แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

(พฤติการณ์ของสันติอโศก)1

อีกอย่างหนึ่ง การที่มองเป็นว่า มีกลุ่มสันติอโศกกลุ่มหนึ่งกับกลุ่มมหาเถรสมาคมกลุ่มหนึ่ง นี้เป็นภาพที่ผิดความจริงพื้นฐาน คล้ายกับพูดว่า มีกลุ่มหมู่บ้านเขาย้อยกับกลุ่มรัฐบาลไทย ซึ่งความจริงนั้นภาพรวมก็คือมีคณะสงฆ์ไทยเป็นองค์รวมอยู่อันหนึ่ง ซึ่งมีพระสงฆ์มากมาย แต่ปัจจุบันนี้ ในขณะที่การคณะสงฆ์กำลังเสื่อมโทรมอยู่ ซึ่งต้องการการแก้ไขปรับปรุง ก็ได้มีพระที่ไม่ดีเกิดขึ้นมาก ประพฤติเสียหายอะไรต่างๆ แต่คณะสงฆ์ก็ยังคงเป็นที่รวมของพระจำนวนมากมายอยู่นั่นแหละ ซึ่งมีทั้งพระดีและพระไม่ดี ซึ่งทั้งหมดก็เป็นพระไทยด้วยกัน แต่ในสภาพเช่นนี้ พระดีอาจจะน้อยลง และพระไม่ดีก็อาจจะมากขึ้น และในคณะสงฆ์ไทยนั้น ถ้าเราจะแยกไปพูดถึงสำนักต่างๆ ก็มีเยอะแยะ มีสำนักอาจารย์ชา สำนักอาจารย์บัว สำนักอะไรๆ สายอาจารย์มั่นอีกเยอะแยะ สำนักท่านพุทธทาส หรืออาจจะแยกแม้กระทั่งว่า สำนักท่านปัญญานันทะ ท่านอะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งก็มีคำสั่งสอนและการปฏิบัติในแนวของท่านนั้นๆ หลายสำนักก็มีคนเลื่อมใสมาก เพราะเห็นว่าท่านปฏิบัติดี แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ในคณะสงฆ์ไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมตามกฎหมาย รวมทั้งสำนักสันติอโศกด้วย ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ทั้งหมด ไม่ได้มีภาพอะไรพิเศษออกไปที่จะมาเป็นสองกลุ่มขึ้นได้ ทีนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็เป็นเพียงว่า สำนักที่ชื่อว่าสันติอโศก ได้มีเรื่องราวขึ้นมาให้สังคมพิจารณา เพราะท่านประกาศตัวลาออกจากมหาเถรสมาคม ซึ่งเราก็ต้องมาพิจารณากันว่า การลาออกนั้นเป็นไปได้จริงหรือเปล่า ก็กลายเป็นปัญหาเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา นี่ก็เป็นภาพที่ควรจะสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง

ทีนี้ ภาพนั้นยังมีการวาดต่อไปอีก คือ สร้างให้เห็นเป็นภาพว่า มีกลุ่มสันติอโศกที่มีความประพฤติปฏิบัติที่วางไว้จำเพาะแบบนี้ กับกลุ่มพระอื่นที่เรียกว่าพระของมหาเถรสมาคม ซึ่งมีการประพฤติใบ้หวย มีการทำเดรัจฉานวิชา ทำไสยศาสตร์ต่างๆ มากมาย พูดจูงไปจนกลายเป็นว่า พระมีสองกลุ่ม คือ กลุ่มสันติอโศกที่ประพฤติดีงาม กับกลุ่มพระอื่นที่อยู่กับมหาเถรสมาคมที่ประพฤติเหลวไหล ซึ่งเป็นภาพที่ผิดเต็มที่เลย เพราะว่าพระอย่างสำนักพระอาจารย์ชา สำนักอาจารย์บัว สำนักท่านพุทธทาสก็อยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคม ดังนั้น การพูดถึงพระในคณะสงฆ์ไทยทั้งหมดที่นอกเหนือจากกลุ่มสำนักสันติอโศก โดยยกเอาภาพของพระที่ประพฤติเดรัจฉานวิชาขึ้นมาตั้ง ทำให้เกิดการสร้างภาพต่อคณะสงฆ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน อันนี้ถ้าไม่ใช่เป็นการพูดด้วยเจตนาสร้างภาพลวงตา ก็เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข จะเห็นว่าสื่อมวลชนต่างๆ ไม่น้อยทีเดียวก็ไม่เข้าใจ กลับไปมองแบบเดียวกับที่ว่ามานั้น

ในการพูดชักจูงให้เกิดภาพนี้ขึ้นนั้น ก็มีพฤติการณ์และเหตุผลให้มองได้ว่า ทางสันติอโศกคงจะได้พยายามทำให้เกิดภาพนี้ขึ้นด้วย คือเมื่อสร้างภาพให้เห็นว่ามีพระอยู่สองกลุ่ม คือ กลุ่มสันติอโศกกับกลุ่มมหาเถรสมาคม แล้วก็สร้างภาพให้เห็นต่อไปอีกว่า พระสันติอโศกเป็นพระที่ประพฤติดี ส่วนพระฝ่ายมหาเถรสมาคมเป็นพระที่ประพฤติเหลวไหล ใบ้หวย เล่นไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีเปรียบเทียบเพื่อทำให้ตัวเองเด่นขึ้นมา ทำไมไม่เปรียบเทียบกับพระไทยอื่นๆ ที่ดีๆ อย่างสำนักสวนโมกข์ สำนักวัดหนองป่าพง สำนักวัดเขื่อน หรือสำนักอะไรต่างๆ อีกมากที่ท่านมีความประพฤติปฏิบัติอยู่ในแนวทางที่เคร่งครัด ที่ท่านดีแต่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงปรากฏ

