พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศาสนาที่แท้เป็นฐานกำเนิดของวิทยาศาสตร์

ไม่เฉพาะความใฝ่รู้และศรัทธาที่บอกมาแล้วเท่านั้น แม้แต่การค้นพบสำคัญที่เป็นความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ของวิทยาศาสตร์ก็เริ่มมาจากในจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ความหยั่งรู้ และเล็งเห็นในใจของตนขึ้นมาก่อน ก่อนที่เขาจะเริ่มการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ โดยมากในจิตใจจะมีความหยั่งรู้อะไรขึ้นมา เขาเล็งเห็นอะไรบางอย่างขึ้นมาก่อน และอันนี้เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขามีจุดตั้งต้นค้นคว้า แล้วก็มีความมุ่งมั่นที่จะค้นคว้าต่อไป

ถ้าไม่มีความหยั่งรู้เล็งเห็นอันนี้แล้ว วิทยาศาสตร์ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องเรื่อยเปื่อยไป หรืออาจจะเรียกว่าสุ่มสี่สุ่มห้า คือไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่มีจุดไม่มีเป้า เพราะฉะนั้นในประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์จึงถือว่า ความหยั่งรู้เล็งเห็นนี้เป็นตัวสำคัญ ไม่ใช่มีแต่ความใฝ่รู้และศรัทธาเท่านั้น คือในตัวนักวิทยาศาสตร์เองเมื่อจะค้นพบแต่ละเรื่องๆ ที่สำคัญ มักจะมีความหยั่งรู้และเล็งเห็นในใจนี้ขึ้นมาก่อน เป็นความคิดที่มองล่วงหน้าถึงความจริงที่นักวิทยาศาสตร์นั้นยังไม่รู้ ซึ่งนำไปสู่การคิดใคร่ครวญ การคิดเป็นระบบ การคิดตั้งสมมติฐาน การทดสอบทดลอง แล้วก็นำไปสู่การค้นพบและทฤษฎีใหม่ๆ

ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ที่ได้เป็นมาทั้งหมดนั้นก็ด้วยอาศัยศรัทธา ความเชื่อมั่น ความใฝ่รู้ ความหยั่งรู้เล็งเห็น เป็นต้น เหล่านี้ และในจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ที่แท้ ผู้สร้างความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ให้แก่วิทยาศาสตร์ก็เต็มไปด้วยสภาพจิตที่เรียกว่าคุณค่าเหล่านี้

แม้แต่การสังเกตอะไร ก็เริ่มจากความคิดตั้งจุดที่จะสังเกตให้ก่อน แล้วความคิดจิตใจก็กำกับควบคุมการสังเกตตลอดเวลา แม้แต่เรื่องของนิวตันที่ว่าเห็นแอปเปิ้ลตกแล้วก็เกิดความหยั่งรู้เห็นกฎ gravitation ขึ้นมานี้ ตามเรื่องที่เราได้ยินคล้ายๆ ว่าแกเห็นตอนนั้นก็เกิดความหยั่งรู้ผุดขึ้นมาทันที แต่ตามเรื่องที่เป็นจริง ได้ทราบว่านิวตันคิดเรื่องเกี่ยวกับ motion นี้มาก่อนตั้งเป็นเดือนๆ แล้ว มันเป็นกระบวนการของความคิดในจิตใจนั่นเอง เหมือนอย่างเรานี่ บางทีคิดปัญหาอะไรอย่างหนึ่งไม่ตกสักที คราวหนึ่งไปนั่งในที่เงียบๆ สงบอยู่ วิธีหรือช่องทางแก้ปัญหาเรื่องนั้นก็สว่างโพลงโผล่ขึ้นมาได้เหมือนกัน ซึ่งที่จริงมันก็เป็นกระบวนการทำงานของจิตอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่หมายความว่ามันเกิดขึ้นมาลอยๆ มันต้องมีกระบวนการ และกระบวนการนี้ก็เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยเหมือนกัน เรียกว่าเป็นกระบวนการทางจิต หรือเป็นกระบวนการความคิดอีกระดับหนึ่ง

ในตอนนี้เพื่อจะให้ผ่านไปก็พอสรุปได้ว่า เรื่องจิตใจหรือคุณค่านี้ มันเป็นทั้งจุดเริ่มกำเนิดของวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ความใฝ่รู้และศรัทธา และเป็นตัวความสามารถที่ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าพัฒนามาได้ เช่นความหยั่งรู้เล็งเห็น แล้วก็เป็นจุดหมายที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่ถึง คือ ตัวจุดหมายปลายทางที่หยั่งเห็นอยู่ในใจนั้นพร้อมทั้งความมุ่งมั่นฝันใฝ่ ซึ่งวิทยาศาสตร์ยังจะต้องก้าวต่อไป แม้แต่การที่เราคิดจะหาความจริงพื้นฐาน ก็เพราะเรานึกว่ามันมีความจริงพื้นฐานนั้นอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องในใจ ใจคิดขึ้นมา มันจึงมีจุดที่จะไปคิดไปหาเหตุผล อันนี้ก็เป็นจุดสรุปอันหนึ่ง

