พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จัดปรับเรื่องคุณค่าให้ถูก เข้าใจสุข-ทุกข์ให้ตรงปัญหาการพัฒนาจึงจะแก้ได้

วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ถือว่าตนเป็นศาสตร์ที่ปราศจากคุณค่า แต่เป็นที่รู้กันดีว่า วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการพัฒนาตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งที่การพัฒนานั้นเป็นกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องของคุณค่า และเมื่อตรวจสอบสืบประวัติกันให้ดีก็ปรากฏว่า เรื่องของคุณค่าได้เข้าไปแฝงตัวเป็นแรงผลักดันที่สำคัญอยู่เบื้องหลังกำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ เริ่มแต่ศรัทธาและความใฝ่รู้ในความจริงของกฎธรรมชาติ มาจนถึงคุณค่าที่เป็นแรงใหญ่ที่สุด คือแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และการที่จะเข้าถึงความสุขด้วยการสร้าง​สรรค์วัตถุบำรุงบำเรอให้พรั่งพร้อม

ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าสำหรับวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่อยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะปราศจากคุณค่า วิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องหลบหลีกการเกี่ยวข้องกับคุณค่า แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะทำตัวเองให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องคุณค่า และจัดปรับความสัมพันธ์กับคุณค่าให้ถูกต้อง มิ⁠ฉะนั้นอาจจะถูกคุณค่าบางอย่างเข้าแอบแฝงและครอบงำโดยไม่รู้ตัว และคุณค่าที่แอบแฝงนั้น ก็อาจจะให้โทษทั้งในการขัดขวางปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้ และทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นปัจจัยที่ก่อโทษภัยหรือความวิบัติวินาศให้แก่มนุษยชาติไปเลยก็ได้ ดังที่ได้เป็นมาและเป็นอยู่แล้วไม่น้อยในปัจจุบัน

ในคำบรรยายข้างต้น ได้พยายามชี้แจงถึงความสัมพันธ์ของวิทยา­ศาสตร์กับคุณค่า ๒ ระดับ คือคุณค่าสูงสุด กับคุณค่าในระหว่าง สำหรับคุณค่าสูงสุดนั้น เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์จะต้องเข้าถึงเลยทีเดียว มิฉะนั้นวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ที่สมบูรณ์ได้ เพราะคุณค่าสูงสุดนั้นเป็นความจริงในตัวของมันเอง ซึ่งจะขาดเสียมิได้ในการที่จะเข้าถึงความจริงในขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตาม คุณค่าสูงสุด คือความดีงามสูงสุด หรืออิสรภาพนั้น เป็นภาวะที่จะพึงเข้าถึง เป็นจุดหมายหรือเป็นสิ่งที่มุ่งหมาย ไม่ใช่เป็นคุณค่าที่จะเข้ามาเป็นคุณสมบัติหรือเป็นอิทธิพลซึ่งคอยชักจูงปฏิบัติการทั่วๆ ไปในทางวิทยาศาสตร์

คุณค่าที่จะเข้ามามีอิทธิพลเป็นแรงจูงใจที่ชักจูงหรือครอบงำปฏิบัติการทั่วๆ ไปของวิทยาศาสตร์ ก็คือคุณค่าในระหว่าง ซึ่งแยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ คุณค่าในระหว่างที่สืบเนื่องมาจากคุณค่าสูงสุด และสอดคล้องกลมกลืนกันกับคุณค่าสูงสุดนั้น ประเภทหนึ่ง กับคุณค่าแปลกปลอมที่สอดแทรกตัวเข้ามาหรือที่มนุษย์คิดตั้งขึ้นเองจากการมีท่าทีที่ไม่ถูกต้องต่อสัจจธรรมหรือต่อการแสวงหาความรู้ในความจริง เนื่องจากขาดความตระหนักรู้ ต่อเรื่องคุณค่าว่ามีส่วนร่วม มีบทบาทหรือมีความสำคัญอย่างไร ในการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของตน อีกประเภทหนึ่ง

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องคุณค่า และมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความจริงที่ตนพยายามแสวงหา กับเรื่องคุณค่าโดยเฉพาะคุณค่าสูงสุด นอกจากวิทยาศาสตร์จะจำกัดเขตแดนของความรู้ที่ตนพยายามเข้าถึง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คุณค่าใหญ่น้อยหรือคุณค่ากระเส็นกระสายปลีกย่อยบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกลมกลืนกับการแสวงหาความจริง ก็จะเข้ามาครอบงำปฏิบัติการของวิทยาศาสตร์อย่างไม่รู้ตัว โดยรับถ่ายทอดต่อๆ กันมาบ้าง เกิดจากความโลภ ความพอใจ หรือการหาความสุขของนักวิทยาศาสตร์เองบ้าง ดังเช่น ค่านิยมในการที่จะพิชิตธรรมชาติ และการที่จะหาความสุขด้วยการจัดการเอาธรรมชาติมาจัดสรรเป็นสิ่งบำรุงบำเรออย่างที่กล่าวแล้วเป็นต้น เมื่อคุณค่าแปลกปลอมเหล่านี้เข้ามาครอบงำชักจูงแล้ว นอกจากจะจำกัดขอบเขตหรือบิดเบนการแสวงหาความรู้ไม่ให้เข้าถึงความจริงสูงสุดแล้ว ก็จะชักนำให้เกิดโทษภัยแก่มนุษย์ ไม่ในระยะสั้น ก็ในระยะยาวอีกด้วย

