แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เมื่อจิตสำนึกในการศึกษาเกิดขึ้น แม้แต่ความยากก็กลายเป็นความสุข

แต่เพียงเท่านี้ยังไม่หมด สิ่งที่จะทำให้เด็กมีความสุขยิ่งขึ้นในการศึกษาก็คือจิตสำนึกในการศึกษา เรื่องนี้ต่อเนื่องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน ต้องพัฒนา เมื่อเรามีความสำนึกอยู่ในธรรมชาติของคนว่าเป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ถ้าไม่ศึกษาจะไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงามได้ เมื่อเรารู้ตระหนักว่า มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ ต้องมีชีวิตแห่งการเรียนรู้ เราก็สร้างให้เป็นจิตสำนึกในการฝึกตน หรือจิตสำนึกในการศึกษานี้ให้เกิดมีขึ้น

เมื่อมีจิตสำนึกนี้แล้วก็จะได้ผลซ้อนขึ้นมา คือ ความสุขจากการศึกษาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นแล้วจะเป็นตัวหนุนให้การศึกษาได้ผลพัฒนาคนทางการศึกษายิ่งขึ้นไปอีก เด็กที่ได้รับการฝึกอย่างนี้จะมองว่าประสบการณ์และสถานการณ์ทุกอย่างที่เขาประสบเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้

เด็กมีการมอง ๒ แบบ คือ เมื่อเด็กพบประสบการณ์หรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง พวกหนึ่งจะมีความต้องการที่จะได้ความสุขจากสถานการณ์นั้น ว่าทำอย่างไรเขาถึงจะได้ความสนุก ความสุข ความสบาย เรียกว่า มองเชิงเสพ แต่เด็กที่มีการศึกษาจะมีความต้องการได้ความรู้จากประสบการณ์หรือสถานการณ์นั้น เขาจะมองในแง่เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ เรียกว่า มองเชิงศึกษา

สำหรับเด็กที่มองเชิงเสพ เขาจะอยู่ที่จุดเสี่ยงระหว่างได้กับเสีย คือถ้าเจอสิ่งที่สบายชอบใจ ก็สุข ถ้าเจอสิ่งไม่สบายไม่ชอบใจก็ทุกข์ แต่เด็กที่มองเชิงศึกษาจะมีแต่ “ได้” จากทุกประสบการณ์และทุกสถานการณ์ พอมองเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ ก็จะรู้สึกว่าจะได้ทั้งนั้น ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะสบายหรือไม่สบายก็ตาม ถ้าคนเราไม่มีจิตสำนึกนี้ เขาต้องการเจอเฉพาะสถานการณ์ที่สบายหรือชอบใจเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่เอา และเมื่อต้องประสบกับสถานการณ์ที่ไม่สบายก็ทุกข์ทันที

เมื่อเด็กมีจิตสำนึกในการศึกษาหรือในการฝึกตนขึ้นมา เขาจะมองสถานการณ์นั้นเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ เขาจึง “ได้” จากทุกสถานการณ์ สถานการณ์นั้นจะสบายหรือไม่สบายก็คือโอกาสที่จะเรียนรู้ทั้งนั้น พอได้เรียนรู้เขาก็มีความสุข เพราะได้สนองความต้องการที่จะเรียนรู้ ไม่ว่าจะเผชิญอะไรก็ตามเขาจะรู้สึกว่าเขาจะได้เรียนรู้ เขาจึง “ได้” ทุกที เด็กพวกนี้จะไม่กลัวบทเรียน ไม่กลัวงานแม้แต่ที่ยาก ถ้าเราฝึกไปถึงระดับหนึ่งก็จะถึงจุดที่รู้สึกว่า “ยิ่งยากยิ่งได้มาก” ซึ่งเป็นธรรมชาติหรือเป็นความจริงตามธรรมดา

