การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คนจะกลายเป็นทาส ถ้ามัวใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพ
แต่คนจะเป็นนาย เมื่อใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์

โยนิโสมนสิการนี้ ทำให้เกิดและทำให้ก้าวไปในการเรียนรู้ ถือเป็นการพัฒนาอินทรีย์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคเทคโนโลยีที่เข้ามาในลักษณะของการบริโภค คนไทยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกสบายบำรุงบำเรอหาความสนุกสนาน เน้นหนักไปในแง่เทคโนโลยีเพื่อการเสพหรือเทคโนโลยีเชิงบริโภค แต่ที่จริงนั้น ตามความหมายพื้นฐาน มนุษย์ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยอินทรีย์ของตน เช่น ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง จะขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ในการพูดของเราได้เป็นหมื่นเป็นแสนเท่า กล้องดูดาวก็ขยายวิสัยแห่งอินทรีย์คือตาของเราทำให้มองเห็นดาวแม้แต่ที่เล็กที่สุด ซึ่งอยู่แสนไกล หรือกล้องจุลทรรศน์ก็ขยายวิสัยแห่งอินทรีย์คือตาของเรานั้นให้มองเห็นแม้แต่ไวรัส เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของเราจนถึงขั้นทำหน้าที่แทนได้

ตามปกติมนุษย์เราเมื่อต้องการจะมีชีวิตที่ดี ก็ต้องพัฒนาอินทรีย์ให้เฉียบคม คนเราเมื่อทำงานที่ต้องใช้อินทรีย์ใด ก็จะต้องพัฒนาอินทรีย์นั้น เช่น แพทย์พัฒนาตาที่ดู หูที่ฟัง มือที่สัมผัสของตนเก่งจนดูคนไข้ออก เพียงเห็นคนไข้เดินเข้ามาก็พอจะบอกได้ว่า เป็นโรคอะไร อย่างน้อยก็จำกัดขอบเขตของปัญหาได้ว่า ควรจะเจาะถามคนไข้ที่จุดไหน ค้นหาสมุฏฐานของโรคได้รวดเร็ว หรืออย่างช่างแก้เครื่องยนต์ฟังเสียงเครื่องยนต์ก็แทบจะรู้เลยว่าปัญหาอยู่ ณ จุดใด เด็กของเราก็เช่นกัน ต้องสอนให้ฝึกคิดฝึกทำ แม้แต่คิดเลขในใจก็ต้องฝึกไว้

เมื่อมีเทคโนโลยีขึ้นมาเราก็มักจะประมาท ปล่อยตัว ไม่พัฒนาอินทรีย์ แพทย์มีเครื่องมือสารพัดจนถึง MRI, CT scan, X- ray Computer เมื่อคนไข้มาก็ส่งเข้าเครื่อง ไปๆ มาๆ พอไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ การทำงานก็เลยต้องขึ้นกับเทคโนโลยีหมด สมัยนี้เมืองฝรั่งเด็กคิดเลขในใจไม่เป็น ไม่มีเครื่องคิดเลขก็คิดไม่ออก

เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีจะเกิดโทษ ถ้าเรามีความประมาท มัวแต่เพลินเสพ แล้วไม่พัฒนาอินทรีย์ วงการศึกษาจะต้องสำนึก ตระหนักอยู่เสมอที่จะไม่ลืมให้มีการพัฒนาอินทรีย์ โดยถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อมีเทคโนโลยี จะต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องเสริมช่วยเรา (เรียกว่าเป็นปัจจัย) อย่ามองให้เป็นสิ่งที่มาทดแทนเรา ทำให้เราอยู่ในความประมาท ทำให้เราแย่ลงเพราะต้องมีชีวิตที่ขึ้นกับเทคโนโลยี ดังที่ฝรั่งกำลังวิตกว่าจะประสบปัญหามากขึ้นในเรื่องนี้ เมื่อเรามีเทคโนโลยี อย่าให้เทคโนโลยีมาทำให้เราสูญเสียความสามารถหรือศักยภาพในการใช้อินทรีย์ เราต้องฝึกตนเองอยู่เสมอ เพื่อยังคงเป็นนายอยู่เหนือเทคโนโลยี

การขึ้นต่อเทคโนโลยี มี ๒ ด้าน คือ

๑. การขึ้นต่อเทคโนโลยีในด้านการดำรงชีวิตและทำกิจการงาน คือ ขึ้นต่อมันในทางอินทรีย์อย่างที่กล่าวมานี้

๒. การขึ้นต่อเทคโนโลยีในด้านความสุข หมายความว่า ถ้าขาดเทคโนโลยีบำรุงบำเรอ ก็จะกระวนกระวาย ทุรนทุราย ไม่สามารถมีความสุขในตนเอง

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องฝึกเด็กให้เป็น independent คือเป็นคนที่เป็นอิสระ มีอิสรภาพในตัวเอง ไม่ต้องเป็นทาสขึ้นต่อเทคโนโลยีไม่ว่าจะโดยทางอินทรีย์หรือโดยทางความสุข ถึงแม้ไม่มีเทคโนโลยีก็เป็นอยู่ ทำงาน และมีความสุขได้

ขณะนี้ถ้าพัฒนาไม่ถูกทาง เทคโนโลยีจะสร้างปัญหาให้เรา การปล่อยตัวให้เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อเรามากเกินไป ทั้งในทางอินทรีย์ และในทางความสุขนั้น เป็นหนทางแห่งความเสื่อม ในทางที่ถูกเราจะต้องเป็นนายของมัน ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ให้มันรับใช้เรา อย่าให้มันเป็นนายเรา พูดสั้นๆ ว่า ต้องมองเทคโนโลยีด้วยท่าทีที่ให้มันเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นจุดหมายแห่งความใฝ่ฝันที่จะเสพ และควรใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์ ให้มากกว่าใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพ เราจะต้องรักษาอิสรภาพจากเทคโนโลยีไว้ให้ได้ทั้ง ๒ ด้าน กล่าวคือ

๑. มีอิสรภาพในเชิงอินทรีย์ ฝึกอินทรีย์ให้รู้จักพึ่งตนเองได้เมื่อขาดเทคโนโลยี

๒. มีอิสรภาพในการที่จะมีความสุข มีความสุขได้ด้วยตนเองให้มากขึ้น

ขอพูดสั้นๆ ว่า

ถ้าเด็กหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี เด็กจะจมอยู่ในกระแสตัณหา จะเกิดและจะก่อแต่ปัญหา ยากที่จะพัฒนา แต่ถ้าเด็กหาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี แสงแห่งปัญญาจะฉายออกมา และเด็กจะดำเนินไปในวิถีแห่งการพัฒนา การพยายามสร้างสรรค์จะเรียกร้องให้เกิดโยนิโสมนสิการ พร้อมไปด้วยกันกับการเสริมกำลังแห่งฉันทะ

จึงขอฝากเรื่องนี้แก่วงการศึกษา เพราะว่ามีความสำคัญมาก หากเราช่วยให้เด็กฝึกโยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ยังเล็กๆ เด็กก็จะถูกนำไปในวิถีแห่งฉันทะ คือความใฝ่รู้และใฝ่ดี

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.