พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

มนุษย์จะประสบคุณค่าสูงสุดได้
ต้องให้วิทยาศาสตร์กับศาสนาบรรลุจุดบรรจบ

ก่อนจะผ่านตอนนี้ไป ขอตั้งข้อคิดข้อสังเกตแทรกเข้ามาอีกสักหน่อย การเกิดขึ้นและเจริญพัฒนาของวิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมานี้ เรายอมรับโดยไม่เถียงว่าได้ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางสติปัญญาแก่มนุษย­ชาติ แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่า การเกิดขึ้นและเจริญของวิทยาศาสตร์นั้น ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมถอยในทางสติปัญญาแก่สังคมมนุษย์ด้วย เรื่องเป็นอย่างไร

ในยุคที่ผ่านมา เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นและเจริญก้าวหน้า สังคมมนุษย์ได้ชื่นชมนิยมวิทยาศาสตร์มาก มนุษย์พากันตื่นเต้นกับการค้นพบความจริงใหม่ทางวิทยาศาสตร์ และหลงใหลคลั่งไคล้กับฤทธิ์เดชอันน่าอัศจรรย์ของเทคโนโลยี แล้วก็พากันฝากความหวังไว้กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าจะตอบคำถามและแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง ความจริงทุกอย่างของธรรมชาติจะถูกเปิดเผย แล้ววิทยาศาสตร์ก็จะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์

มนุษย์ที่เชื่อมั่นและฝากความหวังไว้กับวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ได้หันกลับไปตั้งข้อสงสัยเอากับศาสนาและคำตอบเกี่ยวกับความจริงต่างๆ ที่ศาสนาแสดงไว้ บ้างก็หมดความเชื่อถือ ปฏิเสธ หรือทอดทิ้งศาสนาไปเลย

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ความจริงของธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ สนใจศึกษาค้นคว้านั้นเป็นเพียงบางด้านบางส่วน คือโลกธรรมชาติแห่งวัตถุภายนอกเท่านั้น วิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับโลกธรรมชาติแห่งชีวิตภายในของมนุษย์ ซึ่งเป็นแดนที่มนุษย์เคยได้คำตอบจากศาสนา

การที่มนุษย์สมัยใหม่ผละจากศาสนานั้น ถ้าหมายถึงเฉพาะศาสนาที่เกิดมีเป็นรูปแบบหรือสถาบันศาสนา ก็ไม่เสียหายมากนัก แต่การผละหรือทอดทิ้งศาสนาในที่นี้ หมายถึงการทอดทิ้งไม่ใส่ใจต่อการแก้ปัญหาภายในของมนุษย์เอง ในส่วนที่เคยเป็นแดนสนใจของศาสนา โดยหลงไปว่าวิทยาศาสตร์จะให้คำตอบทั้งหมด

เมื่อวิทยาศาสตร์ก็มองข้ามไป ไม่ได้ให้คำตอบด้านนี้ และมนุษย์เองก็ผละทิ้งไป ก็เกิดช่องโหว่อันใหญ่ คำตอบเท่าที่คิดค้นกันมาของศาสนาถูกละเลย และเกิดความสะดุดชะงักในกระแสการพัฒนาทางสติปัญญาของมนุษย์ในทางที่จะรู้เข้าใจและจัดการกับธรรมชาติของมนุษย์ในด้านนี้ และมิใช่แค่สะดุดชะงักเท่านั้น บางครั้งก็กลายเป็นการถอยหลังย้อนกลับไปไกลทีเดียว

ธรรมชาติของโลกและชีวิต พร้อมทั้งปัญหาของมนุษย์เอง ไม่อนุญาตให้มนุษย์ทอดทิ้งหรือละเลยความต้องการทางศาสนาไปได้ คำตอบสำหรับความจริงพื้นฐานที่รวบยอดครอบคลุมและใช้การทันทีก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์อยู่ตามเดิม

เมื่อวิทยาศาสตร์ไม่ให้และไม่สามารถให้คำตอบที่จะสนองความต้องการอย่างนี้ได้ และเมื่อมนุษย์คลายความตื่นเต้นต่อวิทยาศาสตร์ลง พร้อมกับที่วิทยาศาสตร์คลายเสน่ห์ มนุษย์ก็กลับรู้สึกตัวต่อความต้องการพื้นฐานของตน มนุษย์เหล่านี้ก็กลับหันมาแสวงหาคำตอบทางศาสนากันใหม่

