พุทธศาสนากับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาพระพุทธศาสนา โดยวิธีการเปรียบเทียบกับศาสนาพราหมณ์

เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นให้ท่ามกลางสังคมที่เชื่อถือ และดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาพราหมณ์ และหลักคำสอนจำนวนมากในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะแก้ไขความเชื่อถือตามหลักศาสนาพราหมณ์ ดังนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาโดยวิธีเปรียบเทียบกับคำสอนในศาสนาพราหมณ์ จึงช่วยให้เข้าใจคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเมื่อพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ การศึกษาในแง่นี้ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

หลักศาสนาพราหมณ์ข้อสำคัญที่ควรนำมาศึกษาเปรียบเทียบ คือ

๑. พระเวท

๒. คำสอนเกี่ยวกับ พรหม อาตมัน และปัญหาอภิปรัชญาต่างๆ

๓. ยัญ

๔. ตบะ

๕. วรรณะ

๖. ความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ก่อนศึกษา ควรทำความเข้าใจกันไว้ก่อนว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนคัดค้าน หักล้างหรือแก้ไขหลักการต่างๆ เหล่านี้ พระองค์คงจะมิได้ทรงมองภาพของหลักการเหล่านี้ในรูปที่รวมยอดเป็นศาสนาหนึ่งอย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน คือ มิได้ทรงมุ่งหมายว่าจะหักล้างหรือทำลายศาสนาหนึ่ง ที่เรียกว่าศาสนาพราหมณ์แล้วตั้งศาสนาขึ้นมาใหม่อีกศาสนาหนึ่งที่ชื่อว่าพระพุทธศาสนา ในความหมายอย่างที่เข้าใจกันทุกวันนี้ แต่ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าหลักความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติต่างๆ ที่พราหมณ์สั่งสอนกันมาและประชาชนพากันยึดถือตามนั้น มีความผิดพลาดเลอะเลือนหรือบกพร่องอย่างไรๆ แล้วทรงมีพระประสงค์จะให้พราหมณ์เหล่านั้น และประชาชนทั้งปวงได้ทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องและเข้าถึงความจริงแท้ จึงได้ทรงสั่งสอนชี้ข้อผิดพลาดบกพร่องเลอะเลือนนั้นให้ แนะนำให้เลิกเชื่อถือปฏิบัติ หรือแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่แล้วแต่กรณี ทรงประกาศสิ่งที่เรียกว่าธรรม คือหลักแห่งความจริง และความดี และทรงประพฤติปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง

เมื่อมีผู้เห็นตามและทำตามมากขึ้น ก็ปรากฏรูปเด่นชัดขึ้นโดยลำดับ กลายเป็นสถาบันใหญ่โตขึ้น ผู้ศึกษาในภายหลังก็ประมวลเอาความเชื่อถือและลัทธิที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตามสายเดิมรวมเข้า แยกเรียกเป็นศาสนาหนึ่ง เมื่อของเดิมรวมตัวเข้าด้วยกันกำหนดรูปเป็นอันหนึ่งแล้ว หลักคำสอนและการปฏิบัติใหม่ที่ขัดแย้งกันไม่ได้ ก็กลายเป็นอีกอันหนึ่ง

การศึกษาแบบเปรียบเทียบนี้ นอกจากจะช่วยให้เข้าใจพระพุทธศาสนาดีขึ้นแล้ว ยังเป็นวิธีหนึ่งที่จะรักษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้ให้ถูกต้องบริสุทธิ์ ตรงตามความหมายเดิมด้วย ทั้งนี้ เพราะคำเรียกชื่อหลักธรรมและข้อปฏิบัติต่างๆ ใน พระพุทธศาสนา คล้ายกันหรือตรงกันกับในศาสนาพราหมณ์อยู่เป็นอันมาก แต่ความหมายแตกต่างกัน ถ้าไม่ตระหนักถึงความแตกต่างกัน และไม่ค่อยระมัดระวังไว้ ในระยะยาว ความเข้าใจและการประพฤติปฏิบัติอาจเลือนรางกลับไปเป็นอย่างเดิม เหมือนเมื่อก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติก็ได้ และแทนที่จะเป็นการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ก็กลายเป็นยึดถือศาสนาพราหมณ์ไปโดยไม่รู้ตัว

