พุทธศาสนากับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

โยคะ
ปรัชญาฮินดู ๖ สาขา

การอุบัติแห่งพระพุทธศาสนา และศาสนาไชนะ (ในภาษาไทยนิยมเรียกว่าศาสนาเชน) ซึ่งเป็นศาสนาคัดค้านพระเวท ในศตวรรษที่ ๖ ก่อน ค.ศ. ได้เป็นเหตุให้มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายในศาสนาพราหมณ์ทั้งในด้านหลักธรรมและความประพฤติปฏิบัติ นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของศาสนาพราหมณ์ซึ่งปราชญ์บางท่านตัดตอนเรียกยุคก่อนถอยหลังจากนี้ไปว่าศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาพระเวทและยุคต่อแต่นี้ไปว่า ศาสนาฮินดู การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ การเกิดขึ้นแห่งระบบปรัชญาสำคัญ ๖ สาขา ที่เรียกว่า ษัฑ ทรรศนะ (The Six Systems of Hindu Philosophy) คือ

คู่ที่ ๑ :

๑. สางขยะ ระบบปรัชญาปฏิเสธพระเป็นเจ้า แสดงทฤษฎีทวินิยม ยอมรับมูลการณ์ ทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ และความสัมพันธ์แห่งมูลสัจ ๒ ฝ่ายนี้ตามหลักวิวัฒนาการ ตั้งขึ้นโดยฤษีกบิล ประมาณ ๖๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์สางขยการิกา (โดยอิศวรกฤษณะในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๕) และสางขยสูตร (ของฤษีกบิลเอง แต่เป็นของรวบรวมขึ้นภายหลังราว ค.ศ. ๑๔๐๐)

๒. โยคะ ระบบปรัชญายอมรับพระเป็นเจ้า อิงทฤษฎีของสางขยะ แต่เน้นภาคปฏิบัติในการฝึกจิต ตั้งโดยปตัญชลี ประมาณระหว่างศตวรรษที่ ๒ ก่อน ค.ศ. ถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๓

คู่ที่ ๒ :

๓. นยายะ ระบบปรัชญาซึ่งเดิมอาจไม่มีพระเป็นเจ้าแต่ต่อมานับถือพระเป็นเจ้า แสดงทฤษฎีแห่งญาณวิทยา ส่วนใหญ่เป็นหลักแห่งตรรกศาสตร์ บางทีจึงเรียกว่าตรรกวิทยาบ้าง วาทวิทยาบ้าง ตั้งโดยท่านเคาตมะ หรือโคตมะ ประมาณระหว่าง ๔๕๐ ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. ๑๐๐ หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์ นยายสูตร ของท่านเคาตมะเอง

๔. ไวเศษิกะ ระบบปรัชญา ซึ่งเดิมไม่มีพระเป็นเจ้าแต่ต่อมานับถือพระเป็นเจ้า แสดงทฤษฎีวิเคราะห์สภาวธรรมต่างๆ ในธรรมชาติ แยกออกเป็นส่วนย่อยที่ละเอียดที่สุดจนถึงวิเศษะในปรมาณู ถือหลักตรรกศาสตร์ตามแนวของนยายะ ตั้งโดยท่านกณาท ประมาณระหว่าง ๒๕๐ ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. ๑๐๐ หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์ไวเศษิกสูตร ของท่านกณาทเอง

คู่ที่ ๓ :

๕. มีมางสา หรือ ปูรวมีมางสา ระบบปรัชญาเชิดชูพระเวท แสดงความหมาย ความสำคัญ หลักและวิธีการในการประกอบพิธีกรรมแห่งพระเวทให้ถูกต้องตั้งโดยท่านไชมินิ ประมาณ ๒๐๐ ปีก่อน ค.ศ. หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์ มีมางสาสูตร ของท่านไชมินิเอง

๖. เวทานตะ หรือ อุตตรมีมางสา ระบบปรัชญาเชิดชูพระเวทสืบต่อคำสอนแห่งอุปนิษัท สำแดงหลักปรัชญาที่เป็นแก่นแท้ลึกซึ้งและเป็นยอดสุดแห่งพระเวท ตั้งโดยท่านพาทรายณะ (บางท่านว่าเป็นคนเดียวกับวยาส ผู้รวบรวมพระเวทและมหาภารตะ)ประมาณ ๒๕๐ ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. ๔๕๐ หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์เวทานตสูตร หรือพรหมฺสูตรของท่านพาทรายณะเอง

วิวัฒนาการของศาสนาพราหมณ์ยุคหลัง หรือฮินดูนี้ แสดงชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงในหลักสำคัญของศาสนา ทั้งในด้านที่รับเอาความคิดและข้อปฏิบัตินอกวงศาสนาพราหมณ์เข้ามาเสริมตนและในด้านที่พัฒนาตัวเองโดยขยายแนวความคิดเดิมออกไปและสร้างฐานรองรับความประพฤติปฏิบัติที่อยู่ให้มั่นคง