ในทางตรงข้าม ถ้านักวิทยาศาสตร์หรือมนุษย์ผู้แสวงหาสัจจธรรมตระหนักรู้ โดยมีความเข้าใจกว้างขวางตรงตามความเป็นจริง เกี่ยวกับเรื่องคุณค่านามธรรมที่ประสานอยู่กับธรรมชาติฝ่ายรูปธรรม ถ้านักวิทยาศาสตร์ตระหนักรู้อย่างที่ว่ามานี้ ก็คือตระหนักรู้ตรงและเต็มตามเป็นจริงว่า การหาความรู้ความเข้าใจในธรรมชาตินั้น ก็คือการที่จะเข้าใจตัวมนุษย์เองด้วย และการเข้าใจตัวเองของมนุษย์ ก็เป็นการเข้าใจธรรม­ชาติทั่วไปด้วย เมื่อมีความตระหนักรู้อย่างนี้ คุณค่าในระหว่างประเภทที่สองที่สืบเนื่องมาจากคุณค่าสูงสุด และสอดคล้องกับคุณค่าสูงสุดนั้น ก็จะเกิดมีขึ้นมาเอง คือสำเร็จมาเองโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความตระหนักรู้อย่างถูกต้อง ก็จะได้ผลพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๒ อย่างคือ

๑. การหาความรู้ก็ไม่รัดตัวแคบหรือหลงทางเฉออกไป แต่จะเข้าแนวที่จะเข้าถึงความจริงที่สมบูรณ์

๒. คุณค่าที่ถูกต้องสอดคล้องก็จะเกิดมีขึ้นมาเองในตัว คือมีการพัฒนาตัวเองของมนุษย์เกิดขึ้นพร้อมกับการแสวงหาความรู้

พูดง่ายๆ ว่า ในการแสวงหาความรู้อย่างถูกต้อง คุณค่าที่ถูกต้องก็เกิดขึ้นมาเองในตัว เป็นอันว่า คุณค่าสูงสุดเป็นภาวะที่จะต้องเข้าถึงในฐานะเป็นตัวความจริง ไม่ต้องตั้งคุณค่านี้ขึ้นมาในตัวเรา เพียงแต่ตระหนักรู้ต่อมันเท่านั้น และเมื่อตระหนักรู้อยู่นั้น คุณค่าที่ถูกต้อง ซึ่งสืบเนื่องและสอดคล้องกับคุณค่าสูงสุดนั้นก็เกิดมีขึ้นมาเอง

แม้ว่าในแนวทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับความจริง การตั้งความรู้สึกในคุณค่าไม่มีความจำเป็น เพราะมีอยู่ในตัวดังกล่าวแล้ว แต่ในระดับของปฏิบัติการค้นคว้าวิจัยหรือแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไป ที่โยงออกมาสู่การประยุกต์ หรือเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่นการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และในทางอุตสาหกรรมเป็นต้น เราอาจจะเอาคุณค่าบางอย่างขึ้นมาตั้งเป็นจุดเน้นให้ชัดเจนก็ได้ เพื่อให้การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะสนองประโยชน์ด้านนั้นๆ มีกำลังแรง และเป็นการป้องกันไม่ให้คุณค่าที่ไม่ถูกต้องมีโอกาสเข้ามาแทรกแซงชักจูงหรือครอบงำพาเขวออกไป เช่น มีความใฝ่รู้เพื่อมุ่งที่จะเข้าถึงความไร้ทุกข์ หรือการใฝ่รู้เพื่อมุ่งนำความรู้มาใช้แก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ตลอดจนคุณค่าปลีกย่อยเช่น การมุ่งความเป็นเลิศของสิ่งที่กระทำทุกอย่างโดยไม่ก่อผลกระทบในทางเสียหายใดๆ ให้เกิดขึ้น