แต่ในเมื่อกระแสการพัฒนาสติปัญญาด้านนี้ของมนุษย์ขาดตอนหรือเลือนรางไปแล้ว การแสวงหานั้นบางทีก็เป็นไปอย่างเปะปะ บางทีก็กลายเป็นการเริ่มต้นใหม่ ดังที่เกิดเป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาในสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างสูงในทางวิทยาศาสตร์ เกิดสภาพหลงใหลงมงายท่าม​กลางความเจริญของวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าวิทยาศาสตร์จะปราศจากคุณค่าทางสติปัญญาแก่พัฒนาการทางด้านศาสนาเสียทีเดียว เป็นที่รู้กันว่าทางฝ่ายศาสนา โดยเฉพาะในรูปที่เป็นสถาบัน ได้เคยมีปัญหาเป็นอันมาก บางครั้งบางแห่งถึงกับมีบทบาทในการบีบคั้นปิดกั้นการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ ศาสนาบางแห่งก็ลงร่องยึดติดอยู่กับความเชื่อและข้อปฏิบัติที่ไร้เหตุผล บางศาสนาก็คลาดเคลื่อนเขวออกไปจากแนวทางและหลักการที่แท้ของตนเอง

ความเจริญของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทัศนคติและวิธีวิทยา­ศาสตร์ ได้ก่อผลกระทบต่อสถาบันศาสนาและกระแสความโน้มเอียงบางอย่างทางศาสนาในสังคม อย่างน้อยก็ทำให้เกิดเป็นโอกาส หรือเป็นตัวกระตุ้นให้วงการศาสนามีการทบทวนปรับตัวใหม่ หรือเปลี่ยนท่าทีใหม่และตรวจสอบคำตอบของศาสนาต่างๆ เท่าที่มีอยู่แล้ว ตลอดจนมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อีกเมื่อโอกาสมาถึง

เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ พอดีกับที่ในวงการของวิทยาศาสตร์เองบางส่วนได้ตื่นตัวใหม่ และเริ่มมีการปรับเปลี่ยนท่าที นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำไม่น้อยเห็นว่า การที่วิทยาศาสตร์จะให้คำตอบที่แสดงความจริงของธรรมชาติแก่มนุษย์ได้อย่างถึงขั้นพื้นฐานหรือครอบ​คลุมนั้น จำเป็นจะต้องขยายขอบเขตการศึกษาสืบค้นให้พ้นเลยขอบเขตโลกธรรมชาติแห่งวัตถุออกไป คือจะต้องสนใจธรรมชาติส่วนที่เคยเป็นแดนสนใจของศาสนามาแต่เดิมด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้ามองในแง่ของคนหมู่ใหญ่ โดยเฉพาะในสังคมของประเทศที่ตามรับความเจริญอันเนื่องมาจากวิทยาศาสตร์ เจตคติและวิธีการวิทยาศาสตร์ที่เป็นสาระสำคัญของวิทยาศาสตร์ดูจะไม่ค่อยเจริญงอกงาม และไม่สู้มีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจ ตลอดจนการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนทั้งหลาย

ตัววิทยาศาสตร์เอง ไม่ใช่เป็นจุดที่สนใจของคนทั่วไป แม้ว่าคนเหล่านั้นจะมองวิทยาศาสตร์ด้วยความชื่นชมเชื่อถือ เขาก็จะมีความเชื่อในลักษณะที่เหมือนกับเห็นเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์เดชมาก แล้วก็เชื่อแบบหลงใหล หรืองมงาย เหมือนกับหวังในอำนาจดลบันดาลของวิทยา­ศาสตร์ มิใช่เป็นความเชื่อเชิงเหตุผล หรือแม้แต่ทำให้มีความใฝ่รู้ในความจริง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงวิทยาศาสตร์ โดยมองข้ามวิทยาศาสตร์ไปหาเทคโนโลยี และมองในแง่ของการที่จะเสพเสวยหรือบริโภคเทคโนโลยี หรือหาผลประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ ความเจริญของวิทยาศาสตร์ จึงไม่ค่อยมีอิทธิพลหรือส่งผลอย่างมีคุณค่าทางด้านความรู้และความคิดหรือในทางภูมิปัญญาแก่ประชาชน พูดสั้นๆ ว่า สาระของวิทยาศาสตร์หาได้เจริญงอกงามขึ้นมาไม่

