การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมชาติบอกว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตแห่งการฝึกฝนพัฒนา

พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ธรรมชาติทั่วไปนั้น มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยซึ่งเป็นกฎแห่งเหตุและผล ส่วนตัวมนุษย์นั้น เป็นธรรมชาติส่วนพิเศษคือเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เราสวดพุทธคุณอยู่เสมอว่า “อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ... อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ...” บทสวดพุทธคุณนี้บอกถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก(ทัมมะ) ไม่เหมือนสัตว์อื่น สัตว์อื่นเกิดแล้วอาศัยสัญชาตญาณก็อยู่ได้ แต่มนุษย์นี้อาศัยสัญชาตญาณได้น้อยที่สุด เมื่อเกิดมาสัตว์อื่นสามารถช่วยตัวเอง เดิน ว่ายน้ำได้แทบจะทันที หากินได้แทบจะทันที แต่มนุษย์เกิดมาแล้วช่วยตัวเองแทบไม่ได้เลย ต้องให้ผู้อื่นมาเลี้ยงดู การเลี้ยงดูนั้นรวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ด้วย ในขณะที่คนอื่นเช่นพ่อแม่เลี้ยงดู ตัวเด็กเองก็เรียนการดำเนินชีวิต ทุกอย่างต้องเรียนรู้ ทุกอย่างต้องฝึก แม้แต่การกินก็ต้องฝึก การเดินก็ต้องฝึก การขับถ่ายก็ต้องฝึก การดำเนินชีวิตทุกอย่างของมนุษย์ได้มาจากการฝึก คือเกิดจากการศึกษาต้องมีการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น

การที่ต้องฝึกนี้เป็นจุดอ่อนของมนุษย์ที่เสียเปรียบต่อสัตว์อื่น คือการอาศัยสัญชาตญาณได้น้อย การเป็นอยู่ทุกอย่างต้องฝึก ต้องเรียน แต่เมื่อมนุษย์ฝึกแล้ว เรียนแล้ว ก็กลับเป็นข้อเด่นของมนุษย์ว่า เมื่อฝึกแล้วจะมีความเป็นเลิศประเสริฐสุดแทบจะไม่มีขอบเขต ส่วนสัตว์ทั้งหลายอย่างอื่นเกิดมาอยู่ด้วยสัญชาตญาณอย่างไร จนตายก็อยู่อย่างนั้น จะฝึกตัวเองก็ฝึกแทบไม่ได้ ถ้าจะมีการฝึกสัตว์บางชนิดก็ต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้ฝึกให้ และถึงแม้มนุษย์จะฝึกให้ก็ฝึกได้ในขอบเขตจำกัดอีก ได้แค่ขอบเขตหนึ่งก็จบ เช่น ช้าง ม้า ลิง เรามาฝึกให้ขึ้นต้นไม้ ให้ทำงานลากซุง ให้เล่นละครสัตว์ เสร็จแล้วมันก็ได้แค่นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าฝึกตัวเองไม่ได้

ส่วนมนุษย์มีความสามารถพิเศษคือฝึกตัวเองได้ ฝึกได้จนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าเราถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างให้เห็นว่า พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็เตือนให้ระลึกถึงความสามารถในตัวมนุษย์ว่ามีศักยภาพ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ฝึกจนเป็นพุทธะก็ได้ และเราก็มีความสามารถอย่างนี้อยู่ มนุษย์จะต้องมีความเชื่อความมั่นใจในศักยภาพนี้ ซึ่งเรียกว่าโพธิศรัทธา คือมีความเชื่อในปัญญาที่จะทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธะได้

ความเชื่อนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ศรัทธาเบื้องต้นของพุทธศาสนิกชน อยู่ในความเชื่อนี้ คือ ความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้กลายเป็นพุทธะได้ การระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็เพื่อเร้าเตือนให้เกิดความมั่นใจในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พร้อมกันนั้นก็เป็นการเตือนให้ระลึกถึงหน้าที่ของมนุษย์ว่าเราจะต้องฝึกตนอยู่เสมอ

การถามว่าตัวเราจะต้องทำอะไร ตามหลักที่ว่าเราต้องทำนี้ คือหลักกรรม ส่วนหลักที่ว่าเราจะต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเราและการกระทำของเราอย่างไร คือหลักสิกขา ทั้งหมดนี้เป็นหลักการที่สอดคล้องกัน เมื่อเราดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม คือกฎธรรมชาติ ก็เป็นเครื่องแสดงว่าเราจะต้องทำกรรมที่ถูกต้องด้วยความเพียร การที่เราจะทำกรรมได้อย่างถูกต้องก็ต้องมีปัญญารู้ความจริงในธรรมชาติ คือต้องมีการศึกษาหรือเรียนรู้ เพราะฉะนั้นสิกขาจึงเป็นข้อปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา และการศึกษามีหลักการสำคัญคือ ให้แก้ไขปรับปรุงตนด้วยการฝึกฝนพัฒนาอยู่เสมอ มองในแง่พระพุทธศาสนา ชีวิตที่ดีของมนุษย์เป็นชีวิตแห่งการแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา ความเชื่ออะไรก็ตามที่ทำให้คนไม่แก้ไขปรับปรุงตน พึงถือว่าผิดหลักการของพระพุทธศาสนา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.