ความจริง ถ้าจะพูดว่ามีสองกลุ่มก็ได้ แต่จะเป็นสองกลุ่มอีกแบบหนึ่ง คือ ในขณะที่การพระศาสนากำลังเสื่อมโทรมอ่อนแอ และต้องการการปรับปรุงอย่างยิ่งนี้ ก็มีกลุ่มที่เด่นเป็นปัญหาขึ้นมา ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ทำวิปริตจากพระธรรมวินัย กับ กลุ่มที่ทำธรรมวินัยให้วิปริต พระใบ้หวย ทำเดรัจฉานวิชา หากินด้วยไสยศาสตร์ ที่ทางสันติอโศกยกขึ้นมาโจมตีมากจนเด่น เหมือนจะให้เป็นภาพรวมของคณะสงฆ์ไทยนั้น เป็นกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ทำวิปริตจากพระธรรมวินัย คือ ประพฤติวิปริตคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมคำสอนและวินัยที่เป็นบทบัญญัติของพระพุทธเจ้า ส่วนปัญหาที่กำลังเป็นอยู่กับสันติอโศกนั้นเป็นปัญหาที่มาเด่นในกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ทำธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งกำลังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่ว่า จะสอนสิ่งที่คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากหลักธรรมวินัย จะด้วยเจตนาหรือความหลงผิดก็ตาม ซึ่งคนที่มีความรับผิดชอบต่อพระศาสนา ต่อพระธรรมวินัย จะต้องเอาใจใส่ มาดูกันให้ชัดเจน และช่วยกันแก้ไข ซึ่งก็ควรทำด้วยหวังดีทั้งต่อพระศาสนา และต่อสันติอโศกเองด้วย แต่รวมความก็คือว่า เป็นปัญหา จะต้องแก้ไขทั้งสองกลุ่ม คือ ทั้งกลุ่มที่ทำวิปริตจากธรรมวินัย และกลุ่มที่ทำธรรมวินัยให้วิปริต จะเอาแต่ปัญหาพระไสยศาสตร์ ใบ้หวย ไม่แก้ปัญหาสันติอโศกก็ไม่ถูก จะแก้แต่ปัญหาสันติอโศก ละเลยปัญหาพระย่อหย่อนมิจฉาชีพก็ไม่สมควร อย่างไรก็ตาม เหนือกว่านั้นขึ้นไป ก็มีจุดรวมของการเกิดปัญหา และการแก้ปัญหาอยู่อย่างน้อยจุดหนึ่ง ถ้ายังไม่มองเหตุปัจจัยและองค์ประกอบที่ลึกซึ้งกว่านั้นไป จุดรวมนั้น ก็คือการบริหารการคณะสงฆ์ ซึ่งถ้าไม่แก้ไขปรับปรุง นอกจากจะแก้ปัญหาที่มีอยู่ทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ไหวแล้ว ก็จะมีแต่การสั่งสมปัญหามากขึ้น และร้ายแรงยิ่งขึ้นไปในระยะยาว

ในการพิจารณาเรื่องสันติอโศกนั้น ไม่ควรยกเรื่องพระประพฤติย่อหย่อนวิปริตขึ้นมาเทียบ เพื่อปัดประเด็นปัญหาสันติอโศก อย่างที่บางท่านเคยทำมาแล้วอีก นอกจากจะยกขึ้นมาพูดในทางกระตุ้นเตือนให้เร่งพิจารณาแก้ไขเพิ่มเข้ามาอีกเรื่องหนึ่งด้วย ยิ่งการที่จะยกขึ้นมาพูดเพื่อโต้เถียงหนังสือกรณีสันติอโศกก็ยิ่งเป็นการไม่สมควร และจะเป็นการเฉไฉไปไกล หนังสือกรณีสันติอโศกนี้ มิได้เขียนขึ้นเพื่อพระที่ประพฤติวิปริตผิดเพี้ยน ที่ท่านโพธิรักษ์ชอบยกขึ้นมาติเตียน และมิได้เขียนขึ้นเพื่อส่งเสริมการปกครองคณะสงฆ์ที่ย่อหย่อนอ่อนแอ แต่เขียนขึ้นเพื่อชี้ชวนให้ช่วยกันแก้ไขปรับปรุง แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้ที่เบื่อหน่ายและอยากให้มีการแก้ไขปรับปรุง ก็ไม่ควรดีใจชอบใจ เพียงเพราะเห็นว่าได้มีการฝ่าฝืนแข็งขืนต่ออำนาจการปกครองของคณะสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว เพราะจะเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดจากความน้อยใจ หรือเพียงได้ทำให้สาสมแก่ใจของตน แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง จะยิ่งเป็นการสร้างปัญหาซ้อนปัญหาด้วยซ้ำ ควรจะแก้ปัญหากันด้วยสติปัญญาตามทางของเหตุผลต่อไป ด้วยจิตใจที่เป็นปกติ นอกจากนั้น ควรคำนึงด้วยถึงความจริงที่ว่า พระที่ประพฤติเหลวไหลวิปริตต่างๆ นั้น แม้จะเป็นการเสียหายแก่ส่วนรวม ซึ่งบางทีก็รุนแรง แต่ก็เป็นการเสียหายเฉพาะกรณี และทำลายพระศาสนาที่เปลือกผิวเข้าไป ส่วนพระที่แปลธรรมวินัยให้วิปริตผิดเพี้ยน ย่อมก่อความเสียหายในวงกว้าง ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจคลาดเคลื่อนหลงผิด เป็นการก่อความเสียหายแก่มหาชน และสามารถทำลายได้ถึงเนื้อตัวของพระศาสนาในทันที

