จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แนวโน้มใหม่ของความสนใจพระพุทธศาสนาในตะวันตก

ครั้นถึงยุคปัจจุบัน ในระยะ ๒๐-๓๐ ปีนี้ แนวความสนใจได้เปลี่ยนไป คือ เนื่องจากสภาพความเปลี่ยนแปลงในทางสังคม กล่าวคือหลังจากที่การพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นได้เจริญมาอย่างมากมายระยะหนึ่งแล้ว ก็ปรากฏว่าได้ทำให้คนเกิดปัญหาจากการพัฒนานั้น

คนจำนวนไม่น้อยได้มีปัญหาจากการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด อย่างที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับวิธีใช้ชีวิต (life-style) วิธีใช้ชีวิตที่ผิดพลาดได้ทำให้เกิดปัญหาในทางจิตใจมาก ซึ่งบางทีเขาก็โทษว่าเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด แต่รวมแล้วก็เรียกได้ว่าเป็นปัญหาของยุคอุตสาหกรรม

เมื่อคนมีปัญหาทางจิตใจมากทั้งๆ ที่มีวัตถุพรั่งพร้อมมากขึ้น ก็ทำให้เขาหันมาสนใจพระพุทธศาสนาในแง่ใหม่ เพราะเห็นว่าศาสนาตะวันออกซึ่งรวมทั้งพระพุทธศาสนาด้วยนี้ มีการเน้นเรื่องการปฏิบัติทางจิตใจ โดยเฉพาะก็คือเรื่องสมาธิเป็นจุดเด่น ดังนั้น ในช่วงหลังนี้พวกฝรั่งจึงหันมาสนใจพระพุทธศาสนาในแง่การแก้ปัญหาทางจิตใจเป็นสำคัญ

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การฝึกปฏิบัติสมาธิหรือการเจริญภาวนา จึงได้กลายเป็นความโน้มเอียงและเป็นอาการทั่วไปของความสนใจต่อพระพุทธศาสนาในสังคมตะวันตก เช่น ในประเทศอเมริกาเป็นต้น ซึ่งมิใช่เฉพาะในวงการทางวิชาการเท่านั้น แต่หมายถึงบุคคลทั่วๆ ไปในสังคมอเมริกันนั้นทุกวงการ

พร้อมกับการที่บุคคลทั่วไปมีความสนใจและโน้มเอียงมาอย่างนี้ วงวิชาการโดยเฉพาะจิตวิทยาก็ได้หันไปสนใจด้วย แล้วก็มีการศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนากัน ทั้งในเชิงวิชาการคือจิตวิทยาภาคทฤษฎี และในเชิงปฏิบัติการหรือภาคปฏิบัติโดยเฉพาะก็คือการเจริญสมาธิดังได้กล่าวมาแล้ว

จะเห็นว่า ในระยะหลังคือประมาณ ๒๐-๓๐ ปีนี้ ได้มีศูนย์ปฏิบัติสมาธิตั้งขึ้นในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศอเมริกามากมาย พระพุทธศาสนาแบบเซนก็เข้าไป แบบทิเบตก็เข้าไป แบบเถรวาทก็เข้าไป ดังเช่นสถาบันของทิเบตที่เรียกว่า สถาบันนาโรปะ (Naropa Institute) ที่เมืองโบลเดอร์ (Boulder) รัฐโคโลราโด (Colorado)

สถาบันนาโรปะนี้ได้จัดดำเนินการศึกษาพระพุทธศาสนา นอกจากฝึกสมาธิซึ่งเป็นภาคปฏิบัติแล้วก็ยังมีการสอนจิตวิทยา ในเชิงวิชาการด้วย มีการให้ปริญญา ซึ่งเท่าที่ทราบก็ถึงระดับปริญญาโทแล้ว มีชาวตะวันตกพากันไปเรียนและฝึกปฏิบัติด้วย

สำนักของทิเบตนี้ได้มีสาขาไปทั่วประเทศอเมริกามากมาย เท่าที่จำได้เมื่อหลายปีก่อนก็มีถึง ๓๐-๔๐ แห่ง แต่สำหรับปัจจุบันนี้อาตมาไม่ได้ติดตาม แต่เป็นที่รู้กันว่าก่อนหน้านั้นนิกายเซนของญี่ปุ่นซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาที่เน้นสมาธิ ได้เจริญแพร่หลายเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางอยู่ก่อน จนกระทั่งต่อมาไม่นานนี้ พระพุทธศาสนาแบบทิเบตจึงเฟื่องฟูขึ้นมา ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าพอจะทันๆ กัน