ฐานะของเวทในศาสนาพราหมณ์

๑. มันตระทั้งหลาย มีกำเนิดจากองค์พระเป็นเจ้าผู้สูงสุดโดยตรงมิใช่วิสัยที่มนุษย์จะแต่งขึ้น (อเปารุเษยะ) ฤษีปางก่อนได้สดับมาจากองค์พระเป็นเจ้า จึงเรียกว่า “ศฺรุติ”

๒. เป็นความรู้ที่จำเป็นเพื่อการเข้าถึงพรหม อันเป็นจุดหมายสูงสุดของศาสนาพราหมณ์

๓. เป็นความจริงแท้แน่นอน นิรันดร ไม่อาจทำลายได้ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ยั่งยืนยิ่งกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย จะต้องเชื่อถือเป็นจริงโดยส่วนเดียว

๔. เป็นความรู้อย่างสูงสุด เป็นลัทธิจำกัดเฉพาะชนวรรณะสูงเท่านั้นที่จะสดับเล่าเรียน โดยใช้ภาษาพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ ที่วิวัฒน์สืบมาเป็นภาษาสันสกฤต เป็นสื่อถ่ายทอด

ท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อคัมภีร์พระเวท

๑. มันตระทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ฤษีในปางก่อนร้อยกรองแต่งขึ้นมิใช่เกิดจากพรหม

๒. การรู้พระเวท ไม่ทำให้เข้าถึงพรหมได้ เพราะแม้แต่ฤษียุคแรกที่แต่งมันตระเองก็ไม่เคยเห็นพรหม การเข้าถึงสัจธรรมอันเป็นจุดหมายของศาสนา ไม่จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาพระเวท

๓. มิใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะต้องเชื่อถือตายตัวโดยไม่มีเหตุผลสุตะทั้งหลายแม้พุทธพจน์เองก็เป็นสิ่งสำหรับนำมาศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง เป็นทางให้เกิดปัญญา และรู้แจ้งสัจธรรม มิใช่สิ่งสำหรับต้องเชื่อ

๔. คนทุกชั้นวรรณะมีสิทธิเสมอกันในการสดับสุตะ หรือศึกษาเล่าเรียนคำสอนในศาสนา และสามารถเข้าถึงสัจธรรมได้ ในการสั่งสอนก็ให้ใช้ภาษาสามัญของประชาชน ไม่ให้มีการผูกขาดความรู้

๕. นำคำว่า “เวท” และ “ไตรเพท” (สันสกฤต : ตฺริยา วิทฺยา; บาลี : เตวิชฺชา) มาใช้ในความหมายใหม่ หมายถึงความรู้แจ้งประจักษ์แก่ตน (มิใช่ในคัมภึร์) ซึ่งเกิดจากการเพียรพยายามคิดค้นฝึกฝนปฏิบัติ คำแสดงคุณลักษณะของพราหมณ์ ผู้ศึกษาเชี่ยวชาญเจนจบพระเวท เช่น เวทานฺตคะ (ผู้ถึงที่สุดแห่งเวท, บาลี : เวทนฺตคู) เวทปารคะ (ผู้ถึงฝั่งแห่งเวท, บาลี: เวทปารคู) ถูกนำมาใช้ในความหมายใหม่ หมายถึงบุคคลผู้ตรัสรู้ เข้าถึงสัจธรรมด้วยการฝึกอบรมทางปัญญา โดยมิได้เกี่ยวข้องกับคัมภีร์พระเวทแต่อย่างใด

พรหม อาตมัน และปัญหาอภิปรัชญา

ความหมายในศาสนาพราหมณ์

๑. มีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดองค์หนึ่ง ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม เป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นผู้สร้างเทวดา มนุษย์ สัตว์และสิ่งทั้งหลาย แรกทีเดียวเรียกเทพองค์นี้ว่า ประชาบดี ในสมัยต่อมาเรียกว่าพรหม

๒. ในสมัยต่อมา (ยุคอุปนิษัท) พราหมณ์ได้พัฒนาหลักศาสนาของตนให้เป็นปรัชญา โดยสอนว่าเบื้องหลังพรหมหรือพระผู้เป็นเจ้านั้น มีดวงชีวะ หรือสภาวะที่เป็นแก่นแท้ของสิ่งทั้งปวงอยู่อย่างหนึ่ง เป็นภาวะที่สากล เป็นอันหนึ่งอันเดียวแทรกซึม อยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น ไม่มีต้นกำเนิดไม่เกิดไม่ตาย มีอยู่ได้เองเป็นนิรันดร เป็นแดนเกิดของสิ่งทั้งปวง และเป็นที่กลับไปรวมอยู่ของสิ่งทั้งปวง ตอนแรกพรหมก็เกิดจากภาวะนี้ก่อน ภาวะนี้เรียกว่าพรหมันหรือปรมาตมัน (อาตมันใหญ่) ดวงชีพของบุคคลแต่ละคนก็คืออาตมัน แต่ละอาตมันซึ่งเป็นส่วนย่อยๆ แยกออกไปจากอาตมันใหญ่ คือ ปรมาตมัน หรือพรหมนั่นเอง