ลึกลงไปอีก ขอให้มองดูการใช้ถ้อยคำต่างๆ โดยเฉพาะการใช้คำพูดที่เป็นการสร้างภาพไปด้วยในตัว เช่น การพูดถึงคนนั้นคนนี้ ว่าเป็นพระของมหาเถรสมาคม ก็เป็นภาพลวงอย่างสำคัญ อันนี้จะขออุปมาให้ฟัง เหมือนอย่างว่า อาจารย์ไปพบคนไทยคนหนึ่ง แล้วอาจารย์ก็บอกว่าเขาเป็นคนของประเทศไทย เป็นคนที่ต้องขึ้นกับรัฐบาลไทย อย่างนี้ถูกใช่ไหม แต่ถ้าอาจารย์จะพูดว่าเขาเป็นคนของรัฐบาล จะถูกไหม การบอกว่าคนไทยคนนั้นเป็นคนของรัฐบาล อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ใช่ไหม คำพูดนี้มีความหมายคนละอย่าง ทีนี้ พระทั้งหลายรวมทั้งอาตมาด้วย ยอมรับตามกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นข้อเท็จจริงว่า เมื่อเราเป็นพระสงฆ์ไทย เราก็ต้องขึ้นกับมหาเถรสมาคม แต่จะมาบอกว่าอาตมาเป็นพระของมหาเถรสมาคม จะได้หรือเปล่า ย่อมไม่ได้ เหมือนอย่างบอกว่าคนไทยคนนั้นเป็นคนของรัฐบาล อย่างนี้ย่อมให้ความรู้สึกที่ผิด ถ้าพูดว่าเป็นคนของมหาเถรสมาคม คนก็เข้าใจว่าเป็นคนที่ทำงานอะไรต่างๆ ตามความประสงค์ หรือตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม หรือแม้กระทั่งว่ารับใช้มหาเถรสมาคม แต่ที่จริงอาตมาเพียงแต่ว่าตามข้อเท็จจริงของกฎหมายนั้นๆ ว่า อาตมาอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ขึ้นต่อมหาเถรสมาคมในด้านการปกครอง แต่ไม่จำเป็นว่า อาตมาจะต้องเห็นด้วยกับมหาเถรสมาคม เหมือนกับที่ว่าคนไทยคนนั้น ซึ่งอยู่ในประเทศไทย เขาขึ้นกับรัฐบาลไทยจริง แต่เขาอาจไม่พอใจในรัฐบาลนั้นก็ได้ และเขาอาจจะต้องการให้รัฐบาลนั้นออกไป ต้องการเปลี่ยนแปลงแม้แต่กฎหมายที่บังคับเขาอยู่ เขาย่อมไม่ยอมรับว่าเขาเป็นคนของรัฐบาล การที่ไปพูดตราพระทั้งหลายให้เป็นพระของมหาเถรสมาคมนั้น เป็นการสร้างภาพที่ผิดพลาด และไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ท่าน อาตมาอาจจะไม่ชอบมหาเถรสมาคมเลยก็ได้ แต่อาตมาก็พูดตามข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่าเป็นอย่างนี้ แม้แต่การเขียนหนังสือกรณีสันติอโศกขึ้น ก็เป็นการชี้แจงตามข้อเท็จจริง ตามที่เราเห็นว่ากฎหมายว่าไว้อย่างไร แต่ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นด้วยกับมหาเถรสมาคมหรือแม้แต่กฎหมายนั้น มันเป็นคนละประเด็นกันเลย อาตมาว่าเขาแยกไม่ถูก หรือจะเจตนาพูดให้คนเห็นภาพเป็นอย่างนั้น

บางท่านอาจจะเห็นไปว่า ถ้อยคำผิดพลาดเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่จะต้องมองตามเป็นจริงว่า ภาษาเป็นทั้งสื่อนำความเข้าใจของผู้ฟัง และเป็นสื่อแสดงเจตนาของผู้พูด ถ้ามองให้ลึกลงไป การใช้ถ้อยคำอย่างมีแผน จะเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยามวลชนที่สำคัญ คนส่วนมากจะรู้ตัวไม่ทัน และมองเห็นภาพตามไป เท่าที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า คณะสันติอโศกฉลาดในการจัดตั้ง ฉลาดในวิธีการใช้คำพูดเลี่ยงหลบวกวน และสามารถสร้างภาพอย่างที่พูดถึงข้างต้นนั้น ให้แก่ประชาชนได้อย่างสำเร็จผลไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จด้วยวิธีการเช่นนั้น ถ้าจะมีการยอมรับชื่นชมกัน ก็ควรจะให้จำกัดอยู่เฉพาะในวงการเมือง ไม่ควรให้นำมาใช้ในวงการศาสนา โดยเฉพาะในการเกี่ยวข้องกับสัจธรรมและจริยธรรม ในวงการของศาสนธรรมที่แท้จริง ย่อมต้องการความตรงไปตรงมา และความชัดเจนในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น อาตมาได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า จุดที่ทำให้อาตมาตัดสินใจเขียน “กรณีสันติอโศก” ก็คือความเป็นห่วงที่เกิดขึ้นเมื่ออ่านหนังสือของสันติอโศก เรื่อง ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ท่านโพธิรักษ์จะเขียนด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ มีความเข้าใจเรื่องต่างๆ พร่ามัวสับสน หรือว่าจะมีเจตนาเลี่ยงหลบเฉไฉ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นว่าท่านอาจจะใช้วิธีการนี้กับธรรมวินัย ที่เป็นหลักการหรือเนื้อหาของพระศาสนาด้วย ถ้าถึงขั้นนั้น ก็จะยิ่งต้องเป็นห่วงต่อไปอีกว่า ท่านคิดและปฏิบัติการต่างๆ เพื่อสนองรับใช้หลักการของพระธรรมวินัย หรือเข้ามาเอาพระธรรมวินัย เป็นเครื่องสนองรับใช้แนวความคิดหรืออุดมการณ์ของท่าน ความสงสัยนี้ย่อมจะนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อถือ และความไว้วางใจในกิจการของท่านโพธิรักษ์ การเขียน “กรณีสันติอโศก” จึงเริ่มต้นด้วยประเด็นกฎหมายเป็นเรื่องแรก เป็นการเชิญชวนให้มาทบทวนตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ ที่ท่านโพธิรักษ์เขียนไว้ใน “ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง” โดยขอให้พูดกันอย่างตรงไปตรงมา และให้เกิดความชัดเจน ปฏิกิริยาที่ตามมาหลังจากนั้น จะช่วยพิสูจน์ได้ชัดยิ่งขึ้นอีกว่า การแสดงออกของท่านโพธิรักษ์เกิดขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดหรือเจตนาอย่างไร และข้อพิสูจน์นี้จะมีความหมายสำคัญยิ่งไปกว่าการได้ข้อยุติว่า ท่านโพธิรักษ์ทำผิดกฎหมายหรือไม่ หลังจากหนังสือกรณีสันติอโศกออกไปแล้ว ก็ปรากฏว่าได้มีปฏิกิริยาทางคำพูดบ้าง ข้อเขียนและเอกสารต่างๆ ออกจากสันติอโศก ซึ่งให้เกิดความรู้สึกว่า มีการพยายามเลี่ยงหลบเฉไฉ และสร้างภาพอำพรางต่อมาอีกหรือยิ่งขึ้นไปอีก การกระทำเช่นนี้ ไม่ว่าจะได้สำเร็จผลในทางจิตวิทยามวลชนและในทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่ในฐานะที่อาตมาได้เคยมีความรู้สึกในทางดี ต่อชาวสันติอโศกมาก่อนไม่น้อย สิ่งที่อาตมาเห็นว่าสำคัญยิ่งกว่าผลในทางจิตวิทยา และในทางการเมืองเป็นอันมาก ก็คือ การสูญเสียความไว้วางใจต่อเจตนาและความซื่อสัตย์ของคณะสันติอโศกไปอย่างยากที่จะกู้กลับคืน และเห็นว่าเป็นสิ่งที่จะต้องตามดูด้วยความระมัดระวัง

