แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

(ความเป็นมาและเป็นไป)1

ผู้สัมภาษณ์ : จะกราบนมัสการถามในข้อต่อไปเจ้าค่ะว่า งานเขียนที่ได้รับความสนใจมากตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ดูจากจำนวนพิมพ์ เท่าที่ระบุไว้มีถึงเกือบ ๓๐,๐๐๐ เล่ม คือ ๒๙,๕๐๐ เล่ม และจากการที่ดิฉันมีโอกาสติดตามการวิพากษ์วิจารณ์จากคอลัมน์ทางหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็มีติดต่อกันในระยะสามเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่สื่อมวลชนเขียนถึงและที่มีผู้สนใจเขียนโต้ตอบกับสื่อมวลชน ประมาณแล้วจะมีหลายสิบครั้งที่เขียนถึงงานชิ้นนี้ของท่านเจ้าคุณ คือ เรื่อง กรณีสันติอโศก ทางกองบรรณาธิการศึกษาศาสตร์ปริทัศน์จึงอยากให้ดิฉันมาเรียนถามท่านเจ้าคุณอาจารย์ ในสองประเด็นต่อเนื่องไปเลยว่า อะไรเป็นเหตุจูงใจหรือแรงจูงใจที่ทำให้ท่านเขียนกรณีสันติอโศก ทั้งๆ ที่ระยะนั้นหลายคนทราบว่า ท่านเจ้าคุณมีภารกิจมากที่ต้องเร่งทำ แต่ท่านเจ้าคุณก็กลับสละเวลามาเขียน กรณีสันติอโศก และมีอีกประเด็นที่ขอกราบนมัสการให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์ ตอบต่อเนื่องกันไปเลย ก็คือว่า ทำไมจึงเลือกพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ใน วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งพอดี ขอกราบนมัสการถามทั้งสองคำถามเจ้าค่ะ

พระเทพเวที : อาตมาจะขอวกกลับไปเมื่อกี้นี้นิดหนึ่ง พอดีตอบยังไม่หมด คือ หนังสือที่เป็นผลงานออกมาในระยะหลังนี้ มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าเป็นงานที่สืบเนื่องมาจากการพูดแทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะงานที่ออกมาจะแปลกไป ส่วนงานในยุคก่อนๆ เป็นเรื่องที่เกิดจากการเขียนโดยตรง ในแง่หนึ่งก็คิดว่าดีเหมือนกันที่งานออกมา แต่งานที่มาจากการพูดจะไม่ประณีตเท่างานเขียน เอาละเรื่องนี้ก็ผ่านไป

ทีนี้มาถึงเรื่อง กรณีสันติอโศก อาตมาอยากจะขอให้ย้อนกลับไปดูสภาพก่อนที่อาตมาจะเขียนหนังสือเล่มนี้ ถ้าหากย้อนไประลึกถึงช่วงก่อนเลือกตั้ง คือในระยะหาเสียงซึ่งยาวนานเป็นเดือนๆ หนังสือพิมพ์ลงข่าวโต้ตอบกันในเรื่องสันติอโศก มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว ที่ออกเป็นหนังสือเล่มก็มี และการโต้ตอบกันไปมานั้น ก็เกี่ยวพันกับการเมืองการเลือกตั้งด้วย แม้ว่าตามปกติอาตมาจะอ่านหนังสือพิมพ์น้อยอย่างยิ่ง แต่จากการที่ได้เห็นเป็นระยะๆ ในหนังสือพิมพ์ที่ท่านองค์อื่นรับมาที่ศาลา ก็มองเห็นสภาพนี้ชัดเจน จุดที่อาตมาสะดุดใจอยู่ที่ลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบกัน คือได้สังเกตเห็นว่า การพูดกันไปกันมา ส่วนมากไม่ตรงประเด็น มักหยิบยกเอาปัญหานอกเรื่องมาพูด และพูดแบบเฉไฉ ทำให้ประชาชนสับสนจนไม่รู้ว่าตัวเรื่องอยู่ที่ไหนและปัญหาคืออะไร อีกอย่างหนึ่งก็คือ การพูดนั้นมิได้เป็นไปตามเหตุตามผล แต่ใช้คำพูดที่แสดงอารมณ์กันมาก และบางทีก็ใช้วาจารุนแรงหยาบคายอย่างยิ่ง จนทำให้รู้สึกเหมือนว่าจะมีการประหัตประหารกัน สภาพนี้หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว ขอให้นึกย้อนไปดู ตอนนั้นเป็นอย่างนี้มาก

