แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความสุขยิ่งเพิ่ม และการศึกษายิ่งก้าว เมื่อเด็กมีความใฝ่สร้างสรรค์

ยิ่งกว่านั้น ยังมีความสุขจากการทำ การสนองความต้องการที่จะทำ หรือความต้องการสร้างสรรค์ คนเราต้องการสร้างสรรค์เมื่อมีการศึกษาเกิดขึ้น หมายความว่า เมื่อมีการศึกษาก็จะเป็นการฝึกคนให้มีความใฝ่สิ่งหนึ่งคือ ต้องการที่จะทำอะไรให้ดี ความต้องการเสพมีเป็นธรรมดา แต่เราสามารถฝึกให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นความต้องการที่เราฝึกได้ คือความต้องการให้ทุกสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องหรือประสบนั้นดี เข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็ตามเราอยากจะให้สิ่งนั้นดีหมด เราอยู่ในที่นี้เราก็อยากให้ที่นี้สะอาดเรียบร้อยสวยงาม เราไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น เราไปสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ก็อยากให้คนอื่นเขามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อยากให้เขามีความสุข การที่อยากให้เกิดความดี อยากให้สิ่งนั้นดีขึ้นมานี้เป็นสิ่งที่ฝึกได้ เป็นความอยากอีกชนิดหนึ่ง

เมื่อสร้างความอยากนี้ขึ้นมาได้ พออยากให้สิ่งนั้นดี ก็อยากจะทำให้มันดี พออยากทำให้มันดีก็เกิดความต้องการที่ต้องสนอง เมื่อพยายามทำให้มันดีก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นความใฝ่สร้างสรรค์ก็เกิดขึ้น สิ่งที่คู่กับความใฝ่รู้ก็คือ ความใฝ่สร้างสรรค์ พอเด็กเกิดความใฝ่สร้างสรรค์อยากจะทำแล้ว เขาก็จะมีความสุขจากการกระทำและจากการสร้างสรรค์นั้น นี้คือสิ่งหนึ่งที่เราต้องการ ซึ่งจะเป็นความสุขในการเรียนรู้อย่างแท้จริง และเรียนรู้อย่างมีความสุข

ถ้าเราไม่สามารถสร้างความอยากหรือความต้องการใหม่ที่ว่ามานี้ เด็กจะไม่สามารถมีความสุขจากการเรียนรู้ได้เลย เด็กก็จะต้องแสวงหาแต่สิ่งที่จะทำให้เขาสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้บทบาทของครูก็จะต้องเป็นผู้คอยตามใจและเอาใจเด็ก เมื่อเอาใจกันอยู่ร่ำไปก็จะทำให้เด็กอ่อนแอลงเรื่อยๆ การศึกษาจะไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาที่ผิดพลาด

อเมริกาก็มีแนวโน้มที่จะพลาดในเรื่องนี้ด้วย นั่นคือ การศึกษาจะไปสู่ระดับหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องของการมุ่งเน้นและพยายามที่จะทำบทเรียนให้สนุกสนาน ทำกิจกรรมให้สนุกอย่างเลยเถิด จนกระทั่งกลายเป็นการเอาใจเด็กไป เมื่อเอาใจเด็กไปครูก็มัวสาละวนกับการที่จะทำบทเรียนและทำกิจกรรมให้สนุก เด็กไม่ชอบก็ไม่เรียน ไม่เอาทั้งนั้น เด็กเองก็อ่อนแอลง ครูก็แย่ลง การศึกษาก็ไม่ได้ผล ในทางตรงข้าม ในบางประเทศจะให้เด็กสู้สิ่งที่ยาก ให้สู้บทเรียนที่ยาก เด็กก็เข้มแข็งอดทนและประสบความสำเร็จในการศึกษา

แต่เราจะไม่ไปสุดโต่งทั้งสองอย่างนั้น เราต้องใช้ทั้งสองอย่าง อย่างรู้เท่าทัน คือ ทั้งทำบทเรียนกิจกรรมให้น่าสนใจ และทำให้เด็กมีใจสู้บทเรียนและกิจกรรม การทำบทเรียนและกิจกรรมให้น่าสนใจเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ บางทีอาจจะถึงกับต้องให้สนุกสนาน แต่เป็นเพียงวิธีการที่จะมาช่วยเอื้อในการที่จะให้เด็กเข้าถึงเป้าหมายที่เราต้องการ คือกระตุ้นให้เขาเกิดความใฝ่รู้ขึ้นมา (อาศัยตัณหาละตัณหา หรือใช้ตัณหาเป็นสื่อส่งต่อสู่ฉันทะ) ถ้าเขาไม่เกิดความใฝ่รู้ ไม่เกิดความใฝ่สร้างสรรค์หรือใฝ่ทำแล้ว การเรียนที่แท้และการมีความสุขที่ถูกทางจะไม่เกิดขึ้น เด็กจะติดอยู่แค่อยากเสพรสความสนุกที่เป็นตัณหา เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้เกิดความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้ให้ได้