ผู้สัมภาษณ์ : ขอกราบนมัสการถามต่อไปเรื่องประเพณีการบวช พระภิกษุที่อุปสมบทอยู่ในพระบวรพุทธศาสนาในประเทศไทย ต้องขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์ไทยใช่ไหมเจ้าคะ ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามแบบอย่างของคณะสงฆ์ไทย ทีนี้การบวชของพระในสำนักสันติอโศกเท่าที่ทำกันอยู่นี้ถือว่าถูกต้องหรือไม่เจ้าคะ หลายครั้งที่สื่อมวลชนตีความไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่มีใครสามารถชี้ให้ชัดเจนว่า ท่านพ้นสภาพการเป็นพระภิกษุ

พระเทพเวที : อันนี้ เราต้องมองก่อนว่า ท่านโพธิรักษ์บวชในคณะสงฆ์ไทย ตามแบบแผนวิธีบวชของไทยโดยสมบูรณ์ เพราะอุปัชฌาย์ของท่านเป็นพระในคณะสงฆ์ไทย เพราะฉะนั้น เราพูดได้เต็มปากว่าท่านบวชเข้ามาในคณะสงฆ์ไทย เมื่อท่านบวชเข้ามาในคณะสงฆ์ไทย กฎหมายก็บอกไว้เลยว่า ต้องอยู่ใต้บังคับของกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ ก็กำหนดให้มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ พระสงฆ์ไทยจึงขึ้นต่อมหาเถรสมาคม ทีนี้ในเมื่อท่านมาบวชตามวิธีนี้ แม้แต่ตัวท่านเอง ก็เกิดขึ้นจากการบวชแบบนี้ ถ้าท่านบอกว่าการบวชที่พระสงฆ์ไทยทำกันอยู่นี้ผิด ท่านก็บวชในวิธีที่ผิดด้วย