พระพุทธศาสนากับโยคะ

ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า ในปรัชญา ๖ สาขานั้น (ที่ถูกเรียกทรรศนะทั้ง ๖) สางขยะอย่างเดียวมีมาก่อนพระพุทธศาสนานอกจากนั้นเกิดขึ้นภายหลัง แต่ตามหลักฐานปรากฎว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาแล้ว ได้ทรงบำเพ็ญโยคะอยู่ระยะหนึ่งจากนั้นจึงได้ทรงบำเพ็ญตบะอันเป็นทุกรกิริยา แล้วเปลี่ยนมาทรงดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา จึงได้ตรัสรู้ เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ จะได้ชี้แจงความเป็นมาขอโยคะเพิ่มเติมเล็กน้อย

โยคะที่จัดเป็นระบบปรัชญาสาขาหนึ่ง อย่างที่กล่าวข้างต้นนั้น กำหนดเอาการที่ท่านปตัญชลีประมวลหลักแห่งโยคะร้อยกรองไว้เป็นคัมภีร์ที่เรียกว่าโยคสูตรเป็นสำคัญ แต่ความจริง แนวความคิดเรื่องโยคะนี้ ได้มีมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน แต่มิได้แยกเป็นระบบปรัชญาสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ บางท่านถือว่ายาชญวัลกยะ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอุปนิษัท เป็นผู้เริ่มต้นปรัชญาสาขานี้ แต่เมื่อสืบไกลลงไปอีก โยคะยังมีต้นความคิดมาก่อนหน้านั้น

โยคะ ก็เช่นเดียวกับตบะ ในแง่ที่ว่า มิใช่เป็นหลักความคิดและการปฏิบัติในศาสนาพราหมณ์มาแต่เดิม สันนิษฐานกันว่าโยคะมีมูลเค้าอยู่ในชมพูทวีปก่อนชนเผ่าอารยันอพยพเข้ามาปรากฏหลักฐานว่า ข้อปฏิบัติบางอย่างของโยคะมีอยู่ในยุคอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุด้วย และในสมัยโบราณทีเดียวนั้น อาจจะเป็นพิธีกรรมประเภทไสยศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากความรู้สึกเชื่อถือโยคะในแง่คาถาอาคมและความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ยังคงเป็นอยู่แม้ในสมัยปัจจุบัน ในสมัยพุทธกาล โยคะจัดได้ว่าเป็นสาขาหนึ่งของสางขยะ เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ทรงศึกษาโยคะกับอาจารย์ในลัทธิสางขยะตามเรื่องที่มีมาในคัมภีร์ว่า เมื่อเสด็จออกบรรพชาแล้ว ได้ทรงไปศึกษากับอาฬารดาบส กาลามโคตร ได้อากิญจัญญายตนฌานสิ้นความรู้ของอาจารย์แล้ว ทรงได้ศึกษาต่อกับอุททกดาบส รามบุตรบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สิ้นความรู้ของอาจารย์แล้วทรงตระหนักว่ายังมิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้เสด็จปลีกพระองค์ไปศึกษาค้นคว้าธรรมโดยลำพังต่อไป ภายหลังพุทธกาล ทั้งสางขยะและโยคะ ได้ยอมรับถูกรวมเข้าไว้ในวงของศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู และกลายเป็นระบบปรัชญาแต่ละสาขาอย่างที่ได้แสดงไว้ข้างต้น

เพราะเหตุที่ฮินดูรับเอาลัทธิทั้งสองนี้ และลัทธิอื่นๆ เข้ามารวมในศาสนาของตน จึงปรากฏว่า ศาสนาฮินดูอย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน ประกอบด้วยระบบความคิดต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกันเองอย่างมากมาย ถึงตรงข้ามกันก็มี แต่ก็ยังจัดเป็นฮินดูอยู่นั่นเองและปราชญ์ฮินดูถือว่าระบบที่ขัดแย้งกันเหล่านี้เป็นเครื่องประกอบเสริมกัน แม้แต่พระพุทธศาสนา ชาวฮินดูก็ได้พยายามผนวกเข้าไว้ในศาสนาฮินดูด้วย ดังเรื่องพุทธาวตารในนารายณ์ ๑๐ ปาง เป็นต้น ราธกฤษณัน นักปรัชญาอินเดียคนสำคัญของยุคปัจจุบันก็พยายามกล่าวย้ำเพื่อให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู แต่นักปราชญ์คนสำคัญของอินเดียอีกท่านหนึ่งคือ เนห์รู ไม่ยอมรับและได้พยายามแสดงความเห็นตรงข้ามในเรื่องนี้มีข้อคิดอย่างหนึ่งว่า ผู้ถือสัจธรรมควรจะมีความจริงใจและแน่นอน เมื่อเห็นชัดเจนว่า ระบบความคิดหรือข้อปฏิบัติใดผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว ก็ควรแก้ไขละเลิกตัดไปเสีย มุ่งผลในทางปฏิบัติกันจริงๆ ไม่ใช่ไปเที่ยวเก็บมารวมๆ เอาไว้โดยความเสียดาย หรือเพื่อไว้คอยยกตัวขึ้นรับสมอ้างไปทุกด้านหรือเพราะเอาแน่อะไรไม่ได้ ก็ปล่อยให้คลุมๆ เครือๆ ไว้เรื่อยๆ ไปอย่างนั้น

ทฤษฎีสังเขปแห่งสางขยะ-โยคะ

กล่าวได้ว่า สางขยะกับโยคะเป็นระบบปรัชญาคู่แฝด เป็นเครื่องประกอบของกันและกัน สางขยะเป็นฐานทางฝ่ายทฤษฎีหรืออภิปรัชญา โยคะเป็นภาคปฏิบัติ หรือการแสดงระบบความคิดนั้นออกเป็นการกระทำ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามทฤษฎีที่วางไว้