อาตมาก็มาคิดว่า น่าจะได้มีการพูดกันด้วยวิธีการของเหตุผล และโดยเฉพาะให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้อง ให้รู้ว่าประเด็นปัญหานั้นคืออะไร จึงคิดว่าน่าจะเขียนชี้แจงบ้าง แต่ในเวลาเดียวกันอาตมาก็มีงานติดค้างและเร่งมาก ความคิดที่ว่าจะเขียนก็ถูกต้านไว้ด้วยความรู้สึกว่างานมากเหลือเกิน ถ้าจะเขียนก็ต้องสละเวลาสำหรับงานที่เร่งรีบอยู่อย่างน้อยก็หลายวัน จึงต้องเร่งงานต่อไปตามปกติ จนกระทั่งมาถึงตอนใกล้เลือกตั้ง ก็ได้เห็นวารสารบางเล่มของสันติอโศก ซึ่งที่จริงก็มีอยู่แล้ว แต่อาตมาไม่ได้ตาม มีผู้นำหนังสือมาที่นี่ อาตมาก็เลยได้อ่านดู ชื่ออะไรก็จำไม่ได้ อาจจะชื่อดอกหญ้าหรืออะไรสักอย่าง ในนั้นมีคำให้สัมภาษณ์ของท่านโพธิรักษ์ ให้การสนับสนุนพรรคพลังธรรมถึงขนาดร่วมคิดการในการที่จะตั้งพรรค ตลอดจนการหาเสียง อาตมาอ่านดูคำให้สัมภาษณ์แล้ว ก็มีความเห็นว่า ท่านลงมาในวงการเมืองมากเกินไป เกินขอบเขตของสถาบันพระสงฆ์ ทำตัวเป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง คือ พระสงฆ์นี้ต้องมีหลักการในการเกี่ยวข้องกับการเมืองว่า ฐานะและบทบาทของตนมีแค่ไหน ซึ่งเมื่อรักษาขอบเขตของเราได้ดีทำหน้าที่ทางการเมืองอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะทำให้สถาบันดำรงอยู่ได้ด้วยความเป็นอิสระ แต่ถ้าหากเกินขอบเขต โดยลงไปคลุกเสียเองในวงการเมือง ก็เสียหลักการของสถาบัน คือทำให้ตัวเองตกลงไปอยู่ในวงการเมืองด้วย แล้วก็จะมีพระของนักการเมืองฝ่ายโน้น พระของนักการเมืองฝ่ายนี้ แล้วพระก็จะทะเลาะกันเองและลงไปร่วมวงทะเลาะกับเขาในสนามของการเมือง ไม่สามารถพูดธรรมอย่างเป็นกลางๆ อาตมาเห็นว่า จะไปกันใหญ่แล้ว น่าจะต้องเขียน แต่ก็ติดงานอยู่