ผู้สัมภาษณ์ : แต่ท่านเคยชี้แจงว่าท่านลาออกไปแล้ว

พระเทพเวที : ท่านจะลาออกอย่างไรก็ตาม ในเมื่อท่านยังไม่ได้สึก การบวชนั้นก็ยังติดตัวท่านอยู่ ความเป็นพระไทยก็ยังติดตัวท่านอยู่ ถึงลาออกก็จะพ้นไปได้อย่างไร ในเมื่อท่านบวชเข้ามาโดยวิธีการบวชแบบนั้น ถ้าท่านจะสละการบวชแบบนั้น ท่านก็ต้องสึกไปก่อน สึกให้พ้นจากภาวะการบวชแบบนั้นที่ติดตัวท่านมา ทีนี้ประเด็นก็คือท่านยังไม่สละการบวชแบบนี้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางธรรมวินัยอีก คือในประวัติของท่านซึ่งจะต้องดูให้ชัด และอาจจะต้องมีการสอบถามแม้แต่ตัวท่านเอง ว่าท่านได้ปฏิบัติอย่างไรต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ของท่าน ตามประวัติบอกว่าท่านได้คืนหนังสือสุทธิ ทีนี้การคืนหนังสือสุทธินั้นในเวลาคืนได้พูดจากันว่าอย่างไรบ้าง ในพระวินัยกำหนดไว้ว่า ถ้าพระภิกษุบอกคืนอุปัชฌาย์หรือบอกคืนอาจารย์ถือว่าลาสิกขา ก็ถือว่าสึก ถ้าท่านได้กล่าวคำบอกคืนอุปัชฌาย์อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เลิกแล้วกันไปไม่เอาด้วย ขอให้ไม่มีความสัมพันธ์อะไรกัน ท่านก็สึก เมื่อท่านสึกแล้วก็จะต้องเปลี่ยนเพศ ลาออกจากระเบียบแบบแผนธรรมเนียมของคณะสงฆ์ไทย เลิกนุ่งห่มอย่างพระ ต้องแต่งกายเป็นคฤหัสถ์ ถ้าท่านต้องการจะบวชแบบอื่น ท่านก็ต้องไปบวชใหม่ จะไปบวชในคณะสงฆ์จีนหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ท่านจะบวชตัวเองไม่ได้ ถ้าบวชตัวเองห่มผ้าจีวร ก็กลายเป็นคฤหัสถ์ที่มาแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ ก็ผิดกฎหมายอาญาไป กลายเป็นคนละปัญหา ออกจากประเด็นนี้ไปกลายเป็นประเด็นใหม่ ซึ่งก็ต้องพิจารณากันเป็นประเด็นๆ ทีนี้ ในการพิจารณาเรื่องราวเหล่านี้ ข้อที่น่าเสียดายก็คือ คนที่เกี่ยวข้องอย่างสื่อมวลชน ยังเอาประเด็นต่างๆ มาปนกันสับสนจนยุ่งไปหมด เรื่องความดีของสันติอโศกที่มีอยู่เราก็ยอมรับในส่วนนั้น เราก็ยกย่องชมเชยด้วย แต่ในส่วนอะไรที่ยังผิดอยู่ก็ควรต้องแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องของส่วนรวมที่กว้าง สันติอโศกไม่ได้อยู่ลำพังสำนักเดียว หลักการที่เป็นของส่วนรวม ซึ่งเป็นวงกว้างก็ต้องรักษาด้วย จะเอาตัวเองไปเป็นเกณฑ์ ทำเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้อย่างเดียว สังคมและสงฆ์ส่วนรวมจะเป็นอย่างไรก็ช่าง อย่างนี้ก็ไม่ถูก แม้แต่การเป็นตัวอย่างฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคม ถ้าคนอื่นพากันฝ่าฝืน โดยที่หลายคนที่ฝ่าฝืนอาจจะไม่ได้อยู่ในแนวทางของความประพฤติที่เป็นหลักอันดีงาม เป็นเพียงเอาตัวอย่างในการที่จะฝ่าฝืน ก็เกิดโทษแก่สังคม แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หลักการของพระศาสนาซึ่งอาตมาห่วงยิ่งกว่านั้น ประเด็นที่อาตมาเขียนไว้ในกรณีสันติอโศกนั้น ได้แยกไว้แล้วสามด้าน ด้านที่ ๑ เรื่องกฎหมาย ด้านที่ ๒ เรื่องการเมือง และด้านที่ ๓ เรื่องธรรมวินัย

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ธรรมวินัย เพราะเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา การที่พระอรหันต์ทั้งหลายต้องทำสังคายนาเพราะอะไร ก็เพราะมีความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจธรรมวินัย ถ้าพระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนไป สอนผิดสอนพลาดก็คือพระศาสนาไม่อยู่ พระพุทธศาสนาก็หมด จะมีความหมายอะไร การประพฤติดีปฏิบัติชอบในระดับศีล ก็เป็นหลักในระดับหนึ่ง แต่พุทธศาสนาไม่ใช่แค่นี้ ศีลนั้นในศาสนาไหนก็มี ที่เราเรียกว่าพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่อะไร ก็อยู่ที่หลักคำสอน ความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่รองรับศีลและต่อขึ้นไปจากศีล สันติอโศกมีปัญหาในเรื่องนี้เป็นข้อสำคัญ แม้แต่ปัญหากฎหมายก็โยงมาที่เรื่องธรรมวินัยนี้ เวลาอ่าน ฟังเสียงกวางน้อยบ้าง อาตมามองดูท่านโพธิรักษ์เห็นท่านตีความกฎหมายแล้ว อาตมาก็หันมาเป็นห่วงพระธรรมวินัย ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่กฎหมายมากนัก กฎหมายก็สำคัญในแง่เป็นหลักของสังคม ซึ่งเราจะต้องยึดถือและปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่กฎหมายที่ไม่ดี ไม่เป็นธรรม ก็มีเหมือนกัน ซึ่งอาตมาก็เขียนไว้ใน “กรณีสันติอโศก” นั้นว่า เป็นความจริงที่ว่า กฎหมายบางทีก็ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพในการที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมเท่าที่ควร ซึ่งจะต้องมีการแก้ไข ถ้าท่านโพธิรักษ์เห็นว่ากฎหมายปกครองคณะสงฆ์ไม่ดี ก็ควรจะบอกมาตรงๆ ว่ากฎหมายนี้ไม่ดี ไม่ให้ความเป็นธรรม หรือ ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างประโยชน์สุขของส่วนรวม อย่างไรก็ว่าไป ไม่ใช่เลี่ยงไปว่า ฉันไม่ขึ้นต่อกฎหมายนี้ ฉันลาออกจากกฎหมายนี้แล้ว ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุเป็นผล เมื่อเห็นท่านโพธิรักษ์เป็นอย่างนี้ อาตมาก็มาเป็นห่วงว่า ถ้าท่านตีความกฎหมายแบบนี้ แล้วท่านใช้วิธีนี้ในการตีความพระธรรมวินัย พระธรรมวินัยจะวิปริตผิดเพี้ยนไปอย่างไร อาตมาห่วงจุดนี้มาก เพราะฉะนั้นก็จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมาพูดทำความเข้าใจกัน

การตีความกฎหมายนั้น นอกจากการดูตัวบท ถ้อยคำ ตามตัวอักษรแล้ว ก็ต้องมีหลักในการพิจารณา ซึ่งถ้าพูดกันให้เข้าใจง่าย ก็พอแยกได้เป็น ๓ อย่างคือ

๑. ตีความตามหลักของความเป็นเหตุเป็นผลทั่วไป ซึ่งตามปกติ ย่อมใช้ได้กับเรื่องราว กิจกรรม วิชาการทุกอย่าง รวมทั้งกฎหมายด้วย ถ้ากฎหมายไม่ตั้งอยู่บนหลักการนี้ ก็จะเป็นกฎหมายที่ดีไม่ได้ เพราะความเป็นเหตุเป็นผลนั้น เป็นเรื่องของหลักความจริงทั่วไป ธรรมของพระพุทธเจ้าที่เรานับถือ ก็เพราะมีความเป็นเหตุเป็นผลเป็นหลักพื้นฐาน