พอมาถึงตอนนี้ก็จะบอกชื่อนักวิทยาศาสตร์ใหญ่ผู้เป็นเจ้าของความคิดที่ถือได้ว่าเป็นที่มาของหัวข้อปาฐกถานี้ เพราะมาถึงตอนนี้ก็ได้บอกแล้วว่าจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์คืออะไร

คนที่ถือได้ว่าความคิดของเขา หรือคำกล่าว หรือถ้อยคำของเขาได้เป็นฐานให้แก่ชื่อของปาฐกถานี้ ก็คือ ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นั่นเอง แต่เขาไม่ได้พูดอย่างนี้ตรงๆ หรอก อาตมาจับความเอามาอย่างนั้นเองให้สนใจ

ไอน์สไตน์ว่าอย่างไร ไอน์สไตน์ก็ว่าเป็นตอนๆ ตอนหนึ่งแกบอกว่า

“ในยุควัตถุนิยมของพวกเรานี้ ผู้ทำงานทางวิทยา­ศาสตร์อย่างเอาจริงเอาจัง เป็นคนจำพวกเดียวเท่านั้น ที่มีศาสนาอย่างลึกซึ้ง”1 (หรือจะใช้คำว่า ‘เคร่งศาสนา’ ก็แล้วแต่)

ไอน์สไตน์กลับไปเห็นว่า ในยุคนี้หาคนที่มีศาสนายาก มีนักวิทยา­ศาสตร์พวกเดียวเท่านั้นที่เป็นคนมีศาสนาอย่างจริงจัง แต่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอย่างบริสุทธิ์ใจอย่างที่เรียกว่า เป็นคนทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง และแกบอกต่อไปว่า

“วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้ โดยเป็นการสร้างสรรค์ของคนที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อสัจจธรรมและปัญญาที่เข้าใจความจริง... บุคคลที่เราเป็นหนี้ผลสำเร็จในทางสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ทุกคนล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นทางศาสนา (ศรัทธา) อย่างแท้​จริงว่าสากลจักรวาลของเรานี้ เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์และสามารถรับรู้ได้ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุผล”2

อันนี้เขาเรียกว่าเป็นความรู้สึกหรือสำนึกทางศาสนา กล่าวคือความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ และความเชื่อว่าเบื้องหลังธรรมชาติมีกฎแห่งความเป็นจริงที่แน่นอนครอบคลุมทั่วสากล อันนี้ไอน์สไตน์เรียกว่าเป็น “ความรู้สึกทางศาสนา” หรือ “สำนึกทางศาสนา” โดยเฉพาะเป็น cosmic religious feeling คือ “สำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากล” แล้วเขาก็บอกว่า

“สำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากลนี้ เป็นแรงจูงใจที่แรงกล้าและประเสริฐที่สุดสำหรับการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์”3

ไอน์สไตน์ว่าอย่างนี้ แล้วอีกตอนหนึ่งแกบอกว่า

“พุทธศาสนา ... มีสภาวะที่เรียกว่า cosmic religious feeling คือความรู้สึกหรือสำนึกทางศาสนาอันหยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากลนี้อย่างเข้มข้น หรือแรงกล้ามาก”4

แกว่าอย่างนั้น แกบอกว่า พุทธศาสนามี cosmic religious feeling สูงมาก และ cosmic religious feeling นี้ เป็นต้นกำเนิดของการคิด​ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็ให้นึกเอาเองว่าจะตั้งเป็นชื่อเรื่องนี้ได้หรือเปล่า ในที่นี้ก็เลยถือเอาพอเป็นนัยๆ ว่า พุทธศาสนาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ ในแง่หนึ่งอย่างนี้