จนมาท้ายสุด เห็นหนังสือของสันติอโศกอีกเล่มหนึ่ง ตามปกติสันติอโศกนั้นเวลามีหนังสือออกมาก็จะส่งมาให้อาตมา แต่จะส่งไปที่วัดพระพิเรนทร์ อาตมาไปวัดก็ไม่ได้อ่านเพราะไม่มีเวลาจริงๆ ได้แค่เก็บๆ ไว้ แต่ไม่ทราบว่าอย่างไร ทางสันติอโศกได้ส่งหนังสือ ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวที่กำลังเป็นไปตอนนั้น มาที่ศาลากลางสระนี่ เป็นเล่มเล็กนิดเดียว อาตมาก็เลยอ่าน พออ่านไปแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ท่านโพธิรักษ์มีความไม่ชัดเจน และเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนหลายอย่างในเรื่องต่างๆ ที่ท่านพูดถึง โดยเฉพาะท่านตีความกฎหมายอะไรต่ออะไรวุ่นวายไปหมด ทำไมไม่มองตามสภาพความเป็นจริง ยอมรับกันตามจริง แล้วเรามีความเห็นอย่างไร ก็แสดงออกมา ถ้าคิดว่ากฎหมายไม่ดี ไม่เห็นด้วย ก็ว่าไปตรงๆ แต่นี่ไปตีความเฉไฉเลี่ยงไปเลี่ยงมา ไม่สมเหตุผล ยิ่งกว่านั้น ยังพูดเสียด้วยว่าคณะของท่านพยายามเป็นพลเมืองดี ย่อมไม่ละเมิด ไม่ผิดกฎหมาย แม้แต่ศีลธรรมมากมายที่ยากกว่ากฎหมาย ก็ยังทำกันได้ การที่ท่านทำอย่างนี้พูดอย่างนี้ คือ ทั้งๆ ที่ฝ่าฝืนละเมิดกฎหมาย แต่บอกว่าไม่ได้ฝ่าฝืน โดยพูดจาเลี่ยงหลบไปต่างๆ นับว่าเป็นการเสียหายหลายชั้น ถ้าหากจะฝ่าฝืน ตนมีเหตุผลอย่างไรที่ทำให้ต้องฝ่าฝืนก็ชี้แจงมาตรงๆ ก็ยังจะควรแก่การรับฟัง และมีทางเป็นประโยชน์แก่สังคมได้บ้าง วิธีการเลี่ยงหลบเฉไฉเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกเด่นในแง่ว่าเป็นความไม่ตรงไปตรงมา และทำให้สูญเสียความเชื่อถือทางจริยธรรม พร้อมกันนั้น ก็ทำให้นึกต่อไปว่า ถ้าพระโพธิรักษ์ใช้วิธีตีความกฎหมายอย่างนี้ แล้วเอาวิธีตีความอย่างนี้ไปใช้กับพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักการของพระศาสนา จะทำให้เกิดความผิดเพี้ยนสับสนเพียงใด พอถึงตอนนี้ อาตมาก็มีความเห็นว่าจะต้องเขียน เพื่อสร้างความเข้าใจและดึงเข้าประเด็น ก็เลยตัดสินใจจากการที่ได้อ่านหนังสือ ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง นั่นเอง

เมื่อเขียนนั้น ก็เป็นตอนที่กำลังจะหมดระยะหาเสียง อาตมามองดูว่า ถ้าจะให้หนังสือออกไปในระยะหาเสียงก็จะไม่เหมาะ จะกลายเป็นว่าเราไปเกี่ยวพันกับการเมือง เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อการหาเสียงของเขาด้วย ก็มานึกว่าวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เป็นวันเลือกตั้ง เป็นวันที่พ้นการหาเสียง เพราะกฎหมายห้าม และถ้าเลยวันที่ ๒๔ ไป ไปถึงวันที่ ๒๕ ก็จะรู้ผลการเลือกตั้งว่าพรรคการเมืองไหนได้มากได้น้อย ก็จะไม่ดีอีกเพราะเขาอาจจะคิดว่า เราไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดในทางที่จะต่อต้านหรือซ้ำเติม เพื่อไม่ให้มีการสร้างความรู้สึกเช่นนั้น ก็เลือกวันที่เป็นกลางที่สุด จึงเลือกเอาวันที่ ๒๔ แต่จะทำอย่างไรให้หนังสือเล่มนั้นได้ออกทันวันที่ ๒๔ เราก็อยู่ที่นี่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ห่างจากโรงพิมพ์ และวันนั้นก็พอดีเป็นวันอาทิตย์ ได้ติดต่อจะส่งต้นฉบับไปให้โรงพิมพ์ในวันนั้น คือ วันที่ ๒๔ แต่ทางโรงพิมพ์ปิดไม่มีคนทำงาน และเราก็ต้องเร่ง เพราะได้ตั้งใจและบอกกันเองไว้ว่าจะออกในวันที่ ๒๔ ในที่สุดก็จึงใช้วิธีถ่ายเอกสาร แล้วก็ทำเป็นเล่มได้ ๑๐ เล่ม พอดีมีญาติโยมมาเยี่ยมก็ได้แจกไปในเย็นวันนั้น ๖ เล่ม กว่าจะเสร็จออกมาแจกเขาได้ก็บ่าย ๔ โมง หลังเวลาปิดหีบลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไป ๑ ชม. หนังสือที่เหลืออีก ๔ เล่ม ก็ใช้เป็นต้นฉบับส่งโรงพิมพ์บ้าง เก็บไว้เป็นตัวอย่างบ้าง

