาพุทธศาสนานั้น ตั้งอยู่ที่วัดองตื้อมหาวิหาร ผู้ที่เรียนจบสถาบันจะได้รับประกาศนียบัตรของกระทรวงศึกษาธิการ และมีสิทธิได้รับเรียกชื่อว่า “มหา” หลักสูตรวิชาที่เรียนมีทั้งพระปริยัติธรรมและวิชาการสมัยใหม่ เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต ลาว ฝรั่งเศส อังกฤษ ศาสนา ปรัชญา จิตวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมวิทยา การศึกษา สุขาภิบาล ตลอดจนโหราศาสตร์ ผู้ที่เรียนจบสถาบันแล้วจะต้องอยู่ปฏิบัติงานในภิกขุภาวะอย่างน้อย ๒ ปีจึงจะลาสิกขาได้ ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ได้มีการเพิ่มชั้นเตรียมสถาบันเข้ามาแทรกระหว่างมัธยม ๔ กับสถาบันปีที่ ๑ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับความพร้อมของตัวผู้เรียน ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ มีสถิตินักเรียนที่สนใจ คือ ชั้นอุดมเอก (ป.๙) ๓๙ รูป เตรียมสถาบัน ๓๕ รูป สถาบันปีที่ ๑ มี ๑๐ รูป ปีที่ ๒ มี ๔ รูป ปีที่ ๓ ยังไม่มีผู้เรียนถึง

ในระยะที่ผ่านมา ได้มีพระสงฆ์ลาวไปศึกษาต่อในประเทศต่างๆ จํานวนมาก โดยเฉพาะในประเทศไทย รัฐบาลไทยได้อุปถัมภ์ทุนแก่พระภิกษุสามเณรจากราชอาณาจักรลาว เพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทุกปี ปีละหลายรูป และได้มีผู้ที่ศึกษาจบแล้วหลายรูปกลับไปทํางานเป็นกําลังสําคัญในวงการศึกษา และกิจการต่างๆ ของพระราชอาณาจักรลาว ทั้งฝ่ายพุทธจักร และอาณาจักร

การศึกษาแห่งชาติแบบสมัยใหม่ของลาว ยังนับว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น การศึกษาภาคบังคับมีเพียง ๓ ปี คือ ประถมปีที่ ๓ และโรงเรียนในระดับภาคบังคับนี้แม้จะมีอยู่แพร่หลาย แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง ในท้องถิ่นห่างไกลยังต้องอาศัยพระในวัดต่างๆ ช่วยสอนเด็กพอให้อ่านออกเขียนได้ โดยทางรัฐบาลพยายามสนับสนุน เช่น ช่วยดําเนินการสอบให้ เป็นต้น ส่วนการศึกษาระดับอุดมหรือมหาวิทยาลัย ยิ่งนับว่าเป็นของใหม่มาก และมีเพียงแห่งเดียว คือ มหาวิทยาลัยศรีสว่างวงศ์ ที่ดงโดก ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๕๑๐ ไม่กี่ปี มี ๓ คณะ คือ คณะวิชากฎหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ การคลังการทูตหนึ่ง คณะวิชาการศึกษาหนึ่ง และคณะแพทยศาสตร์หนึ่ง มีนักศึกษาทั้งหมดประมาณ ๒๐๐ คน การสอนวิชาต่างๆ ในชั้นประถมตอนปลายขึ้นไปยังใช้ภาษาฝรั่งเศสมากกว่าภาษาลาว เพราะต้องพึ่งครูและตําราภาษาต่างประเทศมาก แม้ชาวลาวเองที่ได้ศึกษามาในชั้นสูงก็ไม่ถนัดภาษาลาว เพราะเรียนด้วยภาษาฝรั่งเศสมาแต่เดิม หรือไม่ก็มักเป็นผู้สําเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส เมื่อเทียบกับการศึกษาส่วนรวมของชาติเช่นนี้แล้ว ก็ต้องนับว่าการศึกษาฝ่ายสงฆ์เจริญก้าวหน้าพอสมควร