ถ้าเราเจอสถานการณ์อะไรที่ง่าย ไม่ต้องทำอะไร เราก็ไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้พัฒนาตัวเอง แต่อะไรที่ยาก เราต้องฝึกฝนมาก เราก็ได้พัฒนามาก เช่น ถ้าเราไม่เจอปัญหาเราก็ไม่ได้เรียนรู้ไม่ได้พัฒนาอะไรขึ้นมา แต่เมื่อเราเจอปัญหาเราก็เริ่มคิดหาทางออก หาทางแก้ไข ทันทีที่การคิดอย่างนั้นเริ่มต้นเราก็เริ่มพัฒนาตัวเรา พอเราคิดไป หาทางออกไป เราก็พัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาและพัฒนาปัญญาขึ้นมา เราก็ได้ปัญญามากขึ้นจนกระทั่งแก้ปัญหาได้

เมื่อเราสามารถแก้ปัญหาได้ก็คือปัญญามาโดยสมบูรณ์นั่นเอง จึงพูดได้ว่า ปัญหามาปัญญายังไม่มี แต่พอปัญญามาปัญหาก็หมด เพราะฉะนั้นนักเรียนรู้ที่แท้คือผู้มีจิตสำนึกในการศึกษาจะมองปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา คือ มองปัญหาเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาปัญญานั่นเอง แล้วเราก็เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา พอเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาได้สำเร็จ เราก็ได้พัฒนาอย่างมาก และก็เป็นไปตามหลักที่ว่าอะไรที่ยากเรายิ่งได้มาก ถ้าไม่ยากเราก็ไม่ได้อะไรมาก คือไม่ได้ฝึกตนมาก เพราะฉะนั้นยิ่งยากยิ่งได้มาก เด็กที่มีจิตสำนึกในการศึกษาจึงไม่กลัวบทเรียนยาก และไม่กลัวงานยาก แต่กลับชอบเพราะมองเป็นโอกาสที่จะได้ทั้งนั้น ถ้าเราสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นมาได้ เด็กก็จะมีความสุขได้ง่ายและมีทุกข์ได้ยากแน่ๆ ไม่มีปัญหาเลย

ทำอย่างไรจะให้เด็กมีจิตสำนึกในการศึกษา นี้คือต้นทางของการศึกษา ถ้าไม่สามารถสร้างจิตสำนึกในการศึกษาหรือการฝึกตนขึ้นมา การศึกษาจะฝืด และเด็กจะไม่สามารถมีความสุขอย่างแท้จริงในการศึกษาด้วย ในตอนแรกๆ แม้แต่มีขึ้นมานิดหนึ่ง เขาก็เรียนอย่างมีความสุข แต่ถ้าเราสามารถพัฒนาจิตสำนึกนั้นจนกระทั่งเด็กแข็งกล้าอย่างที่ว่า แข็งกล้าจนกระทั่งเด็กเห็นว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก ตอนนี้ทันทีที่เขาเจอสิ่งที่ยาก แทนที่จะทุกข์เขากลับมีความสุข เขารู้สึกว่าเขาจะได้ เขาก็เต็มใจพอใจ เขาจึงตั้งใจ เมื่อตั้งใจทำก็ทำได้ผลด้วยและมีความสุข เพราะฉะนั้นจึงย้ำบ่อยๆ ว่างานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข แต่เด็กที่ไม่มีจิตสำนึกในการศึกษา พอเจออะไรที่จะต้องทำก็ทุกข์ทันที พอทุกข์ก็ระย่อท้อถอย พอถอยจิตใจก็ไม่สบาย เสียสุขภาพจิตด้วย และทำไม่ได้ผลด้วย เสียทั้งสองอย่าง ต้นทางของการศึกษาก็อยู่ตรงนี้ และที่ว่ามานี้ก็เป็นตัวอย่าง

เป็นอันว่า เด็กที่เราช่วยให้พัฒนาตัวขึ้นมาอย่างถูกต้อง โดยมีการศึกษาที่ถูกต้อง จะเก็บความรู้จากทุกอย่างที่ขวางหน้า และมองว่าการเจอปัญหาเป็นโอกาสสร้างปัญญาหรือเจอปัญหาคือโอกาสที่จะพัฒนา
เรื่องความสุขยังไม่จบเท่านี้ ปัจจัยที่จะทำให้มีความสุขไม่ใช่แค่นี้ เรายังมีทางพัฒนาความสุขต่อไปอีก และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง จึงจะหันกลับมาอีกทีถ้ามีเวลา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.