พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คุณค่าและความคิดที่ผลักดัน
เบื้องหลังกำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์

ขอย้อนกลับไปพูดถึงกำเนิดของวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นมาได้อย่างไร

อะไรเป็นจุดต้นกำเนิดของวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ธรรม­ชาติก็ดี สังคมศาสตร์ก็ดี ว่ากันตามจริงแล้ว มันมีฐานอยู่ที่คุณค่าทางจิตใจทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์นี้เริ่มด้วยอะไร ฐานของมันคืออะไร ก็คือความต้องการ ตัวกำหนดของเศรษฐศาสตร์ก็คือความต้องการ ความต้องการนี้เป็นอะไร เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ หรืออินทรีย์ ๕ หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของคุณค่า แต่ศาสตร์ที่พยายามเป็นวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่า ฉันไม่เกี่ยวกับคุณค่า เป็น value-free แต่มันไม่ value-free ได้จริงสักที

ทีนี้ในแง่ของตัววิทยาศาสตร์เองละ จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ไหน จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์คือความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ คำตอบนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ยอมรับ ที่แท้นั้นมันเป็นคำตอบของนักวิทยาศาสตร์เองด้วยซ้ำ

ความใฝ่รู้ต่อความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเป็นความคิดหมายใฝ่ฝันอยู่ในใจ พร้อมด้วยความเชื่อว่าในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลที่สม่ำเสมอแน่นอน สองประการนี้แหละเป็นฐานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มประกอบกิจกรรม ในการค้นคว้าศึกษา หาความรู้ที่อยู่เบื้องหลังของธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์จึงอยู่ที่ใจของมนุษย์ อยู่ที่ความใฝ่รู้และศรัทธาหรือความเชื่อ ถ้าปราศจากคุณสมบัติของจิตใจอย่างนี้แล้ว วิทยาศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น และไม่เจริญงอกงาม

นักวิทยาศาสตร์ใด ยิ่งมีความใฝ่รู้อย่างนี้บริสุทธิ์แรงกล้า และมีความเชื่ออย่างนี้อย่างแรงกล้า นักวิทยาศาสตร์นั้นก็จะยิ่งสร้างความเจริญให้แก่วิทยาศาสตร์ได้มาก แต่ไม่ใช่เท่านี้ ยังมีอะไรอย่างไรต่อไป เราจะพูดเป็นขั้นๆ ตอนนี้เริ่มด้วยความใฝ่รู้ก่อน ว่าจุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์ คือความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ

ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคต้นๆ ที่ยังกระเส็นกระสายอยู่นั้น มีจุดเริ่มอยู่ที่ความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเป็นความใฝ่รู้ที่เรียกได้ว่าบริสุทธิ์พอสมควร

แม้ว่าต่อมาความใฝ่รู้อันนี้จะถูกกดดันด้วยแรงบีบคั้นของศาสน­จักรในสมัยกลางหรือยุคมืด ถึงกับว่าทางศาสนจักร คือ ทางศาสนาคริสต์นั้นได้ตั้งศาลไต่สวนศรัทธาที่เรียกว่า Inquisition ขึ้นมา เพื่อเอาคนที่แสดงความสงสัยในคัมภีร์ศาสนา หรือพูดจาแสดงความไม่เชื่อในคำสอนของศาสนา ไปขึ้นศาลพิจารณาโทษ อย่างกาลิเลโอ ไปพูดเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ขึ้นมา ก็ถูกจับขึ้นศาลไต่สวนศรัทธา หรือ Inquisition นี้ จวนจะถูกบังคับลงโทษให้ดื่มยาพิษ เสร็จแล้วกาลิเลโอสารภาพผิด ก็เลยพ้นโทษไป ก็เลยไม่ตาย แต่อีกมากมายหลายคนถูกเผาทั้งเป็น

[caption id="" align="aligncenter" width="640"]Galileo before the Holy Office - Joseph-Nicolas Robert-Fleury, 1847 กาลิเลโอขึ้นศาลไต่สวนศรัทธา ยอมสารภาพผิด จึงรอดชีวิต[/caption]

ในยุคนั้น ก็เป็นอันว่าได้มีการปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นการบีบคั้นปิดกั้นการแสวงหาความจริงในธรรมชาติกันเป็นอย่างมาก แต่ยิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า จากแรงกดดันในยุคมืดนั้น ก็ทำให้ความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นยิ่งแรงกล้ามากขึ้น แล้วก็ฝังติดเป็นนิสัยของชาวตะวันตกสืบมาจนปัจจุบัน หรืออย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่ง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาสังเกต

อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจอย่างที่ว่ามานี้ ก็ยังถือว่าเป็นความใฝ่รู้ที่บริสุทธิ์ แต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น วิทยาศาสตร์ที่เป็นมาและเป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้ มีประวัติแห่งการที่ได้รับอิทธิพลครอบงำจากระบบคุณค่าใหญ่ ๒ อย่าง ซึ่งเป็นแนวคิด เป็นทัศนคติ เป็นค่านิยม เป็นแรงจูงใจที่พ่วงแฝงอยู่เบื้องหลังความเจริญของวิทยาศาสตร์ตลอดมา และเป็นตัวผลักดันกิจกรรมในการศึกษาค้น​คว้าทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนกำหนดวิถีและทิศทางของความก้าวหน้าในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เรื่อยมา