อนึ่ง ในการศึกษาของพระสงฆ์มีระเบียบที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ทางการเมืองถือว่าทุกแขวงมีการศึกษาถึงขั้นมัธยมต้นแล้ว ภิกษุสามเณรที่จะเข้ามาศึกษาต่อในเวียงจันทน์ จะต้องเรียนจบชั้นมัธยมต้นก่อน เจ้าคณะแขวงและหัวหน้าฝ่ายการศึกษาประจําแขวงจึงจะออกหนังสืออนุญาตให้เข้ามาเรียนในเวียงจันทน์ได้ นับว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่พักในเมืองหลวงแออัด พระภิกษุสามเณรหาที่อยู่ที่เรียนไม่ได้อย่างหนึ่ง

ชาวลาวโดยทั่วไปเป็นพุทธศาสนิกชนผู้หนักแน่นในจารีตประเพณี มีความเคารพนับถือพระสงฆ์อย่างสูง แต่ความนับถือมีความเชื่อผีสางเทวดาปะปนอยู่มาก กล่าวได้ว่าพุทธศาสนากับความนับถือผีสางได้ผสมกลมกลืนกันอย่างสนิท ประเพณีการบวชเรียน การบวชแล้วสึกตามสมัครใจยังแพร่หลายอยู่ทั่วไป คือ เมื่อเด็กชายอายุ ๑๐ ปีบริบูรณ์แล้วจะบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก็จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

พระราชอาณาจักรลาวมีเนื้อที่ ๒๓๖,๘๐๐ ตร.กม. ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ มีประชากร ๓,๔๕๐,๐๐๐ คน ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีวัด ๒,๑๐๘ วัด มีภิกษุสามเณร ๑๘,๒๒๔ รูป ในจํานวนนี้ประมาณร้อยละ ๘๑.๕ อายุระหว่าง ๑๐ ถึง ๒๕ ปี เฉพาะปี พ.ศ. ๒๕๑๕ นั้น มีผู้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ๘๒๒ รูป พระภิกษุลาสิกขา ๔๗๕ รูป มีผู้บรรพชาเป็นสามเณร ๑,๓๓๔ รูป สามเณรลาสิกขา ๗๗๑ รูป

อย่างไรก็ตาม ในด้านปัญหาพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรลาวก็มีสภาพที่น่าเป็นห่วงหลายอย่าง อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ กล่าวคือ แม้ว่าประชาชนทั่วไปจะยังมีศรัทธาหนักแน่นมั่นคงในพระศาสนาและคณะสงฆ์ การทําบุญให้ทาน รับศีล ฟังธรรม และเข้าวัดปฏิบัติธรรม ยังมีอยู่อย่างแพร่หลาย วัดและพระสงฆ์ได้รับการอุปถัมภ์บํารุงเป็นอย่างดี ชาวชนบทเชื่อฟังพระสงฆ์ยิ่งกว่าผู้ปกครองฝ่ายบ้านเมือง แต่ความเลื่อมใสและการแสดงศรัทธาเหล่านั้น โดยมากเป็นไปในรูปประเพณีและมีมากในคนรุ่นเก่า แต่ภาวะที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนกําลังเสื่อมลงไป ภิกษุสามเณรมักเป็นผู้บวชมาจากถิ่นชนบทที่ขาดการศึกษา บทบาทของพระสงฆ์ที่สัมพันธ์กับชุมชนเสื่อมถอยลง โดยมีครู แพทย์ พยาบาล ข้าราชการ ตลอดจนนักการเมืองเข้ามาเป็นผู้นําแทน ความเชื่อถือยําเกรงต่ออํานาจศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็ลดน้อยลง ในตัวเมืองการอุปถัมภ์บํารุงพระสงฆ์เบาบางลง

