แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษา กับ อารยธรรม

การปฏิรูปการศึกษา นั้นเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อสักครู่ได้ฟังจากท่านอธิบดีว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังเน้นมาก แต่ในเวลาที่สั้นนี้คงพูดโดยตรงให้หมดไม่ได้ จึงคงจะพูดในทำนอง “แง่คิดและข้อสังเกต” และก็เป็นแง่คิดและข้อสังเกตในแง่เนื้อหาสาระ อาจจะเน้นในเรื่องเกี่ยวกับหลักสูตร หรือการจัดการด้านหลักสูตร คงจะไม่ออกไปในด้านการบริหาร เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทุกอย่างสัมพันธ์กัน

ตอนแรกคำว่า “ปฏิรูป” เป็นคำที่น่าศึกษา ปฏิรูปนั้นมีความหมาย ๒ อย่าง คือ

๑. ทำให้กลับเข้ารูปเดิม เพราะคำว่า “ปฏิ” ก็คือ กลับไปเป็นอย่างเก่า หรือกลับเข้าที่ ส่วน “รูป” ก็คือ รูปแบบ เมื่อรวมเป็น “ปฏิรูป” จึงแปลว่า ปรับรูป หรือปรับให้กลับเข้าที่ คืออาจจะเกิดความเคลื่อนคลาดออกไป ก็ทำให้เข้ารูปเดิมที่ถูกต้อง

๒. ทำให้เหมาะสม หมายความว่าปรับแก้ให้เหมาะกับสภาพที่เป็นอยู่ เพื่อให้ได้ผลดีตามวัตถุประสงค์

การปฏิรูปในที่นี้อาจจะมีความหมายได้ทั้ง ๒ อย่าง คือในบางกรณีก็เป็นความหมายแรก บางกรณีก็เป็นความหมายที่ ๒

ปัจจุบันนี้เรามักพยายามปรับอะไรต่างๆ ให้เหมาะกับสภาพของโลกที่มีความเจริญ ที่เราเรียกว่ามีอารยธรรม อารยธรรมของมนุษย์ได้ก้าวมาไกลมากแล้ว ดังที่ได้เกิดผลการสร้างสรรค์ต่างๆ ของมนุษยชาติมากมาย โดยเฉพาะที่เด่นชัดก็คือ เรื่องของเทคโนโลยี เวลานี้เราต้องการการศึกษาที่จะสร้างคนมาสืบต่องานสร้างสรรค์อารยธรรม ถ้าอารยธรรมดีอยู่แล้ว ก็มุ่งให้สืบต่อและเสริม แต่ถ้ามีความผิดพลาดก็อาจจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง เพราะวัฒนธรรมและอารยธรรมมิใช่จะต้องได้รับการยอมรับว่าถูกต้องเสมอไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องคงไม่ใช่เพียงว่าเมื่อให้คนได้รับการศึกษาแล้วจะสามารถสร้างสรรค์อารยธรรมได้ สิ่งหนึ่งที่น่าคำนึงคือ บางทีถ้าให้การศึกษาผิดพลาด อย่าว่าแต่จะสามารถสร้างสรรค์ต่อไปเลย แม้แต่อารยธรรมที่มีอยู่แล้วมนุษย์ก็ไม่สามารถได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้จากอารยธรรมนั้น ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษ และถ้าหนักกว่านั้นอาจจะถึงกับทำลายอารยธรรมนั้นเสียก็ได้

ทางที่จะเกิดความผิดพลาดเมื่ออารยธรรมเจริญขึ้นแล้วนั้นมีหลายทาง นอกจากเรื่องที่อารยธรรมที่สืบกันมาจะผิดพลาดเองแล้ว ตัวมนุษย์ที่เกิดภายหลังท่ามกลางอารยธรรมก็อาจจะทำการผิดพลาดนำอารยธรรมไปสู่ความเสื่อมหรือความพินาศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์ คนเก่าสร้างอารยธรรมไว้ พอมาถึงยุคหนึ่งอารยธรรมก็ถูกทำลาย ด้วยเหตุปัจจัยภายนอกบ้าง ด้วยเหตุปัจจัยภายในบ้าง หลายกรณีก่อนที่คนภายนอกจะมาทำลาย คนภายในได้ทำลายแล้ว เช่น เมื่ออารยธรรมโรมัน เป็นต้น ถูกทำลาย เราก็มองว่าถูกทำลายโดยพวกบาร์เบเรียน แต่ที่จริงก่อนที่พวกอนารยชนหรือพวกป่าเถื่อนจะทำลายนั้น พวกโรมันเองได้เป็นผู้ทำลายโดยตรงบ้างแล้วด้วยความมัวเมา เป็นต้น แล้วก็เสื่อมลง