ส่วนทางด้านพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยมากจะเป็นชาวตะวันตกเอง ที่มาศึกษาในประเทศทางด้านอาเซียอาคเนย์นี้ มาฝึกปฏิบัติ บางทีก็มาบวชพระ ฝึกสมาธิ เจริญภาวนา และเมื่อกลับไปประเทศของตนแล้วก็ไปตั้งศูนย์เผยแพร่พระพุทธศาสนา แบบที่เน้นภาคปฏิบัติหรือการเจริญภาวนา ดังที่ได้มีขึ้นตามแห่งต่างๆ ดัง เช่นที่เมืองบาร์เร (Barre) ที่รัฐแมสสาจูเสทส์ (Massachusetts)

ที่นั่นอาตมาก็เคยไปเยี่ยม มีเนื้อที่ประมาณ ๘๐ หรือ ๘๕ เอเคอร์ ก็จำไม่แม่น ตอนที่ไปเยี่ยมนั้นมีผู้เข้าปฏิบัติโดยเขาจัดทำเป็นคอร์ส

ในการเข้าปฏิบัติ คอร์ส (course) หนึ่งๆ ก็มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๕๐ คน เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้เข้าปฏิบัติส่วนมากจะเป็นคนหนุ่มสาวแทบทั้งสิ้น

ที่ว่ามานี้ก็เป็นภาพของความสนใจต่อพระพุทธศาสนาในประเทศตะวันตก ซึ่งเน้นมาทางสมาธิจนกระทั่งว่า บางคราวการปฏิบัติสมาธิจะกลายเป็นความนิยมแบบแฟชั่นไป

ย้อนหลังไปกว่านั้นที่จริงนักจิตวิทยาได้มาสนใจเรื่องพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ก่อนยุคที่มีความตื่นตัวในเรื่องสมาธิ คือว่า สมาธิ ในระยะแรกๆ ก็ได้รับความสนใจจากคนจำนวนหนึ่ง และนักจิตวิทยาก็สนใจในการที่จะนำสมาธิมาใช้ในทางจิตบำบัดและในทางทฤษฎีวิชาจิตวิทยาของตน ซึ่งก็อาจจะกล่าวได้ว่าเกิดจากการที่ได้มองเห็นปัญหาของมนุษย์ในยุคอุตสาหกรรมนี้แหละ

รวมความว่า เรื่องความสนใจในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะภาคปฏิบัติคือการเจริญภาวนานี้ เกิดขึ้นในตะวันตกมากขึ้นๆ ในระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพชีวิตและสังคม ซึ่งมนุษย์ในยุคนี้ได้เกิดความผิดหวังกับการเจริญก้าวหน้าในทางอุตสาหกรรมและเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมามาก โดยเฉพาะปัญหาทางจิตใจ จนกระทั่งในปัจจุบันก็เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อมขึ้นมาอีก ซึ่งทำให้ปัญหาต่างๆ ประดังขึ้นมามากมาย

นอกจากนั้น ความรู้สึกที่ว่าวิชาการของตะวันตกเอง แม้แต่จิตวิทยานี้ก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น ประกอบกับความใฝ่รู้ของชาวตะวันตกเองด้วย ได้ทำให้กระแสความสนใจนี้มาบรรจบเข้ากับเรื่องพระพุทธศาสนา

ในแง่หนึ่งจึงมองได้ว่าชาวตะวันตก คือนักวิชาการ โดยเฉพาะนักจิตวิทยาได้หันมาสนใจพระพุทธศาสนา เนื่องจากต้องการจะนำเอาขุมปัญญาทางพระพุทธศาสนาไปใช้ประโยชน์ในวงวิชาการ เช่น จิตวิทยาสมัยใหม่หรือจิตวิทยาตะวันตกนั้น

มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า ถ้าเราเอาจิตวิทยาตะวันตกเป็นหลักก็ดูคล้ายกับว่า จิตวิทยาตะวันตกนี้ มายอมรับเอาจิตวิทยาของพระพุทธศาสนาเป็นวิชาการที่พึงศึกษา

แต่ถ้ามองในแง่ของพระพุทธศาสนา เราถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นตัวของตัวเอง คือมีระบบจิตวิทยาที่มีความสมบูรณ์ในตัวของตัวเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรจะทำความเข้าใจกันในเบื้องต้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.