ได้มีพระสงฆ์ผู้นําบางรูปตื่นตัว คิดริเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มีบทบาทเป็นประโยชน์แก่สังคมมากขึ้น เช่น เข้าร่วมในโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น โดยเฉพาะท่านที่มีแนวความคิดและการดําเนินงานที่ได้ผล มีผู้สนใจมากท่านหนึ่งคือ พระมหาปาลอานนฺโท แห่งวัดพุทธวงศาป่าหลวง นครเวียงจันทน์ ท่านผู้นี้มีแนวความคิดยึดถือการปฏิบัติธรรม รักษาแก่นของพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด พร้อมไปกับดําเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมปัจจุบันด้วย ท่านเป็นนักเผยแผ่พร้อมกับเป็นนักกรรมฐาน ท่านมีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีในวงงานเผยแผ่ ทางราชการก็ถวายความยอมรับในเวลาเดียวกัน ท่านได้ตั้งสํานักกรรมฐานหลายแห่งทั้งในลาว และภาคอีสานของไทย ตั้งโรงเรียนอภิธรรม ตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กกําพร้าอนาถา ตั้งโรงเรียนอบรมศีลธรรมพุทธยุวชนลาว (อ.ศ.พ.) (คล้ายกับโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในประเทศไทย) ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๑๐ มีอยู่ในที่ต่างๆ ประมาณ ๑๓ แห่ง และมีวัดพุทธวงศาป่าหลวงเป็นศูนย์กลาง ตั้งพุทธสมาคมชื่อ “มหาพุทธวงศา” (พ.ศ. ๒๕๐๔) ยุวพุทธิกสมาคมชื่อ “พุทธยุวชนวงศาลาว” (พ.ศ.๒๕๐๖) ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีสาขา ๑๘ แห่ง และได้ออกวารสาร จัดพิมพ์หนังสือเผยแผ่ธรรมต่างๆ ด้วย

ส่วนพระสงฆ์ทั่วไปก็เอาใจใส่งานเผยแผ่และสงเคราะห์มากขึ้น บางรูปเดินทางเข้าไปในชนบทห่างไกล พักแรมอบรมสั่งสอนหลายๆ วัน ขากลับออกมาก็พาเด็กลูกชาวบ้านไปอยู่วัดเรียนหนังสือด้วย บางท่านก็ช่วยสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย วัดในเมืองก็สนใจเด็กในเมืองมากขึ้น ในการเผยแผ่ธรรมก็เน้นหลักธรรมเกี่ยวกับการบําเพ็ญประโยชน์มากขึ้น มีการร่วมมือกับกลุ่มศาสนาอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะกับพวกคาทอลิก ถึงกับมีกลุ่มศึกษาธรรมร่วมกันสนทนาธรรม และทําสมาธิภาวนาด้วยกันเป็นต้น ส่วนทางด้านรัฐบาลก็กําหนดให้วิชาศีลธรรมเป็นวิชาบังคับในโรงเรียน จัดรายการวิทยุเกี่ยวกับพุทธศาสนา ส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณคดีลาว และในคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ได้ตั้งโครงการพิมพ์พระไตรปิฎก ๘๐ เล่ม แต่ปรากฏว่าเมื่อพิมพ์ได้เพียง ๓ เล่ม ก็หยุดหายไป

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์บ้านเมืองของลาวได้ผันแปรต่อไปอีก และมีผลกระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ สงครามได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ เพราะรัฐบาลของเจ้ามหาชีวิตกับขบวนการประเทดลาวได้ลงนามในสัญญาหยุดยิง ต่อจากนั้นก็ได้ตั้งรัฐบาลผสมขึ้น แบ่งกระทรวงกันครอง และขีดเส้นแบ่งพื้นที่ของประเทศออกเป็น ๒ เขต แยกปกครองคนละเขต

ต่อจากนั้น อํานาจของขบวนการประเทดลาวก็เพิ่มมากขึ้นโดยลําดับ จนฝ่ายขวาสูญเสียที่นั่งทั้งหมดในคณะรัฐบาลผสม ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๗ เหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นโดยลําดับ จนถึงขั้นวิกฤติการณ์ ในปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๘ ขบวนการประเทดลาวก็กวาดล้างอํานาจของฝ่ายอื่นในรัฐบาลลงทั้งหมด พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของลาวทรงสละราชสมบัติในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ และนายกรัฐมนตรีลาว เจ้าสุวรรณภูมาก็ลาออกจากตําแหน่งเช่นเดียวกัน ขบวนการประเทดลาวจึงเข้าควบคุมการบริหารประเทศทั้งหมด ครั้นถึงวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๑๘ ก็ประกาศเปลี่ยนสภาพพระราชอาณาจักรลาวเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปกครองประเทศด้วยระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์สืบต่อไป