ผู้สัมภาษณ์ : การที่ท่านเจ้าคุณพิจารณาเผยแพร่หนังสือในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ก็เพราะเป็นวันที่เป็นกลางที่สุดแล้ว หมายความว่า ถ้ารู้ผลหลังวันเลือกตั้ง พรรคไหนเกิดได้เสียงมากได้เสียงน้อย ถ้าพรรคเขาได้เสียงน้อย ก็เหมือนกับไปโจมตีเขา

พระเทพเวที : ก็เหมือนกับไปซ้ำเติม ที่หนังสือออกมา ๔ โมงเย็น หลังปิดหีบบัตรเลือกตั้งแล้วนั้น ก็เป็นการบังเอิญ ไม่ได้ตั้งใจไว้ คิดแต่เพียงให้ออกในวันที่ ๒๔ ก็แล้วกัน ถึงแม้ถ้าทันออกแต่เช้า ก็ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอะไรต่อการเลือกตั้ง เพราะอาตมาก็อยู่ไกลคงแจกได้ไม่กี่เล่ม และก็ไม่ได้เตรียมใครไว้ช่วยแจก คิดแต่เพียงว่าวันนั้นไม่มีการหาเสียงแล้ว และยังไม่รู้ผล คิดไว้แค่นั้น

ผู้สัมภาษณ์ : แต่จริงๆ แล้วก็เป็นการเผยแพร่ได้แค่ ๖ เล่มในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม จากการถ่ายเอกสาร แล้วหนังสือที่พิมพ์เสร็จออกจากโรงพิมพ์มาเมื่อไรเจ้าคะ

พระเทพเวที : วันรุ่งขึ้นก็ได้ส่งโรงพิมพ์ กว่าจะออกจากโรงพิมพ์ได้มารุ่นแรก ๑,๐๐๐ เล่ม ก็เป็นวันที่ ๒๖ ตอนเช้า

ตอนบ่ายพอดีมีพิธีถวายปริญญา ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระท่านก็เลยเอาไปแจกรวมกับหนังสืออื่นด้วย หนังสือพิมพ์บางฉบับเอาไปลงพิมพ์ว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์สำหรับโอกาสนั้น ซึ่งที่จริงไม่เกี่ยวกัน แต่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เอาไปแจกในงานนั้น เหมือนกับหนังสืออื่นๆ

ผู้สัมภาษณ์ : ตกลงว่าหนังสือออกจากโรงพิมพ์ตอนเช้าวันที่ ๒๖ กรกฎาคม แล้วท่านเจ้าคุณแจกในตอนบ่าย ซึ่งตรงกับวันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ท่านเจ้าคุณ

พระเทพเวที : ใครต้องการก็แจก อาตมาแจกเฉพาะที่เขาจัดมารวมกับหนังสืออื่นในพิธี นอกนั้นพระท่านแจกทั่วไป

ผู้สัมภาษณ์ : ในวันนั้นแจกไปทั้งหมดประมาณกี่เล่มเจ้าคะ

พระเทพเวที : ทั้งหมดเกือบ ๑,๐๐๐ เล่ม คนนั้นเอาไป คนนี้เอาไป บางคนเอาไปเป็นร้อย จึงได้หมดเร็ว วันนั้นวันเดียวก็เกือบหมด วันรุ่งขึ้นก็รีบส่งไปพิมพ์เพิ่ม คราวนี้เป็นรายการมีเจ้าภาพขอพิมพ์ทั้งนั้น หลายรายรวมแล้วดูเหมือนจะ ๖,๐๐๐ เล่ม แม้แต่ ๑,๐๐๐ แรก ก็ได้รับความอุปถัมภ์จากโรงพิมพ์ ไม่คิดเงินเลย

1ทางเว็บไซต์เป็นผู้จัดแบ่งเนื้อหาเป็นส่วนๆ และตั้งชื่อหัวข้อแต่ละส่วน เพื่อความสะดวกในการนำเสนอบนเว็บ หนังสือต้นฉบับไม่มีการจัดแบ่งหัวข้อแต่อย่างใด
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.