แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาที่ถูกต้องทำให้เกิดดุลยภาพในการพัฒนา
ระหว่างความสามารถหาสิ่งบำเรอสุข กับความสามารถที่จะมีความสุข

ทีนี้ขอหวนกลับมาเรื่องความสุขอีกครั้งหนึ่ง ความสุขนั้นเกี่ยวข้องกับการศึกษาไปโดยตลอด และยิ่งพัฒนาในการศึกษาไปก็ยิ่งสุขได้มาก และยิ่งมีช่องทางที่จะมีความสุขได้หลายทางมากขึ้น และจะเป็นความสุขที่เอื้อต่อการศึกษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเป็นความสุขที่เกื้อหนุนชีวิตและสังคม ไม่เป็นพิษภัยแก่ใครๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าการศึกษาถูกต้องก็จะยิ่งทำให้คนมีความสุขมากขึ้น และมีช่องทางที่จะมีความสุขได้หลายทางมากขึ้น เรียกว่า ขยายมิติแห่งความสุข และความสุขนั้นจะเป็นความสุขที่เอื้อต่อการศึกษาด้วย ไม่ใช่มาขัดขวางทำลายการศึกษา

ได้พูดไปแล้วถึงความสุขจากการเรียนรู้ ความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ ความสุขจากการสนองความใฝ่สร้างสรรค์ ความสุขจากการกระทำ ความสุขจากจิตสำนึกในการศึกษาหรือจิตสำนึกในการฝึกตน ซึ่งทำให้สุขได้อย่างมากอยู่แล้ว เท่านี้ก็พออยู่แล้ว แต่เรายังมีทางที่ทำให้คนมีความสุขอีกมาก

การศึกษาเกี่ยวข้องกับความสุขอีกอย่างหนึ่งในความหมายว่า เมื่อคนพัฒนามากขึ้น เขาจะอยู่ในโลกนี้โดยมีความสามารถที่จะมีความสุขมากขึ้น อย่างน้อยการศึกษาจะต้องช่วยให้คนมีดุลยภาพในแง่ความสุขสองอย่าง คือ

  1. การศึกษาพัฒนาคนให้มีความสามารถที่จะหาสิ่งอำนวยความสุขได้เก่งขึ้น
  2. การศึกษาพัฒนาคนให้มีความสามารถที่จะมีความสุขมากขึ้น

การศึกษาที่เสียดุลจะพัฒนาความสุขอย่างที่หนึ่งข้างเดียว คือพัฒนาความสามารถที่จะหาวัตถุบำเรอความสุข แต่ไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อเกิดความเสียดุลแล้วบุคคลนั้นจะมีลักษณะอย่างที่ว่า เมื่ออยู่ไปในโลกนานๆ เข้าก็กลายเป็นคนที่สุขได้ยาก ถ้าคนพัฒนาถูกต้องเขาจะเป็นคนที่สุขได้ง่าย ถ้าเป็นการศึกษาที่แท้จะต้องช่วยคนให้สุขได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะเป็นไปในทางตรงข้าม คือการศึกษาทำให้คนเป็นคนที่สุขได้ยากและทุกข์ได้ง่าย ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าพลาดแล้ว อย่างน้อยก็ทำให้คนเสียดุล ทีนี้จะทำอย่างไร ก็ต้องพัฒนาคนให้ถูกต้อง มีวิธีมากที่จะทำให้คนสุขง่ายขึ้น
การที่จะสุขได้ง่ายขึ้น ก็คือสุขนั้นจะต้องมีในตัวเองมากขึ้นและขึ้นต่อการเสพวัตถุน้อยลง คนสุขยากขึ้นเมื่อความสุขนั้นมีในตัวน้อยลง และต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกมากขึ้น เมื่อคนพัฒนาไม่ถูก เขาต้องหาสิ่งเสพมากขึ้นเพื่อให้ได้ความสุขเท่าเดิม แต่คนที่พัฒนาถูกต้อง จะสุขมากขึ้นด้วยวัตถุเท่าเดิม หรือถ้าเก่งจริงก็สุขง่ายด้วยวัตถุที่น้อยที่สุด

การสุขง่ายด้วยวัตถุที่น้อยที่สุดนี้ เรียกง่ายๆ ว่า สันโดษ แต่ต้องระวังอาจจะพลาดได้อีก สุขง่ายด้วยวัตถุน้อยที่สุดนี้เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างหนึ่ง เราต้องทำคนให้สุขง่ายด้วยวัตถุที่น้อยลง แต่ยังไม่จบเท่านั้น เพราะความสุขนั้นไม่เป็น end แต่มันเป็น means คือมันเป็นตัวเอื้อต่อการศึกษา เพื่อช่วยให้การศึกษาเดินหน้าต่อไป มันไม่ใช่จุดหมายของการศึกษา

ในด้านความสุขที่สัมพันธ์กับวัตถุ เมื่อเราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย ก็เรียกว่าสันโดษ พอสันโดษแล้วอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่คนนั้นจะได้มาด้วยทันที ก็คือการสงวนเวลา แรงงาน และความคิด