นอกจากนั้น สิ่งที่เรียกว่าอารยธรรมนั้นเองบางอย่างก็เป็นความเจริญที่แท้ที่สืบเนื่องต่อมา แต่บางอย่างก็อาจเป็นความผิดพลาด เมื่อมาถึงปัจจุบันก็เกิดความสงสัยกันว่าถูกต้องหรือเปล่า เช่นเวลานี้อารยธรรมตะวันตกทั้งหมดก็ถูกตั้งข้อสงสัยโดยพวกฝรั่งเอง แม้จะมีเสียงยืนยันจากสังคมที่เรียกว่าพัฒนาแล้วว่าอารยธรรมนี้เป็นอารยธรรมที่ถูกต้อง แต่ก็น่าจะตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นอารยธรรมจริงก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ แต่อารยธรรมปัจจุบันนี้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ หรือว่าจะเป็นไปเพื่อทุกข์เพื่อความพินาศในบั้นปลาย เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาทั้งนั้น

เรื่องอาจกลายเป็นว่า ที่จริงนั้นอารยธรรมไม่ใช่จุดหมายที่แท้ของการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ อารยธรรมอาจจะเป็นสภาพแวดล้อมหรือปัจจัยเกื้อหนุนที่เราพยายามสร้างขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายบางอย่าง โดยที่ตัวมันเองไม่ใช่จุดหมาย เราอาจจะเข้าใจผิดว่าอารยธรรมนี้เป็นจุดหมาย แต่แท้ที่จริงอารยธรรมนั้นอาจจะช่วยให้มนุษย์ได้สิ่งดีงามประเสริฐที่เขาควรจะได้ หรืออาจจะทำให้เขาพลาดไปจากสิ่งที่ดีงามประเสริฐที่เขาพึงได้ก็ได้ อารยธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยังเป็นปัญหา

อย่างไรก็ตาม อารยธรรมที่สร้างกันมานั้น ถึงแม้เมื่อมองโดยภาพรวม ถ้าหากว่าผิดพลาดจริง ก็ยังมีส่วนที่เป็นประโยชน์อยู่มาก อย่างที่เราพูดกันเวลานี้ว่าความเจริญทางด้านวัตถุหรือทางเศรษฐกิจผิดพลาด กลายเป็นเหตุแห่งการทำลายธรรมชาติ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเจริญทางด้านวัตถุหรือทางเศรษฐกิจนั้นจะไม่มีประโยชน์เสียเลย เป็นแต่เพียงว่า มันไม่พอดี เอียงข้าง หรือเสียดุล คือเป็นการพัฒนาที่ขาดองค์ประกอบอื่น จึงเกินพอดีไปข้างเดียว ทำให้ไม่ได้ประโยชน์สมบูรณ์

เวลานี้ที่เราพูดว่าการพัฒนาไม่ยั่งยืน เพราะมัวเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งความเจริญทางวัตถุ ไม่ได้หมายความว่าความเจริญทางด้านวัตถุไม่มีประโยชน์ เป็นแต่เพียงว่าจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรจึงจะถูกต้อง เช่น มองว่าความเจริญทางด้านวัตถุหรือทางเศรษฐกิจนั้นมีขอบเขตของการให้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์แค่ไหนเพียงไร การวางท่าทีที่ถูกต้องด้วยความรู้ความเข้าใจโดยมีปัญญาที่ชัดเจนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่เมื่อสักครู่ได้พูดย้ำอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากการศึกษาไม่ถูกต้อง อย่าว่าแต่จะให้คนสามารถสร้างสรรค์อารยธรรมสืบต่อไปเลย การศึกษานั้นอาจจะทำให้เขาไม่สามารถแม้แต่จะได้ประโยชน์จากอารยธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์มาแล้ว และถ้าหากอารยธรรมนั้นไม่สมบูรณ์ ยังมีผิดพลาด และเราต้องการให้เขามาแก้ไขให้ถูกต้อง เขาก็ทำไม่ได้ และร้ายกว่านั้นก็คือ แม้แต่ส่วนที่ดีที่มีอยู่เขาก็อาจจะทำลายเสีย อันนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้อารยธรรมนั้นเป็นหมันไป

เพราะฉะนั้น การศึกษา ถ้ามองในแง่อารยธรรมนี้เราอาจจะพูดว่า เป็นการพยายามพัฒนาคนให้มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์อารยธรรม และแก้ไขปรับปรุงพัฒนาต่อไปให้บรรลุจุดหมายที่ดีงาม อย่างน้อยก็ให้คนได้รับประโยชน์สูงสุดจากอารยธรรมที่สร้างสรรค์กันมา หรือจะเรียกว่าจากผลงานสร้างสรรค์ของมนุษยชาติก็ได้ เมื่อพูดในแง่นี้ก็มีเรื่องที่จะต้องวิเคราะห์กันมาก อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะไม่ตอบคำถามโดยตรงในทันที แต่จะพูดในเรื่องปลีกย่อยเป็นข้อๆ เพื่อให้เห็นแง่มุมต่างๆ ที่ว่าจะตอบคำถามนี้ได้บ้าง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.