จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วิธีการต้องตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎี

ก็เป็นอันสรุปในตอนนี้ว่า จากเหตุผลที่กล่าวมาก็จะต้องมีการศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องจิตใจทั้ง ๒ ระดับ คือ

๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และจุดหมายของชีวิต อันนี้เป็นตัวแกนที่สำคัญ

๒. การแก้ปัญหาของมนุษย์ในระดับวิธีการ

ที่ว่านี้ก็ตรงกับที่กล่าวมาแล้ว คือจะเห็นว่า ตะวันตกสนใจพระพุทธศาสนาในระดับวิธีการมากกว่า คือมาเอาเรื่องสมาธิไปใช้ ถึงแม้ว่าพร้อมกันนั้นเขาจะโยงเข้ามาหาเรื่องของความรู้ หรือตัวทฤษฎีด้วย แต่ก็เป็นเพียงทฤษฎีในระดับที่จะเอาวิธีการนั้นไปใช้เสียมากกว่าที่จะเข้าถึงตัวทฤษฎีที่สมบูรณ์ มิฉะนั้น ก็พยายามโยงวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนานั้นให้เข้ากับความรู้ทางทฤษฎีของตน แต่ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ในขั้นพื้นฐาน เขาก็ยังติดอยู่ในทฤษฎีที่เป็นพื้นเดิมของเขาเอง

ทีนี้ เรามามองว่าในกรณีนี้ก็ต้องพูดกันในแง่ของการยอมรับ โดยมองในแง่ของเราก่อนว่า พระพุทธศาสนาเป็นระบบที่มีความสมบูรณ์ในตัว การที่จะเข้าถึงตัวแท้ตัวจริงมองเห็นภาพรวมหรือระบบของพระพุทธศาสนาได้ทั่วตลอด จนกระทั่งถึงกับเห็นธรรมชาติของมนุษย์และจุดหมายของชีวิตมนุษย์นั้น ก็จะต้องศึกษาทฤษฎีของพระพุทธศาสนาทั้งหมดด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อแม้อีกว่า ในทางพระพุทธศาสนาเองท่านบอกว่า การที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างแท้จริงนั้น การศึกษาเพียงทฤษฎีอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ เพราะความรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติหรือในการภาวนา

การปฏิบัติหรือภาวนานั้นเป็นตัวที่จะตรวจสอบความรู้ทางทฤษฎี ทำให้ความรู้หรือการศึกษาทฤษฎีนั้น ไม่เขว ไม่ผิดพลาด ไม่เข้าใจเคลื่อนคลาด นักจิตวิทยาตะวันตกนั้นสนใจการปฏิบัติหาประสบการณ์ทางจิตอยู่แล้วอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ว่าสนใจสมาธิ แต่การปฏิบัติโดยไม่มีความรู้ทฤษฎีรองรับก็อาจจะทำให้หลงไปอีกได้เหมือนกัน

เมื่อกี้นี้เรามองว่าทฤษฎีนั้นไม่สมบูรณ์ ต้องมีการปฏิบัติแต่ในเวลาเดียวกันการปฏิบัติโดยไม่มีความรู้ทฤษฎีรองรับก็อาจจะทำให้หลงไปกับประสบการณ์เบื้องต้น หรือประสบการณ์หลากหลายที่ตนมีขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างการปฏิบัติซึ่งอาจจะเป็นตัวการที่ทำให้เข้าใจไขว้เขวได้

ประสบการณ์ที่พบในการปฏิบัติโดยไม่มีทฤษฎีรองรับ ก็คือ การที่ผู้ปฏิบัตินั้นไม่ได้หรือไม่เอาประสบการณ์ของผู้ที่เคยปฏิบัติมาก่อนมาเป็นเครื่องตรวจสอบ