สางขยะเป็นระบบปรัชญาที่เก่าแก่ที่สุดในสาขาทั้ง ๖ พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ เคยทรงศึกษาสางขยะ และปฏิบัติโยคะที่รวมอยู่กับสางขยะในสมัยนั้น ปรัชญาสางขยะอย่างที่รู้จักกันทุกวันนี้ เป็นหลักที่วิวัฒน์เพิ่มขึ้นในสมัยหลัง และได้รับอิทธิพลย้อนกลับมาจากพระพุทธศาสนา ส่วนปรัชญาโยคะที่แยกจัดเป็นระบบปรัชญาสาขาหนึ่ง ตามทฤษฎีที่ท่านปตัญชลีเขียนขึ้นในสมัยหลัง ก็ปรากฏว่ามีความอ้างถึงทัศนะฝ่ายพระพุทธศาสนายุคต่อๆ มาด้วยเช่นกัน

โดยสรุป ปรัชญาสางขยะสอนว่า โลกนี้มีมูลการณ์ ๒ อย่างคือ ฝ่ายจิต กับฝ่ายวัตถุ การเกี่ยวข้องระหว่างมูลการณ์ ๒ อย่างนี้ทำให้เกิดวิวัฒนาการปรากฏรูปเป็นต่างๆ ในธรรมชาติ หรือเป็นโลกอย่างที่เห็นอยู่นี้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ เป็น ๓ ข้อ คือ

๑. ปุรุษ คือมูลการณ์ฝ่ายจิต เป็นตัวอัตตาหรือตัวชีวะ เป็นตัวรู้หรือตัวเห็น เที่ยง คงที่ เป็นสภาวะบริสุทธิ์เฉยนิ่ง ไม่มีกิริยาใดๆ บุรุษที่อยู่ในแต่ละบุคคล เรียกว่า ปุคคลชีพ แต่ละบุรุษเป็นมูลสภาวะอยู่ในตัว ไม่มีมูลการณ์อะไรอีกที่บุรุษจะต้องไปรวมเข้าด้วยอย่างในลัทธิที่เชื่อพรหมัน

๒. ประกฤติ คือมูลการณ์ฝ่ายวัตถุ ไร้ชีพไร้ความรู้ เป็นตัวถูกเห็นหรือถูกรู้ เป็นมูลสภาวะของโลก มีองค์ประกอบที่เรียกว่า “คุณ” ๓ อย่าง คือ สัตตวะ (ส่วนสุกใส หรือภาวะแห่งความดีและความสุข ช่วยให้เกิดญาณคือความรู้) รชัส (ส่วนฟุ้ง หรือภาวะแห่งกิเลสและความทุกข์ที่เป็นดุจธุลีฟุ้งขึ้น บีบรัดยั่วเร้าให้เกิดกรรมหรือการกระทำต่างๆ) ตมัส (ส่วนมืด หรือภาวะแห่งโมหะ คือความหลงมืดบอดที่ครอบคลุมสัตว์และสิ่งทั้งหลายไว้ หน่วงและกีดขวางต่อความรู้แจ้ง)

ประกฤติ เป็นภาวะปกติโดยลำพังตัวเมื่อไม่มีบุรุษเกี่ยวข้อง องค์ประกอบคือคุณทั้ง ๓ (สัตตวะ รชัส ตมัส) ย่อมอยู่ในภาวะสมดุล สงบนิ่ง ไม่มีกิริยาใดๆ แต่เมื่อบุรุษพัวพันกับประกฤติ (ผู้เห็นพัวพันกับสิ่งที่ถูกเห็น หรือภาวะที่รู้สัมพันธ์กับภาวะที่ถูกรู้) จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในประกฤติ ปรากฏรูปเป็นต่างๆ ทุกอย่างเท่าที่มองเห็นในโลกหรือในธรรมชาติทั้งหมด ผิดแผกกันไปตามอัตราส่วนของการเพิ่มขยายแห่งคุณทั้ง ๓ นั้น ตามความเป็นจริง จึงไม่มีสิ่งใดใหม่แท้ มีแต่การแปรรูปของสิ่งที่มีอยู่แล้วตามปกติ

ความสัมพันธ์ระหว่างมูลการณ์ทั้ง ๒ คือ บุรุษ กับประกฤติจึงเป็นที่มาของปวัตตนาการ คือความเป็นไปหรือวิวัฒนาการของสิ่งทั้งหลายโดยแสดงลำดับได้ดังนี้

ก. อุบัติการณ์ บังเกิดเป็นภาวะอันสุขุม ซึ่งคงสภาพเป็นปกติซับซ้อนอยู่ภายใน ยังไม่แสดงออกให้ปรากฏเป็นเอกเทศได้แก่ (นับต่อจากบุรุษและประกฤติ)

๓) มหัต ภาวะที่เติบใหญ่ บางทีเรียกพุทธิ คือภาวะแห่งความตื่น ความตระหนักรู้

๔) อหังการ เป็นภาวะที่จำกัดความเติบใหญ่และความรู้ให้อยู่ในขอบเขต

๕-๙) ตันมาตร ๕ อันวิวัฒน์ออกมาจากฝ่ายตมคุณ คือ

- วรรณะ (สี) หรือรูป

- สัททะ (เสียง)