แต่อย่าถือเป็นสำคัญนักกับเรื่องที่ว่านี้ เพราะอาตมาเองก็ไม่ใช่เห็นด้วยเต็มที่กับไอน์สไตน์ แต่ที่ไม่เห็นด้วยไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด เพียงแต่ไม่เห็นด้วยในแง่ที่ว่ามันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ คือมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของความหมายของสำนึกทางศาสนา เพราะในเรื่องของศาสนานั้นมันจะต้องโยงมาถึงตัวมนุษย์ ธรรมชาติภายในของความเป็นมนุษย์ และการที่ว่ามนุษย์จะพึงปฏิบัติต่อธรรมชาติทั้งภายนอกและภายใน หรือต่อโลกและชีวิตอย่างไรด้วย ในคำพูดของไอน์สไตน์นั้นอาตมาไม่เห็นชัดจะแจ้งลงไปว่าจะโยงมาสู่ความเข้าใจตัวเองของมนุษย์และประโยชน์ของมนุษย์ที่เราพูดในทางพุทธศาสนาว่า จะต้องนำมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม จากคำพูดของไอน์สไตน์นั้นก็เห็นชัดว่า แกมีความเห็นว่าวิทยาศาสตร์เริ่มจากความต้องการของมนุษย์ในจิตใจ คือ ความใฝ่รู้ และศรัทธาที่เชื่อในความจริงแห่งกฎธรรมชาติ

แต่ทีนี้ ในเมื่อเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว อาตมาก็บอกว่าไม่อยากให้ติดใจนักกับคำพูดที่ว่าพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์อะไรนั้น แต่สิ่งที่อยากจะให้พิจารณาจะเป็นทำนองนี้ คือ เราอาจจะเปลี่ยนชื่อเรื่องเสียใหม่ ให้เป็นไปในเชิงเป้าหมายว่า “วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน ควรจะเป็นอย่างไร” นี่เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ แล้วเราก็อาจจะได้แนวความคิดที่ต่อยอดจากนี้ออกไป เพราะถ้าเพียงแต่มาพูดว่า พุทธ­ศาสนาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ ก็ได้แต่พูดกันไป อาจจะถูกหาว่าอวดด้วย และก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเป็นแก่นสารมากนัก แต่ถ้าบอกว่า “วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน ควรจะเป็นอย่างไร” ก็จะเป็นทางสร้างสรรค์ให้เห็นอะไรที่จะทำกันได้ต่อไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันเป็นเรื่องใหญ่ แต่อย่างน้อยตอนนี้ที่พอจะตอบได้ ก็เอาแค่ในเรื่องที่พูดมาแล้วนั่นแหละ ซึ่งเหมือนกับมาสรุปทวนกันอีกว่า อย่างน้อย

ขั้นที่ ๑ ต้องขยายความหมายของ “ศาสนา” หรือ ขยายความหมายของ “สำนึกทางศาสนา” นี้ให้กว้างออกไป ให้ตรงกับของพุทธ­ศาสนา คือ

    ก) คำว่าสำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากล จะต้องครอบ​คลุมทั้งธรรมชาติภายนอก และธรรมชาติภายในคือตัวมนุษย์ หรือทั้งธรรมชาติที่เป็นรูปธรรมทั่วไป และธรรมชาติด้านคุณค่าที่เป็นนามธรรม
    ข) ที่ว่าวิทยาศาสตร์เกิดจากความใฝ่รู้ความจริงในธรรมชาตินั้น จะต้องเสริมด้วยความใฝ่ปรารถนาในความดีงามสูงสุด ที่พุทธ­ศาสนาเรียกว่า ความใฝ่ปรารถนาภาวะไร้ทุกข์ของมนุษย์ด้วย

ข้อ ก) เป็นการขยายขอบเขตหรือแดนแห่งความจริงของธรรมชาติที่จะเข้าถึง ให้ครอบคลุมครบถ้วน ส่วนข้อ ข) เป็นการเน้นย้ำคุณค่าที่สอดคล้องกลมกลืนกับคุณค่าสูงสุด ซึ่งจะทำให้เกิดความบริสุทธิ์ชัดเจนแก่ความใฝ่ปรารถนาในความจริงนั้น ปิดกั้นโอกาสไม่ให้คุณค่าแปลกปลอมเข้ามาแทรกแซงครอบงำ

พอเอามาบวกกันอย่างนี้แล้ว ก็จะบอกได้ว่า (วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน) “เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาจากความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ และความใฝ่ปรารถนาความดีงามสูงสุด โดยเป็นไปพร้อมด้วยการพัฒนามนุษย์ (ให้สามารถแก้ปัญหาและเข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุดนั้น)” หรือจะพูดทำนองนี้ก็ได้ว่า “เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกิดมาจากความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ และความใฝ่ปรารถนาที่จะเข้าถึงความดีงามสูงสุด ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงาม”