๓. ในที่สุด อาตมันแต่ละบุคคลจะต้องกลับไปรวมกับพรหมันนั้น การ (ทำให้อาตมันกลับ) เข้ารวมกับพรหมัน (บาลีเรียกพรหมสหัพยตา) เป็นจุดหมายสูงสุดของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู

๔. เนื่องด้วยพรหม พรหมัน อาตมันก็ดี การถือกำเนิดของสิ่งทั้งหลายจากพรหมันและจากพรหมก็ดี การที่อาตมันจะเข้าอยู่ร่วมกับพรหมก็ดี เป็นหลักสำคัญของศาสนาพราหมณ์ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องมองไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้โดยทางประสาทสัมผัส พราหมณ์จึงพยายามคิดค้นหาสาเหตุและข้อถกเถียงต่างๆ มาบรรยายสภาวะของสิ่งเหล่านี้กันอย่างมากมาย ทำให้ศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะยุคที่เป็นฮินดู มีคำสอนเกี่ยวกับปัญหาทางอภิปรัชญาเป็นอันมาก

ท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อพรหม อาตมันและปัญหาอภิปรัชญา

๑. เทพเจ้ายิ่งใหญ่ผู้สร้างสิ่งทั้งปวงไม่มี มีแต่กฎแห่งเหตุและผลอันเป็นกฎธรรมชาติ

๒. อาตมันไม่มี มีแต่กระบวนการแห่งชีวิตที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติแห่งเหตุนั้น เมื่ออาตมันไม่มี เรื่องพรหมันและการเข้าร่วมกับพรหมันก็ไม่ต้องพูดถึง

๓. ปัญหาอภิปรัชญาเรื่องพรหม พรหมัน อาตมัน นั้นไร้ประโยชน์ไม่เกี่ยวกับชีวิตจริง จะรู้ปัญหาเหล่านั้นหรือไม่ ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่มนุษย์ประสบอยู่ในชีวิตจริงได้

๔. เรื่องที่จะต้องสนใจเกี่ยวข้องกับทุกคนโดยตรง ก็คือการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในชีวิตจริง ทำชีวิตนี้ให้มีความสุข มีคุณค่าอย่างแท้จริง แทนที่จะไปวุ่นวายเรื่องเข้าร่วมอยู่กับพรหม ควรมาสนใจแก้ไขปรับปรุงเรื่องชีวิตนี้ ถ้าจะอยู่ร่วมกับพรหม ก็ควรเป็นพรหมเสียในชีวิตนี้ทีเดียว

๕. ใช้คำว่า “พรหม” ในความหมายใหม่ ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมและปฏิบัติได้จริงในชีวิตนี้

  • ก. ถือเอาความหมายในแง่ที่เป็นจุดหมายสูงสุด หรือภาวะอันประเสริฐสุด นำคำว่า พรหม มาใช้เรียกบุคคลผู้บรรลุคุณธรรมชั้นสูงระดับหนึ่ง หมายความว่า เป็นผู้ประเสริฐ หรือใช้เรียกตัวคุณธรรมที่ประเสริฐ ดีงาม สูงส่งเป็นอุดมคติ เช่น พรหมวิหาร เป็นต้น
  • ข. ถือว่าพรหมที่เป็นตัวบุคคลนั้น หมายถึงสัตว์โลกประเภทหนึ่งแต่เป็นชั้นสูง ถึงจะมีอายุยืนยาวหน่อย แต่ก็ต้องเกิด ต้องตายเหมือนสัตว์อื่นๆ ไม่ใช่เป็นผู้สร้างโลกบันดาลชีวิต มนุษย์ฝึกอบรมตนดีแล้ว ยังประเสริฐกว่าพรหมและพรหมจะเคารพบูชา
  • ค. หมายถึงบิดามารดา ในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดแก่บุตรธิดาและประกอบด้วยคุณธรรมต่อบุตรธิดา
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.