การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จะฝึกเด็กให้เข้มแข็งด้วยการสู้ปัญหา
หรือคอยเอาใจให้เด็กเห็นแก่เสพและสบาย

หันมาดูการศึกษาของไทย ถ้าเราจะตามอเมริกันจะต้องระวังการศึกษาของอเมริกันเวลานี้เป็นการศึกษาที่ทำให้คนอ่อนแอ ไม่เหมือนการศึกษาอเมริกันยุคก่อน การศึกษาของอเมริกันค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่รู้ตัว ได้หันมาเน้นการเอาใจเด็ก จะจัดบทเรียน หรือจัดกิจกรรมก็ต้องเอาใจเด็กต้องให้เด็กชอบถ้าเด็กไม่ชอบใจก็ไม่เรียน แต่ในบางประเทศเขาฝึกให้เด็กสู้ สิ่งใดยากให้ต่อสู้ เอาชนะให้ได้ ก็ทำให้เด็กเข้มแข็งและเก่ง อย่างไรก็ตามทั้ง ๒ อย่างนี้ต้องมีดุลยภาพ

เราเองต้องไม่เผลอ เราควรทำบทเรียนและกิจกรรมให้น่าสนใจ แต่อย่าเลยเถิดไปจนกลายเป็นการเอาใจเด็ก เด็กที่ถูกตามใจต่อไปจะอ่อนแอ จะไม่พัฒนา ส่วนอีกพวกหนึ่งก็จะให้เด็กสู้อย่างเดียว พบอะไรก็สู้ทุกอย่าง ในเวทีโลกนั้นพวกที่ได้เปรียบคือ พวกที่รู้จักสู้สิ่งยาก แต่เราจะต้องไม่ไปสุดโต่ง การที่เราจะทำบทเรียน หรือกิจกรรมให้น่าสนใจนั้นไม่ผิด เพราะทำให้เด็กทุ่นเวลาในการศึกษาเล่าเรียน ทำให้เรียนง่ายและสะดวกขึ้น แต่ต้องไม่เลยเถิดจนกระทั่งกลายเป็นการเอาใจเด็ก แต่ต้องพัฒนาเด็กให้มีจิตสำนึกในการพัฒนาและฝึกฝนตนเอง

จิตสำนึกในการฝึกฝนตนเอง ทำให้มีนิสัยสู้สิ่งยาก คนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกหรือพัฒนาตนเอง เป็นคนที่ไม่สู้สิ่งยาก เมื่อพบงานยากต้องเผชิญความยากลำบากก็ไม่สู้ ท้อถอย ไม่เต็มใจ จึงเกิดผลเสีย ๒ ประการคือ

หนึ่ง รู้สึกฝืนใจ ไม่เต็มใจ เป็นทุกข์ สุขภาพจิตเสีย

สอง ไม่ตั้งใจทำงาน จึงทำให้งานไม่ได้ผลดี

ส่วนเด็กที่ฝึกตนดี มีจิตสำนึกในการศึกษา สู้สิ่งยาก จะมีความรู้สึกว่าสิ่งใดที่ยากเมื่อทำก็ได้ฝึกฝนมาก แต่ถ้าพบสิ่งที่ง่ายจะรู้สึกว่าไม่ได้ฝึกตนเลย ฉะนั้นเมื่อพบปัญหาและงานที่ยาก เด็กพวกนี้จึงรู้สึกชอบเพราะจะได้ฝึกฝนตนและได้เรียนรู้มากขึ้น ผลดี ๒ ประการ จึงเกิดตามมาคือ