วิทยาศาสตร์ทำนองนี้ ก็เฉียดๆ ไปทางจะเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แต่ก็ไม่ใช่ ว่าในแง่หนึ่ง วิทยาศาสตร์ธรรมชาติในยุคที่แล้วมาก็เกี่ยวกับแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังซึ่งเราเห็นว่าไม่ดี เราจึงยกเอาอันนี้ขึ้นมา เพื่อไปตัดค่านิยมซึ่งเป็นแรงจูงใจอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือความใฝ่พิชิตธรรมชาติ และความใฝ่ปรารถนาในความมีวัตถุพรั่งพร้อมเพื่อสนองความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เราจะตัดอันนั้นออกไป เลิกเสีย แล้วก็แทนที่ด้วยความใฝ่ปรารถนาความไร้ทุกข์ของมนุษย์นี้เข้ามา

อาจจะพูดได้อีกสำนวนหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์ซึ่งเข้าถึงความจริงแท้ที่สมบูรณ์ จะเป็นการบรรจบแห่งสาระของวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ทั้งหมด ทำให้ศาสตร์ทุกอย่างโยงถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความจริงของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ด้วยการศึกษาของวิทยาศาสตร์ โดยที่วิทยาศาสตร์เองจะต้องขยายความหมายพื้นฐานและปรับปรุงวิธีการศึกษาของตนบ้าง

ที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่นๆ หรือลอยๆ เพราะปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะโดยความก้าวหน้าของวิทยาการทั้งหลายก็ดี โดยความบีบบังคับของการพัฒนาที่ได้โยงมนุษย์และสังคมเข้ามาถึงธรรมชาติแล้วก็ดี ทำให้มีความจำเป็นที่จะเข้าถึงเอกภาพในทางวิชาการหรือในกระบวนความรู้หรือการเข้าถึงความจริงของมนุษย์ พูดเป็นสำนวนว่า ถึงภาวะสุกงอมแล้ว ถ้าสุกงอมแล้วไม่จัดการให้ถูกต้อง ก็จะเน่า นั่นคือความเสื่อมเสียและโทษภัยก็จะต้องเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาเช่นนี้แล้ว วิทยาศาสตร์จะรับทำหน้าที่นำมนุษย์เข้าสู่แกนร่วมสัมพันธ์ของวิทยาการนี้หรือไม่

ขั้นที่ ๒ ตามหลักการเกี่ยวกับความจริงที่เป็นประโยชน์ พึงจำแนกประเภทความรู้ในความจริงออกไปให้ชัดเจนเป็น ๒ พวก คือ

    ก) ความรู้ที่จำเป็น หรือความจริงที่มีประโยชน์ คือที่จำเป็นสำหรับการที่จะมีชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมนุษย์แต่ละคนจะเข้าถึงได้ภายในช่วงเวลาแห่งชีวิตนี้ของตน
    ข) ความรู้อย่างอื่นซึ่งไม่จำเป็น หรือความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็พยายามพิสูจน์และรอพิสูจน์กันต่อไป โดยที่การที่จะมีชีวิตที่ดีงาม หรือการเข้าถึงความดีงามสูงสุดไม่ต้องขึ้นต่อมัน และไม่ต้องรอคำตอบ

ดังได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนมีช่วงเวลาจำกัด และจะต้องสิ้นสุดลง ความดีงามหรือคุณค่าสูงสุดเป็นสิ่งที่มนุษย์แต่ละคนควรจะเข้าถึงได้สำเร็จภายในช่วงเวลาที่จำกัดของชีวิตนั้น ไม่อาจรอได้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มักจะมีลักษณะเหมือนกับบอกว่า รอให้ฉันพิสูจน์เสร็จก่อน แล้วคุณค่อยรู้ว่าปฏิบัติอย่างไร วิทยาศาสตร์จะต้องปรับท่าทีใหม่ และแยกประเภทความรู้ในความจริงให้ชัดเจนอย่างที่กล่าวมานี้ และถ้าวิทยาศาสตร์จะทำหน้าที่เป็นศาสตร์ที่สมบูรณ์ ก็จะต้องปฏิบัติในเรื่องความรู้และความจริงสองประเภทนี้ให้ถูกต้อง หรือถ้าวิทยาศาสตร์จะดำเนินไปตามวิถีทางอย่างเดิมก็คงจะต้องแบ่งหน้าที่โดยประสานกันกับพระพุทธศาสนา โดยให้พุทธศาสนาจัดสรรคำตอบชนิดที่จำเป็นทันทีเพื่อเข้าถึงความดีงามสูงสุดในชาตินี้ และให้วิทยาศาสตร์ให้คำตอบเกี่ยวกับความจริงชนิดที่ว่า ถ้าได้รู้เพิ่มมาก็ดี แต่ถึงจะไม่ได้มาก็อยู่ดีได้ ไม่ต้องรอ

 

1Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York: Bonanza Books, 1954), p. 40.
2Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York: Bonanza Books, 1954), p. 46, 52.
3Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York: Bonanza Books, 1954), p. 39.
4Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York: Bonanza Books, 1954), p. 38.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.