๒. ตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การบัญญัติกฎหมายขึ้น แต่ละเรื่องแต่ละฉบับ ก็ย่อมมีความมุ่งหมายจำเพาะของเรื่องนั้นๆ ในการดูตัวบท ถ้อยคำ และพิจารณาเหตุผลทั่วไปนั้น ก็ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย และเจตนารมณ์ของกฎหมายจะช่วยให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อการพิจารณาตามถ้อยคำและเหตุผลทั่วไปนั้นยังไม่แจ่มแจ้ง

๓. ตีความแบบหาช่องเลี่ยงหลบ เช่นที่ทนายความหลายคนมักจะทำให้กับลูกความของตน โดยหาช่องโหว่ของกฎหมายตีความให้คนฝ่ายตนเลี่ยงหลบพ้นบทบัญญัติ หรืออำนาจบังคับของกฎหมายนั้นไป เพื่อไม่ต้องถูกลงโทษเป็นต้น หรือหาแง่ของกฎหมายนั้นมาตีความในทางที่จะเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายของตน

การตีความแบบที่ ๑ และ ๒ นั้น นอกจากสอดคล้องกับความเป็นจริงทั่วไปแล้ว ก็สอดคล้องกับเหตุผลในการที่จะให้เกิดให้มีกฎหมายนั้นด้วย จึงเป็นที่ยอมรับในความสุจริต แต่การตีความแบบที่ ๓ เป็นการชักให้เขวและหลีกหลบออกไปจากตัวหลัก ผู้ที่ทำได้อาจได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นคนฉลาด เป็นคนเก่ง แต่ในคำกล่าวขวัญเช่นนั้น ก็บ่งบอกไปด้วยถึงความไม่ตรงไปตรงมา ความเห็นแก่ผลประโยชน์ของบุคคล ไม่ใช่เห็นแก่ส่วนรวมหรือเห็นแก่ธรรม ยิ่งกว่านั้น ยังชวนให้เกิดความน่าระแวงสงสัยในเจตนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำต่างๆ ทั้งที่ทำแล้ว กำลังทำอยู่ และจะทำต่อๆ ไปด้วย

เมื่อได้มีการชี้ชวนให้มายอมรับความจริงกันตรงๆ แล้ว ก็ปรากฏต่อมาว่ามีการพยายามตีความเลี่ยงหลบมากขึ้นไปอีก การทำเช่นนี้ สมมติว่าจะช่วยให้คณะสันติอโศกหลบพ้นอำนาจบังคับของตัวบทกฎหมายไปได้สำเร็จ (แต่เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้ตีความกฎหมายและมีมติออกมาแล้ว ซึ่งมีใจความว่า พระโพธิรักษ์อยู่ใต้บังคับของกฎหมายคณะสงฆ์ ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม การลาออกของท่านไม่ได้มีผลอย่างใด) แต่ในความรู้สึกของอาตมาแล้ว เห็นว่าเป็นการสูญเสียในทางธรรมอย่างสำคัญ วิธีที่ดีที่สุดคือ ความตรงไปตรงมาอย่างที่กล่าวมาแล้ว มายอมรับกันตามจริงตามตรงดีกว่า แล้วก็ชี้แจงมาว่าฉันเห็นว่า กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนี้ไม่ดี การปกครองระบบนี้ไม่ดีอย่างไรๆ น่าจะแก้ไขอย่างไร ถ้ากฎหมายและการปกครองนั้นไม่ดีจริง เมื่อแก้ไขแล้ว ก็จะได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แก่พระสงฆ์ทั้งหมด แก่สังคมทั้งประเทศ เพราะกฎหมายนั้นมีผลดีผลร้ายแก่พระสงฆ์ทั่วทั้งหมด ไม่ใช่สำหรับสันติอโศกจะมาหลีกหลบอยู่คณะเดียว

ผู้สัมภาษณ์ : ดิฉันขอกราบนมัสการย้อนกลับไปว่า ท่านเจ้าคุณคิดว่า ผลที่ท่านคาดว่าจะได้จากการเขียนกรณีสันติอโศกนี้มีประเด็นต่างๆ ที่โยงไปถึงว่า ท่านอยากให้ทางสำนักสันติอโศกได้มีโอกาสพิจารณา ได้ข้อคิด ได้สำรวจเรื่องการปฏิบัติและการเผยแพร่พระธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องนั้น ในข้อนี้ดิฉันอยากจะกราบนมัสการถาม ไม่ทราบว่าจะเป็นการสมควรหรือไม่ว่า เมื่อหนังสือออกไปแล้ว มีผลอย่างไรบ้าง ในแง่ของท่านโพธิรักษ์โดยตรงว่า ในฐานะที่ท่านเป็นที่นับถือของสำนักสันติอโศก ท่านโพธิรักษ์เห็นประโยชน์ในข้อเขียนของท่านเจ้าคุณหรือไม่ ท่านได้เห็นไหมเจ้าคะว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีของท่าน กลับเป็นการเสริมปัญหาของคณะสงฆ์ไทยให้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด คือดิฉันไม่ทราบว่าสมควรจะถามหรือไม่ แต่ว่าท่านเจ้าคุณอาจจะเมตตาตอบในขอบเขตที่ท่านเจ้าคุณเห็นว่าสมควรจะตอบกับวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์