- คันธะ (กลิ่น)

- รสะ (รส)

- ผัสสะ (ความกระทบถูกต้องตัว)

ข. ปรากฏการณ์ บังเกิดเป็นสภาพที่สำแดงภาวะโดยเอกเทศ ปฏิสนธิเป็นปุคคลชีพ คือ เป็นมนุษย์และดิรัจฉาน เป็นต้น แต่ยังไม่มีพฤติการณ์ได้แก่

๑๐) มนัส คือ ใจ เป็นวิการคือการผันแปรทางฝ่ายสัตตวคุณ เป็นหัวหน้าในข้อต่อไปทั้งหมด มีลักษณะพิเศษให้รู้สึกตรึกตรองและปรารถนา ไม่มีผัสสะเอง ต้องอาศัยอินทรีย์เป็นสื่อ

๑๑-๑๕) ญาเณนทรีย์ ๕ เป็นวิการทางฝ่ายสัตตวคุณ คือ

- จักขุนทรีย์ (ตา)

- โสตินทรีย์ (หู)

- ฆานินทรีย์ (จมูก)

- กายินทรีย์ (กายหรือตัว)

๑๖-๒๐) ภูต หรือ มหาภูต หรือ สถุลภูต ๕ เป็นวิการทางฝ่ายตมคุณ เป็นที่อาศัยแห่งคุณทั้งหลาย คือ

- ปฐวี (ดิน) เป็นที่ปรากฏ คันธะ

- อาโป (น้ำ) เป็นที่ปรากฏ รสะ

- เตโช (ไฟ) เป็นที่ปรากฏ วรรณะ หรือ รูป

- วายุ (ลม) เป็นที่ปรากฏ ผัสสะ

- อากาศ (ช่องว่าง) เป็นที่ปรากฏ สัททะ

๒๑-๒๕) กรรเมนทรีย์ คืออวัยวะเพื่อประกอบกรรม ๕ เป็นวิการของฝ่ายสัตตวคุณ คือ

- ปาก

- ขา

- แขน

- ลำไส้

- คุยหฐาน

มูลการณ์ อุบติการณ์ และปรากฏการณ์ ๒๕ ข้อนั้น แต่ละอย่างเป็นสิ่งมีลักษณะเฉพาะตัว เรียกชื่อว่าเป็น ตัตตวะ หนึ่งๆ จึงรวมมี ตัตตวะ ๒๕

ค. พฤติการณ์ คือ พฤติกรรมของตัตตวะ ๒๕ นั้น ที่ปรากฏโดยปุคคลชีพ สำแดงภาวคุณ (ความดี ความชั่ว ความรู้ เป็นต้น ตามอำนาจคุณ ๓) ประสบสุขทุกข์วนเวียนเป็นวัฏสงสาร

โดยนัยนี้ อาตมัน หรือตัวตนที่แท้ของบุคคล จึงได้แก่บุรุษอันบริสุทธิ์เป็นอมฤต ต่างหากจากร่างกาย จิตใจ และตัวตนที่เข้าใจโดยสามัญ แต่เพราะเหตุที่มาเกลือกกลั้วพัวพันกับร่างกายเพราะมีรชคุณกับตมคุณ เป็นส่วนประกอบข้างมาก อาตมันนั้นจึงเอาตัวไปไขว้เขวปะปนกับกาย หลงผิดว่าอาตมันเป็นอันเดียวกับกาย ทำให้ต้องประสบชาติ มรณะ โศก ทุกข์ ทั้งหลายในโลกเรียกว่าตกอยู่ในพันธนาการ

จุดหมายสูงสุดของสางขยะ จึงได้แก่ การแยกบุรุษออกจากความสัมพันธ์กับประกฤติ (มิใช่การไปรวมเข้ากับชีวะอันสูงสุดอย่างใดอย่างหนึ่ง) ซึ่งกระทำได้โดยความรู้ชัดที่ทำให้อาตมันกำหนดเห็นความต่างของตนจากโลกฝ่ายวัตถุที่มีคติแห่งความวิวัฒน์และวินาศ เมื่อรู้ชัดเช่นนี้แล้ว ประกฤติหรือโลกฝ่ายวัตถุก็หมดอำนาจผูกพัน แต่ความรู้ชัดนี้จะเกิดได้ต้องอาศัยความรู้จักอาตมันหรือบุรุษนั้น วิถีทางที่จะให้เกิดความรู้นี้ ก็คือการเพิ่มพลังฝ่ายดี อันได้แก่สัตตวคุณให้มากขึ้น โยคะที่เป็นหลักปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนี้ จึงหมายถึงการเพียรเสริมสร้างสัดส่วนฝ่ายสัตตวคุณให้มากขึ้น