หนึ่ง เต็มใจสู้ เต็มใจทำ จึงมีความสุขในการเรียนและทำงาน

สอง ตั้งใจทำ ทำให้งานได้ผลดี

เพราะฉะนั้น คนที่ชอบฝึกตน มีจิตสำนึกในการศึกษา ก็จะมีการพัฒนายิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้รับความสุขไปด้วย เป้าหมายเฉพาะหน้าในการพัฒนาคนของเราจะต้องอยู่ที่ความใฝ่รู้สู้สิ่งยากนี้ เมื่อสู้สิ่งยาก ผลที่ได้ตามมาคือ เป็นคนที่ทุกข์ได้ยาก แต่เป็นคนที่สุขได้ง่าย เด็กที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกฝนตนเอง ได้รับแต่การตามใจ มีสิ่งบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม จะเป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย และเป็นคนที่สุขได้ยาก และมองเห็นการกระทำเป็นความทุกข์ เพราะได้รับการบำรุงบำเรอ เมื่อขาดสิ่งที่ต้องการก็เกิดทุกข์ทันที ส่วนความสุขเกิดได้ยากเพราะมีทุกอย่างหมดแล้ว และรู้สึกชินชาเป็นธรรมดาจึงต้องการมากขึ้นไป แต่เพราะมีพรั่งพร้อมแล้วเติมได้ยาก ความสุขจึงเกิดได้ยาก และความสุขหมายถึงการได้รับการปรนเปรอให้ไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำอะไรก็ทุกข์ ส่วนคนที่สู้สิ่งยากนี้ความยากน้อยลงนิดเดียวก็เกิดสุขทันที และเป็นทุกข์ได้ยาก เพราะเจอความยากมามาก เจอความยากชิ้นใหม่ กลับยากน้อยกว่าก็จึงไม่ทุกข์อะไร และมีความสุขจากการทำเพราะเป็นการได้ฝึกตน

จะเห็นว่า คนที่ผ่านความทุกข์ยากลำบาก สู้ชีวิตมามากจนสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นหลักฐานนั้น คนเหล่านี้ไม่ฆ่าตัวตาย แต่คนที่มีความสุขมีเสพพรั่งพร้อมพอเสียความสุขนิดเดียวก็ฆ่าตัวตาย เราจึงต้องระวัง การที่จะให้คนมีความสุขจะต้องมีการฝึกให้พัฒนาอยู่เสมอ

ประเทศอเมริกาสมัยก่อน ในยุคที่พัฒนาอุตสาหกรรมมากคนไม่มีเวลาเอาใจใส่กัน พ่อแม่ ผู้ใหญ่ คนแก่ถูกทอดทิ้ง ปรากฏว่าคนแก่ฆ่าตัวตายมาก เพราะเหงา ว้าเหว่ ไม่มีใครเอาใจใส่ ซึ่งเป็นผลเสียอย่างหนึ่งของชีวิตในยุคอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันมาก

ต่อมาอเมริกาประสบความสำเร็จ มีวัตถุเครื่องใช้สอยพรั่งพร้อม กลายเป็นสังคมบริโภค ปัจจุบันปัญหาฆ่าตัวตายของสังคมอเมริกันมาเพิ่มขึ้นที่เด็กวัยรุ่น ขณะนี้สังคมอเมริกันมีสิ่งเสพบริโภคพรั่งพร้อม แต่เหตุใดเด็กวัยรุ่น หนุ่มสาว จึงฆ่าตัวตายมาก ทั้งๆ ที่ชีวิตของพวกเขากำลังแข็งแรงสดใส จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตก ฝรั่งกำลังค้นหาสาเหตุกันอยู่ ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก แต่ความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากซึ่งเป็นฐานมาแต่อดีต ยังไม่หมดไป ทำให้เขายังมีกระแสแห่งความเจริญอยู่ได้ แม้ว่าเวลานี้กระแสนั้นจะกำลังไหลลง

ฉะนั้น ถ้าเราจะเอาอย่างประเทศอเมริกา ก็อย่าไปดูเพียงปัจจุบัน ต้องดูย้อนหลังไปในอดีตเมื่อ ๕๐-๑๐๐ ปีที่แล้ว ประเทศที่จะพัฒนานั้น ไม่ใช่ประเทศที่จะเอาแต่ผล แต่ต้องเป็นนักสร้างเหตุ สังคมที่เสวยผลไม่ใช่สังคมที่พัฒนา สังคมที่จะพัฒนาคือสังคมที่สร้างเหตุ การที่จะสร้างเหตุได้ ก็ต้องรู้ถึงสาเหตุ ไม่ดูเพียงปัจจุบัน แต่ต้องสืบเสาะอดีตให้ดีว่าประเทศเหล่านั้นเจริญรุ่งเรืองมาได้อย่างไร

พฤติกรรมของคนอเมริกันปัจจุบันนี้ ดูจะเป็นพฤติกรรมแห่งความเสื่อมหรือเป็นปัจจัยของความเสื่อมต่อไปข้างหน้า เป็นเรื่องที่เราต้องเอาใจใส่ศึกษาให้ถูกต้อง อย่างน้อยการศึกษาของเราควรเน้นให้เกิดคุณลักษณะใฝ่รู้ สู้สิ่งยากให้ได้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.