พระเทพเวที : ในแง่สมควร ก็สมควรแน่ แต่ในการตอบนั้น อาตมายังหาข้อมูลไม่พอที่จะพูดว่า ทางสันติอโศกได้ประโยชน์แค่ไหน อย่างไรก็ตามได้มีผู้นำจดหมายจากท่านโพธิรักษ์ฝากมาถึงอาตมา เป็นจดหมายฉบับที่ท่านไปพูดถึงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ว่าตอบอาตมา ที่จริงท่านใช้คำไม่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าอาตมาเคยเขียนจดหมายถึงท่าน แต่ความหมายของท่านก็คือท่านคงเข้าใจว่าท่านตอบหนังสือกรณีสันติอโศก ความจริงหนังสือเล่มนั้นไม่ใช่เขียนไปถึงท่านโพธิรักษ์ แต่เป็นหนังสือที่ชี้แจงแก่คนทั่วไป เป็นกลางๆ ในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ท่านบอกว่าท่านเขียนตอบขอบคุณ แต่ความจริงถ้าจะเรียกให้ถูกก็เป็นเพียงแค่ว่าท่านเขียนขอบคุณ ไม่ใช่ตอบขอบคุณ ในจดหมายของท่านนั้น ท่านก็ขอบคุณอาตมา ที่ได้เขียนเรื่องนี้ขึ้น และพูดว่าท่านได้ประโยชน์จากหนังสือนี้ด้วย แต่ก็ไม่ได้บอกชัดว่าได้ประโยชน์อะไร ไปๆ มาๆ ท่านก็ไปพูดถึงว่ามีคนว่า ท่านดื้อด้าน แล้วท่านก็บอกว่าท่านไม่ได้ดื้อด้าน แต่ท่านยืนหยัด หลังจากนั้นท่านก็พูดย้ำข้อความทำนองนี้ว่า ท่านไม่ได้ดื้อด้าน แต่ท่านยืนหยัด ไปอีกหลายย่อหน้า ฉะนั้น ในแง่ผลที่เกิดแก่พระโพธิรักษ์ ถ้าดูตามคำพูดของท่าน ท่านก็ไม่ได้ยอมรับอะไรเลย

ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ หลังจากหนังสือกรณีสันติอโศกออกไปแล้ว ระยะหนึ่ง ทางสันติอโศกก็ได้จัดให้มีรายการตอบข้อซักถาม ในสมุดปกขาว กรณีสันติอโศก (วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๑) ขึ้น โดยจัดเป็นคำถามขึ้นมา ๑๙ ข้อ และพระโพธิรักษ์เป็นผู้ตอบทั้งหมด ข้อสังเกตก็คือ คำถาม ๑๙ ข้อนั้น ทางสำนักพูดเป็นทำนองว่าเป็นคำถามที่อยู่ในหนังสือกรณีสันติอโศก หรือสรุปมาจากหนังสือนั้น แต่เมื่อฟังดูแล้ว ก็ปรากฏว่าคำถามจำนวนมากไม่ได้เป็นเนื้อความในหนังสือกรณีสันติอโศก ไม่ใช่เป็นข้อพิจารณาหรือความเห็นของอาตมาที่เขียนไว้ในหนังสือนั้น คือเนื้อความในหนังสือเป็นอย่างหนึ่ง แต่ผู้สรุปนำมาตั้งเป็นคำถามอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกับในหนังสือ จึงมีทางทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้มาก ถ้ามุ่งให้เข้าใจว่าเป็นคำถามที่มีอยู่ในหนังสือ ก็นับว่าผิดเต็มที่ ถ้าเป็นการสรุปมาตั้งเป็นคำถาม ก็อาจจะทำโดยเข้าใจผิด เลยพลอยให้สรุปผิด ดังนั้น คำตอบของท่านโพธิรักษ์ส่วนมากจึงไม่เป็นการตอบต่อเนื้อความในหนังสือกรณีสันติอโศก แต่เป็นเพียงการนำเอาสิ่งหรือเรื่องที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือนั้นขึ้นมาจับแง่ตั้งคำถามขึ้นมาใหม่ เป็นคำถามของตนเอง ซึ่งทำให้มองได้ว่า เป็นการตั้งคำถามตามที่ตนต้องการจะตอบ เช่น คำถามหนึ่งตั้งขึ้นมาว่า “เมื่อได้รับการพิจารณาความผิด ทำไม (สันติอโศก) ไม่ยอมรับผิดเสียจะได้หมดปัญหา” เมื่อดูในหนังสือกรณีสันติอโศกก็จะเห็นได้ว่า ไม่ได้มีเนื้อความอย่างนี้ เพราะเป็นการไม่มีเหตุผลที่จะไปตั้งคำถามเช่นนั้น แต่ในหนังสือจะมีเนื้อความที่ถ้าจะตั้งเป็นคำถาม ก็ต้องพูดว่า เมื่อสันติอโศกถูกพิจารณาความผิด ทำไมไม่พูดกันในเรื่องที่กำลังพิจารณา แต่กลับไปยกเอาเรื่องความผิดของพระพวกอื่นขึ้นมาเกี่ยง อีกคำถามหนึ่งว่า “ชาวอโศกเป็นกลุ่มที่ปฏิบัติดี ทำไมจึงมีความเห็นผิด” เมื่อดูในหนังสือเนื้อความไม่เป็นอย่างนั้น คือไม่ได้ยอมรับว่าสันติอโศกปฏิบัติดีจริงในความหมายที่พระโพธิรักษ์นำไปใช้พูดตอบ แต่พูดว่า ชาวสันติอโศกตามที่ปรากฏและเท่าที่อาตมารู้จัก มีคุณสมบัติดี เป็นข้อดีบางอย่างหรือหลายอย่าง เช่น กิริยามารยาทเรียบร้อย เคร่งวินัย แต่ถ้าถือผิดหรือหลงผิดไป ก็น่าเสียดาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร คนที่เรียบร้อยประพฤติดี ในบางระดับ แต่ทำไปโดยปราศจากความรู้เข้าใจที่ถูกต้อง ก็มีได้มากมาย อีกสองคำถาม คล้ายๆ กันว่า “ทำไมพระอโศกไม่โกนคิ้ว” และ “ทำไมพระอโศกไม่ใช้จีวรสีเหลืองหรือแดงกึ่งเหลือง ทำไมใช้จีวรสีกรัก” และยังพูดด้วยว่า ทำไมมาติดใจนักหนากับเรื่อง (เล็กๆ น้อยๆ) เหล่านี้ เนื้อความในหนังสือไม่ได้ตั้งเป็นข้อสงสัย หรือคำถามให้ชี้แจงเลย แต่ในหนังสือได้พูดชี้แจงเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องที่สันติอโศกเองมักยกขึ้นมาอ้าง สำหรับติเตียนผู้อื่นบ้าง สำหรับเป็นเหตุผลในการอยู่ต่างหากของตนเองบ้าง คำพูดที่ว่า ทำไมติดใจนักหนากับเรื่องโกนคิ้ว และห่มจีวรสีกรักนี้ ไม่ใช่เป็นคำที่พระโพธิรักษ์ควรจะพูดออกมา แต่ควรเป็นคำที่คนอื่นจะกล่าวแก่พระโพธิรักษ์ อีกคำถามหนึ่งว่า “ธรรมกับวินัยต่างกันอย่างไร อโศกถือธรรมหรือวินัย” ในหนังสือไม่ได้มีคำถามอย่างนี้ แต่เป็นข้อพิจารณาที่โยงกับเรื่องอื่นๆ คือ คำว่า อุปสัมบัน ซึ่งเป็นศัพท์ในพระวินัย หมายถึงภิกษุและภิกษุณี แต่พระโพธิรักษ์แปลความหมายเอาเองใหม่ว่าเป็นผู้ได้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น การกระทำของพระโพธิรักษ์เช่นนี้จะเป็นการส่อแสดงว่าท่านไม่รู้จักว่าอะไรเป็นธรรมอะไรเป็นวินัย แต่ท่านไม่ได้ตอบให้ตรงจุดของข้อพิจารณานี้ อีกข้อหนึ่งว่า “การแปลภาษาบาลี ทำไมพระโพธิรักษ์ แปลต่างจากหลักการทางวิชาการ” ข้อพิจารณาในหนังสือก็ไม่ได้พูดอย่างนี้ คือ ไม่ได้พูดว่าแปลตามหลักการทางวิชาการหรือไม่วิชาการ แต่สาระของข้อพิจารณานี้คือ หลักฐานต่างๆ ทำให้เห็นว่า พระโพธิรักษ์แปลคำบาลี ที่เป็นคำศัพท์ทางธรรมอย่างไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากพลอยหลงเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย แม้แต่คำถามว่า “ทำไมพระต้องเจาะจงอาหารมังสวิรัติ ซึ่งทำให้ญาติโยมต้องลำบากในการจัดอาหารถวาย” ก็เป็นการตั้งคำถามที่ไม่ตรงกับเนื้อความในหนังสือ และคำตอบของพระโพธิรักษ์ก็จับความในหนังสือไม่ถูกต้อง เช่น ขัดกับข้อความในหนังสือว่า “พระจะสนับสนุนชาวบ้านให้ถือมังสวิรัติก็ย่อมได้” อย่างเรื่องศีล หลักของศีลก็อยู่ที่เจตนาในใจ เป็นความรู้เบื้องต้นที่เข้าใจกันอยู่ แต่เจตนานั้นแสดงออกทางกายและวาจา พร้อมทั้งอาชีวะ เช่น เว้นจากการฆ่า จากการลักทรัพย์ จากการพูดเท็จ เป็นต้น โดยทั่วไป จึงพูดถึงศีลกันในแง่ความประพฤติทางกาย วาจา ท่านโพธิรักษ์จับเอาที่จุดนี้ แล้วก็พูดว่าพระอื่นเข้าใจเรื่องศีลแค่กายวาจา ไม่ถูกต้อง ศีลต้องอยู่ที่จิตใจ นี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งถ้าพูดให้ละเอียดชัดเจน ก็จะกลายเป็นหนังสือขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง แม้แต่ชื่อรายการที่ได้ตั้งขึ้นมาว่า “ตอบข้อซักถาม ในสมุดปกขาว” ก็ไม่ตรงตามเรื่องที่เป็นจริง หนังสือกรณีสันติอโศกไม่ได้เขียนขึ้นมาเป็นข้อซักถาม แต่เป็นการเสนอแนวทางการพิจารณาปัญหาและสร้างความเข้าใจ นอกจากนั้น ลักษณะการพูดของพระโพธิรักษ์ที่ว่าเป็นการตอบนั้น ก็มีลักษณะที่เบนมาให้เป็นเรื่องส่วนตัว หรือเหมือนจะทำให้เป็นคู่กรณี แทนที่จะพูดแก้ปัญหาหรือชี้แจงไปตามเนื้อหาหรือโดยธรรม อย่างไรก็ดี ชาวสันติอโศกเอง ถ้าได้อ่านหนังสือกรณีสันติอโศกและเข้าใจเนื้อความดี ก็จะเห็นได้ชัดว่าคำตอบของท่านโพธิรักษ์ ไม่ตรงกับเนื้อความในหนังสืออย่างไร และอาจจะรู้ตัวตระหนักได้ว่า ถ้ายอมรับว่า วิธีพูดอย่างที่ตั้งคำถามและตอบคำถามในกรณีนี้ เป็นวิธีพูดแบบสำนักของตน ก็ไม่ใช่เป็นวิธีพูดที่ควรใช้ในการสื่อความจริง

1ทางเว็บไซต์เป็นผู้จัดแบ่งเนื้อหาเป็นส่วนๆ และตั้งชื่อหัวข้อแต่ละส่วน เพื่อความสะดวกในการนำเสนอบนเว็บ หนังสือต้นฉบับไม่มีการจัดแบ่งหัวข้อแต่อย่างใด
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.