เกณฑ์ตัดสินอยู่ที่ไหน? ในการศึกษาที่แท้ การเรียนรู้จะต้องเกิดมีและพัฒนาขึ้นในตัวคน และการเรียนรู้ก็พัฒนาไปด้วยการสนองความใฝ่รู้ เราจึงต้องทำให้เกิดกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ คือ ทำให้การเรียนรู้เป็นการสนองความต้องการที่จะรู้ ถ้าเรามุ่งแต่จะทำบทเรียนและกิจกรรมให้สนุกสนานโดยไม่แยบคาย แทนที่เด็กจะเกิดความใฝ่รู้ เด็กอาจจะเขวออกไปและเกิดความใฝ่เสพต่อความสนุกสนานนั้นแทน ก็จะได้ผลตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นถ้าจะทำกิจกรรมและบทเรียนให้สนุกสนาน ก็ต้องให้เป็นสะพานเชื่อมไปสู่ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ให้ได้

ที่จริงความใฝ่สร้างสรรค์ก็เกิดไม่ยาก เพราะมนุษย์มีศักยภาพในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ความใฝ่รู้ก็สร้างได้ ความใฝ่ดีก็สร้างได้ อย่างที่บอกว่าไม่ว่าไปอยู่ที่ไหน ไปทำอะไร เกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้ดีไปหมด ถ้ามีความอยากตัวนี้ คืออยากให้มันดี ความต้องการทำให้มันดีก็เกิดขึ้น เมื่อต้องการทำให้ดี ก็เกิดความใฝ่สร้างสรรค์ขึ้นมาแล้วเขาก็จะต้องสนองความต้องการหรือความใฝ่นั้น เมื่อเขาทำอะไรเขาก็จะทำด้วยความสุข

อย่างเช่นในเรื่องคอมพิวเตอร์ก็มีการใช้ ๒ แบบ คือ ใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพ กับใช้เทคโนโลยีเพื่อหาความรู้ และเพื่อทำการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คอมพิวเตอร์นี้ถ้าเรามีความใฝ่รู้ เราก็สามารถใช้หาความรู้ได้มาก ถ้าเรามีความใฝ่สร้างสรรค์ เราก็สามารถคิดอะไรต่างๆ ทำการสร้างสรรค์แก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่ถ้าเด็กของเราไม่เกิดความใฝ่รู้ และไม่เกิดความใฝ่สร้างสรรค์ เขาก็ใช้คอมพิวเตอร์หาความสนุกสนานอย่างเดียว เช่น เอาแต่เล่นเกมส์ เรียกว่าใช้เพื่อเสพเท่านั้น ถ้าอย่างนี้การศึกษาก็ไม่ได้ผลแน่นอน แต่จะเสื่อมจากการศึกษา จึงจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของการเรียนรู้ด้วยความสุข หรือมีความสุขในการเรียนรู้
ถึงตอนนี้ควรจะสรุปเรื่องความสุข ๒ ประเภทไว้อีกครั้งหนึ่ง

ความสุขประเภทที่หนึ่ง ที่ไม่ต้องอาศัยการศึกษา และไม่เอื้อต่อการศึกษา คือความสุขจากการเสพ หรือความสุขจากการสนองความใฝ่เสพ

ความสุขประเภทนี้มีลักษณะที่ต้องพึ่งพาหรือขึ้นต่อวัตถุหรือปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสิ่งเสพบริโภคต่างๆ จึงเป็นความสุขแบบที่ต้องแย่งชิง ทำให้เกิดการเบียดเบียนกันในสังคม และทำลายหรือก่อความเสื่อมโทรมแก่สิ่งแวดล้อม นอกจากไม่เอื้อต่อการศึกษา และไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์แล้ว ก็ยังขัดขวางการศึกษาด้วย เพราะเป็นความสุขเชิงเสพ ที่จะต้องได้รับการบำรุงปรนเปรอหรือสุขจากการที่ไม่ต้องทำอะไร จึงทำให้มีท่าทีต่อการเรียนรู้และการกระทำสร้าง สรรค์ต่างๆ ในเชิงจำใจ ฝืนใจ เป็นทุกข์ การหาความสุขประเภทนี้ของมนุษย์จึงเป็นภาระแก่สังคมในการที่จะต้องดำเนินการควบคุมด้วยมาตรการต่างๆ มากมาย

ความสุขประเภทที่สอง ที่เกิดจากการศึกษา และเป็นปัจจัยเอื้อต่อกันกับการศึกษา คือความสุขจากการเรียนรู้และการทำให้ดี หรือความสุขจากการสนองความใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์

ความสุขประเภทนี้มีลักษณะที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก แต่เป็นความสุขภายในอย่างเป็นอิสระของบุคคล จึงไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่เกื้อหนุนการอยู่ร่วมกันด้วยดี และเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม แต่ลักษณะที่เด่นก็คือความเป็นปัจจัยต่อกันกับการศึกษาและการสร้างสรรค์ เพราะจะสุขได้ก็เพราะได้สนองความต้องการที่จะเรียนรู้และทำให้ดี เพราะฉะนั้นยิ่งได้เรียนรู้และได้ทำให้ดีก็ยิ่งมีความสุข และยิ่งสุขก็ยิ่งศึกษาและยิ่งสร้างสรรค์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.