คนที่ความสุขขึ้นอยู่กับการเสพวัตถุ เขาจะต้องโลดแล่นหาวัตถุมาเสพ เพราะฉะนั้นเขาจะต้องใช้เวลา แรงงาน และความคิดให้หมดเปลืองไปกับเรื่องนี้ เมื่อเขาหมดเวลาไปกับการโลดแล่นหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุขพร้อมทั้งแรงงานและความคิดก็ใช้หมดไป เขาก็ไม่มีเวลา แรงงาน และความคิดที่จะเอามาใช้ทำการสร้างสรรค์ หน้าที่การงานจึงเสื่อมเสีย บางทีต้องทุจริต

แต่ถ้าเขาสันโดษ คือสุขได้ง่ายด้วยวัตถุน้อยที่สุด เขาไม่ต้องสูญเสียเวลา แรงงาน และความคิดไปกับการที่มัวโลดแล่นหาสิ่งเหล่านี้ เขาก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไว้ได้ แล้วเอาเวลาแรงงานและความคิดนั้นมาทุ่มให้กับการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม รวมทั้งการทำหน้าที่การงาน ที่จะสนองความใฝ่รู้ใฝ่ดี และใฝ่สร้างสรรค์ ตอนนี้การศึกษาก็เดินหน้า

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ว่า ให้สันโดษในสิ่งเสพ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม หลักการนี้ชัดมาก แต่เรามักจะพูดครึ่งเดียว ซึ่งเป็นการเสียหลักการอย่างมาก ถ้าสันโดษในวัตถุแล้วมีความสุขและจบแค่นั้น ก็กลายเป็นคนขี้เกียจ บางคนพูดว่าสันโดษเพื่อจะได้มีความสุข ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เกิดการศึกษา สุขกลายเป็น end ไปแล้ว คือกลายเป็นจุดหมาย ถ้าอย่างนี้ก็ตันอยู่ที่นั่น พอสันโดษแล้วสุข สุขแล้วก็ขี้เกียจลงนอนเลย

ท่านให้สันโดษเพื่ออะไร องค์ธรรมทุกข้ออยู่ในกระบวนการสิกขาที่จะทำให้คนพัฒนาทั้งนั้น ต้องมองธรรมะอย่างนี้ทุกข้อ ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการคืบเคลื่อนไปข้างหน้า มันจะต้องมาสนับสนุนเป็นปัจจัยในการเดินหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง

สันโดษท่านสอนไว้ก็เพื่อให้ได้วัตถุประสงค์ข้อนี้ คือ เพื่อจะได้สงวนเวลา แรงงาน และความคิดเอาไว้ พอเราสันโดษ เรามีความสุขได้ง่ายด้วยวัตถุน้อยที่สุด เราก็มีเวลาเหลือเฟือ แรงงานและความคิดของเราก็มีเต็มที่ เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาทุ่มเทให้กับการทำการสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่เรียกว่า กุศลธรรม ก็ได้ผลพร้อมกันตามหลักทั้งสองประการ และความสันโดษและไม่สันโดษก็มาสนับสนุนกัน คือสันโดษในสิ่งเสพมาทำให้เราไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ การพัฒนาก็เดินหน้าทั้งในสังคมและในตัวคน ทีนี้ก็สุขสองชั้น

คนที่ไม่สันโดษจะสุขยาก ด้วยวัตถุที่ต้องเพิ่มเรื่อยไป และไม่ถึงสุขนั้นสักที คือสุขนั้นมันยังไม่ถึง เพราะต้องสนองด้วยวัตถุที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งยังไม่ได้ เมื่อความสุขอยู่กับวัตถุที่ยังไม่ได้ แม้แต่ความสุขจากวัตถุเขาก็ยังไม่ได้ พร้อมกันนั้น เวลาทำงานทำการสร้างสรรค์กุศลธรรมหรือทำสิ่งที่ดีงาม กลายเป็นเวลาแห่งความทุกข์ เพราะฝืนใจที่จะต้องไปทำการสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงามทำกิจหน้าที่ที่ตนไม่มีฉันทะ หนึ่ง สุขจากวัตถุก็ยังไม่ได้ สอง ยังไปทุกข์จากการต้องทำงานอีก

ส่วนคนที่สันโดษได้สุขทั้งสองฝ่ายและได้เต็มที่ด้วย หนึ่ง สุขจากวัตถุสุขก็มีแล้ว สอง ยังไปสุขในการทำงานอีก เพราะตัวเองมีความใฝ่สร้างสรรค์ และมีความต้องการที่จะทำ ยิ่งมีความไม่สันโดษในกุศลธรรมด้วย เวลาได้ทำงานทำการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ก็มีความสุขตลอดเวลาในการสร้างสรรค์นั้น จึงสุขสองชั้น ฉะนั้นการศึกษาที่ถูกต้องจะทำให้คนยิ่งมีความสุข และความสุขนั้นก็มาหนุนการศึกษายิ่งๆ ขึ้นไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.