คุณค่าใหญ่ ๒ ตัวนี้คืออะไร? ตอบว่า คือ

๑. ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ หรือความเข้าใจว่า ความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่การพิชิตธรรมชาติหรือเอาชนะธรรมชาติ

ความคิดนี้เกิดจากการที่ชาวตะวันตกมีความเข้าใจว่า มนุษย์เรานี้ เป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมา ในฉายาของพระองค์ คือในรูปแบบของพระองค์ เสมือนแม้นพระองค์ ให้มาครองโลก ครองธรรมชาติ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างธรรมชาติ สร้างสรรพสิ่ง สร้างสรรพสัตว์ทั้งหลาย คือเดรัจฉานต่างๆ ขึ้นมานี้ เพื่อให้มารับใช้สนองความปรารถนาของมนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นเจ้า เป็นผู้ครอบครอง

มนุษย์เรียนรู้ความลึกลับของธรรมชาติ ก็เพื่อจะได้มาจัดการกับธรรมชาติ มาปั้นแต่งธรรมชาติให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนเองตามใจชอบ เรียกว่าให้ธรรมชาติรับใช้มนุษย์

ตำราฝรั่งถึงกับบอกว่า1 แนวความคิดอันนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตก เขาบอกว่า แต่ก่อนนี้ในยุคโบราณนั้น ตะวันออก เช่น จีน และอินเดีย มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากกว่าประเทศตะวันตก แต่ด้วยอาศัยแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติอันนี้ จึงได้ทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกในทางวิทยาศาสตร์มาได้จนปัจจุบัน

แต่ในปัจจุบันนี้ แนวความคิดนี้กำลังเป็นปัญหา เป็นปัญหาอย่างไรก็คงจะได้ว่ากันต่อไป

เป็นอันว่า ระบบคุณค่าใหญ่ที่ ๑ คือแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งปรากฏออกมาเป็นแรงจูงใจในรูปของความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ ต่อจากนี้ก็เป็นประการที่สอง

๒. ความเชื่อว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม

อันนี้ก็เป็นความคิดที่สำคัญเหมือนกัน แนวคิดนี้พ่วงมากับการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่เดิมนั้น อุตสาหกรรมในประเทศตะวันตกเกิดขึ้นมาจากแรงจูงใจและความคิดในการที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน อันนี้เป็นประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตกเอง คือ การที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน หรือ scarcity เพราะว่าในโลกตะวันตกนั้น ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยธรรมชาติมาก เช่น ในฤดูหนาว พืชพันธุ์ธัญญาหารก็ไม่มี เกิดไม่ได้ มนุษย์ต้องอยู่ด้วยความยากลำบากเหลือเกิน นอกจากอากาศหนาวเหน็บแก่ตัวเองแล้ว ยังหาอาหารได้ยากอีกด้วย ทำให้มนุษย์ต้องเพียรพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลนนั้น และก็ได้ทำให้เกิดอุตสาห­กรรมขึ้นมา

ทีนี้ ตรงข้ามกับความขาดแคลนคืออะไร มนุษย์ก็คิดว่าเมื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนสำเร็จแล้ว ถ้าเกิดความพรั่งพร้อม มนุษย์ก็จะอยู่เป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น ความคิดที่อยู่เบื้องหลังความเจริญทางอุตสาหกรรมของฝรั่ง จึงได้แก่ ความคิดนี้ คือความคิดที่ว่า จะแก้ปัญหาความขาดแคลน และให้มีวัตถุพรั่งพร้อม เพราะมองไปว่า ความสุขของมนุษย์นั้น จะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมอย่างที่กล่าวเมื่อกี้

ต่อมา แนวความคิดนี้ก็พัฒนามาเป็นวัตถุนิยม แล้วก็แปรมาเป็นบริโภคนิยมได้ด้วย แต่ที่สำคัญก็คือความคิดความเข้าใจแบบอุตสาห­กรรมนี้ ได้เข้ามาประสานกันกับแนวคิดอย่างที่หนึ่ง

เมื่อกี้นี้ตามแนวคิดที่ ๑ ถือว่า มนุษย์จะมีความสำเร็จอยู่ในโลกอย่างผู้ที่ครอบครองโลกได้ ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ ทีนี้ก็มาบวกแนว​คิดที่สองเข้าไป บอกว่ามนุษย์จะมีความสุขได้จริงต่อเมื่อมีวัตถุบริโภคพรั่งพร้อมบริบูรณ์

เมื่อรวมกันเข้าไปก็ได้หลักความเชื่อที่ว่า เราจะต้องพิชิตธรรมชาติเพื่อจะเอาธรรมชาติมาปรุงแต่งสร้างสรรค์วัตถุ ที่จะมาบำรุงบำเรอมนุษย์ให้พรั่งพร้อมมีความสมบูรณ์ แล้วเราจะได้มีความสุข แนวคิดสองอย่างนี้สอดคล้องกันและเสริมกำลังกัน ก็เลยไปกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย เข้ากันได้สนิท

