การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พัฒนามนุษย์ กับ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์

มีสิ่งหนึ่งที่อยากจะทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนนั่นคือคำว่า การพัฒนาคน เวลานี้เรามักได้ยินคำว่า การพัฒนาคนบ้าง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บ้าง รู้สึกว่ามีความสับสนไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญพอสมควร

คำว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้ น่าจะแตกต่างจากคำว่า การพัฒนามนุษย์ สองคำนี้ไม่เหมือนกันทีเดียว ยิ่งเวลานี้เราเน้นการพัฒนาคน เราจะต้องเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของคำว่าการพัฒนามนุษย์ ที่ต่างจากคำว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคนในฐานะที่เป็นการพัฒนาทรัพยากรอย่างหนึ่ง

คำว่า ทรัพยากรมนุษย์ เป็นคำที่เกิดมาไม่นานนัก (เกิดในช่วง ค.ศ. ๑๙๖๕ - ๑๙๗๐ คือ พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๓) เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ และต่อมาก็ขยายไปถึงการพัฒนาสังคม เป็นการมองคนอย่างเป็นทุน เป็นเครื่องมือ เป็นปัจจัยหรือเป็นองค์ประกอบที่จะใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ต่อมาเราเห็นว่าการที่จะพัฒนาโดยมุ่งเน้นแต่ในด้านเศรษฐกิจนั้นไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่สำคัญคือ คนเรานี่เอง ซึ่งควรจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เราจึงหันมาเน้นในเรื่องการพัฒนาคน แต่ก็ยังมีการใช้ศัพท์ที่ปะปนกัน บางทีใช้คำว่าทรัพยากรมนุษย์ บางทีใช้คำว่าพัฒนามนุษย์ เราควรปรับความเข้าใจเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนตรงกัน มิฉะนั้นจะเกิดความสับสน

แต่ก่อนนี้เราไม่มีคำว่าทรัพยากรมนุษย์ คำนี้เกิดขึ้นมาเพื่อสนองความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นจะต้องเข้าใจให้ดีว่าคำว่าทรัพยากรมนุษย์นั้น เป็นการมองมนุษย์ในฐานะทรัพยากร คือ เป็นทุน เป็นปัจจัย ในการที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนการพัฒนามนุษย์โดยมองคนในฐานะเป็นมนุษย์ มีความหมายว่า มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ของเขาเอง ชีวิตมนุษย์นั้นมีจุดหมาย จุดหมายของชีวิตคือ ความสุข อิสรภาพ ความดีความงามของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล

เราต้องให้ความสำคัญว่าเราจะพัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างไร พร้อมกับที่อีกด้านหนึ่ง เขาก็จะเป็นทรัพยากร เป็นทุน เป็นปัจจัยที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ขณะนี้เราควรแยกคำทั้ง ๒ นี้ออกจากกันให้ชัดเจน พร้อมทั้งมองความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาทั้งสองอย่างด้วยดุลยภาพของการพัฒนาทั้ง ๒ อย่างจึงจะเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงขอทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อน มิฉะนั้นอาจพลาดอีกก็ได้ ที่ว่าพลาดคือเราเคยมองมนุษย์เป็นทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เรากำลังหันมาพัฒนาตัวมนุษย์เอง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้

การพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ กับการพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์นี้มีความหมายต่อการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนาคน ทั้งในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยตัวของมันเอง และในฐานะที่เป็นทรัพยากร ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ การศึกษาเพื่อพัฒนาตัวมนุษย์นั้น เป็นการศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน (การศึกษาระยะยาว) ส่วนการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายขึ้นกับกาลเทศะ หรือยุคสมัยมากกว่า คือเป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของยุคสมัยนั้นๆ (การศึกษาระยะสั้น) เช่น เพื่อสนองความต้องการของสังคมในด้านกำลังคนในสาขางานและกิจการต่างๆ ฉะนั้นเราจึงควรจัดการศึกษา ๒ อย่างนี้ให้สัมพันธ์กัน เพราะถ้าเราสามารถพัฒนาทั้ง ๒ ส่วนนี้ให้สัมพันธ์กันจนเกิดดุลยภาพขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อชีวิตและสังคมมาก

ในที่นี้จะขอบรรยายถึงการศึกษากับการพัฒนามนุษย์ ในความหมายที่เป็นส่วนต่อเชื่อมจากการศึกษาที่เป็นการพัฒนามนุษย์เอง มาสู่การพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้า คือ จะไม่ลงสู่เรื่องเฉพาะเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนในด้านต่างๆ แต่จะเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพคน สำหรับแก้ปัญหาที่เป็นจุดเด่นของยุคสมัย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.