ในด้านทฤษฏี โยคะยอมรับนับถือตามหลักตัตตวะ ๒๕ ของสางขยะ แปลกแต่เพิ่มอิศวร คือพระเป็นเจ้า หรือ God เข้ามาเป็นตัตตวะที่ ๒๖ พระเป็นเจ้า ในความหมายของโยคะ ไม่ใช่พระผู้สร้างผู้ให้รางวัลหรือลงโทษ เป็นเพียงบุรุษหรืออาตมันหนึ่ง แต่เป็นบุรุษที่สมบูรณ์ เป็นสัพพัญญู สัพพาภิภู เป็นอารมณ์ สำหรับเพ่งอย่างหนึ่งในการบำเพ็ญโยคะ อย่างไรก็ดี มีความเชื่อส่วนหนึ่งว่า อิศวรนี้เป็นตัวการชักนำให้เกิดความพัวพันและความแยกระหว่างบุรุษกับประกฤติ ที่เป็นเหตุให้เกิดความวิวัฒน์และวินาศของโลก ในสมัยต่อๆ มา เมื่อปรัชญาสาขาอื่นๆ ของฮินดูได้ยอมรับเอาหลักปฏิบัติของโยคะไปใช้แล้ว จุดหมายของการปฏิบัติโยคะก็เปลี่ยนไปตามหลักปรัชญานั้นๆ เช่น ในสาขาเวทานตะ การทำให้ชีวาตมันเข้ารวมกับปรมาตมันโดยสมบูรณ์ จัดเป็นจุดหมายสูงสุดของโยคะ

ปรัชญาสางขยะ พร้อมด้วยโยคะอันเป็นส่วนเสริมนี้ ได้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อปรัชญาฮินดู ดังปรากฏกระแสความคิดและหลักธรรมที่รับถ่ายทอดสืบมาในคัมภีร์ มนูธรรมศาสตร์ มหาภารตะ ปุราณะ ภควัทคีตา และปรัชญาสาขาย่อยๆ ในยุคหลังๆ ของฮินดูแทบทุกสาขา ตลอดจนศิลปะ เวชศาสตร์ และวิทยาการอื่นๆ

หลักปฏิบัติของโยคะ

ผู้ปรารถนาความรู้ในอาตมันหรือบุรุษ จะต้องระงับพฤติกรรมทางร่างกาย การรับรู้ทางอินทรีย์ภายนอก และพฤติกรรมของจิตทั้งหมด ให้เหลือแต่ตัวความรู้อันบริสุทธิ์ที่เป็นตัวบุรุษเพียงอย่างเดียว จึงจักทราบชัดว่าอาตมันหรือบุรุษเป็นอิสระอยู่เหนือและต่างหากจากร่างกาย จิตใจ อารมณ์และความรู้สึกที่พัวพันทั้งปวง จะไม่ไขว้เขวหลงผิดยึดเอาสิ่งที่พัวพันนั้นเป็นอาตมันต่อไป การปฏิบัติตามหลักของโยคะ (แปลตามตัวอักษรว่า ประกอบคือประกอบจิตเข้ากับอารมณ์ที่เพ่งในภายใน) จึงหมายถึง วิธีการที่จะทำให้จิตสงบนิ่ง ระงับจากพฤติกรรมและการรับรู้ทั้งหมด กำหนดแน่วแน่ผูกอยู่กับอารมณ์ที่เพ่งอย่างเดียวในภายใน จนเกิดภาวะที่เรียกว่าสมาธิ ข้อปฏิบัติเช่นนี้เป็นการทำให้กระแสความคิดปราศไปจากรชคุณและตมคุณ บริสุทธิ์ขึ้นโดยลำดับ และพลังฝ่ายสัตตวคุณเพิ่มขึ้นจนเหลือแต่สัตตวคุณอย่างเดียว ทำให้มองเห็นบุรุษแจ่มชัดเพราะปราศจากสิ่งมัวหมองเคลือบคลุม จนในที่สุดจะถึงภารกิจสุดท้ายอย่างเดียว คือสัตตวคุณนั้นกำหนดรู้ความต่างของตนจากบุรุษ ดุจผู้มองเห็นเงาของตนในกระจกเงา และกำหนดรู้ได้ว่าเงานั้นมิใช่ตน เมื่อนั้นความบริสุทธิ์แห่งสัตตวคุณจะเสมอด้วยความบริสุทธิ์แห่งบุรุษ เมื่อขจัดความหลงผิดขั้นสุดท้ายที่ทำให้เข้าใจไขว้เขวระหว่างเงากับตนแล้วก็บรรลุถือไกวัลย์คือ ภาวะที่บุรุษผ่องแผ้วแยกพ้นจากความพัวพัน อันเป็นจุดหมายสูงสุดของสางขยะและโยคะ

หลักปฏิบัติแห่งโยคะ ที่ปรากฏในสมัยพุทธกาล และที่ท่านปตัญชลีประมวลแสดงไว้ในโยคสูตร ถือว่าเป็นโยคะอย่างเลิศเรียกว่า ราชโยคะ เป็นโยคะแบบแท้จริงและสูงสุด มุ่งการฝึกจิตเป็นสำคัญ ในภายหลังได้มีโยคะแบบอื่นๆ เกิดเพิ่มขึ้นหลายอย่าง ซึ่งมีวิธีการเบื้องต้นและผลที่ต้องการบางอย่างในระหว่างแปลกออกไป กล่าวเฉพาะที่สำคัญคือ

๑. กรรมโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยการกระทำอันไม่มีความผูกพัน

๒. ภักติโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยความภักดีในองค์พระเป็นเจ้า

๓. ชญาณโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยความรู้แจ้งในองค์บรมสัตย์

๔. มันตรโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยอาศัยมนตร์ ในการบูชาเทพเจ้าด้วยความจงรักภักดี