มองในแง่ดี เวลานี้คนทั่วไปที่ได้คลายความตื่นเต้นต่อวิทยาศาสตร์ ก็ได้หันมาเห็นตระหนักถึงความต้องการทางศาสนาของตน และพากันแสวงหาคำตอบทางด้านนี้กันอีก ศาสนาต่างๆ ที่มีมากหลาย ก็จะสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาในระดับต่างๆ กัน และพร้อมกันนั้น วงการวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยบางส่วนก็ได้รู้ตระหนักถึงขีดจำกัดแห่งการแสวงหาความจริงในธรรมชาติของวิทยาศาสตร์แบบที่ถือกันมา และกำลังขยายขอบเขตการศึกษาค้นคว้าออกมาสู่แดนของศาสนาด้วย จึงอาจจะทำให้เกิดความหวังขึ้นได้ว่า วิทยาศาสตร์ที่พัฒนาสูงสุดจะมาบรรจบประสานกลมกลืนเข้ากับศาสนาที่พัฒนาสูงสุด และสามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงแท้ พร้อมทั้งสันติสุข และอิสรภาพที่ชีวิตและสังคมต้องการ

ถ้ามองไปอีกแง่หนึ่ง วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกับเป็นความพยายามที่จะพิสูจน์หาความจริงที่ศาสนาบอกไว้ล่วงหน้า คือ ในระหว่างที่มนุษย์ยังรอไม่ได้นี่ เราต้องการคำตอบชนิดหนึ่งที่ทันทีทันใดไว้ก่อน และคำตอบนั้นกลายเป็นศาสนา เราก็พูดว่า ศาสนาให้คำตอบอย่างนี้ ที่จริงก็คือ คำตอบของมนุษย์นี่แหละกลายเป็นศาสนา แต่เราพูดเป็นภาพพจน์ว่า ศาสนาให้คำตอบอย่างนี้ประเภทนี้ คำตอบนี้ให้ไว้ ยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่จำเป็นต้องใช้ไปก่อน แล้ววิทยาศาสตร์ก็ค่อยๆ พิสูจน์คำตอบนี้ต่อไป

เมื่อมองอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์เป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ที่จะพิสูจน์ความจริงที่ศาสนาบอกไว้ล่วงหน้า และถ้ามองอย่างนี้ก็เป็นการประสานกลมกลืนกันอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่า เมื่อเริ่มจากจุดกำเนิดร่วมกันแล้ว พอถึงปลายทางมันก็จะไปบรรจบรวมกันอีกเหมือนกัน

ทีนี้ วิธีการวิทยาศาสตร์ที่ใช้กันมานั้น ต่อไปภายหน้าอาจจะปรากฏขีดจำกัดขึ้นมาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือไม่อาจพิสูจน์ความจริงที่ศาสนาบอกได้ ดังที่ตอนนี้ก็ชักจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจำนวนไม่น้อยกำลังคิดอย่างนั้น เขาคิดว่าความจริงขั้นสุดท้ายที่ศาสนาบอกนั้น วิธีการวิทยาศาสตร์จะไม่อาจบอกได้เลย ไม่ว่าในยุคสมัยใดทั้งสิ้น เวลานี้นักฟิสิกส์ชั้นนำหลายคนคิดอย่างนี้ ถ้ามีเวลาเราจะกลับมาพูดเรื่องนี้กันอีก

เอาละ เป็นอันว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของบุคคลบางคนบางกลุ่มที่คิดหาความรู้ ซึ่งได้กลายไปเป็นเรื่องของวิชาการ แต่ศาสนาเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน ที่อยู่ในชีวิตจริง ทั้งที่เป็นส่วนตัวและที่อยู่รวมกันเป็นสังคม ที่จะต้องปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมของตน และหาจุดลงตัวในโลกหรือในธรรมชาติที่ตนอาศัยอยู่ วิทยาศาสตร์อาจจะทำให้ตัวของมันกลายเป็นเรื่องของทุกคนไปก็ได้ แต่พอวิทยาศาสตร์ไปถึงขั้นนั้น วิทยาศาสตร์จะกลายเป็นศาสนาไปทันที นี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ให้พิจารณาในขั้นนี้

ตอนนี้ได้พูดเรื่องวิทยาศาสตร์มาจนถึงศาสนาแล้ว เราก็ได้เห็นจุดกำเนิดและวิวัฒนาการสืบต่อมาทั้งของวิทยาศาสตร์และศาสนา ตอนนี้เราจะเข้ามาถึงเรื่องพุทธศาสนาบ้างละ นี่เพิ่งจะมาเข้าถึงเรื่อง ที่ผ่านมานั้นเป็นอารัมภบท

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.