อย่างน้อยที่สุด ความตระหนักรู้ในเรื่องคุณค่านี้ ก็จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความรู้เท่าทันและฉลาดในการที่จะปฏิบัติต่อคุณค่าต่างๆ ที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของตน เช่นความโลภ ความโกรธ ความน้อยใจ ความอิจฉาริษยา ฯลฯ ดังในกรณีของนิวตันที่พูดมาแล้วเป็นต้น โดยเฉพาะจะเห็นคุณค่าของคุณค่าที่ถูกต้อง และรู้จักใช้ประโยชน์จากคุณค่า แม้แต่ในการที่จะช่วยให้เป็นผู้ก้าวหน้าในการแสวงหาความรู้ในความจริง แม้อย่างอ่อนที่สุดก็ทำให้เป็นนักวิทยา­ศาสตร์ที่มีศีลธรรม ไม่กลายเป็นเพียงผู้สนองรับใช้อุตสาหกรรมดุ่ยๆ ไป

เพราะฉะนั้น จึงควรปรับความเข้าใจและปรับท่าทีปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องตกอยู่แค่ภายใต้อำนาจครอบงำของคุณค่าระดับรอง เช่น ความกระหายที่จะพิชิตธรรมชาติ

คุณค่าอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อมนุษย์และการทำกิจกรรมของมนุษย์ ก็คือความสุข หรือเรื่องสุข-ทุกข์ ดังเช่นค่านิยมของยุคอุตสาหกรรมที่เป็นมาว่าความสุขอยู่ที่การพิชิตธรรมชาติได้สำเร็จและสามารถจัดการเอาธรรมชาติมาใช้ได้ตามปรารถนา ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาแบบที่เป็นมาและทำให้การพัฒนานั้นก่อปัญหาแก่มนุษย์อย่างที่เห็นกันมาแล้ว ในเรื่องนี้ เราสามารถพูดได้ว่า การแก้ปัญหาการพัฒนาจะสำเร็จได้ จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความสุข-ความทุกข์ของมนุษย์ให้ถูกต้องตรงความจริง หรือในทางกลับกัน ถ้าไม่ปรับค่านิยมเกี่ยวกับการหาความสุขให้ถูกต้อง ก็ไม่มีทางจะแก้ปัญหาการพัฒนาได้สำเร็จ

หนทางแก้ปัญหาด้วยการปรับความเข้าใจเกี่ยวกับความสุขนั้น พูดสั้นๆ ว่า มนุษย์จะต้องเปลี่ยนค่านิยม โดยที่จะไม่คิดหาความสุขจากการพิชิตธรรมชาติ แต่จะมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ พร้อมกันนั้นก็วางขอบเขตในการปฏิบัติหรือจัดการกับธรรมชาติว่า จะจัดสรรธรรมชาติเพียงเพื่อกำจัดความทุกข์ของมนุษย์ (ไม่ใช่เพื่อปรนเปรอความสุข)

มนุษย์จะต้องตระหนักรู้ว่า ถ้าจะหาความสุขจากการพิชิตธรรมชาติ ถึงแม้ธรรมชาติพินาศหมด มนุษย์ก็จะยังไม่พบความสุข แต่ถ้าจะมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ มนุษย์จะมีความสุขได้ทันทีทุกเวลาตลอดไปจนกระทั่งเขาพัฒนาตนให้ถึงความไร้ทุกข์

พูดอย่างคร่าวๆ คุณค่าที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องเกี่ยวข้องอย่างหนีไม่พ้น มี ๓ อย่าง คือ

๑. คุณค่าสามัญ ที่นักวิทยาศาสตร์ในฐานะบุคคลผู้หนึ่งมีเหมือนกับคนทั่วไป คือ แรงจูงใจที่ดีหรือชั่วในการดำเนินชีวิต และประกอบกิจกรรมในการแสวงหาความรู้หรือใช้ความรู้ของตน เช่นทำการต่างๆ เพื่อสนองความเห็นแก่ตัว โดยเห็นแก่ลาภหรือผลประโยชน์ เห็นแก่ชื่อเสียงหรือความยิ่งใหญ่ เป็นไปตามความโลภ โกรธ หลง หรือทำการด้วยเมตตากรุณาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม

๒. คุณค่าที่ยึดถือเป็นหลัก หรือมีอิทธิพลครอบงำในวงการแห่งวิชาการของตน ซึ่งอาจจะเป็นแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ หรือค่านิยมอุตสาหกรรมที่จะมีความสุขด้วยการมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นแนวคิดเป้าหมาย ที่จะแก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ เป็นต้น

๓. คุณค่าสูงสุดที่วิทยาศาสตร์จะพึงยึดถือโดยมองตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวร่วมกับมวลมนุษย์ คือ คุณค่าที่เป็นอุดมคติของมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่าวิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมายังก้าวไปไม่ถึง ยังอยู่เพียงครึ่งกลาง แค่ว่าศรัทธาในกฎธรรมชาติ และความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ ที่มองออกไปยังธรรมชาติภายนอก ไม่คลุมถึงความเป็นมนุษย์ และความดีงามสูงสุด

วิทยาศาสตร์มีภารกิจค้างอยู่ที่จะต้องปรับตัวเกี่ยวกับคุณค่าทั้ง ๓ ระดับนี้

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.