๕. ลยโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยอาศัยความรู้ในจักร กล่าวคือศูนย์รวมอำนาจจิตที่อยู่ในส่วนต่างๆ แห่งร่างกาย

๖. หฐโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยการฝึกฝนทางร่างกาย

๗. ราชโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยการฝึกฝนทางฝ่ายจิต

โยคะ ๓ อย่างแรก เป็นส่วนสำคัญแห่งหลักธรรมในภควัทคีตา ซึ่งเป็นคัมภีร์ยอดสุดของฮินดูยุคหลัง (แต่งหลังโยคสูตรของปตัญชลี; ตามคัมภีร์นี้ โยคะหมายถึงการเข้ารวมกับพระเป็นเจ้า) โยคะ ๔ อย่างหลังได้เป็นหลักใหญ่ในลัทธิตันตระ

หฐโยคะ เป็นโยคะที่อาจเกิดภายหลังอย่างอื่นๆ และเป็นแบบที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลกในสมัยปัจจุบัน ถึงกับเมื่อพูดถึงคำว่า โยคะ คนทั่วไปก็หมายถึงหฐโยคะนี้ คนจำนวนมากนำ หฐโยคะไปฝึกหัดมิใช่เพื่อประโยชน์ในทางศาสนาโดยตรง หากแต่มุ่งประโยชน์ทางการบริหารทรวดทรง เสริมสุขภาพ ทำให้ความคิดปลอดโปร่งและรักษาโรคเป็นต้น คัมภีร์หฐโยคะบางคัมภีร์ปรากฏว่า เป็นของในสายพระพุทธศาสนา

ลยโยคะ แสดงหลักทางสรีรวิทยาของคนซึ่งนำไปใช้ในหฐโยคะด้วย ควรกล่าวถึงในที่นี้เล็กน้อย หลักนั้นสอนว่า ที่ปลายล่างสุดของกระดูกสันหลัง มีพลังหญิงเรียกว่ากุณฑลินีและที่ขม่อมมีศูนย์พลังจิตซึ่งจัดเป็นเพศชายเรียกสหัสรระ เป็นรูปดอกบัวพันกลีบ ระหว่างศูนย์ทั้งสองนี้ มีเส้นเชื่อมแล่นผ่านสันหลังขึ้นไป เรียกว่า สุษุมนะ โดยมีศูนย์พลังจิตที่เรียกว่าจักร อยู่ระหว่าง ๖ แห่ง ในการปฏิบัติโยคีจะต้องนำเอาพลังกุณฑลินีแล่นตามเส้นสุษุมนะ ผ่านจักรทั้ง ๖ ขึ้นไปจนบรรลุจุดร่วมกับพลังสหัสรระจึงจะบรรลุโมกษะ เข้ารวมกับองค์พระเป็นเจ้า โยคีเจริญพลังจิตอย่างแรงกล้า จนสามารถควบคุมระบบประสาทอัตบาลได้ บังคับจังหวะการเต้นของหัวใจได้ ไม่ต้องกินอาหารและน้ำคราวละหลายๆ วัน ไม่ต้องหายใจได้นานๆ ความรู้ในเรื่องจักรช่วยในการรักษาโรค เช่น แก้ปวดฟันโดยนวดซี่โครง บรรเทาหืดโดยกดเบาๆ ที่กกหู เป็นต้น ถึงแม้จะมีการอวดอ้างความวิเศษของโยคะเกินความจริงไปบ้าง แต่ก็ปรากฏหลักฐานเป็นที่ยอมรับกันเป็นอันมากว่าโยคีบางคนสามารถควบคุมร่างกายได้อย่างพิเศษเกินสามัญ

ในการฝึกโยคะแต่ละแบบ มีขั้นตอนของการปฏิบัติที่เรียกว่า “ภูมิ” หลายขั้นต่างๆ กันไป (เช่นราชโยคะ ๑๕ ภูมิ, มันตรโยคะ ๑๖ ภูมิ, ภักติโยคะ ๙ ภูมิ, ลยโยคะ ๑๐ ภูมิ เป็นต้น) แต่จัดว่าเป็นหลักทั่วไปมีอยู่ ๘ ภูมิ นอกนั้นเป็นการขยายหรือย่นย่อจากภูมิทั้ง ๘ นี้ ภูมิ ๘ นั้นคือ

๑. ยมะ การสำรวมตน โดย

ก. อหิงสา เว้นจากการทำร้ายสิ่งมีชีวิต

ข. สัตยะ มีสัจจะทั้งกาย วจี และมโนทวาร

ค. อัสเตยะ เว้นจากอทินนาทาน

ง. พรหมจรรย์ ถือเป็นพรหมจารี

จ. อปริเคราะห์ ไม่ครอบครองถือสมบัติ

๒. นิยมะ การฝึกนิสัย โดย

ก. เศาจะ ชำระร่างกายด้วยการอาบน้ำ กินอาหารสะอาด เป็นต้น และชำระจิตโดยปลูกฝังความรู้สึก ความคิดที่ดี