ระหว่างวิกฤติการณ์นี้และในเวลาต่อๆ มา นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและประชาชนจํานวนมาก ได้อพยพหนีออกไปลี้ภัยในต่างประเทศ มีประเทศไทยเป็นต้น บ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวายระส่ำระสาย กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาดูเหมือนจะหยุดชะงักลง และสภาพของพุทธศาสนาในลาวต่อจากนี้ เท่าที่เป็นข่าวเล็ดลอดออกมาถึงชาวพุทธในประเทศอื่นๆ ปรากฏเหมือนต้นไม้ใหญ่มีดอกใบสะพรั่งงาม ที่เขาปล่อยให้ยืนต้นอยู่เป็นอย่างดี เป็นแต่คอยดูแลระมัดระวังไว้ไม่ให้มีน้ำมาถึงได้ ไม่ว่าจากฟ้าหรือดิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป และเหตุการณ์บ้านเมืองค่อยสงบลงแล้ว ก็ได้มีชาวไทยทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เดินทางไปเยี่ยมเยียนและสังเกตสภาพบ้านเมืองของลาวเป็นครั้งคราว ส่วนทางฝ่ายลาวซึ่งได้ขาดการติดต่อทางด้านพระศาสนากับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ก็ได้มีคณะพระสงฆ์ลาวจํานวน ๗ รูป มีรองประธานพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาวเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยคฤหัสถ์ ๓ คน ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ถึง ๓ ธันวาคม ๒๕๓๐ โดยการอาราธนาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับโครงการสันติภาพเพื่อการพัฒนา และคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา คณะพระสงฆ์ลาวได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ได้ไปเยี่ยมชมและพบปะสนทนากับพระเถรานุเถระฝ่ายไทย ณ วัดและสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์หลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงหวังได้ว่าสภาวการณ์ที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คงจะเผยตัวให้ปรากฏแก่ชาวพุทธเพื่อนบ้านในประเทศไทยมากขึ้นตามลําดับ

โดยความเอื้อเฟื้อของเจ้าหน้าที่สถานทูตลาว ได้ทราบข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในลาวเมื่อสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ดังนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปัจจุบัน มีประชากร ๓,๘๐๐,๐๐๐ คน มีพระภิกษุสามเณร ๑๕,๖๓๔ รูป (แยกเป็นภิกษุ ๖,๐๐๐ รูป สามเณร ๙,๖๒๖ รูป) มีวัด ๒,๘๒๗ วัด (เฉพาะในนครเวียงจันทน์มี ๑,๒๑๒ วัด) ประมุขสงฆ์เรียกว่า ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาว มหาวิทยาลัยดงโดก ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยสร้างครู

หนังสือและเอกสารประกอบ

จํานงค์ ทองประเสริฐ. ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในเอเซียอาคเนย์. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, พ.ศ. ๒๕๑๔.

ประยุทธ์ ปยุตฺโต. พระมหา. ข้อมูล ข้อสังเกต และความคิดเห็นที่ได้จากการเยี่ยมเยียนพระราชอาณาจักรลาว, พ.ศ. ๒๕๑๐. (โรเนียว)

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๒๑), “เชียงขวาง”, “เซ่า”, “ไทย”.

เสฐียรโกเศศ. เรื่องของชาติไทย. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์บรรณาคาร, พ.ศ. ๒๕๑๕.

Hall, D.G.E. A History of Southeast Asia. New York: St. Martin's Press, 1970.

Zago, Marcello, “Buddhism in Contemporary Laos”. In Buddhism in the Modern World. Edited by Heinrich Dumoulin and John C. Maraldo, New York: Macmillan Publishing Co., Inc., 1976.

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.