ตกลงว่าสองแนวความคิดหรือแรงจูงใจนี้มาประสานกันในตอนนี้ แล้วสองอันนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ถึงตอนนี้ก็เป็นอันว่า ความใฝ่รู้บริสุทธิ์ที่ว่าเมื่อกี้ที่จะรู้ความจริงเบื้องหลังของธรรมชาตินั้น กลายเป็นไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว เพราะมาบวกเข้ากับความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติประการหนึ่ง และความใฝ่ปรารถนาที่จะมีวัตถุบำรุงบำเรออย่างพรั่งพร้อมประการหนึ่ง

พอแนวคิดสองอย่างนี้ผนวกเข้ามาแล้ว ความใฝ่รู้ความจริงในธรรมชาติที่โปร่งโล่งบริสุทธิ์ ก็โอนเอนและบีบตัวลงมาในทางที่จะถูกใช้เป็นเครื่องสนองความต้องการของมนุษย์ แล้วก็เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในลักษณะที่มนุษย์จะกระทำต่อธรรมชาติแบบเอาเปรียบ โดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ

มนุษย์ก็คิดว่า เมื่อไรเราเอาชนะธรรมชาติได้เราก็จะสามารถปรุงแต่งประดิษฐ์สร้างสรรค์วัตถุอะไรต่างๆ ขึ้นมาบำรุงบำเรอตนให้พรั่งพร้อม เมื่อนั้นเราก็จะมีความสุขอย่างสมบูรณ์ แล้วก็ค้นคิดวิทยาการมาทำการต่างๆ ตามแนวคิดนี้ ความเจริญก็เกิดขึ้นมากมายในยุคที่ผ่านมาซึ่งเรียกกันว่าเป็นยุคอุตสาหกรรม จนกระทั่งเกิดมีการพูดอย่างนี้ขึ้นมาว่า วิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมานี้ เป็นวิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรม

ความเจริญในยุคที่ผ่านมานี้เรายอมรับกันว่า เป็นความเจริญในยุคอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันนี้ฝรั่งกำลังผ่านพ้นยุคนี้ไปในขณะที่ไทยเรากำลังเข้าไป

ไทยเราบอกว่าฉันจะเป็นนิกส์ นั้นก็หมายความว่าเรากำลังจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แต่ฝรั่งเขาบอกว่าฉันผ่านออกไปแล้วนะ ฉันพ้นแล้ว ตอนนี้เขาบอกว่าฉันเป็น post-industrial แล้ว ฉันเข้า information age แล้ว ฉันเป็น information society แล้ว

เป็นอันว่า วิทยาศาสตร์นี้เป็นตัวสำคัญที่จะให้เข้าหรือให้ผ่านพ้นอุตสาหกรรมได้ ทางวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า ฉันนี่แหละที่เป็นผู้ทำให้อุตสาหกรรมเจริญขึ้นมาได้ แต่ในทางกลับกัน ทางฝ่ายอุตสาหกรรมก็บอกว่า วิทยาศาสตร์น่ะหรือ ก็เป็นผู้รับใช้ฉันน่ะซี แล้วแต่ใครจะพูด

พร้อมกับความเจริญของยุคอุตสาหกรรม โทษภัยที่สืบเนื่องจากความเจริญนั้น ก็ค่อยๆ ปรากฏ แล้วรุนแรงมากขึ้น ตามลำดับ จนเด่นชัดมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะภยันตรายเนื่องจากความเสื่อมโทรมของธรรมชาติแวดล้อม ดังที่ตื่นกลัวกันอยู่ทุกวันนี้

มูลเหตุก็เกิดจากแนวความคิดสำคัญ ๒ อย่างที่พูดมาแล้วนั่นเอง กล่าวคือ แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ เป็นจุดเริ่มให้การเบียดเบียนและเอาเปรียบธรรมชาติเป็นไปอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน ต่อจากนั้น แนวความคิดที่จะสร้างวัตถุบำเรอความสุขให้พรั่งพร้อม ก็เข้ามาตั้งเป้าหมาย​ที่ทำให้กิจกรรมเกี่ยวกับการพิชิตและจัดการกับธรรมชาติดำเนินไปอย่างมุ่งมั่นจริงจัง ในอัตราที่ทั้งแรงและทั้งเร็วมากขึ้น โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นอีกด้านหนึ่ง แนวความคิดนั้นเองก็ทำให้มนุษย์แข่งขันเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกันเอง เพื่อแย่งชิงวัตถุบำเรอความสุขเหล่านั้นด้วย จนกล่าวได้ว่า การที่มนุษย์ยุคปัจจุบันได้รับผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะที่ผ่านมา ต้องพากันประสบปัญหาทั้งปวงอยู่ขณะนี้ ก็เพราะฤทธิ์เดชของแนวความคิดสองประการที่กล่าวมานี้

 

1Encyclopaedia Britannica, 15th ed. (1988), s.v. "Science, the History of," by L. Pearce Williams (vol. 27), p. 37.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.