จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สังคมวางแนวความคิดไว้เอียงสุด
จิตมนุษย์ก็เกิดความขัดแย้ง เพราะมีความต้องการที่ไม่อาจสนอง

พูดอย่างรวบรัด ปัญหาจิตใจในสังคมปัจจุบันที่พัฒนาแล้ว ตามวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้น ไปๆ มาๆ ก็เกิดจากสาเหตุหรือเหตุปัจจัยชุดเดียวกันนั่นเอง ที่ระดมส่งผลสืบทอดกันเองด้วย แล้วก็ซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้นด้วย เหตุปัจจัยเหล่านี้ได้แก่แนวความคิดและค่านิยมต่างๆ ซึ่งมีลักษณะสุดโต่งไปข้างเดียว ว่าเฉพาะที่เข้ากับเรื่องที่พูดมาแล้ว ข้อสำคัญๆ ก็คือ

๑. แนวความคิดและค่านิยมในวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่ถือคติวัตถุนิยมว่า ยิ่งมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมมากเท่าใดก็จะยิ่งมีความสุขสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้คนแข่งขันแย่งชิงกันในการแสวงหาวัตถุปรนเปรอให้พรั่งพร้อมเต็มที่ และฝากความสุขของตนไว้กับวัตถุปรนเปรอภายนอกเหล่านั้น

๒. การมองความหมายของจิตวิทยาในลักษณะที่สนองค่านิยมในการแสวงหาวัตถุตามวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้น คือมองจิตวิทยาเป็นความเฉลียวฉลาด หรือเก่งกาจในปฏิบัติการเกี่ยวกับจิตใจ เพื่อจัดการกับผู้อื่น ในทางที่จะทำผลประโยชน์ของตนให้สำเร็จ ซึ่งเป็นทั้งตัวการที่เสริมสนับสนุนระบบการแข่งขันแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบ และทำให้คนไม่มีความจริงใจต่อกัน ขาดน้ำใจไมตรีที่แท้จริง ทำให้ไม่มีความสุขส่วนรวม หรือประชาสุข (public happiness) ทำให้คนรู้สึกอกหัก เพราะไม่ได้รับความอบอุ่นร่มเย็นจากสังคม

๓. การถือหลักปรัชญาที่สอนให้เชื่อว่า การขยายความสำคัญหรือความยิ่งใหญ่ของตัวตนให้มากขึ้น (self-maximization) เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์ ซึ่งทำให้การปฏิบัติตามคติ ๒ ข้อต้นนั้น มีฐานเสริมให้มีกำลังแรงและเป็นไปอย่างลึกซึ้งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งในเวลาเดียวกันเมื่อไม่สมหวังก็ทำให้ผลในทางลบเป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้นด้วย

ต่อไปนี้ก็จะจำกัดขอบเขตของปัญหาที่จะพูดให้แคบเข้าใบอีก โดยจะยกเอาปัญหาเพียงสักข้อหนึ่งข้อเดียวขึ้นมาวิเคราะห์เป็นตัวอย่าง

แต่ก่อนที่จะพูดต่อไป จะขอสรุปหัวข้อทั้ง ๔ ที่แสดงถึงสภาพชีวิตจิตใจของคนในสังคมตะวันตกที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหาในลักษณะที่เป็นความขัดแย้ง เป็นการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง คือ

๑. ในขณะที่สังคมมีคนมากมายคับคั่งยิ่งขึ้น บุคคลกลับโดดเดี๋ยวเดียวดายว้าเหว่ยิ่งขึ้น

๒. ในขณะที่คนกำลังใฝ่หาต้องการให้ตัวตนของตนได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ สังคมกลับปฏิบัติต่อบุคคลอย่างไม่เป็นตัวเป็นตนยิ่งขึ้น

๓. ในขณะที่อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีช่วยให้คนมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมเต็มบ้าน แต่ในใจคนกลับว่างเปล่ากลวงโบ๋ยิ่งขึ้น

๔. ในขณะที่คนผู้กลวงในวิ่งหนีจากตัวเองออกไปหาจะพึ่งพาสังคม สังคมก็ทำให้เขาอกหัก เพราะขาดความจริงใจไมตรีที่แท้จริง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.