จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แก้ปัญหาจากสังคม หรือแก้ที่ตัวบุคคล

อย่างไรก็ตาม ตามวิธีการแก้ปัญหาของพระพุทธศาสนา แทนที่จะเริ่มต้นการแก้ปัญหาด้วยการแก้ไขที่ตัวบุคคลคนเดียวด้วยตัวของเขาเองโดยลำพัง ท่านกลับไปเน้นวิธีแก้มาจากสังคม

แต่กระนั้นก็ตาม พระพุทธศาสนามีวิธีการที่ยืดหยุ่น เช่น การแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรจะให้คนมีความสุขในการอยู่คนเดียวได้ สำหรับคนที่ถึงขั้นจริงๆ ท่านบอกว่าแก้ได้ในระดับปัญญาโดยใช้โยนิโสมนสิการอย่างเดียวก็พอ ถ้าใช้วิธีนี้ก็เป็นการแก้ที่ตัวเองโดยตัวคนเดียวได้เลย

แต่คนส่วนใหญ่จะทำไม่ได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้น สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว วิธีการแก้ปัญหาของบุคคลจะเริ่มต้นจากวิธีการทางสังคมย้อนมาหาตัวบุคคล เรื่องกลับเป็นอย่างนั้นไป กล่าวคือ พระพุทธศาสนาจะให้เริ่มจากการมีกัลยาณมิตร โดยเราช่วยจัดให้คนที่ไม่มีความสุขในการอยู่คนเดียว ที่มีความอ้างว้างว้าเหว่ ว่างเปล่า ข้างในนั้น ได้มีกัลยาณมิตร

กัลยาณมิตรก็คือคนที่เต็มข้างในหรือมีความเต็มในตัวอยู่แล้ว คนที่เต็มข้างในนี้ก็มาช่วยคนที่อ้างว้างภายในนั้น โดยช่วยทางด้านจิตใจก่อน การช่วยในด้านจิตใจนี้ก็คือ ทำให้คนที่ว่างเปล่าภายใน มาหาและอยู่กับสังคมอย่างชนิดไม่อกหัก หมายความว่า เขามาเจอคนในสังคมนั้น ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าถูกทรยศหรือหักหลัง แต่เขารู้สึกว่าได้รับน้ำใจหรือความจริงใจ ก็เลยช่วยให้เขามีความเต็มภายในได้

ทีนี้ต่อไป กัลยาณมิตรนั้นนอกจากช่วยทางด้านจิตใจแล้ว ก็จะช่วยทางด้านปัญญาด้วย ด้านปัญญานี้ก็คือการช่วยให้คนนั้นได้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของตนเองและรู้เท่าทันโลกหรือสังคม จนกระทั่งคนนั้นเป็นอิสระ มีอิสรภาพ เพราะช่วยตนเองได้

ถ้าเป็นการช่วยในระดับจิตใจก็ยังไม่ทำให้คนนั้นมีอิสรภาพเพราะเขายังต้องพึ่งพิงกัลยาณมิตรนั้นอยู่ หรือยังต้องอาศัยความเติมเต็มจากความสัมพันธ์ทางสังคม ต่อเมื่อเราช่วยแก้ปัญหาถึงระดับปัญญา ทำให้เขาเข้าใจความจริง ปรับจิตใจได้ มีจิตใจเป็นอิสระแล้ว หรือแก้ปัญหาของเขาเองได้แล้ว คนนั้นจึงจะมีอิสรภาพ เรียกว่าพึ่งตนเองได้

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของกัลยาณมิตรจึงจัดเป็นการแก้ปัญหาจากสังคมเข้ามาหาตัวบุคคล โดยเริ่มจากสังคมนั้นเข้ามา หาจิตใจก่อน แต่ด้านจิตใจก็ยังไม่พอ ต้องถึงปัญญา นี้ก็คือระบบของพระพุทธศาสนา

เมื่อถึงขั้นปัญญาแล้วบุคคลนั้นจะช่วยตัวเองได้ และเป็นอิสระอย่างแท้จริงโดยที่มีความสามารถที่จะทำให้ตนเองเป็นสุขในการอยู่คนเดียวโดยลำพัง พร้อมทั้งสามารถทำหน้าที่ทางสังคม โดยเป็นกัลยาณมิตร คือเป็นผู้มีสิ่งที่จะช่วยเติมเต็มให้แก่ผู้อื่น ได้ด้วย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.