ข. สันโดษ ยินดีตามที่ได้ ไม่เห็นแก่สะดวกสบาย

ค. ตบะ บำเพ็ญตบะ มีทนร้อนหนาว เป็นต้น

ง. สวาธยายะ ท่องบ่นพระคัมภีร์

จ. อิศวรประณิธาน ใส่ใจกำหนดรำลึกถึงองค์พระเป็นเจ้าและยอมมอบตนต่อพระองค์

๓. อาสนะ การดำรงร่างกายในท่าที่เอื้อแก่สุขภาพและเกื้อกูลแก่สมาธิ ท่ามีมากมาย (ทฤษฎีว่ามีถึง ๘,๔๐๐,๐๐๐ ท่า) แต่ที่นิยมกันมากที่สุด คือท่าดอกบัว (ปัทมาสนะ)

๔. ปราณยามะ การควบคุมลมหายใจ เพื่อทำกายและจิตให้มั่นคง สามารถหยุดหายใจได้นานๆ และยึดภาวะแห่งสมาธิให้ยาวออกไป หลักปฏิบัติสำคัญมี ๓ ส่วน คือ

๑. ปูรกะ ประจุเข้า

๒. กุมภกะ เก็บขังไว้ดุจกายเป็นหม้อ

๓. เรจกะ ถ่ายออก

ทั้งนี้ มีจังหวะและปริมาณตามรายละเอียดที่สอนไว้

๕. ปรัตยาหาร การเหนี่ยวรั้งอินทรีย์ เว้นจากการรับรู้อารมณ์ที่ยั่วยวนใจทางอินทรีย์ทั้งหลาย ข่มบังคับให้อยู่กับใจดุจเต่าหดอวัยวะ

๖. ธารณา การเพ่งหรือตั้งจิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์อันเดียว เช่น เพ่งจุดกึ่งระหว่างคิ้วทั้งสอง เพ่งเทวรูป หรือดวงจันทร์ เป็นต้น

๗. ธยาน ภาวะแห่งฌาน ที่จิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์อันเดียวแล้ว แต่กระแสจิตยังแล่นวนอยู่กับอารมณ์ที่เพ่งนั้น มีอาการส่ายชะงักดุจกระแสน้ำหยุดชั่วขณะแล้วไหลต่อไป สามารถรู้แจ้งภาวะแห่งอารมณ์ที่เพ่ง มองเห็นอาตมันเป็นเบื้องต้นแล้ว แต่ยังเลื่อนลอยหายไปได้อีก

๘. สมาธิ ภาวะที่จิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ที่แพ่งโดยสมบูรณ์ จิตดื่มด่ำซึมซาบเข้าไปในอารมณ์นั้นอย่างลึกซึ้ง จนกลมกลืนเข้ารวมในอารมณ์นั้นหมดความตระหนักรู้ในตัวเอง เทียบศัพท์ฝ่ายตะวันตกว่าเป็น Trance และเป็น Superconsciousness แบ่งได้เป็น ๒ ตอน คือ

๑. สวิกัลป, สัมปรัชญาต ภาวะแห่งสมาธิที่มีความตระหนักรู้ในภาวะที่ยังเป็น ๒ ฝ่าย ระหว่างผู้เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็น

๒. นิรวิกัลป, อสัมปรัชญาต ภาวะแห่งสมาธิที่ปราศจากภาวะอันเป็น ๒ สิ้นความตระหนักรู้ ในความต่างระหว่างผู้เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็นโดยสิ้นเชิง

หลักปฏิบัติทั้ง ๘ ภูมินี้ ปรัชญาสาขาเวทานตะ ได้รับมาปฏิบัติโดยสมบูรณ์ สำหรับเวทานตะ ภาวะแห่งสมาธิขั้นสุดท้ายก็คือ การที่ชีวาตมันได้เข้ารวมกับปรมาตมัน ละลายกลมกลืนไปในปรมาตมัน ดุจเกลือละลายในน้ำ ฉะนั้น

ในแง่การใช้ประโยชน์ กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้จากความที่กล่าวมาโดยลำดับว่า ผู้บำเพ็ญโยคะโดยทั่วไป มุ่งหวังผลต่างกันเป็น ๒ ประการคือ เพื่อบรรลุโมกษะอันเป็นจุดหมายสูงสุดอย่างหนึ่งและเพื่อพลังอำนาจพิเศษ ตั้งต้นแต่พลังทางสุขภาพขึ้นไปจนถึงความมีอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ อย่างหนึ่ง

สางขยะและโยคะในทัศนะของพระพุทธศาสนา

๑. สางขยะปรัชญาจัดเป็นสัสสตวาทอย่างหนึ่งซึ่งถือว่ามีอัตตา และอัตตาหรืออาตมันนั้นก็ดี โลกก็ดี เป็นของเที่ยงเป็นทฤษฎีที่แล่นไปปลายสุดข้างหนึ่ง ตรงข้ามกับพวกวัตถุนิยมที่เป็นอุจเฉทวาท และขัดกับหลักอนัตตา

๒. จุดหมายสูงสุดของสางขยะและโยคะ แต่เดิมที่ให้บุรุษแยกพ้นจากความเกลือกกลั้วพัวพันกับประกฤติก็ดี หรือโยคะที่นำมาใช้ในปรัชญาเวทานตะ เพื่อให้อาตมันเข้ารวมกับปรมาตมันก็ดี ยังเป็นความหลงผิดขั้นสุดท้าย ที่จบลงด้วยการยึดถือและติดในอัตตาอีกในที่สุด หาหลุดพ้นแท้จริงไม่