ทฤษฎีในความหมายของพระพุทธศาสนาไม่ใช่หมายถึงความรู้เชิงเหตุผลในทางพระพุทธศาสนาในที่นี้ เราเพียงแต่ยืมเอาคำว่าทฤษฎีมาใช้ แต่ที่จริงไม่ถูกต้อง

คำว่าทฤษฎีในที่นี้หมายถึง บันทึกประสบการณ์ของผู้ที่ได้ผ่านการปฏิบัติมาแล้วนั่นเอง ซึ่งได้ประสบการณ์จริง เพราะฉะนั้นการที่เรารู้ทฤษฎีของพระพุทธศาสนาก็เพื่อเอาประสบการณ์ของคนที่เคยปฏิบัติมาแล้ว โดยเฉพาะของพระพุทธเจ้าเอง มาช่วยชี้นำการปฏิบัติ และตรวจสอบกับประสบการณ์ของเรา

ฉะนั้น ในแง่นี้เมื่อพูดให้ถูกต้องแล้ว การเอาทฤษฎีมาตรวจสอบ ก็คือ การตรวจสอบประสบการณ์ด้วยประสบการณ์นั่นเอง แต่เป็นการตรวจสอบประสบการณ์ของเราเฉพาะตัวด้วยประสบการณ์ที่เป็นของท่านที่เรายอมรับว่าเป็นผู้เข้าถึงความจริงมาก่อนแล้ว หรือว่าได้บรรลุผลในทางปฏิบัติแล้ว

มันก็เลยวนกลับไปกลับมาว่า การศึกษาทฤษฎีจะสมบูรณ์ ต่อเมื่อมีประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติ แต่การปฏิบัติจะได้ผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีความรู้ทางทฤษฎี คือเอาประสบการณ์ของท่านที่ได้ปฏิบัติมาก่อนนี้มาเป็นเครื่องตรวจสอบด้วย เพราะฉะนั้น ก็เลยต้องรู้ต้องเข้าใจและมีทั้ง ๒ ด้าน

คำว่า “ทฤษฎี” ที่เรายืมศัพท์ของตะวันตกมาใช้ในที่นี้นั้น ว่าตามหลักที่แท้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ปริยัติ” ซึ่งคู่กันกับส่วนที่เป็น การ“ปฏิบัติ” ที่เรียกว่า “ภาวนา”

ปริยัตินั้นคู่กับการปฏิบัติ โดยเป็นทั้งพื้นฐานและเป็นเครื่องตรวจสอบของการปฏิบัติ คือเป็นบันทึกหรือประมวลประสบการณ์ของท่านผู้ที่ได้ปฏิบัติมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นต้นเดิมของการปฏิบัติแบบนี้ และได้ทรงเล่าประสบการณ์ของพระองค์ไว้ โดยจัดประมวลเป็นสิ่งที่เรียกว่าปริยัติ

เพราะฉะนั้น คำว่า ทฤษฎี กับคำว่า ปริยัติ จึงไม่ตรงกันแท้ทีเดียว และถ้าจะใช้คำพูดให้ตรงความหมายอย่างถูกต้องเคร่งครัด ในที่นี้ก็จึงต้องใช้คำว่าปริยัติ ไม่ใช้คำว่าทฤษฎี

ที่ว่านี้ก็เท่ากับบอกว่า ต้องศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งในแง่หลักการเพื่อเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์และจุดหมายของชีวิต เป็นการศึกษาด้านทฤษฎีหรือปริยัติ และในแง่การปฏิบัติตามวิธีการที่เป็นการพิสูจน์ความจริงของปริยัติให้มีผลจริงแท้แก่ชีวิตจริงด้วย ดังที่เราเรียกว่า ปฏิบัติหรือภาวนา นี้ก็เป็นการสรุปอีกตอนหนึ่ง

เท่าที่พูดมาแค่นี้ก็คิดว่า ความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ ก็น่าจะมีความชัดเจนพอสมควรแล้ว จึงควรจะเพียงพอเท่านี้ก่อน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.