๓. หลักปฏิบัติแห่งโยคะ กล่าวโดยทั่วไป มีส่วนที่เข้ากันได้ประยุกต์ได้หรือสัมพันธ์กันกับพระพุทธศาสนามากพอสมควร แต่มีข้อแตกต่างและข้อที่ถือว่าเป็นความบกพร่องเฉพาะอย่างสำคัญดังนี้

- การปฏิบัติขั้นสุดท้ายของโยคะ จบลงด้วยสมาธิ ที่ทำให้สำนึกแห่งจิตดื่มด่ำซึมซาบกลมกลืนเข้าไปในสิ่งที่เป็นอารมณ์แห่งการเพ่ง ตรงกับภาวะที่ศัพท์ฝ่ายตะวันตกเรียกว่า เป็น Mystic อย่างหนึ่ง เทียบทางพระพุทธศาสนาว่าอยู่ในขั้นของ ฌานสมาบัติ ซึ่งเป็นคุณวิเศษชั้นสูงและมีประโยชน์มาก ทำให้เกิดความสุขอย่างสูง สงบ ระงับกิเลสชั่วคราว และอาจใช้เป็นฐานของการปฏิบัติขั้นต่อไปได้ แต่อาจกลายเป็นโทษ ในเมื่อเข้าใจผิดว่าเป็นจุดหมายสูงสุด และหลงติดความน่าพึงพอใจของภาวะอันนี้ จัดเป็นภาวะที่หยุดนิ่ง ตัน และถลำเลยผิดไปอย่างหนึ่ง โทษข้อนี้นั่นเองที่เป็นเหตุให้พระโพธิสัตว์เสด็จหลีกออกจากสำนักของอาฬารดาบสและอุททกดาบส ในเมื่อได้บรรลุภูมิธรรมสูงสุดในสำนักของอาจารย์ทั้งสองท่านนั้นแล้ว

- การปฏิบัติขั้นสุดท้ายของโยคะนี้ สิ้นสุดลงด้วยสมาธิ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสมถะ เป็นความสำเร็จเพียงขั้นหนึ่งของการปฏิบัติธรรม สมาธิที่ได้นี้ จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติขั้นปัญญา ที่เรียกว่าวิปัสสนาต่อไป จึงจะเข้าถึงจุดหมายสูงสุดได้ และสมาธิที่ต้องการในการเจริญวิปัสสนาต่อไปนั้น จึงจะเข้าถึงจุดหมายสูงสุดได้และสมาธิที่ต้องการในการเจริญวิปัสสนาต่อไปนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นมาถึงขั้นได้ฌานสมาบัติอย่างนี้ ยิ่งกว่านั้นถ้าได้ฌาณสมาบัติถึงขั้นที่จิตซึมซาบกลมกลืนเข้าไปในอารมณ์ที่เพ่ง กลายเป็นความหยุดนิ่งอย่างนั้นแล้ว กลับกลายเป็นความติดตัวก้าวหน้าต่อไปไม่ได้ ต้องย้อนถอยกลับมาสู่ภาวะ ที่จิตมีความตระหนักรู้มีสติชัด ทำงานได้ก่อน แล้วน้อมไปในทางวิปัสสนา ใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายต่อไป จึงจะบังเกิดผลสำเร็จในขั้นสูงสุด คือวิมุตติที่แท้จริง สมาธิที่เป็นจุดจบของโยคะ จึงต้องให้ย้อนกลับมาเป็นจุดตั้งต้นอีกตอนหนึ่งในพระพุทธศาสนา กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าฌานก็ดี สมาธิในฌานก็ดี มิใช่จุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงวิธีการหนึ่ง ประโยชน์ที่ประสงค์ในการบำเพ็ญฌาณอยู่ที่จะทำจิตให้อยู่ในสภาพที่เรียกว่า "นุ่มนวลควรแก่การงาน" แล้วน้อมเอาจิตนั้นไปใช้ประโยชน์ทางปัญญาตามวิธีการที่เรียกชื่อว่า วิปัสสนา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่มีรายละเอียดแตกต่างออกไปเป็นอีกระบบหนึ่งต่างหาก

- โดยที่ฌาน และสมาธิในฌาน มิใช่จุดหมาย พุทธธรรมจึงแนะนำวิธีการนำสมาธินั้นไปใช้ในด้านต่างๆ เพื่อให้สมาธิบังเกิดประโยชน์อย่างมากที่สุด ตามที่ปรากฏในหลักฐานทางคัมภีร์อย่างน้อย ๔ อย่าง คือ เพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนกายและจิตหาความสุขยามว่าง เพื่อความมีสติสัมปชัญญะ เพื่อญาณทัศนะและเพื่อเตรียมจิตให้พร้อมในการกำจัดอาสวะ

๔. คำว่า “โยคะ” ที่นำมาใช้ในพระพุทธศาสนาตามความหมายในลัทธิเดิมมีที่ใช้น้อย ส่วนมากใช้ในความหมายต่อไปนี้ คือ

๑. กิเลสที่ผูกมัดจิตไม่ให้เป็นอิสระ

๒. ความเพียร การประกอบ การลงมือปฏิบัติ

๓. การใช้ความคิด ความพินิจพิจารณา การคิดสืบค้นหรือการใช้ปัญญา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.